ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เลขาฯบีโอไอชงบอร์ดเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีให้ฮอนด้าต่อ พร้อมเสนอแพ็คเกจภาษีช่วยกิจการน้ำท่วมเป็นรายกรณี

เลขาฯบีโอไอชงบอร์ดเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีให้ฮอนด้าต่อ พร้อมเสนอแพ็คเกจภาษีช่วยกิจการน้ำท่วมเป็นรายกรณี

6 มกราคม 2012


ภายหลังจากที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ ในช่วงเดือนกันยายน 2554 โรงงานอุตสาหกรรมเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับนักลงทุนต่างชาติไม่ให้ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่น วันที่ 25 ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนอข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ อ่านบีโอไอเสนอเว้นภาษี 8 ปีอีกรอบให้นับหนึ่งใหม่ จูงใจต่างชาติย้ายฐานผลิตหนีน้ำท่วม ประกอบไปด้วย 3 มาตรการหลัก คือ1) มาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีเครื่องจักร หรือวัตถุดิบได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 2) มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย และ 3) มาตรการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน หลังจากที่ประชุมครม.ผ่านความเห็นชอบในหลักการแล้ว ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม บีโอไอ ไปศึกษาในรายละเอียดของมาตรการต่างๆแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมครม.

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 ครม.ได้มิมติเห็นชอบให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม หลังมาตราการชุดนี้ออกมามีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะโรงงานผลิตรถยนต์ของฮอนด้าได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้เพียงรายเดียว ขณะที่กระทรวงการคลังเจ้าของมาตรการชุดนี้ได้ออกมาชี้แจงว่ามาตรการชุดนี้เป็นมาตรการทั่วไป ไม่ได้ให้เฉพาะฮอนด้า โรงงานผู้ผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ของโตโยต้าที่ถูกน้ำท่วม ก็ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอะไหล่ชิ้นส่วนเช่นเดียวกัน อ่านวิเคราะห์ค่าย “ฮอนด้า” กับมติครม.หั่นภาษีนำเข้า 8 เดือน ปูพรมจาก “ทุนลดาวัลย์ ถึงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น”, เปิดแผนซื้อใจซามูไรฉบับ “กิตติรัตน์” เตรียมลดภาษีรถยนต์ เปิดโต๊ะถกเจเทปป้ารอบใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 30 % ของกำไรสุทธิ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ตามที่ครม.เคยมีมติไปก่อนหน้านี้

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ต่อเรื่องดังกล่าวนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า หลังจากที่บอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีให้กับโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ล่าสุดยังไม่มีโรงงานแห่งใดได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีบริษัทฮอนด้า ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออยู่ก่อนหน้านี้ แต่สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ฮอนด้าได้รับหมดอายุตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งประเด็นนี้ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลับไปพิจารณา เพื่อนำเสนอบอร์ดบีโอไอในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งตนก็ยังไม่แน่ใจว่ากรณีของบริษัทฮอนด้าจะได้รับการอนุมัติจากบอร์ดเป็นกรณีพิเศษหรือไม่

“สาเหตุที่ฮอนด้าไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เนื่องจากประกาศของบีโอไอเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 ระบุว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้บีโอไอ และยังคงใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ เรื่องนี้จึงต้องเสนอให้บอร์ดพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า” นางอรรชกากล่าว

สำหรับมาตรการชุดนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1)มาตรการทั่วไปสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากอุทกภัย กับ 2) มาตรการสำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม มาตรการที่บีโอไอเพิ่งประกาศออกไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554

ในส่วนของมาตรการทั่วไปจะมีอยู่ 2 กรณี กล่าวคือ กรณีที่ 1 ประเภทจำกัดวงเงินลงทุน เงื่อนไขจะต้องเป็นผู้ประกอบการเดิมที่ได้รับสิทธิบีโอไออยู่ก่อนแล้ว หากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมให้ถือเสมือนเป็นโครงการใหม่เลย กล่าวคือให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี แต่ถูกจำกัดวงเงินลงทุนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีไว้ที่ไม่เกิน 150 % ของเม็ดเงินลงทุนที่จ่ายจริง แต่ถ้าย้ายโรงงานไปอยู่พื้นที่อื่น ยังได้รับการยกเว้นภาษีไม่เกิน 100 % ของเงินลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ได้รับการส่งเสริมมา 3 ปี ปรากฏว่าโรงงานถูกน้ำท่วม กรณีนี้ให้เริ่มนับหนึ่งยกเว้นภาษี 8 ปีกันใหม่

กรณีที่ 2 ประเภทไม่จำกัดวงเงิน เงื่อนไขต้องเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีการจำกัดวงเงินลงทุนเหมือนกรณีแรก แต่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีไม่เกิน 3 ปี รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี โดยไม่มีการจำกัดวงเงินลงทุนที่จะใส่เข้ามา

นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมฯที่ถูกน้ำท่วมและไม่ถูกน้ำท่วม เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนป้องกันน้ำท่วม โดยผู้ประกอบการนิคมฯจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และให้ขยายวงเงินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจากปกติได้เกิน 100 % เป็น 200 % ดูรายละเอียดของมาตรการบีโอไอ

นางอรรชกา กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนมาตรการที่บีโอไอจะทำต่อไป คือ 1) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นการเฉพาะ หรือช่วยเหลือเป็นรายอุตสาหกรรม คล้ายกรณีของกลุ่มรถยนต์ 2) มาตรการจูงใจให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และ 3) มาตรการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขยายการลงทุน

“บีโอไอมองว่าตอนนี้นักลงทุน ทั้งรายเก่าและรายใหม่ คงไม่อยากที่จะขยายการลงทุนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เพราะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงควรที่จะมีการให้แรงจูงใจเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าที่เคยได้รับ แต่จะต้องมีการกำหนดประเภทธุรกิจที่จะรับการส่งเสริมการลงทุนด้วย บางกิจการไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และบีโอไอก็ไม่เคยให้การสนับสนุน ถึงแม้โรงงานจะถูกน้ำท่วม เราก็ไม่ให้บัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมาตรการชุดใหม่นี้จะเสนอให่บอร์ดพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไปเช่นกัน” นางอรรชกา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วนมาตรการของบีโอไอชุดนี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้เท่าไหร่ นางอรรชกากล่าวว่า คงจะคำนวณยาก เพราะยังไม่รู้ว่านักลงทุนจะลงทุนขยายกิจการ คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ส่วนข้อมูลที่กระทรวงการคลังรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดนั้นเป็นตัวเลขปี 2553 ชี้ว่าบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่เท่าไหร่ และถ้าบีโอไอประกาศมาตรการชุดนี้ออกมา ก็จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นวงเงินเท่ากับปี 2553 แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 หลายกิจการที่ถูกน้ำท่วม ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน คงไม่มีเงินมาเสียภาษีเงินได้

ส่วนกรณีการนำเข้าวัตถุดิบที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ตามกฏหมายศุลกากร กำหนดให้ต้องนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและส่งออกไปขายต่างประเทศภายใน 1 ปี แต่ปรากฏว่าสต็อกสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีน้ำเข้าหายไปกับน้ำ หรือได้รับความเสียหาย ไม่สามารถผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศได้ภายใน 1 ปี ซึ่งผิดเงื่อนไขของกรมศุลกากรต้องถูกเก็บภาษีย้อนหลัง ในประเด็นนี้ทางบีโอไอ อาศัยกฏหมายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ออกระเบียบให้ผู้ประกอบการสามารถตัดรายการดังกล่าวออกจากบัญชีได้ โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีย้อนหลัง ส่วนกรณีของสินค้าสำเร็จรูปนั้นไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นภาษี

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำรายงานการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม