ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 ปีสร้างไม่เสร็จ–ปลัดสาธารณสุขอ้างขาดผู้เชี่่ยวชาญสร้างโรงงาน

โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 ปีสร้างไม่เสร็จ–ปลัดสาธารณสุขอ้างขาดผู้เชี่่ยวชาญสร้างโรงงาน

13 กุมภาพันธ์ 2012


ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับภัยจากการระบาดของโรคต่างๆ บ่อยครั้งมากขึ้น ทั้งการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น จนขณะนี้ ตัวหลังได้กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว

และเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรมได้เซ็นสัญญาก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่มูลค่า 1,400 ล้าน ณ อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในปีนั้นมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 จนถึงขณะนี้ โรงงานยังไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ ในขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตตามท้องตลาดรวมเอาเชื้อนี้เข้าไว้ในเข็มเดียวกันแล้ว

หากดูข้อมูลย้อนหลัง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 ผู้ชนะประกวดราคาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ในระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน GMP ขององค์การอนามัยโลก ก่อสร้างส่วนที่ 1 ได้แก่ อาคารผลิต อาคารบรรจุ อาคารประกันคุณภาพ และอาคารสัตว์ทดลอง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าจ้าง บริษัท เอ็ม แอนด์ ดับเบิ้ลยู แซนเดอร์ (ไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ข้อเสนอทางด้านเทคนิคเหมาะสม และเป็นผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว โดยอยู่ในวงเงินงบประมาณและราคากลาง เป็นเงิน 321 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ในช่วงนั้น นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้เสนอโครงการ ได้แจ้งความคืบหน้ากับสื่อมวลชนเรื่องชนิดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และเรื่องโรงงานว่า จะผลิตจากเชื้อเป็น โดยจะสร้างเสร็จใน 18 เดือน หรือประมาณต้นปี 2554

ต่อเรื่องนี้ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ขององค์การเภสัชวงเงินลงทุน 1,400 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งใช้เงินลงทุนแค่ 80 ล้านบาท หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมถึงใช้งบลงทุนแตกต่างกันมาก นั่นเป็นเพราะว่า กระทรวงสาธารณสุขจะทำโรงงานผลิตวัคซีนตามข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกเป็นโครงการนำร่อง แต่โรงงานขององค์การเภสัชจะทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนสาเหตุที่โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามกำหนดเวลา เป็นเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงขาดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานประเภทนี้

ส่วนประเด็นการผลิตเชื้อเป็นหรือเชื้อตายที่มีการถกเถียงกันนั้น นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า ในเรื่องกระบวนการผลิตวัคซีนนั้น ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตายจะมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน อย่างเช่น กรณีนำเชื้อตายมาผลิตวัคซีน ข้อเสียคือ กว่าจะผลิตวัคซีนออกมาได้ต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือน และวัคซีนที่ผลิตได้จะมีปริมาณที่น้อยมาก หากเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรครวดเร็ว ก็จะเกิดปัญหาผลิตวัคซีนไม่ทันใช้ แต่ข้อดีคือ จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีมาตรฐานสูง ปลอดภัย และใช้ป้องกันโรคมานานกว่า 50 ปี

ขณะที่เชื้อเป็น ถ้านำมาผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ข้อเสียคือ ฉีดเข้าไปแล้วอาจจะมีผลข้างเคียงในบางคน แต่ข้อดีคือ สามารถผลิตได้ในปริมาณที่มาก สามารถรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ดังนั้น โรงงานผลิตวัคซีนที่กำลังจะก่อสร้างจะใช้ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตายเป็นวัตถุดิบในการผลิตวัคซีน

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธาณสุข ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2009/09/e0b899e0b89ee0b984e0b89ee0b888e0b8b4e0b895e0b8a3e0b98c-e0b8a7e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b4e0b895-e0b8a3e0b8ade0b887e0b89be0b8a5e0b8b1.jpg
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธาณสุข ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/wp-content/uploads/2009/09/e0b899e0b89ee0b984e0b89ee0b888e0b8b4e0b895e0b8a3e0b98c-e0b8a7e0b8a3e0b8b2e0b88ae0b8b4e0b895-e0b8a3e0b8ade0b887e0b89be0b8a5e0b8b1.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการออนไลน์ฉบับ 23 สิงหาคม 2552 (อ่านเพิ่มเติม) ว่า จากการศึกษาของ ดร.พญ.จงกล เลิศเทียนดำรงค์ ที่ศึกษาถึงกรณีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2549 – 2552 (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้ นั่นคือ โรงงานของกรมปศุสัตว์ที่ อ.ปากช่อง ซึ่งมีการผลิตวัคซีนเชื้อเป็นสำหรับสัตว์อยู่และได้มาตรฐาน มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมสำหรับเปลี่ยนเป็นการผลิตวัคซีนของคน และไม่มีผลกระทบอะไร เพราะวัคซีนสำหรับสัตว์สามารถซื้อจากประเทศอื่นได้โดยใช้งบประมาณเพียง 9 ล้านบาทต่อปี

ส่วนการปรับปรุงโรงงานดังกล่าวก็ใช้งบประมาณเพียง 80-100 ล้านบาท หากสามารถใช้โรงงานผลิตวัคซีนของกรมปศุสัตว์ได้จริง คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ประมาณ 86 ล้านโดสต่อ 3 เดือน โดยใช้เวลาปรับปรุงโรงงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และแนวความคิดเรื่องการปรับปรุงโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ให้มาผลิตวัคนั้น ทางองค์การอนามัยโลกให้การยืนยันตั้งแต่ตอนขอจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งที่ 5/2550 ว่าสามารถใช้ทางเลือกนี้ได้

“หากหวังพึ่งโรงงานวัคซีนต้นแบบที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งเดียว ก็จะไม่สามารถผลิตวัคซีนได้เพียงพอต่อคนในประเทศอย่างแน่นอน ส่วนโรงงานต้นแบบแห่งใหม่ที่ใช้งบประมาณ 150-200 ล้านบาท ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปี ไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาด โดยองค์การอนามัยได้ตีพิมพ์คำแนะนำในเว็ปไซต์ว่า หากบางประเทศในโลกมีโรงงานที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ก็สามารถเปลี่ยนสลับมาใช้โรงงานเพื่อผลิตวัคซีนในสถานการณ์การระบาดได้ ดังนั้น ความคิดว่าโรงงานสำหรับผลิตวัคซีนสัตว์ไม่สามารถผลิตวัคซีนคนได้จึงไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ เคยนำเสนอข้อเสนอดังกล่าวหลายครั้งแต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า โรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ไม่สามารถเปลี่ยนมาผลิตวัคซีนสำหรับคนได้ ซึ่งไม่จริงเพราะเทคโนโลยีที่ใช้เป็นแบบเดียวกัน อีกทั้งมาตรฐานในการผลิตวัคซีนคนและสัตว์ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยที่ผ่านมา เคยมีผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกเดินทางมาดูโรงงานดังกล่าว และชื่นชมว่าไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนได้

ถึงเวลานี้แล้ว อยากให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันและไม่เกี่ยงงอนว่าเป็นของของใคร เพราะขณะนี้ถือว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต หากไม่มีอาวุธที่ใช้ป้องกันตัวเอง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องหันหน้ากัน เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำงาน ทำให้ไทยลงทุนเทคโนโลยีซ้ำซ้อนกันจำนวนมาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เชื้อเป็น-เชื้อตาย ควรเลือกแบบไหน!!

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในช่วงนั้น มีการถกเถียงในเรื่องชนิดของวัคซีนกันพอสมควรว่าจะเป็นเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย องค์การเภสัชกรรมโดย น.พ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการในขณะนั้น ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่ากำลังทดลองวัคซีนเชื้อเป็นกับอาสาสมัคร และจะตั้งโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนเชื้อเป็น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

1. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ว่า ในต่างประเทศ วัคซีนชนิดเชื้อเป็นจะห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้ใหญ่อายุเกิน 49 ปี คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ และหญิงตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติม)

2. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ให้ความเห็นไว้ว่า ยังไม่เคยมีประเทศใดใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จากเชื้อเป็นเลย หัวเชื้อไวรัสที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่นำมาจากรัสเซียและอยู่ในระหว่างการทดลองนั้น เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมโดยมหาวิทยาลัยมหิดล ก็พบว่ามีการผ่าเหล่า มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมใน 8 ตำแหน่ง จึงถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ไม่มีความเสถียร และเมื่อฉีดพ่นเข้ารูจมูก พอถูกความร้อนเชื้อก็จะตายทันที เสี่ยงกับการกลายพันธุ์ อย่างกรณีให้วัคซีนโปลิโอทางปากซึ่งทำจากเชื้อเป็นแก่เด็ก แล้วได้ไวรัสที่มีพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปออกมาทางอุจจาระของเด็ก ทำให้พ่อซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กแล้วได้รับเชื้อดังกล่าวไปกลายเป็นอัมพาต

ที่มาภาพ : http://www.nvco.go.th/pic/p2-t1312360195.jpg
ที่มาภาพ: http://www.nvco.go.th/pic/p2-t1312360195.jpg

รวมทั้งกรณีตัวอย่างไข้หวัดใหญ่หมูที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1976 ที่สหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากร และหลังจากนั้น 6 สัปดาห์ เกิดพบผู้มีอาการแขนขาอ่อนแรงและเส้นประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจมีเชื้อปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิตวัคซีนในไข่ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤติที่ทำลายเส้นประสาทตัวเอง ซึ่งการใช้วัคซีนกับประชากร 6-7 พันคน ไม่พบอาการดังกล่าว แต่พบเมื่อใช้วัคซีนกับประชากร 40-45 ล้านคน

3. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์วิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้ที่สามารถนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่แยกได้จากผู้ป่วยคนไทยรายแรกก็ให้ความเห็นว่า แม้วัคซีนเชื้อเป็นสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ถูกกว่า ผลิตได้เร็วกว่า แต่วัคซีนเชื้อตายมีความปลอดภัย 100% และเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยใดๆ สามารถให้ได้เกือบทุกคน ทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็สามารถ

4. รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ให้ความเห็นไว้ในการเสวนา “แผนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระดับโรงงานขนาดใหญ่” เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2552 ว่า ควรเลือกใช้เชื้อเป็นเพื่อผลิตวัคซีนในช่วงระบาด แต่วัคซีนจากเชื้อเป็นจะใช้ได้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนท้อง ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการได้รับวัคซีน

บัดนี้ เวลาผ่านไปถึงเกือบ 3 ปี การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็สิ้นสุดไปนานแล้ว และไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็ได้กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตตามท้องตลาดก็รวมเอาเชื้อนี้เข้าไว้ในเข็มเดียวกันแล้ว แต่โรงงานขององคืการเภสัชกรรมยังไม่สามารถผลิตวัคซีนได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงและตั้งคำถามในแวดวงแพทย์ว่า

1. เหตุใดต้องทดลองวัคซีนเชื้อเป็น ทั้งๆ ที่ใช้กับกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการได้รับวัคซีนไม่ได้

2. ทำไมจึงต้องสร้างโรงงานวัคซีนที่ทับกวางแทนการปรับปรุงโรงงานวัคซีนสัตว์ของกรมปศุสัตว์มาเป็นโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่

3. โรงงานวัคซีนนี้ใช้ที่ปรึกษาและเทคโนโลยีของประเทศใดกันแน่ ระหว่าง จีน รัสเซีย หรือญี่ปุ่น

4. โรงงานที่ทับกวางจะผลิตวัคซีนได้ในปริมาณเท่าใด เพียงพอต่อความต้องการของประเทศหรือไม่ สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขได้จริงหรือไม่

5. การสร้างโรงงานวัคซีนนี้คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

6. โรงงานนี้จะสร้างเสร็จเมื่อไหร่ และเมื่อใดคนไทยจะได้ใช้วัคซีนที่ปลอดภัยจากองค์การเภสัชกรรม