ThaiPublica > เกาะกระแส > ดีลอยท์ ทู้ช เผยเทคนิคจัดการภาษีนิติบุคคล “บรรเทาผลกระทบ”หลังน้ำท่วม

ดีลอยท์ ทู้ช เผยเทคนิคจัดการภาษีนิติบุคคล “บรรเทาผลกระทบ”หลังน้ำท่วม

19 ธันวาคม 2011


เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ได้จัดงานสัมนา “การบรรเทาผลกระทบทางธุรกิจจากวิกฤติน้ำท่วม” เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบแนวทางการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

สำหรับแนวทางปฏิบัติ กฎหมายละภาษีสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นายอวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีและกฎหมาย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด ได้พูดถึงประเด็นกฎหมายและภาษีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุกทภัย ว่ามีทั้งหมด 4 ประเด็นด้วยกันคือ ประเด็นภาษีของสรรพากรหรือภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ประเด็นมาตรการพิเศษสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ประเด็นมาตรการพิเศษด้านภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต และประเด็นสุดท้ายคือแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

นายอวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีและกฎหมาย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด
นายอวยพร ตันละมัย หุ้นส่วนด้านภาษีและกฎหมาย บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด

แนวทางปฏิบัติภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรสามารถแบ่งได้เป็น 8 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก ประเด็นทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหายจากอุทกภัย โดยทรัพย์สินเสียหายกับทรัพย์สินสูญหายนั้นมีลักษณะต่างกัน ทรัพย์สินเสียหายหมายถึงของยังอยู่แต่มีความเสียหาย ในทางภาษีอากรจะไม่สามารถตัดลอสท์ (ตัดต้นทุนทรัพย์สินที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายจำนวนทั้งหมด) ได้จนกว่าจะมีการขายหรือทำลายทรัพย์สิน

ส่วนในกรณีที่ทรัพย์สินสูญหายนั้น หากเป็นการสูญหายแบบไม่มีประกันสามารถตัดลอสท์หรือหักต้นทุนที่เหลือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ในรอบบัญชีที่สูญหาย แต่ถ้าเป็นการสูญหายแบบมีประกันภัย จะต้องรอเคลมจากประกันได้ก่อนส่วนต่างที่ีได้จึงเอามาตัดเป็นรายจ่าย

โดยหลักฐานสำหรับการพิสูจน์ทรัพย์สินสูญหายนั้น ต้องมีหลักฐานการแจ้งความที่สถานีตำรวจ มีการระบุให้ชัดเจนว่ามีอะไรเสียหายบ้าง มีมูลค่าเท่าไรและมีการแจ้งสรรพากรพื้นที่หรือศูนย์บริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ (LTO) โดยมีรูปถ่ายหรือวีดีโอขณะที่น้ำกำลังท่วมเป็นหลักฐานประกอบ และควรมีหนังสือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกำหนดเขตภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ หรือ ประกาศจากการนิคมอุตสาหกรรมฯ ประกอบด้วย

และกรมสรรพกรยังได้กำหนดให้มีการยกเว้นเงินที่เคลมจากประกันเฉพาะในส่วนที่เกินจากลอสท์ นั่นหมายความว่าหากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ทรัพย์สินเสียมูลค่า 10 ล้านบาทเสียหาย ได้รับค่าสินไหมจากบริษัทประกันภัย 5 ล้านบาท แต่ทรัพย์สินนั้นเมื่อหักค่าเสื่อมราคาแล้วมีมูลค่า 1 ล้านบาท ส่วนเกินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะมีมูลค่า 4 ล้านบาท ส่วนการขายซากทรัพย์สินที่เสียหายให้แก่บริษัทประกันภัยหรือให้บุคคลอื่นถือเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องคำนวนตามราคาตลาดหหรือตามสภาพของทรัพย์สิน โดยปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 30% แต่ในปีหน้าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้ลดอัตราภาษีเหลือ 23% ซึ่งหากประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนในตอนนี้บริษัทจะต้องเสียภาษี 30% แต่หากจ่ายในปีหน้าบริษัทจะจ่ายภาษีในอัตราเพียง 23% โดยรอบบัญชีนี้ต้องเริ่มหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เท่านั้น ส่วนกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้มีประกาศให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ สำหรับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป โดยผู้มีเงินได้ต้องลงทะเบียนแจ้งรายการหรือมูลค่าความเสียหายไว้กับทางราชการ และยกเว้นเฉพาะส่วนที่เท่ากับความเสียหายตามที่ได้ลงทะเบียนแจ้งไว้

ประเด็นที่สอง การคำนวนกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหากกรณีสมุดบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญขีสูญหาย ทำให้บริษัทไม่ยื่นรายการหรือไม่นำบัญชีมาให้เจ้าพนักงานไต่สวน เจ้าพนักงานมีอำนาจในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 วิธีคือ 1.ประเมินภาษี 5 % ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย 2.เปรียบเทียบกับกำไรสุทธิของรอบบัญชีก่อน 3.ประเมินภาษีตามที่เห็นสมควร ดังนั้นหากบัญชีเสียหายหรือสูญหายจากน้ำท่วม บริษัทจะต้องพยายามหาเอกสารจากที่อื่นๆเท่าที่ทำได้ เช่น ไปขอเอกสารจากซัพพลายเออร์ หรือหากหาไม่ได้ก็ต้องพยายามประเมินจากรายรับปีก่อนๆที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากน้ำท่วมคราวนี้เกิดประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม แต่มีหลายบริษัทที่ประเมินภาษีไปแล้วตอนกลางปี ในช่วงสิงหาคม ซึ่งตอนนั้นหลายบริษัทคาดคิดว่าเศรษฐกิจจะดี จะมีการเติบโต แต่เมื่อน้ำท่วมทำให้เกิดการขาดทุน บริษัทสามารถขอคืนเงินภาษีนิติบุคคลกลางปีที่เสียไปแล้วได้ แต่จะต้องถูกตรวจสอบภาษีตามปกติ

ประเด็นที่สาม การขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการ การขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทั่วไป กรมสรรพากรมีคำชี้แจง ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทั่วไป โดยกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีทุกประเภทที่ถึงกำหนดเดือน ก.ค. – พ.ย. 2554 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2554 และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกิจการที่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถึงกำหนดในเดือน ส.ค. – ธ.ค.2554 ออกไปเป็นภายในวันที่ 29 ก.พ. 2555 ดังนั้นกิจการจะสามารถชำระภาษีช่าช้าได้ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าปรับทางอาญา

ประเด็นที่สี่ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือหยุดดำเนินงานระหว่างเกิดอุทกภัย หากบริษัทมีการสร้างเขื่อน คันกั้นน้ำหรือกระสอบทราย ซึ่งเป็นการสร้างเพื่อใช้งานชั่วคราว ถือเป็นรายจ่ายดำเนินการหักเป็นรายจ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่หากเป็นการสร้างเพื่อใช้งานระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบบัญชี เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุน ห้ามหักรายจ่ายในการคำนวนกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่หักค่าเสื่อมราคาได้ บางบริษัทหลังน้ำลดเอาทรายไปถมที่ การเอาไปถมที่นั้นไม่สามารถหักรายจ่ายและหักค่าเสื่อมราคาได้ เนื่องจากจะถูกรวมเป็นต้นทุนของที่ดิน หากไม่อยากมีปัญหาในภายหลัง เมื่อน้ำลดแล้วจึงควรจ้างคนขนกระสอบทรายไปทิ้งและเก็บหลักฐานไว้เพื่อเป็นการหักรายจ่าย

หากมีการจ่ายค่าปรับหรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดอุทกภัย เช่น กิจการหยุดการผลิตหรือขนส่งสินค้าทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย ส่งสินค้าล่าช้า จึงต้องจ่ายค่าปรับหรือใช้จ่ายบางอย่างเพิ่มเติม กิจการสามารถหักค่าปรับตามสัญญาเป็นรายจ่ายในการคำนวนกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ หากมีข้อตกลงที่ชัดเจนหรือเป็นประเภณีทางการค้า

ประเด็นที่ห้า เงินบริจาคและเงินช่วยเหลือ สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการรับเงินที่ได้รับจากรัฐบาลหรือเงินที่ได้รับกรณีอื่นเพื่อชดเชยความเสียหายแต่ต้องไม่เกินมูลค้าความเสียหายที่ได้รับและยกเว้นภาษีในปีที่ได้รับเงินหรือทรัพย์สิน แต่หากบริษัทได้รับบริจาคเป็นทรัพย์สินที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จะไม่สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ เพราะในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริจาคได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว โดยผู้ประสบภัยต้องลงทะเบียนต่อศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการก่อนและไม่ต้องนำเงินหรือทรัพย์สินไปรวมคำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินหรือเป็นรายได้ในการคำนวนกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับ

ในเรื่องภาษีอากรสำหรับผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ผู้บริจาคสามารถหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคในการคำนวนภาษีเงินได้สำหรับการบริจาค ในกรณีที่บริจาคให้ส่วนราชการที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆ เช่น มูลนิธิ ส่วนการหักลดหย่อนในการคำนวนภาษีเงินได้นั้น บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10 % ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ส่วนนิติบุคคลนั้น เมื่อบริจาคและรวมกับเงินบริจาคอื่นๆแล้วหักได้ไม่เกิน 2 % ของกำไรสุทธิ

ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น หากบริจาคเป็นเงินสดจะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากบริจาคเป็นสินค้านั้นจะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจากสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยธรรมชาติผ่านราชการหรือตัวแทน หรือบริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ หรือองค์การสาธารณะกุศลตามที่กระทรวงการคลังประกาศ ส่วนภาษีซื้อสำหรับสินค้าหรือทรัพย์สินที่บริจาค การนำทรัพย์สินที่ซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติและได้นำภาษีซื้อไปใช้ในการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีแล้ว การบริจาคทรัพย์สินดังกล่าวในภายหลังไม่มีผลต่อภาษีซื้อที่ได้นำไปใช้หรือขอคืนภาษีแล้ว

ประเด็นที่หก การให้ความช่วยเหลือหรือให้บริการแก่ผู้ประสบภัยโดยไม่มีค่าตอบแทน ปกติถ้าการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือคิดค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินาราคาตลาดได้ แต่กรณีนี้หากเป็นการให้บริการแก่หน่วยงานราชการ จะถือว่ามีเหตุอันสมควรไม่ต้องเสียเงินได้นิติบุคคล

ประเด็นที่เจ็ด รายจ่ายสำหรับการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนรายจ่ายดำเนินการ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ในกรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่าย โดยรายจ่ายสำหรับซื้อทรัพย์สินที่ใช้งานได้เกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี เช่นการก่อสร้างอาคารหรือเครื่องจักร เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายสำหรับการลงทุน ห้ามนำมาหัเป็นรายจ่ายดำเนินการแต่สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ ส่วนค่าขนย้าย ค่าทำความสะอาดสามารหักเป็นรายจ่ายดำเนินการได้ ตามมาตรฐานการบัญชี ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งทำให้สภาพดีขึ้นกว่าเดิม (สภาพก่อนซ่อม) ต้องบันทึกเป็นทรัพย์สินรวมไปกับต้นทุนเดิมและหักค่าเสื่อมราคาตามอายุที่เหลือของทรัพย์สิน โดยถือว่ารายจ่ายที่ทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุน ส่วนรายจ่ายเพื่อซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ส่วนกรณีมีค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่าปกติสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ หากเป็นรายจ่ายเพื่อการดำเนินงานของกิจการและเป็นราคาตลาด

ประเด็นที่แปด รายจ่ายเกี่ยวกับพนักงาน การให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานในระหว่างน้ำท่วม เช่นที่พักอาศัย ค่าอาหาร ค่าซ่อมบ้าน ค่าพาหนะ บริษัทสามารถยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายจากบุคคลอื่นที่มิใช่รัฐบาล โดยยกเว้นไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ ส่วนการย้ายสำนักงานไปที่อื่นระหว่างเกิดอุทกภัย จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับตำแหน่งงานหรือผู้รับทำงานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและจ่ายไปทั้งหมดเพื่อการนั้น แต่การจ่ายค่าจ้างให้พนักงานระหว่างหยุดการผลิตจะถือเป็นเงินเดือนของพนักงาน ซึ่งบริษัทนายจ้างหักเป็นรายจ่ายได้ ในกรณีที่กิจการได้รับเงินช่วยเหลือจากกรมแรงงานหรือส่วนราชการเพื่อช่วยเหลือสำหรับการจ่ายค่าแรงคนงาน เงินที่ได้รับถือเป็นเงินได้ของกิจการ

แต่การเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากกิจการได้รับความเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟู แรงงานจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายเนื่องจากออกจากงาน โดยยกเว้นสำหรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินเงินเดือนค่าจ้างของการจ้างงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท โดยส่วนที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำไปคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน แต่ถ้าลูกจ้างได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้นงชีพเนื่องจากออกจากงานในกรณีนี้ไม่เข้าเงื่อนไขได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สภาพโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ถุูกน้ำท่วม
สภาพโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ถุูกน้ำท่วม

มาตรการพิเศษสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

เครื่องจักรและวัตถุดิบที่ไดด้รับยกเว้นอากรขาเข้าและได้รับความเสียหายจากอุทกภัย อนุญาตให้กิจการตัดบัญชีวัตถุดิบได้โดยไม่มีภาระภาษีอากร แต่กิจการต้องขออนุมัติสำนักงาน BOI เพื่อตัดบัญชีส่วนสูญเสียและเศษซากวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นโดยยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนด โดยผู้สอบบัญชีจะต้องทำรายงานและรับรองสาเหตุของการสูญเสีย ชนิดและปริมาณหรือน้ำหนักของส่วนสูญเสีย หรือแสดงหลักฐานยืนยันความเสียหายจากผู้รับประกันภัยหรือเอกชนที่สำนักงาน BOI แต่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้คำรับรองสำหรับการสูญเสียวัตถุดิบได้ โดยต้องยื่นคำขออนุมัติตัดบัญชีภายในวันที่ 30 มิ.ย.2555

หากในเหตุการณ์น้ำท่วมมีการขนย้ายเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรขณะนำเข้าจะต้องแจ้งหน่วยงานของสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และภายหลังหากมีการชดใช้ค่าเสียหายจากการประกันภัย ค่าสินไหมที่ได้รับจากการประกันภัยถือเป็นรายได้ Non BOI ในขณะที่ผลเสียหายถือเป็นรายจ่าย BOI

ในส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตแทนวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตแทนวัตถุดิบและเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย BOI มีประกาศให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย โดยต้องเป็นเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายและนำเข้าได้เพียงครั้งเดียวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และต้องยื่นเอกสารภายในวันที่ 30 มิ.ย.2555 และรายได้จากการขายเศษซาก หากได้รับอนุมัติจาก BOI และระบุไว้ในบัตรส่งเสริม ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

มาตรการพิเศษด้านศุลกากรและภาษีสรรพสามิต

การแจ้งย้ายสถานประกอบการในเขตประกอบการเสรี เขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน ผู้ประกอบการสามารถย้ายของออกจากสถานประกอบการ เขตประกอบการเสรี เขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บนที่ประสบอุทกภัยเพื่อไปยังสถานประกอบการชั่วคราวที่จัดเตรียมไว้ได้ โดยผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในสถานประกอบการชั่วคราว เมื่อเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติผู้ประกอบการจะต้องขนย้ายวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆกลับมายังสถานประกอบการเดิมภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้ง

ส่วนการนำเข้าสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร ครม. มีมติให้ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้กับเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนหรือซ่อมแซมเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย โดยผู้ได้รับสิทธิคือผู้ประกอบการที่สถานประกอบการเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาสให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิสามารถนำเข้าเองหรือให้ผู้อื่นนำของเข้าก็ได้ โดยเครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องจักรที่นำเข้าต้องเป็นของใหม่เท่านั้นและต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในมาตรการพิเศษด้านศุลกากรสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ครม. มีมติให้ยกเว้นอากรขาเข้า รถยนต์นั่งสำเร็จรูปเพื่อทดแทนการผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว โดยรถยนต์ที่นำเข้าต้องเป็นรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์นั่งและรถปิกอัพขนาดความจุไม่เกิน 3,000 ซี.ซี. และเป็นรถยนต์แบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกับแบบที่ผลิตในโรงงานประสบอุทกภัยและแบบดังกล่าวไม่มีการผลิตในโรงงานอื่นในประเทศ ส่วนการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้ามาเพื่อผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในประเทศ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่นำเข้าต้องไม่เคยมีการใช้งานและเป็นชิ้นส่วนเดียวกับที่ผลิตในโรงงานของตนก่อนประสบอุทุกภัย และนำเข้ามาเพื่อผลิตยานยนต์ในประเทศหรือประกอบเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทสเท่านั้น โดยทั้งหมดต้องปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงการคลัง

แนวทางปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

กรณีค่าจ้างขั้นต่ำ ครม. มีมติเลื่อนการบังคับใช้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท จากวันที่ 1 ม.ค.2555 ออกไปในวันที่ 1 เม.ย. 2555 เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ถูกน้ำท่วม

ในเรื่องอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังมมีมติให้ลดอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ม.ค. 2555 ให้ระหว่าง ม.ค. – มิ.ย. 2555 ลดเงินสมทบจาก 5 % เหลือ 3 % และระหว่าง ก.ค. – ธ.ค. 2555 ลดเงินสมทบจาก 5 % เหลือ 4 %

ในโครงการบรรเทาการเลิกจ้าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ประกาศกรณีที่นายจ้างหยุดการดำเนินงานแต่ยังคงจ้างงานต่อไป รัฐบาลจะจ่ายเงินให้แก่นายข้างในอัตราเดือนละ 2,000 บาท โดยที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างเมื่อรวมกันแล้วลูกจ้างต้องได้รับเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับก่อนเกิดอุทกภัย ตามเงี่อนไขที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนด แต่ในกรณีที่นายจ้างต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75 % ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ทั้งนี้ ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

แต่ถ้านายจ้างจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ หากลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย