ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 55 ปีบทบาทธปท.ช่วยภาคเศรษฐกิจจริง : soft loan 3 แสนล้าน สูงเป็นประวัติการณ์

55 ปีบทบาทธปท.ช่วยภาคเศรษฐกิจจริง : soft loan 3 แสนล้าน สูงเป็นประวัติการณ์

1 มกราคม 2012


บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้สินเชื่อแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญในลักษณะให้สินเชื่อผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือ soft loan ที่ธปท. พยายามยกเลิกบทบาทนี้ โดยไม่ได้เขียนไว้ในการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เพราะถือว่าไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง

แต่ปัญหาน้ำท่วมปี 2554 เป็นมหาอุทกภัยที่มีความรุนแรงมากสุดในรอบ 50 ปี ได้ส่งกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ และเกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและโอกาสที่สูญเสียไปในเชิงเศรษฐกิจมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลซึ่งมีภาระใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือเยียวยาลดผลกระทบได้เต็มที่ จึงเรียกร้องให้ธปท. ช่วยกลับมาทำหน้าที่ช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างที่เคยทำในอดีต โดยออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เปิดช่องให้ธปท.ปล่อยกู้ soft loan ได้

แต่ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงผ่านสื่อต่างๆ ในที่สุด ธปท.และกระทรวงการคลัง เห็นพ้องกันว่า มีความจำเป็นที่ ธปท. ต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาครั้งนี้ด้วย แม้แนวทางนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารกลางที่ดีพึงควรกระทำ แต่ผลกระทบครั้งนี้รุนแรง เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ก็มีน้ำหนักพอจะเป็นข้อยกเว้นชั่วคราวได้ และอาจไม่ขัดกฎหมายธปท. ซึ่งไม่ได้เขียนห้าม แต่ก็ไม่ได้เขียนให้ทำ อย่างไรก็ตาม กฎหมายธปท. เปิดช่องไว้ยกเว้นไว้ว่าถ้ามีเหตุรุนแรงกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ ก็สามารถดำเนินการได้

ดังนั้น ช่วงปลายสัปดาห์สุดท้ายของปี 2554 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง จึงได้ลงนามในร่างพ.ร.ก. ให้ธปท. ช่วยเหลือทางการเงินปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำพิเศษ วงเงิน 300,000 ล้านบาท และเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาสัปดาห์แรกของปี 2555

โดยมีเงื่อนไขว่า ธปท. จะปล่อยเงินกู้ให้ 70 % ส่วนที่เหลือ 30 % ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้ปล่อยสบทบให้ และธปท.จะคิดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ 0.01 % เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2554 ในอัตราดอกเบี้ย 3 % เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่จะกำหนดให้มีการปล่อยกู้ภายในระยะ 2 ปี

การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธปท. ครั้งนี้ในวงเงิน 300,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่จะกระจายความช่วยเหลือได้ทั่วถึงและใช้วงเงินหมดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ เพราะเป็นตัวกลางในการส่งต่อสินเชื่อไปยังลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วม

จากบทเรียนในอดีต ธปท. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญในลักษณะสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยผ่อนปรน พบว่า วงเงินที่ช่วยเหลือไม่เคยสูงเท่าครั้งนี้ และหลายครั้งวงเงินที่ตั้งไว้ก็ใช้ไม่หมด

โดยจากข้อมูลที่ธปท. รวบรวมไว้ในหนังสือ “บทบาทที่ท้าทาย : 55 ปี การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธปท. แก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ” ซึ่งจัดทำขึ้นหลังจากปิดตัวโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างเป็นทางการในปี 2554 พบว่า ในอดีตการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธปท. ในรูปแบบการรับซื้อตั๋วฯ ที่ยอดสูงสุด 149,318 ล้านบาท ในปี 2531

หนังสือ " บทบาทที่ท้าทาย : 55 ปี การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท. แก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ
หนังสือ " บทบาทที่ท้าทาย : 55 ปี การให้ความช่วยเหลือทางการเงินของ ธปท. แก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ ธปท. มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่ปี 2499 แม้กฎหมายธปท. พ.ศ. 2551 จะไม่เขียนให้ธปท. ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่มีโครงการที่อนุมัติไว้ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทำให้ธปท. ต้องดำเนินการต่อจนกว่าจะครบกำหนดเวลาตามข้อผูกพัน คือในปี 2554 จึงกล่าวได้ว่า ธปท. ได้ทำบทบาทการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมายาวนานถึง 55 ปี

เมื่อย้อนไปดู “ผลการให้ความช่วยเหลือต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของธปท.” ทั้งด้านปริมาณเงิน และจำนวนผู้ประกอบที่ได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือ 55 ปี ฯ พบว่า

ในยุคแรกเริ่มธปท.ให้การช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่สำคัญโดยรับซื้อลดตั๋วฯ ที่เกิดจากการส่งออก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรทางอ้อม เนื่องจากสินค้าออกของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ดังนั้นหากสามารถส่งออกสินค้าได้มาก ก็จะส่งผลถึงราคาสินค้าเกษตรด้วย การรับซื้อลดตั๋วฯ ที่เกิดจากการส่งออกมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออกทุกปี จากจำนวน 2,760 ล้านบาท ในปี 2515 เป็น 53,720 ล้านบาทในปี 2524 หรือมีอัตราเพิ่มเฉลี่ย 45 % ต่อปี

จากนั้น ธปท. ได้ขยายขอบเขตการรับซื้อลดตั๋วฯ ที่เกิดจากการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมด้วย โดยการรับซื้อลดตั๋วฯ ที่เกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมในช่วงปี 2515 – 2524 มีปริมาณการรับซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 19.1 % ต่อปี มีการเพิ่มขึ้นค่อนข้าสูงจนถึงปี 2523 จาก 2,560 ล้านบาท เป็น 7,980 ล้านบาท ส่วนในปี 2524 ลดลงเหลือ 4,950 ล้านบาท เนื่องจากกำหนดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมหลายรายได้สิ้นสุดลง เพราะครบกำหนด 5 ปี

สำหรับภาคเกษตรซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ มูลค่าการรับซื้อลดตั๋วฯ จากเกษตรได้เพิ่มขึ้นจาก 205.5 ล้านบาท ในปี 2515 เป็น 740.8 ล้านบาทในปี 2518 ขณะที่จำนวนเกษตรกรและปริมาณตั๋วฯที่เกษตรกรมาขายช่วงลดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่มูลค่าตั๋วฯ แต่ละฉบับมีจำนวนน้อย ทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งธปท. และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดังนั้น ในปี 2519 ธปท.จึงเปลี่ยนเป็นการรับซื้อตั๋วฯ ที่ ธ.ก.ส. เป็นผู้ออก มีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัล โดยวงเงินที่กำหนดไว้ได้เพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านบาทในปี 2519 เป็น 4,500 ล้านบาทในปี 2523

นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความช่วยเหลือด้วยการรับช่วงซื้อลดตั๋วฯ ข้าวนาปรังสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวบางฤดู และร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการให้เงินกู้แก่องค์การคลังสินค้าและผู้ส่งออกตามโครงการรักษาระดับราคาข้าว โดยการจัดสรรวงเงินพิเศษแก่ธนาคารพาณิชย์ เช่น ฤดูการผลิต 2522/2523 จำนวน 8,000 ล้านบาท ฤดูการผลิตปี 2524/2525 จำนวน 5,000 ล้านบาท และฤดูกาลผลิตปี 2529/2530 จำนวน 3,000 ล้านบาท เป็นต้น

หลังจากเปลี่ยนวิธีการให้ความช่วยเหลือจากการรับซื้อช่วงลดตั๋วฯ มาเป็นการรับซื้อตั๋วในปี 2529 ส่งผลให้การรับซื้อตั๋วฯ ของผู้ประกอบการช่วงปี 2529 – 2536 มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากแต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นตั๋วสินค้าออก โดยในปี 2531 มียอดการรับซื้อตั๋วส่งออกสูงถึง 142,476 ล้านบาท คิดเป็น 95.4 % ของยอดรับซื้อตั๋วฯ ทั้งสิ้น 149,318 ล้านบาท เป็นตั๋วภาคการเกษตร 5,629 ล้านบาท และตั๋วภาคอุตสาหกรรม 1,213 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2532 ยอดการรับซื้อตั๋วฯ ทั้งสิ้นลดลงจากปี 2531 เหลือ 81,003 ล้านบาท เนื่องจากธปท. ได้ปรับระเบียบให้สถาบันการเงินมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือ โดยให้สถาบันการเงินร่วมออกเงินสมทบกับเงินของธปท. ร้อยละ 50 จากเดิมที่เป็นเงินของธปท. เต็มจำนวน เพื่อจะกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการได้มากขึ้น

ในปี 2537 งานรับซื้อตั๋วส่งออกทั้งหมดได้โอนไปให้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ธสน.) ดำเนินการ คงเหลือเฉพาะการรับซื้อตั๋วส่งออกจำนวน 10,974 ล้านบาท ที่เกิดจากการให้ความช่วยเหลือแก่กระทรวงพาณิชย์เพื่อสนองนโยบายของทางการในการขายข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศที่เป็นสินเชื่อระยะยาว

ในขณะที่การรับซื้อตั๋วภาคอุตสาหกรรมในปี 2537-2544 มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ธปท. ได้ปรับระเบียบ SMEs และให้เงินกู้ระยะยาวผ่าน บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ธสน. เพื่อช่วยเหลือ SMEs เป็นฐานฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ประสบภาวะตกต่ำหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยการรับซื้อตั๋วฯภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นจาก 1,052 ล้านบาทในปี 2537 เป็น 58,988 ล้านบาทใน 2544 และในปี 2545 ได้ลดลงเหลือ 49,644 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องสูงสามารถปล่อยสินเชื่อได้เองโดยไม่ต้องขอรับความอนุเคราะห์จากธปท.

ในปี 2546 ธปท. ได้งดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด ยกเว้นระเบียบฯ SMEs เพียงระเบียบเดียว และได้เปลี่ยนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ SMEs จากการรับซื้อตั๋วของผู้ประกอบการรายฉบับ มาเป็นการให้กู้ยืมแก่สถาบันการเงินเป็นเงินก้อน โดยมีตั๋วฯของผู้ประกอบการวางเป็นประกัน ซึ่งปี 2546-2549 ธปท.ได้จัดสรรวงเงินให้สถาบันการเงินเพื่อให้ความช่วย SMEs ปีละ 38,000 ล้านบาท มี SMEs ที่ได้รับอนุมัติการช่วยเหลือทั้งสิ้น 12,463 ราย ยอดคงค้างการกู้ยืมเฉลี่ยปีละ 28,745 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75.7 % ของวงเงินอนุมัติ

ในปี 2550 ธปท. ได้ปรับระเบียบ SMEs โดยให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประการขนาดย่อม (SEs) ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้วงเงินมีจำนวน 7,585 ราย วงเงินทั้งสิ้น 30,624 ล้านบาท โดยไม่มีการอนุมัติผู้ประกอบการรายใหม่อีกตั้งแต่ 29 พ.ค. 2551

ในช่วงปี 2547 ถึงปี 2550 ได้ออกโครงการฉุกเฉินหลายโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รบผลกระทบจากโรคระบาดร้ายแรงและภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่มีผลต่อภาคธุรกิจซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีวงเงินและจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติความช่วยเหลือจาก ธปท. ดังนี้

การให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ
การให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของธปท.

การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธปท. ได้สรุปผลไว้ตอนท้ายว่า การดำเนินงานของธปท. นับว่าบรรลุเจตนารมย์ในการให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นครั้ง ที่ผ่านมาหากพิจารณาในด้านปริมาณและการให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นครั้งแรกที่ทำให้ประเทศไทยใช้ระบบรีไฟแนนซ์ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้และแข่งขันได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาในด้านปริมาณการให้ความช่วยเหลือและจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือก็นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถกระจายความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการรายย่อยบางส่วนได้ก็ตาม