ThaiPublica > คนในข่าว > โครงการกล้า..ดี โมเดลฟื้นฟูเยียวยากู้จิตใจแบบบูรณาการ ด้วยชุด 3 พร้อม ..พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ

โครงการกล้า..ดี โมเดลฟื้นฟูเยียวยากู้จิตใจแบบบูรณาการ ด้วยชุด 3 พร้อม ..พร้อมกิน พร้อมปลูก พร้อมเพาะ

5 ธันวาคม 2011


ศูนย์เพาะกล้า อุทัยธานี 26 พ.ย.54-1

โครงการเพาะกล้า...ดี จ.อุทัยธานี
โครงการเพาะกล้า..ดี จ.อุทัยธานี
ความเสียหายหลังน้ำท่วม ที่เกาะเทโพ จังหวัดอุทัยธานี
ความเสียหายหลังน้ำท่วม ที่เกาะเทโพ จังหวัดอุทัยธานี

เมื่อใดที่เกิดภัยพิบัติ จะในรูปใดก็แล้วแต่ สังคมไทยมักคุ้นชินกับการสงเคราะห์ การบริจาค การให้ที่ไม่รู้ว่าผู้รับเขาต้องการรับหรือไม่ ให้เพราะคิดว่าเขาต้องการสิ่งเหล่านี้ คิดแทนชาวบ้าน คิดแทนโดยใช้วิถีคนเมืองเป็นตัวตั้ง ทั้งที่วิถีคนเมืองกับวิถีชนบทต่างอย่างสิ้นเชิง

หากจะถอดบทเรียนจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้คงมีทั้งบวกและลบที่ชวนให้ฉุกคิดอีกมากมาย โมเดลดีๆเกิดขึ้นจากการพยายามรับมือกับน้ำท่วม จะอยู่อย่างไรเมื่อน้ำมา และจะอยู่อย่างไรเมื่อน้ำไปพร้อมทรัพย์สินและชีวิตของผู้ประสบภัยที่ต้องฟื้นฟูเยียวยา

การตั้งรับแม้จะฉุกละหุก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตระหนักว่าภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรง ด้วยบทบาทของผู้ชำนาญการพัฒนาชนบท การพลิกฟื้นชีวิต จึงได้ถอดองค์ความรู้ที่มี มาทำโมเดล “โครงการกล้า…ดี” เพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี เป็นต้น

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและกรรมการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่าโครงการกล้า..ดี เป็นการนำหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”และ”ระเบิดจากข้างใน”ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการ “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง” ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเราถนัดทางด้านพัฒนา เราอยู่เฉยๆไม่ได้ คนที่ถูกน้ำท่วม 2-3 เดือน เขากู้เงินมา เป็นหนี้ จะใช้หนี้อย่างไร แจกถุงยังชีพมีคนทำเยอะ แต่การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เราต้องลงมาช่วยเหลือคน โดยตั้งเป้า 1 ล้านครอบครัว หรือประมาณ 4 ล้านคน เราคิดอย่างนั้น

ประสบการณ์ที่ผมทำกับคนจน คือเอาใจกลับมาให้ได้ก่อน ให้เขาสู้กับงาน แล้วลุกขึ้นมาสู้ ไม่รอแบมือขอ ทุกคนมีศักดิ์ มีศรี ไม่มีใครอยากไปขอใครเขากินหรอก แต่เขาไม่มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตนเอง แต่ทำอย่างไรให้เขามีโอกาส มูลนิธิฯตระหนักในเรื่องนี้ ก็คิดเรื่องนี้ขึ้นมา ผมมีประสบการณ์ทำงานกับพวกว้า พม่า เขาเอาข้าวคลุกกับผงชูรสก็กินได้แล้ว และเราให้ข้าว 1 กิโลกรัมต่อครอบครัวซึ่งน้อยมาก ถ้าช่วย 1 ล้านครอบครัวใช้เงิน 750 ล้านบาท มูลนิธิฯไม่มีเงิน แล้วก็คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่กินน้ำปลากับพริกทั้งนั้น แต่น้ำปลาแพง ผมก็คิดถึงเกลือกับพริก และปลูกอะไรเร็วที่สุดคือผักบุ้ง โหระพา พริก มะเขือยาว มะเขือเปราะ เป็นต้น

ดังนั้นถ้าทำจะทำที่ไหน เรามาดูแผนที่ว่าจะเพาะและแจกที่ไหน หากเราต้องขนส่งไปที่นั่นที่นี่ ค่าขนส่งจะกินเราหมด เราต้องหาสถานที่ใกล้น้ำท่วมและคนที่เราจะแจก เราเห็นว่าที่อุทัยธานีกับลพบุรีเหมาะสม จากนั้นก็หาว่ามีใครจะมาช่วยเรา มีคนแนะนำท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุทัยธานี (เผด็จ นุ้ยปรี) บอกว่าเขามีที่ดินอยู่แล้ว มีน้ำ มีดิน มีปุ๋ย มีลานซีเมนต์ 1 ไร่ มาเพาะที่นี่ได้เลย นี่หากไม่ได้นายกอบจ. ซึ่งเขามีเครื่องมือครบ การคลุกดิน 300 ตัน หากใช้มือคลุกก็คงไม่ทัน เอาดินใส่ถุงๆละ 1 กิโลกรัม อบจ.ทำงานกับเรา สนับสนุนเราทั้งรถแม็คโคร รถตัก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เอาเมล็ดพันธุ์ลงถุงแล้ว เราทำที่นี่ 1.4 ล้านต้น และที่ลพบุรี อีก 6 แสนต้น ที่นั่นมีทหารอากาศมาช่วยเรา

“มีพรรคพวกบอกว่าที่อุทัยธานี มีอบจ.บ้าๆที่นี่ ชื่อเผด็จ มีพื้นที่ 38 ไร่ มีลานคอนกรีต 1 ไร่ สบายเลย คลุกดิน มีน้ำ มีไฟ มีโรงปุ๋ยหมักด้วย ไม่ต้องขนประหยัดเงินอีก เครื่องมือเขามีครบ เขายินดีให้ใช้ พอคุยกับเสร็จ ผมบอกเด็กของผม เด็กผมไปรายงานตัวกับเขาทัน เขาตกใจ บ้ากับบ้าเจอกันเลยเกิดโครงการนี้ เราคิดกันวันที่ 12 ตุลาคม 2554 วันที่ 21 ตุลาคม วันสมภพสมเด็จย่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี หากเพาะได้ 45 วัน แจกได้วันที่ 5 ธันวาคม พอดี อะไรจะเหมาะอย่างนี้ ตอนนั้นหาปุ๋ยไม่ได้ แต่ครึ่งชั่วโมงหาได้ หากไม่ได้การสนับสนุน ได้การเนรมิตจากอบจ.โครงกการกล้า..ดี ไม่เกิด มูลนิธิฯไม่สามารถทำสำเร็จ ทุกคนเข้ามาร่วมกันหมด ผู้ว่าราชการ แม้จังหวัดมาร่วมด้วยวาจา เขาไม่ขัดก็โอเค แต่ทางอบจ. กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ที่มาช่วยกัน ที่ลพบุรีมีอีกศูนย์เพาะ มีกำนันที่แข็งมาช่วย ทางผู้ว่าฯมาช่วยสั่งเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ หากให้ 1 คน ทำข้อมูลทุกหมู่บ้าน คงทำให้ไม่ได้ แต่ได้อบจ. อบต. เทศบาลมาช่วย เราเช็คตัวเลขจาก 4 หน่วยงาน เราไม่แจกแบบใครมา ก็แจกๆ ไม่ใช่ ใครน้ำไม่ท่วมเราไม่แจก เราให้คนที่เดือดร้อนก่อน”

โครงการนี้ ทุกคนมีส่วนร่วมหมด มูลนิธิฯเป็นแกนกลาง หากไม่ได้อบจ.ที่นี่คงไม่เกิด ลองดูว่าพื้นที่เพาะปลูก ต้องต่อท่อยาวเท่าไหร่ ข้อต่อต้องใช้พีวีซีเท่าไหร่ ถุงดำที่ใช้เพาะ จะเอาจากที่ไหน 15 ตัน ติดต่อปูนซิเมนต์ไทยให้เขาจัดการให้ เขารู้ว่าจะสั่งการอย่างไร เราบอกว่าเรามาช่วยคนเดือนร้อน ไม่งั้น 4 – 5 เดือนถึงจะได้ เพราะต้องเข้าคิว

หรือเรื่องปุ๋ย หากอบจ.ไม่ช่วยจัดการให้ ก็ไม่ได้ ต้องไปเอาที่สุพรรณบุรี บางแห่งต้องไปเอามาจากที่อื่น นี่คือการออกรบ ต้องให้ทุกคนช่วยกันทำ ประสานงาน หรือการทำกับข้าวแจกชาวบ้านน้ำท่วม เขาทำอาหารสด เขาไม่ได้แจกมาม่านะ

ทั้งหมดไม่ใช่มูลนิธิฯทำ ทุกคนมีส่วนร่วม เราไม่ได้มาช่วยเขา เขาลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง เราร่วมกันคิดร่วมกันทำ เราต้องลุกขึ้นมาทำให้เขาทำเพื่อตัวเองและช่วยคนอื่น เพื่อส่วนรวม ปลุกระดมให้คนลุกขึ้นมา ไม่รอให้ใครมาแจก ทำเพื่อตัวเองเหลือแจกคนอื่นๆ

โครงการกล้า...ดี อาสาช่วยกันบรรจุชุดพร้อมกิน พริก เกลือ กระเทียม
โครงการกล้า...ดี อาสาช่วยกันบรรจุชุดพร้อมกิน พริก เกลือ กระเทียม

ผมอยากให้คนไทยส่วนรวม มาเรียนรู้ไปกับเราด้วย เราไม่ได้ช่วยคน แต่ทำให้เขาลุกขึ้นมาช่วยกันเอง คนที่มาช่วยกันทำต่างมีศักดิ์ศรี ให้คนเขาได้เห็น เอาอันนี้ติดตัวไป จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีในอนาคต ให้ใครๆมาเห็น เพื่อจะได้ไม่ทำซีเอสอาร์(ความรับผิดชอบต่อสังคม)แบบฉาบฉวย

ต้นกล้าที่เพาะในโครงการกล้า..ดี จ.อุทัยธานี
ต้นกล้าที่เพาะในโครงการกล้า..ดี จ.อุทัยธานี

โครงการนี้ เกิดได้อย่างไร ระบบที่ทำ ทำได้อย่างไร อย่างน้ำมาจากไหน คิดไหม… แค่ถุงดำที่ใช้ 15 ตัน ก่อนที่จะโตขนาดนี้(ต้นกล้าที่เพาะ)ต้องทำอย่างไรบ้าง ใครเคยคิดว่าจะต้องรดน้ำอย่างไร ต้องรดเช้ารดเย็น ต้องใช้สปริงเคิล พวกนี้เงินทั้งนั้น ท่อน้ำมาอย่างไร ต้องต่อท่ออย่างไร น้ำต้องไหลบนลงล่าง ทำอย่างไรไม่ต้องสูบน้ำ จะทำให้ประหยัดได้อย่างไร ขบวนการนี้ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมันอัตโนมัติ ไม่ว่าจะปลูกกี่ล้านต้น สิบล้านต้น ร้อยล้านต้น ใช้ระบบเดียวกัน

แต่ทำแล้วชาวบ้านได้อะไร

ดีเอ็นเอของเราคือชาวบ้านได้อะไร นี่เป็นตัวผลักดันให้คนมาช่วยกันทำ ทุกคนอยากทำ เพื่อจะช่วยคน หากเราสามารถสร้างเครือข่ายให้คนมารวมกันทำ นี่คือสิ่งประเสริฐ ซึ่งคนไทยมีอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่จะดึงออกมา ใครเก่งเรื่องไหนให้เขาทำไป ให้เขานำ มูลนิธิฯเสริมได้เราเสริม เอาสิ่งที่ทำร่วมกัน เอาชุมชนมาทำร่วมด้วย คนที่อาสามาทำ บางคนเป็นคนทำงานที่นิคมฯโรจนะ นิคมฯนวนคร ซึ่งน้ำท่วม ไม่มีที่อยู่ เขากลับบ้าน นี่ก็มาช่วยทำทั้งครอบครัว

การช่วยไม่ได้ช่วยคนที่นี่ หรือช่วยคนรับกล้า คนที่มาทำเขาก็เดือดร้อน หนีร้อนมาพึ่งหนาวได้อีก เราเหมาค่าแรง 300 ถุง 200 บาท เราแจกเขาคนเดียว ได้ 9 ถุงเท่านั้น อีก 291 ถุง เขาทำให้คนอื่น ที่เขามารับเหมาเพาะกล้าจึงไม่ได้ช่วยตัวเขาเอง แต่เขาทำเพื่อตัวเองและทำให้คนอื่นด้วย เขามีศักดิ์ศรี ดังนั้นเราต้องดูเบื้องหลังการถ่ายทำ มันมีอะไรเยอะ ต้องดู between the line ไม่ใช่ว่านี่คือต้นไม้ๆ แจกๆๆ

ไทยพับลิก้า : มูลนิธิฯเปลี่ยนวิธีการให้

อย่าคิดว่าเป็นการให้ ทุกคนต้องลุกขึ้นมา ไม่ต้องรอให้ใครมาช่วย เรามาช่วยเรากันเอง นี่ไม่ใช่การให้ มันเป็นการปลุกระดมให้คนให้คิด ลุกขึ้นมา ไม่ต้องรอใคร มาพึ่งตนเอง อันนี้จึงไม่ใช่ ไม่มีใครให้ใคร ทุกคนมาทำด้วยกันเพื่อส่วนรวมและเพื่อตัวเอง และที่เหลือด้วย

ดังนั้นไม่ใช่การให้ หากเป็นการให้ต้องมีผู้ให้ และผู้รับ ผู้ให้เขาได้อะไร เขาทำซีเอสอาร์ ได้หน้าได้ตา อันนั้นมันของปลอม มันเหมือนเขียนคิ้ว ทาปาก ใส่ต่างหู แต่งตัวให้ดูสวย แต่แท้ที่จริง โกยเอาๆ สร้างภาพพจน์ให้ดูดี นี่มันไม่ใช่ คนที่ให้เงินมาช่วยเขาก็ไม่ได้อยากได้หน้า

อาสาที่มาบรรจุ พริก กระเทียม เกลือ ทุกคนมา เขามาจากไหนกัน ทำไมเขามา ไม่ได้จ้างเขามา เขามาเพราะอยากทำ เพราะอยากช่วยคนอื่น บางคนน้ำท่วมแต่ก็ยังมาช่วยคนอื่น เราพยายามทำคือดึงเอาศักดิ์ศรีคนขึ้นมา เอามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นตัวกลาง คนมาร่วมกันคิดมาร่วมกันทำ ดังนั้นน้ำใจคนไทยอยู่ที่ไหนดึงออกมา เพราะทุกคนอยากให้

ไทยพับลิก้า : แจกเฉพาะจังหวัดน้ำท่วม มีกว่า 60 จังหวัด ต้องขยายหรือไม่

ใจเย็นๆ ค่อยๆทีละขั้น อย่าเพิ่งก้าวไปไกล หยุดตรงนี้ก่อน ดูตรงนี้ เรียนรู้จากตรงนี้ มันใช่ไหม ถ้ามันใช่ แล้วค่อยคิดต่อ จะขยายต่ออย่างไร ไม่จบหรอกครับ เราสร้างแบรนด์เนมใหม่ออกมาแล้ว “กล้า…ดี”มาแล้ว และ “กล้า..ดี” จะอยู่ forever ผมรู้ว่าความเข้มแข็งเป็นอย่างไร ผลสะท้อนจากผู้รับ ผลสะท้อนจากสื่อมวลชน ผลสะท้อนจากผู้ให้ ผู้รับ เป็นขบวนการเรียนรู้ทั้งนั้น จากนั้นค่อยมาว่าอีกที ผมมีความคิดอยู่ แต่ยังบอกไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ทำไมต้องสอนการเพาะให้ชาวบ้านซึ่งปลูกเป็นอยู่แล้ว

แต่คนรุ่นใหม่ที่ทำงานในโรงงาน มนุษย์เงินเดือน เขาไม่เคยทำมาก่อน

ผมคิดเรื่องนี้ที่บนดอยตุง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมคิดว่ามูลนิธิฯต้องทำอะไร เพราะเป็นมหาอุทกภัย ผมเรียกคุณประวิทย์ บุญมี ผู้อำนวยการฝ่ายการเกษตร กับคุณณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายC.S.E-ทีมปฏิบัติการภาคสนาม มาหารือว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง เราคิดว่าคนที่น้ำท่วม คนจมน้ำ 2-3 เดือน เดือดร้อนมหาศาล ต้องกู้จิตใจก่อน เอาใจคนมาให้ได้ เอามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมาอยู่ข้างกาย มาพยุงกัน มาคิดร่วมกันว่าเราจะทำอะไรร่วมกัน เอาจิตใจมาก่อน

ประวิทย์ บุญมี(ขวา) - ณรงค์ อภิชัย(ซ้าย) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ประวิทย์ บุญมี(ขวา) - ณรงค์ อภิชัย(ซ้าย) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

และก็ถามว่าปลูกอะไรเร็วที่สุด เขาบอกว่าผักบุ้ง 15 วัน ส่วนพริก 45 วัน แต่กินได้น้ำพริกถ้วยเดียว อีกอาทิตย์ถึงจะเก็บได้อีก ซึ่งพริกต้องใช้เวลา 75 – 90 วัน

ชาวบ้านตำบลเกาะเทโพกล่าวเสริมว่า….สิ่งที่เอามาให้ถูกใจคนรับ เพราะช่วยเหลือ 3 ระยะ ระยะแรกมีกินอยู่กับน้ำได้ ระยะที่สองฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเรามีผักสวนครัวจากต้นกล้าที่ได้รับแจก และระยะที่ 3 เราตั้งเป็นสหกรณ์รวมตัวกัน เพื่อปีหน้าในการปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับแจก มะเขือเปราะ กะเพราะ ถั่วฝักยาว พริก โหระพา

ประวิทย์ บุญมี ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวเสริมอีกว่า …วิธีการคิดว่าจะเอาอะไรให้ พอเดือดร้อนปุ๊บก็ให้แบบไม่มีเป้าหมาย การให้แบบเฉพาะหน้า หากมีการให้แบบให้เขาช่วยเหลือตัวเองในระยะยาว ให้ขาคิด ช่วยเหลือตัวเอง พอคราวหน้าให้ เขาก็เตรียมพร้อม เตรียมตัว ไม่งั้นต้องให้แบบไม่รู้จักจบ

การให้ที่ทำอยู่ให้เพื่อเอาหน้า เพื่อชื่อเสียง เพื่อโน่นเพื่อนี่ คนรับไม่รู้ว่า อ้อ.. คนนั้นมาคนนี้มา เขาคิดว่าเขาต้องได้รับๆๆ มันเหมือนกับการค้าขาย คือให้ของเพื่อซื้อใจ เป็นการค้าขายกันไปแล้ว

ม.ร.ว.ดิศนัดดา …ผมดูแผนที่เพื่อคิดเรื่องลอจิสติกส์ จะส่งอย่างไร เพราะค่าขนส่งจะกินคุณหมดเนื้อหมดตัวเลย อย่างที่ผมทำบนดอยตุง เพาะ 1 ล้านกล้าบนดอยตุง เพาะอยู่ 3 แห่ง แต่ถ้าใช้รถจีเอ็มซีขนเอา 1 ล้านกล้าไปปลูกบนดอยตุง ต้องเดินทางรอบโลก 1 รอบ ประมาณ 29,000 กิโลเมตร

เราก็คิดว่าต้องอยู่ตรงกลางๆ อยู่ติดน้ำท่วมที่สุดเพื่อใกล้ส่งให้จังหวัดน้ำท่วม จากอุทัยธานีขึ้นทางเหนือพิษณุโลก จากลพบุรี ลงข้างล่างไปอยุธยา การขนส่งสะดวก

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกล่าวเสริมว่า….. “โครงการกล้า..ดี” มีเป้าหมายคือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้ประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา เราเน้นแจก 3 พร้อม คือ”พร้อมกิน” มีพริกแห้ง เกลือ กระเทียม “พร้อมปลูก” มีต้นกล้าครอบครัวละ 9 ต้น มีพริกขี้หนู 3 ต้น มะเขือเปราะ 2 ต้น มะเขือยาว 2 ต้น และกะเพราหรือโหระพา 2ต้น “พร้อมเพาะ”มีเมล็ดพันธุ์ มีพริก ผักบุ้ง กวางตุ้ง เป็นการลดรายจ่ายให้แต่ละครอบครัวได้ครอบครัวละ 3,000 บาท ภายใน 120 วัน

พร้อมกิน... พร้อมพริก
พร้อมกิน... พร้อมพริก
กระเทียม ... พร้อมกิน
กระเทียม ... พร้อมกิน

“เรามีขบวนการหาชุมชนที่เข้มแข็งตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน มีรายชื่อทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน สอบทานได้ ต้องการให้เกิดความโปร่งใส ได้ผลสูงที่สุด”

แนวคิดของโครงการคือการระเบิดจากข้างใน คือให้ชาวบ้านลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ลุกขึ้นมาทำเอง กล้าที่เราแจกส่วนหนึ่งและชาวบ้านต้องปลูกเอง เอาไปแจกกันเอง กิจกรรมเราคือลดรายจ่ายและสร้างรายได้ เราเตรียมพริกซูเปอร์ฮอต ให้ชาวบ้านพร้อมเพาะขายได้เลย 30,000 ราย ให้เขารวมกลุ่มกันทำเพราะจะได้อีโคโนมีออฟสเกลในการทำตลาด ปลูกพร้อมกัน ขายพร้อมกัน รวมกลุ่มกันจะขายได้ราคามากขึ้น

ไทยพับลิก้า : ทำไมเลือกชุมชนที่เข้มแข็ง

หลายๆคนมองว่าชาวบ้านเป็นผู้รอรับ จริงๆไม่ใช่ เขามีวิถีของเขามีการบริหารจัดการที่ดีพอสมควร ปัญหาน้ำท่วม คนเดือดร้อนคือคนกรุงเทพ แต่ชาวบ้านเขาอยู่ได้ เขาไปทำอย่างอื่นได้ เราเพียงนำเมล็ดพันธุ์ที่ดีมาให้ อย่าง พริกซูเปอร์ฮอต มีตลาดรองรับค่อนข้างเยอะ ใช้เป็นเครื่องปรุงในมาม่า ไปขายที่ตลาดไท

โครงการนี้ตั้งไว้ 4 เดือน จากนั้นหน่วยงานราชการจังหวัดเข้ามาดำเนินการต่อ และชุมชนพอเขาร่วมกลุ่มกันแล้ว ขบวนการจัดการสามารถลุกขึ้นมาอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ผลพลอยได้จากโครงการนี้จะทำให้คนไทยรวมกันมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : มองเรื่องความมั่นคงทางอาหารหรือไม่

มองครับ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร หลังจากน้ำลดต่อให้มีเงินซื้อได้ไหม เมล็ดซื้อ พืชผักสวนครัวหายหมด หากซื้อได้ก็ราคาแพง ผักบุ้ง กำละ 20 กว่าบาท แล้ว

ไทยพับลิก้า : มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงทำอะไรบ้าง

มูลนิธิฯ ทำทางด้านหน่วยงานพัฒนาชนบท หนึ่งในมิชชั่นเราคือการแก้ปัญหาปากท้อง ลดความยากจน แก้ปัญหาหนี้สิน การสร้างให้ชุมชนเข้มแข็ง ให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาตัวเอง ลุกขึ้นมาบริหารจัดการชุมชนตัวเองได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน มูลนิธิดำเนินการในหลายจังหวัดในภาคเหนือ อีสาน อุดรธานี น่าน และร่วมกับโครงการปิดทองหลังพระ เรามองว่าขบวนการแก้ปัญหา ส่วนมากประมาณเดียวๆกันคือปัญหาปากท้อง ปัญหาความยากจน ปัญหาอาหารไม่เพียงพอ หากเราใช้ขบวนการนี้ เราเชื่อว่าตอบโจทย์ได้ในการแก้ปัญหาในประเทศ

ไทยพับลิก้า : หลังจากนี้ไปจะสร้างเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม หรือโมเดลอะไรไหม

เครือข่ายคงเกิดขึ้นอยู่แล้ว ที่สำคัญกว่าคือชุมชนทำงานด้วยกัน จับมือกัน ในอนาคตจะทำอะไรง่ายขึ้น มูลนิธิฯเอง คือการนำแนวความคิดพระราชดำริมาทำให้เป็นผลที่เป็นรูปธรรมคือชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น

ชุมชนไทยเข้มแข็งมากกว่าที่เราคิด อุทัยธานีน้ำท่วมถึงอก เขาก็อยู่ได้ มันแค่เปลี่ยนวิถี ปรับให้อยู่กับสภาพปัญหาได้ ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาน้ำท่วมยิ่งใหญ่ เขาบอกว่าน้ำท่วมบ้าง แค่คราวนี้หนักมากแต่เขาก็บริหารจัดการได้ดี ที่นี่ชุมชนเข้มแข็งเยอะ โอกาสที่ให้เขามีไหม สิ่งที่เขาขาด เขาไม่ได้ขาดพลัง แต่ขาดองค์ความรู้ที่สามารถนำมาต่อยอดและระบบการบริหารจัดการที่สามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ นี่คือสิ่งที่ชุมชนขาดหลักๆ หากเราสามารถมาช่วยบูรณาการให้เกิดได้ ชุมชนจะเข้มแข็งและช่วยตัวเองได้

ครั้งนี้เราลงมาเราตั้งโจทย์ว่าพืช ผักสวนครัวที่เขาต้องการมีอะไรบ้าง เราล็อกเมล็ดพันธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบกับชุมชนว่าต้องการเมล็ดพันธุ์จริงไหม เมื่อใช่แล้วเราก็ดำเนินการเพาะปลูก แต่ขบวนการดำเนินโครงการเราทำล่วงหน้าควบคู่กันไปจองถุงดำ ดิน เราไม่ต้องการแจกต้นกล้าเล็กๆ อันนี้มีการเดาใจชาวบ้านบ้างและมาครอสเซ็คทีหลัง

ชุมชนที่มาช่วย เราประสานงานกับจังหวัด ทุกคนมีจิตอาสามาแพ็คของ เราดีใจที่คนกรุงเทพมาแพ็คของที่อุทัยธานี เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน

พื้นที่ใช้เพาะ เป็นโรงปุ๋ยหมักอบจ.การบูรณาการของหลายหน่วยงาน อบจ.บอกว่ามีเงินยังไม่สามารถทำได้อย่างนี้ ไม่ว่าทั้งทีมงาน การวางแผนการหาวัสดุต่างๆ อบจ.อำนวยความสะดวกเรื่องสถาน เครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง ต่างๆให้ เขาประสานงานกับชาวบ้านมาช่วยเรา เรานำองค์ความรู้มา นำเมล็ดพันธุ์ที่ดีมา ทำระบบการบริหารจัดการและทำงานร่วมกันและกระจายเมล็ดพันธุ์ให้ชาวบ้าน

ไทยพับลิก้า : การหาชุมชนที่เข้มแข็งไม่ยากใช่ไหม

มันต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ต้องมีที่คนกล้า กล้าที่จะนำในทางที่เราว่าไม่ถูก เช่น ต้องคอยรับความช่วยเหลือตลอด หากมีผู้นำ หรือใครที่รวมกลุ่มกัน ให้อยู่แบบมีศักดิ์ศรีจะช่วยได้ ต้องปลุกจิตสำนึก

อบจ.อุทัยธานี ตัวอย่างทำงานแบบบูรณาการ

บ่อยครั้งที่เราพูดถึงการทำงานอย่างบูรณาการ ที่สามารถประสานเครือข่ายรู้ว่าใครมีทรัพยากรอะไรอยู่ที่ไหน ใครมีองค์ความรู้ความสามารถอะไร นำมาต่อยอดกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เป้าหมายสูงสุดแก่ส่วนรวม โครงการกล้า..ดี เกิดขึ้นได้และบรรลุตามวัตถุประสงค์ร่วมกันของทุกฝ่าย บทบาทที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการทำงานอย่างบูรณาการของ “เผด็จ นุ้ยปรี”นายกอบจ.จังหวัดอุทัยธานี

นายเผด็จ นุ้ยปรี อบจ. จังหวัดอุทัยธานี
นายเผด็จ นุ้ยปรี อบจ. จังหวัดอุทัยธานี

…การช่วยเหลือพี่น้องน้ำท่วมในเรื่องอาหารสด กับข้าว เราไม่ได้ทำเอง ให้อบต.ที่น้ำไม่ท่วม หมุนเวียนกันหมู่บ้านละวัน แต่ละอำเภอช่วย ส่งมาให้ที่น้ำท่วม แล้วแต่ว่ารับผิดชอบตำบลไหน ก็บริหารจัดการกัน น้ำท่วมอยู่ 2 – 3 เดือน พี่น้องที่น้ำท่วม หากให้กินแต่มาม่า ปลากระป๋อง คงไม่ไหว มันเครียด จะหากินอย่างอื่นก็ไม่มี ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ตายหมดแล้ว ก็ให้พี่น้องที่น้ำท่วมหุงข้าวรออย่างเดียว ทางนี้ทำเป็นอาหารถุง ส่งจากรถ ลงเรือ ไปแจก มันเกื้อกูลกันหมด เช่น สะแกกรัง 2,000 ถุง น้ำซึม 1,200 ถุง เกาะเทโพ 1,200 ถุง เป็นต้น เราเอารถไปส่งที่ท่าเรือ ที่ท่าเรือไปแบ่งกันว่าหมู่ไหน ที่ไหน เท่าไหร่

น้ำดื่มผมซื้อขวดเปล่ามาแพ็ค มีโรงงาน (ผู้ใหญ่บ้านวังหิน คุณชาตรี บังบุญฤทธิ์) เขาให้น้ำฟรี ประหยัดไปเยอะ ซื้อขวดมา 1.50 บาท แทนที่จะไปซื้อน้ำขวดละ 5-6 บาท มีอาสาสมัครไปช่วยกันแพ็ค 1 นาที 24 ขวด น้ำดื่มไม่มีขาด หากรอบริจาคไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ผมประกาศวิทยุ รับสมัครคนแพ็ค ไม่ต้องเอาข้าวมาเราหุงให้กิน แต่คน”ลานสัก”ห่อข้าวไปช่วยแพ็คน้ำ วันละ 3 – 4 หมื่นขวด 3 ชั่วโมงเปลี่ยนทีมแพ็คที เพราะเหนื่อยมาก ซึ่งคนที่ประสบน้ำท่วมเฉพาะเขตอำเภอเมืองประมาณ 30,000 คน

ผมคิดว่าโมเดลนี้น่าจะใช้ทั่วประเทศ ไม่ต้องใช้งบประมาณ อย่างกับข้าว น้ำ หมู่บ้านต้องมีเครื่องกรองน้ำ สำหรับหมู่บ้านที่น้ำท่วมแน่ๆ และโรงงานผลิตขวดอย่าไปอยู่ที่เดียวกัน น้ำท่วมก็ผลิตไม่ได้ อัมพาตกินหมดเลย ไม่งั้นขยะที่เป็นขวด โฟมจะเยอะมาก

แต่ละหมู่บ้านเวียนกันทำอาหารคนละวัน อย่างไข่พะโล้ ทำเป็นถุงใหญ่เลย วนกันไป ที่อุทัยธานี ผมเป็นพี่ใหญ่ แค่โทรศัพท์ก็ดำเนินการได้เลย หนักเฉพาะพื้นที่อำเภอเมือง 7 ตำบล อยู่ริมเจ้าพระยา พื้นที่ด้านในน้ำไม่ท่วม

ไทยพับลิก้า : การที่ลุกขึ้นมาจัดการบริหารกันเอง ช่วยเพราะการช่วยเหลือมาไม่ถึงหรือต้องการช่วยชาวบ้านอยู่แล้ว

ผมเป็นอบจ.มา 2 สมัย เราเริ่มตั้งแต่น้ำเริ่มเข้าแต่ละพื้นที่ เราเช็คตั้งแต่ท้ายเกาะ มีจุดที่เราตรวจสอบ ปัญหาอยู่ตรงไหนแก้ปัญหาแต่ละวัน เราทราบปัญหาไล่ไปเรื่อยๆ จากนั้นมาป้องกันน้ำเข้า จนป้องกันไม่ไหวแล้ว น้ำเข้าแล้วจะทำอย่างไรต่อ น้ำเอาที่ไหน ข้าวเอาที่ไหน คุยกันตลอด ผมเป็นคอลเซ็นเตอร์ ใครเดือดร้อนอะไรโทรมาหา

“รู้ข้อมูลจริง แก้ปัญหาให้ถูกต้อง สามารถเป็นศูนย์กลางกับหัวหน้ากลุ่มผู้อพยพ เราประสานกันทุกวัน อะไรไม่สะดวกเท่ากับการสื่อสาร เราโทรเช็คทุกวันเราแก้ปัญหาทุกวัน เช่นหม้อแปลงจะจมแล้วนะ ก็โทรหาไฟฟ้า ไปยกขึ้น หรือที่เอาอาหารสดมาให้เราคิดเพราะท่วมนาน พอ 2-3 เดือน เครียดมาก เดิมท่วมแค่ 15 วัน เดือนหนึ่งก็โอเค อย่างนั้นไม่เครียด”

ไทยพับลิก้า : การได้มาซึ่งอาหารสด ขบวนการทำอย่างไรทั้ง วัตถุดิบ คนทำ

เทศบาลแต่ละแห่ง อบต.แต่ละแห่งที่อยู่ในพื้นที่น้ำไม่ท่วม ที่เราให้รับผิดชอบทำอาหารอาทิตย์ละวัน เขาไปบอกพี่น้องในตำบลเขา รวมแต่ละหมู่บ้านมา หมู่บ้านไหนกี่ถุง เขาทำมาส่งเลย ไม่ได้ใช้งบประมาณ เขาทำมาให้เลย หรือพี่น้องอยากเข้าไปดูในพื้นที่ เราก็มีให้เข้าไป ให้เห็นว่าพี่น้องเขายากลำบากแค่ไหน เขาจะได้มีกำลังใจมาช่วย

ตอนนี้ผมให้เทศบาลที่น้ำไม่ท่วมให้เขาขุดข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มามอบให้มูลนิธิฯ เพราะน้ำท่วมพวกนี้ตายหมด เอาไปแจกเพื่อไปปลูกต่อไปเลย

ไทยพับลิก้า : อุทัยธานีรับมือได้ดี

ทุกหน่วยงานท้องถิ่นเราทำงานแบบบูรณาการตลอด ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วมเท่านั้น ที่มี 14 เทศบาล 49 อบต. สนิทกันหมด เวลาเรามีเครื่องมือ พี่น้องเดือดร้อนเรื่องน้ำทำนา ก็มาเอารถแม็คโครไป เขาออกค่าน้ำมัน เขาจะได้เฝ้าน้ำมัน เขาเอาน้ำมันมาเติมเขาต้องมาเฝ้า เราไม่ต้องเฝ้า

พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

ไทยพับลิก้า : กรณีอื่นๆ

การทำงานร่วมกัน การขุดลอก การลาดยางถนน ทำร่วมกันหมด เขาลาดกัน 3.5 ล้านบาท เราลาด 1.5 ล้านบาท ประหยัดไป 2 ล้านบาท ใช้เครื่องจักรอบจ.เพราะเราบูรณาการ หรือการขุดลอกคลอง จ้างเหมา 1 ล้านบาท แต่เติมน้ำมันไม่ถึง 5 หมื่นบาท ประหยัดไป 950,000บาท ผมส่งรถไปให้ เอารถไปขุด ขุดให้ได้ผลสัมฤทธิ์ของงาน ขุดให้ได้น้ำ ไม่ใช่ขุดตามแบบ แล้วเสร็จงาน เพราะชลประทานบอกให้ขุดแค่นี้ แต่สำเร็จหรือไม่ พี่น้องจะได้น้ำหรือไม่ มันตอบไม่ได้ แต่เราทำงานกันแบบนี้ ตอนนี้ทางอบจ.ผมออกไปซ่อมถนนทุกวัน

ไทยพับลิก้า : ในแง่การประสานเครือข่ายในท้องถิ่น

ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด หากผมรู้น้อยว่าคนอื่นก็อย่าเลือกผมเป็นนายกอบจ. โครงการฟื้นฟู ตอนนี้ถนนซ่อมแซมเกือบหมดแล้ว

อย่างโครงการกล้า..ดี ผมไม่รู้จักคุณชาย(ดิศนัดดา) โทรมาหาผมแค่ 15 นาที ผมนั่งทำงาน ลูกน้องท่านมาพบ ก็คุยกันว่าคุณจะเอาอะไรบ้าง (หัวเราะ)ก็ทำ