ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมบัญชีกลางเผยข้อมูลจัดซื้อผ่านระบบออนไลน์ 2554

กรมบัญชีกลางเผยข้อมูลจัดซื้อผ่านระบบออนไลน์ 2554

31 ธันวาคม 2011


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้เกาะติดการจัดซื้อจ้างของหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐเอกชน ตามซีรี่ส์ผ่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ล่าสุดกรมบัญชีกลางเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบออนไลน์ e-GP (e-Government Procurement) ประจำปีงบประมาณ 2554 ใช้วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 209,259 ล้านบาท ประหยัดเงินได้ 10,802 ล้าน พบตัวเลขที่น่าสนใจ โรงเรียนโยธินบูรณะครองแชมป์หน่วยงานด้านสถานศึกษา จัดซื้อจัดจ้างปีเดียว 979 ล้านบาท

การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ คือกระบวนการจัดหาให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการแก่หน่วยงานของรัฐ ในปัจจุบันหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐถูกกำกับภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ที่ได้กำหนดกฎเกณฑ์วิธีการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ เพื่อเกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านระบบ e-GP ปี 2554

วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามที่ประกาศทั้ง 2 ฉบับกำหนดนั้น มีวิธีการแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและความเร่งรีบของงาน โดยแบ่งออกได้เป็น 6 วิธี คือ 1.วิธีตกลงราคา (ครั้งหนึ่งไม่เกิน 100,000 บาท) 2. วิธีสอบราคา (ครั้งหนึ่งเกิน 100,000 บาทแต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท) 3. วิธีประกวดราคา (ครั้งหนึ่งเกิน 2,000,000 บาท) 4. วิธี e-Auction (ครั้งหนึ่งเกิน 2,000,000 บาทประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) 5. วิธีพิเศษ (ครั้งหนึ่งเกิน 100,000 บาท แต่มีเงื่อนไข) 6. วิธีกรณีพิเศษ (ไม่กำหนดวงเงินแต่มีเงื่อนไข)

โดยมติ ครม. วันที่ 7 เมษายน 2553 ได้กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ดำเนินการจัดทำประกาศจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีสอบราคา ประกวดราคา และประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบ e-GP ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป ทำให้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกบันทึกอยู่ในระบบ e-GP ผ่านเวบไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีคือ วิธีสอบราคา วิธีประกวดราคาและวิธี e-Auction

ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 – กันยายน 2554) ผลปรากฎว่าปีงบประมาณ 2554 การจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบ e-GP ใช้งบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงิน 209,259 ล้านบาท โดยส่วนต่างของงบประมาณที่ตั้งไว้ เมื่อหักกับมูลค่าสัญญาที่จัดหาได้หลังการประมูลผ่านระบบ e-GP พบว่าสามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้ 10,802 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาประกาศจัดซื้อจัดจ้างจำแนกตามประเภทหน่วยงานพบว่า ส่วนราชการมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-GP สูงสุด คิดเป็น 56.8 % รองลงมาคือ รัฐวิสาหกิจ 25.3 % องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 % และหน่วยงานอื่นๆอีก 0.7 % ตามลำดับ

เมื่อจำแนกตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพบว่า การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-Auction มีมูลค่าสูงสุดคิดเป็น 76.5 % รองลงมาคือ วิธีสอบราคา 16.9 % และวิธีประกวดราคา 1.5 % ตามลำดับ

และเมื่อจำแนกการจัดซื้อจัดจ้างตามประเภทสินค้าและบริการ ซึ่งมีทั้งหมด 47 ประเภทพบว่า ประเภทสินค้าและบริการที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุดคือ งานจ้างก่อสร้างและปรับปรุง 62 % รองลงมาคืองานจ้างเหมาบริการ 14.3 % วัสดุคุรุภัณฑ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ 4.6 % วัสดุคุรุภัณฑ์ยานพาหนะและขนส่ง 3.2 % วัสดุคุรุภัณฑ์การศึกษา 1.6 % วัสดุคุรุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ 2.7 % วัสดุคุรุภัณฑ์ก่อสร้าง 2.2 % และอื่นๆอีก 9.9 %

การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-GP จึงสร้างให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทำให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการทุจริตได้ในเบื้องต้น

แต่ความโปร่งใสดังกล่าวก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีก คือการประมูลจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ และวิธีกรณีพิเศษ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการบันทึกหรือบังคับให้มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะชนอย่างเป็นระบบ ทำให้การสืบค้นข้อมูล หรือการสร้างความโปร่งใสของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษเหล่านี้ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้ใช้เงื่อนไขพิเศษ มีการใช้ข้ออ้างเรื่องความเร่งด่วนของเวลา ความชำนาญ หรือความเฉพาะเจาะจงของสินค้าและบริการ ขั้นตอนเป็นไปอย่างรวบรัด ปราศจากการแข่งขัน ทำให้รัฐอาจต้องซื้อสินค้าที่แพงกว่าราคาตลาด

ดังนั้นเพื่อสร้างให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตสิ่งสำคัญที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยควรจะนำมาพิจารณาก็คือ การเพิ่มความโปร่งใส ด้วยการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษต่างๆ

ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างจำแนกตามหน่วยงาน ประจำปีงบประมาณ 2554

ในการเปิดเผยข้อมูลข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ยังได้มีการจำแนกตามหน่วยงานที่แบ่งเป็น ส่วนราชการระดับกรม สถานพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาอีกด้วย โดยพบว่าส่วนราชการระดับกรม หน่วยงานที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กรมทางหลวงชนบท 21,940 ล้านบาท กรมทางหลวง 20,015 ล้านบาท และกรมชลประทาน 9,223 ล้านบาท ตามลำดับ

มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการระดับกรม
มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการระดับกรม

ในส่วนสถานพยาบาล หน่วยงานที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุด 3 อันดับแรก คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 804 ล้านบาท โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 493 ล้านบาท และโรงยาบาลพัฒลุง 427 ล้านบาทตามลำดับ

มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของสถานพยาบาล
มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของสถานพยาบาล

ในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 1,266 ล้านบาท อบจ.ปทุมธานี 641 ล้านบาท และอบจ.นครปฐม 599 ล้านบาทตามลำดับ

มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

และส่วนสุดท้ายคือสถานศึกษา หน่วยงานที่มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุด 3 อันดับแรก คือโรงเรียนโยธินบูรณะ 979 ล้านบาท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 810 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา 629 ล้านบาท

มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษา
มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของสถานศึกษา

โดยกรณีที่โรงเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างสูงสุดในหน่วยงานสถานศึกษาถึง 979 ล้านบาทนั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช ได้มีมติให้ใช้ที่ดินบริเวณสี่แยกเกียกกาย เป็นสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ทำให้โรงเรียนโยธินบูรณณะ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นต้องย้ายโรงเรียน ไปก่อสร้างในที่แห่งใหม่ในบริเวณใกล้เคียง โดยรัฐบาลได้มอบที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 16 ไร่ และสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติงบจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการสร้างโรงเรียน