ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กระแส Occupy Wall Street: หมดยุคการเงินไม่ยั่งยืน?

กระแส Occupy Wall Street: หมดยุคการเงินไม่ยั่งยืน?

26 มกราคม 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

เดือนกันยายน ปี 2011 หนึ่งปีก่อน “ปีสิ้นโลก” ตามการตีความปฏิทินของชาวมายันโบราณ (อย่างผิดๆ ถูกๆ) การประท้วงภาคการเงินอเมริกันที่เรียกตัวเองว่า “Occupy Wall Street” (ยึดพื้นที่ภาคการเงิน) ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งอเมริกา และอีกเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก็เกิดการประท้วงในลักษณะเดียวกันกว่า 950 เมือง ใน 82 ประเทศทั่วโลก

ผู้ร่วมขบวนการ Occupy Wall Street (OWS) มีความหลากหลายอย่างมากทั้งทางสัญชาติ ศาสนา และความเชื่อ จุดร่วมคือการเรียกตัวเองว่า “99%” สะท้อนมุมมองว่าพวกเขาไม่ใช่คน “1%” ที่รวยที่สุดในสังคม ซึ่งหมายรวมถึงนายธนาคารและนักการเงินทั้งหลาย

Occupy Wall Street ที่มาภาพ: http://www.blogcdn.com/www.spinner.com/media/2011/10/occupy-wall-street-456.jpg
Occupy Wall Street ที่มาภาพ: http://www.blogcdn.com/www.spinner.com/media/2011/10/occupy-wall-street-456.jpg

OWS นับเป็นการประท้วง “ยุคอินเทอร์เน็ต” ครั้งแรกของอเมริกา ในแง่ที่มันไม่มีกลุ่มผู้นำม็อบอย่างเป็นกิจลักษณะแบบที่เราคุ้นเคยคอยปลุกระดมให้คนออกมาประท้วง รวบรวมรายการข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ผู้ชุมนุมใน OWS ต่างคนต่างมาจากคำชักชวนที่ส่งต่อกันในอินเทอร์เน็ต การที่ขบวนการนี้ไร้ “ตัวแทน” อย่างเป็นทางการทำให้พวกเขาถูกดูแคลนจากผู้สังเกตการณ์หลายรายว่า เป็นแค่ “วัยรุ่นไม่เอาถ่าน” หรือพวก “ซ้ายตกขอบ” ที่ชอบประท้วงเป็นงานอดิเรก แต่ไม่รู้ว่าจะประท้วงไปทำไม เป้าหมายสุดท้ายคืออะไร

นักข่าวที่ไปถามผู้ประท้วงว่าออกมาทำไมก็ได้รับคำตอบที่แตกต่างกัน หลายคนบอกว่าแค้นคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในอเมริกา ภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่คนกว่า 20 ล้านคนในอเมริกายังตกงาน ฯลฯ

ในเมื่อมันเกิดจากบทสนทนาออนไลน์ OWS จึงเหมือนกับ “อินเทอร์เน็ต” มากกว่า “หนังสือ” คือเป็น “บทสนทนา” ที่เบ่งบานและกระเพื่อมอย่างไร้จุดศูนย์กลาง ไม่มีขั้นตอนหรือจุดจบที่ชัดเจน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ประท้วงจำนวนมากมองว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็น “อาการ” ของปัญหาหลักเดียวกัน นั่นคือ การที่อุตสาหกรรมการเงินได้แผ่อิทธิพล “ครอบงำ” ภาคการเมือง บิดเบือนนโยบายรัฐให้เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง ที่แย่ที่สุดคือ ให้สังคม (ผู้เสียภาษี) แบกรับต้นทุนจากความฟุ้งเฟ้อและหลอกลวงที่ตนเป็นตัวการ รูปธรรมที่เด่นชัดที่สุดคือ “เงินอุ้ม” (bailout package) นับล้านล้านเหรียญที่รัฐบาลอเมริกันทุ่มให้กับการพยุงภาคการเงินด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่อุ้มขนาดประวัติการณ์ครั้งนี้ ภาคการเงินจะฉุดเศรษฐกิจทั้งระบบลงเหวไปด้วย

ลำพังการเอาเงินภาษีไปอุ้มธนาคารก็ทำให้คนโกรธแล้ว แต่หลังจากนั้น สถาบันการเงินหลายแห่งยังจ่ายเงินโบนัสจำนวนมหาศาลให้กับผู้บริหารและนักการเงินหัวกะทิต่อไป โดยอ้างว่าต้องจ่ายเงินขนาดนี้เพื่อดึงดูดคนเก่งๆ ให้ทำงานต่อ บางแห่งแถมท้ายว่าในเมื่อปัญหาเกิดในภาคการเงิน ถ้าเราไม่จ่ายโบนัสดีๆ จะมีคนเก่งที่ไหนมาช่วยแก้ปัญหา?

ไมเคิล แซนเดล สรุปความโกรธแค้นของชาวอเมริกันต่อเงินอุ้มและโบนัสหลังการอุ้มในหนังสือเรื่อง “Justice” (ฉบับภาษาไทยชื่อ “ความยุติธรรม” ผู้เขียนเป็นผู้แปล) อย่างชัดเจนว่า

“หัวใจของความแค้น…คือความรู้สึกว่าเกิดความอยุติธรรม…โบนัสจากเงินอุ้มมาจากเงินภาษีของประชาชน ขณะที่โบนัสที่จ่ายในยุครุ่งโรจน์มาจากผลกำไรของบริษัทเอง ชาวอเมริกันต่อต้านเงินโบนัส – และการอุ้ม – ไม่ใช่เพราะมันให้รางวัลความโลภ แต่เพราะมันให้รางวัลความล้มเหลว …ตอนที่โอบามาประกาศเพดานค่าตอบแทนผู้บริหารสำหรับบริษัทที่ได้รับเงินอุ้ม เขาก็ระบุบ่อเกิดของความโกรธแค้นอย่างชัดเจนว่า นี่คืออเมริกา เราไม่ดูหมิ่นความร่ำรวย เราไม่อิจฉาริษยาใครก็ตามที่ประสบความสำเร็จ และเราก็เชื่อจริงๆ ว่าทุกคนควรได้รางวัลจากความสำเร็จ แต่สิ่งที่ทำให้คนโมโห – ซึ่งก็สมควรโมโห – คือข้อเท็จจริงว่าผู้บริหารได้รางวัลจากความล้มเหลว โดยเฉพาะเมื่อรางวัลนั้นได้รับการอุดหนุนจากประชาชนผู้เสียภาษี”

Occupy Wall Street 
ที่มาภาพ: http://www.ultragod.com/Occupy_Wall-Street_Crimes_against_humanity.jpg
Occupy Wall Street ที่มาภาพ: http://www.ultragod.com/Occupy_Wall-Street_Crimes_against_humanity.jpg

กระแสความแค้นเงินอุ้มและโบนัสนายธนาคาร ตลอดจนการเติบโตของขบวนการ OWS ซึ่งแม้จะไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน แต่ก็ทำท่าว่าจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ โดยเฉพาะตราบใดที่ประชาชนยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และยังไม่มีผู้บริหารสถาบันการเงินรายใดถูกศาลตัดสินลงโทษ หรือออกมายอมรับผิดว่าหลอกลวงนักลงทุนให้ซื้อของห่วย และหลอกลวงผู้มีรายได้น้อยให้กู้เงินไปซื้อบ้าน ทั้งที่ไม่มีปัญญาจะจ่ายคืน

ความโกรธแค้นของประชาชน “99%” ก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ภาคการเงินของอเมริกา ประเทศที่ระบบการเงินซับซ้อนและ “ก้าวหน้า” (ในแง่ของการประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ) ที่สุดในโลก จะทำให้ตัวเองเสียหายจนแทบเอาตัวไม่รอด และทำให้ผู้บริสุทธิ์อีกหลายล้านคนพลอยเดือดร้อนตาม เหตุใดการเติบโตของธุรกิจการเงินถึงได้ดูจะฟุ้งเฟ้อ และหลุดลอยออกจากระบบเศรษฐกิจจริงที่ผลิตสินค้าและบริการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไมนักการเงินและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจึงได้ประเมินความเสี่ยงผิดพลาด โดยเฉพาะหลักทรัพย์อ้างอิงสินเชื่อซับไพรม์

ในเมื่อภาคการเงินกระแสหลักซึ่งมีอเมริกาเป็นหัวหอกนำนั้นดูจะมีส่วนทำร้ายมากกว่าเกื้อหนุนสังคม เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาคการเงินจะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเอง หรือว่าวิถีปฏิบัติของธุรกิจนี้ที่เป็นอยู่นั้น “ดีที่สุด” เท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะคิดออกแล้ว ไม่มีทางปรับปรุงให้ดีกว่านี้ ทำได้เพียงหาวิธี “บรรเทา” ความเสียหายจากวิกฤตให้น้อยลงเท่านั้น?

จากมุมที่กว้างกว่า นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินจำนวนไม่น้อยกำลังถกเถียงกันว่า วิกฤตการเงินรอบล่าสุดนี้ชี้ให้เห็น “ความจำเป็น” ที่จะรื้อตำราการเงินแล้วหรือยัง เพราะโลกจริงพิสูจน์ชัดแล้วว่าทฤษฎีเก่าใช้การไม่ได้ ตกลงภาคการเงินช่วยพัฒนาเศรษฐกิจจริง ตามก้นเศรษฐกิจจริง หรือฉุดรั้งเศรษฐกิจจริง เราจะทำให้มัน “เอื้อสังคม” ในทางที่สอดคล้องกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” กว่าที่แล้วมาได้อย่างไร มีตัวอย่างของสถาบันการเงินหรือบริการทางการเงินใดบ้างที่ทั้งเอื้อสังคมและประสบความสำเร็จทางการเงินไปพร้อมกัน?

ผู้เขียนขอชวนทุกท่านมาร่วมกันค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ จากมุมมองและความเคลื่อนไหวของผู้เล่นรายสำคัญๆ ในธุรกิจการเงินกระแสหลักและกระแสรอง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในนาม “การลงทุนเพื่อสังคม” “ธนาคารที่ยั่งยืน” และ “ไมโครไฟแนนซ์” ในซีรีส์ “การเงินเอื้อสังคม” นับแต่นี้เป็นต้นไป

ภาคการเงินกับเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” (sustainable development) ในความหมายที่รับรู้กันทั่วไป คือนิยามขององค์การสหประชาชาติ ในรายงาน Brundtland ปี 1987 หมายถึง “การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของปัจจุบัน โดยไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา”

แนวคิดหลักสองประการที่ฝังอยู่ในนิยามนี้ คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของคนจน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในโลก และการตระหนักใน “ขีดจำกัด” ของธรรมชาติในการตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์

การพัฒนาที่ยั่งยืนเรียกร้องให้เรา “คิดยาว” กว่าเดิม เพราะต้องคำนึงถึงความต้องการของคนจนและคนรุ่นหลัง แต่ตลาดการเงินกระแสหลักยังเดินสวนทางกับแนวคิดนี้ เพราะที่ผ่านมาดูจะโน้มนำให้ภาคธุรกิจและคนทั่วไป “คิดสั้น” มากกว่า “คิดยาว” – คำนึงถึงแนวโน้มผลกำไรไตรมาสหน้า หรือราคาหุ้นวันพรุ่งนี้ มากกว่าอนาคตที่อยู่ไกลกว่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าภาคการเงินจะหนุนเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มันก็จะต้องเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ หรืออย่างน้อยก็วิธีคิด นักการเงินจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังครุ่นคิดถึงประเด็นนี้

ลอร์ด โคลิน ชาร์แมน ประธานกรรมการบริษัท อาวีวา ที่มาภาพ: http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02044/sharman_2044382c.jpg
ลอร์ด โคลิน ชาร์แมน ประธานกรรมการบริษัท อาวีวา ที่มาภาพ: http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02044/sharman_2044382c.jpg

ปลายปี 2011 ลอร์ดชาร์แมน ประธานกรรมการบริษัท อาวีวา (Aviva) บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ เสนอในงานที่จัดโดย Institute of Chartered Accountants (สถาบันนักบัญชีที่ได้รับอนุญาต) ว่า นักการเงินจะต้องเปลี่ยนแปลงตลาดทุนให้มันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่ให้มันเป็นอุปสรรค เขาเสนอวิธี 3 วิธีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. จะต้องพัฒนาข้อเสนอว่าผู้เล่นและสถาบันสำคัญๆ ในภาคการเงินควรใช้โครงสร้างแรงจูงใจอย่างไร เพื่อให้มุ่งเน้นการสร้างผลงานระยะยาว ไม่ใช่ประเมินแค่ระยะสั้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หนุนเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

2. บริษัทต่างๆ จะต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น หน่วยงานผู้กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ จะต้องกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลว่า โมเดลธุรกิจของพวกเขารับผิดชอบและยั่งยืนอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องเปลี่ยนกฏเกณฑ์ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ให้กลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัทเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้ถือหุ้นโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

3. สถาบันต่างๆ จะต้องอบรมผู้เล่นในตลาดทุนและตลาดเงินให้ดีกว่าเดิม ให้เข้าใจว่า ประเด็นความยั่งยืนต่างๆ นั้นมีมูลค่าที่วัดได้อย่างไรแค่ไหน และจะรวมมันเข้าไปอยู่ในกรอบการประเมินมูลค่าต่างๆ ในตลาด (เช่น มูลค่าหุ้น) ได้อย่างไร และ Chartered Financial Analyst Institute (สถาบันรับรองคุณวุฒิของนักวิเคราะห์ทางการเงินที่ได้รับการยอมรับที่สุดในโลก) ก็จะต้องรวมประเด็นเหล่านี้เข้าไปในข้อสอบสำหรับนักวิเคราะห์ด้วย