ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จับสัญญาณเสี่ยงโลกปี 2555 เศรษฐกิจยังไม่พ้นขีดอันตราย

จับสัญญาณเสี่ยงโลกปี 2555 เศรษฐกิจยังไม่พ้นขีดอันตราย

26 ธันวาคม 2011


วิกฤตหนี้ยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่โลกต้องจับตา
วิกฤตหนี้ยุโรปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่โลกต้องจับตา
(ที่มาภาพ: http://5magazine.files.wordpress.com/2011/02/exit.jpgA)
ปี 2554 กำลังจะผ่านพ้นไป พร้อมกับเหตุการณ์สำคัญๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีเษกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์อังกฤษ เหตุการณ์มหาวิปโยคที่ญี่ปุ่น การชุมนุมประท้วงในโลกอาหรับจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้นำในหลายประเทศ การเสียชีวิตของอัจฉริยะด้านไอที “สตีฟ จ็อบส์” รวมถึง “โอซามา บิน ลาเดน” ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายที่โลกต้องการตัวมากที่สุด

อีกประเด็นที่เป็นโฟกัสในปี 2554 มาตลอด และยังคงเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต้องจับตามองต่อเนื่องในปี 2555 ที่จะมาถึง นั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่หลุดพ้นจากหุบเหวของวิกฤต และกลับถูกซ้ำเติมจากตัวแปรต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกยิ่งเปราะบางมากขึ้น

“นูเรียล รูบินี” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2555 ยังไม่พ้นขีดอันตราย และมีแนวโน้มจะเผชิญกับความยากลำบากจากหลายปัจจัยที่รุมเร้า ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรปที่ทำท่าจะบานปลาย ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐที่ยังไม่คลี่คลาย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่พลอยกระตุกเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่พึ่งพาความรุ่งโรจน์ของแดนมังกร ปัญหาในตะวันออกกลางและความเสี่ยงจากการเมืองโลกที่กระทบชิ่งราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

จับตาวิกฤตหนี้ยูโรโซน

ที่มาภาพ: http://pragueinsider.org/wp-content/uploads/2011/04/ecb-faces-deep-concern-over-health-of-banks-2010-07-08_l.jpg
ที่มาภาพ: http://pragueinsider.org/wp-content/uploads/2011/04/ecb-faces-deep-concern-over-health-of-banks-2010-07-08_l.jpg

สาเหตุที่เศรษฐกิจโลกปี 2555 ไม่น่าพิสมัยนัก เนื่องจากหลากหลายปัจจัยข้างต้น โดยเฉพาะปัญหาในเขตยูโรโซนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพียงแต่ไม่สามารถทำนายได้ว่าปัญหาจะหยั่งลึกและกินเวลายาวนานแค่ไหน ทว่าวิกฤตสินเชื่อ ปัญหาหนี้สาธารณะ การขาดแคลนขีดความสามารถในการแข่งขัน และการรัดเข็มขัดงบประมาณที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สะท้อนชัดว่ายูโรโซนกำลังเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาเตือนว่า วิกฤตหนี้ในเขตยูโรโซนอาจลุกลามไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก และก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่อาจสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

คำเตือนดังกล่าวบ่งบอกเป็นนัยว่า อีซีบีกังวลว่าจะเกิดความล้มเหลวทางการเมืองในการจัดการวิกฤตให้อยู่ภายใต้การควบคุม และแผนรัดเข็มขัดงบประมาณของแต่ละประเทศอาจถูกขวางจากการเมืองภายในเอง

อีซีบีระบุว่า ตลาดพันธบัตรในเขตยูโรโซนผันผวนในระดับที่เคยเกิดขึ้นหลังจากวาณิชธนกิจ “เลห์แมน บราเธอร์ส” ล่มสลายเมื่อปี 2551 และสูงกว่าในเดือนพฤษภาคมปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตยูโรโซนสุกงอม โดยความเสี่ยงเรื่องความไร้เสถียรภาพทางการเงินในยูโรโซนเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

“วิเตอร์ คอนสแตนซิโอ” รองประธานอีซีบี กล่าวว่า อีซีบีไม่ได้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศในเขตยูโรโซนจะแยกทางกัน เพราะซีนาริโอนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้ แต่การบอกลาของสมาชิกรายใดรายหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดตามมา

ความเสี่ยงอื่นๆ ยังประกอบด้วยเงินทุนในระบบธนาคารที่ตึงตัว และมีแนวโน้มที่ธนาคารรายใหญ่ 2 แห่งในยูโรโซนจะผิดนัดชำระหนี้มากกว่าในอดีต ทำให้อีซีบีต้องจัดหาเงินกู้สำหรับแบงก์โดยไม่จำกัดเป็นเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจซ้ำเติมสถานการณ์ในยูโรโซน อาทิ ข่าวเรื่องผลกำไรหรือความสามารถในการชำระหนี้ของแบงก์ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือบางประเทศในกลุ่มยูโรโซนหรือธนาคาร รวมถึงความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถใช้เงินจากกองทุนเสถียรภาพทางการเงินแห่งยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้าม คือ ผลการทดสอบความแข็งแกร่ง (stress test) ที่สะท้อนว่าธนาคารในยุโรปอาจต้องเผชิญกับปีที่ยากลำบากและจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก 1.15 แสนล้านยูโร (1.49 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อนำไปชดเชยมูลค่าที่ลดลงของพันธบัตรที่ออกโดยประเทศยุโรปที่กำลังมีปัญหา โดยเฉพาะธนาคารในสเปน กรีซ และอิตาลี

ทั้งนี้ แบงก์อิตาลีอาจต้องเพิ่มทุนราว 1.5 หมื่นล้านยูโร รวมถึงแบงก์ยูนิเครดิตที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีมากถึง 4 หมื่นล้านยูโร และอาจต้องเพิ่มทุนราว 8 พันล้านยูโร ขณะที่แบงก์ในสเปนอาจต้องเพิ่มทุนราว 2.6 หมื่นล้านยูโร แม้แต่ประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ “เยอรมนี” ก็มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนในธนาคารบางแห่ง อาทิ คอมเมิร์ซแบงก์

ประเทศใหญ่ออกอาการน่าเป็นห่วง

ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ปมการเมืองเข้ามาเป็นตัวแปรเพิ่ม
ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ปมการเมืองเข้ามาเป็นตัวแปรเพิ่ม
(ที่มาภาพ: http://www.english.rfi.fr/sites/images.rfi.fr/files/aef_image/IRAQ-USA-OBAMA.JPG)

สำหรับสหรัฐที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างเชื่องช้านับตั้งแต่ปี 2553 ก็หนีไม่พ้นความเสี่ยงจากวิกฤตในยูโรโซน นอกจากนี้ สหรัฐยังต้องต่อกรกับปัญหาขาดดุลงบประมาณมหาศาล การปรับลดหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางภาวะการจ้างงานที่ต่ำ รายได้ที่แทบไม่ขยับ แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงิน และปมปัญหาด้านการเมืองในประเทศ ซึ่งต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในปี 2555

เขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลักๆ อย่างอังกฤษก็กำลังเผชิญกับภาระด้านงบประมาณและความเสี่ยงผูกพันกับยูโรโซนที่บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนญี่ปุ่นที่บอบช้ำจากการฟื้นฟูหลังหายนภัยแผ่นดินไหวก็อาจไม่สามารถปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้ประสบความสำเร็จได้

ในขณะที่จีนก็มีเค้าลางของปัญหาเช่นกัน เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงเริ่มก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่อาจกระทบต่อนักพัฒนาอสังหาฯ นักลงทุน และรายได้ของรัฐ ภาคการก่อสร้างที่เคยบูมเริ่มชะงัก ภาคการส่งออกก็ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากอย่างที่เคย เนื่องจากความต้องการบริโภคในสหรัฐและยูโรโซนลดลง

หากพิจารณาในฟากของเอกชนและประชาชน บัญชีงบดุลในภาคครัวเรือน ธนาคาร สถาบันการเงิน และรัฐบาลทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นยังคงตึงตัว มีเพียงบริษัทชั้นดีที่ทำผลงานได้โดดเด่น แต่อย่างไรก็ไม่อาจหนีพ้นจากความเสี่ยงต่างๆ และความต้องการบริโภคที่ไม่แน่นอน ประกอบกับศักยภาพที่มีล้นเกิน ผลพวงจากการโหมลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ก่อนหน้านี้ และการลงทุนภาคการผลิตอย่างหนักของจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านทุนและการจ้างงานของบริษัทเหล่านี้ค่อนข้างนิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมที่เติมเชื้อไฟให้เกิดการประท้วงในส่วนต่างๆ ของโลก ซึ่งความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสังคมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมที่กระทบต่อเศรษฐกิจตามมา

เช่นเดียวกับความไม่สมดุลของบัญชีเดินสะพัดระหว่างยักษ์เศรษฐกิจที่ยังขยายกว้าง อาทิ สหรัฐกับจีน เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงประเทศแกนหลักและกลุ่มชายขอบของยูโรโซน ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จึงต้องปรับตัว โดยประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากเนื่องจากใช้จ่ายเกินตัวต้องลดการบริโภคในประเทศลง ส่วนกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนการออมมากเกินก็ต้องลดการเกินดุลการค้าลง เพื่อให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างสมดุล ประเทศที่ใช้จ่ายเกินตัวจำเป็นต้องทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นการค้า ส่วนประเทศที่เกินดุลควรหันมากระตุ้นการบริโภคในประเทศ

ทว่าการจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสมดุลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศที่เกินดุลไม่ต้องการให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดสงครามค่าเงินตามมา ทั้งในรูปแบบของการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing-QE) และการควบคุมเงินทุนไหลเข้า และเมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างเปราะบางในปี 2555 ก็เป็นไปได้ที่จะจุดให้เกิดสงครามการค้า

ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายไม่เหลือทางออกมากนัก การลดค่าเงินก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกประเทศทำได้ เพราะนี่เป็นเกมที่ต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ส่วนนโยบายทางการเงินก็อาจใช้ไม่ได้ผลในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เพราะรากของปัญหามาจากหนี้สินล้นพ้นตัวและความน่าเชื่อถือทางการเงิน ไม่ใช่สภาพคล่อง ด้านนโยบายการคลังก็ถูกบีบจากปัญหาขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ รวมถึงข้อบังคับในยุโรป ซึ่งรัฐบาลที่อ่อนแอไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความร่วมมือด้านนโยบายระหว่างประเทศได้ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง

ส่วนเขตเศรษฐกิจในเอเชียเป็นไปได้ที่จะเดินกะโผลกกะเผลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ก่อนที่เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในลักษณะตัว V

“ร็อบ ซับบาราแมน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ ระบุว่า จีดีพีของเอเชียจะเติบโตชะลอลงจากระดับ 7.5 % ในปี 2554 เหลือ 6.6% ในปี 2555 โดยเป็นผลมาจากวิกฤตยูโรโซนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเขตเศรษฐกิจในเอเชียหลายแห่ง อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ต่างส่งออกไปประเทศเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจีดีพี

ภูมิศาสตร์การเมืองโลกร้อนระอุ

ภาพการชุมนุมประท้วงในเยเมน
ภาพการชุมนุมประท้วงในเยเมน (ที่มาภาพ: http://www.huffingtonpost.co.uk/2011/12/07/arab-spring-one-year-on_n_1134034.html#s525307&title=Tunisia)

ความเสี่ยงจากภูมิศาสตร์การเมืองโลกเป็นอีกปัจจัยที่อาจรับมือได้ยากและไม่สามารถคาดเดาได้ โดยในปี 2555 มีความเสี่ยงทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

รายงาน “โกลบอล เอฟเอ็กซ์ เอาต์ลุค 2012” ของโนมูระ รีเสิร์ช ระบุถึงความเสี่ยงทางการเมืองใน 10 พื้นที่ที่ต้องจับตามองในปีงูใหญ่ เริ่มจากการเลือกตั้งในมาเลเซียที่อาจมีขึ้นในช่วงต้นปี และความเป็นไปได้ที่ไทยอาจต้องเผชิญกับสงครามชนชั้นระหว่างกลุ่มผู้ที่หนุนรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่คนละฟาก

สถานการณ์การเลือกตั้งในรัสเซีย 4 มีนาคม ก็เป็นที่คาดกันว่าจะลงเอยด้วยการที่ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งต้องจับตามองว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในแง่นโยบายหรือไม่ รวมถึงไต้หวันที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 มกราคม เช่นกัน

นอกจากนี้ โลกยังต้องเฝ้าระวังว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายปากีสถานจะโจมตีอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่รักคู่แค้นหรือไม่ เช่นเดียวกับโสมขาว “เกาหลีใต้” ที่มีกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 19 ธันวาคม ท่ามกลางความตึงเครียดที่โสมแดง “เกาหลีเหนือ” เปลี่ยนผ่านอำนาจจาก “คิม จอง-อิล” ผู้ล่วงลับ ไปสู่ “คิม จอง-อุน” ทายาทรุ่นที่ 3 ประกอบกับปี 2555 จะครบรอบวันเกิด 100 ปีของ “คิม อิล-ซุง” ตระกูลคิมคนแรกผู้ก่อตั้งประเทศแห่งนี้ ทำให้คาดกันว่าโสมแดงอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อประกาศแสนยานุภาพของตนเอง

ความเสี่ยงที่จีนจะต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงก่อนสิ้นปี 2557 เป็นอีกเรื่องที่ห้ามกระพริบตา แต่เชื่อว่าผู้นำจีนจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้

ปรากฏการณ์ประท้วงในโลกอาหรับเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำมันในภูมิภาคนี้ ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมทั้งการถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก

ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่ไม่สามารถกระตุกการจ้างงานและขยายสิทธิเรื่องภาษีก็อาจนำไปสู่ความยุ่งยากตามมา รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดเกรดจากปัญหาทางการเมืองที่เดินมาถึงทางตัน

ที่สุดของความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองในปี 2555 คือ การที่ยูโรโซนจะหนีพ้นชะตากรรมล่มสลายได้หรือไม่

น่าสนใจว่า ความตึงเครียดเนื่องจากภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่ร้อนระอุจะกระทบชิ่งไปยังราคาน้ำมันด้วย เพราะความกังวลเรื่องนี้จะผลักดันให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

หมายเหตุ: รวบรวมข้อมูลจากเดอะการ์เดี้ยน ไฟแนนเชียล ไทม์ส อีโคโนมิสต์ นิวยอร์ก ไทม์ส เดอะฮินดู บิสซิเนส ไลน์ บลูมเบิร์ก บิสซิเนสอินไซเดอร์