ThaiPublica > คนในข่าว > คำยืนยันจากอดีตเพื่อน “ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” ก่อน “อภัยโทษ” (ทักษิณ) ต้อง “สำนึกผิด”!

คำยืนยันจากอดีตเพื่อน “ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” ก่อน “อภัยโทษ” (ทักษิณ) ต้อง “สำนึกผิด”!

24 พฤศจิกายน 2011


“ผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นนักโทษเนี่ยหลบหนีคดี ไม่เคยรับโทษอาญาเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็มาขออภัยโทษ เราก็ไม่คิดว่าเขาสำนึกในความผิดที่เขาได้ทำ”

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ
ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ

ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง “ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” คือเพื่อนรุ่นพี่ จากโรงเรียนเตรียมทหาร ที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี สนิทสนมคุ้นเคยและไว้วางใจมากที่สุด

เพราะนอกจากพ.ต.ท.ทักษิณ และ ร.ต.อ.ปุระชัย จะร่วมก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยชินวัตร” ด้วยกันแล้ว ทั้งสอง ยังร่วมร่วมก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” มาด้วยกันอีก

โดยพ.ต.ท.ทักษิณเป็น “หัวหน้าพรรค” และร.ต.อ.ปุระชัยเป็น “เลขาธิการพรรค”

เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง แล้วพ.ต.ท.ทักษิณขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ร.ต.อ.ปุระชัย ก็ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรมว.ยุติธรรม ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เช่นกัน

แต่หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของ “ทั้งคู่” ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ดีดังเดิม ช่วงปลาย รัฐบาลพรรคไทยรักไทย (พ.ศ.2547) ร.ต.อ.ปุระชัย ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย จากนั้นหายไปจากถนนการเมืองเงียบๆ

จนกระทั่งการเลือกตั้งการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ร.ต.อ.ปุระชัย กลับเข้าสู่วงการการเมืองในระบบอีกครั้ง แต่อยุ่ในสีเสื้อของ “พรรครักษ์สันติ” และเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียวของพรรค

และได้กลายเป็นเสียงเล็กๆ ที่ออกมาให้ข้อคิด คัดค้านการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องสาวแท้ๆ ของพ.ต.ท.ทักษิณ มีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ….”

ที่สังคมสงสัยว่า ซ่อนเงื่อนความพยายามช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นบ่วง “ผู้ร้ายหนีคดี” อย่างมีเหตุมีผล

“ร.ต.อ.ปุระชัย” ยืนยันกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า ถึงอย่างไรพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ควรที่จะต้องรับโทษตามกฎหมายก่อน ถึงจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการ “อภัยโทษ”

เพราะการ “ติดคุก” จะทำให้ “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” สำนึกในความผิด ก่อนที่จะมีสิทธิ์ขอ “พระราชทานอภัยโทษ”

“การขอพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นเรื่องที่กระทำมาทุกยุคทุกสมัย ในโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งจะพบว่าในวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือในโอกาสต่างๆ หรือแม้แต่กรณีกึ่งพุทธกาล ปี พ.ศ.2500 ก็มีการอภัยโทษ กรณีอย่างนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการอภัยโทษที่ถือว่าเป็นมหากุศล แต่ก็จะมีเงื่อนไขของพระราชกฤษฎีกากำหนดเอาไว้ว่ากรณีใดบ้าง ที่อภัยโทษได้ กรณีใดบ้างที่อภัยโทษไม่ได้ ส่วนใหญ่กรณีที่เป็นการกระทำผิดทั่วไป หรือความผิดอาญา ก็จะอภัยโทษได้ โดยเฉพาะความผิดที่กระทำโดยประมาท และความผิดอาญาทั่วไป ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ที่ไม่ใช่คดียาเสพติดหรือคดีคอรัปชั่น”

อย่างคดีอายาเสพนั้นต้องเข้าใจกันเลยว่าในอดีตก่อนปี 2544 ถือเป็นความผิดอาญาทั้งหมด แม้มียาเสพติดอยู่เม็ดเดียวก็ติดคุก แต่พอปี 2544 รัฐบาลก็ใช้ดุลพินิจแยกระหว่างผู้เสพหรือผู้ป่วยกับผู้ค้าที่จะถือว่าเป็นอาชญากร กรณีอย่างนี้ถ้ามีไว้เพื่อเสพ และไม่ได้มีการค้า ก็จะถือว่าเป็นผู้ป่วย ที่ต้องบำบัด กรณีอย่างนี้ผู้เสพ ก็ถือว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิดหรืออาชญากร แต่ผู้ค้าจะถือว่าเป็นอาชญากร

เราถือว่าการค้ายาเสพติดเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรง ในเวลาต่อมาจึงไม่ให้มีการอภัยโทษให้กับคนเหล่านี้ และต้องรับโทษตามที่ศาลพิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นนักโทษเด็ดขาด คือได้ต่อสู้กันจนครบกระบวนการยุติธรรม ถึงขั้นฎีกาแล้ว คนเหล่านี้จะไม่ได้รับการลดโทษ ยกเว้นโทษ หรืออภัยโทษเลย เพราะถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง

เช่นเดียวกันกับคดีทุจริต ที่โดยปกติจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหลัก คือตั้งแต่ปี พ.ศ 2540 เป็นต้นมา เราจะใช้กฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งถือว่าการกระทำความผิดในลักษณะของการคอรัปชั่น เป็นความผิดที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อรัฐ คนเหล่านี้ถือว่าเป็นอาชญากรคอปกขาว มีความรู้ดี มีการศึกษาดี มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ทั้งอาจจะฉ้อราษฎร์หรือการบังหลวง เป็นความผิดที่ยากต่อการสืบสวนสอบสวน ในข้อเท็จจริงก็รู้ได้ยากมาก แม้ข้อกฎหมายจะบอกว่าเป็นการกระทำความผิด แต่ถึงเวลาสืบสวนสอบสวนจริงจะยากมาก นอกจากจะมีคนร่วมกระบวนการ หักหลังกันเองหรือเปิดโปงกันขึ้นมา ซึ่งไม่เหมือนกับพวกลัก วิ่ง ชิง ปล้น ที่ปกติจะมีคนที่เสียประโยชน์ เป็นผู้เสียหาย หรือเหยื่อเป็นผู้ชี้ผู้กระทำความผิด

“กรณีของการฉ้อราษฏร์ บังหลวง เป็นการสมประโยชน์กันทั้งผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้ก็ให้เพราะหวังว่าจะได้รับโครงการสำคัญๆ เพราะหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ ผู้รับก็รับเอาไว้ แล้วแทนที่จะตัดสินโครงการด้วยความเที่ยงธรรม หรือยุติธรรมก็ตัดสินด้วยผลประโยชน์ ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกนี้จะเก็บความลับ ดังนั้นการสืบสวนสอบสวนพวกนี้มันยาก”

ไทยพับลิก้า : นี่เป็นเหตุผลที่ไม่ควรมีการอภัยโทษให้กับพวกคอร์รัปชันหรือ

ครับ…พวกที่คอร์รัปชัน ถือว่าเป็นพวกบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมันไม่เหมือนความผิดทั่วไป อย่างประเภทที่เรียกว่าอาชญากรที่กระทำโดยที่ เราใช้คำว่ายากจน หรือไร้สติปัญญา หรือเป็นประเภทที่เรียกว่ากระทำโดยประมาท พวกนี้เป็นอาชญากรที่บางครั้งถูกสภาพแวดล้อมบีบบังคับ ไม่ได้กระทำโดยสันดาน

ไทยพับลิก้า : ฝ่ายสนับสนุนการอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันว่าก่อนหน้านี้เคยมีการอภัยโทษให้กับผู้ต้องหาคดีทุจริต มาก่อน

คือเรากำลังพูดถึงหลักการ ส่วนเรื่องตัวบุคคลอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ พอถึงจุดหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รับโทษมาระดับหนึ่งแล้ว คนเหล่านี้บางครั้งรับโทษมาจนหมดเรี่ยวแรง หมดเขี้ยวเล็บ แล้วขังต่อไปก็เป็นภาระของกรมราชทัณฑ์ บางทีเขาก็ปล่อยออกมาคุมประพฤติ อย่างถ้าเราไปในแดนของผู้ต้องขังที่สูงอายุ คนเหล่านี้บางทีก็น่าสงสาร บางคนอายุ 70-80 ปี คือเขี้ยวเล็บหมดแล้วแหละ โอกาสจะออกมากระทำความผิดอีกก็ไม่มี

ไทยพับลิก้า : เพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่การอภัยโทษ จึงมีกรอบกำหนดให้ต้องกลับมารับโทษก่อน

ในหลักการ พระราชกฤษฏีกาจะกำหนดเพียงกรอบกว้างๆ ว่าฐานความผิดประเภทไหนที่อภัยโทษได้ ฐานความผิดแบบไหนอภัยโทษไม่ได้ อย่างสมมติ ฐานความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด เมื่อกฎหมายไม่ให้พิจารณา ไม่ให้อภัยโทษ คนกลุ่มนี้จบเลย คุณไม่ต้องเสนอมา แม้จะเสนอมาก็ไม่มีการพิจารณา แต่ถ้าเป็นพวกอาชญากรรมทั่วๆไป ที่ผมใช้คำว่าอาชญากรรมพื้นฐาน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น เนี่ยพวกนี้ก็มีสิทธิที่จะขอ โดยเฉพาะเมื่อรับโทษมาแล้วช่วงเวลาหนึ่ง แล้วส่วนใหญ่พวกที่รับโทษมาแล้วช่วงเวลาหนึ่งเนี่ย 1.ก็อายุ 60 ปีขึ้นไป 2.ความประพฤติดี ตอนอยู่ในเรือนจำไม่เคยทำอะไรเสียหาย ทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับทางราชการ พวกนี้ก็มีโอกาสได้พิจารณาก่อน

อย่างที่ผมเคยบอก สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ.2545 กรมราชทัณฑ์ยังสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพราะตอนนั้นกระทรวงยุติธรรมเพิ่งเริ่มต้นที่จะแยกตัวออกจากธุรการของศาล ยังไม่ได้เอาราชทัณฑ์ไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษตามกฎหมายตอนนั้นก็คือ นักโทษหรือญาติของนักโทษ ต้องเสนอเรื่องขึ้นมาเพื่อจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งการพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่กระทรวงมหาดไทยนี่จะต้องมีการถวายความเห็น ผ่านนายกรัฐมนตรีขึ้นไป ขณะนั้นก็มีลูกสาวคนหนึ่งไปขอพระราชทานอภัยโทษให้พ่อที่หลบหนีคดีอยู่ ย่อๆ ก็คือตัวนักโทษเนี่ยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุก แต่ก็หนีโทษจำคุก แล้วก็ไม่เคยถูกโทษจำคุกเลย

“ระหว่างที่นักโทษหนีอยู่นั้นลูกสาวก็ยื่นเรื่องขออภัยโทษ ตามเงื่อนไขอย่างทุกวันนี้แหละ ทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ก็ทำบันทึกกราบเรียนนายกรัฐมนตรีขณะนั้น (พ.ศ.2545 รัฐบาลพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี) ว่า เนื่องจากว่าผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นนักโทษเนี่ยหลบหนีคดี ไม่เคยรับโทษอาญาเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็มาขออภัยโทษ เราก็ไม่คิดว่าเขาสำนึกในความผิดที่เขาได้ทำ แล้วเขาก็ไม่เคยแสดงตัวกับราชทัณฑ์เลยว่าเขามีความประพฤติเป็นอย่างไร เหมือนเดิม ดีขึ้นกว่าเดิม หรือแย่ลง ดังนั้นการที่เราจะถวายความเห็นขึ้นไปว่าเขาควรจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ หรืออภัยโทษเนี่ยไม่สมควร เพราะเขาควรจะมารับโทษก่อน”

ตรงนี้ควรเป็นหลักปฏิบัติเลยด้วยซ้ำ…คำว่าอภัยโทษเนี่ยเป็นการผ่อนหนักเป็นเบา จากโทษหนักมาเป็นโทษเบา เพราะฉะนั้นเขาควรได้รับโทษในระดับหนึ่งก่อน แล้วเมื่อได้รับโทษแล้วเขาแสดงพฤติกรรมออกมาชัดเจนว่าเขาสำนึกผิดนะ … เขาประกอบคุณงามความดี ชดเชยสิ่งที่เขาเคยทำผิดมาแล้วในอดีตนะ สิ่งเหล่านี้ก็จะเข้าเงื่อนไขของพระราชกฤษฏีกาอภัยโทษได้ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องพระราชอำนาจ เราอาจจะไปบอกไม่ได้ว่าใครควรได้รับการอภัยโทษหรือไม่ได้อภัยโทษ แต่รัฐบาลคือต้นทางควรพิจารณา

ไทยพับลิก้า : การให้มารับโทษก่อนจะช่วยอะไร

อันดับแรกคือให้ เขาได้มารับโทษระดับหนึ่งที่ได้กระทำผิดต่อบ้านเมือง กระทำผิดต่อผู้อื่นในความผิดของอาญา การกระทำผิดอาญาเนี่ยเราถือว่าไม่ได้กระทำเพียงแต่เหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่เป็นการกระทำต่อบ้านเมืองด้วย ถ้าพูดง่ายๆ ตรงนี้ก็ถือการกระทำผิดต่อสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นเป็นความผิด 2 ต่อ ต่อแรกเขาอาจจะกระทำโดยชดใช้เงินให้เหยื่อ หรือชดใช้ความผิดให้กับผู้กระทำความผิดแล้ว ก็ต้องชดใช้ให้ประเทศชาติด้วย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะดูได้ว่าเขาสำนึกผิดไหม…ถ้าสำนึกผิด หันกลับมาประกอบคุณงามความดีก็เป็นเงื่อนไขประกอบที่จะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการพระราชทานอภัยโทษได้

ไทยพับลิก้า : คิดว่ารัฐบาลควรมองเรื่องฐานความผิดการทุจริต ที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อบ้านเมือง และการต้องมารับโทษก่อน ในการพิจารณาว่าใครควรได้รับการอภัยโทษใช่หรือไม่

ผมไม่ได้อยู่ในพรรคเพื่อไทยแล้ว คงไปตอบแทนเขาไม่ได้ (หัวเราะแหะๆ) … แต่โดยหลักการก็ควรเป็นแบบนี้ (เงียบครู่หนึ่ง) หลังสุดผมก็เห็นรัฐบาลออกมาแล้วว่าเขาจะอาศัยร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวกับที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำเอาไว้ ก็หมายความว่าไม่ยกเว้นให้กรณีของยาเสพติดและการทุจริต ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่องต่างๆ ก็คงจะเบาลง

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ
ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ

ไทยพับลิก้า : ตอนแรกดูเหมือนจะดึงดัน จนกระทั่งเกิดการต่อต้านจากอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น รัฐบาลถึงออกมาประกาศว่าพระราชกฤษฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษฉบับนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เขียนจดหมายมาบอกว่าไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลดำเนินการให้

คือผมไม่ทราบเรื่องรายละเอียด แม้ผมจะอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่เรื่องในที่ประชุม ครม.เราก็เหมือนคนภายนอก เราก็มาทราบพร้อมๆกับสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน เพียงแต่ที่มันไม่ปกติก็คือมีการประชุม ครม.เรื่องนี้เป็นเรื่องลับ ซึ่งปกติแล้วเรื่องการอภัยโทษ ที่จะมีการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย เรื่องของการประกาศใช้เป็นพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ปกติแล้วเขาจะไม่ทำเป็นเรื่องลับ เพราะในเรื่องของมหากุศลอะไรต่างๆ จะเอาเรื่องเข้า ครม. เป็นวาระปกติ ซึ่งตรงนั้นพระราชกฤษฏีกาไม่ได้ระบุบุคคล เพียงแต่ระบุหลักการ หลักการก็คืออภัยโทษให้สำหรับบุคคลซึ่งได้กระทำความผิด ที่ไม่ใช่ยาเสพติด ไม่ใช่การคอรัปชั่นแล้วก็อาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับโทษมาแล้วระยะหนึ่งแล้วก็สำนึกผิด

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลบอกว่าสาเหตุที่ ครม.ต้องพิจารณาลับเพราะนักโทษอาจจะเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองเรื่องฐานความผิด

นักโทษจะต่อรองได้อย่างไร พวกนั้นเขาอยู่ในเรือนจำ จะเอาอะไรมาต่อรองล่ะ

ไทยพับลิก้า : มองว่าหนทางที่ดีที่สุดสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ควรต้องทำอย่างไร

ทางดีที่สุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะต้องกลับมาสู้คดีตามกระบวนการครับ เรื่องนี้หากจะมีการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้รับโทษ แต่หลบหนีอยู่ ก็ถือว่ายังไม่ได้มีการสำนึกผิด

ไทยพับลิก้า : ถ้ากลับมาสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมเวลานี้ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะต้องติดคุกตามคำพิพากษาของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีที่ดินถนนรัชดาภิเษกก่อน

ผมไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะติดคุกหรือไม่ ซึ่งอาจจะติดหรือไม่ติดก็ได้ แต่หนทางที่ดีที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ควรกลับมาสู้คดี อย่างผมแม้ผมจะถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ในคดีกล้ายาง และหวยบนดิน ผมก็สู้จนศาลยกฟ้อง คดีกล้ายางกล่าวหาทั้ง ครม.ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. แค่เพื่อทราบ มีแค่กระดาษแผ่นเดียว เราก็รู้แค่นั้น หรือเรื่องหวยบนดิน มันเป็นเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง ตอนนี้ศาลก็จำหน่ายคดีรอจำเลย คือพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ เพราะจำเลยไม่ได้มาแสดงตัว ก็ควรต้องกลับมาสู้คดี

ไทยพับลิก้า : ก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มนักวิชาการเสนอให้มีการลบล้างความผิดทางการเมืองหลังการรัฐประหารทั้งหมด ที่นำมาซึ่งความวุ่นวาย แล้วนำคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรมใหม่ทั้งหมด หากรัฐบาลต้องการจะช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ข้อเสนอดังกล่าวดีกว่าการดำเนินการอภัยโทษให้หรือไม่

ผมไม่ได้เห็นข้อเสนอเหล่านั้น ก็เลยไม่รู้ว่ารายละเอียดมันเป็นอย่างไร แต่คนเรามันต้องเดินไปข้างหน้า เราทุกคนอยู่กับการเดินไปข้างหน้าจะย้อนหลังกลับไปเพื่อแก้ไขอะไรบางอย่างคงไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือเราต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ดังนั้นการจะทำอะไรเพื่อให้ย้อนหลังกลับไปดำเนินการอะไรบางอย่างคงจะทำไม่ได้

“สถานการณ์ขณะนี้คือรัฐบาลจะต้องบริหารประเทศไม่ให้เหมือนกับการบริหารบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนายกรัฐมนตรี คนปัจจุบันด้วยยิ่งจะต้องระมัดระวังอย่างมาก และควรบริหารบริหารประเทศอย่างที่มีหลักของความนิติธรรม”

ไทยพับลิก้า : บริหารอย่างมีหลักนิติธรรม อย่างไร

รัฐบาลควรจะต้องรอบคอบในสิ่งที่ควรรอบคอบและรวดเร็ว ในสิ่งที่ควรจะรวดเร็ว อย่างเรื่องน้ำท่วม คุณต้องช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว การทำอย่างไรให้ถุงยังชีพไปถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็ว ทุกพื้นที่ ทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทย เพราะในสถานการณ์น้ำท่วม ทุกคนเดือนร้อนเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ไม่ใช่ว่าไม่ใช่คนไทยคุณก็จะไม่ช่วยเหลือ หรือจะไปแจกถุงยังชีพ ก็ต้องถามว่าคนที่มารับใช่คนไทยหรือเปล่า หรือเป็นคนต่างด้าวก็ต้องให้เอาบัตรต่างด้าวมายืนยันก่อนว่าคุณเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ หรือถ้าเข้าเมืองผิดกฎหมายคุณก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างนั้นหรือ ซึ่งนี่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการที่เราจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต ที่เราไม่ใช่แค่ 65 ล้านคนแล้ว แต่จะเป็น 650 ล้านคน

“สถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลจะมาแยกแยะไม่ได้แล้วว่าจะช่วยเฉพาะคนไทย หรือคนที่เลือกพรรคไหนมา ผมเอาของไปแจกช่วยน้ำท่วม พรรคผมเล็กๆ ผมยังไม่เคยไปถามเลยว่าคุณเลือกพรรคผมหรือเปล่าแล้วถึงช่วยเหลือ แค้รัฐบาลต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างมีวิสัยทัศน์ ต้องมองถึงลูกหลาน ว่าต่อไปลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร และไม่ใช่ดูแลเฉพาะญาติ พี่น้อง คุณเท่านั้น ดังนั้นเรื่องที่ไม่ควรเร่งรีบก็ไม่ควรเร่งดำเนินการในจังหวะสถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลควรจะมีวิชั่น (วิสัยทัศน์) ไม่ใช่วิสั้น (หัวเราะ)”

ไทยพับลิก้า : ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเร่งรีบเรื่องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ มากเกินไปหรือเปล่า

ผมตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ แต่ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มีค่านิยมต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ปกครองที่ทำเพื่อผู้อื่นเท่านั้นที่จะสามารถอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน ลองย้อนดูก็ได้

นาที“ปุระชัย” ตัดใจจาก “ทักษิณ”

“พรรคไทยรักไทยในช่วงก่อตั้งนั้น เราตั้งใจกันเลยว่าคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องเป็นผู้บริหาร เพื่อทำงานบริหารงานพรรค จะต้องไม่ใช่นักการเมืองและต้องไม่เข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง”

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ ย้อนเล่าไปถึงบรรยากาศในอดีต ที่เคยร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

“ผมเคยทำงานบริหาร เคยเป็นอธิการบดีที่นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ก็คงคิดว่าผมพอที่จะทำงานบริหารได้ จึงเชิญผมให้มาเป็นเลขาธิการพรรคคนแรก ….

…เราทำงานกันอย่างหนักตลอด 3 ปี ตั้งแต่เริ่มคิดที่จะทำพรรคการเมืองปี 2541-2543 เพื่อไปสู้ศึกเลือกตั้ง ปี 2544 พวกเราเข้ามาร่วมกันสร้างพรรค ทุกคนล้วนแต่มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นและมีอุดมการณ์ว่าอยากจะให้พรรคไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองดีสักพรรคหนึ่ง เป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน ในประเทศสักพรรคหนึ่ง พวกเราจึงทำทุกอย่างอย่างเป็นระบบ มีการสร้างสมาชิก มีการอบรมสมาชิก รุ่นแรกๆ วันละรุ่น ต่อมาเมื่อสมาชิกเยอะเข้าๆ เราก็ต้องเพิ่มวัน เพิ่มจำนวนรุ่น เพิ่มรอบการอบรม เป็นสัปดาห์ละหลายๆ รุ่น เพราะเราอยากให้สมาชิกรู้จักเราและเรากับสมาชิกจะได้รู้จักกัน สมาชิกพรรคจะได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรคร่วมกันด้วย” ร.ต.อ.ปุระชัย เล่าความหลัง ถึงการทำงานอย่างหนัก จนพรรคไทยรักไทย สมาชิกพรรคมากมายถึง 14 ล้านคน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เพราะการทำงานหนักของกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ได้ทำให้ช่วงปี 2543 ถึงก่อนการเลือกตั้ง มกราคม 2544 “พรรคไทยรักไทย” กลายเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ไฟแรง ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

ซึ่งนั่นก็หนีไม่พ้นสายตาของบรรดา “นักเลือกตั้ง” อีกนับร้อยคน ที่จับจ้องมายังการเติบโตแบบก้าวกระโดดของพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งใกล้การเลือกตั้ง “มกราคม 2544” ก็ทยอยมีนักการเมืองเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยเป็นจำนวนมาก

นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ภายใน “พรรคไทยรักไทย” โดยเฉพาะหลักการและอุดมการณ์พรรค

“นักการเมืองพวกนั้นเข้ามาก็จะเอานั่นเอานี่ พวกคุณไม่ลงแรงแต่จะมาขอนั่นขอนี่ เราไม่ได้พูดถึงการลงทุนทางการเมืองนะ แต่เราพูดถึงการลงแรงสร้างพรรค คุณไม่ได้ลงแรงแต่เข้ามาแล้วจะเอาตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ มาขอเปลี่ยนกระทั่งประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคอย่างนี้มันได้หรือ ซึ่งนั่นทำให้พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราได้คาดหวังกันเอาไว้มาก” ร.ต.อ.ปุระชัยเล่า

ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ
ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ

หลังการเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “ร.ต.อ.ปุระชัย” ในฐานะเลขาธิการพรรค ได้ขึ้นเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”

อันเป็นที่มาของนโยบาย “จัดระเบียบสังคม” ที่ “ร.ต.อ.ปุระชัย” ยืนยันว่าได้รับการยอมรับและตอบรับเป็นอย่างดีจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม “พ่อ แม่และผู้ปกครอง”

แต่ด้วยความเนื้อหอมของพรรคการเมืองใหม่ ที่เพิ่งประสบความสำเร็จ สภาวะกดดันต่างๆ ได้ทำให้ “ร.ต.อ.ปุระชัย” ต้องถูกปรับออกจากเก้าอี้ “รมว.มหาดไทย” มาเป็น “รมว.ยุติธรรม”

จากนั้นไม่นาน ทำให้เขาต้องเริ่มทบทวนตัวเองและคิดถึงการยุติบทบาททางการเมือง …

“วันประชุม ครม.ในช่วงปลายๆ รัฐบาล เดือนธันวาคมปี 2547 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยขณะนั้นก็กำลังจะอยู่ครบวาระ 4 ปี ซึ่งน่าดีใจมาก ผมก็เดินไปขอเข้าพบท่านนายกฯ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ที่ห้องนายกรัฐมนตรี อาคารสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับประชุม ครม. ผมก็ไปกราบเรียนท่านนายกฯว่า ท่านครับ ผมไม่ได้ตั้งใจแสวงหาอำนาจทางการเมือง วันนี้พรรคไทยรักไทยเข้มแข็งมากแล้ว (ซึ่งมันก็เข้มแข็งจริงๆอย่างที่ผมบอก คือหลังจากนั้นพรรคไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้งมาสูงถึง 377 เสียงในปี 2548) ผมก็ต้องขอกลับไปทำงานวิชาการ ขอกลับไปให้เวลากับครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ จากนั้นผมก็ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค” ร.ต.อ.ปุระชัยเล่า

เขายืนยันว่า การตัดสินใจออกจากพรรคไทยรักไทยครั้งนั้นไม่ได้เป็นเพราะปัญหาแค้นเคืองกับใคร แต่เป็นเพราะได้ประเมินทางขึ้นและทางลงของตัวเองเอาไว้แล้วว่า

“เมื่อเราขึ้นมาได้อย่างสง่างาม เราก็ต้องคิดถึงทางลงที่สง่างามเหมือนกันด้วย …จากนั้นผมก็ออกจากการเมืองไทยไปอย่างเงียบๆ ไปอยู่กับครอบครัวที่ต่างประเทศ เมื่อต้องรับรู้พรรคไทยรักไทย ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค ในปี 2550 ผมก็เสียใจ เพราะมันเป็นพรรคการเมืองที่เราก่อตั้งมันขึ้นมา ด้วยความมุ่งมั่นและอุดมการณ์” ร.ต.อ.ปุระชัย กล่าว

“เขา” มองว่า สาเหตุที่ “พรรคไทยรักไทย” ต้องล่มสลายลงไปอย่างง่ายๆ มีสาเหตุหลักที่สำคัญคือ “ความเปลี่ยนแปลง” อย่างใหญ่หลวง ใน “หลักการ” และ “อุดมการณ์” พรรค ที่ได้มีการวางกันเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น