ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “องค์การค้าคุรุสภา” ถังแตก แพ้คดีไม่ปรับเงินเดือนพนักงาน ต้องชดเชยย้อนหลัง 100 ล้านบาท

“องค์การค้าคุรุสภา” ถังแตก แพ้คดีไม่ปรับเงินเดือนพนักงาน ต้องชดเชยย้อนหลัง 100 ล้านบาท

29 มกราคม 2012


การต่อสู้ของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เริ่มต้นตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 3% และปรับอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 แต่องค์การค้าคุรุสภาไม่ได้ดำเนินการ ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานทุกครั้งที่ ครม. มีมติให้ปรับขึ้นเงินแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานจึงไปยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง และได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แผนกคดีแรงงาน เมื่อปี 2548

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินให้องค์การค้าของคุรุสภาปรับโครงสร้างเงินเดือนให้กับพนักงาน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 โดยการขึ้นเงินเดือน 3% ปรับเลื่อนขั้นเงินเดือนอีก 2 ขั้น พร้อมกับจ่ายดอกเบี้ย 15% ต่อปีให้กับพนักงานจำนวน 99 คนที่ยื่นร้องต่อศาลฏีกา ย้อนหลังไปตั้งแต่มติ ครม. มีผลบังคับใช้

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/news_oct08/news_oct289.html
ตัวแทนจากสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ที่มา : http://www.moe.go.th/websm/news_oct08/news_oct289.html

อย่างไรก็ตาม หลังมีคำพิพากษามาจนถึงบัดนี้ ทาง “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา” (สกสค.) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกำกับดูแลองค์การค้าของ สกสค. (ชื่อเดิมองค์การค้าของคุรุสภา) ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานตามคำพิพากษาของศาลฎีกา

ต่อเรื่องนี้ นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะกรรมการองค์การค้า สกสค. เปิดเผยว่า หลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้องค์การค้า สกสค. ปรับขึ้นเดือน 3% ให้กับพนักงาน 99 คนที่รวมตัวกันไปฟ้องศาล และให้มีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 นั้น ปัญหาในตอนนี้คือ คณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภายังไม่รู้จะไปหาเงินจากแหล่งไหนมาจ่ายให้พนักงานทั้ง 99 คน ตามคำสั่งศาล ขณะเดียวกัน องค์การค้าของคุรุสภาจะไปขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณมาจ่ายก็ไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรตั้งแต่แรกเริ่ม ระบุว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่ได้พึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดิน

นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

“ตอนนี้บอร์ดฯ ยังไม่รู้ว่าจะไปหาเงินที่ไหนมาจ่าย ขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมหาเงินไว้จ่ายให้กับพนักงานที่เหลือกว่า 1,000 คน ซึ่งยังไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนเหมือนกัน คาดว่าน่าจะมีพนักงานที่เหลือเหล่านี้จะทยอยไปฟ้องต่อศาล เพื่อบังคับให้องค์การค้าของคุรุสภาจ่ายเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยย้อนหลังตามมาอีก และถ้าปรับขึ้นเงินเดือนย้อนหลังให้ทุกคน คาดว่าต้องใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ขององค์การค้าคุรุสภา” นายบำเหน็จกล่าว

สาเหตุที่ไม่ขึ้นเงินเดือนในขณะนั้น เนื่องจากฐานะการเงินขององค์การค้าของคุรุสภาประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานได้ จึงไปหยิบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยตีความเอาไว้ว่า องค์การค้าของคุรุสภาเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาเป็นเหตุผลให้ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน

ดังนั้น ในช่วงเดือนกรกฏาคม 2548 นายธวัชศักดิ์ พ่วงจินดา และพนักงานอีก 98 คน จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง นายธวัชศักดิ์และพนักงานอีก 98 คน ได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แผนกคดีแรงงาน แต่คราวนี้หยิบเฉพาะประเด็น “สภาพการจ้าง” ขึ้นต่อสู้ในชั้นศาล เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ ครม. มีมติให้ปรับขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ทางองค์การค้าของคุรุสภาจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานทุกครั้ง ประเด็นนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานไปโดยปริยาย และยึดเป็นแนวปฎิบัติมาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2531

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภา ครั้งที่ 12/2537 – 38 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติในหลักการอีกว่า “หาก ครม. มีมติให้ปรับขึ้นเงินเดือนแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็ให้องค์การค้าของคุรุสภาปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานตามมติ ครม. ได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากบอร์ดอีก” ซึ่งองค์การค้าของคุรุสภาได้ยึดเป็นแนวปฎิบัติมาโดยตลอด และไม่เคยเปลี่ยนแปลง

จนในที่สุด ศาลฎีกา แผนกคดีแรงงาน มีคำพิพากษาที่ 902 – 999/2553 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ตัดสินให้องค์การค้าของ สกสค. ปรับโครงสร้างเงินเดือนให้กับพนักงาน โดยขึ้นเงินเดือน 3%, ปรับขั้นเงินเดือนขึ้นอีก 2 ขั้น พร้อมกับจ่ายดอกเบี้ย 15% ต่อปี ย้อนหลังไปตั้งแต่มติ ครม. มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 ไปจนกว่าจะมีการจ่ายเงินจนครบจำนวน

อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา