ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติหนี้กรีซกับเศรษฐกิจยุโรปและโลก

วิกฤติหนี้กรีซกับเศรษฐกิจยุโรปและโลก

12 กุมภาพันธ์ 2012


ในการประชุมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีผู้นำธุรกิจจำนวนแค่ร้อยละ 15 ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ในขณะที่ส่วนใหญ่เชื่อว่า วิกฤติหนี้ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรจะเป็นปัญหาใหญ่ วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเริ่มเผยโฉมเมื่อปี 2010 แต่มีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2011 ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 หนี้สาธารณะในหลายประเทศมีจำนวนสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ กรีซอยู่ในจุดศูนย์กลางของความกังวล ในขณะที่ปัญหาในประเทศอื่นในกลุ่ม PIGS ที่รวมโปรตุเกส ไอร์แลนด์ และสเปน ได้คลี่คลายลง

จากข้อมูลของยูโรสแต็ตหรือหน่วยงานข้อมูลของสหภาพยุโรป หนี้สาธารณะของกรีซ ณ สิ้นปี 2010 สูงถึงร้อยละ 142.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มีมูลค่า 318.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ กรีซยังเป็นประเทศที่สัดส่วนหนี้ต่อ GDP สูงที่สุดในบรรดา 27 ประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 80 และเพราะหนี้สาธารณะที่สูง ทำให้กรีซอยู่ในภาวะวิกฤติเมื่อเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ

ความหวังในการกู้ยืมเพื่อยืดอายุหนี้ขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งตั้งเงื่อนไขหลายข้อ โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและการเพิ่มภาษี จุดหักเหสำคัญจะมาถึงในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เมื่อกรีซครบกำหนดจ่ายหนี้จำนวน 14.4 พันล้านยูโร

มีการคาดเดาว่า กรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้ และจำเป็นต้องกลับไปใช้เงินสกุลดรัคมาแทนยูโร ด้วยวิธีนั้น กรีซจะสามารถลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออก, การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรวม ได้ง่ายกว่า แต่การกระทำเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของสกุลเงินยูโร ที่เพิ่งจะครบรอบปีที่สิบของการใช้ธนบัตรและเหรียญเมื่อวันที่ 1 มกราคมในปีนี้

ด้วยเหตุที่ผลผลิตจากประเทศที่ใช้เงินยูโรคิดเป็นหนึ่งในสี่ของโลก เป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกา การส่งออกและนำเข้ามีมูลค่าถึงร้อยละ 30 ของ GDP จึงมีการคาดว่าการล่มสลายของสกุลเงินใหม่จะทำให้ทั้งโลกต้องปั่นป่วน สัญญาการค้าการซื้อขายต้องเปลี่ยนเป็นสกุลอื่น ธนาคารต้องเพิ่มทุนจำนวนมหาศาลเพื่อรับกับความเสียหาย ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับตัว เพราะหนึ่งในสี่ของทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในรูปของเงินสกุลยูโร ความเสียหายส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่ใช้เงินยูโร

นักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอสได้ประเมินไว้เมื่อปีที่แล้วว่า หากไม่มียูโร ความเสียหายต่อประเทศเล็กจะประมาณ 9,500-11,500 ยูโรต่อหัวในปีแรก และ 3,500-4,000 ต่อหัวต่อปีในปีถัดๆ ไป ในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น เยอรมนี จะมีความเสียหายประมาณ 6,000-8,000 ยูโรต่อหัวในปีแรก และ 3,500-4,000 ต่อหัวต่อปีในปีถัดๆ ไป ซึ่งความเสียหายจะเท่ากับร้อยละ 20-25 ของ GDP สิ่งที่จะเกิดขึ้นรวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชน การเพิ่มทุนในภาคธนาคาร และการล่มของการค้าโลก

ในบทวิเคราะห์ชี้ว่า การให้ความช่วยเหลือต่อกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส จะมีต้นทุนแค่ 1,000 ยูโรต่อหัว จากรายงานฉบับหนึ่งของทีมงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งโลกจะได้รับผลกระทบหากปัญหาหนี้ขยายไปกระทบประเทศขนาดใหญ่ในยุโรป ส่วนต่างดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (credit default swap spread) ที่สูงขึ้นทั้งในและนอกประเทศที่ใช้ยูโร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงผลกระทบทั่วโลก นอกจากนี้ ในรายงานยังเน้นถึงมาตรการจากทั้งโลกในการควบคุมปัญหาด้วย

สิ่งนี้อธิบายว่า ทำไมผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปต้องพยายามอย่างหนักในการหยุดยั้งหายนะ และทำไมทั่วโลกต้องจับตาความเปลี่ยนแปลงในยุโรปอย่างใกล้ชิด