ThaiPublica > เกาะกระแส > UN ESCAP เผยผลการสำรวจเศรษฐกิจ-สังคม เอเชียแปซิฟิก ปี 2554 ชี้หลังน้ำลดเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่

UN ESCAP เผยผลการสำรวจเศรษฐกิจ-สังคม เอเชียแปซิฟิก ปี 2554 ชี้หลังน้ำลดเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่

10 ธันวาคม 2011


Mr.Nagesh Kumar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์  UN ESCAP (ซ้าย) แถลงข่าวผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2554
Mr.Nagesh Kumar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ UN ESCAP (ซ้าย) แถลงข่าวผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2554

วันที่ 9 ธันวาคม 2554 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) ได้เปิดตัวรายงานผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2554 ฉบับปรับปรุงสิ้นปี โดย Mr.Nagesh Kumar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ESCAP ได้กล่าวถึงสถาณการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ล่าสุดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สร้างความเสียหายมีมูลค่าประเมินได้ 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 0.9 % ของจีดีพีทั้งหมดของทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบรวมกันคือ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย โดยเฉพาะประเทศไทยนั้น Mr.Nagesh ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า

“ขณะที่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคที่ประสบอุทกภัยเหมือนกันคือ ลาว พม่าและฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบส่งผลให้จีดีพีลดลง0.3 % ในแต่ละประเทศ แต่ไทยจีดีพีลดลงถึง 1.3 % ถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในภูมิภาค”

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2011 - ที่มา ESCAP

โดยหลังน้ำลดแล้วการลงทุนเพื่อฟิ้นฟูประเทศในภูมิภาคนี้ จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2012 ซึ่่่่่ง ESCAP เชื่อว่าการที่รัฐบาลไทยใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภคที่เสียหายจากตุการณ์น้ำท่วม ประกอบกับการให้เงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อที่ประสบอุทกภัย จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีขึ้นได้ ในขณะนี้ถือว่าสถานะเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี มีหนี้สาธารณะไม่มาก ทำให้รัฐสามารถลงทุนเงินเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ในกรณีของประเทศไทย หลังจากผ่านเหตุการณ์อุทกภัยและได้เกิดความกังวลว่านักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นนั้น ESCAP คาดว่านักลงทุนต่างประเทศ จะยังคงเชื่อมั่นและลงทุนในประเทศไทยต่อ เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีจุดเด่นคือ มีแรงงานที่มีคุณภาพ ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีและมีภาคบริการที่เข้มแข็ง ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายแล้ว ก็จะฟื้นตัวกลับมาได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ ESCAP ได้มีข้อแนะนำสำหรับประเทศที่ไดรับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า ควรลงทุนฟื้นฟูในภาคสังคม เพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรและแก้ไขปรับปรุงผังเมืองให้ดีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และรัฐบาลควรมีแผนการรับมือกับภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใอนาคต เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ

คาดปีหน้าเศรษฐกิจโลกทำเอเชียและแปซิฟิกชะลอ

ในส่วนของผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2554 ESCAP คาดว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะปรับตัวลดลงจากเดิม 7.2 % ในปีนี้ เป็น 6.6% ในปี 2555 โดยภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะยังคงความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 2555 และถือเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งของภูมิภาคเป็นปัจจัยที่สำคัญ ทำให้ภูมิภาคนี้สามารถรักษาการเติบโตเศรษฐกิจได้ แต่ปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่กำลังเกิดขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นเอเชียและแปซิฟิกเป็นต้องเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและปรับสมดุลทางเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตได้ต่อไป

 Real GDP ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ปี 2008 - 2011 ชี้ให้เห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ - ที่มา ESCAP
Real GDP ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ปี 2008 - 2011 ชี้ให้เห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ - ที่มา ESCAP

โดยทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2555 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Advance Economics) ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินของรายงานฉบับนี้คาดว่า จีดีพีที่แท้จริงของจีนจะลดลงจาก 9.3 % ในปีนี้เป็น 8.5 % ในปี 2012 ส่วนอินเดียจะเพิ่มขึ้นจาก 7.5 % ในปีนี้เป็น 7.8 % ในปีหน้า ทางด้านอินโดนีเซียยังคงรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปีหน้าเท่าเดิมที่ 6.5% สำหรับประเทศไทยคาดว่าจีดีพีปีนี้โต 2% แต่ในปีหน้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 %

และ ESCAP ยังได้คาดว่าฐานะทางการคลังและงบประมาณที่แข็งแกร่งในหลายประเทศจะสามารถช่วยให้รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ โดยเชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ ยังคงมีช่องว่างทางการคลัง (Fiscal space) ที่ทำให้เพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐได้อีก และปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ค่อนข้างสูง หากยังสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ไว้ หรือปรับลดลงในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น จะสามารถช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อไปทั่วภูมิภาค

การคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2012 - ที่มา ESCAP

ความเสี่ยงจากวิกฤติหนี้ยูโรปและการชะลอตัวของสหรัฐ

รายงานฉบับนี้ ยังแนะนำให้เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียและแปซิฟิกควรเตรียมพร้อมรองรับความผันผวนทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะการไหลออกของเงินทุน อันเกิดจากภาวะกลัวความเสี่ยง (Risk aversion) ที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในยูโรป และชี้ให้เห็นความจำเป็นในการดำเนินนโยบายควบคุมเงินทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อที่จะจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว

Mr.Nagesh Kumar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ESCAP
Mr.Nagesh Kumar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ESCAP

โดยความท้าทายพื้นฐานที่สำคัญอีกประการมาจากทิศทางการหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการที่ส่งออกจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในกลุ่มตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้ว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะมีการค้าอยู่ภายในภูมิภาคที่มีการเติบโตเร็วกว่าการค้ากับประเทศอื่นๆนอกภูมิภาค แต่ ESCAP ยังประเมินถึงข้อจำกัดของตลาดในภูมิภาคในการทดแทนกับการสูญเสียตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างน้อยในระยะสั้น

“การเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพาตลาดนอกภูมิภาคมาเป็นการพึ่งพาการค้าภายในภูมิภาคมากขึ้นนั้น แม้ว่าจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีและมีศักยภาพที่สำคัญในระยะปานกลาง แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะทดแทนการชะลอตัวลงในตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้วในระยะสั้น ดังนั้นภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจำเป็นต้องปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (Rebalancing) อย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินนโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) เพื่อทำให้เกิดการเพิ่มอุปสงค์ภายในภูมิภาคภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” Mr.Nagesh Kumar หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ESCAP กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม : รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2554 ฉบับปรับปรุงสิ้นปี