ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” มั่นใจหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท…เอาอยู่

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” มั่นใจหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท…เอาอยู่

29 มกราคม 2012


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

หลังจากเป็น “ตาบอดคลำช้าง” และลุ้นกันมาตลอดในช่วงที่ยังไม่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ในที่สุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ที่สนใจทั้งหลาย ได้เห็นตัวจริงของ “พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับทันทีหลังประกาศใช้

ดังนั้น ในการแถลงนโยบายประจำปี 2555 ของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 ซึ่่งเป็นวันแรกที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก จึงเป็นโอกาสที่ ดร.ประสารได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความรู้สึกที่มีต่อพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้

ดร.ประสารอธิบายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ ล่าสุดที่่เราเห็นประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็เป็นผลการปรับเปลี่ยน ซึ่งอย่างน้อยก็มีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างน้อย 3 ครั้ง ถามว่ารู้สึกอย่างไร ความรู้สึกแต่ละครั้งก็แตกต่างเปลี่ยนแปลงไป

ในครั้งแรกๆ ก่อนปีใหม่ ก็รู้สึกเป็นห่วงค่อนข้างมาก เพราะขณะนั้นมีแนวคิดลักษณะเหมือนจะโอนหนี้เข้ามาในแบงก์ชาติในความหมายที่โอนจริงๆ และที่ห่วงมากที่สุดคือ ไม่อยากให้เกิดการทำ monetization ของ public debt หรือ การพิมพ์เงินจากธนาคารกลางเพื่อนำไปชำระหนี้สาธารณะ นั่นคือสิ่งที่เราห่วงมากที่สุด เราก็ได้แสดงความเป็นห่วงกับผู้รับผิดชอบในโอกาสนั้นๆ ซึ่งก็มีการปรับเปลี่ยนตามลำดับ

จนกระทั่งล่าสุด ตามความเข้าใจของเราคือ จะไม่มีการพิมพ์เงินเพื่อไปลดหนี้ก้อนนั้นแล้ว เป็นการใช้เงินในระบบ ซึ่งเงินจะมาจากกลไกสถาบันการเงิน เป็นภาระที่จะต้องจัดการต่อไป

ถ้าให้เปรียบเทียบความรู้สึกก็คือ เป็นห่วงเยอะในครั้งแรก แต่ถึงตอนนี้ก็อยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ ส่วนจะทำได้ดีเพียงใดขึ้นก็อยู่กับเป้าหมายที่เราจะไปให้ถึง ถ้าพูดเชิงเลขคณิตทางการเงินเรื่่องหนี้ ก็มีดอกเบี้ย กับต้นเงิน โดยจะสามารถชำระดอกเบี้ยได้เพียงพอหรือไม่ และจะลดต้นเงินได้เร็วเพียงใด

การจะลดต้นเงินได้รวดเร็วเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่า ถ้าเป็นต้นเงินที่มีเวลาให้ค่อยๆ ทยอยลดก็อยู่ในวิสัยที่พอรับได้ ขณะนี้เรามีการวางแผนคร่าวๆ แล้ว ส่วนในด้านการดำเนินการ กำลังขอนัดพบท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังท่านใหม่ (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เพื่อให้ดูแผนที่เรามีอยู่ว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าท่านเห็นด้วยก็จะดำเนินการ ซึ่งคิดว่าจะอยู่ในวิสัยที่ดำเนินการ อาจเป็นภาระสถาบันการเงินอยู่บ้าง แต่พยายามไม่ให้มากเกินไปจนกระทบความเข้มแข็งในการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน”

สุดท้าย ดร.ประสารยอมรับว่า กับ พ.ร.ก. ที่ออกมา ไม่ใช่แบงก์ชาติจะพอใจทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ก้าวข้ามข้อเป็นห่วงแรกๆ เรื่องการพิมพ์เงินไปแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ

“ตอนที่ท่านท่านรองนายกรัฐมนตรีมาหาที่แบงก์ชาติ เราได้ชี้แจงข้อกังวลให้ท่านทราบ ซึ่งท่านก็บัญชาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขให้ในที่สุด ดังนั้น แม้เราจะต้องบริหารจัดการหนี้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ถึงกับสร้างภาระเกินไป ก็พอจะประคับประคองได้”

ทั้งนี้ พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ที่ประกาศใช้ มีการปรับแก้และเพิ่มเติมถ้อยคำในประเด็นที่ทำให้ ธปท. คลายความเป็นห่วง จึงทำให้ ธปท. มั่นใจว่าหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท -เอาอยู่ แต่ต้องไม่เกิดวิกฤตอย่างปี 2540 อีก!

นโยบาย ธปท. ปี ’55 หนุนศก.โต แก้หนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ไม่กระทบค่าเงิน – ดอกเบี้ย

การแถลงทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. เป็นประเพณีปฏิบัติที่ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” จะแถลงเป็นประจำทุกปี และทุกครั้งที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติแถลงนโยบายประจำปี ก็จะมีผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงสื่อมวลชน จับจ้องรอฟังถ้อยแถลงอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะนี่คือการประกาศจุดยืนในการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ และเป็นการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อการวางแผนธุรกิจของภาคเอกชน

โดยในปี 2555 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 มีถ้อยแถลงซึ่งเป็นสาระสำคัญคือ

แบงก์ชาติจะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพให้สอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม ขณะที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินจึงสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตตามศักยภาพ และสามารถรับมือกับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้

ส่วนการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงยึดหลักการให้ค่าเงินปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติเตรียมผลักดัน “แผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายและเงินตราต่างประเทศ” เพื่อเพิ่มความสะดวกให้คนไทยลงทุนในต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง และเสริมความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาตลาดการเงิน

“ถ้าเราเข้าแทรกแซงอะไร จะเกิดผลข้างเคียงเสมอ ถ้าเป็นไปได้ เราจะลดการแทรกแซง โดยแทรกแซงเท่าที่จำเป็น เพราะถ้าไม่ทำเลยอาจเกิดผลเสียมากกว่า การส่งสัญญาณเรื่องนี้ก็เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจรู้ว่า จะคอยให้แบงก์ชาติช่วยทำให้เงินบาทอ่อนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิตด้วยถึงจะแข่งขันได้ ถ้าไม่ค่อยๆ ปรับตัว เราจะเตาะแตะ อีกหน่อยเขมร ลาว ก็จะตามทัน และพม่าจะตามมาอีกแล้ว”

ด้านนโยบายสถาบันการเงิน จะมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินสามารถแข่งขันได้ภายใต้โครงสร้างของระบบที่มั่นคง และการสอดส่องดูแลความเสี่ยงเชิงระบบที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ดร.ประสารยอมรับว่ามีความเป็นห่วง ในกรณีที่แบงก์ชาติต้องดำเนินการตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ที่ให้อำนาจแบงก์ชาติเรียกเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราไม่เกิน 1% ของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก หรือยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชนนั้น แต่จะพยายามดูแลไม่ให้เป็นภาระกับธนาคารพาณิชย์เกินไป จนกระทบต่อความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินในระยะยาว

ทั้งนี้ การหารือกับสมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า ได้กำหนดตัวเลขอัตราเงินนำส่งให้ทางสมาคมธนาคารไทยไปพิจารณาแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบภาระที่จะเพิ่มขึ้นกับภาษีที่ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายลดลงจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ถือว่าภาระที่จะเกิดขึ้นนี้อยู่ในระดับที่ธนาคารพาณิชย์รับได้ในภาวะปัจจุบัน

แต่สิ่งที่แบงก์ชาติยังแก้ไขให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้คือ เรื่องสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีเกณฑ์กติกาแตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ อาจทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน และการบิดเบือนกลไกในระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้แล้ว แต่จะนัดหารือกับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังคนใหม่อีกครั้ง

“ปี 2555 จะมีพันธบัตรหนี้กองทุนฯ ครบกำหนดไถ่ถอนกว่า 300,000 ล้านบาท น่าจะทดแทนด้วยพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่ เมื่อผสมผสานพันธบัตรรุ่นเก่าที่มีดอกเบี้ยประมาณ 6% กับพันธบัตรรุ่นใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยลดลง ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในระยะต่อไปลดลง และฐานเงินฝากจากประชาชนจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เงินนำส่งก็จะสูงขึ้น ดังนั้น เท่าที่ประมาณการก็น่าจะชำระดูแลดอกเบี้ยได้เพียงพอ ส่วนต้นเงินจะค่อยๆ ทยอยลดลง ซึ่งในอีก 5-10 ปี น่าจะเห็นการปรับลดลงอย่างชัดเจน และจะสามารถชำระคืนเงินต้นหมดได้ใน 25 ปี”

ดร.ประสารยืนยันว่า การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท จะไม่เป็นปัจจัยรบกวนการตัดสินนโยบายใดๆ ของแบงก์ชาติ ซึ่งก่อนจะเกิดเรื่องนี้ขึ้น หากไปดูในงบดุลของแบงก์ชาติจะพบว่ามีหนี้สินมากว่า 4 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตร ธปท. พันธบัตรรัฐบาล โดยพันธบัตร ธปท. ที่ออกมานั้นเป็นการดูดซับสภาพคล่องเมื่อแบงก์ชาติเข้าไปซื้อดอลลาร์เพื่อดูแลค่าเงิน

ตัวเลขหนี้พันธบัตร ธปท. เหล่านั้น ผู้ว่าการแบงก์ชาติชี้แจงว่า เกิดขึ้นตั้งแต่ดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ระดับต่ำกว่า 2% เพราะฉะนั้น ถ้าแบงก์ชาติกลัวเรื่องหนี้ ก็จะไม่เห็นแบงก์ชาติตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 3.5% ซึ่งทุกครั้งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หมายถึงภาระดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติต้องจ่ายออกไป แต่ช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติไม่ได้คิดเรื่องนี้ทั้งที่เราเป็นหนี้ตั้งกว่า 4 ล้านล้านบาท จะไปหวั่่นไหวอะไรกับหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท

“ยืนยันว่าเคยทำมาแล้ว ทำมาตั้ง 4 ล้านล้านบาท อันนี้แค่ 1.14 ล้านล้านบาท จะไม่มารบกวนเด็ดขาด” ดร.ประสารกล่าวย้ำ

อ่านฉบับสมบูรณ์ สุนทรพจน์การแถลงทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท. โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.