ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (จบ)

ข้อห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และการจัดเรตติ้งหนังสือ (จบ)

29 ธันวาคม 2011


‘หมานิลมังกร’

มีตัวอย่างคดีความจำนวนหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นผลบังคับใช้ที่แตกต่างกันระหว่าง พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 กับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ในมิติของการละเมิดสิทธิ เสรีภาพบุคคลของสื่ออย่างน่าสนใจ

ในกรณีของ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 มีคดีความเมื่อปี 2549 ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ส่งคำโต้แย้งของจำเลย คือ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ และพวกรวม 2 คนขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 กรณี พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 มาตรา 48 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 และ 41 หรือไม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า

กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพแก่บุคคลธรรมดาและสื่อมวลชนไปพร้อมๆ กัน โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 39, 41 เป็นการกล่าวถึงการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และเสรีภาพในการเสนอข่าวของสื่อมวลชนไว้ว่า การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายเฉพาะ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน

เห็นได้ว่าแม้บุคคลจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็ต้องมีขอบเขตมิฉะนั้นอาจใช้สิทธิ และเสรีภาพล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น และเมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การพิมพ์ ที่กำหนดความรับผิดของหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ และบรรณาธิการ ที่บัญญัติให้รับผิดร่วมกันในฐานะเป็นตัวการ เมื่อไปกระทำการละเมิดต่อเสรีภาพของผู้อื่น และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วยนั้น เห็นว่า การเสนอข่าวทางหนังสือพิมพ์ มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงต้องมีกฎหมายควบคุมการเสนอข่าวมิให้กระทบเสรีภาพของผู้อื่น (ดู ข่าว นสพ.กรุงเทพธุรกิจ)

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2549 บริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 39 และ 41 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไม่รับคำร้อง เนื่องจากเคยวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวมาแล้วในกรณีของผู้จัดการ ว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ไม่ขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญ 2540

สังเกตได้ว่า มาตราที่หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมีปัญหาต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือมาตรา 48 ซึ่งมีความว่า

เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ

ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย

ข้อความว่า “ความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้” โดยทั่วไปแล้วก็คือการ “หมิ่นประมาท” บุคคลอื่นนั่นเอง จะเห็นได้ว่า ทั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและไทยโพสต์ พยายามจะอ้างรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 39 และ 41 เพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดในกรณีที่ข้อเขียนซึ่งตีพิมพ์ออกไปถูกตัดสินว่าหมิ่นประมาทผู้อื่น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การพิมพ์มาตราดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่เป็นปัญหากับสื่อนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่อง “สิทธิเสรีภาพของสื่อ ก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ตามที่องค์กรสื่อมักยกมากล่าวอ้าง แต่เป็นกรณีว่า “ผู้พิมพ์” หรือ “บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา” หรืออันที่จริงก็คือหนังสือพิมพ์นั้น ๆ สมควรจะรับผิดต่อข่าวสาร ข้อความ ในสิ่งพิมพ์ที่ตนเผยแพร่ออกไปมากน้อยแค่ไหน ในกรณีที่ข้อความนั้น ๆ ไปละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งในกรณีของผู้จัดการที่ยกมาข้างต้น เป็นการที่หนังสือพิมพ์ นำข้อความจากรายการวิทยุมาเผยแพร่ และข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่น ผู้เสียหายจึงฟ้องทั้งผู้หมิ่นประมาท (ในรายการวิทยุ) และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และศาลก็ตัดสินให้นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมีความผิดด้วยเช่นเดียวกับจำเลยที่หนึ่ง

แต่หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ซึ่งเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ไปในตัว ก็มีตัวอย่างการตัดสินคดีความเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ซึ่งก็เป็นคดีที่เคยมีการตัดสินไปแล้วในศาลชั้นต้นซึ่ง พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ยังบังคับใช้อยู่ ให้หนังสือพิมพ์ต้องรับผิด แต่เมื่ออุทธรณ์ ศาลก็ยกฟ้อง ดังข่าวนี้

ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง บก.ผู้จัดการ หมิ่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แฉใช้อำนาจผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จำนองที่ดินกินส่วนต่าง ตั๋วแลกเงิน กว่า 700 ล้านบาท

ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท แมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีเมื่อวันที่ 29 – 30 พ.ค. 2544 นสพ.ผู้จัดการรายวัน ลงตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาการดำเนินรายการทางสถานีวิทยุคลื่น FM 99.5 ของ นายพายัพ วนาสุวรรณ ในทำนองว่า ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ นำที่ดินของครอบครัวไปจำนองกับธนาคารมหานคร เพื่อออกตั๋วแลกเงิน ก่อนนำไปขายต่อให้ธนาคารกรุงไทยเพื่อกินส่วนต่างมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2550 ว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริงตามฟ้องให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4 หมื่นบาท และได้ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน และปรับ 4 หมื่นบาท โทษจำคุก ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งตามมาตรา 3 ได้ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ อีกทั้ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการต้องเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง

(ที่มา: ข่าว INN)

จากคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็ทำให้เห็นว่า หลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 แล้ว หนังสือพิมพ์ก็ไม่ต้องรับผิดต่อข้อความหมิ่นประมาทในฐานะที่เป็นผู้เผยแพร่ข้อความ

พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ซึ่งสื่อมักอ้างว่าเป็น “สิทธิ เสรีภาพสื่อ” จึงสมควรตั้งคำถามมากกว่าว่า เป็นการปล่อยปละละเลยให้สื่อสามารถละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่นได้โดยไม่ต้องรับผิดหรือไม่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การเผยแพร่ตีพิมพ์ข่าวเป็นไปอย่างหละหลวม หรือใช้ข่าวสารเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะมีช่องทางให้ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย

นอกจากนี้แล้ว ข้ออ้างของสื่อที่มักโฆษณาว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 เป็นการยกเลิกกฎหมายเผด็จการอื่น ๆ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 3 เช่น ยกเลิก คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ยกเลิก คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ล้วนไม่มีผลใด ๆ ทั้งสิ้น

เพราะคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 นั้น ระบุให้ หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ สถานีวิทยุกระจายเสียง ต้องอยู่ในความควบคุมของ “คณะกรรมการตรวจสอบข่าวสารและกรมประชาสัมพันธ์” ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะกรรมการนี้ก็ไม่มีอยู่เพราะยกเลิกไปพร้อมคณะปฏิรูปตั้งนานแล้ว

ส่วนคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ที่กำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องยื่นเรื่องของอนุญาตต่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อนดำเนินการพิมพ์ออกแจกจ่าย ในทางปฏิบัติ ก็ไม่มีคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอยู่แล้ว และหนังสือพิมพ์ก็ออกแจกจ่ายไปตามปรกติอยู่แล้ว ไม่ต้องขออนุญาตใคร

เรื่องราวการยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 และบัญญัติ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 จึงน่าจะมีความเป็นมาเพื่อผลประโยชน์ของสื่อเอง มากกว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ พร้อมกับผลประโยชน์ของตน สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่เป็นตัวแทนสื่อได้สอดไส้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าไปอยู่ในหมวดสิ่งพิมพ์ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 และเมื่อมีการเสนอร่างแก้ไข เพื่อขยายการควบคุมไปยังหมวดหนังสือพิมพ์ และเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมจากห้ามสั่งเข้า นำเข้า มาสู่การ “ห้ามพิมพ์” ด้วย สื่อมวลชนก็กลับเลือกปกป้องเฉพาะประโยชน์ของตน โดยไม่สนใจผลกระทบจากการสอดไส้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างซ้ำซ้อนแม้แต่น้อย ทั้งที่ปัจจุบันกฎหมายอาญามาตรา 112 กำลังเป็นปัญหาในการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอยู่อย่างสาหัส