ThaiPublica > คนในข่าว > เมื่อนักวิทยาศาสตร์เตือนสติสังคมไทย จาก GT 200 สู่ อีเอ็มบอล…เราเรียนรู้อะไรจากอดีต

เมื่อนักวิทยาศาสตร์เตือนสติสังคมไทย จาก GT 200 สู่ อีเอ็มบอล…เราเรียนรู้อะไรจากอดีต

9 ธันวาคม 2011


“สิ่งที่นักวิชาการเราทำให้กับประเทศชาติได้มีสองอย่าง อย่างแรกคือกระตุกไว้ก่อน ให้กระแสที่คนเริ่มเห่อหรือความงมงายที่กำลังก่อตัวโดนกระตุกไว้ และสองงบประมาณที่กำลังไป จะได้โดนดึงไว้บ้าง กรณีอีเอ็มอาจารย์ธงชัยหรือคณะวิทยาศาสตร์ เราคิดว่ามีส่วนกระตุกกระแสตรงนี้ได้ แม้จะเป็นการสร้างศัตรูบ้างก็ตาม”

วิทยาศาสตร์ลวงโลก หรือ Pseudo Science เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่ทำตัวเหมือนเป็นวิทยาศาตร์ โดยใช้การแอบอ้างแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆแล้วไม่เคยผ่านการทดสอบที่ถูกต้อง ไม่มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มารองรับและไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆ หากไม่มีการอธิบาย คนทั่วไปมักเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลก คือเนื้อเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง และเมื่อพูดลอยๆ ก็คงจะนึกไม่ออกว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลกนั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าบอกว่า GT 200 หลายคนคงจะเริ่มเข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้นมาทันที

เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT 200 เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกๆที่ทำให้คนไทยได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลกในสื่อกระแสหลัก จากกรณีที่มีนักวิทยาศาสตร์ออกมากระตุกให้สังคมได้ขบคิด โดยนำข้อมูลหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มาชี้ให้เห็นว่าเครื่องตรวจวัตถุระเบิดที่มีการโฆษณากันว่ามหัศจรรย์ แท้จริงแล้วเป็นแค่ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบกัน ไม่สามารถใช้ตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงตามที่กล่าวอ้าง

มาวันนี้คำว่าวิทยาศาสตร์ลวงโลกถูกนำกลับมาพูดอีครั้ง แต่เปลี่ยนบริบทจากคำว่า “GT 200” มาเป็น “อีเอ็มบอล” หรือจุลินทรีย์มหัศจรรย์ที่สามารถแก้ไขน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีได้ แม้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าปรากฎการณ์อีเอ็มเป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลกหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมากระตุกสังคมให้ฉุกคิดอีกครั้ง ก็พบว่ามีความน่าสนใจ ที่ปรากฎชื่อ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมอยู่ด้วย

ผศ.ดร.เจษฎา เป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวกับที่ออกมาพูดเรื่อง GT 200 จนนำไปสู่ปรากฎการณ์ตื่นตัวครั้งสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ไทย เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงแค่เผยให้เห็นความจริงของวิทยาศาสตร์ลวงโลกเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ตัวเล็กๆ สามารถยันกับทหารทั้งกองทัพได้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นการกรุยทางให้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆกล้าออกมาพูดความจริงในสังคมไทย ที่คำว่าเหตุผลถูกความเชื่อและความงมงายเบียดจนไม่มีที่ยืน

เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ในการกลับไปทบทวนว่าทุกวันนี้สังคมไทยมีความเป็นวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจากวันนั้น จนถึงวันนี้ สังคมไทยได้รับบทเรียนและหาจุดลงตัวระหว่างคำว่า ความจริง ความเชื่อและความงมงายได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : จุลินทรีย์อีเอ็มคืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในแวดวงวิทยาศาสตร์ช่วงที่ผ่านมา

ถ้าจะพูดเรื่องอีเอ็มก็ต้องรู้ก่อนว่าอีเอ็มมาจากคำว่าอะไร อีเอ็ม มาจากภาษาอังกฤคำว่า Effective Micro Organism โดยคำมันเอง ฟังแล้วก็งงๆว่า เป็นเชื่อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่จริงแล้วมนุษย์เราใช้เชื่อจุลินทรีย์มาเป็นพันๆปี ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ เราใช้หมักสารพัดอย่าง โยเกิร์ตที่เรากินก็มาจากเชื้อจุลินทรีย์ทั้งนั้น โดยในธรรมชาติมีทั้งเชื้อที่ดีและเชื้อที่ไม่ดี

ต่อมาก็มีทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้สร้างชื่อใหม่ขึ้นมา ด้วยการรวบรวมพันธุ์จุลินทรีย์ต่างๆที่เจอในดิน เขาบอกว่าคัดเชื้อมาตั้ง 80 กว่าตัว แล้วสุดท้ายก็ลดลงมาเหลือจุลินทรีย์ 3 กลุ่ม แล้วก็นำมาใช้กัน ซึ่งเชื้อที่ว่านี้มันเก่งในการหมักเอามากๆ ฉะนั้นในบ่อน้ำเน่า กองปุ๋ยหมัก เชื้อพวกนี้จะเก่งมาก พอหยิบนำมาใช้ในกรณีนี้มันก็ทำงานได้ดี มีการใช้ต่อๆกันมาเป็นสิบปี โดยตอนแรกเอามาใช้เพื่อทำการเกษตร

“ผมว่ามันน่าสนใจตรงที่ มันเริ่มกลายเป็นยาผีบอก มีการเอาไปใช้หลากหลายวิธี จนเริ่มไปไกลกว่าที่เราคาดถึง ถ้าพูดน้ำหมักจากอีเอ็มจะมีประโยชน์สารพัด คนไทยอาจจะงง แต่ถ้าเราเรียกว่าน้ำป้าเช็งจะเห็นภาพ ที่จริงไอเดียป้าเช็งหรือไอเดียของเกษตรอินทรีย์หลายๆเจ้าก็ทำคล้ายกันคือ เอาอะไรมาหมักแล้วคิดว่าได้น้ำหมักที่ดีก็นำไปใช้ประโยชน์ ทั้งการไปใช้ในเรื่องของปุ๋ย เรื่องของการหมักให้ไม่มีกลิ่น”

แต่เมื่อไรก็ตามที่มันเริ่มไปไกลกว่านั้น เช่นมีคนบอกว่ากินแล้วรักษามะเร็งได้ เอามาทาหน้าแล้วลดสิว หรือแม้แต่ที่ญี่ปุ่นคนทำเขาเชื่อขนาดว่า เอาไปผสมปูน สร้างคอนกรีต สร้างตึก ตึกจะแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม มันเริ่มไปไกลแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นยาผีบอกเกินเหตุไปหน่อย

ในวงการวิทยาศาตร์ของทุกอย่างโต้เถียงกันได้ เราอาจจะมีกลุ่มที่เชื่อและไม่เชื่อ ซึ่งสามารถโต้เถียงในเชิงวิชาการได้ แต่ที่ผมพูดว่ายาผีบอก เพราะเราไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับมันเท่าไรเลย สมมติเราซื้อยามากินสักขวด ที่ขวดจะต้องบอกว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง กี่เปอร์เซนต์ รู้ปริมาณ แต่นี่เราไม่รู้อะไรเลย ถ้าเราซื้อถังน้ำเชื้ออีเอ็มมา ถึงจะเป็นยี่ห้อแท้ๆของเขาเอง เขาก็ไม่เขียนว่ามีเชื้ออะไรบ้าง และยิ่งตอนนี้มีสารพัดเจ้านำมาทำ เราก็ยิ่งไม่รู้อะไรเลย แต่มีคนเคลมว่ามันใช้ได้

แม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็เป็นแบบนี้ ถ้าคุณไป คุณก็อาจจะเจอโรงแรมอีเอ็ม เข้าไปจะมีอาหารอีเอ็มให้กิน มีน้ำอีเอ็มให้ดื่ม มีแชมพูอีเอ็มให้ใช้ ซึ่งนักวิทยาศาตร์ญี่ปุ่นผมว่า 99 % ก็ไม่ได้เชื่อเรื่องนี้ แต่สำหรับประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการนำวัฒนธรรมการใช้อีเอ็มเข้ามา ที่ผมเรียกว่า”วัฒนธรรม”เพราะมีกระบวนการ มีการมาสอน มาถ่ายทอด จัดอบรมเป็นองค์กร ไม่ใช่นำมาขายอย่างเดียว และพอเริ่มดูเหมือนจะเวิร์ค มีการนำไปใส่ในบ่อน้ำเสีย แล้วกลิ่นดีขึ้น น้ำใสขึ้น ก็เกิดเป็นเจ้าที่หนึ่ง เจ้าที่สอง เริ่มมีคนทำมากขึ้น แต่ทุกเจ้าจะเหมือนกันคือไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่าคืออะไร แต่เคลมว่าของฉันคัดเชื้อมาเอง ทำเอง มีเทคนิคที่ไม่เหมือนคนอื่น แต่ของฉันวิเศษเหมือนกัน เริ่มมีการแข่งกัน การเติบโตเป็นเหมือนลูกโป่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ รอวันที่ลูกโป่งระเบิด

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าจุลินทรีย์อีเอ็มมีการใช้งานมานานแล้ว แต่ทำไมถึงมาเป็นประเด็นถกเถียงกันในช่วงนี้ ลูกโป่งความเชื่อ วันนี้หน้าตามันเป็นอย่างไร กำลังโตขึ้น อยู่ตัว หรือแตกไปแล้ว

ที่มันเป็นข่าวในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เพราะตอนนั้นกระแสมันเริ่มก่อตัวขึ้นมาก อีเอ็มเป็นเหมือนยาวิเศษที่มาช่วยทำให้น้ำที่เน่าอยู่หายเหม็น ลูกโป่งที่ว่ามันค่อยๆโตขึ้น วันดีคืนดีก็มีนักวิชาการมาเจาะ แล้วมันก็ระเบิดออกมา คนนั้นคืออาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคสนี้มันโชคดีที่เป็นอาจารย์ธงชัย เพราะท่านเป็นอาจารย์ของอาจารย์เรื่องบำบัดน้ำเสียในประเทศไทย คนเรียนบำบัดน้ำเสียทุกคนต้องเรียนกับท่านมา พอท่านเจาะลูกโป่งแตกมันก็เป็นที่แตกตื่น จากที่คนกำลังพีค ก็มีคนมาเบรกกระทันหันว่ามันใช้ไม่ได้ มันก็เลยเป็นประเด็นโต้เถียงกันเกิดขึ้น

จากการที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ตรงกลาง ก็มองว่ามันน่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ชาวบ้านทั่วไปก็อยากได้อะไรที่ทำให้น้ำหายเหม็น ขณะที่นักวิชาการด้านวิศวะฯที่ดูเรื่องการบำบัดน้ำเสียก็อยากจะปกป้องหรือดูแลวิชาชีพเขาให้ถูกต้อง ว่าน้ำเสียมันไม่ใช่แค่น้ำไม่เหม็น มันต้องมีออกซิเจน มีอย่างอื่นด้วย

ผมอยู่ตรงกลางก็เลยคิดว่าจริงๆเราน่าจะสร้างข้อจำกัดของมัน ว่าอีเอ็มใช้ได้เท่าไร จะใช้ได้ผลมันเป็นกรณีใด อย่างเท่าที่เราเริ่มต้นวิจัย ก็พบว่าอีเอ็มที่เป็นน้ำหมัก ใช้ได้ผลกว่าอีเอ็มที่เป็นลูกบอลเยอะมาก งั้นที่จริงแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องปั้นอีเอ็มบอล เพราะมันไปสอดคล้องกับที่อาจารย์ธงชัยท่านว่าเป็นการทิ้งขยะเพิ่มชัดๆ พอเอาน้ำหมักไปเทราดในน้ำที่เหม็น มันก็หายเหม็น กลิ่นลดลง อันนี้เราอธิบายได้ในวิทยาศาสตร์ เพราะมันตรึงแก๊สไข่เน่าให้ตกลงไป มันลดกลิ่นได้ผล แต่มันก็ได้แค่นั้น

เท่าที่เรารู้ข้อมูล ณ ขณะนี้ ผลที่ออกมาก็น่าสนใจว่าเชื้อเองกับน้ำท่วมแบบนี้ไม่น่าจะรอด เชื้อที่เขาหมักๆไว้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมอย่างที่ผ่านมาซึ่งน้ำเยอะมาก หรือแม้แต่ในพื้นที่เปิด ที่เขาไปโยนอีเอ็มบอลอย่างทะเล ตามชายฝั่ง คลองหรือแม่น้ำ เราคิดว่าจริงๆแล้วตัวเชื้อเมื่อโยนลงไปมันไม่รอด มันสู้ไม่ไหวกับเชื้อที่เยอะมากในนั้น มีเชื้อสารพัดอย่างที่ทำให้น้ำเน่าอยู่ แต่ผมรู้สึกว่าเรากำลังเริ่มพบความลับของมันว่า จริงๆระหว่างที่หมักในถังมันสร้างสารเยอะมากในนั้น มีตั้งแต่กรดแลคติก แอลกอฮอล์ มีเอนไซม์หลายตัวออกมา มีสารเคมีต่างๆ ที่เราคิดว่าสารพวกนี้ไปจับแก๊สไข่เน่าให้ตกลงไป จับสารแขวนลอยต่างๆน้ำจึงใสขึ้น

ทำไมเราไม่เชื่อตามที่เขาอ้างว่าเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปทำงาน เพราะแค่เวลาไม่กี่ชั่วโมงมันสามารถทำงานได้ มันไม่น่าเป็นผลของเชื้อ ปกติผมเรียนเรื่องเชื้อมันค่อนข้างใช้เวลากว่าที่เชื้อมันจะโต แต่ที่เขาโชว์ก็คือใส่ปุ๊บสองชั่วโมงน้ำใส ผมว่ามันเป็นปฏิกิริยาเคมี มันไม่ใช่เรื่องทางชีวภาพ เราก็เริ่มรู้สึกว่าเขาเปิดเผยไม่ครบหรือพูดไม่ตรงประเด็น แล้วมันทำให้คนที่ต้องซื้อหรือต้องใช้เชื้อพวกนี้ต้องซื้อเรื่อยๆ

แต่ในประเด็นนี้มันยังไม่เกิดการถกเถียงเพราะว่าทุกคนเริ่มหลงประเด็นไป ทุกคนมักคิดแต่ข้อมูลพื้นฐานว่าเชื้อมันทำงานอย่างไร แล้วก็นั่งเถียกันว่าเชื้อมันจะโตได้อย่างไร มันใช้แสงหรือเปล่าหรือกินไม่กิน แต่อยู่ๆก็มีอาจารย์ท่านนึงออกมาบอกว่ามันแปลกที่โยนไปสองชั่วโมงมันใสได้ ผมไม่รู้ว่าที่อื่นมองเรื่องนี้หรือเปล่า แต่เรามองว่ามันเป็นมุมมองที่น่าสนใจ

ผมก็เลยมาต่อถึงอีเอ็มบอล ที่เรายิ่งเห็นความโกงเข้าไปใหญ่ ที่เราไม่รู้ว่าไอ้ก้อนๆที่เขาเอามาปั้นกันมันมีอะไรบ้าง เรารู้ว่ามีพวกกากน้ำตาลนิดหน่อย มีรำข้าว มีแกลบ พวกนี้เขาบอกว่าต้องใช้เวลาเลี้ยงไปให้มันเริ่มโต ให้มันกินเชื้อ ถ้าดูจากหลักการเดียวกันเราก็จะเห็นว่ามีการสร้างสารขึ้นมา แล้วสารต่างๆมันก็ไปช่วยให้น้ำสะอาดขึ้นได้ หรือถ้าที่เขาเอามาปั้นกันมีดินมีอะไรต่างๆด้วย บางเจ้าบอกว่าใช้เพอร์ไลท์ หรือบางเจ้าบอกว่าใช้โดโลไมท์ ใช้ปูนมาปั้น ซึ่งพวกนี้ก็จับสารให้ตกตะกอนเหมือนกัน ไม่ต่างอะไรกับเอาปูนขาวโรย

การทดลองที่กำลังทำจึงได้ไอเดียว่าจะมีการเซทการทดลองใหม่ เอาน้ำหมักเปล่าๆมา โดยกรองเอาเชื้อทิ้งให้หมด ถ้าได้ผลเท่าเทียมกันหรือถ้าได้ผลดีกว่าก็แสดงว่าเป็นเพราะตัวน้ำหรือเพราะตัวลูกบอล ไม่ใช่เชื้อจุลินทรีย์

ไทยพับลิก้า : นอกจากประเด็นเรื่องประสิทธิภาพในการดับกลิ่นและทำให้น้ำใสขึ้นแล้ว คิดว่ามีปัจจัยอื่นอีกไหม ที่ทำให้อีเอ็มกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมแบบนี้

ผมว่าเรื่องนี้มีมุมมองทางสังคมที่น่าสนใจรวมอยู่ด้วย ในตอนนั้นอีเอ็มกลายเป็นเหมือนทางออกเดียวของสังคมไทยว่า ถ้าน้ำที่บ้านเหม็นทำยังไงดี งั้นมาระดมทำน้ำหมักเถอะ แต่ถ้าทำแค่น้ำหมักก็ดูเหมือนไม่ได้มาช่วยกันและดูเหมือนจะไม่ได้ผล มันเลยกลายเป็นอีเอ็มบอล อีเอ็มบอลจึงสอดคล้องกับจริตในแง่ดีของสังคมไทยว่า เรามีน้ำใจมาช่วยกันในยามน้ำท่วม เอาไปปั้น เอาไปโยน ช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วยเหลือคนที่ลำบาก หมักเป็นถังๆมันดูไม่ค่อยได้ช่วยกัน แต่การปั้นมันได้ลงแรง ผมยังแซวกันอยู่เลยว่าถ้าทุกคนลงแรงกันไปเก็บขยะเนี่ย มันจะได้ผลเร็วมากเลย

สังคมไทยในตอนที่น้ำท่วมเราเห็นอะไรที่เป็นด้านบวกเยอะมาก เราเห็นความช่วยเหลือของคน เห็นคนมีน้ำใจต่อกัน แต่ในทางกลับกันเราก็เห็นภาพลบด้วย อาจจะฟังดูแรง แต่เราเห็นคนรอความช่วยเหลือไม่ยอมช่วยตัวเองมีเยอะมาก มีคนรอถุงยังชีพ รออีเอ็มบอล แต่ระหว่างที่รอก็มีสิ่งที่อยู่รอบตัวสามารถเอามาใช้ได้แต่ก็ไม่เอามาใช้

ผมจะบอกว่าปูนขาวที่มีใช้ใส่ถุงอุจจาระ มันก็ใช้ได้เหมือนกัน เป็นหลักการเดียวกัน ลดกลิ่นได้ ฆ่าเชื้อได้ ถ้าบ้านไหนมีน้ำท่วมใช้ปูนขาวก็ทำให้หายเหม็นได้ เห็นน้ำที่บ้านไม่ไหลก็ควรเปิดทางให้น้ำเคลื่อนที่ มีเครื่องปั๊มน้ำที่ไม่ได้ใช้ก็เอามาปั๊มออกซิเจนให้น้ำ เก็บขยะ มันมีอะไรที่เราทำได้หลายอย่างมากกว่ารออีเอ็มบอลอย่างเดียว มีปูนขาว มีอุปกรณ์อะไรหลายอย่าง ถ้ามีอีเอ็มให้ใช้ก็ใช้ไป แต่อย่าคาดหวังอะไรกับมันมาก การออกมาพูดแบบนั้นมันเลยกระเทือนหลายๆอย่าง

ชาวบ้านเขาแค่ต้องการอะไรก็ตามไปช่วยให้น้ำหายเหม็น แต่ทีมที่โปรโมตทั้งหมดกำลังเริ่มโปรโมตไปในระดับใหญ่ขึ้น แล้วอยู่ๆก็มีคนมาเบรกเขา ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวผมมองว่าก็ดี ที่อาจารย์มาเบรกซะบ้าง ไม่อย่างนั้นกระแสที่กำลังไปกันใหญ่ เริ่มงมงาย เริ่มกลายเป็นยาวิเศษ จะยิ่งก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นงบประมาณมหาศาลเป็นจำนวนมากที่ทุ่มไปกับการแก้น้ำเสียครั้งนี้ด้วยอีเอ็ม ซึ่งชาวบ้านคิดว่าตัวเองได้ของฟรีมา แต่ที่จริงไม่ใช่ เป็นงบของชาติที่เอามาทำ

และอาจจะยิ่งหนักกว่าเดิม ถ้าน้ำเริ่มลงทะเลไป แล้วเราก็ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่ลงทะเลไปยังไง เขาก็เริ่มเสนอตัวแล้วว่าอีเอ็มคือทางออกตรงนั้น มีคนเริ่มเอาอีเอ็มไปโยนลงทะเล ผมคิดว่าไม่ค่อยน่าเชื่อถือเพราะไม่เคยมีการทดลองวิทยาศาสตร์มารองรับตรงนั้น ถ้าเกิดลองแล้วมันเวิร์คปีนี้ซึ่งมันอาจไม่ใช่เพราะอีเอ็มก็ได้ แต่ปีหน้าละ ปีต่อไปละ มันจะกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ มีคนในพันธุ์ทิพย์พูดว่า พอฟังเรื่องทั้งหมดของอีเอ็ม ถ้าแค่ดึงคำว่าอีเอ็มออกแล้วเอาคำว่า GT 200 ใส่เข้าไปมันดูคล้ายกันมาก

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างปรากฎการณ์อีเอ็มกับปรากฎการณ์ GT 200 เห็นความเหมือนหรือความต่างอะไรบ้างที่ซ่อนและจุดจบจะอยู่ที่ตรงไหน

อีเอ็มจากตอนแรกที่เมีการใช้กันในหมู่ชาวบ้าน ในภาคเอกชน ต่อมาก็เริ่มมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมกำลังจะเริ่มลากจากยาผีบอกของชาวบ้าน มาเป็นอะไรบางอย่างที่คล้าย GT 200 มันเริ่มมีหน่วยงาน เริ่มมีงบประมาณ เริ่มมีความเชื่อถือศรัทธาตามเข้ามา สร้างเครือข่าย และมันไม่เคยรายงานความไม่สำร็จ หลักการของ GT 200 หรืออะไรก็ตามที่โฆษณาขายอยู่ขณะนี้ ผมยกตัวอย่างซุปไก่สกัด ที่พูดเเหมือนว่ากินแล้วเป็นหมอได้ เพราะเขาพูดแต่ความสำเร็จ เขาไม่พูดว่าไม่สำเร็จกี่เปอร์เซนต์ ความสำเร็จอาจจะเป็นแค่ 1 ในล้านก็ได้ แต่คนก็เริ่มปากต่อปากกับเรื่องอีเอ็ม ว่ามีการใช้กับที่คลองนี้ แม่น้ำนั้นแล้วมันได้ผล คนก็ใช้กันมากขึ้น หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเริ่มตั้งงบประมาณขึ้นมาทำเป็นของตัวเอง มีการทำมาเรื่อยๆเป็นน้ำซึมบ่อทราย แต่ถ้าไปดูเป็นเงินรวมก้อนใหญ่ก็จะเห็นว่ามีหลายร้อยล้าน

ผมว่า ณ วันนี้ เห็นจุดจบในระดับหนึ่งแล้ว คือกระแสมันซาลงมา ผมว่าถ้าเราดูประสบการณ์ย้อนไปตั้งแต่เรื่อง GT 200 ที่มีนักวิทยาศาสตร์เข้าไปยุ่งในทำนองบอกว่าเป็นความเชื่อที่ผิดๆหรือเป็นการหลอกลวง มันไม่เคยมีเรื่องไหนที่สำเร็จสักเรื่อง คำว่าสำเร็จหมายถึงเลิกจริงๆ ทุกวันนี้ GT 200 ก็ยังมีคนใช้กันอยู่ อีเอ็มเขาก็ยังโปรโมตเหมือนเดิมว่าทำให้น้ำหายเหม็น ซึ่งมันก็ทำให้น้ำหายเหม็นและใสได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการพูดไปไกลกว่านั้น ก็มีประเด็นที่ทำให้แย้งได้อยู่ ผมจึงไม่เปรียบเทียบเรื่องอีเอ็มบอลไปไกลถึงขนาด GT 200 ที่เอาไปใช้แล้วเกิดอันตรายกับใคร

แต่ถ้าจะพูดในประเด็นว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลก ก็จะทำให้เราได้เห็นว่า มันมีกระบวนการซ้ำๆอยู่ อย่างเรื่อง GT 200 ที่มีทหารตบเท้าออกทีวี มาบอกว่าใช้แล้วได้ผลจริง ถ้าเรารู้ว่ามีกระบวนการอย่างไร นักวิชาการก็สามารถรับมือได้ มันเหมือนกันเวลาที่มีคนออกมาโต้แย้ง คนพวกนี้ก็จะออกมาบอกว่าของไม่เหมือนกัน ของที่เขาใช้มันเป็นยี่ห้อดีที่สุด ของที่เขาใช้ไม่เหมือนกับของที่นักวิชาการออกมาพูด เขาไม่ยอมเป็นยี่ห้อที่ห่วย อย่าง GT 200 ก็มียีห้ออัลฟ่าซิก อีเอ็มก็มีหลายยี่ห้อ จากนั้นก็จะมีการสร้างกลุ่มขึ้นมา สร้างนักวิชาการของตัวเองแล้วบอกว่ามันใช้ได้ มีกลุ่มที่เคยใช้แล้วออกมา จากนั้นก็มีกลุ่มต่อต้านนักวิชาการออกมา บอกว่าคนที่ออกมาพูดมีผลประโยชน์ทับซ้อน รับเงินมาพูด อย่างอาจารย์ธงชัยก็โดน ว่าเคยขอทุนแล้วไม่ได้ก็เลยออกมาพูด มันมีสูตรอยู่ ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะรับมือกับมันได้

ผมโชคดีเรื่อง GT 200 ตรงที่สามารถดึงอีกฝ่ายให้เข้ามาทดลองกับผมได้ ถ้าผมไปทดสอบเครื่องเองเขาก็คงไม่ยอมรับผล แต่ถ้าเขามาทดลองกับเราแล้วเห็นผลเอง ก็เถียงไม่ออก เรื่องอีเอ็มบอลถ้าเขาไม่มาร่วมทดลองกับเรา สิ่งที่ทำได้ก็แค่ทำวิจัยแล้วนำเสนอผลต่อสังคม ให้สังคมตัดสิน

ไทยพับลิก้า : ทำไมการโต้เถียงกันทางวิทยาศาสตร์หรือทำการทดลองร่วมกันของนักวิชาการทั้งสองฝ่ายจึงไม่เกิดขึ้น

ถ้าเราดูผลการทดลองที่เริ่มออกมาบ้าง แล้วดูข้อมูลย้อนกลับไป จะพบว่ามีข้อมูลฝั่งที่บอกว่าใช้ไม่ได้กับฝั่งที่บอกว่าใช้ได้ ฝั่งที่บอกว่าใช้ไม่ได้ชอบอ้างแต่เรื่องทฤษฎีขึ้นมา ผมคิดว่านั่นคือจุดบอด ถ้าในทางทฤษฎีฟังดูแล้ว มันไม่เวิร์คจริงๆ ทำไมไม่ทดลองให้ดูละ

ส่วนฝ่ายที่บอกว่าใช้ได้ก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกก็เป็นพวกปราชญ์ชาวบ้านหรือบริษัทที่ทำการโปรโมท พวกนี้จะอ้างแต่ความสำเร็จ ว่าไปโยนมาที่นั่นที่นี่แล้วน้ำใส แต่ไม่เคยทดลองดูว่าในการทดลองธรรมดากับการทดลองในชุดควบคุม ต่างกันไหม ในน้ำเสียรอบนี้รับรองเดี๋ยวจะมีคนอ้างความสำเร็จอีกเยอะ ซึ่งที่น้ำใสขึ้นมาเราบอกไม่ได้เลย เพราะมันบำบัดตัวเองหรือเปล่า ชุดควบคุมมันไม่มี ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ชุ ดควบคุมสำคัญมาก เรื่องนี้สามารถยันกันได้ไม่ยาก

แต่ที่ยากกว่าคือสายวิชาการ ที่บอกว่าเขาทดลองแล้วได้ผลในการทดลองของเขาด้วย อย่างในเชิงทฤษฎีไม่มีทางที่จะทำให้ออกซิเจนเพิ่มได้เลย การใส่อีเอ็มน้ำจะใสขึ้นก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ถ้าเชื้อแบคทีเรียในธรรมชาติมันทำงานใหม่ก็เน่าใหม่ ต้องเติมไปเรื่อยๆ แต่กลุ่มนี้บอกว่าเขาทำมาแล้ว ออกซิเจนมันขึ้น อันนี้ก็เริ่มยากขึ้น เหมือนกับสมัย GT 200 ที่มีนักวิชาการอีกฝั่งหนึ่ง เป็นคุณหมอเป็นนักวิชาการมาบอกว่าใช้ได้เพราะเคยใช้แล้วได้ผล คนก็เริ่มสับสนว่าจะเชื่อใคร ถ้านักวิชาการเทไปด้านเดียวกันหมดมันง่าย

ในสังคมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงควรจะมีการโต้เถียง การทดลอง ทั้งสองฝ่ายเอาข้อมูลมาวางกัน เอาผล เอาวิธีการทดลองมาคุยกัน แต่เท่าที่ผมเช็คเอง ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครเอาข้อมูลพวกนี้มาวาง สมมติเขาให้สัมภาษณ์นักข่าว เขาก็บอกว่า เขาทำมาแล้วออกซิเจนเพิ่ม แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำยังไงบ้าง

ในการทดลองวิทยาสศาสตร์น่ากลัวอย่างหนึ่ง คือถ้าทำไม่ดีคุณสามารถทำให้ผลการทดลองเป็นอย่างที่คุณต้องการได้ แล้วยิ่งเล่นกับของที่ควบคุมยากอย่างเช่นเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะอีเอ็มที่มันมั่วมาก มีเชื้อต่างๆผสมกันอยู่โดยที่ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง สามารถปรับค่าตามต้องการได้ ผมว่าในเชิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ต้องเอามาแย้งกันตรงๆ สมมติว่าคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาฯ ทำการทดลองเสร็จ ผมก็หวังว่าทางคณะจะเปิดเผยทุกอย่างหมดและพร้อมให้คนอื่นโต้ ถ้ามีคนโต้ว่าเรามีจุดบอดอะไร เราก็ทำการทดลองใหม่ วิทยาศาสตร์มันต้องพร้อมจะโต้เถียง

ไทยพับลิก้า : ถ้าไล่เรียงตั้งแต่ GT 200 ไปจนถึงอีเอ็ม คิดว่านักวิทยาศาสตร์ได้ทำให้สังคมไทยเรียนรู้อะไรบ้าง

หลังจากเรื่อง GT 200 ผมก็ออกมาพูดเรื่อง โรงเรียนปิดตา power mind camp ที่ให้เด็กปิดตาอ่านหนังสือ ทุกวันนี้โรงเรียนนั้นก็ยังสอนอยู่ อย่างผมออกมาพูดเรื่องพญานาคสองสามเดือนที่ผ่านมา คนไทยยังไงก็ยังเชื่อเรื่องพญานาค ฉะนั้นสิ่งที่นักวิชาการเราทำให้กับประเทศชาติได้มีสองอย่าง อย่างแรกคือกระตุกไว้ก่อน ให้กระแสที่คนเริ่มเห่อหรือความงมงายที่กำลังก่อตัวโดนกระตุกไว้ งบประมาณที่มันกำลังไปให้มันโดนดึงไว้บ้าง อย่างในกรณีนี้อาจารย์ธงชัยหรือคณะวิทยาศาสตร์ คิดว่าเราก็มีส่วนที่จะกระตุกกระแสตรงนี้ได้ แม้จะเป็นการสร้างศัตรูบ้างก็ตาม

อย่างที่สองคือทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้การโต้เถียงมากขึ้น ผมว่าอันนี้สำคัญ สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกสอนไม่ให้เถียงกัน ตั้งแต่เด็กๆก็ถูกสอน มีคำว่าเถียงคำไม่ตกฟาก เถียงผู้ใหญ่ไม่ได้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เรื่องวิทยาศาสตร์ในประเทศหรือในโลกที่เขาเจริญแล้ว การโต้เถียงสำคัญมาก การเอาข้อมูลมายันกันแลกเปลี่ยนกัน พอฟังไปมันก็จะเริ่มรู้ว่าข้อมูลใครใช่หรือไม่ใช่ อย่างกรณี GT 200 ผมไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อไปพิสูจน์ว่ามันใช้ไม่ได้ แต่ผมสามารถเอาหลักฐานอ้างอิงต่างๆมาบอกว่ามันใช้ไม่ได้ อีเอ็มก็เช่นเดียวกันเมื่อนั่งดูทฤษฎีทั้งหมดแล้ว มันก็เป็นไปไม่ได้ ซึ่งควรจะนำไปสู่การทดลองต่อไป

อย่างเรื่อง GT 200 ที่อาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่โตมาก มีการทะเลาะ มีการตอบโต้ มีการทดสอบ แต่มุมบวกของมันที่ทำให้สังคมเรียนรู้มากขึ้นคือ การหยุดฟังและคิดตาม ผมคุยกับใครก็ตามตอนช่วงนั้น มีนักข่าวมาถามแล้วผมก็อธิบาย เขาก็คิดตามว่าทำไมไม่เป็นแบบนั้น ทำไมไม่เป็นแบบนี้ มีคำว่าทำไมขึ้นมา ทำไมตั้งเครื่องไว้เฉยๆแล้วมันไม่หมุนเอง ทำไมต้องมีคนจับ ผมก็บอกนั่นไง คุณก็คิดแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่ค่อยได้ใช้ความคิดของเราเอง เราใช้คนอื่นคิดแทนให้เสร็จ คนชอบเสพข่าว แต่ไม่ย่อยข่าว คิดว่าข่าวมันย่อยมาถูกต้องแล้ว คิดว่านั่นคือความถูกต้องของสังคม ฟังแล้วก็เชื่อทันที ซึ่งมันน่ากลัว

ถ้าเราหยุดคิดสักนิดก่อนแล้วลองมาทบทวน ฟังความสองด้านว่าเป็นไปได้ไหม คนที่ออกมาพูดถึง แม้จะเป็นคนโนเนมก็มีสิทธิ์ถูก หรือในทางกลับกันคนที่เป็นบิ๊กเนมก็มีสิทธิ์ผิดได้ หลังจากจบเหตุการณ์ GT 200 ผมว่าคำว่า GT 200 ได้กลายเป็นโลโก้ใหม่ให้กับหลายเรื่องเหมือนกัน เวลาคนเห็นเรื่องอะไรที่ไม่น่าเชื่อถือก็จะพูดว่าเรื่องนั้น เรื่องนี้ เหมือน GT 200 พูดมาได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อถือเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่รัฐ กองทัพ หรือนักวิชาการใครก็ตามออกมาพูด แล้วชาวบ้านไม่เชื่อ ปรากฎการณ์นี้มันลากมาได้เรื่อยๆ ผมคิดว่าถ้ายังมีต่อไปอีก ในความคิดของผมประเทศจะเจริญขึ้น

ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ก็เป็นปรากฎการณ์เชิงสังคมที่น่าสนใจ ผมว่าเป็นครั้งแรกๆที่เห็นสังคมไทยรอฟังนักวิชาการอย่างมาก มากว่าคนของรัฐบาลเยอะ ถ้าเปิดทีวีที่บ้านก็จะเห็นนักวิชาการอย่างอาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ออกช่องนั้น ช่องนี้ ทุกช่องจะมีนักวิชาการของตัวเองมานั่ง ผมรู้สึกว่าหลัง GT 200 นักวิชาการไทยกล้าออกมามากขึ้น กล้าออกมาพูด ออกมาแย้งมากขึ้น แย้งสิ่งที่คิดว่าสังคมเชื่อแบบผิดๆหรือแย้งสิ่งที่รัฐออกมาพูด ครั้งนี้เห็นชัดเจนว่าไม่มีใครรอฟัง ศปภ. พูดเลย

อีกส่วนหนึ่งนอกจากนักวิชาการจะออกมาพูดมากขึ้นแล้ว ผมว่าสื่อได้เรียนรู้จากสมัย GT 200 ว่าเรื่องทางวิชาการมันขายได้ ต้องยอมรับว่านักวิชาการ อยู่ๆไม่ได้ออกทีวีหรอกถ้าสื่อไม่เชิญ สื่อก็เข้าหานักวิชาการมากขึ้นจากเดิมที่เข้าหาแต่รัฐ สรุปผมคิดว่าสังคมไทยคิดมากขึ้น ฟังมากขึ้นและโต้เถียงมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : ความเชื่อและความงมงายบางอย่างมีอยู่คู่สังคมไทยมานาน อาจารย์คิดว่าเราควรจะแบ่งพื้นที่อย่างไรให้เหตุผลหรือความเป็นวิทยาศาสตร์มีที่ยืนในสังคมไทยมากขึ้น

ผมขอย้อนกลับไปเรื่องพญานาค ผมดูทีวีคุณสรยุทร์ ในรายการมีให้โหวตพบว่า คนไทยประมาณ 80 % ของประเทศเชื่อว่ามีพญานาค ผมก็คิดว่าทำไมไม่มีใครออกมาเถียงสักคนว่าไม่ใช่ แต่นักข่าวทุกช่องไปเล่นข่าวแล้วบอกว่าเป็นพญานาค นั่นแปลว่าพวกเราเสพข่าวและยอมรับว่าประเทศไทยมีทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ คิดว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องมีจริง ซึ่งประเทศอื่นผมคิดว่าไม่น่าจะขนาดนี้ ผมเคยไปคุยกับที่คณะว่าจะออกมาพูดเรื่องนี้ว่ามันไม่ใช่ เราออกมาอธิบายแต่ไม่ได้ไปบังคับให้เชื่อหรือไม่เชื่อ คนที่เชื่อก็เชื่อไป แต่คนที่ไม่เชื่อเราก็ต้องมีคำอธิบายให้เขาได้ ถ้าคุณคิดว่าเป็นเรื่องปรากฎการณ์ธรรมชาติ เราก็จะอธิบายให้คุณว่ามันเกิดได้อย่างไร แล้วเราก็พบว่าคนที่รอฟังตรงนี้มีเยอะเหมือนกัน เพียงแต่ก่อนนี้มันไม่เคยมีใครไปอธิบายเขา รัฐก็ไม่เคยทำ กระทรวงวิทยาศาสตร์ไปอยู่ไหนกับเรื่องนี้

แต่ถ้าอะไรที่คนเชื่อไปแล้วจะไปเปลี่ยนความเชื่อมันยากมากและมันเป็นเรื่องของกลยุท์ด้วย อย่างตอนที่ผมทำเรื่อง GMO เรื่องพืชตัดต่อพันธุ์กรรม ผมอยู่ฝ่ายสนับสนุน GMO และพบว่าเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทยที่โดนฝังหัวว่า GMO ไม่ดี ในขณะที่ประเทศอื่นเขามีการยอมรับและทำกันมานานแล้ว ก็มีคนมาบอกว่าถ้าจะปลี่ยนมันต้องใช้เวลา แต่บางคนก็บอกว่าความเชื่อมันเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนความเชื่อไม่ได้ก็เปลี่ยนชื่อมันไปเลย เช่น พืชไบโอเทค อย่าไปเรียกมันว่าข้าวโพดจีเอ็มโอ ให้เรียกว่าข้าวโพดไบโอเท็ค ข้าวโพดอินทรีย์ สร้างชื่อใหม่ รีแบรนดิ้งและสร้างเป็นไอเดียใหม่ อย่างจุลินทรีย์ในยุคหนึ่งที่เรากลัวว่าจะเป็นเชื้อโรค กลับกลายมาเป็นคำว่าอีเอ็ม แล้วได้รับการยอมรับ นั่นแปลว่าทุกอย่างในโลกของการสื่อสารมันมีกลยุทธ์ของมันอยู่ ถ้าเราเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมมันก็ทำได้

ไทยพับลิก้า : คิดว่าสังคมไทยตอนนี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหน และจะมีวิธีการอย่างไรให้กลายเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

ผมว่าสังคมไทยเราตอนนี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยมาก ระหว่างคำว่าความเชื่อกับงมงายมันมีเส้นบางๆอยู่ งมงายคือเชื่อไปเลย ไม่มีการเถียง ถ้าความเชื่อคือเถียงกันเรียบร้อยแล้วจึงค่อยมาเชื่อ สังคมไทยตอนนี้ยังมีคนที่งมงายอยู่มาก พอรับข่าวอะไรมาก็เชื่อโดยไม่เถียงและไม่คิดต่อ

เรื่องแบบนี้ถ้าเราจะปลูกฝังมันจะต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ต้องเปลี่ยนความคิดของผู้ปกครองใหม่ ถ้าเด็กสงสัย ก็อย่าไปห้ามเด็กไม่ให้เถียง ถ้าไปห้ามเด็กก็จะไม่สนใจคิดต่อ เรื่องแบบนี้ต้องมีการฝึก ต้องให้เถียงด้วยเหตุผลกันตั้งแต่เด็ก อย่างเรื่องประวัติศาสร์ของเราที่เถียงไม่ได้ เรื่องศิลาจารึกก็ต้องพ่อขุนราม เรื่องนางนพมาศมีตอนสมัยไหน บางทีข้อมูลชัดแล้วว่านางนพมาศเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นสมัย ร.4 แต่ทุกวันนี้ก็ยังพูดกันอยู่ ถ้าให้ผู้ปกครองและครูเปิดใจให้กว้าง ให้มีการแลกเปลี่ยนได้ ผมว่ามันจะไปได้ไกลมาก

และวิทยาศาสตร์ต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายได้ เราโดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก แต่ตอนนี้ที่ไหนก็พยายามทำให้วิทยาศาสตร์เป็นของง่ายลงเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ใครๆสามารถเข้าถึงได้ ตรงนี้เรายังไม่มี รายการทีวีที่เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับประชาชนมีน้อยมาก จะมีก็แต่รายการวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กซึ่งยังไม่พอ ถ้าเราทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกได้และทำให้คนเปิดใจรับเรื่องการโต้เถียงได้ผมว่ามันจะดีขึ้น

สิ่งสุดท้ายเลยซึ่งบ้านเราไม่มี คือไอดอล ไม่มีฮีโร่ทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เรามีดาราเป็นไอดอลทางศิลปะ มีนักร้องทำให้คนฝันอยากเป็นเอเอฟ เป็นเดอะสตาร์ แต่ไม่มีใครฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตอนผมสัมภาษณ์เด็กเข้าคณะวิทยาศาสตร์ บอกว่าให้พูดชื่อนักวิทยาศาสตร์ไทยมาสักคน เด็กก็ไม่รู้จัก เด็กรู้จักแต่ไอสไตน์ แต่ก็ไม่รู้ว่าไอสไตน์ทำอะไรบ้าง เขาไม่มีไอดอลในใจ ของเราตั้งแต่ ร.4 เป็นต้นมา ผมว่าผมก็ไม่รู้จักใครอีกเลย ถ้าเรามีไอดอล อาจจะเปลี่ยนความคิดของคนไทยได้ส่วนหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : การสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้ว ภาครัฐควรจะมีส่วนช่วยเหลือหรือมีบทบาทอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยเห็นหน่วยงานของรัฐจะออกมาช่วยเหลือหรือออกมาปกป้องพวกเรา ในบางครั้งหน่วยงานของรัฐนั่นแหละที่กลายเป็นตัวส่งเสริมความเชื่อแบบผิดๆซะเอง อย่างเรื่องบั้งไฟพญานาคที่ผ่านมา มีคนเชื่อว่านาคทำก็ไม่เป็นไร แต่ยังไม่มีนักวิชาการที่ออกมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง กลับมีกลุ่มเดียวที่ออกมาบอกว่าเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ คนก็เลยเลยเชื่อตาม กลายเป็นเรื่องโปรโมต ซึ่งนักวิชาการกลุ่มที่ว่าดันกลายเป็นคนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่กล้าไปแตะกับเรื่องความเชื่อ ไม่ชอบค้านกระแสสังคม

ส่วนหนึ่งผมว่ามันไม่ใช่จริตของคนไทย ที่อยากสร้างศัตรูและหน่วยงานของรัฐเองโดยพื้นฐานก็ไม่อยากให้มีการโต้เถียงออกมาสักเท่าไหร่ ซึ่งหน่วยงานเองก็อยู่ภายใต้นักการเมืองอีกทีหนึ่งและนักการเมืองก็ยิ่งไม่อยากทำอะไรเพราะกลัวเสียฐานเสียง ผมยังคาใจเรื่อง GT 200 ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ที่เมืองนอกคงจะจบไปภายในไม่กี่วันแล้ว ควรจะมีนักวิทยาศาตร์ มีองค์กรทางวิทยาศาสตร์ มีกระทรวงที่ออกมาพูด ถ้าสถานการณ์มันไม่สุกงอมจริงๆ จนนายกอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ)ไม่บอกให้กระทรวงวิทย์ช่วยทำหน่อย ก็คงไม่มีใครออกมา มันไม่ใช่จริตคนไทย ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่เป็นวิทยาศาตร์พอ

ไทยพับลิก้า : ถ้าความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างกรณีอีเอ็ม ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างหมดจด แต่ในทางสังคมมันมีพลัง ทำให้เกิดความเชื่อ ความศรัทธา อาจารย์คิดว่าความเชื่อแบบนี้มันมีประโยชน์กับสังคมไทยหรือไม่

ถ้าหากคนไปปั้นไปด้วยความรู้สึกว่าจะไปช่วยคน ไม่ได้ไปเพราะจะไปทดลองวิทยาศาสตร์ ผมไม่มีปัญหา ถ้าอยากไปเพราะอยากไปลงแรงช่วยคน มันก็ตอบโจทย์เขาได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาการอยู่ร่วมกันระหว่างความเชื่อ ความศรัทธาและเหตุผล หลายๆเรื่องอยู่ร่วมกันได้ยาก เพราะความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ มักจะหักล้างกัน แต่เรื่องอีเอ็มเป็นการเอาเทคโนโลยีที่มีจริงมาพูดเกินจริง มันเลยหาจุดกลางค่อนข้างง่าย บอกให้คนใช้ได้ แต่ใช้ด้วยความระมัดระวัง มีขอบเขตจำกัด

หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ก็คือการบอกทั้งข้อดีข้อเสีย เหมือนกับสายวิศวะฯที่ออกมาบอกเรื่องค่าออกซิเจนเพราะมันก็เป็นหน้าที่ของเขา เขามีมาตรฐานแบบนี้ ในด้านวิทยาศาสตร์ ก็ต้องออกมาพูดความจริง ว่ามันหายเหม็นนะ แต่อีกไม่กี่วันก็จะกลับมาเหม็นใหม่ ซึ่งคนที่โปรโมตอยู่จะไม่พูดเรื่องนี้ เขาจะพูแต่ข้อดีของมันอย่างเดียว เราจะไม่ไปต่อต้าน แต่ต้องมีคนพูดถึงข้อเสียบ้าง และมีคนเสนอทางเลือกอื่นๆ ผมว่าแบบนี้มันแฟร์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยและชาวบ้าน ชี้ว่าไม่ใช่วิธีการบำบัดน้ำเสียอย่างยั่งยืน เป็นการเตือน

ไทยพับลิก้า : สุดท้ายแล้วถ้าสิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่ความจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพียงที่พึ่งทางใจหรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกดี ถ้าความเป็นวิทยาศาสตร์มันทำให้คนเป็นทุกข์ เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

ทุกครั้งที่ออกมาพูดแบบนี้มักจะมีคนเจ็บปวดเสมอ แต่ผมก็เชื่อว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องยั่งยืนกว่าในอนาคต ถ้าเรารู้ว่าความจริงเป็นแบบนี้มันจะนำปสู่การแก้ไข สู่ทางออกที่ดีกว่า อย่างตอนที่ผมทำเรื่อง GT 200 ก็มีคนออกมาพูดว่าอาจารย์ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาหรือ เจ้าหน้าที่จะเสียขวัญกำลังใจ ถ้าอีกฝ่ายรู้จะทำยังไง ผมก็บอกว่ามันเป็นความจริงที่เจ็บปวด แต่ถ้าเราผ่านตรงนี้ไปได้สถานการณ์จะดีขึ้น ทำไมเราต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องมือที่ไร้สาระไปโดนระเบิดตาย ทำไมเราปล่อยให้ชาวบ้านโดนเครื่องอะไรก็ไม่รู้มาชี้ว่าเขาผิดทั้งที่เขาไม่ผิด แล้วในที่สุดเราก็หาทางแก้ได้ ณ วันนี้เราได้เจอปัญหาที่แท้จริง งบที่เอาไปซื้อเครื่องพวกนี้ก็กลับมาให้ฝ่ายสุนัขทหารที่ตรวจระเบิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแทน

ส่วนเรื่องบำบัดน้ำเสียเมื่อให้ข้อมูลไป ก็จะมีคนที่อยากให้บ้านน้ำหายเหม็นหรือคนที่มาช่วยปั้นด้วยใจรู้สึกไม่ดี แต่ในทางกลับกันมันจะช่วยให้คนฉุกคิดไปทำสิ่งอื่นที่สามารถช่วยคนได้เหมือนกัน และเป็นผลดีต่ออนาคตในระยะยาว ความเจ็บปวดต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่สิ่งที่ได้มันจะยั่งยืน ซึ่งความจริงอันเจ็บปวดก็ดีกว่าความสุขที่หลอกลวง และที่สำคัญยังมีเรื่องวิธีการสื่อสารความจริง ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คนเห็นด้วย โดยไม่ให้คนเจ็บปวด ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่มันก็มีวิธีการมากมาย ผมเชื่อว่าถ้าทำได้ในอนาตหลายๆอย่างมันจะดีขึ้น