ThaiPublica > คนในข่าว > “ศุภกิจ นันทะวรการ” นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ สรุปประเด็นมาบตาพุดที่หายไป

“ศุภกิจ นันทะวรการ” นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ สรุปประเด็นมาบตาพุดที่หายไป

28 พฤศจิกายน 2011


นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

ถ้าจำกันได้เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว นักลงทุนตื่นตกใจกับข่าวศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อ 29 กันยายน 2552 ให้หน่วยงานของรัฐระงับการลงทุน 76 โครงการชั่วคราวในพื้นที่มาบตาพุดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งในที่สุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ระงับ 65 โครงการ มูลค่าการลงทุน 350,054 ล้านบาท และได้ยกเว้นอีก 1 โครงการ จึงเหลือ 64 โครงการที่ถูกระงับ ส่วนอีก 11 โครงการมูลค่าการลงทุนประมาณ 60,529 ล้านบาท ศาลให้ปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์ในการบำบัดมลพิษ

เมื่อเผชิญปัญหาข้อติดขัดและความขัดแย้งทางความคิดหรือผลประโยชน์ก็ใช้วิธีบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือไม่หักหาญน้ำใจกัน ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพการบริการให้ทันกับความต้องการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทั้งภายในและภายนอก

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น “แก้ปัญหา” ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย (ตัวแทนจากภาคราชการ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิและภาคประชาชน) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อหาทางออก โดยมีการสรุปแนวทางแก้ปัญหา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบสำหรับชาวมาบตาพุดและชาวระยองต่อการแก้ปัญหามลพิษ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม การแย่งชิงน้ำ รวมทั้งผังเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้ประโยชน์ไปให้ภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด (อ่าน เปิดงานวิจัยมาบตาพุด ความล้มเหลวของการเติบโตอย่างยั่งยืน (1))

การแก้ปัญหาเสมือนว่าเมื่อโรงงานสามารถเดินหน้าต่อได้ เท่ากับว่าปัญหามาบตาพุดยุติลงแล้วความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการเยียวยาแล้ว ขณะที่ประชาชนไม่ได้ต้องการแค่โครงการซีเอสอาร์ของภาคเอกชน แต่ต้องการมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าถึงความคืบหน้าหลังจากที่จากหลังคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ยุติลงว่า

ไทยพับลิก้า : หลังคณะกรรมการ 4 ฝ่าย สรุปข้อเท็จจริงและแนวทางแก้ปัญหาจากนั้นมีความเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ

คณะกรรมการ 4 ฝ่าย สรุปออกมา มี 3 – 4 เรื่อง โดยภาพรวมมันกลืนหายไปกับระบบราชการ แล้วแต่จะทำ ไม่ทำ โดยรวมเป็นอย่างนั้น อันแรกเรื่องผังเมืองและพื้นที่กันชน ผมอยู่ในอนุกรรมการชุดนี้ มีข้อเสนอชัดเจนเรื่องพื้นที่กันชน ในมาบตาพุด 2 กิโลเมตรและแนวป้องกัน 50 เมตร เสนอทั้ง 2 แนวทางว่าควรทำและต้องทำ พอเสนอเสร็จ ได้ส่งข้อเสนอนี้ไปที่รัฐบาล ให้ราชการพิจารณาว่าทำได้ไหม เป็นอย่างไรบ้าง แล้วมันก็เลือนหายไป ทั้งๆที่ได้มีเอกสารหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา มีน้ำหนักทางวิชาการ แต่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงมันยังไม่เกิด มันแล้วแต่ราชการ คือแล้วแต่กรมโยธาธิการและ ผังเมือง ว่าจะพิจารณาว่าอย่างไร เขาก็พิจารณาว่าค่อยเป็นค่อยไป มันก็เงียบหายไป

ไทยพับลิก้า : หน่วยราชการไม่มีใครผลักดันต่อ

มีทั้ง 2 ส่วน ส่วนที่เป็นการทำผังเมืองใหม่อยู่ที่พื้นที่(จ.ระยอง) แต่ไม่ทั้งหมด กระจายไปบางขั้นตอน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่ส่วนกลาง เพราะจังหวัดหรือท้องถิ่นจะมีบทบาทบางส่วน เนื่องจากขั้นตอนทั้งหมดมีประมาณ 14 ขั้นตอน ผมจำไม่ได้แม่น ของท้องถิ่นรับไป 8-10 ขั้นตอน สุดท้ายกลับมาที่ส่วนกลาง ท้องถิ่นจะไปทำผังเมือง พื้นที่กันชน และแนวป้องกัน ซึ่งผมก็เข้าไปทำเฮชไอเอผังเมืองด้วยเพื่อไปช่วยผลักดันกระบวนการนี้

ในแง่ส่วนกลางคือกรมโยธาธิการและผังเมือง เขาควรจะผลักดัน ควรทำระบบทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ กฎระเบียบ ข้อเสนอแนะ หรือการปรับแก้กฎหมาย แต่ส่วนกลางยังไม่ทำอะไร

หลังคณะกรรมการ 4 ฝ่ายออกแนวทางแก้ไขมา เรารู้ว่าจะเข้าสู่ระบบราชการ เราก็เลยไปทำการเฮชไอเอ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม ในการทำผังเมืองใหม่มาบตาพุด เพื่อที่จะไปผลักดัน ตอนที่เราทำ เราไปทำตอนที่เขาเริ่มวางผังเมืองกัน นักผังเมืองหลายคนค้านว่าเพิ่งจะร่างผังเมืองอยู่เลย จะวิเคราะห์ได้อย่างไร รอให้ร่างเสร็จก่อนซิ มันถึงมาถกเถียงกันได้ว่าอย่างไร (หัวเราะ)

แต่เราคิดอีกแบบ เราคิดว่าขืนเขาร่างเสร็จ มันก็เสร็จแล้ว เราต้องรีบทำ เพราะผังเมืองกำลังปรับเปลี่ยน นักผังเมืองจะรู้สึกว่าหากมีคอมเมนท์อันนี้ก็เปลี่ยนอีก คอมเมนต์อีกก็เปลี่ยนใหม่ นั่นแหละ…แต่เราตั้งใจให้ประชาชนรู้เรื่อง เราจึงทำเฮชไอเอผังเมืองใหม่มาบตาพุด โดยพยายามเน้นกับให้ประชาชนมีส่วนร่วมเยอะๆ แต่มีข้อจำกัดอนุกรรมการเฮชไอเอทำเท่าที่เราทำได้ ตอนนั้นพัฒนาออกมาเป็นผังเมืองทางเลือกขึ้นมา แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว

เราคุยกับประชาชน และเน้นความฝัน เรารู้สึกว่าสิ่งที่หายไปในกระบวนการผังเมืองมาบตาพุดคือไม่กล้าฝันอะไรเลย คือสภาพปัจจุบันมันเลวร้ายมาก จนนึกไม่ออกว่าเมืองที่ดีเป็นอย่างไร เราไม่เก่งเรื่องผังเมือง เราเน้นฝัน มันวาดได้ ถูกไม่ถูกหลักก็เช็คนิดหน่อย แต่เราไม่เอาผังเมืองเป็นตัวตั้ง เราเอาฝันเป็นตัวตั้ง โดยที่เราชวนฝันกันเต็มที่ ไปจ้างคนที่วาดภาพเพอร์สเปคทีพ ถ้าพื้นที่ตรงนี้มันเละๆอย่างนี้ ก็เอาภาพนั้นไปชวนคนมาบตาพุดฝันว่าภาพที่ดีขึ้นอย่างไร หลายคนฝันไม่ออกเพราะสภาพมันแย่มาก แต่หลายคนสนุกกับเรา จนออกมาเป็นผังทางเลือก มีส่วนพื้นที่กันชน มีแนวป้องกัน เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยพื้นที่อุตสาหกรรมไม่ได้ลดลง ปัจจุบันมีแค่ไหนแค่นั้นไม่เพิ่มขึ้น และเรื่องต่างๆที่ชาวบ้านฝัน และได้ประเมินผลกระทบ 2 อันนี้เปรียบเทียบกัน ว่าในแง่สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรการใช้น้ำ การปล่อยน้ำเสีย และเรื่องประชากรแฝง เราเสนอเข้าไปในกระบวนการปรับปรุงแก้ไข

ไทยพับลิก้า : ชาวบ้านฝันอะไรบ้าง

1. พื้นที่อุตสาหกรรมไม่เพิ่มขึ้นกว่านี้ จำกัดอยู่แค่นี้ แต่ผังเมืองใหม่ที่เป็นทางการซึ่งราชการทำอยู่ พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นคือสีม่วงเพิ่มขึ้น(สีม่วงคือพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม) และมีพื้นที่สีม่วงทแยงขาวเพิ่มเข้ามาอีก คืออุตสาหกรรมสะอาด เขาเขียนความหมายสีไว้เลยว่า “อุตสาหกรรมสะอาด” คือเขาไปดูลิสต์โรงงานอุตสาหกรรม 100 ประเภท แล้วเขาเลือกมา 70 ประเภทว่าเป็นอันไหนเป็นอุตสาหกรรมสะอาด เพราะฉะนั้นสีม่วงทะแยงขาว ทำอุตสาหกรรม 70 ประเภทนี้ได้ ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมนั่นแหละ แต่กันบางประเภทออกไป แต่สะอาดจริงหรือเปล่า เราก็สงสัย ว่าใช้ชื่อนี้เลยหรือ(หัวเราะ) ซึ่งเขา(ข้าราชการ)ใช้ว่าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ มีพื้นที่สีม่วงทะแยงขาวเต็มเลยครับ ในมาบตาพุดหลายพันไร่เลย แต่ในผังเมืองที่เราชวนชาวบ้านฝัน ของเราไม่มี

2. พื้นที่สีเขียว ในชุดของเรามีสีเขียวหลายแบบ สีเขียวทั้งพื้นที่กันชน 2 กิโลเมตร แต่เราอยู่กับโลกความจริง ไม่ได้เขียวทั้ง 2 กิโลเมตร เพราะบางพื้นที่โรงงานก่อสร้างติดพื้นที่กันชนแล้ว ก็ติดไป แต่เราพบว่ายังมีที่ว่างที่สามารถกันเป็นพื้นที่กันชน 2 กิโลเมตรได้หลายที่ ในรอบ 6 นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด คาดว่ามีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50 % ที่ทำได้ แต่จะทำหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับชุมชน ยังมีพื้นที่โล่งอยู่ ก็อยากให้รีบทำ

เราก็เสนอพื้นที่สีเขียวอ่อน คือสวนสาธารณะ ที่จริงคนมาบตาพุดต้องการสวนสาธารณะ จะเล็ก ใหญ่ เราได้เพิ่มพื้นที่ส่วนนี้เยอะเลย ใส่สีเขียวอ่อนเข้าไป และเรายังพบว่ามาบตาพุดมีป่าชายเลนอยู่ amazing มาก แต่ผังเมืองไม่คิดรักษาไว้เลย บริเวณนี้เราจึงใส่สีอนุรักษ์ป่าเข้าไปว่าต้องรีบเก็บตรงนี้เอาไว้เลย แล้วฟื้นฟูกลับมา เรียกว่าสีเขียวทะแยงขาว เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้

อย่างพื้นที่หนองแฟบ เราไปเจอว่ามีหนองน้ำอยู่ ต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด มีบัวมองไม่เห็นน้ำ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นหนองน้ำ ถ้าฟื้นฟูหนองแฟบกลับมาก็ช่วยได้เยอะ

ที่พูดถึงหนองแฟบ เพราะว่ามาบตาพุดที่เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2524 งานวิจัยของ ดร.ฉวีวรรณ สายบัว ได้รีวิวไว้เยอะว่าการวางผังเมืองต้องมีพื้นที่กันชน แต่พออุตสาหกรรมโตเร็ว นิคมอุตสาหกรรมไม่สนเลย ขยายอุตสาหกรรมเข้าไปพื้นที่กันชน ชาวบ้านบอกว่าตอนแรกที่ทำนิคมมาบตาพุดได้ย้ายวัดออกไป ถ้าจำได้สมัยปี 2540 เปลี่ยนพื้นที่กันชนมาเป็นโรงงานกลั่นน้ำมันติดกับโรงเรียน ขยายจนโรงงานอุตสาหกรรมมาติดชุมชน ตอนนั้นเกิดกรณีโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร นักเรียนเรียนๆ อยู่ก็ล้มไปเป็นร้อยๆ คนส่งโรงพยาบาล ก็เพราะเปลี่ยนพื้นที่กันชนเป็นโรงกลั่นน้ำมัน ติดกับโรงเรียนเลย

พออุตสาหกรรมโตเร็ว เราขยายโรงงานอุตสาหกรรม ไม่แค่ติด.. ขยายไปทับชุมชนเลย ผังเมืองปี 2546 ที่หมดอายุไป เอาตลาด วัด โรงเรียน ชุมชน เป็นพื้นที่สีม่วงหมดเลย โดยหลักการถ้าอุตสาหกรรมซื้อตรงไหนได้ก็สร้างโรงงานได้ เราไม่ต้องพูดถึงพื้นที่กันชนแล้ว คือผังเมืองไล่ประชาชนท้องถิ่นด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่มีใครพูดเรื่องนี้จริงๆ จึงมีกรณีย้ายวัด ย้ายโรงเรียน และที่หนองแฟบ และมาบชะลูด ที่พูดถึงบ่อย เพราะเดิมทีพื้นที่ตรงนี้อยู่ห่างจากโรงงาน แต่ตอนนี้มันใกล้โรงงาน ถูกนิคมอุตสาหกรรมล้อมไว้หมดเลย และน่ากลัวหลายเรื่อง เช่น แฟลร์ ปล่องไฟที่มีไฟติด อยู่ใกล้ชุมชนมาก มีทั้งกลิ่น ทั้งแสง ทั้งเสียง ปรากฏว่ามันมีแฟลร์ติดทั้งวันทั้งคืน ไม่หยุดเลย มีเสียงเหมือนเปิดแก๊สเอาไว้ ฟู่ๆๆตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงปี 2552 – 2553 คนนอกพื้นที่อย่างเราคิดว่าติดฟู่ๆ แล้วก็หยุด แต่ไม่ใช่ นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล เป็นนิคมใหม่ที่มีโรงงานปูนซีเมนต์ ปตท. เคยมีแฟลร์ 36 ชั่วโมง ไฟปากปล่องติดตลอด ไม่หยุด จนชาวบ้านนอนไม่หลับ เครียด มันสว่างโร่ เหมือนตะเกียงยักษ์ ส่องเข้ามาในบ้าน ที่มาบตาพุดมีแฟลร์เป็นปกติ

ในด้านหนึ่งเราพอรู้ว่าอุตสาหกรรมพยายามลดแฟลร์อยู่ แต่ไม่มีกฎหมายควบคุม ขณะที่ต่างประเทศแม้แต่อินเดียยังมีกฎหมายคุมแฟลร์ ว่าคุณต้องแฟลร์ไม่เกินเท่าไหร่ มาตรฐานในการแฟลร์ ต้องมีอุณหภูมิในการเผา เผาที่เท่าไหร่ ซึ่งมันก็จะช่วยได้ แต่ของไทยไม่มีมาตรฐานเรื่องนี้เลย คุณสามารถปล่อยแฟลร์ได้ตามใจชอบ จึงเป็นเหตุว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ย้ายฐานมาจากญี่ปุ่น อเมริกามาเมืองไทย เพราะว่าที่โน่นคุมกันเยอะ แต่บ้านเราปล่อยหลายเรื่อง

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ผังเมืองใหม่ประกาศหรือยัง

ผมไม่ได้ตาม ที่ผมเข้าใจว่า 8-10 ขั้นตอนของท้องถิ่นน่าจะจบแล้ว น่าจะส่งมาที่ส่วนกลางที่คณะกรรมการผังเมือง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีอำนาจอนุมัติผังเมืองทั้งประเทศ ซึ่งแต่ละผังเมืองถ้าหากจะหาผลประโยชน์ก็หาได้เป็นร้อยล้านพันล้านเลยในการเปลี่ยนผังเมือง เพราะระบบเราขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดเดียว และเราพบว่าในคณะกรรมการผังเมือง มีตัวแทนสภาอุตสาหกรรมนั่งเป็นกรรมการด้วย แต่ไม่มีตัวแทนภาคประชาชน ไม่มีชุมชน

เข้าใจว่าผังเมืองใหม่มาบตาพุดอยู่ในขั้นตอนนี้แล้ว และต้องประกาศรับฟังอีกรอบที่เรียกว่าต้องปิดประกาศ 90 วัน ทางส่วนกลางเป็นคนทำ เพื่อเคลียร์ประเด็นทั้งหมด แล้วส่งให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ ถ้าอนุมัติ โดยหลักการก็เกือบเสร็จแล้ว ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนประกาศ เพราะถือว่าเป็นกฎหมาย

ผมเสริมประเด็นตรงนี้นิดหนึ่ง ปรากฏว่ามีผังเมืองทั่วประเทศเป็นปัญหาคอขวดที่สำนักงาน กฤษฏีกา หลายแห่งทำผังเมืองเสร็จไม่รู้กี่ปี แต่มาติดที่กฤษฎีกา บางผังเมืองดี เป็นอย่างที่ประชาชนหวังเลย แต่ไม่ประกาศบังคับใช้เสียที อย่างผังเมืองสระบุรี ที่หนองแซง ที่เขาสู้กัน ไม่บังคับใช้สักที ตรงนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์เกษตรกรรม ห้ามสร้างโรงงาน คือทำผังเมืองเสร็จ แต่ไปค้างที่กฤษฏีกา 3 – 4 ปี ไม่ออกมา จนในที่สุดโรงไฟฟ้าหนองแซงที่ใช้ก๊าซก็มาสร้าง ชาวบ้านต้านตามผังเมืองใหม่ มีการร้องเรียนแต่โรงไฟฟ้าไม่สน เพราะผังเมืองอนุญาต ถือว่าผังเมืองใหม่ยังไม่บังคับใช้ ซึ่งผังเมืองใหม่ควรจะประกาศแต่ยังไม่ประกาศ ในที่สุดประชาชนฟ้องศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราว ว่าเจตนารมณ์ตามผังเมืองใหม่ผิดหมด แต่ศาลตัดสินไม่คุ้มครองทำให้โรงไฟฟ้าเดินหน้าไปได้ และคดีนี้ก็ยังสู้อยู่

ดังนั้นตรงนี้เป็นคอขวด การประกาศใช้ผังเมืองช้าทั่วประเทศ ค้างอยู่จำนวนมาก ไม่สามารถประกาศใช้ได้ โอเค… บางผังเมืองอาจจะไม่ดี สำหรับผังเมืองมาบตาพุด ผมไม่แน่ใจว่าอยู่ขั้นตอนไหน เข้าคณะกรรมการผังเมืองหรือยัง หรือติดรอติดประกาศ 90 วัน หรือค้างที่กฤษฏีกา

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้พื้นที่มาบตาพุดสามารถขยายพื้นที่กันชนได้อีกหรือไม่

นิคมฯ มาบตาพุด เหมราช เอเชีย ผาแดง แทบไม่มีเลย แต่มีพื้นที่ที่ปล่อยไว้ ซึ่งอาจจะสร้างโรงงานในอนาคต ถ้าหากเป็นพื้นที่กันชนจริง ต้องเป็นพื้นที่ตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ระยะไหนห้ามสร้างโรงงาน ต้องมีกฎหมาย กฏระเบียบมาคุม แต่ตอนนี้ไม่มี โดยหลักการต้องบอกว่าไม่มีพื้นที่กันชน หากมีก็ยังไม่ได้พัฒนา ซึ่งพัฒนาได้ตามผังเมืองใหม่ว่าตรงไหนสีม่วงหรือสีม่วงทแยงขาว

ส่วนนิคมฯอาร์ไอแอล เป็นนิคมฯใหม่ที่บอกว่าตัวเองมีพื้นที่กันชน คือมีสวนยางพารายาว 1 กิโลเมตร หนา 200 – 300เมตร โดยทางปฏิบัติเรียกว่าพื้นที่กันชนได้ แต่ยังไม่ครอบคลุม แต่ที่เรารู้สึกตกใจบวกเศร้าคือตอนแรกในผังเมืองของเทศบาล เปลี่ยนพื้นที่ที่อาร์ไอแอลบอกกับชาวบ้านว่าเป็นพื้นที่กันชนนั้น ตอนนี้เป็นสีม่วงไปแล้ว ถ้าบอกว่าเป็นพื้นที่กันชนก็ต้องไม่ใช่สีม่วง ต้องเป็นสีเขียวซิ ล่าสุดก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร ไม่มีอะไรคุม ก็ต้องมาสู้กันที่ผังเมือง

ไทยพับลิก้า : ภาพพื้นที่จริงกับของผังเมืองนิคมต่างๆ มันแตกต่างแค่ไหนมีการสำรวจไหม

ก่อนวางผังเมืองใหม่ ที่ปรึกษาที่รับการว่าจ้าง ต้องประเมินผังเมืองเก่า อย่างละเอียดว่าผังมืองเดิมกับพื้นที่จริงกับปัจจุบันเป็นอย่างไร มีแผนที่ละเอียดยิบ ถึงจะวางผังใหม่ได้ เขาทำเสร็จนานแล้ว เท่าที่เราทำเฮชไอเอผังเมืองใหม่ ในเชิงผังเมืองของเราอาจไม่เป๊ะ นักผังเมืองรับไม่ได้ แต่ในมุมเราเป็นผังเมืองที่ชวนคิดชวนฝัน เราได้รับการเสนอจากนักผังเมืองว่าไม่ควรทำ เพราะการทำผังเมือใหม่เป็นหน้าที่ที่ปรึกษา

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ถ้าพื้นที่จริง โรงงานไปครอบครองพื้นที่กันชน จะแก้ไขอย่างไร

ตอนเราทำเฮชไอเอผังเมือง เราทำ 3 ส่วน 1.ส่วนที่เป็นพื้นที่กันชน 2 กิโลเมตร เราขับรถตระเวนดูมีที่โล่ง มีพื้นที่ 2 กิโลเมตร ทั้งนิคมเอเชีย เหมราช ผาแดง มาบตาพุดหลายด้านทำได้ อาร์ไอแอลยิ่งทำได้ 2.พื้นที่ที่ไม่ถึง 2 กิโลเมตร โดยมีตั้งแต่มีขนาด 1 กิโลเมตร ขนาด300 -500 เมตร มีเยอะ เชื่อว่าส่วนที่ 1 กับส่วน 2 รวมกันมีพื้นที่ประมาณ 70-80 % ที่สามารถทำเป็นพื้นที่กันชนได้แน่ ส่วนที่ 3.พื้นที่วิกฤต คือติดกันไปแล้ว ระหว่างโรงงานกันชุมชน เช่น นิคมฯเหมราช นิคมฯผาแดงติดชุมชนหนองแฟ้บ มาบชะลูด นิคมฯเอเชียกับชุมชนบ้านฉางบางส่วน วัดประชามิตรบำรุงติดกันไปแล้ว นิคมฯมาบตาพุดติดบ้านพงษ์อิสลาม นิคมฯอาร์ไอแอลติดกับบ้านบน หลังบ้านเป็นโรงงานยักษ์ อันนี้เราเรียกพื้นที่วิกฤติ

เราไม่อยากให้ประเด็นที่ 3 มาลบประเด็นที่ 1 และ 2 คือมีการเคลมว่านิคมฯมาบตาพุดไม่มีพื้นที่กันชนแล้ว พอเราลงไปดูปรากฏว่าไม่จริง เราพบว่าพื้นที่ว่าง มีเต็มเลย เพราะฉะนั้นอย่าเอาพื้นที่วิกฤตมาแก้กัน เราเสนอว่ามาตั้งหลักกันก่อน หลักการใครอยู่มาก่อน มันต้องเอาสิทธิชุมชนตั้ง ว่าชุมชนท้องถิ่นเขาอยู่มาก่อนนิคมฯ จะพัฒนาเสียอีก และคุณพัฒนาโรงงานมาชิดกับเขา ทำให้เขาเสี่ยง เพราะนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้บนสิทธินี้ก่อน แล้วเทคนิคไปว่ากัน

เช่น ตอนแรกมีการเสนอให้ย้ายหรือขาย ซึ่งชาวบ้านเสียงแตก บางคนอยากย้าย บางคนไม่อยากย้าย จึงเสนอให้เช่าระยะยาว โดยโฉนดยังเป็นของชาวบ้านอยู่ โดยชาวบ้านเอาเงินไปเลย 30 ปีไปอยู่ที่อื่นแต่คุณยังเป็นเจ้าของที่อยู่ โฉนดเป็นของชาวบ้าน ให้อุตสาหกรรมจ่าย รัฐไม่ต้องจ่าย ส่วนเรื่องเวนคืนมันเหมือนขาดหลักการว่ารัฐไปรับภาระแทนเอกชนทำไม (วะ) เพราะเอกชนได้ประโยชน์ รัฐได้ในแง่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่ไม่เยอะนัก ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการวิเคราะห์แล้ว

เอกชนต้องรับผิดชอบ แต่การช่วยเหลือของเอกชนออกมาเป็นมุมสงเคราะห์ ช่วยเหลือชุมชนด้วยการบริจาค ทำซีเอสอาร์ ไม่ใช่หลักสิทธิชุมชน มันคนละด้านกัน ต้องตั้งหลักให้ดี ส่วนรัฐต้องหลักให้ดีเช่นกัน ในแง่สิทธิชุมชนและรับผิดตรงไหน รัฐต้องรับผิดชอบตรงไหน เอกชนต้องรับผิดชอบตรงไหน

พอมีกระแสในพื้นที่ ทางการเคหะแห่งชาติ ซึ่งไม่มีบทบาทในเรื่องนี้ พอมาถึงจังหวะหนึ่ง เห็นว่าเป็นข่าวใหญ่ การเคหะจึงเข้ามาด้วยเรื่องเวนคืน ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาคือ บริษัทอาศรมศิลป์ ว่าจ้างให้มาศึกษา การลงในพื้นที่ ถ้าไปคุยเรื่องเวนคืนมันร้อนมากนะ ชาวบ้านตกใจมาก จะตกใจดี หรือไม่ดีก็แล้วแต่จะตกใจ

ทั้งนี้ทางอาศรมศิลป์ มีความสามารถในการวางผังชุมชนน่าอยู่ เขาเลือกกรณีศึกษามาบตาพุด สัก 3 กรณี แล้วมาวางแนวทางกันว่าชุมชนอยากไป หรือชุมชนอยากอยู่ แล้วมาร่างผังกัน ถ้าผังเมืองน่าอยู่กว่านี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร เป็นผังชุมชน ซึ่งงานเสร็จแล้ว เสนอชุมชนไปแล้วเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา

ในส่วนพื้นที่วิกฤต เรารู้สึกว่าไม่ได้มีมุมย้ายอย่างเดียว พื้นที่โรงงานกับชุมชนติดกันแค่ไหนอย่างไร อย่างน้อยก็น่าจะมีพื้นที่ 5 เมตร 10 เมตร ตรงนี้มาพิจารณากันว่าคุณทำกำแพงสูงเลย หรือปลูกต้นไม้ให้แน่นปึ้ก มีทั้งกำแพง มีทั้งต้นไม้ใหญ่ กลาง เล็ก เพราะในระยะ 30 เมตร หากมีจริง มันช่วยได้เยอะ

นอกจากนี้มีพื้นที่กันชนธรรมชาติก็ช่วยได้เยอะ เคยมีหลายกรณี อย่างอุบัติภัยที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด กรณีบริษัทปตท.ฟีนอล สารคิวมีนรั่ว(เป็นสารที่ใช้ผสมสี ผสมน้ำมัน)ปี 2552 มีคนป่วยมากมาย ผอ.โรงพยาบาลมาบตาพุดบอกว่าโรงพยาบาลรอดเพราะว่ามีพื้นที่กันชนธรรมชาติ ประมาณ 300 เมตรกั้นอยู่ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีพื้นที่ป่าหนาสามารถช่วยได้

ดังนั้นพื้นที่กันชนแม้จะมีแค่ 50 เมตร 300 เมตรก็ช่วยได้เยอะเลย พื้นที่สำคัญอย่างฝั่งตะวันออกของในนิคมมาบตาพุดที่มีโรงแยกแก๊สปตท. ถัดไปมีชุมชนคนมาบตาพุด ตรงทางโค้งตรงนั้นมีพื้นที่เหลืออยู่ 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ตรงนี้เป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดของมาบตาพุด เราเสนอว่าให้ทำเป็นพื้นที่กันชนที่สำคัญ คือควรจะทำที่โค้งซึ่งเป็นที่โล่งอยู่ ปัจจุบันไม่ได้ทำ ต้องรีบกันไว้เลยว่าห้ามขึ้นโรงงาน แล้วพัฒนาเป็นกฏระเบียบตามมา และปลูกต้นไม้ใหญ่ไม้เล็กให้หนาแน่น แต่มีข้อโต้แย้งจากอุตสาหกรรมว่าหากปลูกต้นไม้ใหญ่ ใกล้โรงงาน เขากลัวต้นไม้ติดไฟ เขากลัวไฟไหม้ ถ้าพูดถึงขอบรั้วโรงงาน ในพื้นที่โรงงาน ซึ่งเรารับได้ แต่ถ้านอกโรงงานก็น่าจะปลูกได้ หากเป็นระยะหนึ่งกิโลเมตร ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับไฟไหม้ คุณอาจจะกันไว้ 50 เมตรก็ได้ สามารถทำได้หลายแบบ บริษัทไปปลูกต้นไม้ที่อื่นเยอะแยะ ทำไมไม่มาปลูกที่พื้นที่กันชน ทำให้มันจริงจัง

ไทยพับลิก้า : ต้องเลือกต้นไม้ประเภทไหนในการเป็นแนวป้องกัน

ต้นไม้แบบนี้เหมาะกับการดักซัลเฟอร์ ดักฝุ่นได้ดี ถ้ากลัวไฟไหม้จะเอาแบบไหน อาจารย์สุธาวัลย์ เสถียรไทย เปิดประเด็นนี้มานานแล้วว่าอุตสาหกรรมที่มีมลพิษเยอะย้ายฐานมาที่ประเทศเรา อย่างพื้นที่กันชนเขาบังคับต้องทำเลย ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับพื้นที่กันชนมาก ว่าเป็นหัวใจ ไม่เหมือนของไทยทำแค่การบำบัดน้ำเสีย บำบัดอากาศ อย่างที่นิคมปิโตรเคมีที่เพิร์ธ พื้นที่กันชนของเขาเล็กสุด 1.2 กิโลเมตร ใหญ่สุด 3.5 กิโลเมตร พื้นที่อุตสาหกรรมจริงๆ เป็นไข่แดง เล็กกว่าพื้นที่กันชนที่เป็นไข่ขาวรอบๆเลย นั่นคือสิ่งที่เราหวังอยากให้มี

ตอนนี้โครงการที่เข้ามาให้องค์การอิสระฯพิจารณา ส่วนใหญ่เป็นโครงการขยายกำลังการผลิต จากโรงงานปิโตรเคมีเดิม ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2547 – 2563

ทราบว่าตอนนี้มีแผนแม่บทปิโตรเคมีระยะที่ 4 แล้ว ใกล้จะเสร็จแล้ว เราก็คิดว่า โอ้โฮ เอาอีกแล้วหรือ ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วม ใครวางแผน ขบวนการเป็นอย่างไร เรียนรู้จากเรื่องมาบตาพุดสักแค่ไหน

ไทยพับลิก้า : แผนปิโตรเคมีระยะที่ 3 พื้นที่นิคมฯรองรับเต็มที่แล้ว

พื้นที่ในมาบตาพุดเต็มจริงๆ เขาใช้วิธีขยายกำลังการผลิต ขยายโรงงาน บางทีก็แค่ปรับคอขวดเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ทำให้การผลิตจาก 100,000 ตัน เป็น 150,000 ตัน หรือมากกว่าเท่าตัว อาจารย์ทางปิโตรเคมีบอกว่าน่าเป็นห่วง หากคุณสร้างใหม่ปลอดภัยกว่า แน่นอน แพงกว่า แต่ขยายของเก่า ถูกกว่าแต่มันเสี่ยงอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : การนิคมฯ มีการป้องกันดูแลแค่ไหน

เท่าที่ได้คุยกับเขาบอกว่าเขามีระบบป้องกันอยู่ หากมองทั้งภาพ เขาเลือกพูดบางประเด็น เช่น 1.การป้องกันเรื่องฝุ่นขนาดใหญ่ ซัลเฟอร์ น้อค บำบัดน้ำ จัดการขยะ เขาพูดไปเรื่อยๆ การป้องกันมีความคืบหน้าจริง แต่บางประเด็นเขาไม่พูดเลยเช่น VOC ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายก่อมะเร็ง เรื่องนี้รู้มาตั้งแต่ปี 2540 มีงานวิจัยอย่างเป็นทางการ แต่ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน จนปี 2550 เป็นครั้งแรกที่เริ่มคุม VOC เรื่องนี้

ยิ่งพื้นที่กันชนไม่พูดเลย จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พูดเรื่องการจัดการ เรื่องอุบัติภัยก็ไม่พูด จี้กันจริงๆ ก็ค่อยๆดีขึ้น แต่ยังมีช่องว่างอยู่ ดังนั้นถามว่าเจ้าของนิคมฯทำไหม เขาคุมบางประเด็น เขาทำเมื่อจำเป็น พูดเพียงประเด็น ค่อยๆ คืบไป เพราะเป็นต้นทุนที่อุตสาหกรรมต้องทำ และรัฐต้องคุมพื้นที่กันชนตั้งแต่แรก หากเสียพื้นที่กันชนไปแล้ว ต้องหากลับมา แต่ที่ผ่านมาเสียแล้วเสียเลย แถมยังขยายไปทับชุมชนอีก แล้วจะมีพื้นที่กันชนได้อย่างไร ดูจากที่เขาทำ เขาไม่สน แต่จากที่เขาพูดเขาบอกว่าเขาสนใจ

ประเด็นที่ 2.เรื่องมลพิษ อุบัติภัย มีข้อเสนอแนะทุกเรื่องประมาณ 10 ประเด็นหลัก ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ อุบัติภัย VOC ฯลฯ มีข้อเสนอบางเรื่องคืบหน้า บางเรื่องก็เบามาก คือเสริมจากระบบเดิมนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็เหมือนกันคือที่ส่งไปให้หน่วยราชการต่างๆ เช่นกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาว่าแล้วแต่จะทำอย่างไร โดยภาพรวมเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้นคือเรื่องก็หายเงียบไป

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

ไทยพับลิก้า : จังหวัดควรดูแลเองดีกว่าไหม และขีดความสามารถทำได้ไหม

เคยเจอโจทย์นี้หลายครั้ง คำตอบคือปัญหามันใหญ่ ซับซ้อน และที่สำคัญพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตัวจีพีพี(ผลิตภัรณฑ์มวลรวมจังหวัด)เป็นพันล้านหมื่นล้าน แสนล้าน มันมีน้ำหนักมากในทางนโยบายทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าไปหวังให้น่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น เอาอำนาจไปไว้ที่จังหวัด หรือเป็นท้องถิ่นพิเศษ มันแก้ไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าพลังและนโยบายมันแรง มันจัดการรัฐบาลทั้งหมดยังได้เลย เอาอะไรกับท้องถิ่นพิเศษ ผมจึงคิดว่า ไม่ควรฝากที่หน่วยงานเดียว แต่ต้องพูดถึงระบบ แต่ละส่วนรับผิดชอบมากขึ้น อำนาจค่อยตามมา เช่น ถ้าเป็นจังหวัด เป็นท้องถิ่นพิเศษควรรับผิดชอบอะไรก่อน ตรงนี้เห็นด้วย แต่ต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนว่าเทศบาลจะรับผิดชอบอะไรบ้าง ควรมีอำนาจอะไร แล้วภายใต้ขอบเขตอันนั้นคุณควรขึ้นเป็นท้องถิ่นพิเศษ ผมสนับสนุน แล้วความรับผิดชอบส่วนกลางต้องไม่หายไป กระทรวง กรมต่างๆ ต้องเคลียร์ให้ชัด ที่ผ่านมาถูกเลือกพูดเป็นอันๆ ว่าจังหวัดอยากมีอำนาจอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วส่วนกลางจะทำอะไรอย่างไร

ดังนั้นโดยหลักต้องเริ่มจากท้องถิ่น ซึ่งรับผิดชอบหลายเรื่องเช่นบริการทางสังคม ประชากรแฝงมหาศาล โรงเรียน โรงพยาบาลไม่เพียงพอ เขาต้องการแพทย์เฉพาะทางพิเศษ ขณะที่ท้องถิ่น ระบบภาษีมีช่องโหว่ งบประมาณกลับที่มาท้องถิ่นไม่พอกับสภาพปัญหา เขาควรได้รับงบประมาณที่เหมาะสมกับปัญหา ผู้สร้างมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

จังหวัดต้องมีอำนาจมากขึ้น ผู้ว่าราชการแทบไม่เหลืออำนาจอะไรเลย จังหวัดควรรับผิดชอบในจังหวัด เพราะมาบตาพุดไม่ได้กระทบแค่พื้นที่มาบตาพุด แต่ทั้งจังหวัด เช่นอุบัติภัย ขณะที่ส่วนกลางต้องรับผิดชอบไม่ลดลง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดูภาพรวมประเทศ ดูกฏหมาย กระทรวงมหาดไทยดูผังเมือง กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องสุขภาพ กระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องงบประมาณ ผมมองว่าช่องโหว่ภาษีบีโอไอ ยังมีปัญหาอยู่

แต่สุดท้าย อยู่ที่นโยบายพัฒนาประเทศ จังหวัดจะมีอำนาจแค่ไหน เหมือนประเด็นงานวิจัยมาบตาพุดของดร.ฉวีวรรณ สายบัวว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศคืออะไรที่เหมาะกับประเทศไทย รัฐบาลจะต้องตอบ ท้องถิ่นพิเศษก็ตอบไม่ได้ เขาจะดูแลอย่างไร

ไทยพับลิก้า : ในแง่ประเด็นเศรษฐกิจ ระยองมีจีพีพี สูงสุดของประเทศ ใครได้ไป

ใช่..ภาพรวมจีพีพีสูงสุดในประเทศ รายได้ต่อหัวของคน รวยที่สุดมากกว่า 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี แต่ผลสำรวจครัวเรือนจริงๆ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปรากฏว่าคนระยองมีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือน 21,000 บาทต่อครัวเรือน เทียบกับของประเทศเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท แต่จีพีพีสูง 7 เท่าจากค่าเฉลี่ยประเทศ ดังนั้นรายได้ครัวเรือนของคนระยอง ไม่ได้สูง ทั้งๆ ที่มีการลงทุนมากมาย ขณะที่หนี้สินไม่ได้ต่ำ อัตราการว่างงานดีกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ แต่ไม่ได้ดีมาก

นอกจากนี้อุตสาหกรรมพวกนี้มีสัดส่วนการนำเข้าสูง อย่าง เครื่องจักร เทคโนโลยี วัตถุดิบ เงินไหลออกนอกประเทศ เทียบกับอุตสาหกรรมยางพารา อาหารทะเลที่มีสัดส่วนการนำเข้าน้อยมาก ดังนั้นหากเคลมการส่งออกแสนล้านบาทก็มีการนำเข้า 4 หมื่นบาทที่เงินไหลออกไปแล้ว อัตราการจ้างงานต่อเงินลงทุนน้อยมาก ข้อมูลสภาพัฒน์บอกว่าร้านอาหาร เสื้อผ้า ลงทุน 1 ล้านบาทมีการจ้างงาน 1 -2 คน ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องลงทุน 67 ล้านบาท มีการจ้างงาน 1 คน ดังนั้นหากเทียบกลับกัน ถ้าลงทุน 67 ล้านบาท เท่ากันในอุตสาหกรรมอาหารหรือเสื้อผ้า จะมีการจ้างงาน 120 – 200 คน มันต่างกันมาก เอาตัวเลขมาตีความหมายได้เยอะเลย ก็ชวนคิดได้มากเลยว่าควรลงทุนในอุตสาหกรรมแบบไหน

มาดูข้อมูลภาษีที่จัดเก็บได้จริงๆ ในจังหวัดระยอง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บได้เทียบกับภาษีทั้งหมดในจังหวัด เก็บได้แค่ 1 % เท่านั้น เหตุผลเพราะอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีให้ แม้จะไม่ส่งเสริมการลงทุนเขาก็มาลงทุนแล้ว จึงมีคำถามว่าเรื่องการส่งเสริมยังจำเป็นอยู่หรือไม่ นอกจากนี้เมื่อเก็บภาษีแล้ว ส่งกลับไปส่วนกลางและส่งกลับไปที่ระยองน้อยมาก ทำให้เงินที่จังหวัดได้รับหายไปอีก

ประเด็นที่ 3.โครงการรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค2 ตอนนั้นคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอไป 18 ประเภทโครงการ แต่รัฐตัดเหลือ 11 โครงการรุนแรง ไม่ได้ตัดไป 7 นะครับ ตัดไปมากกว่า และมีการปรับเปลี่ยนอีก รวมทั้งมีการเสนอเรื่องคณะกรรมการองค์การอิสระ ที่ต้องตั้งโดย พ.ร.บ. ตอนนั้นหากรอ พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญจะอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ จึงอาศัยระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกาลขึ้นมาก่อนให้พอเดินได้ และพร้อมๆกันนี้ได้เสนอ ร่างไปด้วย โดยผ่านสส.แล้ว ไปรอที่วุฒิสภา พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ วุฒิสภาถามรัฐบาลว่ายืนยันร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่ไหม วุฒิสภาจะได้เดินหน้ากฏหมายต่อไป ร่างพ.ร.บ.นี้เป็นหนึ่งในกฎหมายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยืนยัน ร่างกฏหมายนี้จึงตกไปซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พศ….. ตกไปเลย ตอนนี้ต้องไปเริ่มใหม่

องค์การอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 จึงมีชุดเฉพาะกาลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตอนนี้กรรมการองค์การอิสระอยู่มาเกิน 1 ปีแล้ว ตั้งแต่ พฤษภาคม ปี 2553 ตอนนี้ พ.ร.บ.ก็ล้มไปแล้วต้องไปเริ่มขบวนการกฏหมายใหม่หมด กรรมการอิสระชุดเฉพาะกาลก็หนักใจว่าการทำงานติดขัดหลายเรื่อง ด้วยระเบียบสำนักนายก ความติดขัดเชิงเทคนิค กลับมากระทบเนื้อหา กระทบความพยายาม ตอนนี้ติดๆๆๆ ไปหมด(เน้นมาก…) ปัจจุบันเลยไม่ได้ทำ ก็หนักใจอยู่ที่พ.ร.บ.ล้มไปเลย

ไทยพับลิก้า : คนก็ลืมไปแล้ว

ใช่ …ต้องพยายามจุดกลับมาใหม่ ด้านหนึ่งที่เป็นวิกฤตเรื่องนี้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ออกมา ไม่ว่ารัฐบาลฝั่งไหน ไม่ได้ผลักดันเรื่องนี้เลย จนชาวบ้านมาบตาพุดฟ้องศาลปกครองให้หยุด 76 โครงการ จึงเป็นวิกฤตไปเลย การพัฒนาเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลใดๆไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ พอถึงตอนนี้ประเด็นมาบตาพุดหายไป ก็กลับมาเป็นสภาพชั่วคราวๆ เฉพาะกาลไปอย่างนี้ และพ.ร.บ.ก็ไม่รู้จะประกาศได้เมื่อไหร่ ก็ต้องถามว่าสังคมต้องหาทางหยุดองค์กรอิสระเพื่อจะได้วิกฤตอีกรอบหรือ แล้วกลับมาเร่งร่างพ.ร.บ.อีกรอบ …จะเอาแบบนั้นหรือ

ไทยพับลิก้า : ต้องตั้งต้นใหม่ตลอดเวลา

ร่างพ.ร.บ.ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่รับ เลยตกไป ทั้งๆ ที่ร่างพ.ร.บ.ก็มาจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีราชการ เอกชน ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีการถกเถียงกันมาแล้ว ไม่ใช่ทุกฝ่ายได้หมด เขาตกลงกันได้แล้วมาเป็นร่างพ.ร.บ. ผ่านสภาแล้ว ทั้งสส.ประชาธิปัตย์ สส.เพื่อไทย แต่คุณไม่ยืนยัน คุณให้มันตก กลับไปเริ่มใหม่

ไทยพับลิก้า : แล้วกฎระเบียบต่างๆล่ะ

มาตรา 67 วรรคสอง มี 3 องค์ประกอบคือการประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาโครงการก็ทำแล้ว ก็เดินหน้า การรับฟังความคิดเห็น หน่วยงานอนุมัติอนุญาตเป็นคนจัด เขาเดินหน้าทำแล้ว ถ้าเป็นโรงไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานก็ทำไปแล้ว และที่อยู่นอกนิคมฯกรมโรงงานทำไปแล้ว เหลืออันเดียวคือองค์กรอิสระ ที่เป็นชุดเฉพาะกาล เมื่อพ.ร.บ.ตกไปแล้ว ก็ไปเริ่มขบวนการใหม่

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ลงพื้นที่บ้างไหม

ไปน้อยลง ไปกับองค์การอิสระ ทุกโครงการที่จะขออนุญาตต้องจัดกระบวนการมีส่วนร่วม จะมี 2 ช่วง คือองค์การอิสระมีเวลา 60 วัน คือไปคุยกับฝ่ายโรงงาน ชุมชน ราชการ พอช่วงที่ 2 จัดเวที เอาทุกฝ่ายมารวมกับ เปิดรับความคิดเห็น และสรุปความเห็นภายใน 60 วัน ตอนนี้มีโครงการของจังหวัดระยองล้วนๆ ในนิคมฯมาบตาพุด อาทิ โรงงานไออาร์พีซี การคอมเมนต์โครงการ องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบตามรัฐธรรมนูญ หนักแน่นใช้ได้ มีการเปิดประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยึดตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม หากคิดว่ามีผลกระทบเราก็เสนอ ว่าเสี่ยงอย่างไร จะจัดการอย่างไร เราดูภาพรวมด้วย ไม่ได้ดูแต่ละโครงการ ดูพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ศักยภาพการรองรับของพื้นที่เป็นอย่างไร แม้แต่คอมเมนต์ในแง่นโยบายได้ เราก็ทำวิเคราะห์ข้อมูล อย่างโครงการโรงไฟฟ้า เป็นต้น

หลังจากที่องค์การอิสระให้ความเห็นโครงการไปแล้ว มีช่องว่างคือไม่มีขบวนการการขับเคลื่อนต่อ คือรัฐธรรมนูญออกแบบเพื่อการมีสิทธิและการมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ๆ ไป…ทุกอย่างจบเหมือนเดิม แต่ตอนนี้โจทย์ที่ติดอยู่คือไม่มีการขับเคลื่อนในสังคมต่อ หลายภาคส่วน ทั้งภาคราชการ นักวิชาการ เอ็นจีโอ เอกชนที่สร้างสรรค์ ไม่มีการขับเคลื่อนเลย กรรมการอิสระและชาวมาบตาพุดรู้สึกว่าให้ความเห็นไป ดีแต่ไม่มีผล เริ่มเบื่อที่จะมาเข้ามีส่วนร่วม ที่เราพยายามก็ดี แต่ไม่มีผล ตอนนี้กำลังพิจารณาโครงการที่ 4 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นโครงการที่มาบตาพุด ชาวบ้านก็เบื่อ พูดแต่แก้ๆ … แต่ยังไม่เกิด ยังแก้ไม่ได้ เรากำลังเร่งแก้อยู่ ไม่งั้นลงไปในพื้นที่ชาวบ้านก็เสียเวลา

อ้อ มีเรื่องอยากจะฝาก คือเรื่องผลกระทบอุตสาหกรรมต่อการเกษตรในมาบตาพุด เพราะว่าระบบของเราตั้งแต่ทำเฮชไอเอ กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ไม่ยอมวิเคราะห์ ว่าผลกระทบต่อมลพิษไปกระทบต่อต้นไม้อย่างไร ทางบริษัทที่ปรึกษาเขาบอกว่าโดยรวมไม่กระทบต่อภาคเกษตร แต่พอเรารีวิวงานวิจัยเราพบว่ามี และในประสบการณ์ชาวบ้านมาบตาพุด มีคนทำการเกษตรอยู่ ซึ่งเขาพึ่งการเกษตร เขาไม่มีรายได้อื่น

ดังนั้นเรื่องนี้มีผลกระทบต่อการเกษตร ชีวิตชาวบ้าน ต้นไม้ไม่ออกลูก อย่างลุงน้อย บอกว่าทำอะไรตายหมด มีมะม่วงไม่ออกดอก หรืออกดอกแต่ลูกก็ลีบหมด รายได้ลดลง จึงเป็นคนจน กล้วยไม้ยังตาย ฝนตกเมื่อไหร่ต้นไม้แย่ทุกที เพราะเป็นฝนกรด มาจากสารพิษซัลเฟอร์ แหล่งที่ปล่อยหลักๆ คือถ่านหินมาจากโรงไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่เฮชไอเอ ไม่ยอมศึกษา

ไทยพับลิก้า : โรงงานบอกว่าปล่อยมลพิษต่ำกว่ามาตรฐาน ทำไมยังเป็นปัญหา

คำว่า “ต่ำกว่ามาตรฐาน”ยังมีช่องว่างหลายส่วน อันแรก การกำหนดค่ามาตรฐานตอนกำหนด ไม่ได้กำหนดจากด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มีมุมด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ความเป็นไปได้ทางการลงทุน เวลากระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะกำหนดค่ามาตรฐาน ต้องส่งไปปรึกษากระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ว่ารับได้ไหม

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

อันที่สอง เมื่อดูตามหลักการว่าเสี่ยงเท่านี้ มลพิษกระจายแบบนี้ กระจายตามอากาศ แต่ว่าคนรับไม่ได้รับตามการกระจายตามโมเดล เป็นความเสี่ยงตรงๆ ของผู้รับ และตามโมเดลเขาไม่วัดละเอียดว่าลมพัดไปทิศไหน กระจุกที่ไหน ผลกระทบสะสมเป็นอย่างไร เขาคิดแค่ค่ามาตรฐาน คิดว่าปล่อยแล้วไม่เกิดเลย แต่ไม่มีการประเมินผลกระทบสะสม คุณปล่อยไป 5 ปี 10 ปี ตกลงมัน ไปสะสมที่ไหนบ้างเป็นอย่างไร ในทางวิชาการมีการวิจัยแล้ว แต่บ้านเราไม่ทำการศึกษา ไม่บังคับ เราเลยไม่มีข้อมูลผลกระทบสะสม เรามีแค่การปล่อยแบบนี้ ไปรันโมเดล ว่าจะกระจายไป ไปดูจุดที่กระจาย และไปเทียบค่ามาตรฐาน จึงมีช่องว่างตั้งแต่มีการปล่อยจากปล่องจริง มีการกระจายแบบนั้นจริงไหม แต่จริงๆแค่นั้นไม่พอ มันไม่ได้กระจายแบบนั้นมันมีกระจุกด้วย และค่ามาตรฐานมันสูงไปไหม ถ้ามันกระจุกจริง มันไม่ได้เทียบกับค่ามาตรฐาน มันเทียบกับการสะสม 3 -4 ปี

ในทางวิชาการค่ามาตรฐานไม่ได้ตอบค่าสะสม แต่ชาวบ้านรับค่าสะสม อย่าง ซัลเฟอร์กระจายมา เขาก็รับ VOC มาก็รับ ขยะอันตรายมาเขาก็รับ น้ำเสียมาเขาก็รับ คุณวิเคราะห์แยกที่ละตัวว่าต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ชาวบ้านรับรวม แล้วสุขภาพเขาจะเป็นอย่างไร นี่คือประเด็นที่ชาวบ้านถึงร้องเรียน

เราดูข้อมูลงานวิจัยล่าสุดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วสหรัฐอเมริกา และมีประเด็นว่าที่น่าเป็นห่วงโรงไฟฟ้าประเทศไทย คือระบบสิ่งแวดล้อมของเรา อีไอเอไม่วิคราะห์ไม่ศึกษา ไม่มีค่ามาตรฐาน ไม่มีกฏหมายบังคับ ทั้งๆ ที่อันตรายสุดๆ เรื่องฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือพีเอ็น 10 เข้าไประบบทางเดินหายใจและเข้าไปลึกถึงหลอดลม

โรงไฟฟ้าถ่านหินรุ่นใหม่ที่บอกว่าเป็นถ่านหินสะอาด ไม่จริง งานวิจัยของ Harvard School of Public Health ออกมาล่าสุดมิถุนายน ปี 2011 เขาพูดถึงฝุ่น 2.5 ไมครอน เล็กมาก ขนาดที่ระบบร่างกายดักไม่ได้ ถึงถุงลมในปอด เข้ากระแสเลือดได้เลย

และที่น่าเป็นห่วงคือถ่านหินมีโลหะหนัก หลายตัวอันตราย โลหะหนักสามารถจับกับฝุ่น 2.5 ไมครอนได้ ดังนั้นมันไม่ใช่ฝุ่นทั่วไป มันเป็นฝุ่นโลหะหนัก เข้าไปถึงกระแสเลือด และยังมีงานวิจัยวิเคราะห์ฝุ่นไม่ถึง 1 ไมครอนแล้ว ขนาด 0.625 ไมครอน และมีโลหะหนักด้วย มันเกิดขึ้นแน่นอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อยู่ที่จะมากน้อยแค่ไหน คุณกันได้มากน้อยแค่ไหน ฝุ่นมันออกมาแน่นอน

แต่บ้านเราอีไอเอไม่วิเคราะห์ องค์กรอิสระวิเคราะห์ไปแล้วว่าตอนนี้องค์ความรู้มันไปถึงฝุ่นขนาดเล็กมาก 2.5 ไมครอน และ 0.625 ไมครอน แต่บ้านเรามีการศึกษาแค่ 10 ไมครอน ศึกษาแค่นี้ มีค่ามาตรฐานแค่นี้ จบ …ไม่วิเคราะห์ 2.5 และ 0.625 ไมครอน และยังแยกวิเคราะห์โลหะหนักไปอีกด้านหนึ่งว่าปลอดภัย ทั้งๆ ที่เสี่ยง และไม่เชื่อมโยงเรื่องนี้มาเรื่องสุขภาพ อย่างน้อยคุณต้องวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ถ้าไม่มีผลกระทบแล้วค่อยมาว่ากัน สผ.ไม่ยอมอัพเดทระบบตัวเองให้ทันกับความรู้ เรื่องนี้ฝุ่นขนาดเล็ก ทั้งๆ ที่งานมีวิจัยออกมาหลายปีแล้ว ล่าสุดเราเพิ่งมีฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศ แต่ที่ปล่องยังไม่มีการออกกฏระเบียบมาคุม

ตามมาตรฐานเรื่องนี้ คุม 2 อย่าง คือจะวัดฝุ่นขนาดเล็กในอากาศกับที่ปล่อง แต่สผ.ไม่ศึกษาเรื่องนี้ ถามว่าโรงไฟฟ้าเขามีเครื่องดักฝุ่น แต่มีการดักฝุ่นที่ขนาดเล็กและอันตรายได้แค่ไหน เพราะมันมีความเสี่ยงสุขภาพ และเราไม่มีทางรู้ได้ว่าโรงงานดักฝุ่นขนาดเล็กได้จริงไหม จึงน่าเป็นห่วงมาก