ThaiPublica > คนในข่าว > บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติเร่งรัฐ รื้อกฎหมายมัดมือเกษตรกร เปิดทางฉวยทรัพยากร อ้างสิทธิจดทะเบียนนอกประเทศ

บริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติเร่งรัฐ รื้อกฎหมายมัดมือเกษตรกร เปิดทางฉวยทรัพยากร อ้างสิทธิจดทะเบียนนอกประเทศ

16 มกราคม 2012


มีการประเมินว่าธุรกิจ “การค้าเมล็ดพันธุ์” ในประเทศไทย มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้านบาท และกำลังขยายบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบริษัทข้ามชาติ ยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ ที่ดูแลวงจรธุรกิจนี้ หนึ่งคือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขล่าสุดปี พ.ศ. 2552 ที่เน้นการควบคุมการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพก่อนถึงมือเกษตรกร ด้วยการขึ้นทะเบียน และป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้ลงทุนวิจัย

อีกฉบับคือพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่มุ่งสนับสนุนคิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์ นำทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ไปทดสอบและคิดค้นพันธุ์พืชใหม่ๆ ภายใต้การกำกับดูแลและแบ่งปันผลประโยชน์คืนให้กับประเทศ

ที่ผ่านมา มีบริษัทเมล็ดพันธุ์ของไทยและบริษัทข้ามชาติ พยายามล็อบบี้ให้ภาครัฐแก้ไขกฎหมาย ให้เข้มงวดและเอื้อต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

แต่การแก้ไขกฎหมายถือเป็น “ดาบสองคม” ที่อาจทำให้เกิดการ “ผูกขาด” สิทธิความเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ และการจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาที่สูงลิ่ว ทั้งๆ ที่บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ใช้ทรัพยากรชีวภาพของไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิต

รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จำนวน 2 สมัย และคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 อีก 3 สมัย ติดตามความเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด

รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไทยพับลิก้า: พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ส่งผลดีต่อเกษตรกรและภาคธุรกิจอย่างไร

ความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.พันธุ์พืช เพราะภาคธุรกิจมีปัญหาในการผลิตพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็น “ลูกผสมเดี่ยว” ที่ต้องเอาพ่อแม่ผสมพันธุ์กัน แล้วเอาเมล็ดพันธุ์มาขาย ปรากฎว่าตอนผสมก็ไปจ้างชาวบ้านเกษตรกรผสม ก็มีผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายย่อยไปตัดหน้าซื้อเขา เพราะให้ราคาสูงกว่า เกษตรกรก็แอบขายไป เพราะฉะนั้น จึงแก้ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ให้ชัดเจนว่าต่อไปนี้ใครขายเมล็ดพันธุ์ต้องมีการขึ้นทะเบียน เช่น พวกพืชไร่หลักๆ คือข้าวโพด ต้องขึ้นทะเบียน

เพราะเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวโดยตัวเองเอาไปปลูกต่อไม่ได้อยู่แล้ว ปลูกไปก็ไม่เหมือนเดิม จริงๆ เขาก็ไม่อยากเข้า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช แต่ปัญหาคือมีการแอบไปซื้อ เพราะเกษตรกรได้รับราคาสูงกว่า แต่เจ้าของพันธุ์ตัวจริงต้องลงทุนวิจัย ขณะที่บริษัทรายย่อยชุบมือเปิบเลย จึงให้ราคาสูงกว่าเจ้าของจริงได้ และนำมาขายในราคาที่ถูกกว่าด้วย เพราะไม่มีต้นทุนอะไร

อีกลัษณะหนึ่งคือ มีบริษัทขนาดกลางแอบขอซื้อ เกษตรกรก็ขุดพันธุ์พ่อพันธุ์แม่ออกมาเพื่อพัฒนาพันธุ์ใหม่ การได้พันธุ์พ่อพันธุ์แม่ปกติมันยาก แม้จะเป็นการขอซื้อ แต่ถือว่าไปละเมิดสัญญา ก็คือขโมยนั่นแหละ เกษตรกร คือคนที่รับจ้างปลูกเฉยๆ เขาไม่ได้ขายพันธุ์ให้ ซึ่งสัญญามันชัดเจนอยู่แล้ว ว่ารับจ้างปลูก ผสม ดูแลจนเก็บเมล็ด ในราคานี้นะ ถ้าแฮปปี้ก็ทำสัญญา แต่ถ้าเกษตรกรเบี้ยว เลาะต้นไม้ออกมา ไปขายให้บริษัทขนาดกลางซึ่งมีความสามารถระดับหนึ่ง เข้ามาซื้อแบบชุบมือเปิบ ได้พ่อแม่ไปใช้ประโยชน์ต่อ ถ้าได้พ่อแม่จากบริษัทขนาดใหญ่ 3-4 บริษัท คุณอาจได้พันธุ์ใหม่ ไปขายได้กำไร ตรงนี้เราจึงต้องแก้ไขเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุน ไม่อย่างนั้นผู้ลงทุนคงหนีจากประเทศไทยหมด

โดย พ.ร.บ.พันธุ์พืช กำหนดให้ลงทะเบียน เพื่อรายงานว่าไม่ได้มีการจิ๊กพันธุ์พ่อแม่มานะ ไม่งั้นต่างชาติไม่ลงทุน เค้าลงทุน 50 ล้านบาท เช่น พันธุ์ไฮบริด 111 (ตองหนึ่ง) ลงทุนไปเยอะ แต่จู่ๆ เขาแอบมาขอซื้อจากเกษตรกร 50 บาท เพราะไม่ต้องลงทุน ขณะที่บริษัทที่ลงทุนอาจทำสัญญาซื้อแค่ 40 บาท เจออย่างนี้ใครก็ไม่มาลงทุน

ไทยพับลิก้า: หลังมี พ.ร.บ.พันธุ์พืช และแก้ไขแล้ว มีผลอย่างไรบ้าง

พอแก้ไขแล้วสถานการณ์ดีขึ้น ผู้ละเมิดทั้งหลายก็ต้องมีพฤติกรรมดีขึ้น เช่น พันธุ์ไฮบริด 111 ไปขายแล้วไม่ปิดฉลาก ใครมาซื้อก็มีขาย แค่ไม่เขียนบอก เพราะแอบไปเอาพันธุ์เขามา โดยขายราคาถูกกว่าบริษัทเจ้าของที่วิจัย ดังนั้น กฎหมายจึงจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนผู้จำหน่ายเพื่อดูแลตรงนี้

ไทยพับลิก้า: จริงๆ กฎหมายนี้ส่งผลดีกับเกษตรกรหรือบริษัทเมล็ดพันธุ์มากกว่า

ผมว่ามีผลดีกับเกษตรกรนะ เพราะพูดง่ายๆ คือจะไม่มีปัญหาเมล็ดพันธุ์ปลอม ไม่งั้น 111 กำลังฮิต มีคนไม่ติดฉลากมาขาย ก็เท่ากับไม่มีการรับรองคุณภาพจากบริษัท พ.ร.บ. คุมเรื่องนี้และคุมเรื่องเปอร์เซนต์ความงอก มีคุณภาพ ไม่ใช่ตรงตามพันธุ์อย่างเดียว ซื้อมาก็จะได้อย่างที่คุณต้องการ ส่วนพวกไม่เข้าระบบก็อาจจะไม่ได้เมล็ดพันธุ์ดีอย่างที่ควรเป็น ไม่ตรงตามพันธุ์บางส่วน ถ้าเก็บรักษาไม่ได้ การงอกไม่เป็นตามจริง แทนที่จะปลูก 3 เมล็ด ก็ต้องใช้มากกว่านั้น ต้นทุนก็สูงกว่า

ไทยพับลิก้า: เราคุ้มครองบริษัทใหญ่มากไปหรือไม่

มันต้องสองทาง เราคุ้มครองเขาก็ต้องทำถูกต้อง เป็นประโยชน์กับเกษตรกรด้วย การลงทุนบริษัทต่างชาติเติบโต การส่งออกเมล็ดพันธุ์ก็ดี เกษตรกรรายย่อยก็ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพขึ้น หลังจากมี พ.ร.บ.พันธุ์พืช ไม่งั้นเมล็ดพันธุ์เก็บไม่ดี อยู่ในร้าน อยู่ในปี๊บ เกษตรกรก็จะได้ของคุณภาพต่ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว พอจดทะเบียนปุ๊บก็เอาผิดง่าย ถ้าขึ้นแล้วของไม่ดี ก็เอาผิดคุณ เทียบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็มีหน้าที่ตรวจจับยาปลอม อันนี้ก็เหมือนกัน ถือว่าสาระสำคัญต่างจากที่ระบุไว้ มากหรือน้อยเกินไป ก็ถือเป็นยาปลอม อันนี้ถ้ากำหนด 90% ถ้าสุ่มตรวจแล้วเหลือ 80% ก็ถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ปลอมแล้วนะ บริษัทต้องรักษาคุณภาพ สถานที่ขายก็ต้องมีเงื่อนไขการเก็บเมล็ดพันธุ์ มีตู้เย็น ไม่ใช่โกดังสังกะสีร้อนฉ่า มันมีเงื่อนไขอยู่ ประโยชน์สุดท้ายคือเกษตรกร

ไทยพับลิก้า: เป็นการส่งเสริมให้มีการผูกขาดหรือไม่

อย่างนี้คือไม่ผูกขาด ถ้าผูกขาดต้องเริ่มตั้งแต่พันธุ์ เช่น ลูกผสมเดี่ยว เป็นที่ต้องการของเกษตรกร ยังไงก็ต้องซื้อทุกรอบที่ปลูก เขาต้องพิจารณาเองว่าคุ้มหรือไม่ที่จะซื้อเมล็ดพันธุ์ที่แพงขึ้น เพราะแพงกว่า “เมล็ดพันธุ์ประชากรเปิด” แต่ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า ถามว่ามันคุ้มหรือไม่ ถ้าเป็นพื้นที่ชลประทาน ไม่ขาดน้ำ เกษตรกรจะแฮปปี้กับการปลูกลูกผสมเดี่ยว คิดว่าไม่เสียหาย ลงเยอะ ไม่มีปัญหา ถ้าพื้นที่แห้ง ต้องอาศัยฝน ลูกผสมเดี่ยวไม่เหมาะเท่าไหร่ ฝนแล้งก็สูญเลย แต่ถ้าใช้ลูกผสมเปิด ลงทุนน้อยกว่า หากเสียก็เสียน้อยกว่า ลักษณะพันธุ์จะเหมาะกับพื้นที่ต่างกันไป

ไทยพับลิก้า: บริษัทเมล็ดพันธุ์จะวิจัยลูกผสมเดี่ยวเป็นหลัก

ใช่ เป็นแนวจากสหรัฐฯ มาแต่ต้น บริษัทไทยจะขึ้นกับความสามารถในการวิจัย ถ้าความสามารถไม่สูงจะไม่ทำลูกผสมเดี่่ยว

ไทยพับลิก้า: แรงผลักดันแก้กฎหมายเป็นเรื่องคุ้มครองสิทธิบัตรด้วย

ตรงนั้นเป็นอีกกฎหมายหนึ่ง คือเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ส่วน พ.ร.บ.พันธุ์พืช เหมือน อย. ที่ดูการติดฉลาก ดูปริมาณตามนั้น เป็นการคุมปลายทางเพื่อประโยชน์เกษตรกร ในต่างประเทศสองตัวนี้ทำงานร่วมกัน ของไทยไม่รวมกันก็โอเคแล้ว เพราะระบบราชการไทยไปรวมมากจะมีปัญหา

ไทยพับลิก้า: ทำไมคนถึงกลัว พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ภาพที่ออกมารู้สึกว่าไม่ดีเลย

ทุกวันนี้ กรณีลูกผสมเดี่ยว เจ้าของพันธุ์ใช้ลักษณะธรรมชาติของลูกผสมเดี่ยวมาปกป้องสิทธิตัวเอง คือปลูกแล้วไม่เหมือนเดิม ส่วนพันธุ์ผสมเปิด ตอนนี้เกษตรกรยังเก็บใช้ได้ แต่ต่อไปมีแนวโน้มแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เกษตรกรอาจเก็บไม่ได้แล้ว ถ้าบริษัทเขาใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เต็มที่ เช่น ในประเทศอุตสาหกรรมจะมีลักษณะว่า ซื้อเฉพาะปลูกได้เท่าครั้งนั้นครั้งเดียว ต้องซื้อใหม่ทุกครั้งที่ปลูก ประเด็นคือว่า มันอาจนำไปสู่การครอบงำฐานทรัพยากรชีวภาพได้ เพราะคุณเอาพันธุ์พื้นเมืองของไทยปรับปรุงนิดเดียวก็เป็นเจ้าของพันธุ์ใหม่แล้ว ทั้งที่ไม่ต่างจากพันธุ์เดิมเท่าไหร่ และเป็นพันธุ์ของคนทั้งประเทศด้วยซ้ำ จึงเหมือนเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพของไทย ประเทศที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีก็ได้เปรียบ มาผสมนิดหน่อยก็เอาพันธุ์ไปแล้ว แทนที่จะเอาพันธุ์ของเราไปใช้ประโยชน์ ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้เรา เขาก็ฉวยโอกาสได้มากขึ้น

มีข้าราชการกรมวิชาการเกษตรพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อที่จะทำให้มันใกล้เคียงกับหน่วยงานคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศหรือ UPOV ( The International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ถามว่าเสียหายมากไหม ก็ไม่มาก แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย และมีโอกาสเสียด้วย ปกติแล้วพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เหมือนกับสิ่งประดิษฐ์เชิงอุตสาหกรรม เช่น ส้ม ปลูกที่กรุงเทพฯ เราเรียกส้มเขียวหวาน ปลูกที่อำเภอฝาง เรียกส้มสีทอง หรือส้มปลูกทางใต้เรียกโชกุน ปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่เรียกสายน้ำผึ้ง เพราะสภาพการปลูกเลี้ยงต่างกัน การตรวจความใหม่จะไม่เหมือนกับการตรวจสิทธิบัตร เพราะต้องสุ่มตรวจ พอเราเข้า UPOV นำไปสู่การไม่ต้องตรวจในประเทศ เช่น นำไปตรวจในประเทศภาคีอย่างอินโดนีเซีย ก็จะมาใช้ในไทยได้ทันที จะเกิดความผิดพลาดเยอะ คนคิดทำอาจไม่เฉลียวใจ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็อยากลดงานตัวเอง เพราะเอาผลการตรวจที่อื่นมายื่นได้ แทนที่จะต้องลงพื้นที่ตรวจ จึงมีข้าราชการที่มองการณ์ไกลที่นำไปสู่ผลเสีย

ไทยพับลิก้า: ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากการแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้

เรื่องส้มมันชัดเจน ส้มโชกุนปลูกทางใต้เพราะอากาศไม่หนาว ผิวจะไม่เหลืองสวย ไม่เหมือนปลูกที่ฝาง แต่ละที่จึงไม่เหมือนกัน เขาถึงตั้งคนละชื่อ สมมติ ส้มโชกุน มาจดทะเบียนว่าหน้าตาเป็นอย่างนี้ อีกคนเอาโชกุนเชียงใหม่ ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสายน้ำผึ้งแล้ว มาจด บอกมันเหลืองกว่า มีความต่าง ก็เข้าเกณฑ์ จดได้เป็นอีกพันธุ์ ผลที่ตามมาคือเกษตรกรเป้นคนเสียหาย ในเมื่อคุณมีสินค้าชนิดเดียวกันทางพันธุกรรมแต่มีสองชื่อ เกษตรกรต้องจ่ายซื้อโชกุนมาปลูก ซื้อสายน้ำผึ้งมาปลูก ขึ้นกับคนขายไหนมีนักการตลาดโฆษณาเก่ง ไม่ใช่เกษตรกรไม่มีความรู้ แต่ทุกคนก็มีสิทธิ์เป็นเหยื่อโฆษณา ให้เกษตรกรซื้อโดยไม่อยู่บนฐานความจริง

สมมติ ผมเป็นเกษตรกรปลูกส้มโชกุนรังสิต อากาศไม่หนาวเท่าไหร่ อยู่ดีๆ มีบริษัทเอาสายน้ำผึ้งมาให้ บอกว่าขายได้ดีกว่าเพราะคนจีนชอบสีทอง ผมก็เชื่อแล้วเอามาปลูก เขาจะอ้างว่าพันธุ์ผมได้คุ้มครองสิทธิ เอาใบทะเบียนให้ดูได้เลย มีหลักฐานราชการรองรับเลย มันแบ็คอัพได้ เหมือนตอนนี้ ใครๆ ก็มาขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช ได้ ก็ยังมีคนเอาหลักฐานราชการไปหลอกขาย ทำพีอาร์ เป็นโฆษณาชวนเชื่อ มันต้องระวังทุกเม็ดและรู้ว่าสังคมไทยเป็นยังไง เราจะปกป้องเกษตรกรายย่อยได้อย่างไร ซึ่ง UPOV ไม่ใช่ มันถูกพัฒนาจากยุโรป เกษตรกรมีความรู้ จบปริญญาโท เอก เขาไม่เป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ เขาตัดสินใจได้ถูกต้องมากกว่า อย่าเอาระบบของคนมีความรู้ มาใช้กับคนฐานความรู้ต่างกัน ดังนั้น คนอย่างผม อย่างข้าราชการ ต้องปกป้องรายย่อย ผมไม่ห่วงว่าบริษัทใหญ่จะถูกหลอก แต่บริษัทใหญ่จะไม่เข้าใจ หรือพยายามไม่เข้าใจ อันนี้ก็ไม่รู้

ไทยพับลิก้า: บริษัทใหญ่ๆ ก็จะอ้างสิทธิที่จดกับ UPOV มาใช้ในเมืองไทย

ตอนนี้้ UPOV มีภาคี 60-70 ประเทศ ใครจะจดก็ไปยื่นสอบ ตอนนี้เอาผลจากประเทศหนึ่งไปยื่นอีกประเทศได้ ช่วยเจ้าของประหยัดเิงิน ไม่ต้องตรวจสอบใหม่ทุกประเทศ เขาต้องการช่วยนักปรับปรุงพันธุ์ ถ้าประเทศไทยมีนักปรุงพันธุ์เยอะ ผมก็บอกโอเค เราได้ประโยชน์ แต่ตอนนี้เราไม่ใช่ เราเสียเปรียบแน่

ไทยพับลิก้า: มองความเคลื่อนไหวมีแรงกระตุ้น

แน่นอน แรงมาจากบริษัท ทั้งข้ามชาติและที่ไม่ข้ามชาติ แต่เดี่ยวนี้บริษัทใหญ่ของไทยก็ข้ามชาติทั้งนั้น

ไทยพับลิก้า: การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไปถึงขั้นตอนไหน

กรมวิชาการเกษตรพยายามเสนอเข้าไป ได้ยินว่ากฤษฎีกาตีกลับคืนมา เขาทำโดยไม่แจ้งบอร์ด (คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช) ด้วยซ้ำ การแก้ไขกฎหมายบอร์ดไม่เคยรับทราบ ไม่เคยแจ้ง เป็นอะไรที่ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เพราะบอร์ดเองเป็นคนที่ดูแลเชิงนโยบาย การแก้ไขกฎหมายคือการแก้เชิงนโยบาย แม้ตามกฎหมายแล้วบอร์ดจะไม่เกี่ยวก็ตาม

ไทยพับลิก้า: ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ได้บังคับใช้จริงแค่ไหน

ยังไม่บังคับใช้ 100% ยังมีการตีความตามมาตรา 52 เพราะบอกว่าผู้ใดเก็บ จัดหา รวบรวมพันธุ์พืช ต้องทำข้อตกลง เพราะฉะนั้น พันธุ์ที่ขอจดที่ปรับปรุงหลังปี 2542 พนักงานตีความว่า ต้องปฏิบัติตามมาตรา 52 ด้วย ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งต้องมีกฎกระทรวงออกมา แล้วปีกว่าๆ นี้กฎกระทรวงก็ยังไม่ได้บังคับใช้จริง

ปัญหาคือการตีความเรื่องการเก็บ จัดหา รวบรวม ต่างไปจากพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ จึงมีปัญหา คราวนี้ไปตีความแบบสามัญสำนึก ไม่เปิดเอกสารดู พวกพันธุ์พืชซึ่งนักปรับปรุงพันธุ์ได้สร้างพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาก่อนปี 2542 และครองครองไว้ โดยหลักแล้วมันจะไม่เข้ามาตรา 52 แต่พนักงานเจ้าหน้าที่คิดว่าการเก็บคือการครอบครอง แต่พจนานุกรมจะบอกว่าการเก็บหา คือต้องหามาครองครอง เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ แต่นี่เป็นกรรมสิทธิ์เขาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว เจตนารมณ์กฎหมายคือไม่ยุ่ง ที่ต้องขออนุญาตคือต้องมีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ คือจัดหารวบรวม แต่เจ้าหน้าที่ไปรวมการครอบครองไว้ด้วย ทำให้ต้องตีความ กฎกระทรวงเพิ่งออก และยังไม่มีการทำข้อตกลงผลประโยชน์ใดๆ

การประชุมนัดสุดท้ายของบอร์ดให้กรมวิชาการเกษตร ทำเรื่องของความเห็นกฤษกีกา เพราะท่านใช้เวลานับ 10 ปี ตีความอย่างหนึ่ง วันดีคืนดีจะมาเปลี่ยน มากลับ คนที่รอมา 10 ปี จะทำยังไง เลยต้องเอาองค์กรภายนอกมาเปลี่ยน ซึ่งไม่รู้เค้าจะทำไปถึงไหน แต่ได้ยินว่าไม่ทำ และบอร์ดก็หมดอายุพอดี เลยตามไม่ได้ จะเลือกบอร์ดใหม่ในสิ้นเดือนนี้

ไทยพับลิก้า: มีบริษัทที่รอยื่นขอคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช มากน้อยแค่ไหน

มีคนมายื่นตามมาตรา 19 เยอะ แต่ต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ทุกคนติดอันนี้หมด ทำให้เดินเรื่องต่อไม่ได้ สำหรับคนปรับปรุงพันหลังปี 2542 ส่วนก่อนปี 2542 ก็มีไม่กี่พันธุ์

ไทยพับลิก้า: สาเหตุที่ข้อตกลงการแบ่งปันประโยชน์ยังไม่บังคับใช้ตามกฎหมาย

ยังไม่มีเงื่อนไขชัดเจน เพราะการคุ้มครองพันธุ์พืชนี้ มันใช้ได้หลายประโยชน์ ผลกำไรไม่เหมือนกัน เช่น จะทำพันธุ์พืชใหม่ ส่วนต่างผลกำไรมันก็น้อย จะไปขอแบ่งมากก็ไม่ได้ ในเชิงบัญชีก็ควรดีลกันเรื่องยอดขาย ไม่ใช่กำไร เช่น บางพันธุ์กำไร 10% แต่บางพันธุ์อย่างกวาวเครือ กำไรครั้งละ 200% จึงต้องมาคิดในกรอบที่ต่างกัน เวลาคิดก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยด้วย ถ้าเจ้าของไม่โอเค ก็จะไม่สามารถยุ่งกับทรัพยากรชีวภาพนั้นได้ ซึ่งบริษัทมักจะอ้างว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการเก็บตัวอย่างเป็นพันชนิด แต่คนที่อยู่ในวงการเค้าจะทราบว่า ถึงคุณจะเก็บเป็นหมื่่นตัวอย่าง แต่ผลลัพท์ปลายทางที่คุณได้นั้น คุณจะได้กำไรเท่าไหร่ เขาจะรู้พันธุ์ตัวเอง รู้ธุรกิจตัวเองว่าได้เท่าไหร่

ไทยพับลิก้า: ผลจากฎหมายใช้ไม่ได้มา 12 ปี ประเทศไทยเสียอะไร เกษตรกรเสียหายอย่างไร

เกษตรกรเสียหายไม่มากเท่าไหร่ หลักกฎหมายจริงๆ คืออยากให้มีนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย เอางานมาจดทะเบียน เมื่อปรับปรุงแล้วก็อยากให้เขาได้ผลตอบแทน ในอดีตได้พันธุ์แล้ว บริษัทใหญ่ซื้อไป เพราะมีขีดความสามารถทางตลาดสูงกว่า มี พ.ร.บ. นี้แล้วมีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาก็กินเปอร์เซ็นต์ไป และเกิดการปรับปรุงพันธุ์ใหม่มากขึ้น เช่น มะม่วงพันโชคอนันต์ เดิมคนขาย ได้พันธุ์มาปุ๊บ ต้องผลิตให้ได้ 2000-3000 กิ่งก่อน แล้วจึงเอาไปขายได้ ใครจะซื้อต้องควักเงินล้าน แต่ถ้ามี พ.ร.บ. นี้ เขาขายพันกิ่งคุณก็เอาไปขายแข่งกับผมไม่ได้ กฎหมายนี้ช่วยให้ผลผลิตสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ผู้พัฒนามีความมั่นใจมากขึ้น

หรือแต่เดิมบริษัทจะใช้พันธุ์ลูกผสมเดี่ยว แต่ถ้า พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช มาช่วย ก็จะพัฒนาลูกผสมปล่อยตรงนี้ได้มากขึ้น เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ต้นทุนถูกลงมากขึ้นกว่าลูกผสมเดี่ยว บริษัทก็บอกว่ายังไงเกษตรกรก็ต้องมาซื้อ เขาก็มั่นใจมากขึ้น ก็ทำตลาด แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง ขายได้ครั้งเดียว เขาก็ไม่ทำตลาดลูกผสมเปิด ทำแต่ลูกผสมเดี่ยวอย่างเดียว

เกษตรกรไทยกินน้ำใต้ศอก ทุนนอกครองตลาดเมล็ดพันธุ์

กลุ่มทุนในธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ ได้เปลี่ยนแปลงโมเดลการค้าจากเดิมในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่เจ้าของร้านเมล็ดพันธุ์ส่วนมากเป็นนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น มาสู่เครือบริษัทยักษ์ใหญ่ และธุรกิจข้ามชาติ ที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและหวังพัฒนาทรัพยากรทางชีวภาพที่หลากหลาย วิจัยพัฒนาเมล็ดพันธ์ใหม่ๆ

ฐานลูกค้าของธุรกิจเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ คือเกษตรกรไทยที่มีจำนวนถึง 23 ล้านคน ซึ่งข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ต้นทุนวัตถุดิบประเภทเมล็ดพันธุ์ของชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา คิดเป็นสัดส่วนถึง 37% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีการออกกฎระเบียบควบคุมการค้าเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ แต่ผลลัพท์กลับเป็นในทางตรงข้าม เมื่อบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ก็ได้ประโยชน์จากการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

ราคาเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มถูกผูกขาดหรือมัดมือชกด้านการตลาด ทำให้เกษตรกรต้องซื้อจากบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง ด้วยราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูง ขณะที่ความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศและราคากลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด

ปัจจุบัน เงินหมุนเวียนในธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์สูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท รายการสำคัญคือพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ผัก ผลไม้ รวมถึงข้าวที่จำเป็นต้องได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีในการเพาะปลูก ขณะที่ยอดการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไทยไปต่างประเทศ แต่ละปีมีประมาณ 3 พันล้านบาท

บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ในเมืองไทย ประกอบด้วย บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ถือเป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยมายาวนาน มียอดขายสินค้าและบริการปีละกว่า 1.3 พันล้านบาท

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของมอนซานโต้คือ บริษัท เซมินีส เวเจ็ทเทเบิ้ล สีดส์, อิ้งค์โอลิมเปีย คอร์ป บริษัท มอนซานโต้ คาไรบ์ แอล แอล ซี และบริษัท มอนซานโต้ อินเตอร์ อเมริกา จำกัด ซึ่งทั้้งหมดเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน

มอนซานโต้เคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องการทดลองวิจัยพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอในประเทศไทย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ เนื่องจากเกรงผลกระทบที่จะตามมาถึงเกษตรกร

ขณะที่ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ที่มีอิทธิพลใกล้เคียงกัน คือบริษัท เจียไต๋ จำกัด ของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี มีเงินหมุนเวียนทางการค้าในธุรกิจเกษตรครบวงจรถึง 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีการแยกตั้้งบริษัทลูก คือ เจียไต๋เมล็ดพันธุ์ ที่ดูแลเรื่องการค้าเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ

บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของกลุ่มทุนจากเนเธอร์แลนด์ เป็นบริษัทขนาดกลางมียอดขายปีละกว่า 300 ล้านบาท

บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด เป็นอีกกลุ่มบริษัทที่มียอดการขายเมล็ดพันธุ์สูงมากถึง 1.2 พันล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นกลุ่มสำคัญคือ โนวาร์ตีส ครอป โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับผู้ถือหุ้นคนไทย ซึ่งกลุ่มโนวาร์ตีสคือกลุ่มธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์

บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นบริษัทไทยขนาดกลาง ทำงานวิจัย ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พวกข้าวโพด ข้าวฟ่าง มียอดขายเมล็ดพันธุ์ปีละ 500-700 ล้านบาท

ผลพวงจากการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เกิดขึ้นล่าสุดในปี 2553 สะท้อนว่า เกษตรกรไทยต้องกินน้ำใต้ศอกบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์มาโดยตลอด ทั้งที่ฐานการผลิต วิจัย ส่วนใหญ่ล้วนใช้ทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น

โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นายเฉลิม คำฟอง และ นายบุญศรี รุ่งเรือง ชาวบ้านจากตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรทำการอายัดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจำนวน 4,000 กิโลกรัม ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และ 2,800 กิโลกรัม ที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตามลำดับ

โดยทางเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรได้แจ้งข้อหาแก่ทั้งสองว่า ไม่มีใบอนุญาตเมล็ดพันธุ์ควบคุมจากกรมวิชาการเกษตร แต่สุดท้ายคดีก็ไม่มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่าการสกัดกั้นทางการค้า

ขณะที่ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยจำนวนมาก ยังต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งที่ปลูก เนื่องจากบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ไม่อนุญาตให้มีการนำเมล็ดไปเพาะเพื่อการค้าหรือไม่ก็จำกัดการเติบโตเอาไว้ไม่ให้นำไปใช้ได้อีก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกรณีที่เกษตรกรที่ทำสัญญาขายผลผลิตหรือคอนแทร็กฟาร์มิ่งของบริษัทเครือใหญ่ ทำให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์และวัสดุด้านการเกษตรจากบริษัทดังกล่าวเท่านั้น

นั่นหมายความว่าเกษตรกรต้องเป็นเบี้ยล่างของธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์โดยตลอด