ThaiPublica > คนในข่าว > บันไดขั้นสุดท้ายก่อน “ปรองดอง” ถึงทางตัน การกลับมาของ “ทักษิณ” และฮีโร่ “บัง” …โปรดฟัง “วัฒนา” อีกครั้งหนึ่ง!

บันไดขั้นสุดท้ายก่อน “ปรองดอง” ถึงทางตัน การกลับมาของ “ทักษิณ” และฮีโร่ “บัง” …โปรดฟัง “วัฒนา” อีกครั้งหนึ่ง!

1 ธันวาคม 2011


“…วันนี้ถ้าเราปูหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง เป็นเส้นตรง คนที่เล่นบนเวทีทั้งหมดถูกบังคับให้เดินบนถนนนิติธรรมเนี่ย มือที่มองไม่เห็นทั้งหลายแหล่ก็ยื่นออกมาไม่ได้ เปรียบเป็นมวย อีกฝ่ายจะขึ้นไปรุมยำอีกฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะมันแฟร์แล้ว เขาให้สู้ตัวต่อตัว แต่ถ้าจู่ๆ อีกฝั่งเอาพี่เลี้ยงขึ้นมา อีกฝั่งก็ต้องขึ้นมาบ้าง…”

วัฒนา เมืองสุข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
วัฒนา เมืองสุข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

“บันไดขั้นแรก” ในการสร้างความปรองดอง ถูกปูโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี “คณิต ณ นคร” เป็นประธาน ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงของปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง

“บันไดขั้นที่ 2 และ 3” ว่าด้วยการเปิดเผยข้อเท็จจริง และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยคอป. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ทว่ายังไม่ทันถึง “บันไดขั้นสูงสุด-จุดสำเร็จ”ในการสร้างถนนสายปรองดอง กลับมีความพยายามอย่างหนักจากคนการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการจัดลู่ปูทางกลับบ้านให้ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้านเกิด ผ่านสารพัดกลเกม-กลไกที่ “รัฐบาลน้องสาว” ยึดกุมไว้ในมือ

ทุกขั้วการเมืองจึงลังเลที่จะ “ก้าวต่อไป” เพราะมิอาจก้าวพ้นปัญหาของชายชื่อ “พ.ต.ท. ทักษิณ” ไปได้ สังคมจึงติดหล่มความขัดแย้งแตกแยกมิรู้จบ

“วัฒนา เมืองสุข” ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พท. ผู้ประกาศตัวเป็น “โปรโมเตอร์ปรองดอง” เจ้าของทฤษฎี “แปรอาชญากรเป็นฮีโร่” ได้ออกมาฉายภาคต่อของกระบวนการสร้างความปรองดอง บนสังเวียนที่“ตัวแทน” กำลังชกกัน

เป็นสังเวียนที่ทำให้ “ใคร” บางคนได้ล้างคราบไคล และอาจได้กลับมาแจ้งเกิดในฐานะ “ฮีโร่” อีกครั้ง

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!

ไทยพับลิก้า : หลังเปิดประเด็นบันได 3 ขั้นสู่ความปรองดองเมื่อ 2 เดือนก่อน ขณะนี้กระบวนการเดินมาถึงขั้นไหนแล้ว

เรื่องการปรองดองเนี่ย ต้องถือว่ารัฐบาลคือเจ้าภาพและแม่งาน เพราะมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ รัฐบาลนี้ได้ยอมรับให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำงานต่อ หัวใจสำคัญของกระบวนการปรองดองในขั้นตอนแรกคือการค้นหาความจริง ซึ่งคอป. เขาทำอยู่ ขั้นตอนที่ 2 คือการเยียวยา รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) มีคุณยงยุทธ (วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว. มหาดไทย) เป็นประธาน ขณะนี้มีมติครม. แจ้งไปหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ ให้ทบทวนการตั้งข้อหา เรียกว่ามาตรการเยียวยาทางอาญา และยังให้มีการดำเนินการเรื่องประกันตัวอย่างจริงจัง โดยให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นเจ้าภาพในการยื่นขอประกันตัว ถ้าศาลไม่ให้ประกัน ก็ให้กรมราชทัณฑ์นำไปแยกพิจารณา และขั้นตอนที่ 3 คือขอให้ชะลอคดีไว้ เพราะมันยังไม่รู้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ส่งไปศาล เกิดศาลตัดสินขึ้นมา แก้ยากขึ้นไปอีก ขณะนี้ทราบว่าศาลแพ่งก็รับรู้เรื่องนี้ สั่งหยุดบางคดีไว้เหมือนกัน เลื่อนไปเลย เพื่อรอผลการปรองดอง นี่คือมุมที่รัฐบาลทำไปแล้ว

ทีนี้เป็นเรื่องโชคดีที่พล.อ. สนธิ (บุญยรัตกลิน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ และอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ยื่นญัตติเข้าสู่สภา ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ถามว่าโชคดีเพราะอะไร เพราะในสภามันมี 2 ค่ายคือ ค่ายเพื่อไทย (พท.) กับค่ายประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งความขัดแย้ง ถ้าทั้ง 2 ค่ายเป็นคนเสนอ มันจะเสียความเป็นกลาง ไม่ศักดิ์สิทธิ์ บังเอิญพล.อ. สนธิไม่ใช่ทั้ง 2 ฝั่ง และมันก็ควรจะเสนอ เพราะสภามีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล จะได้ไปดูว่าที่คอป. บอกให้คุณไปทำ 1, 2, 3, 4… เนี่ย ทำหรือเปล่า ทำแล้วครบถ้วนไหม เลือกปฏิบัติไหม ขณะเดียวกันสภามีหน้าที่ดูแลเรื่องกฎหมาย

ดังนั้นการที่พล.อ. สนธิเสนอจึงทำให้กระบวนการปรองดองครบถ้วนทุกประเด็น และเป็นคนเสนอที่ถูกคน เพราะอดีตท่านเป็นคนทำปฏิวัติมา เพราะเห็นว่าวันนั้นบ้านเมืองวุ่นวายยุ่งเหยิง ท่านคิดว่าการรัฐประหารคือการแก้ปัญหา แต่เมื่อไปสักระยะหนึ่งเห็นว่ามันไม่ใช่ แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ไปฆ่ากันวุ่นวาย มันจบเสียที่ไหน ท่านจึงต้องเสนอสภาว่าควรหาทางออกทางใหม่ ขอให้สภาตั้งกมธ. ศึกษารวม 38 คน ที่ประชุมกมธ. มีมติว่าการดำเนินการในเรื่องของความปรองดอง หัวใจสำคัญที่สุดคือต้องดำรงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และต้องมีวิชาการสนับสนุน ซึ่งไอ้หัวใจสำคัญ 2 อันนี้ หากกมธ. คิดเองมันไม่เป็นกลาง เพราะทุกคนมีค่ายมีข้าง เราเลยตกลงกันว่างานในกมธ. แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. งานศึกษาวิจัย 2. งานติดตามการทำงานของรัฐบาล 3. การแก้ไขปัญหาภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำให้สงบ แต่ภาคใต้ยังเรียกว่าปรองดองไม่ได้ เพราะการปรองดองคือต้องจบแล้ว ตบตีกันจบแล้วก็มาหาสาเหตุ แต่ถ้าคุณกับผมยังหวดกันตุบตับๆ ทุกวัน ให้มาปรองดองไม่ได้ ต้องหย่าศึก สถานการณ์ทางภาคใต้ต้องหย่าศึก ต้องทำให้สงบศึกก่อน

ในส่วนของการศึกษา เราพบว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจาก 4 ส่วนคือ ความขัดแย้งทางการปกครอง การเมือง วัฒนธรรมสังคม และกฎหมาย ทั้งหมดนี้กมธ. เห็นตรงกันว่าควรส่งคนกลางคือสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษาว่าอะไรคือปัจจัย หรือกระบวนการที่ทำให้การปกครองแห่งชาติประสบความสำเร็จ ซึ่งกมธ. บอกว่ากรณีต้องทำเป็นกฎหมายให้เสนอร่างด้วย โดยดูแบบอย่าง 40-50 ประเทศที่เคยมีความขัดแย้ง และยุติความขัดแย้งได้แล้ว จากนั้นกมธ. จะนำผลการศึกษารายงานต่อสภา หากสภาเห็นด้วย ก็จะนำไปสู่การแก้ไขต่อไป นั่นคือภาพใหญ่

ส่วนภาพทางการเมือง เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกพรรคต่างเห็นความสำคัญของการปรองดอง ผมดูจากกมธ. ที่แต่ละพรรคส่งมา ส่งเบอร์ใหญ่มาทั้งสิ้น ดังนั้นทุกอย่างที่กมธ. ทำมันขาดความถูกต้องและชอบธรรมไม่ได้แน่ ลองใช้เสียงข้างมากดึงไป รับรองแถลงข่าวด่ากันแน่ ผมจึงเชื่อว่าการหาทางออกของสภาจะเป็นทางออกหนึ่งของสังคมไทย เพราะมันถูกทำโดยกระบวนการที่ครบถ้วน และไม่ได้ไปแย่งงานองค์กรกลาง เพราะได้หารือกับคอป. แล้ว ซึ่งเขาแบ่งกระบวนการทำงานเป็น 4 ขั้นตอน 1. ค้นหาความจริง เขาทำ 2. เปิดเผยความจริง เขาทำ 3. แนะนำให้เยียวยา เขาทำ แต่ 4. กระบวนการสร้างความปรองดองที่ต้องออกกฎหมาย เขาต้องมาขอให้เราทำ เราทำส่วนนี้

ไทยพับลิก้า : พอฝ่ายการเมืองโดดลงมาทำในขั้นตอนสุดท้าย สังคมเลยมองว่าขั้นตอน 1-3 ยังไม่ทันจบ ก็ข้ามไปขั้นตอนที่ 4 จ้องจะอภัยโทษ นิรโทษกรรมลูกเดียว

(ตอบสวนอย่างเร็ว) ไม่มี การปรองดองไม่ใช่การอภัยโทษ ไม่ใช่การนิรโทษ คนละเรื่องกันเลยนะฮะ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง ไม่เกี่ยวกันได้แม้แต่นิดหน่อย ไม่มีฮะ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ เกิดขึ้นทุกปีในโอกาสสำคัญ การปรองดองไม่ใช่อภัยโทษ ไม่มีนิรโทษ เพราะเราต้องยอมรับว่าคนที่มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีใครผิดกฎหมายอาญา จึงไม่ต้องนิรโทษ ถามว่าทหารตำรวจที่เข้ามา มาเพราะอะไร มาตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เขาทำผิดที่ไหน ทุกคนที่แก้ปัญหาให้บ้านเมืองเนี่ย แก้โดยเจตนาดี แต่อาจจะใช้ยาผิด เหมือนพล.อ. สนธิปฏิวัติ ถามว่าท่านทำผิดหรือ เปล่า ตอนนั้นคนยังเอาดอกไม้ไปให้ท่านเยอะแยะ อ้าว… เสร็จแล้วจะเอาท่านเข้าคุกหรือ มันไม่ใช่ คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) คุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ) เขาใช้ทหารในการแก้ปัญหา ก็เพราะกลัวตำรวจเกียร์ว่าง เพราะคิดว่ามันจะสงบเร็ว มีใครคิดร้ายบ้างไหม เมื่อไม่มีใครทำผิด มันก็ไม่ต้องนิรโทษ ฝรั่งเขาก็บอกไม่ต้องนิรโทษ แต่ใช้กฎหมายที่ถูก ดังนั้นเมื่อมีกมธ. ขึ้นมาจึงถูกต้องที่สุด เพราะเมื่อคนกลางเขาเสนอ จะอะไรอีกล่ะ ก็ถูกต้องแล้ว

ไทยพับลิก้า : แต่คนส่วนใหญ่ไม่มองว่าพล.อ. สนธิเป็นกลาง โดยเฉพาะเครือข่ายพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะพล.อ. สนธิคือคู่กรณีที่ยิ่งใหญ่มากเมื่อ 5 ปีก่อน

พล.อ. สนธิไม่ใช่คนกลางหรอก แต่ไม่ใช่คนที่มีอินฟลูเลนซ์ (อิทธิพล) ทั้ง 2 ฝั่ง พท. มีสมาชิก 265 คนที่สามารถโหวตซ้ายโหวตขวาได้ ปชป. มี 159 คนที่จะโหวต พล.อ. สนธิมีคนเดียวหัวเดียว ถ้าแกยื่นญัตติมาแล้ว ไม่มีคนเอากับแก มันก็ไปไม่ได้ แต่ถ้าไปดูญัตติของพล.อ. สนธิ ถูกเซ็นรับรองโดยทุกพรรคการเมือง ปชป. ก็เซ็นให้ ชูวิทย์ (กมลวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย) ร.ต.อ. ปุระชัย (เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ) ก็เอา

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะปชป. กำลังหาทางลงจากคดีการเสียชีวิต 91 ศพหรือเปล่า เพราะร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ออกมาขู่ทุกวันว่าเห็นสำนวนตำรวจแล้วร้องครางแน่ๆ ส่วนพท. ก็กำลังปูทางกลับบ้านให้พ.ต.ท. ทักษิณตามที่หาเสียงไว้ ทำให้ความต้องการของ 2 ฝั่งมาชนกันพอดี

ไม่ใช่ คนละเรื่องกันเลย พล.อ. สนธิเนี่ย… ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนหวังดีต่อบ้านเมือง แต่เราเหมือนหมอน่ะ เราให้ยาแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องหยุดการให้ยา แล้วมาหาสาเหตุใหม่ว่ายาตัวไหนที่ถูกกับคนไข้ ตอนนั้นท่านปฏิวัติก็เพราะคิดว่ายาปฏิวัติมันดี แต่เมื่อมันไม่ได้แก้ แล้วจะปล่อยให้บานปลาย ให้มันฆ่ากันหรือ ท่านอาจมีความรู้สึกว่าในเมื่อท่านนั่งในสภา ท่านก็ควรจะมีส่วนในการหาทางออกให้ประเทศชาติ อันนี้ท่านคิด

ไทยพับลิก้า : คิดเองเลยหรือ

(พยักหน้ารับ) อืม… การที่พล.อ. สนธิเสนอขึ้นมา มัน… โอ้โห! โอกาสมาแล้ว ทำให้มันเป็นกลาง ให้ใครเถียงไม่ได้ เห็นไหมฮะ ทุกคนในบ้านเมืองไม่มีใครกล้ามาวิจารณ์สิ่งที่ท่านเสนอเลย เพราะเขาพูดชัดว่าการปฏิวัติไม่ใช่ทางออก เขาอยากหาทางออกทางอื่น ขาประจำทั้งหลายแหล่ถอยกันกรูดหมด ไม่มีใครออกมายุ่ง มาว่า มาแฉพล.อ. สนธิ เดี๋ยวท่านสวนเอา

ไทยพับลิก้า : การออกมาเล่นบทนี้ พล.อ. สนธิได้อะไร

มันเป็นโอกาสของท่านที่อาจจะได้เป็นฮีโร่อีกครั้ง ท่านเคยเป็นฮีโร่มาแล้วครั้งหนึ่งตอนปฏิวัติ มีคนเอาดอกไม้ไปให้เพราะคิดว่าท่านได้แก้ปัญหาของบ้านเมือง แต่เมื่อไม่ได้แก้ ผมถือว่าท่านใช้ได้ การที่คนทำผิดแล้วขอโทษ แล้วหาทางออกทางใหม่ ไม่ใช่ตะแบงบอก เฮ้ย! ทำถูกแล้ว ก็ลองมาหาทางออกทางอื่น วันนี้ท่านกำลังทำตรงนี้

วัฒนา เมืองสุข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
วัฒนา เมืองสุข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้สถานการณ์มันสงบ คู่ขัดแย้งหย่าศึกกันตามที่พูดไว้ตอนต้นแล้วหรือ ถึงเริ่มทำเรื่องการปรองดอง

เอาเป็นว่าคำว่าการปรองดอง การหย่าศึก เราต้องแยกให้ออก ถามว่ามันทำสงครามกันอยู่จริงหรือเปล่า ไม่ใช่ ในสภาที่เหน็บแนมกันไปมา ตราบใดที่ยังไม่ลงไปชกกัน อย่างนั้นไม่มีใครว่า นอกจากนี้คนที่เป็นหลักในพท. และปชป. ผู้ใหญ่น่ะ ไม่พูดถึงคนอื่นที่ไม่ใช่สัญลักษณ์ของพรรคนะ อย่างคุณชวน (หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาปชป.) ก็ดี คุณอภิสิทธิ์ก็ดี คุณสุเทพก็ดี ได้ออกมาพูดอะไรในทำนองฉันไม่เอาด้วยไหม นิ่งใช่ไหมฮะ นิ่งแปลว่ายอมรับให้กระบวนการมันเดิน เพราะบ้านเมืองต้องการความปรองดอง แต่แน่นอนไม่มีใครสามารถทำให้ทุกคนเห็นด้วยได้ แต่ต้องดูว่าคนที่ออกฤทธิ์ออกเดชมันมีผลต่อการปรองดองไหม ไม่มี้ (เสียงสูง)

ไทยพับลิก้า : นักการเมืองอาจนิ่งและยอมรับกระบวนการปรองดอง แต่แกนนำเสื้อแดงและเสื้อเหลืองออกอาการชัดเจนว่าไม่เอา

(ย้อนถาม) มีอาการไม่เอาหรือครับ

ไทยพับลิก้า : อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พท. และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บอกว่าคนสั่งฆ่าประชาชนต้องติดคุกก่อน ส่วนแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ก็บอกว่าถ้ามีชื่อพ.ต.ท. ทักษิณได้อานิสงส์ จะไม่ร่วมด้วย

ก็ถามว่าสิ่งที่ได้พูดกันออกมา สังคมเขารับไหมล่ะ ทุกคนมีสิทธิจะพูดทั้งนั้น ที่จตุพรพูดก็เพราะวันนี้ยังมีพรรคพวกเขาอยู่ในคุกอยู่ แล้วจะปรองดองกันอย่างไร ก็ถูก ตราบใดที่ยังเยียวยาไม่ได้ ก็ปรองดองไม่ได้ ที่จตุพรพูดไม่ผิดหรอก ในเมื่อคนเสื้อแดงยังอยู่ในคุกอยู่เลย แล้วจะมาปรองดองได้อย่างไร มันไม่ได้ เขาไม่ได้บอกว่ากูไม่ปรองดอง แต่ต้องเยียวยาให้จบก่อน

ไทยพับลิก้า : นายจตุพรตั้งเงื่อนไขว่าคนสั่งฆ่าประชาชนต้องติดคุกก่อนด้วย

ก็อาจจะเป็นความรู้สึกของเขาน่ะ ว่าเฮ้ย! ยังไม่เท่าเทียมเลย ฝั่งนี้ติดคุก ฝั่งนั้นไม่ติดคุก มันมีอยู่แค่ 2 วิธีถ้าอยากจะเท่ากัน ตายไป 91 ศพ ก็ไปยิงอีกฝ่ายให้ตาย 91 ศพ แล้วมานั่งคุยกัน ได้หรือเปล่าล่ะ หรือ 91 ศพที่ตายก็ไปชดเชย ไปเยียวยาจิตใจ ฟื้นฟูแล้วก็มานั่งคุยกัน จะเอาแบบไหนล่ะ มันทำได้ 2 แบบ

ไทยพับลิก้า : ถ้าเดินตามแนวทางคอป. คือหลังจากนี้ไม่ควรมีผู้เกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองติดคุกเพิ่มแม้แต่คนเดียว

เอ่อ… ไม่ใช่ติดคุกเพิ่ม มันไม่ควรเอาเข้าไปอยู่ในคุก ควรเอาออกมานั่ง มาเคลียร์กันก่อนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมืองใช่ไหม ถามว่าการเผาศาลากลางเป็นเรื่องทางการเมืองไหม เวลาปกติใช้ไปเผา ไปไหม อย่าว่าแต่ใช้เลย เอาปืนจ่อหัวยังไม่ไปเลย เผาแล้วได้อะไรขึ้นมา หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรจะแปรสงครามกลับไปเป็นการเมือง เพราะการเมืองกับสงครามมันเรื่องเดียวกัน ถ้าในสภาพูดกันไม่รู้เรื่อง มันก็นำไปสู่ความรุนแรง จลาจล แล้วก็การฆ่ากัน วันนี้ต้องยุติการฆ่าให้ได้ กลับไปสู่การเมืองให้ได้ เถียงกันไปเถอะทั้งวันทั้งคืน แต่อย่าฆ่ากัน ยอมรับกันด้วยเหตุผล พอเถียงกันเสร็จก็ยกมือ ข้างนี้ชนะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าถูกนะ แต่ต้องยอมเพราะเสียงมากกว่า นั่นคือการเมือง

ไทยพับลิก้า : นั่นหมายความว่าแต่ละขั้นจะเป็นไปตามที่พท. วางไว้ เพราะมีเสียงข้างมากในสภา

ไม่ใช่พท. วาง ไม่ใช่ เสียงข้างมากทำอะไรไม่ได้นะการเมืองเนี่ย ความชอบธรรมเท่านั้นที่จะทำได้ เรามีเสียงข้างมาก อยากเสนอกฎหมายสักฉบับ มันทำได้หรือ พ.ร.ฎ. (ขอพระราชทานอภัยโทษ) แค่คิดกันขึ้นมา ยังไม่ผ่านเลย เสียงข้างมากทำอะไรไม่ได้หรอกครับถ้าไม่มีความชอบธรรม

ไทยพับลิก้า : อะไรจะทำให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” มีความชอบธรรมในการพูดเรื่องปรองดอง เรื่องปล่อยนักโทษคดีเสื้อแดง

สิ่งที่รัฐบาลทำคือความชอบธรรมอยู่แล้ว รับข้อเสนอคอป. มา ไม่ได้คิดเอง พอเขาบอกให้ทำ 1, 2, 3, 4… ก็ทำไป ก็ทำอยู่ ดังนั้นใครด่าคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ เพราะไม่ได้คิดเองเลย (ลากเสียงยาว) เขาแนะนำกันมา และก็เป็นคนที่น่าเชื่อถือทั้งนั้นที่แนะ

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้พอระบุได้หรือไม่ว่ากำลังสร้างความปรองดองระหว่างใครกับใคร หรืออะไรกับอะไร

(นิ่งไปพักหนึ่ง) ตัวอย่างความขัดแย้งทั่วโลกมันมีอยู่แล้ว แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1. ความขัดแย้งโดยการปกครอง ประเทศหนึ่งไปปกครองอีกประเทศหนึ่ง เช่น แอฟริกา คนขาวปกครองคนดำ, ไอร์แลนด์เหนือที่ถูกอังกฤษปกครอง แล้วก็เกิดระเบิดรายวัน, อาเจะห์ที่อินโดนีเซียปกครอง จนต้องแยกประเทศออกมา เวลาใครใหญ่ขึ้นมาก็ไปล้างบางเช็ดอีกฝ่ายหนึ่ง 2. ความขัดแย้งที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ เช่น รวันดาที่ฆ่ากัน, เกาหลีเหนือเกาหลีใต้ที่ต้องแบ่งประเทศ 3. ความขัดแย้งที่เกิดโดยระบอบเผด็จการ เช่น ชิลี, โคลัมเบีย, อูกันดา 4. ความขัดแย้งในระบอบกษัตริย์ เช่น โมร็อกโก, เนปาล ตัวอย่างในโลกมีอยู่แล้ว เอามาดูแลในไทยได้ โมเดลเราไม่ต่างจากนี้หรอก ของเรามันผสมผสานทั้งหมด

ไทยพับลิก้า : สรุปคือกำลังสร้างความปรองดองระหว่างใครกับใคร

มันมีทั้งความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่น ประชาชนรู้สึกว่าถูกปกครองโดยรัฐบาลที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมา ซึ่งเข้าข่ายเผด็จการปกครอง และความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน มีทั้งเหลือง ทั้งแดง ครอบครัวเดียวกันยังเสื้อคนละสี เหมือนรวันดา เหมือนเกาหลีเข้าไปเรื่อยๆ แล้ว เห็นไหมครับ ซึ่งปล่อยไปไม่ได้แล้ว ต้องถอยออกจากปัญหา เอาปัญหามากองรวมกันแล้วแก้ไข

ไทยพับลิก้า:นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ปรึกษาคอป. เคยบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการสร้างความปรองดองคือการทำให้การเมืองในระบบเลือกตั้ง กับการเมืองนอกระบบเลือกตั้ง มาคุยกันให้ได้

วันนี้สิ่งที่พท. พยายามทำคือเอาการเมืองบนถนนมาไว้บนสภาซะ จับแกนนำ จับอะไรมามาอยู่ในสภา ให้มาสู้กันในนี้ เพราะเราก็ไม่ต้องการการเมืองบนถนน

ไทยพับลิก้า : แม้คนเสื้อแดงจะเป็นขาสำคัญของพท. หรือ

(พยักหน้า) ฮะ

ไทยพับลิก้า : ถ้ามัดรวมกันเป็นขาเดียว แล้วจะเดินอย่างไร

ไม่เป็นไร ให้บ้านเมืองมันสงบ นำบ้านเมืองไปสู่ความปรองดอง เมื่อใดที่บ้านเมืองสงบ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเมืองนอกสภาอีกแล้วนี่ ก็เล่นกันในสภาสิ

ไทยพับลิก้า : แล้วกลุ่มการเมืองนอกระบบที่เข้ามาอยู่ในสภาไม่ได้ เช่น สมาชิกบ้านเลขที่ 111 หรือประธานองคมนตรีที่ถูกพาดพิงตลอด จะทำอย่างไร

คืออย่างนี้ฮะ ถ้าเราทำบ้านเมืองให้อยู่ในหลักนิติธรรมเนี่ย การเมืองมันจะอยู่ในระบบทุกอย่าง ไม่ต้องมีใครเข้ามายุ่ง มือที่มองไม่เห็นก็ต้องหด ไม่มีความชอบธรรมจะยื่นออกมา แต่ถ้ามีข้ออ้างให้เขาเห็นว่ามันไม่แฟร์ (ยุติธรรม) ยังใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ยังแก้ปัญหาในสภาไม่ได้เพราะอีกฝั่งมันน้อยกว่าอีกฝั่ง ก็จะมีคนยื่นมือออกมาเรื่อย แต่ถ้าทุกอย่างอยู่บนกติกา คุณกับผมขึ้นไปชกมวยบนเวที แฟนข้างเวทีจะขึ้นไปช่วยชกได้ที่ไหน ก็ต้องดูคุณกับผมชกกัน ดังนั้นต้องทำการเมืองให้เหมือนเวทีมวย คู่กรณีทั้ง 2 ฝั่งมีความชอบธรรม มีสิทธิเท่าเทียม แพ้ชนะอย่ายุ่ง นั่งดู ทำอย่างไรจะไปถึงตรงนั้นล่ะ ก็ต้องเอาหลักนิติธรรมมาปู ซึ่งกำลังทำอยู่

ไทยพับลิก้า : แต่สิ่งที่คนดูเห็นคือคู่ชกบนสังเวียนไม่ใช่ตัวจริง อะไรจะทำให้มั่นใจว่าแพ้-ชนะบนเวทีแล้วยอมจบกันจริงๆ

มันจะตัวจริงไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นสัญลักษณ์ วันนี้ถ้าเราปูหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง เป็นเส้นตรง คนที่เล่นบนเวทีทั้งหมดถูกบังคับให้เดินบนถนนนิติธรรมเนี่ย มือที่มองไม่เห็นทั้งหลายแหล่ก็ยื่นออกมาไม่ได้ เปรียบเป็นมวย อีกฝ่ายจะขึ้นไปรุมยำอีกฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะมันแฟร์แล้ว เขาให้สู้ตัวต่อตัว แต่ถ้าจู่ๆ อีกฝั่งเอาพี่เลี้ยงขึ้นมา อีกฝั่งก็ต้องขึ้นมาบ้าง ก็ต้องอย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาพี่เลี้ยงของแต่ฝ่ายถูกอัดจนสะบักสะบอม ถ้าจะตั้งต้นกันใหม่ ต้องเยียวยาพี่เลี้ยงอย่างไร

ก็ต้องเอาเส้นความถูกต้องขีด แล้วทุกคนก็ถอยลงจากเวทีอย่างสง่างาม

ไทยพับลิก้า : ใครจะเป็นคนขีดเส้นความถูกต้องที่ว่านั้น

ก็คอป. เขาก็บอกมา สถาบันพระปกเกล้าก็จะบอกว่าสิ่งที่ถูกคือเส้นนี้ ขีดอย่างนี้ แล้วเราก็ไปดูว่าจะทำอย่างไร ถ้าเขาบอกว่าที่ทำมาไม่ถูก ต้องแก้ แล้วเราจะเก็บเอาไว้หรือ

ไทยพับลิก้า : ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนจึงจะก้าวถึงบันไดขั้นสุดท้ายแห่งการปรองดอง

เรื่องการปรองดองมันมีอยู่ 4 ขั้นเท่านั้นแหล่ะคือ 1. ค้นหาความจริง 2. เยียวยา 3. เปิดเผยความจริง และ 4. การปรองดอง มี4 อย่าง ซึ่ง 1 ทำไปแล้ว ส่วน 2 กับ 3 กำลังทำอยู่ มันเหลือ 4 ซึ่งเขาต้องมาหาเรา ขณะนี้ถือว่าไป 3 ขั้นแล้ว เหลือขั้น 4

ไทยพับลิก้า : เคยทำนายเอาไว้ว่าภายในเดือนเมษายน 2555 หากไม่มีความคืบหน้าเรื่องการปรองดอง ม็อบเสื้อแดงอาจออกมาไล่รัฐบาลที่พวกเขาเป็นคนตั้งขึ้น

แน่นอน เป็นแน่นอน เพราะวันนี้สิ่งที่เสื้อแดงพูดคือคนฆ่าเขายังลอยนวล วันนี้คนของเขายังอยู่ใน ก็มีสิทธิจะฆ่ากันอีกรอบหนึ่ง ถ้าไม่ทำให้มันจบลงโดยการปรองดอง

ไทยพับลิก้า : บนบันไดขั้นสุดท้ายของการปรองดองจะเห็นพ.ต.ท. ทักษิณยืนอยู่ตรงนั้นหรือไม่ และอยู่ในสถานะอะไร

คุณทักษิณจะได้ประโยชน์จากกระบวนการใดๆ หรือไม่ อยู่ที่เส้นความถูกต้องมันขีดว่าไปโดนคุณทักษิณหรือเปล่า เราไม่ได้วางคุณทักษิณไว้ตรงไหน คุณทักษิณยืนอยู่เนี่ย อะไรที่มันถูก เราก็ขีดเส้นความถูกต้อง ถ้ามันไปครอบคุณทักษิณเข้า แกก็ได้ไป แต่ถ้ามันไปไม่ถึง มันไม่ครอบ แกก็ไม่ได้ เราไม่ได้ขีดเส้นนี้เพื่อใคร แต่กำลังขีดเส้นความถูกต้องให้กับประเทศไทยว่าต้องเดินอย่างนี้ บนเส้นที่ขีด บังเอิญคุณทักษิณเกิดอยู่ในวงนี้ขึ้นมา ปฏิเสธเขาได้หรือ แต่ถ้าขีดแล้วคุณทักษิณอยู่นอกวง ก็ให้อยู่นอกวงต่อไป

ไทยพับลิก้า : มั่นใจหรือไม่ว่าขั้วตรงข้ามจะยอมร่วมวงเดียวกับพ.ต.ท. ทักษิณ

ผมเชื่อว่าคนไทยมีเหตุผล คุณดูอย่างพ.ร.ฎ. ขอพระราชทานอภัยโทษ ถ้ามันเป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ร่างไว้ในสมัยรัฐบาลปชป. แต่คุณทักษิณได้ประโยชน์ด้วย ใครก็พูดไม่ออก แต่นี่เขาหาว่าคุณไปปรับหลักเกณฑ์ ก็เลยออกมากัน ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายยอมรับว่านี่คือเส้นของความถูกต้อง เกิดขีดไปแล้วโดนคุณทักษิณเข้า ใครก็เถียงไม่ได้ๆ แต่ใครล่ะจะเป็นคนขีด ถ้าผมขีด คุณก็บอกว่าไม่จริง มือคด ให้ปชป. ขีดก็บอกว่าไม่จริง แกล้งขีดแหว่งไม่ให้โดนแก ก็เอาคนกลางมาขีดเสียสิ ซึ่งเราเถียงไม่ได้ เพราะคุณกับผมร่วมกันตั้งเขามา ดังนั้นที่พล.อ. สนธิเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ที่เดินกันมา มันถูกทางแล้ว รักษาเส้นทางนี้ให้ดี อย่าทำลายมัน และพวกเราอย่าทำลายตัวเอง ถ้าทำลายคือตัดคอตัวเอง ประเทศชาติเหลือทางนี้ทางเดียว คือทางสุดท้ายแล้ว หมดแล้ว

เปิดสูตร 3 ขา 2 ขั้ว ลบ+บวก=ปรองดอง

ในขณะที่สูตรปรองดอง คล้ายถูกเปิดมาจากเครือข่ายทักษิณ ทั้งที่อยู่ในรัฐบาล-รัฐสภา-รั้วมหาวิทยาลัย

สอดประสานกันระหว่างบุคคลที่อยู่ในร่างคณะรัฐมนตรี (ครม.)-ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.)-กลุ่มคนเสื้อแดง-นักวิชาการ

โดยมีการชงร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ…. เข้าสู่การพิจารณาของครม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน
ตามด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน

และยังมีความพยายามจาก “ดาวแดง” ในการผลักดันญัตติล้างผลพวงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแปลงทฤษฎีของ 7 นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

ทั้ง “3 ขา” ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่าเป็นแผน “แยกกันเดิน” โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การปลดปล่อยนายใหญ่ล้างมลทินให้ผู้ร้ายหนีคดี หรือไม่อย่างไร?

วัฒนา เมืองสุข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
วัฒนา เมืองสุข ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ทว่า “วัฒนา เมืองสุข” ยืนยันหนักแน่นว่า แต่ละขา แต่ละขั้น แต่ละกระบวนการ ไม่มีการประสาน หรือพูดคุยของ “บุคคลระดับนำ”

“ผมไม่เคยรู้จักนิติราษฎร์ ไม่เคยคุยกันสักครั้ง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำบนความเชื่อของตัวเอง ไม่มีใครเข้าไปจัดการกับมัน”

เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายกับใครก็ตามที่คิดผูกโยงทั้ง 3 กระบวนการให้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ขอโยนคำถามกลับมาว่าหากคณะนิติราษฎร์ กับพท. เป็นกระบวนการเดียวกัน ไฉนญัตติล้างคราบไคลเหตุรัฐประหารเที่ยวล่าสุด ซึ่งเสนอโดย “ก่อแก้ว พิกุลทอง” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พท. และแกนนำคนเสื้อแดง ถึงถูกยื้อ-ยุด ไม่ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนกระทั่งปิดสมัยประชุม

“จริงอยู่ว่าทุกคนมีสิทธิเสนอทางออกให้บ้านเมือง แม้ข้อเสนอนั้นจะถูก แต่ถ้าถูกเสนอโดยคนที่สังคมคลางแคลงว่าเป็นกลางหรือไม่ สิ่งนั้นหมดราคาเลยนะ วันนี้สังคมกำลังคลางแคลงนิติราษฎร์ ดังนั้นไม่ว่าข้อเสนอจะถูกอย่างไร มันหมดความหมาย คุณจึงให้สังคมคลางแคลงคุณไม่ได้ ความเป็นกลางและความน่าเชื่อจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเดียวกัน นิติราษฎร์พูด คนตั้งคำถามว่าเป็นกลางหรือเปล่า กลายเป็นของเสียไป”

“วัฒนา” บอกว่าความโชคดี ณ วันนี้คือการมีกลไกกลางมาเดินเกมปรองดอง ไม่จะเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งเป็นมรดกสืบทอดจาก “ขั้วตรงข้าม” อย่าง “รัฐบาลอภิสิทธิ์”

หรือสถาบันพระปกเกล้า ที่เพิ่งรับโจทย์จากกมธ. ปรองดอง ให้ไปศึกษาและเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองในบ้านเมือง

แม้สถาบันวิชาการดังกล่าวจะมีอดีตเลขาธิการครม. ใน “รัฐบาลทักษิณ” นาม “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แต่ “วัฒนา” ในฐานะ “ลูกน้องทักษิณ-อดีตเจ้านายบวรศักดิ์” ยืนยันเห็นว่าภาพ “บวรศักดิ์” ไม่ได้เอื้อ “รัฐบาลน้องสาว” เลย

“ใช่ เขาเคยเป็นเลขาธิการครม. เขาก็ลาออกไปไม่เห็นหรือ ถ้าเขาเป็นพวก เขาจะลาออกหรือ ภาพเขาไม่ได้เป็นพวกของรัฐบาลนี้ นั่นคือความโชคดีที่เราขอให้เขาทำ ถ้าส่งไปธรรมศาสตร์ คนก็จะเอ๊ะ! รู้กับนิติราษฎร์หรือเปล่า ส่งไปจุฬาฯ ก็จะอ๊ะ! เป็นกลางหรือเปล่า ผมเลือกคนที่อยู่ตรงข้ามเลย เป็นที่ประจักษ์ด้วยซ้ำว่าเขาออกเหลือง”

ที่สำคัญคือการตั้ง “38 อรหันต์” เป็นกมธ.ปรองดอง ชุด “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นประธาน เฉพาะโควตารัฐบาล 15 คน จงใจเปิดทางอย่างแยบยลให้ “ตัวพ่อ-ตัวแม่” มาร่วมวงทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น “พล.ท.วิลาศ อรุณศรี” รองเสนาธิการทหารบก เตรียมทหาร (ตท. 12) เพื่อนรัก “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. และ “พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” ผช.ผบ.ทบ. ที่มาในโควตากองทัพ

หรือการปรากฏชื่อ “แพรวพิสัย พจนประพันธ์” บิ๊กอสังหาริมทรัพย์ ที่คอการเมืองรู้ดีว่าเธอคือ “ทุนใหญ่สีเหลือง” เข้ามาเป็นกมธ.

ยังไม่รวม “ตัวกลั่น” ในโควตาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 9 คน ได้แก่ “สุทัศน์ เงินหมื่น” ส.ส.บัญชีรายชื่อ, “ชำนิ ศักดิเศรษฐ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ, “กนก วงษ์ตระหง่าน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ, “นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ” ส.ส.พัทลุง, “เจะอามิง โตะตาหยง” ส.ส.นราธิวาส, “นคร มาฉิม” ส.ส.พิษณุโลก และ “ศุภชัย ศรีหล้า” ส.ส.อุบลราชธานี

เมื่อขั้วลบ ยอมผนึกกับขั้วบวก ย่อมทำให้ “ค่าความเป็นกลาง” ของหนึ่งขาในสภาที่ร่วมเดินเกมปรองดอง ดูใกล้เคียงกับคำว่า”เป็นกลาง” มากขึ้น

ส่วนสูตรปรองดองเวอร์ชั่นนี้จะสำเร็จหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์!!!