ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ภาคอุตสาหกรรมจับมือผู้บริโภค รุมนโยบายลอยตัว NGV-LPG เลือกปฎิบัติ-ปกปิดต้นทุนเนื้อก๊าซ-เอาเปรียบประชาชน

ภาคอุตสาหกรรมจับมือผู้บริโภค รุมนโยบายลอยตัว NGV-LPG เลือกปฎิบัติ-ปกปิดต้นทุนเนื้อก๊าซ-เอาเปรียบประชาชน

24 มกราคม 2012


ปตท-พลังงานที่ยั่งยืน

ต่อจากตอนที่แล้ว (“รสนา” ใช้กลไกศาลปกครองไล่บี้ต้นทุนเอ็นจีวีต่อ ปตท. แจงราคาปากหลุม 210 บาทต่อล้านบีทียู)

หลังจากที่มีกลุ่มผู้ประกอบการสิบล้อ แท็กซี่ รถตู้ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย นำรถออกมาปิดถนนประท้วง ทั้งบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและสำนักงานใหญ่ ปตท. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 เพื่อเรียกร้องให้ ครม. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที 4 ตุลาคม 2554 ที่ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีสำหรับใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ไปจนถึงสิ้นปี

มติค.ร.ม.4 ตค 54

เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนที่ใช้รถติดก๊าซ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้ กรณีขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี รัฐบาลอ้างว่า ต้องการทำราคาขายปลีกให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนกรณีของเอ็นจีวีนั้น ต้องการแก้ปัญหาขาดทุนให้กับ ปตท. เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้ ปตท. ขายเอ็นจีวีต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ 6 บาทต่อกิโลกรัม

จำนวนรถติดแก๊ส

ขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่เชื่อว่า ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ ปตท. นำมาแสดงในเอกสารประชาสัมพันธ์นั้นเป็นราคาที่แท้จริง จึงเปิดโต๊ะเจรจากับผู้ขับแท็กซี่ สิบล้อ รถร่วมบริการ และรถตู้ ท้ายสุดจบลงด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคขนส่งขึ้นมาตรวจสอบราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีภายใน 4 เดือน แต่ในระหว่างนี้ ให้ทยอยปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม

จากนั้น มีการปรับคณะรัฐมนตรี เป็น “ครม.ยิ่งลักษณ์ 2” ได้แต่งตั้งนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีตผู้บริหารบริษัทไทยคม เข้านั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานที่ถูกปรับออก

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการชุมชนสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ให้มีการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวี ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป แต่คนขับแท็กซี่ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะมติ ครม. ออกมาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แท็กซี่ต้องเอารถหนีน้ำท่วม และต้องขับรถเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการชุมชนสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการชุมชนสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ
“จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จาก ปตท. มาพบผม และบอกว่ารัฐบาลจะนำบัตรเครดิตพลังงานมาแจกแท็กซี่ ตนรู้สึกดีใจที่รัฐบาลที่มาจากพวกเราเอาบัตรเครดิตพลังงานมาแจกโดยที่ไม่ได้ร้องขอ ที่พูดอย่างนี้เพราะแท็กซี่จำนวนมากเป็นแท็กซี่เสื้อแดง ตอนนั้นน้ำยังท่วมสูงอยู่ ผมก็ยังอุตสาห์ลุยน้ำเดินทางไปหารือกับ ปตท. พอทราบเรื่องทั้งหมด ก็รู้สึกตกใจที่ ปตท. จะขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวีอีก 6 บาทต่อกิโลกรัม แต่แท็กซี่จะได้เงินชดเชยผ่านบัตรเครดิตพลังงาน 2 บาทต่อกิโลกรัม ผมไม่นึกเลยว่ารัฐบาลที่เราเลือกมากับมือจะทำร้ายเราได้ถึงขนาดนี้” นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า กลุ่มแท็กซี่มีข้อจำกัด ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้ตามอำเภอใจ เพราะค่าโดยสารถูกกำหนดโดยกระทรวงคมนาคม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แท็กซี่ยังไม่เคยปรับราคาค่าโดยสารเลย คิดราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท มาตั้งแต่ปี 2535 ตอนนั้นคนขับรถแท็กซี่ซื้อรถยนต์มาทำแท็กซี่คันละ 3 แสนบาท แต่วันนี้ราคาเกือบ 8 แสนบาท ซึ่งแท็กซี่เองก็ไม่อยากจะขึ้นราคา เราพยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาตลอด

ผลกระทบจากนโยบายลอยตัว

ปัจจุบัน คนขับรถแท็กซี่จะมีอยู่ 2 กะ ถ้าเป็นรถยนต์ที่เติมก๊าซเอ็นจีวีจะมีค่าใช้จ่าย 340 บาทต่อกะ หากราคาก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 6 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 70 % แท็กซี่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 140 บาท หรือมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 580 บาท ต่อกะ ส่วนรถแท็กซี่ที่เติมก๊าซแอลพีจีจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 500 บาทต่อกะ แต่ถ้าราคาก๊าซแอลพีจีปรับขึ้นอีก 9 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้น 44 % ค่าใช้จ่ายในการเติมก๊าซจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 บาท ต่อกะ และถ้านำไปหักค่าเช่ารถและค่าอาหาร แท็กซี่่จะเหลือเงินรายได้กลับบ้านแค่วันละ 200-300 บาท

ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ผู้ประกอบการแท็กซี่จึงต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพราะแท็กซี่ไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ และเราก็ไม่อยากจะปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากเป็นการโยนภาระให้กับประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม. 4 ตุลาคม 2554

“การชุนนุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ผมประเมินตั้งแต่ก่อนที่จะชุมนุมแล้ว เราไม่มีทางต่อสู้กับรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลมีการวางแผนการปรับขึ้นราคาก๊าซมานานแล้ว แต่เราก็ไม่หนี ขอต่อสู้สักยกก่อน แพ้ก็ไม่เป็นไร ถึงแม้เราจะยอมให้ ปตท. ปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีเป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในระหว่างนี้ กลุ่มแท็กซี่ก็ถูกเชิญให้เข้าไปเป็นคณะทำงานตรวจสอบราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่แท้จริง ผมเชื่อว่า ปตท. ไม่ได้เอาเอกสารจริงมาให้ดู ผมจะพยายามนำข้อมูลจริงออกมาเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วข้อมูลที่ ปตท. นำมากล่าวอ้างคือต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรี พร้อมกับจัดหามาตรการมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกและแก้วที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต นายวงศ์ชัย ศรีไทย รองนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง กล่าวว่า การลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ให้ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2554, วันที่ 1 ตุลาคม 2554, วันที่ 1 มกราคม 2555 และครั้งสุดท้ายวันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวันนี้ภาคอุตสาหกรรมรับภาระไปแล้ว 9 บาทต่อกิโลกรัม ปรากฏว่ามีโรงงานปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ส่วนที่เหลือก็เตรียมตัวปิดกิจการต่อ หากราคาแอลพีจีลอยตัวขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 30 บาท

นายวงศ์ชัย ศรีไทย รองนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง
นายวงศ์ชัย ศรีไทย รองนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง

“ผมเปิดโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มเปิดกิจการใหม่ๆ ผมใช้ก๊าซแอลพีจีที่ราคากิโลกรัมละ 10 บาท จนมาถึงช่วงก่อนที่จะมีการลอยตัวแอลพีจี (วันที่ 19 กรกฎาคม 2554) ราคาแอลพีจีอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ข้อสังเกตคือ ที่ผ่านมาราคาแอลพีจีถูกปรับขึ้นไป 80 % โดยใช้เวลา 10 ปี แต่นี่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ราคาปรับขึ้น 75% นับจากวันที่ประกาศลอยตัวจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2555 คงจะไม่มีอุตสาหกรรมเซรามิกที่ไหนปรับตัวได้ทัน” นายวงศ์ชัยกล่าว

ประเด็นที่ภาคอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วยกับภาครัฐก็คือ สูตรในการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นน้ำมันที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะใช้ราคาก๊าซแอลพีจีที่หน้าโรงกลั่นเดิมในสัดส่วน 24 % เอามาบวกกับราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศในราคาตลาดโลก ซึ่ง สนพ. ให้น้ำหนักในการคำนวณถึง 76 % ทำให้ราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นสูงเกินจริง

แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารของวุฒิสภาก็คือ ตั้งแต่ปี 2553-2554 โรงแยกก๊าซสามารถผลิตแอลพีจีได้ 52% โรงกลั่นน้ำมันผลิตได้ 34% และนำเข้าก๊าซแอลพีจี 14% เท่านั้น หมายความว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยผลิตแอลพีจีได้เอง 86% แต่สูตรในการกำหนดราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นให้น้ำหนักแค่ 24% เท่านั้น อีก 76% ใช้ราคาตลาดโลก

“ผมไปถามเจ้าหน้าที่ สนพ. ว่า ทำไมสูตรในการกำหนดราคาก๊าซที่หน้าโรงกลั่นน้ำมันถึงเป็นเช่นนั้น เขาตอบว่า หลักคิดมีอยู่ว่าทางการต้องการสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นผลิตแอลพีจีออกมาให้มากๆ แต่เขาไม่ได้บอกผมว่าผลิตแอลพีจีได้แล้วนำออกมาขายให้พวกผมเท่าไหร่ เอาไปใช้เองเท่าไหร่ หลักคิดนี้เป็นหลักคิดของคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อคิดได้แล้วก็นำเสนอต่อ กบง. และ กพช. ตามลำดับ ประชาชนที่เหลืออีก 60 ล้านคนไม่มีส่วนร่วมตรงนี้เลย ทางภาคอุตสาหกรรมก็เสนอประเด็นนี้ไป แต่ไม่ได้รับการพิจารณา” นายวงศ์ชัยกล่าว

ประเด็นทื่ 2 การลอยตัวแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรมอื่นอาจไม่มีปัญหา เพราะไม่เห็นมีกลุ่มใดออกมาเรียกร้อง ยกเว้นอุตสาหกรรมเซรามิกและเครื่องแก้ว ซึ่งใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนประมาณ 30-40% หากปรับราคาแอลพีจีขึ้นมา 75% จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 28% คำถามคือเพิ่มขึ้น 28% แล้วเราจะไปแข่งขันกับใครได้

หลังจากที่รัฐบาลลอยตัวแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ลอยตัวภาคครัวเรือนที่ใช้ถัง 48 กิโลกรัม ซึ่งยังใช้ก๊าซที่กิโลกรัมละ 18 บาทอยู่ ปัญหาที่ตามมาคือ โรงงานส่วนใหญ่ในจังหวัดลำปางเป็นโรงงานเล็กๆ มีพื้นที่จำกัด ก็ใช้ถัง 48 กิโลกรัม ในการผลิตชามตาไก่ขายใบละ 15-20 บาท แต่หลังจากที่ลอยตัวแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม ปรากฏว่า สนพ. ก็ออกประกาศกำหนดให้โรงงานที่ครอบครองถัง 48 กิโลกรัม เกินกว่า 10 ใบ ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้ถังขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “ถังเบ๊าซ์” เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กไปใช้แอลพีจีที่ราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม ผลิตชามตราไก่ออกมาที่ราคา 25 บาท แล้วใครจะมาซื้อ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้

“ที่สำคัญ ลำปางเป็นเมืองต้นแบบของคลัสเตอร์โรงงานที่มีขนาดใหญ่ มีความสามารถในการทำตลาด เมื่อรับงานมาก็แบ่งให้โรงงานเล็กๆ ทำ ตอนนี้ พอโรงงานใหญ่ถอดใจไม่รับงานเพิ่ม โรงงานเล็กๆ ก็ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องปลดคนงาน 5,000-6,000 คน”

หลังจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ให้ทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีเฉพาะภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ปรับขึ้นราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ ในมติ ครม. ยังแยกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกจากอุตสาหกรรมทั่วไป โดยให้นิยามว่า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบ กรณีนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางจึงนำประเด็นนี้ร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ก็ถือว่าเป็นต้นทุนการผลิตเหมือนกัน

จากนั้น เมื่อถูกภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องหนักเข้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ครม. มีมติให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 1 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมกับปรับราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่ง 9 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอีกรอบหนึ่งหรือไม่ รัฐบาลประชาธิปัตย์ปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 12 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ในรถยนต์ 9 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นราคาแค่ 1 บาท

หากไปดูข้อมูลการใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือนจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปิโตรเคมีประมาณ 2 แสนตันต่อเดือน แต่รัฐบาลไม่กล้าปรับขึ้นราคาก๊าซที่ใช้ในภาคครัวเรือน เพราะกลัวกระทบกับปากท้องชาวบ้าน ในมติ ครม. ระบุว่า หากขึ้นราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม 12 บาท จะมีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 180 ล้านบาทต่อเดือน แต่ถ้าหากปรับขึ้นราคาแอลพีจีใช้ในปิโตรเคมี 12 บาท เท่ากับภาคอุตสาหกรรมทั่วไป อาจจะไม่จำเป็นต้องไปขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่งเลย

“เหตุที่ ปตท. ไม่อยากให้ใช้แอลพีจีในภาคขนส่งเพราะสร้างมูลค่าเพิ่มแค่ 2 เท่า แต่ถ้านำไปใช้ในปิโตรเคมีจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ตั้งแต่ 9-20 เท่า สมมติว่า ถ้ามีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในปิโตรเคมี 12 บาท จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 70% เหมือนกับภาคอุตสากรรมทั่วไป ปตท. ก็ยังมีมูลค่าเพิ่มเหลืออยู่ 8-19 เท่า ก็ยังถือว่าในเกณฑ์ที่ดีอยู่” นายวงศ์ชัยกล่าว

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการลอยตัวเอ็นจีวี ปตท. มักจะพูดอยู่เสมอว่า มีผลขาดทุนสะสมจากการขายก๊าซเอ็นจีวีอยู่ 30,000 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยแสดงตัวเลขว่าในแต่ละปีมีรายได้จากการขายก๊าซเอ็นจีวีเท่าไหร่ จากข้อมูลของ สนพ. หลังจากลอยตัวก๊าซที่ใช้ในภาคขนส่ง ในปี 2555 ปตท. จะมีรายรับจากการขายเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 1,758 ล้านบาท เป็น 2,999 ล้านบาท ส่วนแอลพีจีจะมีรายรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 1,460 ล้านบาท เป็น 2,117 ล้านบาท

แต่สิ่งที่อยากจะตอกย้ำคือ ราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. นำมาแสดงต่อสาธารณชนเป็นราคาที่สูงเกินจริงถึง 4 เท่าตัว เพราะ ปตท. ไม่เคยพูดเลยว่าเนื้อก๊าซที่ไปซื้อมาจากปากหลุมราคาเท่าไหร่ แต่ไปเอาราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ขายให้กับ กฟผ. มาแสดง แล้วก็บอกว่านี่ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ ต้นทุนที่แท้จริงนั้น ปตท. ยังไม่เคยนำออกมาเผยแพร่เลย

ส่วนกรณีที่ภาคขนส่งเรียกร้องให้ ปตท. ขยายปั๊มเอ็นจีวี ผมคิดว่าถ้าไปตั้งปั๊มเอ็นจีวีผิดที่ผิดทางจะยิ่งทำให้ ปตท. ขาดทุนเพิ่มขึ้น ขณะนี้ ปตท. มีปั๊มเอ็นจีวีประมาณ 453 แห่ง แบ่งเป็นปั๊มที่ขึ้นตามแนวท่อ 104 แห่ง และปั๊มนอกแนวท่อ 349 แห่ง ซึ่งปั๊มที่อยู่นอกแนวท่อนี้คือต้นเหตุที่ทำให้ ปตท. ขาดทุน เพราะต้องใช้รถบบรทุกขนจากสถานีแม่ไปส่งสถานีลูก ดังนั้น ยิ่งเรียกร้องให้ขยายปั๊มนอกแนวท่อมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ ปตท. ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างขาดทุนและขอปรับขึ้นราคาก๊าซ ดังนั้น วิธีแก้คือควรจะขยายปั๊มที่อยู่ในแนวท่อก๊าซเท่านั้น

“อีกประเด็นหนึ่งที่ผมพูดมาแล้วหลายครั้งแต่สื่อมวลชนไม่ค่อยนำไปเผยแพร่เลย คือเรื่องการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กลับเข้าไปในเนื้อก๊าซเอ็นจีวี เพื่อปรับคุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากหลายแหล่งผลิตให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้กรมธุรกิจพลังงานต้องออกประกาศให้ปั๊มเอ็นจีวีก๊าซเติม CO2 ได้ถึง 18% ของปริมาตร หมายความว่าประชาชนจ่ายเงินไป 100 บาท แต่ได้เนื้อก๊าซเอ็นจีวีจริงๆแค่ 82 บาท ปกติประชาชนที่ซื้อก๊าซเอ็นจีวีไปใช้ก็ขาดทุนอยู่แล้ว การปรับราคาขึ้นไปอีก 6 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งทำให้ประชาชนขาดทุนเพิ่มขึ้น” นายอิฐบูรณ์กล่าว

ส่วนรถที่ใช้แอลพีจี ปตท. มักจะบอกอยู่เสมอว่าเป็นการนำพลังงานไปใช้ผิดประเภท และยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีขาดแคลนจนต้องไปนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ขณะที่ต่างประเทศส่งเสริมให้ใช้แอลพีจีทดแทนการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งต้องมาดูว่า คนใช้รถแอลพีจีเป็นต้นเหตุที่ทำให้แอลพีจีขาดแคลนจริงหรือ

LPG ไม่ได้ขาด

ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตแอลพีจีได้ 4.4 ล้านตัน (แถบสีม่วง) ภาคครัวเรือน 60 กว่าล้านคน ใช้แอลพีจี 2.4 ล้านตัน รถยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน ภาคอุตสาหกรรมใช้อีก 7.7 แสนตัน รวมตัวเลขการใช้ก๊าซแอลพีจีทั้งหมดก็ยังไม่ขาดแคลน แต่หลังจากธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือ ปตท. เริ่มขยายกำลังการผลิต ทำให้ปัจจุบันในส่วนของปิโตรเคมีใช้แอลพีจีถึง 1.6 ล้านตัน คิดเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคครัวเรือน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซขาดแคลนจนต้องไปนำเข้าก๊าซมาจากต่างประเทศในราคาตลาดโลกเป็นปริมาณ 3.88 ล้านต้น ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชย 57,339 ล้านบาท

“ถามว่าทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินอุดหนุน เพราะประชาชนทั้งประเทศเขาใช้กันอย่างพอเพียง และอยากจะถามต่อไปว่า ทำไมราคาก๊าซแอลพีจีในเมืองไทยถึงมีสองมาตรฐาน ถ้านำแอลพีจีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจ่ายเพิ่มเกือบ 12 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าใช้ในปิโตรเคมีจ่ายแค่กิโลกรัมละ 1 บาท” นายวงศ์ชัยกล่าว