ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เอ็นจีวี”คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ(2) ไม่มีกฏหมายบังคับ – ไม่มีหน่วยงานทดสอบคุณภาพถังทุก 5 ปี

“เอ็นจีวี”คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ(2) ไม่มีกฏหมายบังคับ – ไม่มีหน่วยงานทดสอบคุณภาพถังทุก 5 ปี

16 ธันวาคม 2011


“เอ็นจีวี”คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ เป็นประเด็นข่าวที่นำเสนอต่อเนื่องเกี่ยวกับก๊าซเอ็นจีวี ต่อกรณีที่บริษัทปตท.ได้นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เติมกลับเข้าไปในเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากอ่าวไทย เพื่อปรับลดค่าความร้อนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับก๊าซที่มาจากพม่า เพื่อแก้ปัญหาเครื่องยนต์น็อคดับ

ขณะเดียวกันมีนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ ตั้งข้อสังเกตุว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปตท.เติมกลับเข้าในปริมาณที่สูงเกินกว่ามาตรฐานสากลกำหนด และอาจจะมีผลทำให้อายุใช้งานของถังสั้นลงหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้

นอกจากนี้ตามมาตรฐาน ISO-11439 กำหนดให้มีการตรวจสอบถังแก๊สเอ็นจีวีออกมาทดสอบอย่างละเอียด เพื่อหาจุดบกพร่องในทุกๆ 5 ปี ขณะที่ตอนนี้มีรถยนต์หลายแสนคันที่ติดเอ็นจีวีมาแล้วกว่า 5 ปี แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพถังแก๊ส ตามมาตรฐาน ISO-11439

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก
นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก ได้เปิดเผยว่าตามมาตรฐาน ISO-11439 กำหนดให้ต้องตรวจสภาพถังแก๊สเอ็นจีวีอย่างละเอียดทุกๆ 5 ปี น่าจะเป็นภาระกิจของกระทรวงพลังงาน และบริษัทเอกชนที่รับติดตั้งเป็นผู้ทำการตรวจสอบ ปัจจุบันกรมขนส่งทางบกได้เอกชนทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองคุณภาพทุกครั้งที่มีการต่อจ่ายภาษีประจำปีเพื่อต่อทะเบียนรถยนต์ โดยเจ้าของรถยนต์ต้องนำรถไปให้วิศวกรตรวจสภาพถัง และต้องมีเอกสารใบรับรองจากวิศวกรมาประกอบการเสียภาษีด้วย และเมื่อครบ 5 ปีต้องมีการตรวจสอบละเอียดแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิศวกรว่าจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดหรือไม่

“เวลาต่อภาษีประจำปี กรมขนส่งฯจะดูว่าใบรับรองที่วิศวกรออกมาให้หมดอายุแล้วหรือยัง แต่ถ้าหมดอายุต้องกลับไปขอให้วิศวกรออกใบรับรองให้ใหม่ ถ้ามีใบรับรองมา เราก็ต่อภาษีให้”นายอัฌษไธค์กล่าว

นายอัฌษไธค์ กล่าวต่ออีกว่า กรณีรถยนต์ที่เพิ่งติดก๊าซเอ็นจีวี หลังจากติดตั้งเสร็จต้องนำรถยนต์มาจดทะเบียนติดตั้งก๊าซกับกรมขนส่งทางบก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นความปลอดภัย อุปกรณ์ต่างๆต้องครบถ้วน และไม่มีรอยรั่วซึม ส่วนการตรวจสอบคุณภาพถังที่นำเข้าจากต่างประเทศ กรมขนส่งทางบกไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบต้องไปถามกระทรวงพลังงาน

นายธีรศักดิ์ จินดา วิศวกรชำนาญการ สถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน
นายธีรศักดิ์ จินดา วิศวกรชำนาญการ สถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ด้านนายธีรศักดิ์ จินดา วิศวกรชำนาญการ สถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าการตรวจสภาพรถยนต์ที่ติดแก๊สของภาคเอกชน ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการตรวจสอบทางกายภาพ กล่าวคือใช้สายตาดูว่ามีสนิมเกาะบนตัวถังแก๊สเป็นวงกว้างแค่ไหน และใช้น้ำผสมสบู่ หรือแชมพูไปฉีดเข้าไปตามข้อต่อ เพื่อหาจุดรั่วซึมของก๊าซ ขณะที่มาตรฐาน ISO-11439 กำหนดให้ต้องตรวจใหญ่ทุกๆ 5 ปี ต้องถอดถังแก๊สออกมาจากรถและนำมาทดสอบความยืดหยุ่นของถัง โดยการอัดแรงดันเข้าไป หรือใช้เครื่องสแกนถังอย่างละเอียดเพื่อหาจุดบกพร่อง ซึ่งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงานมีอุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพครบ แต่ปัญหาตอนนี้คือยังไม่มีกฏหมายออกมาบังคับใช้

“ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม กรมการขนส่งทางบกได้เรียกวิศวกร ผู้ประกอบการมาหารือ เพื่อขอความเห็นว่ารถยนต์ที่ติดเอ็นจีวีต้องมีการตรวจสอบประเด็นไหนบ้าง เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถยนต์ อย่างถังแอลพีจียังมีระเบียบข้อบังคับให้ตรวจทุก 5 ปี โดยการนำถังแอลพีจีใส่เข้าไปในถังคล้ายแคปซูล เติมน้ำเข้าไปในถังแคปซูล จากนั้นอัดแรงดันเข้าไปในถังแอลพีจีให้ถังขยายตัวดันน้ำล้นออกมาได้ไม่เกิน 1 % แต่รถที่ติดก๊าซเอ็นจีวีไม่มีประกาศข้อบังคับตัวนี้ออกมา”

นายธีรศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกกว่า ส่วนการทดสอบคุณภาพถังแก๊สที่นำเข้า จริงๆแล้วเป็นภารกิจของสถาบัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีกฏหมายการตรวจถังแก๊สเอ็นจีวีรองรับ ซึ่งทางผู้บริหารของกระทรวงพลังงานกำลังผลักดันร่างกฏหมายฉบับนี้อยู่ ปัจจุบันถังแก๊สที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องมีใบรับรองมาตรฐาน ISO-11439 ที่ออกโดยโรงงานผู้ผลิต และเมื่อนำไปติดตั้งในรถยนต์เสร็จเรียบร้อย ก็ต้องให้วิศวกรตรวจสอบและออกใบรับรอง เพื่อนำรถยนต์ไปจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ยังไม่มีการตรวจสอบเช็คยัน

“แต่ถ้าจะให้กระทรวงพลังงานไปตรวจสอบคุณภาพของถังที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีใบรับรองมาตรฐานมาจากโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศแล้ว ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณา สมมติว่ามีการนำเข้าถังมาทางเรือ 200 ใบ ไปสุ่มตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน 8 ใบ สินค้าทั้งหมดต้องถูกส่งกลับ ทั้งๆที่มีใบรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศมายืนยัน ประเด็นนี้อาจจะถูกต่างชาติ กล่าวหาว่าไทยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าก็ได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูแลความปลอดดภัยของผู้บริโภคด้วย แต่ตอนนี้คงต้องรอให้กฏหมายฉบบับนี้ผ่านสภาพก่อน ตอนนี้เราไม่มีอำนาจไปขอตรวจสอบถังแก๊สนำเข้า”นายธีรศักดิ์ กล่าว

นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า ในการตรวจสอบคุณภาพของถังแก๊ส สถาบันฯเคยทำเรื่องไปขออนุเคราะห์ถังแก๊สจากภาคเอกชนมาทดสอบความทนทานต่อแรงดัน ซึ่งมาตรฐาน ISO -11439 ถังเอ็นจีวีต้องทนแรงดันได้ไม่ต่ำกว่า 450 บาร์ แต่ใบนี้กว่าจะแตกต้องเติมแรงดันอัดเข้าไปถึง 560 บาร์ และที่หัวถังเมื่อนำไปใช้งานจริงต้องติดตั้ง HIGH PRESSOR RELEAVE VALVE เข้าไปเสริมด้วย หากขณะเติมแก๊สมีแรงดันอัดเข้ามาเกินกว่า 300 บาร์ วาว์ลตัวนี้จะแตกและทำหน้าที่ระบายแก๊สออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้ถังแตก (ดูภาพประกอบ)

ทดสอบถังก๊าซเอ็นจีวีแตกที่แรงดัน 560 บาร์
ทดสอบถังก๊าซเอ็นจีวีแตกที่แรงดัน 560 บาร์

ดังนั้นในเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยของถังแก๊สเอ็นจีวี โดยรวมยังถือว่าใช้ได้ เพราะจากการทดสอบของสถาบันฯ กว่าถังแก๊สจะแตก ต้องอัดแรงดันเข้าไปมากกว่า 560 บาร์ ขณะที่การใช้งานจริงเมื่อก๊าซที่ปั้มรับแรงดันแค่ 200 บาร์เท่านั้น

“แต่การทดสอบถังของเรา ไม่ถือว่าเป็นเป็นการสุ่มตรวจ เราใช้วิธีไปขอความอนุเคราะห์ภาคเอกชนส่งถังแก๊สมาทดสอบกับเครื่องมือของเรา ส่วนการสุ่มตรวจคงต้องรอกฏหมายผ่านสภาฯก่อน ถามว่าเมื่อกฏหมายมีผลบังคับแล้ว เครื่องมือที่สถาบันฯมีอยู่รองรับกับงานกำกับและตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นได้ไหม คำตอบคือ ได้ เพราะเราไม่ได้ตรวจสอบทุกใบ ใช้วิธีสุ่มตรวจ ส่วนภารกิจของสถาบันฯตอนนี้คืออบรมช่างติดตั้งแก๊ส และออกประกาศนียบัตรวิชาชีพ เพื่อไปขอใบอนุญาตเป็นช่างติดตั้งแก๊สกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น” นายธีรศักดิ์กล่าว

นายธีรศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนปัญหาของเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ทางปตท.กำลังหาทางแก้ปัญหาก๊าซ 2 มาตรฐานอยู่ กล่าวคือก๊าซเอ็นจีวีของประเทศไทยไม่ค่อยจะมีความบริสุทธิ์โดยมีก๊าซมีเทนปนอยู่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นก๊าซที่มาจากพม่า แต่ถ้าเป็นก๊าซที่มาจากอ่าวไทย หลุมน้ำพอง หรือผ่านโรงแยกก๊าซที่ระยองเป็นก๊าซที่บริสุทธิ์กว่ามีสัดส่วนของก๊าซมีเทนสูงกว่าก๊าซพม่า ทางปตท.จำเป็นต้องปรับคุณภาพก๊าซลงมาให้เท่ากัน เพื่อให้ช่างปรับจูนเครื่องยนต์ได้ง่าย

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ก๊าซทางด้านตะวันตกหรือก๊าซพม่า ยอมรับว่ามีคุณภาพต่ำกว่าก๊าซที่มาจากหลุมอ่าวไทย เนื่องจากก๊าซที่มาจากพม่ามีก๊าซไนโตรเจนปะปนอยู่ในเนื้อก๊าซมาก ซึ่งก๊าซตัวนี้มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเฉื่อยไม่ได้ให้พลังงาน และไม่สามารถแยกออกจากเนื้อก๊าซได้ ดังนั้นก๊าซตะวันตกจึงให้ค่าพลังงานความร้อนต่ำกว่าก๊าซที่มาจากภาคตะวันออกของประเทศ

“ตอนนี้ปตท.ก็เอาก๊าซที่มีคุณภาพดีจากอ่าวไทยผสมเข้าไปในก๊าซพม่า ในบางส่วนเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้ค่าความร้อนเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ขณะเดียวกันก็เอา CO2 เติมเข้าไป เพราะตัวเนื้อก๊าซภาคตะวันออก มันดีเกินไป จึงให้ค่าความร้อนสูงมาก และการที่ค่าความร้อนสูงมากๆไม่ได้เกิดประโยชนน์อะไรต่อเครื่องยนต์ และยังมีผลทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการน็อคดับด้วย เพราะเครื่องยนต์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเชื้อเพลิงที่ให้ค่าความร้อนสูงๆ ทางสถาบันวิจัยของปตท.กำลังเร่งพัฒนากล่องอีซียู เพื่อแก้ปัญหาก๊าซ 2 มาตรฐานอยู่ ผมยังไม่ได้ไปติดตามว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว”ดร.ไพรินทร์กล่าว

นายเติมชัย บุญนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาอีซียู เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาก๊าซเอ็นจีวี 2 มาตรฐานไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องขึ้นอยู่คุณภาพของเนื้อก๊าซในอนาคตด้วย ทำให้การพัฒนายากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง ก๊าซแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เมื่อผ่านกระบวนการแยกก๊าซแล้วจะได้เอ็นจีวีที่บริสุทธิ์ ให้ค่าความร้อนสูงมาก ขณะที่ก๊าซพม่าก็ให้ค่าพลังงานความร้อนต่ำมาก ดังนั้นในการออกแบบหรือพัฒนาอีซียูต้องมากำหนดว่าถ้าจะให้เครื่องยนต์นิ่ง ค่าความร้องความจะวิ่งอยู่ในช่วงไหน (RANGE) และถ้าคุณภาพของเนื้อก๊าซไม่ได้อยู่ใน RANGE ที่กำหนด การใช้อีซียูอย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ ต้องปรับระบบเองด้วยมือมาช่วย เช่น ถ้าเป็นก๊าซฝั่งพม่ากดปุ่มซ้าย และถ้าเป็นก๊าซอ่าวไทยกดปุ่มขวา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม “ก๊าซเอ็นจีวี” คุกคามความปลอดภัยสาธารณะ (1) ถึงเวลาตรวจถังก๊าซรถยนต์หรือยัง และ เปิดผลสอบกรรมาธิการ “ถังก๊าซเอ็นจีวี” ระเบิดที่จ.สมุทรปราการ หวั่นมีถังล็อตนี้เรียกคืนไม่หมด ยังวิ่งเกลื่อนเมือง