ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมธุรกิจพลังงานแก้กฏชั่วคราว เปิดทางปตท.ขาย”เอ็นจีวี”ที่มีค่าความร้อนสูงกว่ามาตรฐานได้

กรมธุรกิจพลังงานแก้กฏชั่วคราว เปิดทางปตท.ขาย”เอ็นจีวี”ที่มีค่าความร้อนสูงกว่ามาตรฐานได้

31 ธันวาคม 2011


จากกรณีที่บริษัทผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเยตากุนประเทศพม่า ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้กับบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ประกาศหยุดจ่ายก๊าซให้กับบริษัทปตท. ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ไปจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2555 ทั้งนี้เพื่อปิดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ซึ่งการประกาศหยุดจ่ายก๊าซจากพม่าส่งผลทำให้ปริมาณก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและใช้ในรถยนต์หายไปจากตลาดวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต

ปตท.แจงปัญหาเอ็นจีวีขาดตลาด กรณีพม่าหยุดจ่ายก๊าซ
ปตท.แจงปัญหาเอ็นจีวีขาดตลาด กรณีพม่าหยุดจ่ายก๊าซ

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทปตท.ซื้อก๊าซเอ็นจีวีจากประเทศพม่าจาก2 แหล่ง คือแหล่งก๊าซธรรมชาติเยตากุน กับยาดานา สำหรับแหล่งก๊าซเยตากุนบริษัทปตท.สูบก๊าซเอ็นจีวีขึ้นมาใช้เป็นเวลานานกว่า 10 ปี จนมาถึงขณะนี้แรงดันในหลุมก๊าซมีเหลือไม่มากพอที่จะส่งก๊าซเอ็นจีวีเข้ามาประเทศไทย

นายเติมชัยกล่าวว่าการปิดซ่อมบำรุงในครั้งนี้เพื่อติดตั้งเครื่องคอมเพรสเซอร์ขนาดใหญ่ที่ปากหลุมก๊าซ ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงดันก๊าซให้ส่งผ่านท่อก๊าซมาถึงประเทศไทยได้ และเมื่อทำการปิดปรุงแหล่งก๊าซเยตากุน ต้องปิดแหล่งก๊าซยาตานาด้วย เพราะใช้ท่อผ่านก๊าซร่วมกัน ส่งผลทำให้ปริมาณก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากพม่าทั้งหมดหายไปวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเฉพาะปั้มเอ็นจีวีที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ และปั้มเอ็นจีวีที่อยู่ในเขตฝั่งธนบุรี 39 แห่งจะไม่มีก๊าซเอ็นจีวีจำหน่าย

ปตท.ยอมรับขายก๊าซผิดสเปคค่าความร้อนสูงเกินมาตรฐาน

นายเติมชัย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จัดเตรียมเอาไว้ เพื่อป้องกันก๊าซเอ็นจีวีขาดตลาดมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1) ปล่อยก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่มาบตาพุตเข้าไปตามท่อก๊าซที่มาจากพม่า แต่เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีที่ผ่านโรงแยกก๊าซฯจะมีความบริสุทธิ์สูง จึงให้ค่าความร้อน (ดัชนีว็อบบี้) สูงถึง 45 เมกกะจุลต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะนำไปใช้ได้เฉพาะรถยนต์ขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น รถโดยสารประจำทาง หรือ รถบัส

ปตท.จึงต้องติดประกาศที่สถานีจำหน่ายก๊าซ 39 แห่งที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซฝั่งตะวันตก อาทิ ฝั่งธนบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สระบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ติดป้ายแจ้งให้ทราบว่าปั้มนี้ให้บริการเฉพาะรถขนาดใหญ่ เนื่องจากสเปคของเครื่องยนต์รถเล็กถูกออกแบบมา เพื่อใช้กับเชื้อเพลิงที่ให้ค่าความร้อนอยู่ในช่วง 37-42 เมกกะจุลต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น หากเติมก๊าซที่มีค่าความร้อนสูงเกินกว่ากำหนดเข้าไป เกรงว่าเครื่องยนต์จะได้รับความเสียหาย

อนึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอเรื่องก๊าซเอํนจีวีมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งผลกระทบจากการใช้ก๊าซเอ็นจีวีที่ไม่ได้ตามมาตรฐานถัง อ่าน“ก๊าซเอ็นจีวี” คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ (1) ถึงเวลาตรวจถังก๊าซรถยนต์หรือยัง และ“เอ็นจีวี”คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ(2) ไม่มีกฏหมายบังคับ – ไม่มีหน่วยงานทดสอบคุณภาพถังทุก 5 ปี

ส่วนแนวทางที่ 2 เพิ่มกำลังการจ่ายก๊าซอีก 1 เท่าตัว โดยการเพิ่มจำนวนเที่ยวรถขนส่งก๊าซจากอ่าวไทยมาส่งที่สถานีจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี 40 แห่ง กระจายอยู่ในเขตกรุงเทพ 24 แห่ง, นนทบุรี 7 แห่ง, ปทุมธานี 4 แห่ง, สุพรรณบุรี 2 แห่ง, สมุทรสาคร 2 แห่ง และพระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องการรอคิวเติมก๊าซนาน ซึ่งก๊าซเอ็นจีวีในส่วนนี้จะนำมาใช้กับรถยนต์ขนาดเล็ก รถแท็กซี่ได้

 นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

นายเติมชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ก่อนที่จะปิดแหล่งก๊าซเยาตากุน ปตท.ได้มีการวางแผนการทำงานร่วมกันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)อย่างใกล้ชิด และหลังจากที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซ ก็จะต้องมีการปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าที่อยู่ทางภาคตะวันตก 3 แห่ง คือโรงผลิตไฟฟ้าราชบุรี,โรงผลิตไฟฟ้าของบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ และโรงผลิตไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งทางกฟผ.ได้เตรียมลากสายส่งไฟฟ้าจากภาคตะวันออกและภาคเหนือเข้ามาเชื่อม ทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้าทางภาคตะวันตกไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น

“ทั้งหมดได้เตรียมแผนการไว้ล่วงหน้าแล้ว ทางกฟผ.เลือกช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะเป็นช่วงอากาศหนาว ประชาชนใช้ไฟฟ้าน้อย และส่วนใหญ่ก็เดินทางท่องเที่ยว กลับบ้าน สำหรับคนใช้รถเอ็นจีวี หากเดินทางไปทางฝั่งตะวันตก ช่วงนี้อาจจะไม่ค่อยสะดวก ต้องสลับไปใช้น้ำมันบ้าง แต่ถ้าเดินทางไปภาคใต้ตั้งแต่สมุทรสาคร เพชรบุรี หัวหินลงไปไม่มีปัญหาสามารถเติมก๊าซได้ตามปกติ โดยผู้ขับขี่สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1365 NGV กด 5”นายเติมชัย กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กรณีแหล่งก๊าซจากพม่าหยุดส่งก๊าซเอ็นจีวี ทางกฟผ.ได้เตรียมแผนรับมือไว้ทั้งหมดแล้ว โดยนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการฯกฟผ.ได้บรรจุไว้ในแผนงานประจำปี 2554 กล่าวคือหลังจากที่ก๊าซพม่าหยุดส่งก๊าซ กฟผ.จะปิดโรงผลิตไฟฟ้าทางภาคตะวันตก พร้อมกับเปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าที่อยู่ภาคตะวันออก ปล่อยน้ำส่วนเกินจากเขื่อนภูมิพลและก็เขื่อนสิริกิติ์เข้ามาปั่นกระแสไฟฟ้าส่งขายทางภาคตะวันตก ยืนยันได้ว่าช่วงแหล่งก๊าซเยตากุนปิดปรับปรุงไม่น่าจะมีปัญหาไฟฟ้าดับ

ส่วนแหล่งข่าวจากบริษัทปตท. กล่าวว่า ก่อนที่แหล่งก๊าซเยตากุนจะปิดซ่อมประจำปี ทางบริษัทปตท.ได้ทำหนังสือขอให้กรมธุรกิจพลังงาน พิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ พ.ศ. 2552 ในข้อ 4 ได้กำหนดคุณสมบัติก๊าซที่บริษัทปตท.จะนำออกมาขายได้จะต้องมีค่าความร้อน (ดัชนีว็อบบี้) อยู่ในช่วง 37-42 เมกกะจุลต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งบริษัทปตท.ได้รับอนุมัติจากกรมธุรกิจพลังงานมาแล้ว จึงสามารถนำก๊าซเอ็นจีวีที่มีค่าความร้อน 45 เมกกะจูลต่อลูกบาศก์เมตรออกมาขายได้ แต่อนุญาตให้ขายได้เฉพาะในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2555 เท่านั้น

“หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากกรมธุรกิจพลังงานแล้ว ทางปตท.จึงไปนำก๊าซจากอ่าวไทยส่งไปยังปั้มที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซ แต่เนื่องจากปั้มที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกไม่มีถังเติมคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือถังเติมก๊าซไนโตรเจน เหมือนกับปั้มที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก จึงทำให้เนื้อก๊าซเอ็นจีวีมีก๊าซมีเทนในสัดส่วนที่สูง หรือที่เรียกว่า”เอ็นจีวีบริสุทธิ์” จึงทำให้มีค่าความร้อนที่สูงมาก การที่ปตท.จะลงทุนสร้างตั้งถังเติม CO2 เหมือนกับฝั่งตะวันออก เพื่อปรับคุณภาพของก๊าซลงมา ก็อาจจะไม่คุ้ม เพราะใช้งานแค่ 10 วัน แถมเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ คนต้องเดินทางกลับบ้าน หากกระทรวงพลังงานไม่อนุมัติ ก็จะทำให้รถโดยสารที่อยู่ทางฝังตะวันตกไม่มีก๊าซเอ็นจีวีใช้ เพราะปตท.จะเอาก๊าซที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับประกาศของกรมธุรกิจพลังงานมาขายไม่ได้”

นักวิชาการหวั่นรถใหญ่เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท

กรณีที่บริษัทปตท.แก้ปัญหาก๊าซเอ็นจีวีขาดตลาด ในช่วงที่แหล่งก๊าซเยตากุนปิดปรับปรุง โดยการนำก๊าซเอ็นจีวีจากอ่าวไทยมาเติมให้กับรถใหญ่จะมีผลกระทรบต่อเครื่องยนต์อย่างไรนั้นแหล่งข่าวจากวิศวกรรมยานยนต์ให้ข้อมูลที่แตกต่างจากปตท.ว่าก๊าซจากอ่าวไทยมีความร้อนสูงหรือดัชนีว็อบบี้(การวัดค่าพลังงานความร้อนต่อหนึ่งหน่วยปริมาตร) หากเราเพิ่มค่าพลังงานความร้อนเข้าไป ขณะที่ปริมาตรของกระบอกสูบคงที่เท่าเดิม ผลที่ตามมาคือเครื่องยนต์ต้องร้อนขึ้นกว่าเดิม คล้ายกับกรณีของการต้มน้ำให้เดือด หากต้องการให้น้ำเดือดเร็ว ก็ต้องใส่ฟืนเข้าไปให้มากหน่อย เป็นต้น

ในทางเทคนิคก๊าซเอ็นจีวีที่มีคุณภาพดีๆให้ค่าความร้อนสูงถึง 45 เมกกะจูลต่อลูกบาศก์เมตร ควรนำมาใช้กับรถยนต์ขนาดเล็ก น่าจะเหมาะสมกว่ารถใหญ่ แต่ต้องปรับจูนเครื่องยนต์กันใหม่ ก่อนที่จะนำไปใช้งาน เพื่อป้องกันปัญหาเครื่องยนต์น็อคดับ เพราะเชื้อเพลิงที่ใส่เข้าไปจะมีสัดส่วนมากกว่าอ็อกซิเจน ซึ่งกรณีนี้จะคล้ายกันอาการที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ คือ “น้ำมันท่วม”

นอกจากนี้รถเล็กยังมีระบบระบายความร้อนที่ดีกว่ารถใหญ่ และที่สำคัญไม่ได้ใช้งานหนัก เหมือนกับรถบรรทุก หรือรถเมล์ ซึ่งต้องใช้แรงลากจูงมาก ก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเอาก๊าซเอ็นจีวีที่ให้ค่าพลังงานความร้อนสูงเติมเข้าไปในรถใหญ่ที่ใช้งานบรรทุกหนัก ทั้งวันทั้งคืน อาจจะทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการโอเวอร์ฮีทได้

ปั้มสายใต้ใหม่ให้เติม NGV ได้เฉพาะรถใหญ่
ปั้มสายใต้ใหม่ให้เติม NGV ได้เฉพาะรถใหญ่

กรณีรถใหญ่ถ้านำเข้ามาจากต่างประเทศหรือนำเข้ามาจากโรงงานผู้ผลิต ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเครื่องยนต์ถูกออกแบบมาให้ใช้กับก๊าซเอ็นจีวีที่มีสเปคสูงๆแบบนี้ แต่ที่เป็นปัญหาคือรถบรรทุก รถเมล์ส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นรถดัดแปลงมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี ติดตั้งแก๊สเป็นแบบระบบดูดผ่านมิ๊กเซอร์ใช้ร่วมกับหม้อต้มแก๊ส ถ้านำไปใช้งานหนักอาจจะทำให้เครื่องยนต์มีปัญหาความร้อนสูงขึ้นได้