ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดงานวิจัยสิทธิบัตรแบบ evergreening ใน 5 ประเทศ ชี้เป็นการขัดขวางการเข้าถึงยา และบ่อนทำลายการสร้างนวัตกรรม

เปิดงานวิจัยสิทธิบัตรแบบ evergreening ใน 5 ประเทศ ชี้เป็นการขัดขวางการเข้าถึงยา และบ่อนทำลายการสร้างนวัตกรรม

13 ธันวาคม 2011


สถาบันเซาท์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการอิสระด้านการค้าระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ไปสำรวจสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดหรือ สิทธิบัตรแบบ evergreening ใน 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่คือ อาร์เจนติน่า บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ พบว่า การขอจดสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ “แบบต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด” โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยที่กำลังแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากนี้ สามารถกีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาดซึ่งไปจำกัดโอกาสการเข้าถึงยาของประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังจำกัดการวิจัยเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำด้วย

“ปัญหาที่เกิดจากการอนุมัติสิทธิบัตรแก่การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยนั้นส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเภสัชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ปกป้องสาธารณสุขสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์และกรรมวิธีนั้น อาจถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด ซึ่งการแข่งขันนี้จะทำให้ยามีราคาถูกลงและช่วยขยายโอกาสเข้าถึงยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรยากไร้ ปัญหาในทำนองเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับกรณีที่สิทธิบัตรหมดอายุแล้วและยากลายเป็นสมบัติสาธารณะแล้วได้เช่นกัน ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรแก่สารที่เป็นที่รู้จักอยู่ก่อนแล้ว (เช่น สูตรการใช้ หรือรูปผลึกใหม่ ฯลฯ)มักถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อกีดกันคู่แข่งขันจากตลาด”

จากการวิเคราะห์ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่ากรอบแนวทางที่ไม่อนุมัติความคุ้มครองสิทธิบัตร แก่สิ่งประดิษฐ์ที่อาศัยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยนั้น จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาได้ดีกว่า

นอกจากนี้การบังคับใช้เกณฑ์คุณสมบัติสิ่งประดิษฐ์ที่มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรที่กำหนดขึ้นอย่างรอบคอบนั้นจะช่วยให้รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียต้นทุนทางการเมืองในการประกาศและเดินหน้าใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร/การใช้สิทธิโดยรัฐหรือ CL ทั้งนี้หากมีการตรวจสอบคำขอจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้เป็นทางออก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยากลายเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ทำกำไรสูงสุดเพียงรั้งลำดับที่สี่รองจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ นำมันดิบ และการธนาคารพาณิชย์ จากงานวิจัยฉบับนี้ได้อ้างถึงการหาข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งทำให้พบว่า บริษัทยาต้นฉบับได้วางแผนและใช้แผนกลยุทธ์ต่างๆ นานา(สารพัดเครื่องมือและวิธีการ)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืดเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากยาของตนให้ได้ยาวนานไม่มีวันสิ้นสุดกลยุทธ์ที่พบได้แก่ การยื่นขอจดสิทธิบัตรมากถึง 1,300 ฉบับ ในทั่วภูมิภาคยุโรปสำหรับยาเพียงรายการเดียว (เรียกว่า “การจดสิทธิบัตรแบบกลุ่ม”)ข้อพิพาทกับบริษัทยาชื่อสามัญอันนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีสิทธิบัตรถึงเกือบ 700 คดี

รวมถึงการทำข้อตกลงในคดีความกับบริษัทยาชื่อสามัญอันอาจส่งผลให้ยาชื่อสามัญวางจำหน่ายในตลาดได้ล่าช้าออกไปตลอดจนการเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐเพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญความสูญเสียที่เกิดขึ้น จากความล่าช้าในการวางจำหน่ายยาชื่อสามัญในตลาดนั้นอาจส่งผลกระทบสำคัญต่องบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ และในที่สุดแล้วผู้ที่ต้องรับกรรมคือผู้บริโภค คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประเมิณมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าดังกล่าวนี้ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้ระบบสิทธิบัตรในทางที่ผิดไว้ที่ราวๆ 3,000 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 126,000 ล้านบาท

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทยและการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” กล่าวว่า นอกเหนือจากความพยายามทำงานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปรับปรุงคู่มือการพิจารณาสิทธิบัตรแล้วจากผลการวิจัยเบื้องต้น ในคำขอสิทธิบัตรทางยาของไทยในช่วง10 ปีที่ผ่านมา เข้าข่าย evergreening ถึงร้อยละ 96 และข้อสังเกตต่างๆมีความใกล้เคียงกับงานวิจัยใน 5 ประเทศ ขณะนี้กำลังมีการหารือกันในทีมนักวิจัยและภาคประชาสังคมของทั้ง 6 ประเทศว่า น่าจะมีการฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรเหล่านี้ในกระบวนการทางศาล โดยจะมีการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ร่วมกัน

อ่านรายงานฉบับเต็มทั้งภาษาอังกฤษและฉบับแปลภาษาไทยตามไฟล์แนบ
RP 41 Pharmaceutical Innovation_TH
RP 41 Pharm CompLice CCorrea