ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาล“ศรีธนญชัย” ออกพ.ร.ก.บีบแบงก์ชาติรับภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

รัฐบาล“ศรีธนญชัย” ออกพ.ร.ก.บีบแบงก์ชาติรับภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

5 มกราคม 2012


ภายหลัง คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ…. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะกรรมการในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้ชี้แจงให้นักวิเคราะห์ และสื่อมวลชน

โดยยืนยันและย้ำว่า การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มียอดคงค้างเหลืออยู่ 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง เพราะอยู่ภายใต้กรอบ 3 หลักการสำคัญที่ตกลงกันไว้ในการประชุมหารือเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 คือ

1.จะไม่มีการเรียกร้อง หรือร้องขอให้ธปท.ชำระหนี้โดยการพิมพ์ธนบัตรใหม่

2.จะไม่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆให้เกี่ยวข้องกับการบริหารทุนสำรองเงินตรา เพราะฉะนั้นผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินและทองไม่ต้องกังวล

3.ไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะที่เป็นภาระงบประมาณ

นายกิตติรัตน์ได้ชี้ถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ธปท. สามารถมีเงินมาชำระหนี้จำนวนนี้ว่า ร่างพระราชกำหนดดังกล่าวให้อำนาจธปท. กำหนดอัตราเงินนำส่งให้สถาบันการเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และปรับปรุงพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินและจัดสรรเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 ที่ระบุให้นำดอกผลหรือสินทรัพย์จากบัญชีผลประโยชน์ จากเดิมกำหนดให้นำเข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืน “ต้นเงินกู้” ชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF3) ให้นำมาชำระ “ดอกเบี้ย” เงินกู้ดังกล่าวด้วย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/12/30/images/news_img_427146_1.jpg
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/12/30/images/news_img_427146_1.jpg

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ได้เสนอความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่า ถ้าธปท. ต้องการลดภาระหนี้เงินต้นให้ลงเร็วๆ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย เนื่องจากพันธบัตรเงินกู้ที่ออกในช่วงนั้น ดอกเบี้ยค่อนข้างแพง แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยถูกว่า ธปท. ก็สามารถออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์ได้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย หรือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็สามารถออกพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แล้วให้กระทรวงการคลังค้ำประกันก็ได้ และอีกวิธีหนึ่งคือ ธปท. มีสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมาก โดยมียอดคงค้างพันธบัตรธปท. ที่ดูดซับสภาพคล่องถึง 2.5 ล้านล้านบาท ก็น่าจะนำสภาพคล่องส่วนเกินมาชำระภาระหนี้ได้

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงทางเลือก ที่ทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีหลายทางเลือก แต่ ธปท. และ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะเลือกทำหรือไม่ก็ได้ เป็นเพียงข้อเสนอที่คิดว่าทำได้และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพระราชกำหนดดังกล่าวแม้จะให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับโอนภาระต้นเงินกู้และภาระดอกเบี้ย แต่ระบุว่าธปท.เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เท่ากับเป็นการบังคับทางอ้อมให้ธปท. รับภาระหนี้ทั้งหมด แต่การเขียนกฎหมายในลักษณะนี้ เป็นเหมือน “ศรีธนชัย” คือ เขียนกฎหมายเพื่อไม่ให้ขัดหลักการ 3 ข้อที่กำหนดไว้ แต่ความเป็นจริง ธปท. ต้องรับภาระทั้งหมด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเขียนกฎหมายให้เครื่องมือ ธปท . มีอำนาจเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงิน และให้นำดอกผลหรือสินทรัพย์จากบัญชีผลประโยชน์ นำมาชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ได้ด้วย แต่แหล่งข่าวจาก กนง. ประเมินว่า ไม่เพียงพอนำไปชำระหนี้แน่นอน และเมื่อธปท. ไม่มีเงินไปชำระดอกเบี้ยจะให้หาจากที่ไหน นอกจากต้องพิมพ์ธนบัตรใหม่ เพราะธปท. ไม่มีรายได้จากที่ไหน

ส่วนจะให้ธปท. ออกพันธบัตรมาชำระหนี้ หรือรีไฟแนนซ์รวมถึงการให้นำสภาพคล่องส่วนเกินที่ธปท. ดูดเข้ามาจำนวนมากไปชำระหนี้ แหล่งข่าวกนง. ตั้งข้อสังเกตุว่า อาจเข้าข่ายการแทรกแซงการทำงานของกนง. เพราะเรื่องเกี่ยวกับการเงิน สภาพคล่อง ดอกเบี้ย เป็นหน้าที่ของกนง. ตามกฎหมายธปท. ดังนั้นหากจะทำในเรื่องเหล่านี้กนง. อาจต้องหารือกันเพื่อหาจุดยืนในเรื่องนี้

“การโอนภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือเป็นการบีบบังคับธปท. ให้รับภาระหนี้ทั้งหมด ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ขณะที่รัฐบาลก็ชัดเจนว่าต้องการใช้เงินจำเป็นจำนวนมากเพื่อทำนโยบายที่ประกาศไว้“ แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนั้น แหล่งข่าวยังต้องสังเกตข้อความในมาตรา 7 (3 ) ที่ให้โอนเงินและสินทรัพย์ของธปท. หรือ กองทุนเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนั้น สามารถตีความได้กว้างว่าหมายรวมถึงการนำสินทรัพย์อื่นๆ ของธปท. ไปชำระหนี้จำนวนดังกล่าวด้วย เท่ากับเปิดช่องให้นำเงินสำรองระหว่างประเทศไปใช้ เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของธปท. คือเงินตราต่างประเทศ นอกนั้นเป็นส่ิ่งปลูกสร้าง และยังมีอีกหลายมาตราที่ต้องดูอย่างระมัดระวังเพราะกระทบกฎหมายหลายฉบับ

ด้านแหล่งข่าวจากธปท.กล่าวว่า ร่างพระราชกำหนดนี้เป็น “นิติกรรมอำพราง” คือ เขียนบอกว่าโอนภาระชำระหนี้ทั้งหมดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯรับผิดชอบ หรือเป็นผู้รับชำระหนี้ แต่ความเป็นจริง ผู้รับภาระหนี้ทั้งหมด คือ ธปท. เพราะแหล่งที่มาของเงินชำระหนี้มาจากธปท. จัดหาให้ทั้งหมด เนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่มีรายได้ใดๆ

“ในทางกฎหมายเขียนให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับภาระชำระหนี้ทั้งหมด หรือเป็นร่างทรงเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติธปท. เป็นคนดำเนินการชำระหนี้ ดังนั้นถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าร่างกฎหมายนี้เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอำพราง” แหล่งข่าวธปท.กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากดูจากร่างพระราชกำหนดฯ แหล่งข่าวธปท. มีความเห็นว่า รัฐบาลไม่น่าจะโอนหนี้ทั้งหมดมาไว้ที่งบดุลของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่ให้ทำหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระหนี้ เหมือนปัจจุบันที่หนี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ธปท. มีหน้าที่รับผิดชอบชำระเงินต้น

ถ้ามีการโอนหนี้มาไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็จะทำให้ฐานะกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และขาดทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากให้มีการออกพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพื่อกู้ยืมเงินมาชำระหนี้เงินต้น หรือเพื่อรีไฟแนนซ์ จะส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะค้ำประกันก็ตาม เพราะโดยปกติพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะมีต้นทุนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 0.02%

แหล่งข่าวธปท. ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในปี 2555 นี้ จะมีพันธบัตร FIDF 3 ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 200,000 ล้านบาท หากธปท. ไม่มีเงินเพียงพอไปไถ่ถอนพันธบัตรที่จะครบกำหนดจะทำอย่างไร ถ้าไม่ให้ธปท. พิมพ์เงิน และถ้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ไม่มีเงิน และไม่ออกพันธบัตร กรณีแบบนี้จะถูกบังคับให้ทำหรือไม่ นี่คือประเด็นน่าเป็นห่วง เพราะในร่างพระราชกำหนดฯ มาตรา 4 ยังระบุด้วยว่า การจัดลำดับการชำระหนี้ต้นเงินกู้ และการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องชำระตามพระราชกำหนดนี้ให้เป็นไปตามที่กระทรวงคลังแจ้งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทราบ

ทั้งนี้ 2555 พันธบัตรรัฐบาลกู้ยืมเพื่อชดเชยความเสียหายแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือ FIDF1 กับ FIDF3 จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 340,000 ล้านบาท และในอีก 6 ปีข้างหน้า จะมีพันธบัตรรัฐบาล FIDF1 กับ FIDF3 ครบกำหนดไถ่ถอนถึง 733,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำเป็นต้องออกพันธบัตรมาชำระหนี้ หรือออกมารีไฟแนนซ์ ก็เท่ากับเป็นการย้ายหนี้จากรัฐบาล มาเป็นหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ การดำเนินการเช่นนี้เท่ากับว่าภาระหนี้ทั้งต้นเงินกู้และดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ต้องตกเป็นภาระของธปท. รับผิดชอบทั้งหมด เพราะจากร่างพระราชกำหนดระบุให้ธปท. เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

นอกจากนี้ร่างพระราชกำหนดฯ ยังระบุว่า หนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ เป็นภาระที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯมีหน้าที่และรับผิดชอบชำระคืนด้วย ก็เท่ากับว่า ธปท.คือผู้ที่รับโอนภาระหนี้ทั้งหมดตัวจริง

“หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ต้องออกพันธบัตรแล้วขายให้ธปท. เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ ก็เหมือนกับว่าการที่ธปท. ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อมาชำระหนี้อยู่ดี” แหล่งข่าวธปท.กล่าว

 ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2011/07/04/cdjjhdg77gif5969gkg7i.jpg
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2011/07/04/cdjjhdg77gif5969gkg7i.jpg

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการ ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีความเห็นว่า ร่างพระราชกำหนดฯ ที่เขียนลักษณะดังกล่าว เป็นเพียงการเขียนกฎหมายให้ตรงกับหลักคิดที่ตกลงกันไว้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่ธปท. จะไม่พิมพ์เงินเพื่อชำระหนี้ เนื่องจากรายได้ที่เขียนเปิดช่องให้ธปท.มีเงินไปชำระหนี้นั้น อาจไม่เพียงพอ

ดังนั้นวิธีที่ธปท. จะทำได้เพื่อให้มีเงินมาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยมี 2 วิธี คือ พิมพ์ธนบัตร และลดการแทรกแซงค่าเงินปล่อยให้เงินบาทผันผวน

ดร. สมชัยอธิบายว่า วิธีแรกธปท. อาจไม่ได้พิมพ์ธนบัตรใหม่จำนวนมากเพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทัน เพราะวิธีนี้จะกระทบต่อเงินเฟ้อ และความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง แต่อาจทำได้โดยค่อยๆ ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เช่น กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5-3% ซึ่งธปท. ประเมินแล้วว่า เงินเฟ้อจะอยู่ไม่เกินกรอบหรือเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 % ก็จะทำให้ ธปท. มีช่องที่บริหารจัดการได้ด้วยการค่อยๆ พิมพ์เงินทำให้เงินเพิ่มขึ้นอีกสัก 1 % ก็อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ธปท. จะมีรายได้เข้ามา เพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เนื่องจากในงบดุลที่ธปท. สุทธิจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะหนี้สินลดลง ซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารกลางทั่วโลกทำกัน

“แม้วิธีการเพิ่มเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจากความเป็นจริง แต่ไม่ออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงในภาพรวม แต่อาจกระทบความน่าเชื่อถือของธปท. และเมื่อธปท. ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในระยะยาวเงินเฟ้อมีสิทธิที่จะสูงขึ้นกว่า 1 % เนื่องจากธปท. ควบคุมไม่ได้แล้ว” ดร.สมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าธปท. จำเป็นต้องพิมพ์เงินเพิ่ม แม้จะทำให้ปริมาณไม่มากยังอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่เมื่อเฟ้อเพิ่มขึ้น หรือราคาสินค้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ถือเป็นภาษีรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง หรือถูกล้วงเงินออกจากกระเป๋า โดยผู้ล้วงคือ ธปท. แทนที่จะเป็นรัฐบาล ที่สำคัญเมื่อเงินเฟ้อสูงจะกระทบต่อประชาชนทุกระดับ และกลุ่มที่เดือดร้อนมากที่สุดคือผู้มีรายได้น้อย อันนี้น่าเป็นห่วง

ในทางกลับกัน หากหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะ ต้องได้รับการแก้ไขโดยใช้มาตรการทางการคลัง กระทรวงการคลังอาจต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็รู้ว่าใครเสียภาษี และส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูง ที่สำคัญทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาโปร่งใส

“มีความเข้าใจผิดมาตลอดว่า ถ้าหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อยู่ที่กระทรวงการคลัง ผู้เสียภาษีต้องรับภาระ แต่พิจารณาให้ดีจะเห็นว่าการโอนหนี้ให้ธปท. รับภาระ แล้วธปท. ต้องพิมพ์เงินทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม ภาระจะตกอยู่กับผู้มีรายได้น้อยมากกว่า ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการโอนภาระหนี้ให้ธปท. รับผิดชอบ” ดร. สมชัยกล่าว

สำหรับอีกวิธีคือ การไม่แทรกแซงค่าเงินบาท ดร.สมชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาธปท. ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อลดภาระดังกล่าว ธปท. ก็ปล่อยให้เงินบาทผันผวน แต่วิธีนี้ผู้รับภาระคือ นักธุรกิจ หรือบริษัทต่างๆ เนื่องจากเมื่อค่าเงินบาทผันผวนบางธุรกิจปรับตัวไม่ไหว หรือรับไม่ไหว ก็อาจขาดทุนเลิกกิจการ หรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้มีต้นทุนแพงตามมา เมื่อเป็นลักษณะนี้ก็เป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระไปถึงผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ดร. สมชัย มีความเห็นว่า การให้เปิดช่องอำนาจธปท. เก็บอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเพื่อนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ยอมรับได้ระดับหนึ่ง หากมองในแง่ที่ว่าสถาบันการเงินมีกำไรจำนวนมากก็ควรนำมาช่วยประเทศบ้าง แต่ต้องดูแลไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค เนื่องจากสถาบันการเงินอาจผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ จากรายย่อย ประเด็นนี้ธปท. ต้องไปดูเรื่องการแข่งขัน

“ไม่ว่าหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะอยู่ที่ไหน ประชาชนคนไทยไม่รอดหรอก แต่เปรียบเทียบแล้วอยู่ที่กระทรวงการคลังโปร่งใสกว่า เพราะรู้ว่าใครเสียภาษี และส่วนใหญ่เป็นคนมีรายได้สูง แต่ถ้าแก้ปัญหาแล้วเงินเฟ้อสูง คนยากดีมีจนโดนหมด” ดร. สมชัยกล่าว

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเป็นศรีธนญชัย แล้ว ธปท. จะแสดงจุดยืนอย่างไร
อ่าน หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท วิบากกรรมธปท. ปมร้อนยิ่งแตะยิ่งร้อน

เปิดร่างพ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทให้กองทุนฟื้นฟูฯ

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติติอนุมัติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ…. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานคณะกรรมการในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) เสนอ

นายกิตติรัตน์ ได้ชี้แจงเหตุผลที่ต้องออกพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดอุทกภัยอย่างร้ายแรงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ทำให้เกิดความเสียเป็นอย่างมากแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งการลงทุนหรือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

โดยกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือการจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2540 และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
ทั้งนี้ ในการชำระคืนต้นเงินกู้ การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ และการบริหารจัดการอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปรับปรุงการจัดหาแหล่งเงินเพื่อให้นำไปใช้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยกู้ได้อย่างต่อเนื่องทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารหนี้เงินกู้ดังกล่าว และไม่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายขอรัฐบาลอีกต่อไป ทำให้รัฐบาลมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศได้ทันการ

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเสถียรภาพต่อระบบการเงินการคลังของประเทศโดยรวมด้วย และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่งคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องออกพระราชกำหนดนี้

สำหรับร่างพ.ร.ก. ดังกล่าว มีทั้งหมด 13 โดยมาตรา 1 มาตรา 2 และมาตรา 3 เป็นเรื่องคำจำกัดความ สาระสำคัญเริ่มตั้งแต่มาตรา 4 ระบุให้กองทุนมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ดังต่อไปนี้

(1)หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินเพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2541 ที่ยังคงมีอยู่

(2)หนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง พ.ศ. 2545

โดยการจัดลำดับการชำระหนี้เงินต้นกู้หรือดอกเบี้ยเงินกู้ และการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องชำระตามพระราชกำหนดนี้ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงคลังแจ้งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทราบ นอกจากนี้ยังระบุว่า เงินกู้ตามมาตรานี้ ให้หมายความรวมถึงหนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ด้วย

มาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 4 ให้บัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงคลังและการจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 มีวัตถุสงค์ประสงค์เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากหนี้เงินกู้ดังกล่าว

ทั้งนี้ เงินหรือสินทรัพย์ดังต่อไปนี้ ให้นำส่งเข้าหรือรับขึ้นบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้แก่

(1) เงินหรือสินทรัพย์โอนเข้ามาตรา 7

(2) เงินที่สถาบันการเงินนำส่งตามมาตรา 8 และมาตรา 9

(3) เงินหรือสินทรัพย์ที่กระทรวงคลังโอนตามมาตรา 11

และ(4) ดอกผลของเงินหรือสินทรัพย์ตาม (1) ถึง (3)

มาตรา 6 รายได้ของธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นเงินหรือสินทรัพย์ในบัญชีตามมาตรา 5 ไม่ให้นำไปจัดสรรเป็นเงินสำรองหรือเป็นเงินนำส่งรัฐตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกฎหมายอื่นใด และให้ธนาคารแห่งประเทศมีหน้าที่ดูแลรักษา ตลอดจนจัดการเงินหรือสินทรัพย์ดังกล่าวและแปลงเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ รวมทั้งให้มีอำนาจจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวเพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1)ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากหนี้เงินตามมาตรา 4

(2)ชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4

และ (3) จ่ายเป็นค่าบริหารจัดการเกี่ยวการดำเนินการตาม (1) และ (2)

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 7 ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ในแต่ละปี ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา5

(2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือให้บัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ

(3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 8 ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่า ด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก

ในกรณีที่มีเงินและสินทรัพย์เพียงพอที่จะดำเนินการชำระต้นเงินกู้แล้ว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศงดการนำส่งของสถาบันการเงินตามมาตรานี้ ทั้งนี้สถาบันการเงินตามมาตรานี้ หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

มาตรา 9 สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามมาตรา 8 หรือส่งไม่ครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ในกรณีที่สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินตามมาตรา 8 หรือนำส่งไม่ครบ และไม่เสียเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้สถาบันการเงินนั้นชำระเงินดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด

มาตรา 10 เงินที่สถาบันการเงินนำส่งตามมาตรา 8 และเงินเพิ่มตามมาตรา 9 ให้กองทุนนำส่งเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ต่อไป และให้ถือว่าเงินที่สถาบันการเงินต้องนำส่งตามมาตรา 8 และเงินเพิ่มตามมาตรา 9 เป็นหนี้อันมีบุริมสิทธิ์ลำดับต่อจากหนี้ภาษีอากรของสถาบันการเงินนั้น

การนำส่งเงินของสถาบันการเงินให้แก่กองทุนตราพระราชกำหนดนี้ ไม่ให้ถือว่าเป็นการนำส่งเงินเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา 11 ให้กระทรวงการคลังโอนเงินของกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2551 เข้าบัญชีตามมาตรา 5

เมื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยุบเลิกกองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 12 ให้บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2541 และบทบัญญัติมาตรา 8 วรรคสอง มาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินและจัดสรรเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 เป็นอันสิ้นผลบังคับใช้นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้บังคับใช้

มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ทั้งนี้นายกิตติรัตน์ คาดว่า ถ้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดูในรายละเอียดของร่างพระราชกำหนดแล้วไม่มีการแก้ไขใดๆ เพิ่มเติม ก็จะสามารถดำเนินการประกาศใช้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ โดยในวันศุกร์ (6 ม.ค.) จะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เนื้อหารายละเอียดของร่างพระราชหนดฯ ฉบับนี้ เป็นการดำเนินการและเสนอโดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะประธานกยอ. เป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่รัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธปท. ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้ปฏิบัติตามภายใต้ร่างพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้ แทบไม่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในถ้อยคำที่เขียนไว้ในร่างพระราชกำหนดฯ นี้เลย