ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมควบคุมมลพิษเผยสถานการณ์มลพิษปี 2554 ขยะน่าห่วงทั้งปี 16 ล้านตัน

กรมควบคุมมลพิษเผยสถานการณ์มลพิษปี 2554 ขยะน่าห่วงทั้งปี 16 ล้านตัน

27 ธันวาคม 2011


ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

กรมควบคุมมลพิษเผยสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2554 พบคุณภาพอากาศทั่วไปดีขึ้น ด้านคุณภาพน้ำโดยรวมดี ยกเว้นบริเวณภาคกลางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม คาดจะดีขึ้นในไม่ช้า ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี อ่าวไทยเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้วหลังความเค็มลดลงจากการระบายน้ำ ส่วนสถานการณ์ขยะยังน่าห่วง เผยปี 2554 ทั้งปีสร้างขยะกว่า 16 ล้านตัน คิดเป็นวันละ 43,800 ตัน เหตุการณ์น้ำท่วมสร้างขยะทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านตัน

สถานการณ์คุณภาพอากาศและเสียง

วันที่ 27 ธันวาคม 2554 ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้แถลงข่าวสรุปสถาณการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2554 ว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยในปีนี้ มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปัญหาหลักยังคงเป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนหรือฝุ่นขนาดเล็ก ปัญหารองลงมาคือ ก๊าซโอโซนและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งพบเกินมาตรฐานบริเวณริมถนนในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ส่วนสารมลพิษชนิดอื่น ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และคาร์บอนมอนอกไซด์ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ในกรุงเทพมหานครพบว่า ฝุ่นขนาดเล็กยังคงเป็นปัญหาหลักในบริเวณริมถนน ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดค่าได้ระหว่าง 10.5 – 154.9 มคก./ลบ.ม. และมีค่าเกินมาตรฐานร้อยละ 1.2 (มาตรฐานกำหนดให้ไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) พื้นที่ที่มีฝุ่นขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐาน ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนพหลโยธิน ถนนพระราม 4 และถนนดินแดง ส่วนก๊าซโอโซนไม่เกินมาตรฐาน สำหรับพื้นที่ทั่วไปที่เป็นที่อยู่อาศัยจะมีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก ตรวจวัดค่าได้ในช่วง 7.4 – 131.5 มคก./ลบ.ม. และมีค่าเกินมาตรฐานร้อยละ 0.2 ซึ่งมีปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

ด้านคุณภาพอากาศในเขตปริมณฑล พบว่าจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี ยังคงมีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก มีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนต่างจังหวัดปัญหาหลักยังคงเกิดจากฝุ่นขนาดเล็กและก๊าซโอโซน โดยพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็กมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี รองลงมา ได้แก่ พะเยา พระนครศรีอยุธยา และเชียงราย สำหรับก๊าซโอโซนพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยพื้นที่ที่พบเกินมาตรฐานมากที่สุดคือ พระนครศรีอยุธยา

สถานการณ์สารอินทรีย์ระเหยในพื้นที่มาบตาพุด จากการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยจำนวน 44 ชนิด พบว่ามีปัญหาสารอินทรีย์ระเหย (VOCs) 4 ชนิดมีค่าเกินมาตรฐาน ได้แก่ สารเบนซีน สาร 1,3-บิวทาไดอีน สาร 1,2-ไดคลอโรอีเทน และสารคลอโรฟอร์ม ซึ่งเกินมาตรฐานในบางช่วงเวลาและบางสถานี

สถานการณ์หมอกควัน สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดพบว่า ระดับปัญหาหมอกควันลดลงจากปีที่ผ่านมาในเกือบทุกจังหวัด เนื่องจากประเทศไทยในปีนี้ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ลานินญ่า โดยพื้นที่ที่มีฝุ่นขนาดเล็กเกินมาตรฐานมีเพียง 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา และแพร่ โดยเกินมาตรฐานเป็นบางวัน ส่วนพื้นที่ภาคใต้ไม่พบฝุ่นขนาดเล็กเกินมาตรฐาน

ด้านสถานการณ์ระดับเสียง ระดับเสียงริมเส้นทางจราจรและพื้นที่ทั่วไปในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยระดับเสียงเฉลี่ย (Leq) บริเวณจุดตรวจวัดริมถนนและพื้นที่ทั่วไปในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ริมถนนพบว่า บริเวณ ถ.ตรีเพชร ถ.ดินแดง และ ถ.ลาดพร้าว มีระดับเสียงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในพื้นที่ริมถนน และพื้นที่ทั่วไปมีระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้านพื้นที่ต่างจังหวัด ระดับเสียงริมถนน มีค่าอยู่ระหว่าง 48.6 -78.5 เดซิเบลเอ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 63.1 เดซิเบลเอ เท่ากับปีที่ผ่านมา และจำนวนวันที่ระดับเสียงเกินมาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 6 บริเวณที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานมากที่สุด คือ จังหวัดสระบุรี พบเกินมาตรฐานร้อยละ 48 ของจำนวนวันที่ตรวจวัด สำหรับพื้นที่ทั่วไปในต่างจังหวัด ระดับเสียงมีค่าระหว่าง 43.0 – 75.2 เดซิเบลเอ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 57.6 เดซิเบลเอ โดยเท่ากับปีที่แล้ว สรุปว่า ระดับเสียงเฉลี่ย (Leq) 24 ชั่วโมง บริเวณจุดตรวจวัดริมถนนและพื้นที่ทั่วไปในต่างจังหวัดในปีนี้มีระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

คุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร

สถานการณ์คุณภาพน้ำ

ก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ช่วงเดือนกันยายนพบว่า คุณภาพน้ำผิวดิน อยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 30 พอใช้ ร้อยละ 42 และเสื่อมโทรม ร้อยละ 28 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำ 5 ปีย้อนหลัง พบว่าคุณภาพน้ำโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น ยกเว้นแหล่งน้ำ 3 แหล่ง ได้แก่ ระยองตอนบน พังราดตอนบน และปราจีนบุรี เสื่อมโทรมลง สาเหตุมาจากความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) เพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำสายหลักที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ได้แก่ เจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนกลาง และท่าจีนตอนล่าง มีสาเหตุหลักมาจากน้ำเสียชุมชน ทั้งนี้ พบว่า แหล่งน้ำในทุกภาคโดยรวมมีคุณภาพน้ำดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตั้งแต่ปี 2551 – 2554 ไม่มีแหล่งน้ำใดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก

คุณภาพน้ำผิวดิน

ในเหตุการณ์น้ำท่วมช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมพบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง ปราจีนบุรี ลพบุรี ป่าสัก น้อย สะแกกรัง และนครนายก คุณภาพน้ำส่วนใหญ่จัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 22 อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 47 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 27 และอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 4 ในระยะที่ยังมีน้ำท่วมขังและมีการระบายน้ำลงในแม่น้ำและลำคลองสาขา พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีปริมาณลดลงส่งผลกระทบให้ปลาตายในหลายพื้นที่

แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเสียที่ระบายลงมากที่สุดคือช่วง 13 – 19 พฤศจิกายน 2554 โดยปริมาณออกซิเจนละลายน้ำลดลงต่ำสุดและเพิ่มขึ้นจนแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ตอนกลาง เข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันคือในช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี 2553 ส่วนตอนล่างตั้งแต่จังหวัดปทุมธานีลงมายังได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท่วมขัง

แม่น้ำท่าจีน ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเสียที่ระบายลงมากที่สุด คือ ช่วงวันที่ 6 – 12 พฤศจิกายน 2554 และเพิ่มขึ้นจนสูงกว่าภาวะปกติเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาอาจเนื่องมาจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นได้มาเจือจางปริมาณความสกปรกในแม่น้ำท่าจีนทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นกว่าภาวะปกติ

แม่น้ำบางปะกง ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเสียที่ระบายลงมามากที่สุดคือช่วง วันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2554 และเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับแต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาอาจเนื่องมาจากยังมีการระบายน้ำท่วมขังจากพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในรอบต่อไป

เมื่อได้ทำการตรวจวิเคราะห์ ในแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ไม่พบปริมาณโลหะหนักคือ ทองแดง (Cu) นิคเกิล (Ni) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) แคดเมียม (Cd) โครเมียม (Cr) ตะกั่ว (Pb) ปรอททั้งหมด (Total Hg) สารหนู (As) เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินแต่อย่างใด

ด้านคุณภาพน้ำชายฝั่งทะเล ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้รวมกันกว่าร้อยละ 90 เช่นอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่วนบริเวณที่ยังคงมีปัญหาคุณภาพน้ำคือ พื้นที่อ่าวไทยตอนใน บริเวณปากแม่น้ำสายหลักจากการระบายน้ำที่ท่วมขังลงในแม่น้ำจ้พระยา ท่าจีน บางปะกง ลงสู่ทะเลอ่าวไทยตอนใน ทำให้ค่าความเค็มลดต่ำลง ส่งผลต่อสัตว์น้ำบางชนิดและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น หอยแมลงภู่ หอยแครง พบการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชในหลายพื้นที่ เนื่องจากน้ำทะเลมีปริมาณสารอาหารเพิ่มขึ้นจากมวลน้ำจืดที่ชะล้างผ่านชุมชน พื้นที่เกษตร ทำให้ค่าออกซิเจนละลายน้ำลดลง แต่ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

สถานการณ์กากของเสียและสารอันตราย

ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2554 มีปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศประมาณ 16 ล้านตัน หรือวันละ 43,800 ตัน เพิ่มขึ้น 0.84 ล้านตัน หรือร้อยละ 5.5 ตามการขยายตัวของชุมชนและประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยกรุงเทพมหานครมีขยะมูลฝอยประมาณวันละ 9,500 ตัน คิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่เขตเทศบาลและเมืองพัทยามีขยะมูลฝอยประมาณวันละ 17,488 ตัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลมีขยะมูลฝอยประมาณวันละ 16,792 ตัน คิดเป็นร้อยละ 38 ของปริมาณมูลฝอยทั่วประเทศ

ขณะที่สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยในภาวะอุทกภัย คาดการณ์ว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจากภาวะอุทกภัย ในพื้นที่ 65 จัหวัด ประมาณ 2,052,739 ตัน เป็นขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครประมาณ 747,880 ตัน และนอกเขตกรุงเทพมหานครประมาณ 1,304,859 ตัน โดยขะณะนี้กรุงเทพมหานครจัดการขยะไปแล้วกว่า ร้อยละ 80 ของขยะที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม

ส่วนการใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย ในปี 2554 มีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ประมาณ 4.10 ล้านตัน หรือร้อยละ 26 ของปริมาณมูลฝอยทั่วประเทศ 16 ล้านตัน โดยเป็นการคัดแยกและนำกลับมารีไซเคิลประมาณ 3.39 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นการนำขยะมูลฝอยอินทรีย์มาหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ประมาณ 0.59 ล้านตัน และเป็นการนำขยะมูลฝอยมาผลิตพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงทดแทน ประมาณ 119,000 ตัน

ของเสียอันตราย ในปี 2554 คาดการณ์ในภาวะปกติรวมถึงเหตุอุทกภัย ว่ามีของเสียอันตรายเกิดขึ้นประมาณ 3.12 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ประมาณ 37,000 ตัน โดยของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นประมาณ 2.4 ล้านตัน เป็นของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม และประมาณ 0.73 ล้านตัน เป็นของเสียอันตรายจากชุมชน แบ่งเป็นกลุ่มแบตเตอรี่ หลอดไฟ และภาชนะบรรุจสารเคมี ประมาณ 340,000 ตัน กลุ่มซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ367,000 ตัน และมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 41,000 ตัน

บริมาณขยะมูลฝอยจำแนกตามพื้นที่
บริมาณขยะมูลฝอยจำแนกตามพื้นที่

สารอันตราย ในปี 2554 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศและผลิตในประเทศประมาณ 79.96 ล้านตัน โดยเป็นการผลิตสารเคมีในประเทศ 74.3 ล้านตัน และนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 5.66 ล้านตัน และจากการรวบรวมข้อมูลสถิติจำนวนผู้ป่วยของกรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2554 มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีประมาณ 1,934 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีด้านอุตสาหกรรม รวม 210 ราย โดยพื้นที่ที่มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารอันตรายทางด้านอุตสาหกรรมมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 63 ราย รองลงมาคือ ภาคเหนือ 62 ราย ภาคกลาง 47 ราย และภาคใต้ 38 ราย มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารอันตรายทางการเกษตร 1,724 ราย โดยพื้นที่ที่มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารอันตรายทางการเกษตรมากที่สุด คือ ภาคเหนือ 824 ราย รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 453 ราย ภาคกลาง 356 ราย และภาคใต้ 91 ราย ตามลำดับ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษยังได้กล่าวอีกว่า อุบัติภัยฉุกเฉินจากสารเคมี ที่กรมควบคุมมลพิษได้รับแจ้งในปี 2554 พบว่า เกิดอุบัติภัยขึ้นจำนวน 37 ครั้ง รวมการลักลอบทิ้งกากของเสีย เป็นเหตุที่เกิดจากการขนส่งสารเคมี 4 ครั้ง เกิดในโรงงานอุตสาหกรรม 6 ครั้ง โกดังเก็บสารเคมี 3 ครั้ง การลักลอบทิ้งกากของเสีย 19 ครั้ง และอื่นๆ 5 ครั้ง เช่น สารเคมีผุดในบ้าน สารเคมีรั่วไหลในห้องปฏิบัติการ มีผู้ได้รับผลกระทบหรือบาดเจ็บ 53 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีการร้องเรียนเรื่องมลพิษ 431 เรื่อง โดยปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ มลพิษด้านอากาศ ร้อยละ 68 เสียงดังและความสั่นสะเทือน ร้อยละ 20 น้ำเสีย ร้อยละ 10 กากของเสียและสารอันตราย ร้อยละ 2 ทั้งนี้จังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ กรุงเทพและปริมณฑล