ThaiPublica > คนในข่าว > “วิไลพร ทวีลาภพันทอง” เปิดวิจัยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ความเสี่ยงภัยพิบัติไทย 18 ประเภท รัฐต้องทำแผนภัยพิบัติแห่งชาติ!

“วิไลพร ทวีลาภพันทอง” เปิดวิจัยไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ความเสี่ยงภัยพิบัติไทย 18 ประเภท รัฐต้องทำแผนภัยพิบัติแห่งชาติ!

4 มกราคม 2012


มีคำถามทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติว่าใครต้องเป็นคนสั่งการ หน่วยงานไหนต้องทำอะไร ใครเป็นคนประสานงานและต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะความวุ่นวาย ความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ความเสียหายและผลกระทบรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์ภัยพิบัติที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะกรณีน้ำท่วม โคลนถล่ม สึนามิ และล่าสุดวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 แต่ก็ยังไม่เคยมีการถอดบทเรียนและทำแผนการรับมือแห่งชาติแต่อย่างใด

ความบกพร่องและผิดพลาดในการบริหารจัดการวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้จึงเกิดความขัดแย้งมากมาย ภาคประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงในหลายพื้นที่ รวมทั้งการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐ มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายในการต่อสู้ที่ชัดเจน ขณะเดียวกันในอีกภาพหนึ่ง เมื่อภาครัฐอ่อนแอ การรวมตัวของเครือข่ายกลุ่มใหม่ๆในการสร้างสรรค์ ช่วยเหลือจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของภาคประชาชนอีกด้านหนึ่งเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตามก่อนมีจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ศึกษาความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือวิกฤตภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งสภาพัฒน์ได้ว่าจ้างบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอรส์ หรือ PwC เป็นที่ปรึกษา จากผลการศึกษาในเรื่องนี้ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ได้สรุปความเสี่ยงภัยพิบัติ 18 ประเภทของประเทศไทยเอาไว้ด้วย

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วน บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ จำกัด
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วน บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วน บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการนี้สภาพัฒน์ได้รับการมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ศึกษาความพร้อมประเทศไทยในการรับมือเหตุการณ์วิกฤตไม่ว่าภัยธรรมชาติ ภัยจากความมั่นคง โดยทางสภาพัฒน์ได้ว่าจ้าง pwc เป็นที่ปรึกษา ทำการสำรวจประเทศไทยว่า ณ ขณะนี้มีความพร้อมแค่ไหน และเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศมีบทเรียนให้เราเรียนรู้ และpwcได้ศึกษาบทเรียนประเทศอื่นๆนอกเหนือจาก 5 ประเทศนี้ด้วย เมื่อศึกษาเสร็จ pwc ได้จัดทำโฟกัสกรุ๊ป 8 กลุ่มธุรกิจ อาทิ กลุ่มพลังงาน กลุ่มแบงก์ กลุ่มไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อดูว่าเขาคิดอย่างไร จากนั้นจัดสัมมนาใหญ่อีกครั้งโดยเชิญผู้เข้าร่วมประมาณ 400 คน

การศึกษามุ่งในเรื่องประเทศไทยมีความพร้อมไหม ยังไม่มีอะไร และอะไรที่จำเป็นต้องมีบ้าง เช่น มีกฎหมายพร้อมไหม การแบ่งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของไทยมีไหม ซึ่งต่างประเทศมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้วที่เรียกว่า BCP (business continuity planning) ทั้งในระดับประเทศ ระดับบริษัท ระดับบ้าน

การศึกษานี้เพื่อดูว่าประเทศไทยใครพร้อมบ้าง ภาครัฐพร้อมไหม เอกชนพร้อมไหม พร้อมการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้หนึ่งในหัวข้อศึกษา อะไรคือความเสี่ยงประเทศไทยบ้าง โดยการศึกษาได้สัมภาษณ์ทั้งภาครัฐ องค์กร หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

จากสถิติย้อนหลัง ความเสี่ยงที่เกิดกับประเทศไทย และความเสียหายย้อนหลัง 10 ปี มีทั้งภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์ก่อขึ้นมี 18 ประเภทได้แก่

1.ภัยที่เกิดจากน้ำ 2.ภัยจากดินโคลนถล่ม 3.วาตภัย 4. ภัยจากอัคคีภัยที่เกิดจากมนุษย์ แม้ความเสียหายจะลดลง แต่ยังต้องป้องกันอยู่ 5.ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย 6.ภัยจากการคมนาคม และขนส่ง 7.ภัยแล้ง 8.ภัยหนาว 9.ภัยจากไฟป่า 10.ภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ทาง pwc เริ่มเกาะติดเรื่องนี้ แม้ยังไม่มีอะไรที่มีนัยยะสำคัญก็ตาม ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีทำแผนที่ประเทศไทย บอกว่ามี 4 โซน โซนตะวันออกเฉียงเหนือ สีเขียว ปลอดภัย โซนทางตะวันตกฝั่งเขตพม่าเสี่ยงสูงสุด ต่อไปอาจจะมีการผลักดันเรื่องกฎระเบียบการก่อสร้าง เนื่องจากความรุนแรงเริ่มมากขึ้น ริกเตอร์สูงขึ้นเรื่อยๆ 11.ภัยสึนามิ 12. ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์ 13.ภัยจากโรคแมลง สัตว์ ศัตรูพืช ระบาด 14.ภัยจากโรคระบาด สัตว์ พืช 15.การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก 16.ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ 17.ภัยจากการก่อวินาศกรรม 18.ภัยจากการชุมนุมประท้วงและก่อการจลาจล

นี่คือภัยที่ pwc ศึกษาว่ามี 18 ประเภท ซึ่ง 16 ประเภทเป็นสาธารณภัยและ อีก 2 ประเภท เป็นภัยเรื่องความมั่นคง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสถิติภัยพิบัติของไทย

และจากการสำรวจความคิดเห็นผู้ทำโฟกัสกรุ๊ปว่าอะไรเป็นความเสี่ยงแห่งชาติในอนาคต มีคำตอบว่าภัยจากยาเสพติด ภัยจากการทุจริต ภัยจากความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล ภัยจากข่าวลือ แต่เนื่องจากไม่มีคำตอบเป็นเอกฉันท์ทาง pwc จึงไม่ได้เอามารวมในความเสี่ยงภัยพิบัติของประเทศ

ไทยพับลิก้า : มีข้อเสนอแนะรัฐบาลอย่างไรบ้าง

สิ่งที่แนะนำให้รัฐบาลนั้นระบุว่าโอกาสที่ภัยประเภทไหนจะมีโอกาสเกิดสูง กลาง ต่ำ และแนะนำว่าควรมีแอ๊คชั่นต่อว่าหลังจากนั้นต้องทำอย่างไร เราควรมีหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลความเสี่ยงเหล่านี้ เพราะต้องรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก เนื่องจากภัยพิบัติเปลี่ยนทุกปี เพื่อทำแผนตั้งรับ

ตอนที่จัดสัมมนาเชิญประชาชน 400 คน มารับฟังผลการสรุปภัยที่เป็นความเสี่ยงของประเทศ ทั้งนี้เพื่อจะผลักดันให้องค์กรดูแลตัวเอง ให้มีการทำแผน BCP เพราะต่างประเทศเขาทำกันแล้ว อย่าง สิงคโปร์ รัฐบาลสั่งให้ทำและให้เงินช่วยเหลือด้วย 30 ล้านเหรียญ ถ้าทำไม่เป็น สอนให้อีก โดยจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าฝึกอบรม และบางครั้งยังจ่ายค่าซื้อซอฟแวร์ ฮาร์ดแวร์ให้ด้วย

หรืออย่างสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน มีกฎหมายการปกป้อง critical infrastructure คือทุกองค์กรที่เป็นท็อป critical infrastructure เช่น พลังงาน น้ำ ไฟฟ้า สถาบันการเงิน ทุกประเทศที่ศึกษาเขามี BCP หมด ที่เรียกว่า national critical infrastructure โดยศึกษาว่าเขาแบ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างไร พอเรียงลำดับออกมาจะเห็นว่าอะไรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้า หากไม่มีไฟฟ้า เซลไซด์ล่ม โรงพยาบาลล่ม แบงก์ล่ม แล้วอย่างอื่นก็จะพังตามไปเรื่อยๆ

จากที่ศึกษาเราเห็นว่ากลุ่มนี้ควรจะเป็น critical infrastructure ของไทย และรัฐบาลต้องสั่งว่าคุณต้องดูแลตัวเอง เพราะถ้าคุณมีปัญหาที่เหลือล่มหมด เพราะเขาพึ่งคุณอยู่ ไม่ว่าคุณเป็นเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจก็ตาม คุณต้องมีภาระเพิ่มที่ต้องดูแลตัวเอง และดูแลประเทศ อย่าง กลุ่มพลังงานต้องหาแหล่งพลังงานสำรอง กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มโทรคมนาคม เป็นต้น

การรับมือวิกฤต ต้องแบ่ง critical infrastructure ออกเป็นชั้นๆ ระดับต่างๆ แบ่งกรุ๊ปชัดเจน และอันไหนเป็นเทียร์วันเทียร์ทู อย่างอังกฤษ กำหนดเลยว่าเทียร์วันมีหน้าที่อะไร หากคุณไม่ทำก็จะถอนใบอนุญาตเลย หรือ สหรัฐอเมริกาแบ่งกรุ๊ป ออกเป็นกฏหมายเลย ว่าคุณเข้าข่ายกรุ๊ปไหน คุณมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ อย่างเขามีอนุสรณ์สถานเทพีเสรีภาพที่ต้องปกป้อง เพราะเป็นสัญลักษณ์ ก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง

จากที่ pwc ทำสำรวจของไทย ให้จัดลำดับความสำคัญ ปรากฏว่ากลุ่มแรกคือ กลุ่มน้ำ ไฟฟ้า พลังงาน ส่วนกลุ่มที่สองถามว่าควรมีเรื่องอนุสรณ์สถาน อาทิ วัดวาอาราม พระราชวัง หรือไม่ ผลสำรวจยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้

ไทยพับลิก้า : ในแง่มาตรการป้องกันภัยพิบัติที่ศึกษา มีอะไรต้องทำบ้าง

ต้องผลักดันหลายเรื่องเหมือนกัน ขณะนี้ยังไม่มีคอนเซ็ปต์ critical infrasturcture ว่าของไทยควรมีอะไรบ้าง ต้องผลักดันให้มีก่อนว่าจะมีกี่กลุ่ม องค์กรไหนเป็นบ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน หน้าที่ที่ต้องทำ ต้องซ้อมแผน และต้องซ้อมร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างซ้อม ตัวเองรอดคนเดียวคงไม่ใช่ รวมทั้งต้องมีการอัพเดทข้อมูล ถ้าเป็นไฟฟ้า ต้องคิดล่วงหน้าหาแหล่งสำรอง และมีหนาวยงานกำกับดูแลมาสอดส่องว่าทำได้ดีแค่ไหน เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพจริงๆ หากกลุ่มนี้รอด กลุ่มอื่นก็จะรอดด้วย

ส่วนกลุ่มที่เป็นองค์กรเอกชน วิธีการผลักดันคือทั้งสั่งและขอความร่วมมือ เขาต้องทำแผน BCP ของตัวเอง อย่างสิงคโปร์รัฐบาลสั่งให้ทำ แต่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รัฐบาลสั่งให้ทำ BCP เฉพาะ critical infrastructure ส่วนมาเลเซีย กำลังสั่งให้ทำเกือบทั้งหมด ประเทศไทยองค์กรภาครัฐทำเพราะรู้กันเอง แต่ยังไม่มีใครผลักดัน ส่วนองค์กรที่ไม่มีความรู้ ยังไม่มีการให้ความรู้ คนยังไม่รู้ว่าทำอย่างไร ตอนที่ทำโฟกัสกรุ๊ป เอกชนอยากทำแต่ทำไม่เป็น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่รัฐบาลควรตั้งหน่วยงานกลางและให้ความรู้ประชาชน ตอนนี้มีมาตรฐายอุตสาหกรรม(มอก.) มีประกาศมาตรฐาน 22301 (มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ) บางองค์กรเริ่มทำแล้ว ซึ่งมาตรฐานมอก.นี้เอามาจากอังกฤษ BS 25999

เราหวังว่าปีหน้าประเทศไทยจะทำเรื่องนี้ รัฐบาลทำในระดับชาติ องค์กรทำระดับตัวเอง และมีการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งประชาชนต้องเริ่มดูแลตัวเอง ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องนี้ เพราะขาดบุคลากร ซึ่งควรบรรจุในหลักสูตรตั้งแต่ระดับเด็กๆชั้นอนุบาล อย่างญี่ปุ่นสอนเด็กว่าเกิดแผ่นดินไหวต้องหลบใต้โต๊ะ หาอะไรคลุมหัว เกิดเป็นวัฒนธรรมตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เขาดูแลตัวเองให้ได้ ของไทยก็เช่นกันควรบรรจุเป็นไกด์ไลน์ให้เด็กเรียนรู้ป้องกันตัวเอง พอโตขึ้นมาในระดับมหาวิทยาลัยต้องเป็นวิชาที่ต้องเรียน พอจบออกมาเขาสามารถทำเป็น ก็ดีสำหรับองค์กร ตอนนี้หลายองค์กรส่งคนมาเทรน ซึ่งน่าจะทำจริงจัง

ดังนั้นความเสี่ยงที่เราศึกษา มันมีโอกาสที่จะเกิด และมีแนวทางป้องกัน เราอยากเน้นการป้องกันมากกว่าที่จะให้เกิดแล้วแก้ หากเป็นความเสี่ยงประเภทนี้ วิธีการป้องกันควรทำอย่างไร อาจจะหมายถึงการลงทุน รัฐบาลทำวิจัยเพิ่มเติมเป็นต้น

ไทยพับลิก้า : pwc ศึกษามาตรการฟื้นฟูด้วยไหม

ไม่ได้ลงเรื่องมาตรการฟื้นฟู แต่เราเน้น BCP เน้นการป้องกันและอะไรคือความเสี่ยง รวมทั้งแนะนำวิธีการเขียนBCPให้ด้วย

ไทยพับลิก้า : อันนี้ถือเป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาหรือไม่

ที่จริงเทรนด์มาก่อนหน้านี้ 2 ปีแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์เสื้อแดง เราเองเคยคุยกับลูกค้าก่อนเกิดเหตุการณ์เสื้อแดง ตอนนั้นไทยไม่เคยเกิดเหตุการณ์นองเลือดหรือความเสียหายรุนแรง การเห็นความสำคัญยังไม่เยอะ แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทุกคนสนใจเรื่อง BCP และยิ่งวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมาก็มีความสนใจมากขึ้น โทรศัพท์มาถามเยอะขึ้น ขอข้อมูลมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม แนวทางเบื้องต้นสำหรับรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน)

ลูกค้ามีตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีหลายแบบ บางแห่งไม่มีข้อมูลเลย ไม่รู้ทำอย่างไร ทำไม่เป็น เราไปทำให้ตั้งแต่ต้นจนจบ หรือเขียน BCP แล้วไม่มั่นใจเราก็ไปรีวิวให้ใหม่ หรือเขียนแล้วมั่นใจอยากให้เราไปเทสต์ เพราะแผนที่ดีต้องซ้อม ไม่งั้นไม่รู้ว่าแผนอาจจะเขียนเมื่อ 5 ปี ที่แล้ว วันนี้ธุรกิจเปลี่ยนไปหมดแล้ว เราจะทำการซ้อมจริงๆ

เรามีบทเรียนจากประเทศต่างๆ ก็มาแชร์ให้ลูกค้าด้วย การทำBCP ของไทยนั้น ธุรกิจธนาคารทำมาก่อนเพราะแบงก์ชาติสั่งให้ทำ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เขาผ่านบทเรียนมาเยอะ ไม่งั้นการเทรด การโอนเงินทำไม่ได้ หรือธุรกิจสื่อสารก็สำคัญเช่นกัน

ไทยพับลิก้า : มีความเสี่ยงอะไรที่เสี่ยงมากสุด

จากสถิติน่าจะเป็นเรื่องน้ำเยอะสุด ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงที่ทันสมัย เวลาทำแผน BCP ต้องหาข้อมูลมาสนับสนุน เช่น จะเปิดสาขาในภูมิภาค ความเสี่ยงคืออะไร จะต้องมีข้อมูลประกอบ แต่ละจังหวัดความเสี่ยงไม่เท่ากัน รัฐบาลควรมีข้อมูลเหล่านี้ ประชาชนจะได้เตรียมความพร้อมและหาวิธีป้องกันได้ รวมทั้งการทำแผนของจังหวัดจะได้วางแผนรับมือได้ในแต่ละพื้นที่

อย่างที่อังกฤษ น้ำท่วมบ่อยมาก เขาผ่านมาจนเป็นเรื่องปกติ มีการทำข้อมูลออนไลน์ หากเห็นสัญลักษณ์นี้ขึ้นคืออะไร ประชาชนรู้วิธีที่จะรับมือ นี่คือฐานขอมูลความเสี่ยง และมีแล้วก็ต้องอัพเดท คอยประสานเก็บข้อมูล มีวิกฤตแล้วต้องทำอย่างไร เมื่อเกิดแล้วจะต้องถอดบทเรียนไว้เลย จะได้ไม่เกิดอีก

ที่อังกฤษจะมีไกด์ไลน์ออกมาเลย อย่างเรื่องการประสานงาน เขาเคยไม่ดีมาก่อน ไม่ชัดเจนว่าใครทำอะไร ก็มีประกาศสั่งให้ชัดว่าใครต้องทำอะไร เช่น การประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาครัฐ ภาครัฐและเอกชน ภาครัฐกับองค์กรระหว่างประเทศ มีmulti agency framework แม้กระทั่งไกด์ไลน์เรื่องถุงยังชีพ จะมีระยะเวลาว่าก่อนท่วม ระหว่างน้ำท่วม หลังท่วม จะต้องแจกอะไรบ้าง เช่น อาหารแห้ง ไฟฉาย แบตเตอร์รี่กับมือถือ เบอร์สำคัญต่างๆ

น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเป็น big lesson learned

ไทยพับลิก้า : ควรมีข้อมูลว่าใครมีทรัพยากรอะไร มีอะไรที่ไหนอย่างไรด้วยหรือไม่

ใช่ พอรู้ว่าอะไรสำคัญ เราก็มีแผนต่อทันที น้ำท่วมที่ผ่านมาถ้ามีขบวนการ BCP จะบอกหมดเลยว่า อพยพอย่างไร ไม่เกิดการอพยพซ้ำซ้อนต้องอพยพอีก หรืออพยพไปผิดที่ ดังนั้นเรื่องไกด์ไลน์ต้องเริ่มพัฒนา พอภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว คิดฉุกเฉิน จะคิดไม่ครบ หากมีแผน BCP เราอาจจะเซบ้างแต่ความเสียหายจะไม่เยอะ

น้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ต้องฝึกต่อ เป็นเรื่องที่เอามาเป็นบทเรียนได้ เพราะเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่าง สึนามิ น้ำท่วม เรามีบทเรียนอะไรบ้าง และบทเรียนในต่างประเทศเป็นอย่างไร นำมาเปรียบเทียบกัน ถอดเป็นบทเรียนเอาไว้พัฒนาประเทศซึ่งเรื่องนี้ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น