ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เร่งเคลมประกันน้ำท่วม ห่วงเงินไม่ถึงมือผู้เสียหาย

เร่งเคลมประกันน้ำท่วม ห่วงเงินไม่ถึงมือผู้เสียหาย

7 ธันวาคม 2011


ปัญการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือการเคลมความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า วงเงินที่ภาคธุรกิจทำประกันภัยไว้มีจำนวน 700,000 ล้านบาท แต่มีความเสียหายต้องเคลมประกันเป็นวงเงินประมาณ 20-30 % ของวงเงินประกันรวม

การเคลมความเสียหาย จึงเป็นอีกประเด็นเร่งด่วนพอๆ กับการสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทประกันภัยในประเทศและต่างประเทศรับทำประกันภัยน้ำท่วม เนื่องจากการเคลมความเสียหายถ้าทำได้เร็ว ภาคธุรกิจจะมีสภาพคล่องทางการเงินมาหมุนเวียน ฟื้นฟูโรงงานได้เร็ว สามารถเดินหน้าทำการผลิตได้ และกลับมาจ้างงานได้เหมือนเดิม แต่ถ้ามีความล่าช้า ภาคธุรกิจอาจติดขัด ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจตามมา

น้ำท่่วม 7 นิคมอุตสาหกรรม
น้ำท่่วม 7 นิคมอุตสาหกรรม ที่มา http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2011/11/02/h6e5debbbe8gkjkh5bbgg.jpg

แต่การเคลมความเสียหายจะทำได้เร็ว ต้องใช้ผู้ประเมินจำนวนมาก ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะขาดแคลนผู้ประเมิน ดังนั้นอาจมีความจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวว่า ต้องมีคนทำงานด้านประเมินมากกว่านี้ ถ้าคนในประเทศไม่พอก็จะอนุญาตให้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยวิธีการเช่น ในนิคมอุตสาหกรรม ถ้าต้องการนำเข้าผู้ประเมินก็เหมาเข้ามาเลย เป็นต้น

ขณะที่ปัญหาการจ่ายเคลมความเสียหาย นายธีระชัยระบุว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตั้งเป้าไว้จะมีการจ่ายเคลม 75% ของความเสียภายใน 12 เดือน แต่ได้สั่งให้หารือขอให้จ่ายให้จบ 75% ภายใน 6 เดือนได้หรือไม่ ภาคเอกชนจะได้เดินหน้าเร็ว โดยขอให้จ่ายบางส่วนไปก่อนและขอธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อช่วยเอกชนที่ยังไม่ได้รับเคลมความเสียหาย

ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ รัฐมนตรีคลังกล่าวว่า ขณะนี้ก็เดินหน้าต่อไป โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง (นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม) เป็นผู้ผลักดันร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)

ด้านนายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภค เห็นด้วยที่ต้องเร่งหาผู้ประเมินมาให้เพียงพอกับการประเมินความเสียหาย เพื่อผู้เสียหายจะได้รับเคลมความเสียโดยเร็ว แต่การจ่ายเคลมประกันความเสียหายมีประเด็นที่เป็นข้อกังวลคือ ผู้เสียหายหรือธุรกิจจำนวนมากซึ่งกู้ยืมเงินธนาคารพาณิชย์มาลงทุน เมื่อทำประกันภัยโรงงาน จะพบว่าเงื่อนไขผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยจะระบุผู้รับผลประโยชน์คือ ธนาคารพาณิชย์

นั่นหมายความว่า เมื่อมีการจ่ายเคลมความเสียหาย ผู้ที่รับเงินคือ ธนาคารพาณิชย์ ไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนั้นกว่าที่ผู้ประกันจะได้รับเงินเคลมความเสียหาย ต้องรอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาก่อนในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งอาจเกิดความล่าช้า หรือไม่ได้รับเงินเคลมความเสียหายเลย เพราะถูกธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ยึดไปหักกลบชำระหนี้

ประธานคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภค จึงเสนอกรณีน้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้ ขอให้บริษัทประกันภัยและธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวโดยขอให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินเคลมความเสียหายโดยตรงกับธุรกิจที่เสียหาย หรือหากธนาคารพาณิชย์ได้รับเงินเคลมความเสียหายก็ขอให้ผ่อนปรนรีบคืนให้ผู้เสียหายก่อน เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องหมุนเวียนในช่วงกำลังฟื้นฟูกิจการ

สำหรับประเด็นความเป็นห่วงว่าบริษัทประกันภัยในต่างประเทศจะไม่รับประกันภัยต่อ นายชัยนันท์มั่นใจว่า บริษัทประกันภัยต่างประเทศคงรับประกันภัยต่อ เพราะเป็นธุรกิจของเขา แต่เบี้ยประกันอาจแพงขึ้นจากเดิม และจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายในกรมธรรม์ประกันภัย

แต่การจะทำให้เบี้ยประกันภัยกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากจะมีโครงการลงทุนป้องกันปัญหาน้ำท่วมให้เป็นรูปธรรมแล้ว นายชัยนันท์ เสนอว่าอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ คปภ. ต้องควบคุมดูแลธุรกิจประกันภัยให้กลับมาสู่การคิดเบี้ยประกันภัยที่สอดคล้องกับความเสี่ยงแท้จริง หรือเป็นไปตามอัตราความเสี่ยงที่มีการคิดคำนวณไว้เป็นมาตรฐาน เพราะว่าในปัจจุบันธุรกิจประกันภัยแข่งขันกันสูง จึงมีการตัดราคาค่าเบี้ยประกันแข่งกันจนค่าเบี้ยประกันไม่คุ้นกับความเสี่ยง เมื่อไปประกันภัยต่อก็ไปต่อรองกดราคากันอีกต่อหนึ่ง ทำให้บริษัทในต่างประเทศไม่ค่อยอยากรับประกันภัยต่อ

“ปัจจุบันค่าเบี้ยประกันไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง หรือ back to basic คือกลับคืนสู่การคิดเบี้ยประกันความเสี่ยงที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในวงการประกันภัยให้กลับมาเหมือนเดิม”นายชัยนันท์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชัยนันท์ บอกว่าไม่ค่อยเป็นห่วงบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะส่วนมากใช้บริการผ่านโบรกเกอร์ (บริษัทนายหน้าประกันภัย) ซึ่งเป็นมืออาชีพให้คำแนะนำปรึกษาการประกันภัยความเสี่ยงต่างๆ ทำให้มีอำนาจต่อรอง และได้รับชดเชยความเสียหายอยู่แล้ว หรือแม้แต่ประกันภัยต่อก็สามารถเจรจาต่อรองได้ แต่บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่ซื้อประกันภัยเอง ไม่มีอำนาจต่อรองจะน่าเป็นห่วงมากกว่า

ขณะที่นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาคปภ. ยอมรับว่าขาดแคลนผู้ประเมินความเสียหาย และพยายามประสานให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้ด้านนี้มาช่วยดำเนินการ และเมื่อกระทรวงการคลังอนุญาตให้นำเข้าผู้ประเมินความเสียหายได้ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ นั้น ดั้งนั้นบริษัทประกันภัยที่ต้องการนำเข้าผู้ประเมินฯ ก็สามารถขอมาได้ทันที

ส่วนกรณีที่มีบางบริษัทเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ เมื่อทำประกันภัยแล้วกรมธรรม์ระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นธนาคารพาณิชย์นั้น เลขาคปภ. ระบุว่า เรื่องนี้เป็นข้อตกลงทางธุรกิจที่เอกชนตกลงกัน เป็นสิทธิเชิงพาณิชย์ ภาครัฐหรือทางการคงไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ และไม่ทราบว่ากรณีแบบนี้มีมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาของเอกชนด้วยกันเอง

นายประเวชมีความเห็นเช่นเดียวกันว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการ เคลมประกัน หรือการทำประกันภัยต่อ เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองสูงไม่ว่าจะเป็นค่าเบี้ยประกัน หรือเงื่อนไขความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะต่อรองกันอย่างไร

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือบริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ที่มีอำนาจต่อรองน้อย บริษัทประกันภัยอาจไม่รับทำประกันภัยต่อจนกว่าจะเชื่อมั่นว่า โรงงานอยู่ในพื้นที่ไม่เสี่ยงจะถูกน้ำท่วมรุนแรงเหมือนปีนี้ หรือถ้ารับทำประกันภัยเบี้ยก็จะสูงมาก ดังนั้นช่วงรอยต่อดังกล่าว นายประเวชกล่าวว่ามีแนวคิดให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยจัดตั้งกองทุนมหันตภัยเข้ามารับความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในอนาคตด้วย

“รัฐมนตรีคลังสั่งให้ คปภ. เร่งไปศึกษาดูรูปแบบการจัดตั้งกองทุนมหันตภัยในต่างประเทศว่ามีรูปแบบใดบ้าง ดังนั้นจะตั้ง กองทุนมหันตภัยหรือไม่ หรือดำเนินการได้เมื่อไร ต้องรอผลการศึกษาจากต่างประเทศก่อน” เลขาคปภ.กล่าว

“ดร.โกร่ง” เอาเกียรติภูมิเป็นประกัน นำทีมเรียกความเชื่อมั่นต่างประเทศ

ปรากฏการณ์บริษัทประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ มีท่าทีจะปฏิเสธรับประกันความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม หรือถ้ารับก็คิดเบี้ยประกันภัยแบบกว้ากระโดด แถมยังรับแบบนี้เงื่อนไขด้วย เช่น รับประกันความเสียหายเพียง 10 % ของความเสียหายที่เกิดขึ้น อีก 90 % เจ้าของต้องรับความเสี่ยงเอง

สะท้อนถึงการขาดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ และไม่มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมจะแก้ไขได้ในปีต่อไป สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ “ดร.วีระพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย(กยอ.) ต้องนำทีมคณะผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ไปเจรจาสร้างความเชื่อมั่นกับบริษัทประกันภัยต่างประเทศ 13 แห่งถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นตลาดอินชัวรันซ์ใหญ่ที่สุดในโลก

คณะทำงานที่เดินทางไปพบบริษัทประกันภัยต่างประเทศ  ที่ลอนดอน อังกฤษ
คณะทำงานที่เดินทางไปพบบริษัทประกันภัยต่างประเทศ ที่ลอนดอน อังกฤษ ที่มา www.insuranceday.com (thursday 24 november 2001)

หลังเดินทางกลับจากการเจรจา ดร.วีระพงษ์ ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า “การไปสร้างความเชื่อมั่นครั้งนี้ ได้เอาเกียรติเป็นประกันว่ารัฐบาลได้ให้ความสูงสุดในการแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำ และจะดำเนินมาตรการปกป้องไม่ให้น้ำท่วมอีกอย่างเป็นรูปธรรม”

โดยในอีก 4 เดือนข้างหน้าบริษัทลอยด์ ยักษ์ใหญ่รับประกันภัยต่อขอให้คณะของดร.วีระพงษ์ไปให้ข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนที่จะรับประกันภัยต่อ

ล่าสุด ดร.วีระพงษ์ ได้นำทีมไปเจรจากับประธานบริษัทประกันภัยญี่ปุ่น 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทมิตซุย สุมิโตโม บริษัทสมโพธิ์เจแปน และบริษัทโตเกียวมารีน ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรายใหญ่ให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ประสบปัญหาอุทกภัย มีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมกันมากกว่า 260,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60 % ของจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งหมดของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานกล่าวภายหลังเดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า คณะผู้แทนไทยได้ชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงแนวทางในการป้องกันอุทกภัยในอนาคต ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้โดยเร็วที่สุด รวมถึงการผ่อนคลายกฎ ระเบียบด้านประกันภัยเพื่อให้กระบวนการการประเมินความเสียหายเป็นไปอย่าง ซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่ง

“โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยญี่ปุ่นตระหนักถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และได้ยืนยันที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไป รวมถึงยืนยันความพร้อมด้านการเงินเพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัทลูกในประเทศไทยให้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว แม้ว่ามูลค่าความเสียหายจะสูงมากก็ตาม” ปลัดกระทรวงคลังกล่าว

การเดินสายของดร. วีระพงษ์ เพื่อไปเจรจาสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทประกันภัยในต่างประเทศ มีแต่การจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆมากมายขึ้นมา และมีเพียงแนวคิดกับนโยบายที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นว่าจะป้องกัน หรือปกป้องปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างเขื่อนล้อม 7 นิคม ซึ่งเซ็นสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นว่าจะดำเนินการ โดยให้ธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินทุนปล่อยกู้จำนวน 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 0.01 % แต่ล่าสุดยังเจรจาต่อรองยืดระยะเวลากู้จาก 7 ปี เป็น 15 ปี และสุดท้ายใครจะกู้บ้างก็ยังไม่ชัดเจน

แม้การดำเนินการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันน้ำท่วมในระยะเร่งด่วน ก็ยังจัดลำดับความสำคัญของโครงการไม่เรียบร้อย ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ผ่านมา(6 ธ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีคลัง กล่าวว่า กระทรวงต่างๆ ยื่นของบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมเข้ามา แต่ปรากฏว่าไม่ได้แยกว่าเรื่องใดเร่งด่วน เรื่องใดเป็นเรื่องระยะยาว ครม.จึงสั่งให้ทุกกระทรวงกลับไปจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยเรื่องเร่งด่วนต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เช่น การซ่อมแซมเขื่อนบางโฉมศรี เป็นต้น ก็จะให้เบิกจ่ายงบประมาณได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนเรื่องระยะยาวก็ต้องดูไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และต้องสอดคล้องกับชุดของกยอ.

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีเวลาให้รัฐบาลจัดระเบียบและเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพราะการเดินทางไปรอบสองของ ดร.วีระพงษ์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจำเป็นต้องมีความคืบหน้าในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำไปโชว์ให้บริษัทประกันภัยต่างประเทศ ไม่เช่นนั้น เกียรติภูมิของ ดร.วีระพงษ์ ที่สร้างและสะสมมาในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยอาจจบที่รัฐบาลนี้