ThaiPublica > คอลัมน์ > ปมด้อยน้อยธรรมชาติ

ปมด้อยน้อยธรรมชาติ

29 ธันวาคม 2011


โตมร ศุขปรีชา

คนกรุงเทพฯ นั้นมีปมอยู่อย่างหนึ่ง เป็นปมด้อยที่คิดว่าตัวเองอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติน้อยกว่าคนต่างจังหวัด

ปมที่ว่านี้ สำแดงอาการให้เห็นหลายแบบ อย่างหนึ่งก็คือการพยายามมี ‘บ้านพักตากอากาศ’ เป็น ‘บ้านที่สอง’ (หรือสามสี่ห้า) อยู่ตามที่ต่างๆในต่างจังหวัด ถ้าเป็นไปได้และมีอำนาจมากพอ ไม่ว่าอำนาจทางสังคม การเงิน หรือการเมือง พื้นที่ที่ว่าก็จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และพื้นที่อันเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือบรรดาอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอะไรทำนองนั้น ยิ่งถ้าได้อยู่บนเขาเขินเนินไศล หรืออยู่ใกล้ทะเลใกล้น้ำตก ประเภทที่ห่างไกลผู้คนและความเจริญได้ก็ยิ่งดี จะถือว่าเป็นผู้ที่พิศมัยธรรมชาติมากกว่าคนกรุงโดยทั่วไป

หลายคนตระหนักถึงอาการเช่นที่ว่านี้ดี และตระหนักด้วยว่า คนจำนวนมากไม่มีอำนาจพอที่จะสร้างบ้านพักตากอากาศเอาไว้ครอบครองได้ จึงใช้วิธีซื้อพื้นที่ที่อยู่ติดกับความเป็นธรรมชาติ แล้วเปิดให้เช่าในรูปของรีสอร์ท บ้านพัก โรงแรม ฯลฯ หรือแม้แต่การจัดการแสดงใหญ่โตมโหฬารในนามของความใกล้ชิดธรรมชาติ ในฤดูกาลที่เชื่อกันว่าจะทำให้รู้สึกซึมซับธรรมชาติในแง่บวกได้ยอดเยี่ยมที่สุด เช่นฤดูหนาว แต่มักไม่ใช่การซึมซับรับรู้ความร้ายกาจของธรรมชาติ ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือธรรมชาติ (อีกด้านหนึ่ง) ของธรรมชาตินั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาการที่สำแดงออกมาแบบไหน ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นมักกลายเป็นว่า ความพยายามในการ ‘เข้าหาธรรมชาติ’ ของคนกรุงนั้น ได้ ‘ทำลายธรรมชาติ’ ลงไปไม่น้อยทีเดียว

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วคนกรุงนั้น อยู่ห่างจากธรรมชาติจริงๆหรือ-ชีวิตที่เราอยู่ในเมืองนั้นปลอดพ้นจากธรรมชาติจริงๆหรือ ไม่มีหนทางอื่นใดอีกแล้วหรือ ที่ชีวิตคนเมืองหรือคนกรุง จะอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ ต่อให้เป็นการตีความคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ตามนิยามที่คิดกันข้างต้นก็ตามที

เมื่อสองปีก่อน ผมเคย ‘ซื้อทัวร์’ ไป ‘หาของป่า’ กับผู้ชายคนหนึ่งชื่อ สตีฟ บริล (Steve Brill) แต่เราไม่ได้เข้าไปในป่าที่ไหน เพราะสตีฟนั้นพาคนไป ‘หาของป่า’ ตามสวนสาธารณะในนิวยอร์ค ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลปาร์คใจกลางแมนฮัตตัน สวนพรอสเพ็คท์ (Prospect Park) ที่บรุคลิน, ฟอร์เรสต์พาร์คที่สวนคิวในควีนส์ อาจจะมีออกไปไกลหน่อยก็เช่นออกไปถึงอัพพาเลเชียนเทรล ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเขา แต่ก็อยู่ในรัฐนิวยอร์คนั่นเอง และส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการ ‘หาของป่า’ ใน ‘เมืองใหญ่’ (ดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ wildmanstevebrill.com)

คราวที่ผมไปกับสตีฟนั้น เขาพาเราเข้าไปผจญภัยในเซ็นทรัลปาร์ค ในส่วนที่หากไปตามลำพัง ผมคงไม่ได้เข้าไปแน่ๆ เนื่องจากหลายพื้นที่ในเซ็นทรัลปาร์คมีลักษณะเหมือน ‘ป่า’ จริงๆ และแม้จะเป็นเมืองหนาว แต่ก็กลับมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายทีเดียว เขาพาเราไปดูรากของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เอามาทำรูทเบียร์ เขาขุดมันขึ้นมา ตัดมันออก และประกาศว่าทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะรากของต้นไม้ชนิดนี้งอกเร็ว เราสามารถล้างแล้วเอาไปต้มได้ จะได้เครื่องดื่มที่มีกลิ่นเหมือนรูทเบียร์ เพราะจริงๆแล้วรูทเบียร์ก็ทำเลียนแบบกลิ่นของรากต้นไม้ชนิดนี้ นอกจากนี้ เขายังชี้ชวนให้เรารู้จักกับต้นไม้ใบไม้อื่นๆอีกมาสามารถ ‘เก็บกิน’ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ลป่ารสเปรี้ยว (และแคร็บแอปเปิ้ล) ที่จะออกลูกเมื่อใกล้ถึงฤดูใบไม้ร่วง ลูกเชอร์รีป่า วอลนัท ชิโครี ลูกเอลเดอร์เบอรี ต้นแปะก๊วย ต้นหอม (ที่ขึ้นเองในเซ็นทรัลปาร์ค) แคร์รอทป่า ใบเบย์ลีฟสด สมุนไพรต่างๆ เห็ดชนิดต่างๆทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ ผลไม้แปลกๆอื่นๆ รวมถึงพืชมีพิษอย่างเถาพอยซันไอวี

สตีฟทำให้ผมและคนอื่นๆในทัวร์ประหลาดใจ บางคนบ้านอยู่ใกล้ๆเซ็นทรัลปาร์ค พวกเขาถึงกับเอ่ยปากว่า ต่อไปไม่ต้องซื้อของหลายอย่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตอีกแล้ว แต่สามารถเข้ามา ‘เก็บของป่า’ ในเซ็นทรัลปาร์คเอาไปทำเป็นอาหารได้เลย โดยเฉพาะพวกสมุนไพรต่างๆ

สตีฟบอกว่า นอกจากจะได้อาหารกลับบ้านแล้ว สิ่งที่ได้รับเพิ่มเติมก็คือการเรียนรู้ว่าในแต่ละฤดูกาล ต้นไม้อะไรออกผลอย่างไรบ้าง เขาหัวเราะและโม้ต่อว่า-การกินอาหารตามฤดูกาลจะทำให้เราแข็งแรง, ว่าแล้วเขาก็เบ่งกล้ามให้ดู

เขาทำให้ผมนึกถึงกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่แล้วเราไม่รู้ความแตกต่างของฤดูกาลเท่าไหร่ กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองติดแอร์ เราอยู่แต่ในที่ปิดที่เราสร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในรถ ในที่ทำงาน ในสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ (ซึ่งก็คือห้างสรรพสินค้า) สถานที่เหล่านี้มีรักษาอุณหภูมิให้คงที่ไว้เสมอ เราจึง ‘ไม่รู้ร้อนรู้หนาว’ ต่อความเป็นไปของฤดูกาล และนั่นทำให้ผัสสะของเราหยาบขึ้น เราไม่ ‘ไว’ ต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอีกต่อไป ซึ่งนั่นทำให้เราคิดว่าตัวเองอยู่ห่างไกลธรรมชาติ

แล้วเราก็เกิดปมด้อยขึ้นมา

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษตีพิมพ์ข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยโครงการที่เรียกว่า Madrid Rio ในใจกลางกรุงแมดริด ประเทศสเปน ประเทศที่กำลังประสบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างแรงไม่แพ้ต้มยำกุ้งของไทย แต่กระนั้น แมดริดก็เพิ่งบรรลุโครงการใหม่ในการ ‘รื้อ’ ทางด่วน แล้ว ‘ฝัง’ มันลงไปใต้ดิน เป็นเส้นทางที่ตัดผ่านกลางเมืองหลวง ระยะทางยาวถึง 6 ไมล์ ซึ่งในอดีต พื้นที่บริเวณนี้คือพื้น ‘ใต้ทางด่วน’ ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์อะไร แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นสวนสาธารณะที่เรียกว่า Madrid Rio ซึ่งแม้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่ก็เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการกันแล้ว สวนแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยผู้คน นักปั่นจักรยาน และสามารถมองเห็นทิวทัศน์แสนงามของพระราชวังบนเนินเขาได้ด้วย

ที่สำคัญไปกว่าการเป็นสวนสาธารณะ ก็คือที่แห่งนี้ได้ ‘เชื่อมต่อ’ พื้นที่ที่เคยถูก ‘ตัดขาด’ ออกจากกันโดยทางด่วน ชุมชนที่เคยเป็นผืนเดียว เคยไปมาหาสู่กัน เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน กลายเป็นสองชุมชนที่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง แต่บัดนี้ชุมชนเหล่านั้นกลับเป็นหนึ่งเดียวกันได้อีกครั้ง

เดอะการ์เดียนยังบอกอีกว่า การ ‘รื้อทางด่วน’ แล้ว ‘สร้างสวนสาธารณะ’ นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่ที่เดียว แต่กำลังเป็นกระแสแบบหนึ่งไปทั่วโลก ทศวรรษแห่งการคิดถึงรถยนต์ได้ย้อนศรกลับข้างแล้ว เมืองต่างๆหันมาให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่สาธารณะ’ กันมากขึ้น แทนที่จะเป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ (ในรถ) ที่ซ้อนทับอยู่บน ‘พื้นที่สาธารณะ’ (บนถนน) เหมือนที่เคยเป็นมา

ตัวอย่างที่เราคนไทยรู้จักกันดีที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของกรุงโซล เกาหลีใต้ ที่มีการสร้างทางด่วนคร่อมไปบนลำธารเป็นระยะทางสามไมล์ แต่มีการรื้อทางด่วนนั้นลงในปี 2005 และฟื้นฟูลำธารสายเดิม พร้อมกับสร้างสวนสาธารณะตามแนวยาวขึ้นมาสองฟากข้างของลำธารสายนั้น โดยใช้เงินราว 384 ล้านเหรียญ ทำให้ประชาชนชาวโซลที่เป็น ‘คนกรุง’ เหมือนกันกับคนกรุงเทพฯ ได้มานั่งปิกนิก เดินเท้าเปล่า ย่ำเท้าไปในลำธาร และมองดูปลาคาร์พว่ายอยู่ในลำธารสายที่มีชื่อว่าชองเกชอน (Cheonggyecheon) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองแบบนี้มีประโยชน์มากกว่าแค่การพักผ่อนหย่อนใจ แต่ทางน้ำแบบเปิดยังช่วยรับมือกับน้ำฝนที่อาจท่วมเมืองได้ดีกว่าท่อระบายน้ำแบบปิดอีกด้วย และสายน้ำยังทำให้เมืองเย็นลง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็ดึงดูดสัตว์ป่า อย่างเช่นนก กระรอก แมลง รวมถึงดึงให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้ง แทนที่จะเอาแต่นั่งดูโทรทัศน์หรือนั่งจ่อมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน

แน่นอนว่าเสียงต่อต้านย่อมมีอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของการใช้งบประมาณเปล่าเปลือง โดยเฉพาะการปั๊มน้ำจากแม่น้ำเข้ามาในลำธารสายนี้ แต่เมื่อเปิดสวนสาธารณะแห่งนี้มาได้หลายปี ในที่สุดก็พิสูจน์ว่าประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมนั้นมีมากกว่าค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ปลาในลำธารเพิ่มจำนวนจาก 4 สปีชีส์ มาเป็น 25 สปีชีส์ นกก็เพิ่มจาก 6 สปีชีส์ มาเป็น 36 สปีชีส์ ส่วนแมลงเพิ่มจาก 15 มาเป็น 192 สปีชีส์

นั่นย่อมแปลว่าคนโซลได้ ‘ใกล้ชิดธรรมชาติ’ มากขึ้นโดยไม่ต้องเดินทางไปบุกรุกป่าที่ไหน

โครงการแบบนี้ยังมีอีกหลายแห่ง ที่โด่งดังที่สุดอีกแห่งหนึ่งคือที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งในปี 1989 เกิดแผ่นดินไหวทำให้ทางด่วนที่ชื่อ Embarcadero Freeway พังลง ทางด่วนสายนี้เชื่อมโยงตัวเมืองกับบริเวณริมน้ำ และจริงๆแล้วมีข้อเสนอให้รื้อทางด่วนสายนี้มาตั้งแต่ปี 1986 แต่มีเสียงคัดค้าน เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าการรื้อทางด่วนสายนี้จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องจราจร

อย่างไรก็ตาม ในปี 1989 เกิดแผ่นดินใหญ่ที่ทำให้ทางด่วนสายนี้และสายอื่นๆในบริเวณเบย์แอเรียพังลงหรือไม่ก็ได้รับความเสียหาย จึงเปิดโอกาสให้เกิดการโต้เถียงสาธารณะขึ้นใหม่ว่าควรจะซ่อมหรือรื้อทิ้งดี แต่คราวนี้ฝ่ายที่สนับสนุนให้รื้อทิ้งได้ชัยชนะ เพราะเมื่อทางด่วนเสียหายต้องปิดตัวลงนั้น ปรากฏว่าการเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจรมากอย่างที่คิด ผลก็คือเกิดการรื้อทางด่วนสายนี้ในปี 1991 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเกิด ‘ย่าน’ ใหม่ ซึ่งอยู่ติดริมน้ำ และราคาที่ดินของย่านที่อยู่ติดกันก็พุ่งสูงขึ้นถึง 300 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีทางด่วนกั้นขวางอยู่ ก็กลายเป็นทำเลที่ผู้คนอยากเข้าไปอยู่อาศัย

ในมิลวอกี การรื้อทางด่วนสาย Park East Freeway ก็ทำให้ใจกลางเมืองได้สวนสาธารณะเพิ่มขึ้น และเกิดการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น กรณีที่เกิดขึ้นกับมิลวอกีนั้นคล้ายๆเรื่องราวในเกาหลีใต้ที่ผู้มีอำนาจเคยประทับใจกับธรรมชาติก่อนสร้างทางด่วนสมัยตนยังเด็กๆ ครั้นมีอำนาจขึ้นมาจึงพยายามนำธรรมชาติแบบเดิมกลับคืนมา สำหรับที่มิลวอกีเป็นเรื่องของจอห์น นอร์ควิสต์ (John Norquist) ซึ่งในยุคเจ็ดศูนย์ เขาเป็นผู้นำชุมชนต่อต้านแผนการสร้างทางด่วนรอบเมืองมิลวอกี แต่ไม่สำเร็จ ครั้นผ่านมาสามทศวรรษ เขากลายเป็นผู้ว่าการเมืองมิลวอกีและเป็นกรรมาธิการของสภาคองเกรสในด้าน New Urbanism เขาจึงผลักดันแผนการรื้อทางด่วนสาวนี้ออกเพื่อฟื้นฟูถนนแบบเดิมที่มีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมหรือเป็นกริด (grid) ขึ้นมาใหม่ ผังเมืองเดิมนั้นถูกทำลายไปเพราะทางด่วนสายนี้ตัดผ่าน การรื้อทางด่วนนั้นมีเหตุผลที่ดีไม่น้อย เพราะทางด่วนเริ่มเก่าแล้ว ในตอนนั้นมีอายุ 30 ปี จึงต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ ซึ่งจะใช้เงินถึงกว่า 100 ล้านเหรียญ แต่งบประมาณที่ใช้ในการรื้อนั้นมีมูลค่าเพียง 25 ล้านเหรียญ โดยรัฐบาลกลางสนับสนุนงบประมาณ 80% เท่ากับว่าประหยัดงบประมาณไปได้มากทีเดียว และเมื่อรื้อลงแล้ว ก็ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองใหม่ ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเป็นมูลค่ามากกว่า 300 ล้านเหรียญ และก่อให้เกิดสวนสาธารณะใหม่ๆขึ้นมาด้วย

แม้กระทั่งในนิวยอร์ค เมืองใหญ่ที่สุดแสนจะซับซ้อน ก็มีแนวคิดในการรื้อทางด่วนหลายโครงการด้วยกัน อย่างสายแรกสุดที่รื้อ ก็คือทางด่วนสายแรกสุดที่สร้างขึ้น นั่นคือทางด่วน West Side Highway ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคสองศูนย์ แต่เมื่อใช้งานนานๆเข้า ต่อมาก็พังและต้องปิดตัวลงอย่างถาวรในทศวรรษเจ็ดศูนย์ ปรากฏว่าที่หวาดกลัวกันเหลือเกินว่าเมื่อไร้ทางด่วนแล้ว การจราจรจะติดขัดนั้นกลับกลายเป็นตรงข้าม เพราะเมื่อไม่มีการ ‘ขนรถ’ เข้ามากระจุกกันในเมือง การจราจรก็กลับดีขึ้นอย่างน่าประหลาด แต่กระนั้นก็มีแรงกดดันให้สร้างทางด่วนที่ใหญ่กว่าและดีกว่าขึ้นทดแทนในชื่อ Westway แต่ Westway ก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะมีการต่อต้านคัดค้านมากมาย ทั้งจากคณะกรรมการชุมชน กลุ่มสิ่งแวดล้อมต่างๆ นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ ทำให้ในที่สุดแนวคิดที่จะสร้าง Westway ก็ต้องตกไปในปี 1985 รวมถึงทางด่วนสายอื่นๆอีกหลายสายที่จะพาดผ่านแมนฮัตตันด้วย แต่หันไปสร้างขนส่งมวลชนแทนถนน และต่อมาก็มีโครงการทดแทน Westway ด้วยการปรับปรุงถนน และสร้างสวนสาธารณะริมฝั่งแม่น้ำฮัดสัน ซึ่งหลายคนเรียกโครงการนี้ว่า Lessway เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่าเดิมมากนัก โครงการนี้เสร็จสิ้นในปี 2001 นับเป็นเวลา 28 ปี หลังจากทางด่วนสาย West Side ปิดตัวลง

อีกสายหนึ่งในนิวยอร์คที่กำลังพิจารณากันว่าจะรื้อลง ก็คือทางด่วนสาย Sheridan Expressway ซึ่งอยู่ในย่านเซาธ์บรองซ์ เป็นทางด่วนที่เชื่อมทางด่วนอื่นอีกทีหนึ่ง และเมื่อรื้อลงแล้ว คาดว่าจะเปิดโอกาสให้มีการสร้างบ้าน พื้นที่การค้า สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และสนามฟุตบอลขึ้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำบรองซ์

เดอะการ์เดียนบอกว่า เมืองต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่สิงคโปร์จนถึงซานแอนโทนิโอ ต่างหันมาฟื้นฟูแม่น้ำของตัวเองกันเป็นการใหญ่ ทั้งเพื่อให้เกิด ‘พื้นที่ธรรมชาติ’ ขึ้นในเมือง เป็นที่ระบายน้ำที่ดีกว่า มีประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็น ‘ทรัพย์สิน’ ที่ทรงคุณค่าของเมืองด้วย ข่าวเรื่องสวนสาธารณะของกรุงโซลนั้นเป็นแรงบันดาลใจไปทั่วโลก แม้กระทั่งชาวลอสแองเจลิสหลายกลุ่มก็หันมามองดูลำธารที่ถูกปิด ถูกฝังอยู่ใต้ถนนกันด้วยสายตาใหม่ มีการเสนอให้รื้อฟื้นลำธารเหล่านั้นขึ้นมาอีกครั้งในหลายที่ ทั้งนี้ก็เพราะเมืองที่มีสภาพแวดล้อมดีนั้น ย่อมดึงดูดคนให้เข้ามาพำนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

เราไม่รู้หรอกว่า ในอนาคต กรุงเทพฯ จะเดินตามรอยเมืองต่างๆเหล่านั้นไหม เพราะเท่าที่เห็น เรายังมี ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ ที่เข้มแข็งมาก แต่วัฒนธรรมรถยนต์ก็เป็นเรื่องย้อนแย้ง เนื่องจากมันกระตุ้นให้เกิดการ ‘ขนรถ’ ไปตามที่ต่างๆในเมือง จึงไปเบียดบังพื้นที่ที่ควรเป็นพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกัน รถยนต์ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนเมืองที่จะกลบ ‘ปมด้อยน้อยธรรมชาติ’ ของตัวเอง ด้วยการขับรถออกไปสูดโอโซน ไปมองดูป่าสีเขียวๆ ไปฟังคอนเสิร์ตบนภูเขา ฯลฯ เราจึงขาดรถยนต์ไม่ได้ และคิดว่ารถยนต์คือสิ่งที่ชีวิตต้องมีคู่กับบ้านอย่างขาดไม่ได้ ความต้องการสองอย่างนี้ของเราจึงขัดแย้งกันเอง จึงทำให้ ‘ปมด้อยน้อยธรรมชาติ’ ของคนกรุง ยิ่งสางได้ยากขึ้นไปอีกขั้น

แต่ที่ทำให้ปมด้อยนี้สางยากขึ้นไปอีกสามสิบแปดขั้น ก็คือปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้คนกรุงรู้สึกว่าตัวเองก็ ‘มีธรรมชาติ’ กับเขาได้เหมือนกัน (อย่างน้อยๆก็ไม่แพ้คนต่างจังหวัด) ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น มันยังเป็นปัญหาที่ซ้อนทับอยู่กับโครงสร้างแบบอำนาจนิยมด้วย เราจะเห็นว่ามี ‘พื้นที่’ เต็มไปหมดในกรุงเทพฯ ที่แลดู ‘โล่งกว้าง’ และน่าจะ ‘ถูกใช้’ เป็นพื้นที่สาธารณะได้ แต่หลายแห่งก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความกำกวม ไม่แน่ชัดนักว่าเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ สามารถมี ‘สิทธิ’ ออกเสียงได้หรือไม่ว่าควรใช้พื้นที่นั้นๆอย่างไร อาทิเช่น พื้นที่ทางทหารที่มีขนาดใหญ่ และปัจจุบันกลายมาเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองไปแล้ว หรือพื้นที่ของบางสิทธิอำนาจ ที่แม้แต่สำนักผังเมืองก็ยังลำบากใจในการจัดวางว่าควรเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่การค้า หรือพื้นที่อะไร

น่าเศร้า ที่ส่วนใหญ่แล้ว ประชาชนทั่วไปไม่ได้มี ‘สิทธิ’ มากนักที่จะ ‘เลือก’ ว่าพัฒนาการของพื้นที่ในกรุงเทพฯ ตรงไหนควรเป็นอะไร มีความเป็นสาธารณะมากแค่ไหน ได้แต่ใช้ชีวิตไปวันๆตามที่โครงสร้างอำนาจกำหนด ซึ่งโครงสร้างอำนาจที่ว่านี้ มีทั้งอำนาจเก่า อำนาจใหม่ รวมไปถึงอำนาจทุนด้วย

การใช้ชีวิตไปวันๆแบบนี้ ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ เพราะเราไม่มีส่วนในการกำหนดมากนัก ว่าจะให้กรุงเทพฯ มีสัดส่วนของธรรมชาติมากเพียงใด ข้างบ้านของเรา ในซอยของเราจะมีสวนสาธารณะได้ไหม เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘ปมด้อยน้อยธรรมชาติ’ ของคนกรุงเทพฯ จึงสางยากเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง และดูท่าว่าปัญหาการบุกรุกไปสูดโอโซนสร้างบ้านพักตากอากาศหรือรีสอร์ทและจัดคอนเสิร์ตในที่ที่ไม่ควรสร้างควรทำ ก็จะไม่จบสิ้นลงไปได้ง่ายๆ

ตราบเท่าที่โครงสร้างใหญ่ในสังคมยังสร้างปมด้อยนี้ให้คนกรุงต่อไปไม่จบสิ้น