ThaiPublica > เกาะกระแส > แดนสนธยา “อสมท.” คณะกรรมการยกทีมออกตามใบสั่ง หลังประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 9 ธค.นี้

แดนสนธยา “อสมท.” คณะกรรมการยกทีมออกตามใบสั่ง หลังประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 9 ธค.นี้

2 ธันวาคม 2011


นายสุรพล นิติไกรพจน์ ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/content/2011/07/22/188370/hr1667/630.jpg
นายสุรพล นิติไกรพจน์ ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/content/2011/07/22/188370/hr1667/630.jpg

หลังจากที่ประลองกำลังกันมานานกว่า 1 เดือน ระหว่างกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ปะทะกับคณะกรรมการบริษัทอสมท. จำกัด(มหาชน)ที่จะมีการถอดถอนคณะกรรมการทั้งหมด ในที่สุดฝ่ายการเมืองก็เริ่มเป็นฝ่ายถอยก่อน โดยต้องยอมถอนเรื่องการปลดคณะกรรมการอสมท.ทั้งคณะ ออกจากวาระการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้เพื่อยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากปมประเด็นที่คณะกรรมการอสมท.รู้สึกว่า ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังแทรกแซงการบริหารงาน

เบื้องหลังของการเจรจาสงบศึกในครั้งนี้ แหล่งข่าวจากบริษัท อสมท.กล่าวว่าฝ่ายการเมืองได้เปิดโต๊ะเจรจากับนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการอสมท.เรื่องที่ฝ่ายการเมืองสั่งให้กระทรวงการคลังในฐานะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ใช้เวทีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อปลดคณะกรรมการออกทั้งคณะ ทั้งๆที่ไม่มีความผิด ซึ่งตรงนี้อาจจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรรมการ เมื่อฝ่ายการเมืองทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงยอมถอย โดยกระทรวงการคลังจะถอดวาระการถอดถอนคณะกรรมการทั้งคณะออกไป

ทั้งนี้กรรมการทั้งหมดมี 11 คน ได้ตกลงกันว่าในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะมีกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐยื่นใบลาออก 4 คน ทำให้เหลือกรรมการเพียง 7 คน อยู่ดำเนินการในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไปจนครบทุกวาระ จากนั้นในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ กรรมการที่เหลือต้องยื่นใบลาออกทั้งหมด และคาดว่าจะใช้เวลาในการตั้งคณะกรรมการใหม่กลับเข้ามาบริหาร อสมท.ได้ภายใน 1 เดือน แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง ตามกฎหมายกำหนดให้กรรมการที่ลาออก ปฏิบัติหน้าที่ดำเนินการประชุมไปจนจะมีคณะกรรมการใหม่เข้าทำหน้าที่

“จริงๆ แล้ว เป้าหมายปลดไม่ได้อยู่ที่บอร์ดทั้งคณะ แต่อยู่ที่นายสุรพลคนเดียว โดยมารยาทแล้วเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล กรรมการที่นั่งอยู่ในบอร์ด ก็ต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้การเมืองส่งตัวแทนเข้าไปนั่งตามบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ แต่นายสุรพลดื้อ เพราะเห็นว่าในเดือนเมษายนปี 2555 จะมีกรรมการหลายคนครบวาระ อาจจะใช้จังหวะนี้ลาออก และที่สำคัญ อสมท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แถมยังเป็นองค์กรสื่อมวลชนด้วย การเมืองยิ่งไม่ควรเข้ามาแทรกแซง พอเขาสะกิดแล้วไม่ลุก ก็ต้องเล่นไม้แข็งกัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่าขณะที่ตัวองค์กรเองก็มีความขัดแย้งกันภายใน ที่นี่ก็ถือว่าเป็นแดนสนธยาอีกแห่งหนึ่ง ผู้บริหารจะแบ่งออกเป็น 2-3 ก๊กใหญ่ สลับกันขึ้นมานั่งคุมอำนาจ ในยุคที่นายสุรพล เป็นประธานกรรมการ อสมท. ก็จะมีนายธนวัฒน์ วันสม เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกในระดับผู้บริหาร ช่วงแรกๆนายสุรพลได้ให้การนับสนุนการทำงานให้นายธนวัฒน์ แต่ตอนหลังมาแตกคอกัน และถึงจุดตอนที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของอสมท.ครั้งใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะกรณีย้ายนางดวงใจ มหารักขกะ รองเอ็มดี กลับมานั่งคุมสำนักข่าวไทย

นางกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://region4.prd.go.th/images/article/news6155/t20110902120746_102118.jpg
นางกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://region4.prd.go.th/images/article/news6155/t20110902120746_102118.jpg

ความขัดแย้งก็เริ่มบานปลายขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง โดยมีผู้บริหารกลุ่มที่เสียประโยชน์ไประดมพนักงานของอสมท.ที่อยู่ภูมิภาคโดยแจ้งว่าจะไปร้องเรียนกับนางกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไม่อนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์ BWA (Broadband Wireless Access) เพื่อทำฟรีทีวี ถ้าไม่ได้อุปกรณ์นี้ อสมท.จะถูกยึดคลื่น มีพนักงานร่วมลงชื่อร่วม 200 คน นั่งรถบัสไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่นางกฤษณา ซึ่งเรื่องร้องเรียนมีประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ และการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารที่ไม่เป็นธรรม

“ในช่วงนี้เองบอร์ดของอสมท. ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประเมินผลงานนายธนวัฒน์ เพราะนายธนวัฒน์ไม่ใช่พนักงานตั้งกรรมการสอบวินัยไม่ได้ จึงใช้วิธีประเมินผลงานแทน พบว่าการปฏิบัติงานมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ และอาจจะเกิดผลเสียหายต่อองค์กรในอนาคตได้ บอร์ดจึงบอกเลิกสัญญาจ้างแล้วจ่ายผลตอบแทนย้อนหลังให้ 6 เดือน”

ต่อมาวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา นางกฤษณา ทำหนังสือถึงนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ใช้อำนาจผู้ถือหุ้นใหญ่สั่งระงับแผนการปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัทและการแต่งตั้งโยกย้าย และให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ และเมื่อได้ข้อสรุปให้รายงานรัฐมนตรีสำนักนายกฯเห็นชอบก่อนที่จะดำเนินการต่อไป

จากนั้นในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือถึงนายสุรพลให้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นภายใน 30 วัน เพื่อปลดบอร์ดออกทั้งคณะ บังเอิญช่วงนั้นเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมจากวันที่ 25 พฤศจิกายนมาเป็นวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ซึ่งการที่ฝ่ายการเมืองสั่งให้กระทรวงการคลังออกหนังสือไปถึง อสมท.ถึง 2 ฉบับ น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 266 และ 268

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปอีกว่าการเป็นผู้บริหารที่นี่ทำงานลำบาก เปลี่ยนรัฐบาลทีก็ต้องมีการสับเปลี่ยนขั้วอำนาจตามมา อย่างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็มีกรณีของนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. ก็มีความขัดแย้งกับคณะกรรมการ จนต้องถูกบอกเลิกสัญญา จ้างออก พอมายุคนายธนวัฒน์ก็ถูกจ้างออกเหมือน เกือบทุกยุคทุกสมัย องค์กรแห่งนี้หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง และมีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้น ทำให้งานด้านกลยุทธ์องค์กรไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ส่วนใหญ่มีแต่งานประจำที่ทำตามปกติ อย่างเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรและโยกย้ายผู้บริหารก็เพื่อรองรับกับกฎหมายกสทช.และการแข่งขันในอนาคต จึงมีการเพิ่มตำแหน่งรองขึ้นมาดูแล 6 สายงาน และที่สำคัญคือฝ่ายการตลาดจะเป็นฝ่ายหารายได้ให้กับองค์กรในอนาคต

นายธนวัฒน์ วันสม อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อสมท. ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2010/02/03/images/news_img_98727_1.jpg
นายธนวัฒน์ วันสม อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อสมท. ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2010/02/03/images/news_img_98727_1.jpg

สำหรับอสมท.ถือเป็นการประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ไม่เหมือนกรมประชาสัมพันธ์ หรือช่อง 11 ดังนั้นเมื่อกฎหมายกสทช.มีผลบังคับใช้ คลื่นที่เคยเป็นทรัพย์สินของอสมท.จะต้องส่งคืนกสทช. เพื่อนำออกมาเปิดประมูลใหม่ ปัจจุบันอสมท.มีคลื่นวิทยุทั้งหมด 53 คลื่น และมีคลื่นโทรทัศน์อีก 2 คลื่น คือทรู กับช่อง 3 เมื่อครบกำหนดสัญญาสัมปทานก็ต้องส่งคลื่นคืนกสทช.เหมือนกัน เพื่อนำไปเปิดประมูลใหม่ ทุกคนมีสิทธิลงแข่งประมูลคลื่นไปบริหารได้อย่างเสรี

จากการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่อสมท.คลื่นที่มีอยู่ 53 คลื่น พบว่าพอมีกำไรแค่ 43 คลื่น เหลืออีก 10 คลื่นไม่มีกำไร ทั้งนี้กำลังประเมินผลอยู่หากยังขาดทุนสิ้นปีนี้ก็คงจะต้องส่งคืนกสทช. ส่วนพนักงานเราก็โอนเข้าทำงานที่สำนักงานใหญ่ ขณะเดียวกันอสมท.จะต้องเริ่มทยอยจดทะเบียนบริษัท 53 แห่ง เพื่อเตรียมตัวเข้าไปประมูลคลื่นที่ส่งคืนกสทช.กลับคืนมา โดย 1 คลื่นหนึ่งบริษัท และถ้าหากเป็นคลื่นที่อยู่ต่างจังหวัดตามกฎหมายกสทช.ระบุว่าจะต้องมีผู้ถือหุ้นที่เป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของหุ้นบริษัททั้งหมด

ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นของอสมท. คณะกรรมการตัดสินไม่ได้ดูที่ตัวเงิน หรือกำไรเป็นหลัก แต่ดูที่แผนในการทำธุรกิจ เป็นรายการแนวไหน ทำแล้วมีกำไรหรือไม่ หลังจากที่ประมูลมาได้แล้ว การบริหารงานทุกอย่างเป็นเชิงธุรกิจเป็นหน่วยธุรกิจแต่ละหน่วย เพราะคลื่นที่ได้มาจากกสทช.ไม่ฟรีเหมือนก่อน ทางกสทช.จะเก็บค่าธรรมเนียม 2 % ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นต้องแยกเป็นบริษัทและคิดค่าบริการหากมีการใช้บริการข้ามบริษัท ตรงนี้ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ จึงต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับกับการแข่งขันที่สูงมาก รวมทั้งวางแผนหารายได้มาชดเชยกับรายได้จากสัมปทานที่จะหายไปด้วย ต่อจากนี้ไปอสมท.คงจะไม่ใช่เสือนอนกินเหมือนเมื่อก่อน ต้องมีความกระตื้อรือร้นมากกว่านี้

นอกจากนี้อสมท.ยังมีภาระที่จะต้องดูแลที่ดินตาบอดอีก 50 ไร่ ซึ่งซื้อมานายสมัยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นเอ็มดี ล่าสุดนายธนวัฒน์ เพิ่งจะเจรจาของเช่าที่ดินกับองค์การรถไฟฟ้ามหานคร เพื่อขอทำทางออกได้ ซึ่งต้องต่อสัญญาเช่ากันปีต่อปี พื้นที่บริเวณนี้ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้จนกว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จกลายเป็นโซนธุรกิจ แต่ในระหว่างนี้คงทำเป็นลานคอนเสิร์ตไปก่อน