ThaiPublica > คอลัมน์ > ค่าจ้างขั้นต่ำ : ไม่แย่อย่างที่คิด

ค่าจ้างขั้นต่ำ : ไม่แย่อย่างที่คิด

2 ธันวาคม 2011


อภิชาต สถิตนิรามัย
[email protected]

ในท่ามกลางกระแสสูงของแนวคิดแบบฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน (Washington Consensus) ธนาคารโลก (1990) กล่าวอย่างมั่นใจต่อตลาดแรงงานในประเทศด้อยพัฒนาว่า “นโยบายเกี่ยวกับตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ข้อบังคับที่มุ่งสร้างความมั่นคงของตำแหน่งงาน และกฎหมายประกันสังคมนั้น ซึ่งมุ่งที่จะยกระดับสวัสดิการของคนงาน หรือลดการขูดรีดแรงงาน แต่ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้กลับเพิ่มต้นทุนให้แก่การจ้างงานในภาคการผลิตแบบทางการ (formal sector) อันทำให้ระดับการจ้างงานลดลง…[แต่ในอีกทางหนึ่ง] กลับไปเพิ่มอุปทานแรงงานในภาคชนบท หรือแรงงานนอกระบบ (informal) ในเขตเมือง ดังนั้นค่าจ้างแรงงานในสองภาคนี้ ซึ่งเป็นคนจนกลับลดลง” สรุปแล้วธนาคารโลกเชื่อว่า กฎเกณฑ์ที่มุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานเช่นการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั้นสุดท้ายแล้ว ช่วยได้แต่คนงานส่วนน้อยในภาคทางการ แต่กลับเป็นโทษแก่แรงงานส่วนใหญ่ในภาคนอกระบบ ซึ่งมักจะมีฐานะจนกว่า

ข้อสรุปข้างต้นตั้งอยู่บนทฤษฎีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างสองภาคเศรษฐกิจชื่อดังของ Harris-Todaro (1970) ซึ่งเชื่อว่า การยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำในเขตเมืองนั้นจะดึงดูดในคนชนบทอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ซึ่งจะหางานทำไม่ได้และกลายเป็นคนตกงาน การอพยพนี้จะดำเนินต่อไป (แปลว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ตราบเท่าที่ยังมีความแตกต่างระหว่างอัตราค่าจ้างในเขตเมือง (ในระบบ) และชนบท (นอกระบบ) ในสถานการณ์นี้ ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของภาคเมือง (เช่นเมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น นายจ้างลดจำนวนคนงานลงแต่ยังรักษาระดับการผลิตไว้) จะถูกชดเชยจากการลดลงของผลผลิตในภาคเกษตร ซึ่งเกิดจากลดลงของคนงานในชนบท ทำให้ผลผลิตมวลรวมของประเทศไม่เปลี่ยนแปลง

ข้อความสองย่อหน้าข้างต้น ย่อมหนุนเสริมเสียงคัดค้านหัวชนฝาของบรรดาสมาคมนายจ้างต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้อย่างหนักแน่น แต่ แต่ แต่…แนวคิดและข้อสรุปข้างต้นในปัจจุบันนั้น ก็ยังคงเป็นแค่แนวคิด ยังมิได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหลักฐานของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม มันกลับถูกยกระดับขึ้นจนกลายเป็น “กฎเหล็ก” ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ประเด็นสำคัญในเชิงประจักษ์คือ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ (รวมทั้งข้อบังคับอื่นๆ ที่มุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน) นั้น จะมีผลมาก-น้อยเพียงใดต่อระดับการจ้างงาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษาเป็นกรณีๆ ไป จนกว่าที่เราจะมีตัวเลขที่ชัดเจนต่อระดับผลกระทบนี้ เราไม่ควรมีท่าทีปฏิเสธนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

หนึ่ง หลักฐานเชิงประจักษ์จากหลากหลายประเทศด้อยพัฒนาเช่น อินโดนีเซีย,เม็กซิโก,โคลัมเบีย,บราซิล พบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลมีผลยกระดับอัตราค่าจ้างของคนงานจริง และส่วนใหญ่พบว่า การขึ้นค่าจ้างมีผลต่อระดับการจ้างงานไม่มากนัก แต่งานส่วนน้อยพบว่ามีผลกระทบมาก ตัวอย่างเช่นกรณีของบราซิล พบว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบน้อยต่อระดับการจ้างงานทั้งของภาคในและนอกระบบ แต่ในกรณีของฮอนดูรัสพบว่ามีผลมาก พูดภาษาเศรษฐศาสตร์คืองานส่วนใหญ่พบว่า ความยืดหยุ่นของการจ้างงานต่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีค่าน้อยกว่าหนึ่งมาก (หากความยืดหยุ่นมีค่า 0.10 แปลว่าถ้าค่าแรงขึ้นไป 10 % แล้ว การจ้างงานจะลดลงเพียง 1 % เท่านั้น) ส่วนความยืดหยุ่นจะมีค่าเท่าไรนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตลาดแรงงานในแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกันแล้ว ระดับความแรงในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งย่อมมีผลด้วยเช่นกัน ประเด็นหลัก ณ จุดนี้คือ เราต้องไม่เดามั่วๆ เอาเองว่า ความยืดหยุ่นจะมีค่าสูงสำหรับประเทศไทยเสมอไป

หากความยืดหยุ่นมีค่าต่ำย่อมแปลได้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนงานโดยส่วนใหญ่ (จากค่าความหยืดหยุ่น 0.10 ข้างต้น หากสมมุติให้มีการขึ้นค่าแรงไป 10 % แล้ว ทำให้คนงาน 1 % ตกงาน ทั้งหมดนี้แปลว่า คนงานที่เหลืออยู่ 99 % จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นผลรวมของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของคนงานที่เหลือทุกคน ย่อมมีค่ามากกว่าผลรวมของค่าแรงคนงาน 1 % ที่หายไปจากการตกงาน) หากสมมุติต่อว่า คนงานส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นคนจนแล้ว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ดี หรือเท่ากับเป็นการกระจายรายได้จากเจ้าของกิจการมาสู่แรงงาน โดยไม่ทำให้ผลผลิตมวลรวมของประเทศลดลงนั้นเอง

สอง สิ่งที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นจากผลการศึกษาเชิงประจักษ์ของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นอกจากจะยกระดับค่าแรงของภาคในระบบ สมความมุ่งหมายของการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงให้ค่าแรงภาคนอกระบบสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งๆ ที่เป็นภาคที่ไม่มีการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ การศึกษาเหล่านี้นี้จึงให้ผลที่โต้แย้งกับข้อสรุปของธนาคารโลกโดยตรง

หากผลการศึกษาประเด็นนี้ใช้ได้กับประเทศไทยแล้ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลปูจะมีผลต่อแรงงานในขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าที่คิดไว้มาก เนื่องจากแรงงานประมาณ 80 % ของไทยเป็นคนงานในภาคนอกระบบ

หมายเหตุ: ผู้สนใจเพิ่มเติมอ่านต่อได้จาก
Freeman, Richard B. (2010), “Labor Regulation, Unions, and Social Protection in Developing Countries: Market Distortions or Efficient Institutions?”, in Dani Rodrick and Mark R. Rosenzweig (eds.), Handbook of Development Economics Vol. 5, Oxford: Elsevier, pp. 4657-4702.