ThaiPublica > เกาะกระแส > มหาอุทกภัยถล่มเศรษฐกิจปี’54 สูญเงิน 328,154 ล้านบาท กดจีดีพีโตแค่ 0.1%

มหาอุทกภัยถล่มเศรษฐกิจปี’54 สูญเงิน 328,154 ล้านบาท กดจีดีพีโตแค่ 0.1%

21 กุมภาพันธ์ 2012


มหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทรุดลงมากกว่าที่คาดการณ์กัน โดยจากการแถลงข้อมูลจริงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2554 และเศรษฐกิจทั้งปี 2554 ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ส่งผลกระทบอย่างหนักทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/2554 หดตัว 9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2554 จะหดตัวลงถึง 10.7% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า นับเป็นการทรุดตัวไตรมาสเทียบไตรมาสในอัตราที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นอย่างน้อย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขา สศช. ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/2554 หดตัวถึง 9.0 % เป็นผลจากมหาอุทกภัยที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนเดือนตุลาคม และท่วมหนักในช่วงตุลาคมและพฤศจิกายน 2554 โดยผลกระทบต่อการผลิตส่วนใหญ่เป็นการหดตัวนอกภาคเกษตร ที่ติดลบถึง 10.1% ส่วนภาคเกษตรเติบโตเพียงเล็กน้อยในอัตราเพียง 0.7% ขณะที่ด้านการใช้จ่ายในประเทศก็ติดลบ 9% โดยเป็นการลดลงทั้งการบริโภคภาคครัวเรือน การใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งออก ส่วนการนำเข้า แม้ไม่ถึงขนาดติดลบแต่ก็ปรับตัวลดลงมาก

“น้ำท่วมทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเราหยุดการผลิตเพราะโรงงานถูกน้ำท่วม หยุดการเดินทางเพราะไม่สะดวกสบาย หยุดการใช้จ่ายเนื่องจากระบบการกระจายสินค้ามีปัญหา แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่” เลขาธิการ สศช. กล่าว

ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4/2554 ที่จีดีพีหดตัว 9% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 3.2% ไตรมาส 2 ขยายตัว 2.7% และไตรมาส 3 ขยายตัว 3.7% ฉุดให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2554 ขยายตัวเพียง 0.1% ต่ำกว่าที่หลายหน่วยพยากรณ์เศรษฐกิจคาดการณ์ไว้ก่อนหน้ามาก และเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่จีดีพีขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 15 ปี ที่อัตรา 7.8% ถือว่าเป็นการปรับลดลงอย่างรุนแรง

นายอาคมกล่าวว่า จีดีพีไตรมาส 4/2554 เดิมจะขยายตัว 5% แต่ผลกระทบน้ำท่วมทำให้จีดีพีติดลบ 14% ดังนั้น เมื่อหักผลกระทบน้ำท่วมจึงทำให้จีดีพีไตรมาส 4/2554 ติดลบ 9% ซึ่งทำให้ผลกระทบน้ำท่วมปี 2554 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 สศช. คาดว่าผลกระทบน้ำท่วมจะมีผลทำให้เศรษฐกิจหดตัวแค่ 2.3% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราคาปัจจุบันจะทำให้จีดีพีหายไป 248,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อ สศช. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2554 จะขยายตัว 3.8% หมายความว่า เมื่อหักผลกระทบน้ำท่วมออก เศรษฐกิจก็จะยังขยายตัวได้ 0.5% แต่ตัวเลขจริงที่ปรากฏรุนแรงกว่าที่คาดไว้ คือ น้ำท่วมมีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึง 3.7% หรือคิดเป็นเม็ดเงินในราคาปัจจุบันจะทำให้จีดีพีหายไป 328,154 ล้านบาท จึงทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2554 จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% จึงลดลงขยายตัวเหลือเพียง 0.1%

อย่างไรก็ตาม แม้จีดีพีปี 2554 จะขยายตัวเพียง 0.1% แต่ สศช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานประมาณการเศรษฐกิจหลายแห่งเชื่อว่า แรงส่ง (momentum) ของเศรษฐกิจจะไม่แผ่วลง โดยหน่วยงานประมาณการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปี 2555 จะพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้ปกติในอัตราเฉลี่ย 4-5%

เลขา สศช. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัว 5.5-6.5 % เป็นการคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1% จากเดิมที่คาดไว้ในปีที่แล้วว่าจะขยายตัวเพียง 4.5 -5.5% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุน ซึ่งธนาคารโลกคาดว่า ในปี 2555 ภาคเอกชนจะใช้เงินทั้งสิ้นกว่า 798,000 ล้านบาท

ในส่วนของภาครัฐ จะมีการใช้เงินจากงบกลาง 120,000 ล้านบาท และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้พิจารณาแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในปี 2555-2559 ในกรอบวงเงินประมาณ 2.65 ล้านล้านบาท

“ที่สำคัญที่สุดคือ การฟื้นฟูโรงงานทั้ง 7 นิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานทั้งสิ้น 838 โรงงาน คาดว่าจะสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง 100% ภายในไตรมาส 2/2555 จากข้อมูลล่าสุด ณ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีโรงงานเดินเครื่องเต็มที่แล้ว 44% และเมื่อรวมกับโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม ที่จะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลังในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นได้ในไตรมาส 2 นี้” นายอาคมกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ตัวเลขจีดีพีปี 2554 ต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่าแรงส่งเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง โดยคาดว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะกลับมาผลิตได้ปกติต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2555 ในเบื้องต้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ ธปท. ประมาณการไว้ แต่ตัวเลขอัตราการขยายตัวอาจเพิ่มขึ้นเพราะฐานตัวเลขในปี 2554 ต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระตุ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอุทกภัยทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน จะมีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1.0% ของจีดีพี และมีโอกาสสูงไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ จีดีพีทั้งปี 2554 ที่ต่ำลงมาเหลือเพียง 0.1% ทำให้ฐานมูลค่าเศรษฐกิจดิ่งลงรุนแรงกว่าที่คาดในปี 2554 จะทำให้ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เป็น 5.0% ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-6.0 จากคาดการณ์เดิมที่ 4.3% ในกรณีพื้นฐาน และมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วง 3.5-4.8%

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจปี 2555 จะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงรายได้จากครัวเรือนที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการปรับเงินเดือนข้าราชการแรกเข้า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท การดำเนินการมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. ปรับลดลงครั้งก่อน 0.25% จะเป็นปัจจัยหนุนการใช้จ่าย รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีนั้น

แต่จะยังวางใจไม่ได้ เพราะปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังน่าเป็นห่วง ว่าจะขยายวงกว้างกระทบเศรษฐกิจโลกให้ชะลอลง และปัจจัยเสียงที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มีแนวโน้มผันผวนและมีความรุนแรงมากขึ้น

นายอาคมระบุว่า การประเมินเศรษฐกิจปี 2555 ไม่มีสมติฐานเรื่องน้ำท่วม แม้ประเทศไทยจะเป็นทางผ่านของพายุ แต่จะมีพายุมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปกติจะมีพายุผ่านเข้าประเทศไทย 2-3 ลูก ดังนั้น ถ้ามีพายุเข้ามา 2-3 ลูก ก็เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลจัดการได้ แต่ถ้าเข้ามากกว่านี้ หรือมาเหมือนปีที่แล้วที่มากถึง 5 ลูก ก็คาดว่าผลกระทบจะน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กยน.) และรัฐบาลได้วางแผนไว้รองรับไว้แล้ว โดยเรื่องของพื้นที่เศรษฐกิจในกรุงเทพฯ จะป้องกันแน่นหนาด้วยการขุดลอกคูคลองต่าง การเสริมความแข็งแกร่งของประตูระบายน้ำ การเตรียมเครื่องสูบไว้ตั้งแต่ต้นฤดู และจัดเตรียมพื้นที่แก้มลิง ซึ่ง กยน. ได้วางพื้นทีแล้วจำนวน 2 ล้านไร่ นอกจากนี้ ในระยะยาวจะดูแลเรื่องพื้นที่ต้นน้ำ การปลูกป่า และการทำฝาย เป็นต้น

“คิดว่าแผนการดำเนินการดูแลน้ำชัดเจน แต่การอธิบายของเราอาจทำน้อยไป เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า ถ้ามีพายุเข้ามา 2-3 ลูก ก็น่าจะรับมือได้ ถ้ามากกว่านี้ เรื่องมาตรกรต่างๆ น่าจะลดผลกระทบ หรือถ้ามีผลกระทบก็จะน้อยมาก” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้หลายหน่วยงานจะคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2555 ว่ามีแนวโน้มสดใส แต่โอกาสความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เริ่มไม่มั่นใจ เนื่องจากการคาดการณ์เศรษฐกิจของหน่วยงานประเมินเศรษฐกิจหลักๆ ในปีที่ผ่านมามีการทบทวนปรับตัวเลขคาดการณ์บ่อยมาก ที่สำคัญ การคาดการณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมีความแม่นยำน้อยลง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะการประเมินยากขึ้นจึงทำให้คลาดเคลื่อนจริงๆ หรือ ไม่กล้าบอกความจริง หรือไม่ยอมรับความจริงกันแน่!

อ่านเอกสาร: แถลงข่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาส 2/2554 ทั้งปี 2554 และ แนวโน้ม 2555