ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ตอบทุกข้อสงสัย กรณีผลสอบสตง.

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.ตอบทุกข้อสงสัย กรณีผลสอบสตง.

15 ธันวาคม 2011


นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาสปสช.แถลงข่าวตอบทุกข้อสงสัย กรณีผลตรวจสอบสตง.
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาสปสช. แถลงข่าวตอบทุกข้อสงสัย กรณีผลตรวจสอบสตง.

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สำนักงานหลักประกนสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน วันที่ 27 กันยายน 2554 ในทุกข้อสงสัย พร้อมแจกเอกสารประกอบ “ข้อเท็จจริงและคำชี้แจงต่อรายงานการตรวจสอบประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามรายงานของสำนักงานการตรวจสอบแผ่นดิน วันที่ 27 กันยายน 2554” อ่านรายละเอียดตามไฟล์แนบรายงานข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของสปสช.ต่อสตง.

นพ.วินัยได้กล่าวถึงการตรวจสอบสตง.ว่าเป็นการตรวจสอบปกติของสตง. โดยสตง.ส่งรายงานการตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานสปสช.และส่งที่ตนด้วยซึ่งการตรวจสอบของสตง.แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ให้ข้อเสนอแนะประธานกรรมการและส่วนที่เสนอแนะเลขาธิการในการปรับปรุงการทำงานของสปสช. ในเรื่องนี้รัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนชี้แจงสตง.แทน ทั้งนี้ได้ทำรายงานส่วนของสปสช. และในส่วนของรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

“เราใช้เวลาในการประมวลข้อมูลเยอะมาก ผมตั้งใจว่าจะส่งภายในสัปดาห์นี้(วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม) ช้าที่สุดคือต้นสัปดาห์หน้า เนื่องจากเอกสารเยอะ เวลาอ้างถึงข้อมูลอะไรต้องแนบเอกสารประกอบซึ่งเป็นประเด็นในรายละเอียด และต้องทำให้อ่านง่ายด้วย” นพ.วินัยกล่าว

อย่างไรก็ตามตนไม่ได้หนักใจ เพราะประเด็นรายละเอียดต่างๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีมติตามคณะกรรมการ ตามระเบียบ ข้อบังคับของสปสช. เนื่องจากสปสช.เป็นหน่วยงานอิสระ ตั้งโดยกฎหมายของเราเอง มีระเบียบของตัวเอง ไม่ใช่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีข้อหนักใจ บางเรื่องที่สตง.ให้สปสช.ปรับปรุงในการทำงาน เราก็ยินดีรับมาพิจารณาว่าจะปรับปรุง ส่วนการเข้มงวดในการส่งรายละเอียดรายการการจัดซื้อให้ทันเวลา ทางสปสช.ก็เข้มงวด เช่น ส่งแผนการจัดซื้อจัดจ้างให้ทัน 30 ตุลาคมของทุกปี ซึ่ง 2 ปี ที่ผ่านมาเราส่งตามกำหนดเวลา

“ต้องเรียนว่าการตรวจสอบนี้ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีหลายเรื่องเราได้ปรับปรุงไปแล้ว แต่เมื่อสตง.ตรวจเจอ สตง.ก็เสนอมาให้แก้ไข” นพ.วินัยกล่าว

นพ.วินัยกล่าวต่อว่าโดยหลักเกณฑ์ปฏิบัติใหญ่ๆจะไปในทิศทางเดียวกัน คือพยายามทำให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่รายละเอียดในระเบียบอาจจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะระเบียบพัสดุ อย่างขั้นตอนการต่อรองราคา เพียงแต่ว่าการเป็นองค์กรอิสระเราคำนึงถึงความคล่องตัวในการจัดการด้วย

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.

ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่าการตรวจสอบของสตง. จะทำให้นโยบาย 30 บาทถูกบั่นทอนหรือไม่ นพ.วินัยกล่าวว่า“ผมคิดว่าถ้าสปสช.จะล้ม มันน่าจะมาจากสาเหตุอย่างเดียวคือประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ หรือถ้าประชาชนรู้ว่ามีสปสช.ก็ไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง ไม่มีอาจจะดีเสียกว่า แต่ถ้าตราบใดที่ประชาชนเห็นว่ามีโครงการบัตรทอง โครงการ 30 บาท ทำให้เขามีศักดิ์ศรี มีสิทธิเข้าถึงบริการ คนไข้โรคไตได้รับบริการ ไม่หมดเนื้อหมดตัว หรือการจัดการโรคมะเร็ง โรคยากๆที่ประชาชนสัมผัสได้ ผมเชื่อว่าสปสช.ยังอยู่คู่กับประชาชน เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเรายังเป็นประโยชน์กับประชาชน ได้จริงๆ ถ้าถามว่าอะไรที่จะเป็นจุดอ่อนที่สุดคือเราไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการ”

“ดังนั้นการตรวจสอบของสตง.เป็นกลไกปกติ เราไม่ได้ถือเป็นปัญหา คนทำงานไม่มีใครทำเพอร์เฟค 100 % ข้อบกพร่องเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีอยู่แล้ว ขออย่าให้เป็นการทุจริตคอรัปชั่น อย่างนี้รับไม่ได้ ถ้าถามผม ผมไม่วิตกกังวล เพราะ 10 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์ว่าได้ทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายเยอะแยะ และประชาชนได้ประโยชน์”นพ.วินัยกล่าว

สำหรับการตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจสอบระบบ ซึ่งเป็นการตรวจสอบครั้งแรกตั้งแต่จัดตั้งสปสช. ส่วนการตรวจสอบบัญชี ตรวจการจัดการ ทางสตง.ย่อยได้ตรวจสอบประจำเพราะมีเจ้าหน้าที่มานั่งตรวจสอบที่สปสช.อยู่แล้ว แต่อันนี้เป็นการตรวจเพื่อการพัฒนาระบบ เป็นหน้าที่ของสตง. ซึ่งเป็นการเวียนไปตรวจสอบหน่วยราชการ ถือเป็นงานปกติ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าก้าวต่อจากนี้ของสปสช.จะทำอย่างไร นพ.วินัยกล่าวว่าต้องยอมรับว่าการมีแรงเสียดทานเป็นเรื่องปกติ ก้าวต่อไปสปสช.จะมุ่งมั่นในการพัฒนา โดยมองทศวรรษหน้าและเหลียวไปข้างหลัง 10 ปีว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ มีประเด็นอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ขณะนี้อยู่ในช่วงการประเมิน 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการมองไปข้างหน้า ประกอบกับรัฐบาลใหม่มีนโยบายจะปรับปรุงพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคด้วย

“ข้างหน้าที่เราอยากเห็น คือคนไทยมีหมอประจำครอบครัว โดยอาจจะเป็นหมออนามัย อยากให้มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ เพราะคนไทยขาดที่พึ่ง ขาดที่ปรึกษาเวลามีปัญหาสุขภาพ ไม่รู้จะปรึกษาใคร บางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัว หากข้างหน้าเราสามารถทำให้คนไทยมีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งการทำกับคนในเมืองอาจจะยากกว่าคนในต่างจังหวัด หากให้มีหน่วยบริการชุมชนและทำหน้าที่จริงๆ โดยการส่งเสริมให้มีแพทย์ประจำครอบครัว ทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้คนไข้ไปแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ประชาชนจะได้อุ่นใจและระบบบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่คือเรื่องที่อยากเห็น แต่อีกหลายก้าวกว่าจะเห็น แต่ทั้งนี้ทิศทางต้องชัดว่าเราอยากเห็นอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ” นพ.วินัยกล่าว

ส่วนเรื่องที่สองอยากเห็นคือโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีที่ในการจัดการป้องกัน เนื่องจากสปสช.ทำงานร่วมกันท้องถิ่นคือกองทุนตำบล เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมคนต้องทำในชุมชนท้องถิ่น ต้องมีการปฏิบัติจริง เพราะชุมชนท้องถิ่นมีผู้นำ มีการดำเนินการปรับปรุง เปลี่ยนพฤติกรรมและเฝ้าระวังกันเอง ซึ่งสปสช.ได้วางรากฐานไว้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดโรคเรื้อรังที่เป็นภัยเงียบ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชุมชนที่จะลุกขึ้นมาดูแลกันเอง ลงมือปฏิบัติ สร้างพลังชุมชนก็จะช่วยป้องกัน มีระบบคัดกรองที่รู้เร็ว รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนเบาหวานเข้าตา เข้าไตก็จะช่วยได้

ส่วนประเด็นเรื่องความโปร่งใส ทางสำนักงานสปสช.ทำหน้าที่อยู่แล้ว ความโปร่งใสในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดสรรเงินกองทุน มีการรายงานข้อมูลการประชุมคณะกรรมการในเว็บไซต์ หรือขบวนการจัดสรรเงินจะมีตัวแทนจากโรงพยาบาลที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม อนาคตการประชุมของอนุกรรมการชุดต่างๆก็จะเปิดเผยได้ด้วย