ThaiPublica > คนในข่าว > “นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ” ชี้เป้าเมื่อ “แพทย์ – พยาบาล” โดนถล่มจากผู้ใช้บริการ 48 ล้านคน หวั่นระบบรักษาพยาบาล “ตายซาก”

“นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ” ชี้เป้าเมื่อ “แพทย์ – พยาบาล” โดนถล่มจากผู้ใช้บริการ 48 ล้านคน หวั่นระบบรักษาพยาบาล “ตายซาก”

16 พฤศจิกายน 2011


นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์

กระแสของผู้ให้บริการสาธารณสุขที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประกันสุขภาพถ้วนเริ่มเสียงดังมากขึ้น โดยเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยล่มสลายได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะคนทำงานไม่ว่าแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร และเจ้าหน้าที่อื่นๆในโรงพยาบาลรัฐซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน ไม่สามารถรองรับการใช้บริการของคนจำนวน 48 ล้านคนได้ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบให้เหมาะสมระหว่างผู้ให้บริการกับผู้มารับบริการ

ต่อเรื่องนี้ นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายงบประมาณประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 ว่า

หลังจากที่ได้ศึกษางบประมาณปี 2555 ผมมีความเห็นดังต่อไปนี้ โดยเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลท่าน(พรรคเพื่อไทย)ได้เริ่มในอดีต หลายเรื่องเป็นเรื่องประชานิยม และเป็นเรื่องที่พี่น้องเข้าใจว่าจะได้รับสิ่งที่ท่านทำนโยบายนั้น ผมจำเป็นต้องพูดถึง นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เริ่มมาในปี 2545 เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก แต่อยากจะเรียนว่าในนโยบายที่พวกเราสร้างขึ้นมา ในระยะแรกอาจจะไม่เห็นผลชัดเจนในเรื่องความเสียหาย เราอาจจะชนะบนซากปรักหักพังของสังคม ที่ผมพูดคือสังคมของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้ เพราะหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มออกฤทธิ์ ไม่ว่ารัฐบาลใดที่ขึ้นมาบริหาร เพราะไม่สามารถจัดสรรงบประมาณ ได้อย่างมากเพียงพอ เพื่อสนองตอบต่อการรักษาของพี่น้องประชาชน ซึ่งอยู่ในภาคส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการและประกันสังคม คือจำนวน 48 ล้านคนที่อยู่ในกองทุนนี้

ที่มา :  รายงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มิถุนายน  2554
ที่มา : รายงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2554

ทุกยุคทุกสมัยวงเงินกองทุนเพิ่มแต่ไม่พอ เพราะเราไปตั้งหลักการที่ผิดธรรมชาติ ทำไม.. เพราะว่าเราส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ารับบริการโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กี่ครั้งต่อปีก็ได้ เป็นโรคอะไรเราไปโฆษณาชวนเชื่อเกินความเป็นจริงว่ารักษาได้ทุกโรค มีมาตรฐานกำกับ สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้พี่น้องเกิดความชะล่าใจ ตกอยู่ในความประมาทอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การดูแลรักษาสุขภาพซึ่งควรเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย เพราะไปหาหมอได้ตลอด 24 ชั่วโมง ต้องมีคนให้บริการ เพราะนี่คือสิทธิของพี่น้องประชาชน เราค่อนข้างจะเข้าใจสิทธิมากเกินไปหรือไม่ เมื่อระบบสาธารณสุขในสภาพความเป็นจริงรองรับไม่ได้

ขณะนี้ยอดผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 200 ล้านครั้งต่อปี เมื่อเทียบกับจำนวนแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านอื่นๆ ในหน่วยบริการคือโรงพยาบาล มีแพทย์ประมาณ 10,000 คน พยาบาล 100,000 คนเศษ ต้องให้บริการ 24 ชั่วโมง รองรับไม่ไหว ทำให้ผู้ทำงานเกิดความทุกข์กาย ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งไม่เท่าไหร่ แต่ทุกข์ใจด้วย เพราะความผิดพลาดจากจำนวนที่มากครั้งที่รักษา เฉลี่ยประมาณ 500,000 ครั้งต่อวันทั่วประเทศ

นี่คือสิ่งที่บั่นทอนความเข้มแข็งและแข็งแรงของโรงพยาบาล ไม่ว่าโรงพยาบาลศูนย์,ทั่วไป หรือ ชุมชน ทั่วประเทศ ทำให้เกิดสภาพขาดทุนอย่างรุนแรง

งบประมาณแต่ละปีที่ให้กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อพี่น้องประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี คนตายก็เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยนอกมาใช้มากขึ้น ผู้ป่วยในก็เพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง ทำให้โรงพยาบาลรัฐขาดทุนทุกระดับ มีหลายสาเหตุ ต้องฝากรมต.สาธารณสุขและนายกรัฐมนตรี ว่าภาคการบริการสาธารณสุข มี 2 ระบบ ทำให้เกิดปัญหาที่เกิดวิกฤตอย่างรุนแรง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย ผู้ให้บริการในโรงพยาบาล มีปัญหาความขัดแย้ง

และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปพูดให้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด บอกว่าอย่าสุรุ่ยสุร่าย อย่าใช้เงินให้มีปัญหาการเงินการคลัง จะกระทบต่อการให้บริการต่อพี่น้องประชาชน ผมอยากจะเรียนว่าพี่น้องแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ให้บริการใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ แต่เงินที่ได้รับการอุดหนุนจำกัดในการให้บริการ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายตลอดเวลา แต่ไม่จำกัดการมาใช้บริการของพี่น้องประชาชน

นี่คือการอภิปรายในประเด็นงบประมาณด้านสาธารณสุข โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบของนพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ที่มา :  รายงานสำงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2554
ที่มา : รายงานสำงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2554

ไทยพับลิก้า : นโยบายสาธารณสุขที่ใช้ระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรต้องปรับปรุงอย่างไร

ระบบสาธารณสุขที่ได้รับการปฏิรูปมาตั้งแต่ปี 2545 โดยพรรคไทยรักไทย(ขณะนั้น) เขาได้ทำนโยบายให้สิทธิแก่พี่น้องประชาชนเต็มขั้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ไม่ได้อยู่ในภาคราชการ ประกันสังคม ปรากฏว่าผลการประกาศนโยบายนี้ประชาชนลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ถือเป็นสิทธิให้การรักษา มีการร่างกฎหมาย ได้ออกเป็นพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

แนวปฏิบัติของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้งบประมาณผ่านมาทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ผลจากการปรับเปลี่ยนนโยบาย ทำให้ระบบบริหารในกระทรวงสาธารณสุขมี 2 ขา มี 2 ระบบ คือ 1.ระบบควบคุมบุคลากร เรื่องตำแหน่ง โยกย้าย ขึ้นเงินเดือน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดูแล แต่ 2.สปสช.เป็นตัวแทนของภาคประชาชน 48 ล้านคน ซึ่งการเป็นตัวแทนมีทั้งข้อดีข้อเสีย โดยสปสช.เป็นตัวแทนผู้ซื้อที่มีความรู้ทางการแพทย์ ทำทุกอย่างที่คิดว่าประชาชนควรได้สิทธิ ออกแบบเป็นรายจ่ายต่อหัว ซึ่งได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ สปสช.จึงเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุด 108,000 ล้านบาท (ปี 2554)

สปสช.ถือเงินตัวนี้ จ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ คือโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า การให้สิทธิของประชาชนเป็นการให้สิทธิเต็มที่ สามารถไปใช้กี่ครั้งก็ได้ ขณะที่สปสช.เป็นตัวแทนผู้ซื้อ มาซื้อหน่วยบริการ เป็นการซื้อโดยมีข้อจำกัด ที่เรียกว่าปลายปิด หรือ เหมาจ่าย เช่น หมวดผู้ป่วยนอกหรือโอพีดี จ่ายให้กว่า 700 บาทต่อคน หรือหมวดคนไข้ใน ให้ 900 กว่าบาทต่อคน ถ้าเกินกว่านั้นไม่รับผิดชอบนะ

เมื่อสปสช.ตั้งเกณฑ์แบบนี้ ทำให้หน่วยบริการรองรับไม่ไหว พฤติกรรมผู้ใช้บริการเปลี่ยนไป จากที่คนมาใช้บริการเฉลี่ย 1.8 ครั้งต่อปีต่อคน ตอนนี้เป็นกว่า 3 ครั้งต่อคนต่อปี หรือ 200 กว่าล้านครั้งต่อปี จาก 48 ล้านคน ทำให้ หมอ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จำนวนคนเหล่านี้มีจำกัด หากเปรียบเทียบแล้วเหมือนระบบอินเทอร์เน็ตล่ม คนแออัดยัดเยียด ขณะที่กลุ่มข้าราชการมาใช้บริการด้วย เนื่องจากมีโรงพยาบาลแห่งเดียวในจังหวัด หรือประกันสังคมก็มาใช้บริการด้วย ก็ยิ่งแน่นเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งเริ่มแน่น

ในทางปฏิบัติเมื่อจำนวนผู้มาใช้บริการจำนวนมาก บางคนบอกว่าไปทั้งวันได้บริการแค่นี้จะคุ้มไหม เพราะต้องรอหมอนาน ขณะที่คนให้บริการเริ่มหน้าหงิกหน้างอ ธรรมชาติมันเสียไป เพราะฉะนั้นนโยบายนี้ผลกระทบต่อคนที่ทำงาน คือเจ้าหน้าที่ด่านต่อด่าน ผมเป็นหมอ คุณเป็นผู้ป่วย ผมเดินผ่านมาโฮ…คนไข้รออยู่ 40-50 คน ตอนนี้ 9 โมงแล้ว ตรวจยังไงให้ทัน ซึ่งหมอต้องทำอย่างนี้ทุกวัน ก็เกิดการเผชิญหน้า คนไข้ก็บอกหมอขอเอ็กซเรย์ ขอเจาะเลือด ขณะที่หมอประชุมกับผผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาบอกว่าโรงพยาบาลต้องประหยัด สภาพการเงินมันตึงมากแล้วนะ ช่วยๆกันหน่อย กลายเป็นเรื่องเขียมในการรักษาไป แทนที่จะทำได้อย่างอิสระ ตามหลักการทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นอิสระสำคัญ ให้แพทย์วินิจฉัยเองว่าควรจะเปิดอันไหน ควรเจาะ ไม่เจาะ หรือจะทำอะไร ไม่ใช่เกิดลำเอียง ว่าลึกๆ มีเรื่องเงินๆ คำว่ามาตรฐานเริ่มหย่อน โรงพยาบาลไหนไม่มีปัญหาการเงิน ก็ไม่เป็นไร จึงทำให้การให้บริการมาตรฐานไม่เท่ากัน ดังนั้นที่เขียนว่าประชาชนได้สิทธิเท่าเทียมกันเริ่มไม่จริง เริ่มแปรปรวน นี่คือประเด็น

แล้วถามว่าพรรคเพื่อไทย ที่เป็นคนออกนโยบายนี้มา ได้ดูแลนโยบายนี้ไหม เขาดูแลไม่ได้ดี ไม่เข้าใจ การจัดตั้งมันง่าย แต่การดูแลให้ให้คงอยู่ในสภาพ และพัฒนาให้ก้าวหน้ามันยาก 8-9 ปีที่ผ่านมา วงเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น แต่คนยังแออัดยัดเยียด หน่วยบริการไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่มีใครอยากอยู่ ขอลาออกหรือไม่ขอย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือหน่วยปฐมภูมิบ้าง

นั่นแสดงว่าระบบนี้ไม่ถูกแล้ว แต่เป็นระบบที่ประชาชนชอบ พูดเรื่องนี้ที่ไหนประชาชนไม่เอากับเรา แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำแล้ว เพราะต่อไปหากหมอ พยาบาลหรือคนลาออก ถ้าคุณผลิตไม่ทัน เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา กว่าจะได้คนมีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถและคนที่รักองค์กร หากเขาค่อยๆหายไปทีละกลุ่ม มันกระทบยิ่งหนักขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนให้ค่าตอบแทนมากกว่า งานน้อยกว่า ความเสี่ยงน้อยกว่าเพราะได้ดูแลคนไข้ดีกว่า

ขณะที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข หมอจะได้อะไรที ต้องมีเปเปอร์เวิร์ค ต้องผ่านขบวนการและทำเอกสารหลายอย่าง ทำให้ยุ่งยาก เช่น จะล้างไตเทียมต้องทำเอกสาร แค่จะดูคนไข้ก็ยุ่งพอแล้ว ต้องเขียนใบรับรองแพทย์ เขียนโอพีดีการ์ดก็ยุ่งแล้ว นี่คือปัญหา ทำให้คนให้บริการท้อแท้ กว่าจะขยายงาน กว่าเงินจะเบิกได้ ยังมีการค้างจ่ายอีก

นี่คือระบบสปสช.ที่วางไว้ไม่ยืดหยุ่นให้คนทำงาน ไม่ให้ความเป็นธรรมคนทำงาน

“ระบบสปสช.เป็นการสร้างขึ้นมาเหมือนให้คนใช้บริการ 48 ล้านคน ไปถล่มคนให้บริการ ที่มีอยู่ 1 ล้านคน ในหน่วยบริการรักษาที่ไม่ให้คุณป่วย ไม่ให้คุณพิการ นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบของหน่วยงานเชิงป้องกัน งานส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นระบบสปสช.เหมือนเป็นการเอาใจภาคประชาชนฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นหากเราปล่อยทิ้งไว้ คนในระบบสาธารณสุขจะออกมากขึ้น ขณะที่คนไข้จะยิ่งทวงถาม ทำไมนานนัก ในที่สุดระบบนี้ก็จะตายซาก”

ที่มา :  รายงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มิถุนายน 2554
ที่มา : รายงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2554

เวลาผมรักษาคนไข้ ค่อนข้างคุยกับคนไข้นาน ทั้งนี้แล้วแต่เคส แต่ตอนหลังหมอ คนไข้แทบจะไม่มองหน้ากันแล้ว เกิดผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้หายไป ของดีๆหายไป เพราะสู้ไม่ไหว อย่างหมอทำงานหนัก เมื่อคืนเพิ่งผ่าตัดมา หรือหมออีกคนไปประชุมวิชาการ เหลือ 2 คน ต้องรีบตรวจ ถ้าทำวันสองวันไม่เป็นไร แต่ถ้าทำอย่างนี้ทุกวันไม่ไหว ชีวิตต้องถามหาว่าตัวเองทำไปเพื่ออะไร หมอ พยาบาล อายุสั้นกว่าเกณฑ์กำหนด แก่เร็ว เครียดทางอารมณ์

“ผมจึงคิดว่าระบบต้องสมดุล ระหว่างผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในการรักษาฟรี เป็นเรื่องที่ดี แต่ทำอย่างไรที่จะเหมาะสม จุดที่เหมาะสมอยู่ที่ไหน ผมบอกไม่ได้ ต้องเอาฝ่ายให้บริการมาคุย ว่าเขามีกำลังขนาดนี้ที่จะให้บริการคุณ คุณจะจัดการอย่างไรให้เหมาะสม ต้องคุยในรายละเอียด หากปล่อยไว้ระบบมันล่ม กว่าจะฟื้นคืน มันยากนะ เราคิดว่าป้องกันไว้ดีกว่า พรรคเพื่อไทยเป็นคนทำให้เกิดนโยบายนี้ จะต้องดูแล รับรู้ปัญหานี้ อย่าให้เกิดการล่าช้าในการจ่ายเงิน เพราะเงินนี้เป็นเงินเดือนด้วย ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายรายหัวคนไข้อย่างเดียว อย่างพยาบาลขาดไป ต้องรับใหม่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมักจะรับเด็กๆ เพราะเงินเดือนน้อย ไม่ใช่พยาบาลที่มีประสบการณ์ อย่างอายุ 40 – 45 ปี มีประสบการณ์ดีมาก”

นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์

ไทยพับลิก้า : การดูแลระบบสาธารณสุข เป็นหน้าที่กระทรวงสาธารสุขหรือสปสช.

ระบบกฎหมายเขียนไว้หน่วยบริการสาธารณสุข(โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข)ต้องรับ ไม่รับไม่ได้ แต่สปสช.ออกกฏมาที่ขัดแย้งกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข คนปฏิบัติจะทำอย่างไร ผมไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า เพราะที่นี่(กระทรวงสาธารณสุข)หนึ่งกระทรวง 2 ระบบ .. ยาก โดยความเห็นผมคิดว่า “เงิน” ถ้าจะให้สปสช. ผมว่าเอาไปให้กระทวงสาธารณสุขบริหารจัดการไปเลยดีกว่า ส่วนสปสช.บทบาทควรเปลี่ยนเป็นคนกำกับดูแลจะดีกว่า มาอยู่ฟากประชาชนที่มีความรู้ มีโนฮาว แต่อย่าไปถือเงิน

แต่นี่สปสช.ไปสร้างว่าเขาเป็นผู้ซื้อแทนภาคประชาชน เป็นผู้ถือเงิน มาต่อรองกับกระทวงสาธารณสุขว่าต้องรักษาทุกโรค กี่ครั้งก็ได้ แล้วจะให้เงินต่อหัวแก่คุณ(หน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข) นี่คือกฏเกณฑ์ที่สปสช.ตั้งเอาไว้ ผมไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์ซื้อขายแบบนี้ มีที่ไหนในโลก แม้แต่เราทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพยังมีเงื่อนไขในการใช้ บอกว่าผู้ป่วยนอกสามารถใช้ได้กี่ครั้ง รวมวงเงินต้องไม่เกินเท่าไหร่ จะเป็นปลายปิดหมด แต่ระบบสปสช.เป็นปลายเปิดหมด ประชาชนใช้ได้ไม่อั้น

คนที่ออกกฎหมายเป็นปลายเปิดหมด ใช้ได้ไม่อั้น ทั้งๆ ที่คนที่ริเริ่มโครงการนี้วัตถุประสงค์ดี หมอที่ทำ แต่ไอดีลไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง แต่นี่เรากำลังทวงถามความเป็นจริง โลกของความเป็นจริง เพราะประเทศไทยยังไม่ใช่เศรษฐี จะโปรภาคประชาชนอย่างไรก็ได้ สมมติเรามีบ้านหลังหนึ่ง เราคงไม่ลงทุนการรักษาดูแลสุขภาพเต็มที่ โดยปล่อยให้บ้านผุพัง ห้องน้ำเละเทะ ถนนเข้าบ้าน ไฟฟ้า โทรศัพท์ก็ไม่มี ไม่ใช่ใส่ให้สุขภาพซะเต็มที่

ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีฐานะใกล้เคียงกัน เขาบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร หากจับเอามิติปรัชญาพอเพียง สิ่งที่สปสช.ทำ มิตินี้ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ดูเหมือนดี เพราะช่วยคนยากคนจน แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะระบบมันรองรับไม่ได้ เพราะให้มากเกินไป

ควรให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ทำงานวิจัยระบบสาธารณสุข ออกมาให้ชัดเจน อย่างบ้านผมที่จ.ตาก มีต่างชาติอยู่ด้วย โรงพยาบาลต้องให้บริการ เอาเงินภาษีมาให้บริการเขาด้วย โดยหลักการรัฐบาลต้องไปประสาน UNSCR การเอาเงินงบประมาณไปให้ต่อหัวไม่ถูก เช่นที่ อุ้งผาง ท่าสองยาง มีโรคติดต่อมากมายของพม่า ข้ามมารักษาฝั่งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ให้หรือ ไม่ได้ หมออุ้งผางเขารักษาให้ ยิ่งทำให้โรงพยาบาลรับไม่ไหว

ไทยพับลิก้า : จะแก้ไขอย่างไร

ต้องเอาตัวเลขสปสช. 9 ปีที่ผ่านมา มาดู หากจะเอาระบบนี้ต่อไป ตอนนี้เขาก็เริ่มรู้แล้วว่าไปไม่ได้ ทางรัฐมนตรีจะเก็บ 30 บาท เดิมจะเก็บตั้งแต่เดือนนี้(พฤศจิกายน 2554) แต่บังเอิญอยู่ในช่วงน้ำท่วมพอดี ก็กลัวคนด่า คนการเมือง หากมันเสียเขาก็ไม่ทำ เขาก็รอ การเก็บ 30 บาท ก็ไม่ตอบโจทย์ แต่บรรเทาปัญหาลง ที่ต้องตอบโจทย์คือจำนวนครั้งมันหนักเกินไป และ 30 บาท ปรับได้ไหม ซึ่งเรื่องนี้ต้องถามเจ้าหน้าที่ เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน มีความหลากหลาย

ความเห็นส่วนตัวผม ผมอยากใช้ระบบอิสระ โรงพยาบาลในพื้นที่ แต่ละจังหวัดควรได้รับเงินโดยตรง ยิงมาจากกรมบัญชีกลาง ให้จังหวัดบริการจัดการกันเอง สมมติ จ.ตากมีประชากร 5 แสนคนที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ ให้เงินจังหวัดไปเลย ให้เขาบริหารจัดการ และเขาอาจจะมีการจับกลุ่มกับเครือข่าย เพราะทุกโรงพยาบาล ต้องมีโรงพยาบาลศูนย์เป็นพี่เลี้ยง จังหวัดต้องบูรณาการให้เป็นแบบเดียวกัน เหมือนเป็นบริษัทรับประกันรักษาสุขภาพของคนทั้งจังหวัด หากมีคนไข้ข้ามเขต จะคิดอย่างไรก็ว่าไป รายละเอียดมันเยอะทางการแพทย์ บริหารแบบมีโครงข่ายเช่นว่า คนนี้ทำกายภาพที่นี่ ไปเที่ยวหัวหิน อยากทำที่รพ.หัวหินจะตามจ่ายกันอย่างไร

นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ไม่รู้เป็นไปได้ไหม ยังไม่ได้ศึกษา ประเด็นคือให้เขาเป็นอิสระในการวินิจฉัยรักษา

ส่วนสปสช.ต้องช่วยในเรื่องมาตรฐาน ตรวจสอบ ประชาชนคนไหนที่ได้รับผลกระทบจากการรักษา ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ตายได้ 200,000 บาท ซึ่งมาตรานี้คุ้มครองแค่นี้ ส่วนจะปรับใหม่อย่างไรให้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นความผิดในระบบ ซึ่งปัญหานี้ยังพอพูดคุยกันได้

หลักการผมอยากให้อยู่ได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เกิดความสมดุล (ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ)

ผมว่าเทรนด์ต่อไปของผู้ใช้บริการคือความเท่าเทียม เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นวัฒนธรรมตะวันตก มีทั้งข้อดีไม่ดี แต่ในเชิงปฎิสัมพันธ์ หากคนเราถ้าจะทำงานด้วยกัน ท่าทีต้องดีต่อกัน หากท่าทีไม่ศรัทธา ยังต้องมาใช้ระบบสปสช.อีก เดี๋ยวก็อาจจะทะเลาะกัน อีกฝ่ายหนึ่ง(ประชาชน)จะกลายว่าเป็นว่านี่คือสิทธินะ จะมาหาหมอเวลาไหนก็ได้ หมอปฏิเสธไม่ได้ สิทธิของเขา เมื่อหมอถาม เป็นอะไรมา ปวดหลัง เป็นมากี่วันแล้ว 2 วัน ถามว่าทำไมเพิ่งมาหาหมอตอนห้าทุ่ม ตีหนึ่ง ตีสอง นี่คือตัวอย่าง เพราะเขาคิดว่าระบบต้องให้บริการเขา เพราะฉะนั้นระบบต้องกำหนดเงื่อนไขการใช้บริการ ไม่ใช่อยากจะมาเมื่อไหร่ก็ได้

หากจะปรับระบบใหม่ อันนี้ต้องอาศัยหลายๆอย่าง ต้องคุยกัน คนเราต้องมีวินัยพอสมควร จะออกกฎได้ไหม หากคนเป็นโรคธรรมดา ที่ไม่ใช่เลือดตกยางออก คลอดลูก ผ่าตัด ช่วยกันหน่อยไหม กำหนดเวลาในการให้บริการ ให้ระบบนี้มันเดินไปได้ ไม่ใช่จะมาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่ผมเพิ่งขายปลาเสร็จ ตลาดเพิ่งปิด เพิ่งขายข้าวต้มเสร็จ มาห้าทุ่มเที่ยงคืน นี่คือสิทธิที่ยิ่งใหญ่ แต่คนทำงานไม่มีสิทธิอะไร เป็นหน้าที่อย่างเดียว หากเราปล่อยไปอย่างนี้มันเสี่ยงที่ระบบจะล่มสลาย

ที่ผมพูด ยังไม่มีตัวเลข ต้องไปจับดูว่าคนไข้ที่มาโรงพยาบาล เป็นโรคที่ไม่ควรจะมา มีจำนวนเท่าไหร่ อย่าง ญี่ปุ่น กลางคืนมันเหงานะ ไม่ใช่ป่วยฉุกเฉิน เขาก็ไม่มา หมอนอนสบาย เขาลดอัตรากำลังได้ แต่ของเรากลางวันใส่กำลังเต็มที่ แต่กลางคืนลดกำลังลง คาดเดาไม่ได้ ว่าฉุกเฉินจะมาเท่าไหร่ แต่ก็ไม่น้อยกว่ากลางวันนัก ตัวเลขเหล่านี้ต้องเอามากางดูกันว่าเป็นอย่างไร แล้วสร้างโมเดลออกมาว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร

นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์

กระทรวงสารณสุขไม่มีอะไรเลย โล่งโจ้ง อำนาจอยู่ที่เงิน จะให้ไม่ให้อยู่ที่สปสช. ขณะนี้ สส.รู้แล้วว่าผลของนโยบายสปสช. ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนจำนวนมาก

ความหมายของคำว่าขาดทุน หมายถึงว่าโรงพยาบาลขาดทุน ควักเงินบำรุงของเขาจากที่เขามีอยู่ เช่น เงินบำรุง เงินบริการของเขามาใช้ ถามว่าไม่มีเงินจะบริหารอย่างไรให้ได้มาตรฐาน ประเด็นที่เราเป็นห่วงคือภาคประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ด้อยโอกาส ขณะที่คนพอช่วยตัวเองได้ ไปใช้บริการเอกชนแทน เราจะเห็นว่างบดุลโรงพยาบาลเอกชนเขาอยู่ได้ ไม่ต้องห่วงเขา

โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นเครือข่ายสปสช. เขาเจ๊งเขาออกได้ แต่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำ 30 บาทโดยเฉพาะก็มี แต่เขาก็มีวิธีการที่จะทำให้เขาอยู่ได้ เท่าที่ฟังมาคนไหนโรคไหนเยอะให้พรรคพวกไปแนะนำว่าคนนี้ทีหลังอย่ามาเลย หรือถ้าถูกบังคับต้องมาที่โรงพยาบาลนี้ก็ให้บอกว่าที่นี่..หมอไม่เก่งอย่ามาเลย

วงการแพทย์บางอย่างอธิบายยาก เวลาเปรียบเทียบคน เห็นดีๆ ว่าแต่ละคนเหมือนกัน แต่ข้างในไม่รู้ว่ามีอะไรต่างขนาดไหน ความทนต่อความเจ็บป่วยไม่เท่ากัน บางคนนิดเดียวก็มาหาหมอ บางคนจะตายแล้วจึงมา ทั้งๆที่เป็นโรคเดียวกัน หรือใครบอกว่าผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่ตาย มี.. ตายก็มี เพราะความรุนแรงมันมาก แล้วบอกว่าเป็นการบกพร่องว่ามาโรคนี้ไม่ควรจะตาย คุณก็ต้องมาไล่ดูว่าเจอตอนแรกเป็นอย่างไร

ผมถึงบอกว่าเวลาเอาเรื่องการรักษาพยาบาลมาผูกโยงกับเงิน มันทำให้ขาดความเป็นอิสระในด้านหนึ่ง เมื่อก่อนหมอโรงพยาบาลรัฐ หมอเขาอยากอยู่ เขามีอิสระ มีแรงยืดหยุ่น แต่ตอนนี้ มีแต่…ต้องๆๆ .. ถ้าไม่อย่างนี้ไม่ต้อง ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ได้ ก็กลายเป็นการทำงานที่เครียด คนทำงานต้องมีความสุขก่อน ไม่ใช่คิดว่าเมื่อไหร่จะวันศุกร์เสียที โล่งอก แสดงว่าระบบภายในไม่จูงใจ และเจ้าหน้าที่ภายในก็มีระบบกำกับดูแลอีกชั้น เวลาเครียดก็ทะเลาะกันอีกเพราะเรื่องเงิน ขณะที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะมีผลงานก็ต้องมีเปเปอร์มาส่งถึงจะได้เงินจากสปสช.

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วคุณคิดว่าหมอจะมาจับตัวคนไข้ถามว่าคุณลุงเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม.. ไปถึงแล้ว ประโยคพวกนี้ไม่มีออกมา มีแต่เป็นไง อึๆๆๆ จบๆไป

ไทยพับลิก้า : เทคนิคการบริหารโรงพยาบาลไม่ให้ขาดทุน จะเอาตัวรอดอย่างไร

ผมคงไม่ก้าวล่วง ต้องถามคงทำงานจริงๆ แต่ละที่ทำอย่างไร แต่มันมีที่ผมเห็นประชาชนมาขอเงินให้ช่วย ผมถามว่าทำอะไร เขาบอกว่าหมอส่งเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีเงิน แม้รัฐจ่ายด้วย แต่เขาต้องจ่ายด้วย หรือคนฟอกเลือดด้วยไตเทียมคนไข้ต้องจ่ายด้วยส่วนหนึ่ง (ข้อเท็จจริงแต่ละบางรพ.ไม่เหมือนกัน) หรือคนที่ล้างไตผ่านช่องท้อง สปสช.ให้คนไตวายให้เขาล้างไตผ่าช่องท้องเป็นอันดับแรก

ดังนั้นถ้าเก็บ 30 บาทพอไหม คุณวิเคราะห์หรือยังว่าพอไหม และ 30 บาท ไม่ได้เก็บทุกครั้งที่มาหาหมอ สมมติวันแรกสั่งยา และนัดมาเอ็กซเรย์ วันที่มาเอ็กซเรย์ถ้าไม่ได้พบหมอก็ไม่เก็บ 30 บาท

ที่มา :  รายงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2554
ที่มา : รายงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มิถุนายน 2554

ไทยพับลิก้า : ทำไมนำนโยบาย 30 บาทกลับมาใช้ใหม่

อันนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อสภาที่ผ่านมา จะนำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาใช้ใหม่ นโยบาย 30 บาทที่ไม่มี(ไม่เก็บเงินหรือรักษาฟรี)คือรัฐบาลคุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ การเลือกตั้งถัดมารัฐบาลเพื่อไทยได้เขาก็ไม่เก็บ และปชป.มาบริหาร ก็ต่อปอีก 2 ปี ที่ผ่านมาก็ไม่มีการเก็บเงิน ไม่มีใครกล้า เพราะเป็นเรื่องการเมือง เซ้นซิทีพไม่มีใครอยากทำ แต่พอเพื่อไทยกลับมาก็ประกาศว่าจะนำมาใช้ใหม่ พิสูจน์แล้วว่าระบบนี้มันอยู่ไม่ได้

เท่าที่สอบถามมีการร่วมจ่าย(co payment) จะดีกว่าไม่มี เพราะทางการแพทย์มีความยุ่งยาก และระบบสปสช.เขามีความยุ่งยากต้องยาจ่ายตามบัญชียาหลัก

ไทยพับลิก้า : ระบบสุขภาพถ้วนหน้า คุณภาพยาไม่ดี

ที่บอกว่ายาไม่ดี สปสช.เขาอธิบายว่ามีมาตรฐานรับรอง แต่ในโลกความเป็นจริงเป็นอย่างที่ว่า เพราะคนที่คิดรีเสิร์ชได้คนแรก วัตถุดิบยา บอกสูตรหมด ตั้งแต่กรรมวิธีทางเทคนิค ทางวิทยาศาสตร์ แต่หลัง 5 ปี เมื่อหมดสิทธิบัตรแล้ว คนอื่นทำได้ วัตถุดิบ กรรมวิธีการทำ ความบริสุทธิ์เนื้อยา เครื่องมือแพกกิ้ง มันมีขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ เพราะฉะนั้นการผลิตที่อินเดีย ยุโรป มาตรฐานจะต่างกัน แต่เราก็ต้องระวังว่าที่ผลิตที่ยุโรปมันก็อาจจะหลอกเราได้ อะไรก็ดีหมด แต่ในที่สุดก็ต้องดูมาตรฐานยา โดยดูคุณภาพในเชิงฤทธิ์ยาอยู่ในขอบเขตมาตรฐานหรือไม่ ถ้าได้ก็โอเค ซึ่งคณะเภสัชเขาทำวิจัยจะมีการตรวจสอบอยู่

เพราะฉะนั้นยาบัญชียาหลักที่สปสช.ยืนยันว่ายาทุกตัวมีมาตรฐานในระดับเขาว่า แต่มาตรฐานไทย ยุโรป ญี่ปุ่น ไม่เท่ากันหรอก(หัวเราะ) คำว่ามาตรฐานคือสิ่งที่เรายอมรับว่าใช้ทั่วๆไป ได้ ถามว่ามาตรฐานไทยเทียบกับญี่ปุ่น ยุโรปได้ไหม ไม่เท่ากันหรอกคนละมาตรฐานกัน แต่โดยทั่วไปเขาถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ส่วนการรักษาจะได้ผลไม่ได้ผลมีปัจจัยเยอะแยะ มันอยู่ที่การวินิจฉัยโรคถูกต้องไหม คนไข้กินยาตรงตามเวลาไหม เป็นต้น

ไทยพับลิก้า : อนาคตแพทย์ไทยจะเป็นอย่างไร

อนาคตแพทย์ แบ่งตามสังกัด กระทรวงสาธารณสุข ทหาร โรงเรียนแพทย์(กระทรวงศึกษา) กระทรวงมหาดไทย กทม.หน่วยงานอิสระเช่นกาชาด มันหลายกระทรวง หรือถ้ามองในภาครัฐ ภาคเอกชน ก็แบ่งโดยเศรษฐฐานะในการแบ่ง คนที่มีฐานะก็ไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน แต่คนที่ไปไหนไม่ได้ใช้ระบบสปสช. แต่จะทำอย่างไรให้สปสช.บริการจะดีขึ้นหรือดีตามที่พูดไว้ ซึ่งงานบริการเหล่านี้การจะดีได้ต้องอาศัยหมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เป็นองค์รวม เป็นทีมใหญ่ไม่ใช่หมอเก่งคนเดียว ต้องช่วยกัน หากกลุ่มคนเหล่านี้ท้อใจ กำลังคนไม่มี มีแต่งานๆๆ เขาก็ไม่ไหว ลาออกกัน

ไทยพับลิก้า : แต่สปสช.ก็มีระบบการป้องกันไม่ให้งานมาหาหมอ

ระบบสปสช. ซ่อมนำสร้าง หากดูสถิติค่อนข้างบอกยาก เพราะระบบสปสช.เปิดกว้างให้เขามาใช้บริการกี่ครั้งก็ได้ ผมเลยไม่ทราบว่าตัวเลขที่คนมาโรงพยาบาลถี่ เพราะโรคมากจริงๆ หรือเพราะเปิดทางให้เขามากี่ครั้งก็ได้ตามสิทธิของเขา ดังนั้นนโยบายสร้างนำซ่อม ก็ไม่จริง สร้างคือป้องกันไม่ให้เป็นโรค หลักการต้องการซ่อมต้องน้อยลง ถ้าหมวดส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคทำได้ดีจริง การมาหาหมอต้องน้อยลง โรงพยาบาลว่าง เตียงว่าง ร่างกายคนแข็งแรง แต่นี่ไปโรงพยาบาลมีเตียงไหม ไม่มี คนแน่นไปหมด

ไทยพับลิก้า : ดูแล้วมืดมน แก้ไม่ได้

หากเป็นระบบสปสช.ต่อไป ต้องมานั่งดูว่าหากจะให้สปสช.เดินไปข้างหน้าจะต้องปรับอะไรบ้าง ความจริงระบบสปสช.โดยหลักเกณฑ์ก็ดี แต่ปัญหาทำอย่างไรให้ฝ่ายทำงาน ฝ่ายบริการเขาอยู่ได้ ไม่ใช่เขามาร้องว่าขาดทุน อยู่ไม่ไหวแล้ว ซึ่งเขาขาดทุนจริงๆ ทั้งๆที่สปสช.มีเงินค้างท่อ จ่ายช้าเพราะอะไร และสปสช.มักอ้างว่าเอกสารไม่ครบ ดังนั้นระบบทำงานอย่าพยายามทำให้ยุ่งยากซับซ้อน ควรตรวจสอบได้ด้วยระบบไหนก็ว่ามา แต่อย่าให้ยุ่งยาก ต้องทำให้ง่าย

ระบบนี้งบประมาณส่งสปสช. สปสช.ยิงตามรพ. ตรงนี้หากไม่ผ่านสปสช. ยิงไปที่จังหวัดเลยไหม จะแก้อย่างไร ต้องถามผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าจะแก้อย่างไร เพราะเขารู้ดี เราติดแทนเขาไม่ได้

ไทยพับลิก้า : เคยมีไหมที่หนึ่งกระทรวง มี 2 ระบบ

ไม่มี มีแต่กระทรวงสาธารณสุข รมต.นั่งเป็นประธานสปสช.และสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข การนั่งเป็นประธานสปสช.เขามีคณะกรรมการของเขา 30 กว่าคน ประธานแค่รับทราบ รับรู้ เท่านั้น

ไทยพับลิก้า : สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาเอง

ผมว่าโครงสร้างมันเสีย ทำไมสปสช.ต้องถือเงิน ทำไมไม่ให้กระทรวงสาธารสุขซึ่งเขามีองค์การเภสัชกรรมอยู่แล้ว เป็นแม่ข่ายใหญ่ ซื้อกันในกลุ่มของเขา เงินย้ายซ้าย-ขวา ก็ว่ากันไป แต่สปสช.เขาก็ซื้อผ่านองค์การเภสัช แต่เขาอ้างว่าซื้อได้ถูก เช่น สเตนท์หัวใจ

ไทยพับลิก้า : แต่คนใช้บอกไม่ได้คุณภาพ

มองมุมสปสช.เขาบอกว่าได้ผลดี เขาซื้อของตามมาตรฐานทุกอย่าง เรื่องทางการแพทย์อธิบายได้หลายมิติ หมอคนที่ใช้ บอกว่าคนซื้อไม่ได้ใช้คนใช้ไม่ได้ซื้อ ถ้าผม(หมอ)ใส่แบบนี้ไป ฝ่ายจัดซื้อรับผิดชอบไหม เรื่องนี้ต้องถามหมอหัวใจ เป็นความยุ่งยากในการรักษา หลักการถือเงินใครจะถือ

จริงๆ ก็เหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน ที่ต้องรับผิดชอบกับบริษัทประกัน เพื่อรักษาลูกค้าที่ซื้อประกันสุขภาพ บริษัทประกันไม่ได้ซื้อยา ซื้อเครื่องมือให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลไปบริหารจัดการเอง ให้ลูกค้าได้รับสิทธิตามนั้น บริษัทประกันก็อยู่ได้ เพราะมีปลายปิด มีข้อจำกัดในการรักษาโอพีดีกี่ครั้งต่อปี วงเงินเท่าไหร่ หากมากกว่านั้นก็ต้องจ่ายเอง คุ้มครองโรคไหนบ้าง แล้วแต่เงื่อนไข และโรงพยาบาลที่รับเงื่อนไขต้องมีการต่อรอง

อย่างของสภาผู้แทนราษฏร ที่ทำประกันสุขภาพ ก็ยังมีการจำกัดการใช้ว่ากี่ครั้งต่อปี วงเงินเท่าไหร่ สส.จะใช้โอพีดี ใช้ครั้งละไม่เกิน 3,300 บาทต่อครั้ง มีอั้นทุกอย่าง ค่าห้องใช้ได้ไม่เกินเท่านี้ ค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าผ่าตัดไม่เกินเท่าไหร่ เป็นปลายปิดหมด

สส.ไม่ต้องการแบบนี้ต้องการเบิกแบบราชการ ตามอายุสภาฯ แต่สภาฯอยากได้ใช้โรงพยาบาลรัฐและจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง อันนี้ไม่ดี

ของสส.ไม่รวมครอบครัว หลักการก็ถูกต้อง ไม่ควรให้ครอบครัว เพราะคุณอาสามาทำงาน วิธีคิดแบบเศรษฐพอเพียง ดูแบบแฟร์ๆกัน อย่ามากไปน้อยไป มีเหตุผล

สาเหตุที่สปสช.อยู่ไม่ได้เพราะปลายเปิดมากเกินไป ที่ให้แบบไม่อั้น ไม่มีการจำกัด ระยะแรกระบบมันอยู่ได้ แต่พอปีที่ 8 ปีที่ 9 ก็เริ่มอยู่ไม่ได้แล้ว คนทำงาน หมอ พยาบาล ลาออก โรงพยาบาลขาดทุน ลองไปดูว่าหมอลาออกไปทำอะไร อย่างพยาบาลเลิกทำไปเลย ปัญหาตอนนี้พยาบาลขาดแคลนอย่างรุนแรง

ตอนนี้มีการปรับอัตรากำลังพล ที่ต้องจ่ายปริญญาตรี 15,000 บาท ตรงนี้โรงพยาบาลจะแก้อย่างไร จะต้องไปหักจากค่าใช้จ่ายต่อหัว หรือว่าจะเอาเงินที่ไปเสริมให้โรงพยาบาล ไม่งั้นรายจ่ายต่อหัวของประชาชนลดลงอีก

ค่าใช้จ่ายต่อหัว 2,700 – 2,800 บาท จริงๆเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล เฉลี่ยนิดเดียว ไม่ใช่ 2,700 – 2,800 บาท เพราะในนี้รวมค่าเงินเดือน ค่าจ้างด้วย

เวลาที่เราพูดในสภาฯ ทุกคนคิด ได้ต่อหัวเฉลี่ย 2,700 – 2,800 คูณ 48 ล้านคน โอ้ เงินเยอะมาก แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะระบบสปสช.วางมาอย่างนั้น จะแก้ก็ลำบาก มีพลังมวลชน ถูกด่าแน่ ว่าทอดทิ้งประชาชน นักการเมืองไม่กล้าทำ

นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ สส.เขต 1 จังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์

ไทยพับลิก้า : จะให้ใครพูดว่าระบบมันอยู่ไม่ได้แล้ว

ต้องให้หน่วยบริการ ออกมาพูดให้สังคมได้รับรู้เรื่อยๆ ตัวแทนแพทย์ กลุ่มวิชาชีพ ตัวแทนแพทยสภา ว่าระบบนี้ไปไม่ได้ ผู้ให้บริการทั้งหลายต้องออกมาพูด นักการเมืองที่คิดโครงการนี้เอาเปรียบมาก นั่งกระดิกเท้า มีคนมาขอบคุณ เพราะประชาชนชอบ รวมทั้งพรรคผมอาจจะมีปนด้วย เพราะกระแสไปอย่างนั้น หากเราไม่ทำก็แพ้เขา ขนาดทำก็แพ้ นี่คือการต่อสู้ แต่ต้องมีอะไรมากำกับ เช่น มีกฎหมายมากำหนดเรื่องงบประมาณ ต้องมีงบลงทุนว่าเป็นเท่าไหร่ ปัจจุบันงบลงทุนเราน้อยลงเรื่อยๆจาก 30 % ลดลงเรื่อยๆตั้งแต่มีนโยบายประชานิยม เหลือ 16 – 17 % นี่คืออันตรายของประเทศ ที่งบลงทุนเราไม่โต

ดังนั้นเรื่องค่ารักษาพยาบาลขนาดประเทศมหาอำนาจยังอยู่ไม่ได้ ประเทศที่พัฒนาแล้วยังเอาไม่อยู่ ประเทศเหล่านั้นภาษีมูลค่าเพิ่มเขาแพงมาก อย่างสแกนดิเนเวีย 24 – 25 % แต่ของเราเก็บแค่ 7 % เราจะไปเอาอย่างเขาคงไม่ได้ เป็นลัทธิเอาอย่างไม่ได้ ต้องดูฐานะของเราก่อน จะให้บริการเขาได้อย่างไร ต้องเปิดใจคุยกัน

พอออกมาเป็นกฏหมาย ต้องไปแก้ ใครจะเป็นหัวหอกแก้ ต้องให้คนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนแก้ เสนอผ่านนักการเมือง การให้นักการเมืองเป็นโต้โผเอง ยาก..ในแง่การเมือง เดี๋ยวก็เถียงกันในพรรคเละ ถ้าเทียบกับอัตรากำลังคน ระหว่างคนใช้บริการ 48 ล้านคน ขณะที่คนให้บริการทั้งหมด รวมครอบครัวหมอและอื่นๆประมาณ 1 ล้านคน จะชนะได้อย่างไร แพ้อยู่แล้ว เวลาเลือกตั้งก็โฆษณาชวนเชื่อ ก็แพ้อยู่แล้วหากจะแก้กฏหมายรื้อระบบบริการสาธารณสุขใหม่

ไทยพับลิก้า : ถ้าปล่อยไปมันล่มสลายแน่นอน

ใช่ ระบบสาธารณสุขล่มสลายแน่ ต้องช่วยกันเพราะว่าโรงพยาบาลรัฐมีคุณค่ามาก จะทำอย่างไรให้ทุกคนอยู่ได้ คนป่วยเนี่ยะ ช่วยตัวเองไม่ได้นะ ต้องวิ่งไปหาคนที่คิดว่าช่วยเขาได้ แต่คนที่จะช่วยก็ป้อแป้ๆ โรงพยาบาลยังไม่รู้จะรอดหรือเปล่า มันจะช่วยได้ดีได้อย่างไร นี่คือภาพ…มันจะช่วยกันอย่างไร ปกติเวลาที่เราเดือดร้อนก็ต้องไปหาคนที่ช่วยเราได้ มั่นคงกว่าเรา แต่นี่กลับไปหาคนที่เดือดร้อนไปด้วย

ไทยพับลิก้า : คุยกับหมอหลายคนถอดใจ ลาออกกันเยอะ

ถอดใจๆ กลายเป็น เข้าทางโรงพยาบาลเอกชน นโยบายนี้นายกฯทักษิณ ชินวัตร เขาจึงทำนโยบายแบบคู่ขนาน ในตลาดหลักทรัพย์มีใครขายโรงพยาบาลบ้าง เพราะรู้แล้วว่าโรงพยาบาลเอกชนหากินกับคนข้างบน คนชั้นกลางที่ขี้เบื่อ หรือกินกรุ๊ปบริษัทประกันสุขภาพ คนไปหาโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้จ่ายเงินเอง ส่วนใหญ่ซื้อประกัน คุ้มครองดีกว่าเป็นโคเปเมนท์ และตัวเองก็ต้องรักษาตัวเองให้ดีพอสมควร แต่ถ้าระบบเปิดสปสช.ไม่ต้องดูแลตัวเอง เพราะการรักษาฟรี สำมะเลเทเมา ไปเที่ยวผู้หญิง มาเป็นโรคหนองใน ไม่ต้องกลัว ฟรี เป็นวัณโรค ไม่ต้องกลัว ฟรี

ไทยพับลิก้า : ตกลงระบบรักษาพยาบาลควรจะฟรีหรือจะแชร์

สังคมต้องตอบเรื่องนี้ ถ้าจะฟรี อย่าให้เงินเขาแค่นี้ ก็ต้องให้เขาอีก ก็สะท้อนมาที่งบลงทุน คุณจะทำประชานิยมอย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณต้องมีกฏหมายกำหนดว่าต้องมีงบลงทุนเท่าไหร่ คุณจะทำประชานิยมอย่างไรก็ตาม หากมีอย่างนี้ก็จะต้องกันงบลงทุนไว้ก่อน ประเทศจึงจะเจริญ แต่หากไม่มีกฏหมาย งบประมาณก็จะถูกเฉือนไปอย่างนี้

ไทยพับลิก้า : โรงพยาบาลเตียงคนไข้ไม่พอ ตึกไม่มี โรงพยาบาลต้องหาเงินเอง

ช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมางบลงทุนลดลงไปเรื่อยๆ งบสร้างตึกไม่มี รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีงบไทยเข้มแข็ง หวังให้มีการลงทุน โรงพยาบาลจะได้สร้างตึก

โรงพยาบาลรัฐอยู่ไม่ได้ วิธีหาเงินคือไซ่ฟ่อนเงินจากการรักษาข้าราชการ ใส่เต็มที่กับค่ายาจากข้าราชการ งบค่ารักษาพยาบาลจึงสูงมากเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ไซ่ฟ่อนเงินจากกรมบัญชีกลางไปใช้ โรงพยาบาลไหนเล็กๆที่ข้าราชการไม่ค่อยใช้ ก็เจ๊ง โรงพยาบาลแพทย์มักอยู่ได้เพราะความน่าเชื่อถือ

ด้วยเหตุนี้เมื่อระบบข้าราชการเสีย มีการควบคุมการใช้ยาของข้าราชการ นี่เป็นเพราะโรงพยาบาลไม่มีรายได้ก็ต้องเอาจากการให้บริการข้าราชการ ดังนั้นปัญหาพันกันไปหมด

การเมืองสบาย ทำแล้วได้บุญคุณ แต่หมอ พยาบาลหัวหงอกไปหมด ทำไม่ไหว เท่ากับคุณทำลายระบบ แทนที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เขา แต่ระบบสปสช.กลับทำให้ระบบแย่ลง สังคมต้องรับรู้ จะแก้ไขอย่างไรก็ว่ามา ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะแป็นอย่างไร

ระบบมีเงินแค่นี้ สปสช.ได้เงินมาแสนกว่าล้านบาท ให้แค่ซอฟแวร์ ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ ในการสร้างตึก ซื้อครุภัณฑ์ ติดแอร์ ทาสี โรงพยาบาลไปหาเอง ไปทำเอง

หมอที่ริเริ่มโครงการนี้เชื่อตัวเองมากเกินไป เป็นหมอกลุ่มเดียวที่ไปผลักดันนโยบายกับพรรคไทยรักไทย(ตอนนั้น) ไม่ได้ถามคนที่ทำงาน พอนำร่องดี ก็ขยายเต็มพื้นที่ ผมว่าการมีส่วนร่วมให้คน 48 ล้านคน รับรู้ความจริง เป็นเรื่องสำคัญ คุณโปร่งใสคุณต้องเปิดข้อมูลว่าระบบมันไม่สมบูรณ์

ระบบให้บริการสาธารณสุขมีทางแก้ไขได้ อย่างอุปกรณ์เครื่องมือที่ซับซ้อน เครื่องที่ซับซ้อนที่ยากๆ มาแชร์กัน ทำเป็นศูนย์กลางแต่ละภาคเพื่อให้บริการ เป็นต้น

นี่เป็นอีกมุมมองต่อระบบสาธารณสุขไทย