ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 2011 ที่สุดแห่งหายนภัยราคาแพง จับตาปี 2012 ทุบสถิติ?

2011 ที่สุดแห่งหายนภัยราคาแพง จับตาปี 2012 ทุบสถิติ?

7 มกราคม 2012


แผนที่ภัยพิบัติโลกปี 2011
แผนที่ภัยพิบัติโลกปี 2011

ปี 2011 นับเป็นปีที่โลกเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติหนักหนาที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นธรณีพิโรธ สึนามิ อุทกภัย พายุประเภทต่างๆ ภัยแล้ง ไปจนถึงไฟป่า

ครั้นย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ 2012 เพียงไม่กี่ชั่วโมง เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น โดยมีศูนย์กลางอยู่ใกล้เกาะโทริชิมะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว ที่ระดับความลึก 370 กิโลเมตร แต่ไม่มีรายงานความเสียหายจากเหตุธรณีพิโรธครั้งนี้

แม้ว่าในตอนนี้ยังอาจเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์สถานการณ์ภัยพิบัติในปี 2555 ว่าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าโลกยังไม่พ้นจากความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

บรรดากูรูเรื่องสภาพอากาศและคนในแวดวงประกันภัยต่างก็มองเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้สอดคล้องต้องกันว่า สภาพภูมิอากาศในโลกมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนความเสียหายที่แพงขึ้นด้วย

เมื่อย้อนกลับไปดูภาพรวมหายนภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2554 เป็นที่สุดแห่งหายนภัยราคาแพง โดยทำลายสถิติสูงสุดในแง่มูลค่าความเสียหาย ทิ้งขาดปี 2548 เจ้าของสถิติเดิมแบบไม่เห็นฝุ่น

ข้อมูลจาก “มิวนิค รี” บริษัทรับประกันภัยต่อรายใหญ่ของโลก ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ประกอบกับหายนภัยที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นมากครั้งในปีที่ผ่านมา ทำให้ปี 2554 ครองแชมป์ที่สุดแห่งหายนภัยเมื่อวัดในแง่ความเสียหาย โดยมีตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งปีอยู่ที่ 3.8 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2548 ที่เคยครองตำแหน่งนี้ด้วยมูลค่าความเสียหาย 2.2 แสนล้านดอลลาร์

ตัวเลขความสูญเสียในปี 2554 ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ เนื่องจากเหตุการณ์ธรณีวิปโยคที่ญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคม และเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสร้างความเสียหายรวมกันคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติตลอดทั้งปี

ขณะที่ตัวเลขความเสียหายในแง่ประกันภัยก็ทุบสถิติเดิมเช่นกัน โดยความเสียหายในปี 2554 อยู่ที่ 1.05 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่ง 47 % ของมูลค่าความเสียหายเกิดจากแผ่นดินไหว เทียบกับความเสียหายในแง่ประกันภัยเมื่อปี 2548 ที่อยู่ที่ 1.01 แสนล้านดอลลาร์

เมื่อดูในแง่จำนวนครั้ง ปีที่ผ่านมาเกิดหายนภัยธรรมชาติ 820 ครั้ง ซึ่งน่าสนใจว่า 90 % ของภัยพิบัติทั้งหมดเกี่ยวโยงกับสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ราว 2 ใน 3 ของมูลค่าความเสียหายโดยรวมในปี 2554 และเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าความเสียหายเชิงประกันภัย มีสาเหตุมาจากภัยพิบัติทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ เพราะโดยทั่วไปแล้ว หายนภัยทางธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศมักจะมีบทบาทสำคัญที่ผลักดันมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ภัยพิบัติทางธรณีวิทยามีสัดส่วนเพียง 10 % ของมูลค่าความเสียหายในแง่ประกันภัย

ความเสียหายรายภูมิภาคก็ผิดแผกไปจากเดิมเช่นกัน เพราะราว 70 % ของความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วกระจุกตัวอยู่ใน “เอเชีย”

ข้อมูลของมิวนิค รี สอดคล้องกับ “สวิส รี” นายหน้าประกันภัยต่ออีกราย ซึ่งระบุว่า ปี 2554 เป็นปีที่เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากหายนภัยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าความเสียหายราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ตัวเลขในปี 2553 อยู่ที่ 2.26 แสนล้านดอลลาร์

ส่วนความเสียหายในแง่ประกันภัยตลอดทั้งปีที่แล้ว ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและหายนภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ มีมูลค่าประมาณ 1.08 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2553 ที่อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึงกว่า 2 เท่า

แต่ในมุมมองของสวิส รี ชี้ว่า ความเสียหายในแง่ประกันภัยในปี 2554 ยังคงเป็นรองปี 2548 ที่มีราคาแพงถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์

ท็อป 5 ภัยพิบัติแห่งปี 2011
ท็อป 5 ภัยพิบัติแห่งปี 2011 (ที่มา: มิวนิค รี)

หายนภัยครั้งใหญ่ๆ ในปี 2554 อาทิ แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งระดับความแรงขนาดนี้มีโอกาสเกิดครั้งหนึ่งในรอบ 500-1,500 ปี ส่งผลให้เกิดสึนามิตามมา และทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาได้รับความเสียหาย กลายเป็นภัยพิบัติ 3 เด้งในคราวเดียว โดยพิบัติภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 2.1 แสนล้านดอลลาร์ นับเป็นภัยธรรมชาติราคาแพงที่สุดตลอดกาล ขณะที่ความเสียหายในเชิงประกันภัยอยู่ที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์

อีกเหตุการณ์ คือ แผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่าความเสียหายด้านประกันภัยอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

วารีพิโรธครั้งรุนแรงในรอบกว่า 50 ปีของไทยเป็นอีกหนึ่งหายนภัยที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ โดยมีสาเหตุจากฝนตกหนักตั้งแต่ต้นฤดูฝน ประกอบกับพื้นที่ประสบภัยเป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนกลางที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก และปรากฏการณ์ “ลานีญา” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณฝนมหาศาลกว่าปีอื่นๆ

ในฝั่งอเมริกาเหนือ พายุหลายระลอกพัดถล่มพื้นที่ของสหรัฐอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายรวมกว่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ความสูญเสียแง่ประกันภัยอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าปี 2553 ราว 2 เท่า เฉพาะเฮอร์ริเคนไอรีนก็สร้างความเสียหาย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และความเสียหายแง่ประกันภัยอยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) ระบุด้วยว่า สหรัฐยังทุบสถิติหายนภัยจากสภาพอากาศที่มีความเสียหายหลักพันล้านดอลลาร์มากถึง 12 ครั้งในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าความสูญเสียรวมกันราว 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์

ธรณีวิปโยคที่ญี่ปุ่นที่สร้างความสูญเสียทั้งในแง่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล
ธรณีวิปโยคที่ญี่ปุ่นที่สร้างความสูญเสียทั้งในแง่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล
(ที่มาภาพ: http://www.theatlantic.com/infocus/2011/03/japans-earthquake---the-aftermath/100023)

ที่สำคัญ คือ สภาพอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งดังกล่าวมีส่วนเกิดจากปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งทำให้สภาพอากาศเย็นลงกว่าปกติ

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่า อุณหภูมิโลกในปี 2554 ทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 10 ซึ่งสูงกว่าปีก่อนๆ ที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทั้งนี้ อุณหภูมิสูงสุด 13 ครั้งเกิดขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุจากระดับของก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง และการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกลดน้อยลง อากาศที่ร้อนขึ้นบวกกับความชื้นในอากาศที่มากขึ้น ทำให้สภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสำหรับภูมิภาคเอเชีย ข้อมูลจากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ชี้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้เกิดความเสียหายในแง่การผลิตรวมกัน 6.3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.9 % ของจีดีพีรวมของทั้งกัมพูชา ลาว ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

“ไมเคิล เอเบิล” โฆษกของมิวนิค รี กล่าวว่า หายนภัยธรรมชาติที่มีราคาแพงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือเหตุการณ์มหาอุทกภัยในไทยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

น่าสนใจว่า ความเสี่ยงต่อมนุษย์และเศรษฐกิจยังคงมีสูง โดยมีสาเหตุจากประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการทำประกันภัยในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงมีน้อยเกินกว่าที่จะช่วยรองรับความเสียหายจากภัยพิบัติ

“เกิร์ด เฮนจ์ฮูเบอร์” ผู้เชี่ยวชาญของมิวนิค รี ให้ความเห็นว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายของชุมชนเมืองในพื้นที่เสี่ยง และฐานะของผู้คนที่มั่งคั่งมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติมากขึ้นตามไปด้วย

โดยเฉพาะในเอเชียที่ประชากร 43 % อาศัยในเขตเมือง ซึ่งทำให้ผลกระทบจากภัยพิบัติในย่านเขตเมืองจะรุนแรงมากกว่าในอดีต

น่าสังเกตว่า ปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2555 ซึ่งลานีญาจะทำให้น้ำมีอุณหภูมิเย็นลง และจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก

คาดกันว่าจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าเฉลี่ยในแถบตอนเหนือและตะวันออกของออสเตรเลีย รวมถึงจะทำให้เกิดพายุไซโคลนในช่วงฤดูมรสุม (พฤศจิกายน-เมษายน) มากกว่าปกติ และลานีญายังจะทำให้ฤดูเฮอร์ริเคนในแถบแอตแลนติกรุนแรงมากขึ้นด้วย

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากมิวนิค รี, สวิส รี, รอยเตอร์ส, IRIN News, NOAA