ThaiPublica > คนในข่าว > มาตรา 112 = มีดประจำบ้าน… “วันชัย ศรีนวลนัด” วิพากษ์ต้นเหตุสังคมอาบเลือด

มาตรา 112 = มีดประจำบ้าน… “วันชัย ศรีนวลนัด” วิพากษ์ต้นเหตุสังคมอาบเลือด

30 มกราคม 2012


พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

“…เรามีมีดเล่มหนึ่งไว้ทำกับข้าว มีดก็มีประโยชน์ แต่เรากลับบอกว่าจะโยนมีดเล่มนี้ทิ้ง เพราะมีคนเอามีดเล่มนี้ไปฟันคอคนอื่น จริงๆ แล้วมีดเป็นตัวเสียหายที่ต้องโยนทิ้ง หรือว่าคนที่นำมีดไปใช้ฟันคอคนอื่น อะไรมันผิดกันแน่…”

เมื่อ “คณะนิติราษฎร์” จุดกระแสรื้อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนเกิดการก่อรูป “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 (ครก.112)”

“กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” จึงเกิดขึ้นเพื่อปลุกคนอีกขั้วหนึ่งของสังคมให้ลุกขึ้นมาต่อต้าน

ต่างฝ่ายต่างออกล่าแนวร่วมทางความคิด-ลากเอาชนชั้นนำไปสนับสนุนอุดมการณ์ฝ่ายตน ไม่เว้นแม้แต่ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (กสม.) ที่ตกเป็นข่าวทางหน้าสื่อว่าสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 จนต้องออกแถลงการณ์ปฏิเสธ

“พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อดีตเพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.26) ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศตัวเป็นหัวขบวนต้านการรื้อกฎหมายดังกล่าว

เส้นแบ่งระหว่างการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กับการปกป้องสถาบัน ควรอยู่ตรงไหนอย่างไรในยุคที่ “ความจงรักภักดี” กลายเป็นเครื่องมือห้ำหั่น “ศัตรูทางความคิด” จนคดีหมิ่นสถาบันล้นศาล

จากบรรทัดนี้มีคำตอบ…

ไทยพับลิก้า : ที่มาที่ไปของกระแสข่าว กสม. สนับสนุนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนต้องออกแถลงการณ์ปฏิเสธเมื่อวันที่ 18 มกราคม

ก่อนหน้านี้ กสม. ยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เราก็มองอยู่ว่า ฝ่ายที่เสนอให้แก้ไขเขามีเหตุผลอะไร ต่อมาก็มีอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ซึ่งเป็นนักวิชาการอีกกลุ่ม ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล เราก็ตามดูอยู่ แต่ยังไม่ตกผลึก ไม่ได้เป็นทีท่าของ กสม. แต่จู่ๆ ก็มีใบปลิวที่ใช้ชื่อว่า “ข้าราชการในสำนักงาน กสม. ผู้ปรารถนาดี” ระบุว่า กสม. สนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 นำเข้าที่ประชุม กสม. แล้ว ไม่มีกรรมการคนใดคัดค้าน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาในรายละเอียด ซึ่งเป็นในทางที่ตรงข้ามกับการปกป้องสถาบัน และมีการนำข้อความนี้ไปลงในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอทีด้วย เราจึงคุยกันภายในว่าจะทำอย่างไร เพราะมันไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย ก็รอดูสักระยะหนึ่งประมาณสัปดาห์เศษ ก็มีสื่อสิ่งพิมพ์เสนอข้อความนี้ซ้ำอีก โดยเน้นหนักไปในทำนองว่า กสม. สนับสนุนการแก้ไขนี้

ผมจึงนำเรื่องเข้าที่ประชุม กสม. เมื่อวันที่ 18 มกราคม ว่าเรื่องนี้ปล่อยนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ต้องทำความเข้าใจกับสาธารณะว่าเราจะมีความเห็นอย่างไร กรรมการบางคนบอกไม่ต้องมีมติ แต่ผมบอกว่าไม่ได้ จะมาทำตัวลอยเหนือปัญหาไม่ได้ จะมีมติอย่างไรก็ว่ามา ถ้ามติเอกฉันท์ก็จบ แต่ถ้าไม่เอกฉันท์ แต่ละคนเห็นอย่างไรก็ว่ามา ซึ่งมติส่วนตัวผมคือไม่เห็นด้วย หากส่วนใหญ่เห็นด้วย ผมจะฉีกตัวไป ในเมื่อกฎหมายนี้เป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองปกป้องสถาบันหลักของชาติ แล้วเขากำลังจะมาทำลาย เราจะยอมได้หรือ เราจะไม่มีมติใดๆ ออกมาเลยหรือ เราจะถูกผลักให้ไปอยู่ซีกให้แก้ตลอดหรือ ในที่สุด กสม. ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นความจำเป็น ไม่เห็นเหตุผล และไม่เห็นปัญหาของมาตรา 112 ที่ว่ามา จึงออกแถลงการณ์ไปเพื่อแสดงจุดยืน

ไทยพับลิก้า : ฝ่ายเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 เพราะเห็นว่าความจงรักภักดีถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง กสม. ถกเถียงในประเด็นนี้กันอย่างไร

นั่นก็ต้องไปดูการนำกฎหมายนี้ไปใช้ ไม่ใช่ดูที่สารบัญญัติ หรือบทบัญญัติของกฎหมาย ตัวกฎหมายเองมันมีอะไรบกพร่องที่ต้องแก้ไขไหม ผมเรียนแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ 4 ประการ (พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และคุ้มครองการกระทำ 3 อย่าง (ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย) ลองดูสิว่ามันมีอะไรไม่เหมาะสม จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ การคุ้มครองสถาบันของชาติ ไม่เฉพาะสถาบันของชาติไทยเท่านั้น สถาบันรัฐต่างประเทศก็ได้รับความคุ้มครองในมาตรา 133 และ 134 คุ้มครองเหมือนกัน ใช้คำพูดเหมือนกันทุกอย่าง แล้วทำไมจะมาเลิกการคุ้มครองเฉพาะสถาบันของไทย ทำไมไม่มองชาติอื่น หรือชาติอื่นดีกว่าสถาบันของไทยอย่างนั้นหรือ และไม่เฉพาะการคุ้มครองสถาบันของชาติ กฎหมายดูหมิ่น คุ้มครองหมดแหละ นาย ก. นาย ข. คุณ ผม ก็ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 326 ถ้าสื่อมวลชนก็มาตรา 326 และ 329 เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าพนักงานก็ได้การคุ้มครอง ใครหมิ่นประมาทก็โทษสูงขึ้นไปอีก ถ้าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ศาล อัยการ ตำรวจ พนักงานสอบสวน โทษก็หนักขึ้นไปอีก ดีกรีของโทษจะเพิ่มขึ้นตามความสำคัญของบุคคลที่ประสงค์จะคุ้มครอง ดังนั้นถ้าจะเลิกกฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น มันต้องเลิกทั้งระบบ

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่มาพูดกันมาตราเดียว

(พยักหน้ารับ) ไม่ใช่พูดกันมาตราเดียว แต่ที่มีการอ้างว่าให้เลิกเพราะมีการเอาไปใช้โน่นนี่ มันเป็นการนำกฎหมายไปใช้ต่างหาก เหมือนกับเรามีมีดเล่มหนึ่งไว้ทำกับข้าว มีดก็มีประโยชน์ แต่เรากลับบอกว่าจะโยนมีดเล่มนี้ทิ้ง เพราะมีคนเอามีดเล่มนี้ไปฟันคอคนอื่น จริงๆ แล้วมีดเป็นตัวเสียหายที่ต้องโยนทิ้ง หรือว่าคนที่นำมีดไปใช้ฟันคอคนอื่น อะไรมันผิดกันแน่ แทนที่จะเอามีดมาหั่นเนื้อ หั่นผัก ทำกับข้าวกิน ก็ต้องเก็บไว้ใช้ ทำให้มันคม แต่เอามีดไปฟันคอ แล้วบอกว่าบ้านนี้ต้องโยนมีดทิ้ง มันถูกไหม มันต้องไปแก้ที่คนเอามีดไปใช้ ถูกไหม ฉันใดก็ฉันนั้น มันต้องแก้ที่คนที่เอากฎหมายไปใช้เป็นเครื่องมือ กลไก อ้างอิงในวัตถุประสงค์อย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์กฎหมายแท้จริงที่ประสงค์จะคุ้มครองปกป้องสถาบันของชาติ

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้คนในบ้านลุกขึ้นมากล่าวโทษว่ามีดเป็นปัญหา ต้องโยนทิ้ง

ก็เพราะว่าคนฉลาดเอามีดไปแสดงในทางให้เกิดความเคลือบแคลง ให้สังคมทั่วๆ ไปมองว่ามีดเล่มนี้เป็นสิ่งเลวร้าย ต้องเอาไปทิ้ง เอาไปทำลาย ไม่ได้สร้างความเข้าใจว่าประโยชน์ของมีดคืออะไร ทำนองเดียวกันมาตรา 112 คนทั่วไปรู้หรือไม่ว่าคือกฎหมายว่าด้วยเรื่องอะไร อย่างที่ผมอธิบายความมา คนทั่วไปรู้ไหม ไปบอกว่ากฎหมายหมิ่น แล้วก็ไปยกตัวอย่างคดีอากงที่ถูกจำคุก 20 ปี ไปบอกว่าอากงเป็นคนแก่ๆ ส่งข้อความทางเอสเอ็มเอส โดนลงโทษจำคุก 20 ปี ซึ่งเป็นโทษดูรุนแรง แต่ไม่รู้ลึกหรอกว่าอากงเขาทำอะไร ชาวบ้านไม่รู้ บอกแต่ว่าอากงเป็นคนแก่ โดนลงโทษรุนแรง ก็เอาจุดที่ทำให้คนเข้าใจไขว้เขวมาขยาย บอกว่าเป็นกฎหมายที่กลั่นแกล้งคนอื่น ดังนั้นเราต้องสอนให้คนใช้มีดให้ถูก เก็บให้ดี แขวนให้ดี อย่าให้มันพลาดตกจากเขียง โดนเท้าเลือดออก แล้วมาบอกว่ามีดนี้ไม่ดี เอาไปทิ้งเสีย ตรงนี้ไม่น่าจะถูกต้อง

หากคุณบอกมาตรา 112 ไม่ดี ช่วยขยายความให้ดูหน่อยว่าไม่ดีอย่างไร หากบอกว่าโทษสูงไป จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ก็ไปพิจารณาเรื่องโทษ ทีนี้การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ หากเราไม่ไปแตะ ไม่ไปยุ่ง โทษจะสูงจะต่ำ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปพะวักพะวน หรือไปกลัวอะไร ถ้าโทษสูง ต่อให้กำหนดโทษประหารชีวิต แต่เราอยู่เฉยๆ ไม่ไปทำอะไร ไม่คิดทำผิด เราก็ไม่เคยสะดุ้งผวา ดีเสียอีก มันจะได้ป้องกันคนที่คิดจะทำผิดกฎหมายจะได้ไม่กล้าทำ การกำหนดโทษสูงต่ำอย่างไรมันเป็นรัฐประศาสนโยบาย เป็นนโยบายของรัฐ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม หรือโทษของประเทศอื่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ถ้าลักทรัพย์เขาตัดมือ เขาเฆี่ยนนะ ทั้งที่โทษขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นจะเห็นว่าการกำหนดโทษทางอาญาต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมของแต่ละพื้นที่ด้วย ย้อนมาว่าทำไมโทษต่อพระมหากษัตริย์ถึงสูง ก็ด้วยเหตุผลประการฉะนี้

ไทยพับลิก้า : พอเกิดคดีอากง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอากง โดยระบุว่า กฎหมายนี้ถูกใช้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และจะจับตาดูคดี 112 ในไทย

การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิ แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้แสดงความคิดเห็นและแสดงสิทธินั้นด้วยว่าต้องระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกระทั่งกับคนอื่น ในเมื่อสถาบันเราคุ้มครอง เราเทิดทูน เราเชิดชู ก็อย่ามาแสดงสิทธิที่มันลุกล้ำก้ำเกินไปถึงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย มันก็จบ โทษจะสูงเท่าไรก็ไม่น่าเป็นห่วง กรณีอากง เขาทำผิดหลายครั้ง ระบบกฎหมายของเราและสากลเหมือนกัน ถ้าทำผิดก็เอาโทษมานับรวม

ไทยพับลิก้า : ความซับซ้อนของคดี 112 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถ้าตำรวจสรุปสำนวนอย่างไร อัยการ และศาลมักยืนตามนั้น เพราะไม่อยากโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา

ไม่ๆๆๆๆ เข้าใจผิดเลย ตำรวจจะสรุปอย่างไรขึ้นอยู่กับพยานตามข้อกฎหมายเป็นเกณฑ์ ถ้ามีพยานหลักฐานพอ การกระทำนั้นเข้าข่ายความผิด ตำรวจก็จะมีความเห็นสั่งฟ้อง อัยการดูแล้วไม่จำเป็นต้องเชื่อตำรวจเสมอไป แม้อัยการรับสำนวนแล้วเห็นว่าการกระทำนั้นมีความผิด เกิดขึ้นจริง มีพยานหลักฐานพอ หลักคือควรฟ้อง แต่กฎหมายให้อัยการพิจารณาได้ว่าเรื่องนี้ถ้าฟ้องไปจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ อัยการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีได้ จะสั่งฟ้องตามตำรวจก็ได้ หรือสั่งไม่ฟ้องก็ได้ ดังนั้นอัยการจะมีช่องทางให้ใช้ปัจจัยอย่างอื่น ข้อมูลอย่างอื่นมาเสริม หรือแม้แต่ฟ้องไปแล้ว ถ้าอัยการเห็นว่าการฟ้องไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม หรือเกิดความวุ่นวาย อัยการก็ถอนฟ้องได้

ไทยพับลิก้า : แต่ความผิดต่อสถาบันถูกกำหนดว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ จึงเป็นเรื่องยากหรือไม่ที่คดีต่างๆ จะพลิก เฉพาะปี 2553 มีคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันถึง 478 คดี

เอ่อ…ไม่ใช่ไม่ค่อยพลิกหรอกครับ เพียงแต่ว่าไอ้ 400-500 คดีนี้ มันยังสั่งไม่เสร็จกระมัง อัยการก็ส่วนหนึ่งนะ จะฟ้องไม่ฟ้องต้องไปดูให้ลึกว่าเขาฟ้องกี่คดี ถ้าอัยการฟ้องปุ๊บ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องเดินต่อไป ต้องมีการพิจารณา มีการสืบพยานในศาล เมื่อจบกระบวนการแล้ว ศาลก็มาพิจารณาอีก เมื่อเห็นว่ามีความผิด มีพยานหลักฐานพอ ศาลจะลงโทษหรือไม่ลงโทษก็ได้ แต่ศาลไม่มีสิทธิยก ศาลต้องตัดสิน ส่วนจะลงโทษมากน้อยแค่ไหนเพียงใด หรือรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษ

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้สถานการณ์เดินมาถึงจุดที่คน 2 ฝ่ายออกมาปะทะกันทางความคิดรุนแรงต่อเรื่องมาตรา 112 อะไรคือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้

มันก็เป็นความเห็น ความรู้สึกของแต่ละฝ่าย แต่ท้ายที่สุดมันจะไปได้แค่ไหนเพียงใดขึ้นอยู่กับรัฐสภา เพราะคนแก้กฎหมายคือรัฐสภา ร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้มันมีช่องทางของมันอยู่ โดย ครม. เสนอเข้าไป โดย ส.ส. และ ส.ว. เสนอเข้าไป โดยประชาชน 5 หมื่นคนลงชื่อเสนอเข้าไป เมื่อเข้าไปแล้ว มันจะออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคน 500 คนในนั้น แต่ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายค่อนข้างหนักแน่นชัดเจนว่าจะไม่ยุ่งกับมาตรา 112 รัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภา ถ้ารัฐบาลยังยืนนโยบายตามเดิม การแก้กฎหมายนี้ในช่วงนี้คงไม่น่าจะเกิดขึ้น นอกจากรัฐบาลจะเปลี่ยนแนวทาง ซึ่งจะเปลี่ยนแนวทางอย่างไร รัฐบาลก็ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจ ถ้าเปลี่ยนโดยไม่มีเหตุมีผล รัฐบาลก็จะเสียรังวัด เสียความเชื่อถืออะไรทั้งหลายทั้งปวง

แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามคิด คิดไปได้ แต่ไอ้คนที่คิดแบบนี้…ถามว่าในเมื่อสังคมเราต้องการความปรองดอง ทำไมต้องเอาปัญหานี้มาสร้างให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ก็ฝากให้คนมีหน้าที่ทำให้เกิดความปรองดอง อย่าไปหยิบเอาประเด็นที่ทำให้เกิดความแตกแยกมาสร้างความแตกห่างให้มากขึ้น เรื่องอื่นที่ควรทำมีตั้งเยอะแยะไป เอาเวลาไปคิดทำเรื่องอื่นดีกว่า ดีกว่าไปยุ่งไอ้เรื่องที่…ไม่ได้เป็นปัญหาทำให้ชาติเราถดถอยเลย (หัวเราะเล็กๆ) ไอ้มาตรา 112 น่ะ แต่ถ้าไปหยิบขึ้นมาจะทำให้เป็นปัญหา

ไทยพับลิก้า : แต่มีการจุดกระแสขึ้นมาแล้ว มีคนได้รับบาดเจ็บจากคมมีดเล่มนี้ จู่ๆ จะบอกว่าพวกเราพร้อมใจเอามีดไปซุกไว้ใต้พรมเถอะ มันเป็นไปได้หรือ

ก็ไม่รู้สิ ก็ต้องช่วยกัน ถ้าสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าอย่าไปยุ่งกับเรื่องนี้ คนกลุ่มหนึ่งเขาก็คงคิดว่าสังคมไม่รับเขา เขาก็ต้องหยุด ต้องถอย ลองดูว่าเจตนาจริงๆ เขาต้องการอะไร ประเด็นเริ่มตั้งแต่เรื่องปฏิวัติแล้ว โยนหินถามทางมาหน่อย เสร็จแล้วตอบสังคมไม่ได้ ก็ถอยออกไป จำได้ไหม ตอนนี้เอาเรื่องมาตรา 112 มา เพราะดูแล้วว่าจะจุดแล้วติด มีนักวิชาการมาลงชื่อ 118 คน

ไทยพับลิก้า : คณะนิติราษฎร์ระบุว่ามาตรา 112 มีการเพิ่มโทษหนักขึ้นสมัยคณะปฏิวัติปี 2519 ก็พยายามเกาะเกี่ยวกับความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่

ถ้าพูดว่าอะไรที่เกิดจากคณะปฏิวัติเป็นทฤษฎีผลไม้เป็นพิษ มันก็มีคำถามกลับมาเยอะแยะว่าคุณก็รับผลไม้เป็นพิษนี้ไปใช้ประโยชน์ ทำไมคุณไม่เอาตรงนั้นมาเป็นข้ออ้างล่ะ กลับกลายเป็นว่าสิ่งใดที่คุณไม่ได้ประโยชน์ คุณเอาทฤษฎีผลไม้เป็นพิษมาอ้าง นี่ไง ถ้าหยิบเรื่องนี้มาพูด มันพูดไม่จบ เพราะบ้านเรามีปฏิวัติรัฐประหารมานาน หลายครั้งเรายอมรับในสิ่งเหล่านั้นมาโดยตอลด แต่อย่าไปทำซ้ำ อย่าให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคตแล้วกัน แต่จะไปฟื้นฝอยถอยหลัง มันต้องย้อนไปปีไหน 2475 หรือปี 2500 หรือปีไหน ถ้าเอาเหตุนี้มาอ้าง เราอธิบายประวัติศาสตร์ลำบาก

ไทยพับลิก้า : มองว่าฝ่ายเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นพวกหัวก้าวหน้า หรือพวกซ้ายหลงยุคกันแน่

อันนี้ผมวินิจฉัยเขาไม่ออก แต่เรามาดูว่า จุดที่เอามาพูดกันนี่มันสร้างความลำบาก สร้างปัญหาให้แก่สังคมจริงหรือ ถ้าทิ้งเอาไว้ประเทศชาติมันจะลำบากหรือ ถึงกับจะล่มสลายหรือ ถึงต้องหยิบเอามาพูดกัน มันไม่มีปัญหาอื่นที่หนักกว่านี้ที่ควรเอามาทำหรือ เอาเวลา เอาความรู้ เอามันสมองที่มีอยู่ไปใช้อย่างอื่น น่าจะเกิดประโยชน์กว่าหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : ความท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคม ณ วันนี้ แสดงให้เห็นว่าสถาบันอาจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดหรือยัง

เอ่อ…เดี๋ยวเราจะคุยไปไกลเกินกว่ามาตรา 112 นะ (หัวเราะ) แต่ทุกๆ อย่างก็ต้องเมนเทน (รักษาไว้) ให้ดีน่ะนะครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ตลอดที่ครองราชย์มากว่า 60 ปี

ไทยพับลิก้า : เหตุที่มีเสียงวิจารณ์สถาบันมาก บางคนมองว่าเป็นเพราะอยู่ในช่วงปลายรัชกาล

ก็คนที่มาวิจารณ์ก็ต้องเอาจุดไม่ดี ใครจะเอาจุดดีมาวิจารณ์ล่ะ เขาก็ไม่เอาจุดดีมาพูด

เพื่อนร่วมร่วง

“พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด” เคยเป็นทั้ง “เพื่อนร่วมเรียน” และ “เพื่อนร่วมคิด” ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในหลายโอกาส

ทั้งสมัยเป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 26

สมัย “นายพันตำรวจ” ตัดสินใจผันตัวจาก “วงราชการ” เข้าสู่ “แวดวงธุรกิจ”

สมัย “หัวหน้าพรรคไทยรักไทย” กลายเป็น “ผู้มีอำนาจสูงสุด” และสามารถบันดาลอำนาจให้ใครหลายคนได้ แต่กลับไม่ใช่เพื่อนที่ชื่อ “วันชัย”

“เราเป็นเพื่อนสนิทกันเลย ทักษิณเป็นคนเรียนหนังสือ ขยัน ผมก็เป็นคนเรียนหนังสือ เพื่อนรุ่นเดียวกันมันมีทั้งกลุ่มเรียนหนังสือ กลุ่มเรียนบ้างเล่นบ้าง รุ่นเรามีนักเรียนอยู่ 90 คน แต่จะถูกแบ่งเป็น 3 ห้องย่อย เรียกว่า 3 ตอน เขาจะเลือกเอาคนที่สอบได้ที่ 1-3 มาเป็นหัวหน้าห้อง ทักษิณสอบได้ที่ 2 เลยได้เป็นหัวหน้าตอน 2 ผมสอบได้ที่ 3 เป็นหัวหน้าตอน 3 ฉะนั้นการทำกิจกรรมรุ่นต่างๆ ก็จะใช้หัวหน้าตอน เขาเป็นหัวหน้า ส่วนผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เหรัญญิก”

“บิ๊กโปน” เล่าว่าสไตล์คิดนอกกรอบ-บริหารนอกกฎของ “บิ๊กแม้ว” เริ่มต้นตั้งแต่ยังเป็น นรต. ปี 1 ในวัย 19 ปี สะท้อนผ่าน 3 วีรกรรม

วีรกรรมแรกคือ “ผ้าคลุมเตียงแรกรุ่น-รุ่นแรก” ซึ่งในวันราชการปกติ ภาพที่ปรากฏในโรงนอนของ นรต. คือที่นอนซึ่งถูกขึงด้วยผ้าสีขาวตึงเป๊ะ แต่ถ้าเป็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ มักมี “คนหัวเกรียน” ไปนั่งๆ นอนๆ บนผ้าขาวม้าที่ถูกนำมาปูอย่างสะเปะสะปะ ทับที่นอน เพื่อรักษาระดับความขาวของผ้าผืนล่าง

“ทักษิณบอกว่า เอ๊ะ! อย่างนี้เราก็ต้องซักบ่อยๆ สิ เรามีผ้าคลุมเตียงกันไม่ดีหรือ พวกผมรุ่น 26 ก่อนหน้านั้น 25 ปี ไม่มีใครคิด ก็เลยให้ป้าเขาที่ทำชินวัตรไหมไทย ทำผ้าคลุมเตียงสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำของรุ่นมาปู สีฟ้าสวยเลย เป็นผ้าฝ้าย แล้วให้ผมเก็บเงินเพื่อนในราคาทุน เราใช้ผ้าผืนนี้ยันปี 4 ตอนนี้ก็ยังอยู่กับผมเลย”

ถือเป็นสัญลักษณ์ว่า “เพื่อนแม้ว” ตัวจริง ต้องมีฝ้ายสีฟ้าผืนนี้

วีรกรรมที่ 2 “ฝาท่อ 26” ไอเดียที่ถูกจุดขึ้นมา หลังเพื่อนร่วมรุ่นตกท่อหลายราย เพราะเวลา 05.20 น. ของทุกวัน นรต. จะถูกเรียกแถวออกกำลังกาย แต่ด้วยความที่ฝาท่อระบายน้ำรอบตึกความยาว 200 เมตรชำรุดหลายจุด ผสานกับบรรยากาศยามรุ่งสางที่แสงสว่างยังไม่เข้ายึดพื้นที่ จึงเกิดอุบัติเหตุทั้งเล็กทั้งใหญ่อยู่บ่อยครั้ง

“หัวหน้าแม้ว” เลยชักชวนเพื่อนให้ร่วมกันหล่อฝาท่อ

“ในรุ่นเรามีพ่อเพื่อนเป็นผู้ใหญ่ในโรงงานปูนซีเมนต์ไทย ก็ให้เพื่อนคนนี้ไปขอปูนพ่อมันมา ส่วนทรายกับเหล็กหาเงินรุ่นซื้อ ซึ่งมาจากการสอยกัลปพฤกษ์งานวันตำรวจ โดยให้พ่อเพื่อนที่เป็นทหารไปเอาสินค้าปลอดภาษีมาขาย เราก็ได้กำไร และพวกเราบริจาคบ้าง ส่วนแรงงานก็เอาพวกที่ไม่กลับบ้าน หรือพวกที่ถูกลงโทษอยู่ที่โรงเรียน 20-30 คน ไอ้พวกนี้ก็หล่อฝาท่อไป”

เป็นผลงานชิ้นที่ 2 ฝาท่อคอนกรีตที่มีหมายเลข 26 ประทับอยู่ กระทั่งปัจจุบัน

ส่วนวีรกรรมสุดท้าย แม้ “ไม่สำเร็จ” แต่สะท้อนตัวตนว่า “ทักษิณ” เป็นคน “คิดใหญ่”

“โรงเรียนเราตั้งถนนเพชรเกษม แต่ก่อนเป็นถนนเล็กๆ 2 เลน ป้ายโรงเรียนก็เล็กๆ เอียงๆ ไม่สมสง่าราศีเลย เขาบอก เฮ้ย! เราอยากทำป้ายศิลา กลางคืนมีไฟ ฐานก็มีดอกไม้ เขาก็อุตส่าห์ไปให้ช่างออกแบบพิมพ์เขียวมาแล้ว แต่ไมได้ทำ เพราะการก่อสร้างต้องสร้างในที่ของกรมทางหลวง และไฟต้องให้การไฟฟ้าต่อมา มันต้องขออนุญาตอนุมัติ เกินกำลังของพวกเรา แผนนี้เลยล้มไป”

“พล.ต.อ.วันชัย” บอกว่าตอนรู้จัก “พ.ต.ท.ทักษิณ” เชื่อว่าเป็นคนมีอนาคตไกล แต่ไม่ได้คิดว่าจะไปไกลขนาดเป็น “นายกฯ คนที่ 23” ของประเทศ

“ตอนเรียนปี 2-3 ทักษิณบอกว่าต่อไปกูจะเล่นการเมือง แต่ขอเงื่อนไข 3 อย่างคือ 1. ขอสร้างเศรษฐกิจครอบครัวให้ดี 2. ขอติดยศพันเอกเสียก่อน และ 3. ไปสมัครเล่นการเมืองตามระบบธรรมดา เพราะพ่อเขา (นายเลิศ ชินวัตร) เป็น ส.ส.เชียงใหม่ เขารู้ว่าเล่นการเมืองต้องใช้สตางค์ ดังนั้น ต้องทำเศรษฐกิจครอบครัวให้ดี ไอ้เราก็ไม่ได้คิดอะไร อย่างมากก็คิดว่ามันคงคิดเป็น ส.ส. ไม่ได้คิดเป็นรัฐมนตรี หรือนายกฯ มั๊ง”

กระทั่งปี 2529 “ทักษิณ” ได้แจ้ง “เงื่อนไขใหม่” กับ “วันชัย” ในขณะที่เขาทั้ง 2 เป็น “รองผู้กำกับ” ครองยศ “พ.ต.ท.” ผ่านบทสนทนาที่พลิกชีวิตนายตำรวจผู้นี้ไปตลอดกาล

ทักษิณ : เฮ้ย! โปน กูจะลาออกแล้ว

วันชัย : อ้าว! ออกทำไมล่ะ

ทักษิณ : กูลงทุนไปเยอะ เงินเดือนกูเดือนหนึ่ง ดอกเบี้ยบริษัท (ชินวัตรคอมพิวเตอร์) วันหนึ่งยังไม่พอเลย

วันชัย : อ้าว! ก็เอ็งบอกจะเป็นพันเอกก่อน ตอนนี้เป็นรองผู้กำกับ อีกไม่ถึงปีก็เป็นได้แล้ว รอเป็นพันเอกก่อน จากนั้นจะออกหรือไม่ออกค่อยว่ากัน

ทักษิณ : ไม่ได้ ลงทุนไปเยอะ ต้องรีบตัดสินใจ ต้องดูเอง

วันชัย : ก็น้องอ้อ (คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ) ไง ให้ดูแทนสิ

ทักษิณ : ไม่ได้ น้องอ้อไม่ใช่นักธุรกิจ น้องอ้อดูไม่ได้

วันชัย : ก็บอกผู้ช่วยเหมอ (พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงษ์ ผช.อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) สิ เอ็งก็เอาชื่อไปไว้หน้าห้องพ่อตา ทำงานอยู่สำนักงาน ผช.เหมอ ก็มีเวลาปลีกตัวมาดูธุรกิจได้

ทว่าคำทิ้งท้ายของ “ทักษิณ” คือ “ไม่ได้ ต้องตัดสินใจเร็ว” ก่อนหายหน้าไปจากเพื่อนร่วมรุ่น หายไปจากวงการตำรวจ แล้วกลับมาปรากฏชื่อ-ปรากฏตัวนฐานะนักธุรกิจหนุ่มในแวดวงไอที

“หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ เขาก็ลาออก ไปเร่งทำชินวัตรเต็มที่ แต่ก็ยังทำหน้าที่ประธาน นรต.26 ต่อ เพราะมีสถานที่ประชุม อาคารชินวัตร 1 ชั้น 10 ซึ่งเป็นห้องผู้บริหาร เลยกลายเป็นที่ประชุมรุ่นเรา พอประชุมกันเสร็จ เขาก็จัดโต๊ะจีนเลี้ยง 2 โต๊ะ กระทั่งเข้าการเมือง มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม เลยค่อยๆ ห่างออกไป”

เมื่อถามว่าการเป็น “เพื่อนทักษิณ” เป็น “โอกาส” หรือ “อุปสรรค” ในชีวิตคนชื่อ “วันชัย”

เขาตอบว่า โอกาสมี แต่ไม่ใช่คนฉวยโอกาส เพราะในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ พล.ต.อ.วันชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง คือมือยกร่างกฎหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และถูกวางตัวให้เป็นอธิบดีคนแรก แต่ด้วยเหตุไม่ถูกคอกับ “รองอธิบดี” คนหนึ่ง จึงเอ่ยปากขอเปลี่ยน

เมื่อไม่มีคำตอบรับจากสัญญาณที่ส่งไป “วันชัย” จึงถอนตัว

ส่วนอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สังคมน่าจะจดจำได้ หนีไม่พ้น การสมัครเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อปี 2548 ซึ่ง “วันชัย” เข้าวินในรอบคณะกรรมการสรรหาด้วยคะแนนอันดับที่ 1 ผ่านมาถึงการโหวตรับรองในชั้นวุฒิสภา แต่มาสะดุดเมื่อกลายเป็น 1 ใน 5 ว่าที่ ป.ป.ช. ที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่

ทว่ายังไม่ทันที่ศาลจะชี้ขาด รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ถูกฉีกในวันที่ 19 กันยายน 2549

วันที่ “ทักษิณ” พลัดตกจากอำนาจ และสอยเอาเพื่อนที่ชื่อ “วันชัย” ให้พลอยร่วงหล่นจากบัลลังก์กรรมการองค์กรอิสระแห่งนี้ไปด้วย!!!