ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะรอยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 10 ปี ดอกเบี้ยท่วม 6.78 แสนล้านบาท

แกะรอยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 10 ปี ดอกเบี้ยท่วม 6.78 แสนล้านบาท

6 พฤศจิกายน 2011


ในภาวะที่ปัญหาน้ำท่วมกำลังถาโถมเข้ามา ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมมาตรการเยียวยาภาคประชาชน และภาคธุรกิจหลังน้ำลด ควบคู่กับการวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้นองคาพยพที่มีอยู่ทั้งหมดต้องทุ่มน้ำหนักให้ความสำคัญเรื่องนี้ก่อนเรื่องอื่น

โดยหากมองในแง่เม็ดเงินที่ต้องใช้ฟื้นฟูและลงทุนเรื่องบริหารจัดการน้ำในระยะยาวเชื่อว่าต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่กระทรวงการคลังซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ได้ให้ความมั่นใจว่า พร้อมหาแหล่งเงินมาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระยะสั้น กลาง ยาว แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำเงินมาจากแหล่งใด แต่พร้อมที่จะ “กู้เงิน”

ขณะที่แนวทางบริหารจัดการเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายไม่จำเป็นกลับไม่เห็นภาพการดำเนินการที่ชัดเจน ยกเว้นเรื่องเดียวที่่รัฐมนตรีคลังจับไม่ปล่อย คือ การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละหลายหมื่นล้านบาท ถ้าทำได้จะเป็นแนวทางหนึ่งช่วยลดภาระงบประมาณรัฐบาลให้สามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กว่าได้

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีคลัง กับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำท่าจะยืดเยื้อหาคำตอบที่ลงตัวไม่ได้สักที เพราะฟากรัฐมนตรีคลังขยันสั่งการบ้านตั้งโจทย์ใหม่ให้ธปท. ศึกษาตลอด ด้านผู้ว่าธปท. ก็ขยันทำการบ้านส่งตามกำหนด แต่ได้โจทย์ใหม่กลับไปทำทุกครั้ง ทั้งที่แนวทางแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มีข้อเสนอที่พอจะเดินหน้าทำได้ แต่นายธีระชัยกลับให้พักเรื่องที่เคยศึกษาไว้ในอดีต

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังกับธปท. มีความพยายามหาแนวทางลดภาระหนี้มาตลอด โดยเฉพาะในภาวะที่ฐานะการคลังย่ำแย่ และเริ่มเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เป็นขุนคลัง เสนอแนวคิดให้นำเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนหนึ่งมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

จากนั้นก็มีประเด็นการถกเถียงระหว่างกระทรวงคลังและธปท. เกี่ยวกับวิธีแก้หนี้ก้อนโตของกองทุนฟื้นฟูฯ มาตลอดจนมาถึงรัฐบาล “นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ” ที่มีนายกรณ์ จาติกวานิช เป็นรัฐมนตรีคลัง มีท่าทีว่ากระทรวงการคลังกับธปท.จะได้ข้อสรุปเห็นตรงกันเกี่ยวกับแนวทางแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ แต่ต้องยุติไปเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้สั่งเก็บแนวทางแก้ปัญหาหนี้ก้อนโตของรัฐบาลก่อนกับธปท. พักไว้ก่อน แล้วมาตั้งโจทย์ให้ธปท. ไปศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่โจทย์ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ในอดีตมีการพูดถึงแล้วแต่ไม่ได้มีการศึกษาชัดเจน

โดยครั้งแรกช่วงเดือนส.ค. ตอนเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ ตั้งโจทย์ให้ไปศึกษาทางแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ผ่านไป 1 เดือน (4 ต.ค.2554) ดร.ประสาร ส่งการบ้านเสนอทางออกแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟู 2 แนวทาง คือ 1.นำสินทรัพย์ที่คงเหลืออยู่หลังปิดบัญชีกองทุนมาลดหนี้ 2.ศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะแก้ไขปรับปรุงการลงบัญชีทุนสำรองเงินตราให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยหารือร่วมกับรัฐบาลก่อน

ขณะเดียวกัน ธปท. ได้ให้ข้อสังเกตของคณะกรรมการธปท. เกี่ยวกับประเด็นการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้ธปท. รับผิดชอบทั้งหมดแทนกระทรวงการคลัง ว่าไม่เห็นด้วยเพราะเท่ากับธปท. “พิมพ์เงิน” เพิ่มเข้าระบบ ถือว่าขาดวินัยการเงิน และยังสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก (ข้อสรุปคณะกรรมการธปท.เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ)

“ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ใช้มาตรการด้านการคลัง ก็กระทบภาษีประชาชน ถ้าใช้ด้านการเงินก็ทำลายอำนาจซื้อในประเทศ ถือว่ามีความเลวพอๆ กัน” ดร. ประสารกล่าว

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศ ร่วมแแถลงข่าวเมื่อ 4 ต.ค. 2554
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศ ร่วมแแถลงข่าวเมื่อ 4 ต.ค. 2554

คำตอบและข้อสังเกตของธปท ถูกปฏิเสธจากนายธีระชัย และได้ให้โจทย์กับธปท. ไปศึกษาทำตัวเลขเพิ่มเติมว่าถ้าสมมติให้ธปท. รับโอนหนี้กองทนฟื้นฟูฯไปทั้งหมดจะมีผลต่อฐานะธปท.อย่างไร แม้ธปท. จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่นายธีระชัยยืนยันว่าให้ธปท. ไปทำตัวเลขมาให้ดูก่อน แล้วค่อยว่ากัน

ล่าสุด (2 พ.ย. 2554) นายธีระชัยออกมาแถลงว่า ผู้ว่าธปท.ได้ทำตัวเลขมาเสนอแล้ว หากดูเฉพาะบัญชีธปท.ได้ประมาณการไปข้างหน้า 5 ปี ถ้าไม่โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไปคาดว่าทุนธปท. จะติดลบ 689,000 ล้านบาท แต่ถ้ารับโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯไป จะทำให้ธปท. มีทุนติดลบถึง 1.5 ล้านล้านบาท

สาเหตุที่ธปท.ทุนติดลบมหโหฬารขนาดนั้น นายธีระชัยบอกว่า ธปท. ไม่ได้บอกรายละเอียด แต่จากตัวเลขทุนติดลบสูงขนาดนั้น แนวทางนี้จึงพักไว้ก่อน และได้ตั้งโจทย์ใหม่ให้ธปท.ไปคิดอีกครั้ง คือ จากเดิมธปท.รับผิดชอบชำระคืนเงินต้น ส่วนกระทรวงคลังรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ย ก็เปลี่ยนเป็นให้ธปท. จ่ายดอกเบี้ย และกระทรวงคลังจ่ายเงินต้น จึงให้ธปท. ไปศึกษาดูว่าถ้าสลับความรับผิดชอบดังกล่าวจะออกมาอย่างไร และผลกระทบต่อฐานะธปท. จะเป็นอย่างไร

เฟสบุ๊ก นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล (ตรวจการบ้านที่สั่งไปก่อนหน้านี้ และตั้งโจทย์ให้กลับไปทำใหม่)
เฟสบุ๊ก นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล (ตรวจการบ้านที่สั่งไปก่อนหน้านี้ และตั้งโจทย์ให้กลับไปทำใหม่)

“ที่ให้ธปท.ศึกษาแนวทางเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เพราะหนี้ก้อนนี้เป็นภาระการคลังที่หนัก และธปท. ชอบออกมาเตือนเรื่อยๆว่า อย่ากู้เงินมาก แต่เวลานี้กระทรวงคลังมีค่าใช้จ่ายมาก และผมก็มีหน้าที่หาเงินซึ่งพยายามทำอยู่” นายธีระชัยกล่าว

สุดท้ายการบ้านแก้โจทย์ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จะออกมาเป็นอย่างไร กระทรวงคลังกับธปท.จะคุยกันไปถึงไหน และจะลงเอยอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงเงินภาษีของประชาชน

แต่เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของแนวคิดแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก่อนจะมาสร้างปัญหาในขณะนี้ อาจต้องย้อนรอยไปดูจุดเริ่มต้นก่อนจะเข้าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

ย้อนอดีตกันลืม

สำหรับหนี้ก้อนโตของกองทุนฟื้นฟูฯ เชื่อว่ายังจำได้ดีว่าเริ่มจากวิกฤติปี 2540 ที่ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ฝากเงิน เจ้าหนี้ และการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องบริษัทเงินทุน 56 แห่ง รวมถึงการเข้าแทรกแซงถือหุ้น และเพิ่มทุนในธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหา ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ประกาศค้ำประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้สถาบันการเงินเต็มจำนวนหรือ 100 % เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในช่วงวิกฤติการณ์

นั่นหมายความว่า การแก้ปัญหาวิกฤติปี 2540 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในขณะนั้น และจากการเข้าแก้ปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯในช่วงนั้นมีการประมาณการความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกองทุนฟื้นฟูฯสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท

ความเสียหายสุทธิของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
ความเสียหายสุทธิของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

จากตารางหากดูจากเฉพาะตัวเลขความเสียหายจะสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท แต่มีการเงินนำส่งและอื่นๆ ของธปท.มาหักออกจำนวน 138,563 ล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขประมาณการความเสียหายสุทธิอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนมากขนาดนี้ เป็นผลพวงของนโยบายรัฐบาลและการแก้ปัญหาของธปท. ดังนั้นจึงมีการข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและธปท. เพื่อแบ่งภาระความรับผิดชอบหนี้ก้อนโตจำนวนนี้ โดยสาระหลักๆ คือ ธปท. รับภาระจ่ายเงินต้น ส่วนกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย

เงื่อนไขดังกล่าวถูกกำหนดโดยพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2541 ที่ให้รัฐบาลออกพันธบัตรชดเชยความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (พันธบัตรรัฐบาล FIDF1)

ต่อมาในปี 2543 มีมติคณะรัฐมนตรี 31 ต.ค. 2543 ให้กระทรวงคลังค้ำประกันพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 120,000 ล้านบาท (พันธบัตร FIDF2) แต่ยังมีความเสียหายที่ยังเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่งที่ต้องชดเชยความเสียหาย ทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2545 พันธบัตรรัฐบาลชดเชยความเสียหายให้กองทุนฟื้นฟูฯวงเงินไม่เกิน 780,000 ล้านบาท ซึ่งมีการทยอยออกเป็นระยะ และสุดท้ายใช้ไม่เต็มวงเงินโดยมีการกู้ยืมเพียง 693,327 ล้านบาท (พันธบัตรรัฐบาล FIDF3) เนื่องจากความเสียหายลดลงจากที่ประมาณการไว้ในตอนแรก

ทั้งนี้เงื่อนไขการชำระคืนหนี้ชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ สรุปได้ดังนี้

ข้อตกลงการแบ่งภาระความรับผิดชอบหนี้กองทุนฟื้นฟูฯพันธบัตร FIDF1 กับ FIDF3 ที่จะครบกำหนดชำระคืน ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
ข้อตกลงการแบ่งภาระความรับผิดชอบหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ พันธบัตร FIDF1 กับ FIDF3 ที่จะครบกำหนดชำระคืน ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ดังนั้นหากจะเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ต่างไปจากเดิมจะต้องแก้ไข พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ปี 2541 และ 2545 ถึงจะทำได้

กว่า 10 ปีเงินต้นลด 1.63 แสนล้านบาท

จากเงื่อนไขดังกล่าว ปรากฏว่า รายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตัดออกไปเลย เพราะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากถูกต่อต้านจากประชาชน ขณะที่ ธปท. สามารถชำระคืนหนี้เงินต้นได้เพียงช่วงแรกๆ ที่หลังจากลอยตัวค่าเงินบาทแล้วทำให้เงินบาทอ่อนลงมาก ส่งผลให้ธปท. มีกำไรจากการตีราคาสินทรัพย์ แต่หลังปี 2548 แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ธปท. จึงประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อตีราคาสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ทำให้ธปท. ขาดทุนทางบัญชี

ตัวอย่างเช่นในปี 2553 เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 17 % เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ธปท.ขาดทุนทางบัญชีจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน 260,000 ล้านบาท และขาดทุนจริงอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1.04 แสนล้านบาท

สถานะทางบัญชีของธปท.ที่มีฐานะติดลบ จึงไม่มีกำไรหรือเงินนำส่งเพื่อไปลดภาระหนี้เงินต้นพันธบัตรรัฐบาล FIDF1 และ FIDF3 ได้ตามกำหนดที่ตกลงไว้ ยกเว้นพันธบัตร FIDF2 ที่ชำระคืนหมดแล้ว เพราะใช้เงินในบัญชีผลประโยชน์ และวงเงินกู้ยืมไม่สูง

ทั้งนี้พันธบัตร FIDF1 มียอดคงค้างเหลือ 463,275 ล้านบาท และ พันธบัตร FIDF3 มียอดคงค้าง 678,826 ล้านบาท รวมมียอดหนี้คงค้างล่าสุดอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท

การชำระคืนหนี้กองทุนฟื้้นฟูฯ และภาระดอกเบี้ยจ่าย ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
การชำระคืนหนี้กองทุนฟื้้นฟูฯ และภาระดอกเบี้ยจ่าย ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

คลังแบกดอกเบี้ย 6.78 แสนล้านบาท

ในขณะที่ภาระหนี้เงินต้นมียอดคงค้างระดับสูง ทำให้กระทรวงการคลังมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นปีละกว่า 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 66,540 ล้านบาท ในปี 2554 หากรวมภาระดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดตลอดระยะเวลา 13 ปี พบว่ากระทรวงการคลังใช้งบประมาณหรือเงินภาษีจ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว 678,297 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก จึงมีแนวคิดว่า ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนหรือทำประโยชน์พัฒนาเศรษฐกิจน่าจะเป็นประโยชน์กว่า นี่คือที่มาของความพยายามหาแนวทางแก้ไขหนี้ก้อนโตของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยให้ธปท. เข้ามาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น เพราะสาเหตุที่กระทรวงคลังต้องแบกภาระจ่ายดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯจำนวนมาก เนื่องจากเงินต้นที่ธปท. รับผิดชอบปรับลดลงช้า

หนี้ FIDF ครบกำหนด 3.4 แสนล้านบาทในปีหน้า

ภาระหนี้ก้อนโตของกองทุนฟื้นฟูฯ หากไม่สามารถชำระคืนเงินต้นได้ จะเป็นภาระต่อกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะ และเป็นภาระต่องบประมาณต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อไปอีก เนื่องจากถ้าครบกำหนดไถ่ถอนแล้ว ธปท. ไม่สามารถมีเงินมาชำระคืนเงินต้น กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรยืดระยะเวลาการชำระหนี้ (Rollover) ออกไปอีก

โดยตามกำหนดระยะเวลาปรากฏว่า ในปี 2555 หนี้พันธบัตรรัฐบาล FIDF1 กับ FIDF3 จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 340,000 ล้านบาท แต่ในระยะอีก 6 ปีข้างหน้า จะมีพันธบัตรรัฐบาล FIDF1 กับ FIDF3 ครบกำหนดไถ่ถอนถึง 733,000 ล้านบาท

จำนวนพันธบัตรที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวนมากในอนาคต คือประเด็นปัญหาที่ทำให้กระทรวงการคลังไม่นิ่งนอนใจ เพราะถ้าธปท. ไม่สามารถลดหนี้เงินต้นได้ ภาระหนักจะตกเป็นของกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตามหนี้ FIDF1 กับ FIDF3 จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2555 ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้วางแผนกู้เงินเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้กองทุนฟื้นฟูฯไว้แล้วจำนวน 3.4 แสนล้านบาท

วงเงินพันธบัตร FIDF1 กับ FIDF3 ที่จะครบกำหนดชำระคืน ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
วงเงินพันธบัตร FIDF1 กับ FIDF3 ที่จะครบกำหนดชำระคืน ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

จะเห็นว่าภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในระยะต่อไปมีจำนวนสูง จำเป็นต้องหาทางแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีการศึกษาหลายแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ เช่น

การโอนสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ หลังชำระบัญชีในปี 2555 ที่มีประมาณ 400,000 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังนำไปชดเชยหนี้ FIDF3 วิธีนี้อาจไม่ได้เงินสดหรือสภาพคล่องทันทีทั้งจำนวน แต่ก็มีสภาพคล่องบางส่วนสามารถนำไปช่วยลดภาระได้บ้าง ส่วนทรัพย์สินที่เหลือสามารถนำไปบริหารจัดการให้ได้ดอกผลเพื่อนำมาทยอยจ่ายชำระหนี้ที่เหลือ รวมถึงการโอนสินทรัพย์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หลังชำระบัญชีให้กระทรวงการคลังนำไปชำระหนี้ FIDF3 ในกรณีของบสท.มีการประเมินจากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ว่าจะทำให้กระทรวงการคลังมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,919 ล้านบาทในปี 2556

แนวทางการโอนสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นวิธีที่ธปท. และกระทรวงคลังในสมัยนายกรณ์ เป็นรัฐมนตรีคลัง เห็นตรงกัน แต่การจะดำเนินการได้ต้องออกเป็นกฎหมายกำหนดวัตถุประสงค์ให้นำสินทรัพย์กองทุนฟื้นฟูฯ มาชดใช้ความเสียหายดังกล่าว ประเด็นนี้หากออกเป็นพ.ร.บ. อาจล่าช้า แต่ถ้ารัฐบาลนี้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนต้องการเงินลดภาระดอกเบี้ยจ่ายก็สามารถเสนอเป็นพ.ร.ก. ได้

ระบบบัญชีเงินทุนสำรองเงินตรา และแนวทางปรับปรุงวิธีบันทึกบัญชีใหม่ ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
ระบบบัญชีเงินทุนสำรองเงินตรา และแนวทางปรับปรุงวิธีบันทึกบัญชีใหม่ ที่มา : สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

แม้กระทั่งการปรับแก้วิธีบันทึกบัญชีทุนสำรองเงินตราให้สมดุลเป็นมาตรฐานสากล ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พอทำได้ ซึ่งอาจไม่ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีเงินนำส่งทุกปี เพราะบัญชีนี้ไม่มีหนี้สินจะมีก็แค่ค่าใช้จ่ายทั่วไป ต่างจากบัญชีธปท. ที่มีภาระหนี้สินจำนวนมากจากการดำเนินนโยบาย