ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แผนปตท.ลอยตัวก๊าซแอลพีจี : กางตัวเลขใครคือผู้ใช้ตัวจริง-ใครได้ประโยชน์ (2)

แผนปตท.ลอยตัวก๊าซแอลพีจี : กางตัวเลขใครคือผู้ใช้ตัวจริง-ใครได้ประโยชน์ (2)

12 พฤศจิกายน 2011


ความพยายามของรัฐบาลที่จะลอยตัวก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก พร้อมกับจัดสรรงบประมาณก้อนโตเอาไปทำเป็นบัตรเครดิตพลังงานช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาส ต่อเรื่องนี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวนโยบายลอยตัวก๊าซเอ็นจีวี ใน “แผนปตท.ลอยตัวก๊าซแอลพีจี : แกะไส้ในต้นทุนก๊าซที่แท้จริง (1)” ทั้งนี้จากข้อมูลจากเอกสารการบรรยายของนางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในหัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน ได้ให้ข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมก๊าซในเชิงเจาะลึก

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ซึ่งได้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดได้วิเคราะห์ว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยม ถ้ามองแบบผิวเผินแล้วเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะดูดีมาก แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง วิธีนี้ดังกล่าวเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายเป็นกำไรให้กับบริษัทเอกชน และถ้าเกิดผลขาดทุนขึ้นมาก็จะถูกผลักเข้ามาเป็นภาระของรัฐบาล

“เดิมทีนั้นรัฐบาลจะใช้วิธีการจัดเก็บเงินจากคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้น้ำมันเอาไปชดเชยให้กับคนที่ใช้ก๊าซแอลพีจี แต่มาตอนนี้บอกไม่เอาแล้ว รัฐบาลจะประกาศลอยตัว ยอมควักกระเป๋าเอาเงินของประชาชนไปจ่ายเงินให้กับบริษัทปตท.”

นางรสนาได้อ้างถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เวลาน้ำขึ้น เรือทุกลำก็จะลอยกันหมด” แต่วันนี้ประชาชนไม่ใช่เรือ ถ้าถูกผูกติดไว้กับท่าน้ำ เวลาน้ำขึ้นทุกคนก็ตายหมด เหมือนกับช่วงนี้ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอุทกภัย ดังนั้นการประกาศลอยตัวก๊าซแอลพีจี เท่ากับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว โดยกระสุนนัดที่ 1 จะเป็นกำไรของบริษัทปตท.เพื่อนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ส่วนกระสุนนัดที่ 2 คือการนำเงินภาษีหรือจากหลวงไปเป็นนโยบายประชานิยม

นอกจากนี้นางสาวรสนาได้ชี้ว่าที่ผ่านมา นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ พยายามออกมาให้ข่าวบ่อยครั้งว่า “ก๊าซแอลพีจี เป็นสินค้าการเมือง คงจะแก้ไขอะไรไม่ได้ และไม่มีใครคิดจะแก้ แต่การตรึงราคาไว้นานจะทำให้โครงสร้างการใช้พลังงานบิดเบือน ทางแก้คือต้องขึ้นราคาเป็น 16-17 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ โรงแยกก๊าซที่จะสร้างใหม่ ก็คงไม่สร้าง เพราะไม่คุ้มที่จะไปนำเข้าของแพงๆ เอามาขายถูก คงไม่มีใครอยากทำ สุดท้ายก็ต้องปตท.” (มติชน : ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550)

ก๊าซอ่าวไทยเพียงพอไม่จำเป็นต้องนำเข้า

คำถามว่า…ทำไมต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ นางรสนากล่าวว่าจากข้อมูลของบริษัทปตท.ในปี 2553 ระบุว่าประเทศไทยมีการสูบก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นมาวันละ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต โรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้ง 5 โรง มีกำลังการผลิตวันละ 1,770 ล้านลูกบาศก์ฟุต และเร็วๆนี้เพิ่งเปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในจำนวนนี้มีก๊าซเอ็นจีวีที่นำไปใช้ในรถยนต์ประมาณ 231 ล้านลูกบาศก์ฟุต

“ถามว่าขาดแคลนตรงไหน ข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ายังมีก๊าซเหลืออยู่อีก 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งความจริงแล้วก๊าซธรรมชาติไม่ได้ขาดแคลน แต่มีความจงใจที่จะทำให้ก๊าซแอลพีจีขาดแคลน เพื่อที่จะไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาจากต่างประเทศ”

พลังงานชี้ LPG ใช้กับรถไม่คุ้ม

และก่อนหน้านี้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “อยากจะให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี เพราะไปใช้แอลพีจี มันไม่คุ้มค่า แถมยังอันตรายด้วย”

นางรสนาได้ยกตัวอย่างว่าขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธยังเอารถ ROLLS-ROYCES ไปติดก๊าซแอลพีจี เพราะเป็นพลังงานที่ถูกและสะอาดกว่าน้ำมัน ส่วนที่ประเทศฮ่องกง เมื่อ 5 ปีก่อนได้ออกกฏหมายบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลไปใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อลดมลพิษทางอากาศ แต่ทำไมรัฐบาลไทยถึงไม่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์

ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล"  หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน
ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน
ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล"  หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน
ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน

ปตท.ยันใช้ในปิโตรเคมีได้มูลค่าเพิ่ม 20 เท่า

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาได้เชิญผู้บริหารของบริษัทปตท.มาสอบถามข้อมูล ทางเจ้าหน้าที่ของปตท.ได้ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการฯว่า “การนำก๊าซแอลพีจีไปใช้ในรถยนต์ ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีมูลค่าเพิ่มแค่ 2 เท่าตัว แต่ถ้านำก๊าซแอลพีจีไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม 9-20 เท่า และเจ้าหน้าที่ของปตท.ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 สร้างเสร็จเมื่อไหร่ ก็จะไม่เอาก๊าซแอลพีจีไปให้ภาคอื่นๆใช้ แต่จะเก็บไว้ใช้ในภาคปิโตรเคมีเท่านั้น”

นางสาวรสนากล่าวย้ำว่าก๊าซธรรมชาติที่สูบขึ้นมาจากอ่าวไทยมาจากพื้นแผ่นดินไทย ถือเป็นทรัพย์สินของคนทั้งประเทศ แต่เก็บไว้ใช้ในภาคปิโตรเคมี เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทปตท.ได้ถึง 20 เท่าตัว ขอถามหน่อยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาถึง 20 เท่าตัว รายได้และกำไรไปเข้ากระเป๋าใคร ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์หรือไม่

ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน
ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน

“เกือบทุกรัฐบาล จะออกข่าวอยู่เสมอว่าจะต้องไปกู้เงินมาให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเงินไปชดเชยราคาก๊าซแอลพีจี ที่ใช้ในภาคครัวเรือนและรถยนต์ที่มีการใช้จำนวนมาก ทางแก้คือต้องปรับราคาหรือปล่อยราคาให้ลอยตัว แต่ถ้าดูตามตารางการผลิตและการใช้ก๊าซแอลพีจี ในปี 2553 ผลิตได้ 4.4 ล้านตัน ภาคครัวเรือนใช้ไป 2.4 ล้านตัน และภาคยานยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน รวมกันแล้วแค่ 3 ล้านตัน ส่วนที่เหลืออีก 1.4 ล้านตัน นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี หากภาคอุตสาหกรรมไม่พอใช้ ก็ควรจะไปหาซื้อมาใช้กันเอง อย่ามาล้วงกระเป๋าประชาชน ทำไมต้องมาเอาเงินจากรัฐบาลไปจ่ายชดเชยให้ด้วย” นางรสนากล่าว

แอลพีจีรถยนต์หดตัว 8 % – ปิโตรฯ พุ่ง 72 %

ถ้าดูภาพรวมของการใช้ก๊าซแอลพีจีจะยิ่งเห็นชัดว่าเกิดอะไรขึ้น โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น 1.154 ล้านตัน ซึ่งแบ่งออกเป็น การใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุดเพิ่มขึ้น 3.21 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 27 % ภาคยานยนต์มีความต้องการใช้ติดลบ 9.5 หมื่นตัน ลดลง 8 % ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น 1.11 แสนตัน เพิ่มขึ้น 10 % และภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 8.27 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 72 %

“ดังนั้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องหากู้เงิน 2.3 หมื่นล้านบาทไปจ่ายให้ปตท.เป็นค่าชดเชยราคาก๊าซแอลพีจี เท่ากับว่าจ่ายชดเชยให้กับปิโตรเคมีด้วยหรือเปล่า ซึ่งประเด็นนี้ไม่มีใครพูดถึงเลย เหมือนไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในโลกนี้ คนที่ใช้ก๊าซแอลพีจีมีแต่รถยนต์กับภาคครัวเรือนเท่านั้น ทำไมปิโตรเคมีไม่เอาเงินมาช่วยจ่ายให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบ้างล่ะ” น.ส.รสนา กล่าว

ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน
ที่มา : เอกสารการบรรยายของ"รสนา โตสิตระกูล" หัวข้อคืนอำนาจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจให้ประชาชน ศึกษากรณีฐานทรัพยากรพลังงาน

หวั่นก๊าซขาดตลาดหลังดีลควบรวมบริษัทเครือปตท.

ปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมีของโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในช่วงต้นปี2554 คณะกรรมการบริษัทปตท. จึงมีมติอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด(มหาชน) กับบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หากควบรวมกิจการกันเสร็จสิ้นเมื่อใด ก๊าซแอลพีจีที่ได้จากการกลั่น ก็จะไม่มีเหลือเข้ามาในตลาด เพราะเขาจะเก็บเอาไว้ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้เกิดการผูกขาด

อย่างกรณีที่บริษัทปตท.ไปเทคโอเวอร์ปั้มเจท ปั้มโมบิล เพื่อขยายส่วนแบ่งทางการตลาด เขาเรียกว่าการผูกขาดในแนวนอน ส่วนการควบรวมกิจการในกรณีของบริษัทปตท.เคมิคอลกับปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น เขาเรียกว่าการผูกกขาดในแนวดิ่ง เมื่อควบรวมกันเสร็จเมื่อไหร่ ก๊าซแอลพีจีที่ได้จากการกลั่นก็จะถูกเก็บไว้ใช้เองในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ และสามารถควบคุมตลาดได้ หากต้องการทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดมีราคาแพงขึ้น ก็ทำให้ก๊าซขาดตลาด ราคาจะขึ้น ถ้าอยากทำให้ราคาถูกลง ต้องเพิ่มปริมาณเข้าไปในตลาด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

นางสาวรสนากล่าวว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทางปตท.แจ้งว่า ถ้าเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า ถึงแม้จะผูกขาด แต่ปตท.ก็เป็นบริษัทของคนไทยมีรัฐบาลถือหุ้นโดยตรง 52 % แต่ถ้าผูกขาดมากมายเช่นนี้ ทำไมรัฐไม่ถือหุ้น 100 % ไปเลย ได้กำไรมาปีละกว่า 1 แสนล้านบาทจะได้เป็นของรัฐทั้งหมด เพราะเรื่องพลังงานเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนการขนส่งอยู่ที่ 19 % ของ GDP ขณะที่สิงค์โปร์มีต้นทุนอยู่ที่ 7 % เท่านั้น

“เรื่องพลังงานจึงมีความสำคัญ ทำอย่างไรภาคธุรกิจขนาดเล็กถึงจะอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี แต่รัฐบาลก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดการผูกขาด เสมือนปล่อยหมาจิ้งจอกเข้าไปอยู่ในเล้าไก่ คอยต้อนประชาชนให้จนมุม พอเผลอก็แอบล้วงกระเป๋าประชาชน” นางสาวรสนากล่าว

กองทุนน้ำมันถังแตก “กรณ์” แนะเลิกลอยตัวแอลพีจี ชี้ต้นเหตุลดราคาเบนซินเอาใจรถหรู

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ในระหว่างประชุมรัฐสภากำลังเปิดการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการยกเลิกการเก็บเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินมีราคาถูกลง

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่มีนโยบายที่จะไปปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือน แต่จะปรับลอยตัวเฉพาะภาคขนส่งเท่านั้น เพราะไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนำก๊าซแอลพีจีมาใช้ในภาคขนส่ง นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังได้จัดเตรียมโครงการบัตรเครดิตพลังงาน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ขับรถรับจ้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการแจกจ่ายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป โดยยืนยันว่าไม่มีเลื่อนอย่างแน่นอน

ทำให้นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กรุงเทพมหานคร ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์พาดพิง กล่าวโต้ตอบทันทีว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมากล่าวพาดพิงว่าประชาชนนิยมชมชอบนโยบายปรับลดราคาน้ำมันเบนซินมากกว่านโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศตรึงราน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทนั้น จริงๆจะต้องสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ขยายระยะเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 และล่าสุดทางสส.ฝ่ายค้าน ได้สอบถามไปที่กรมสรรพสามิตว่าจะยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเมื่อไหร่ ทางกรมสรรพสามิตก็ไม่กล้ายืนยัน แสดงว่าการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นนโยบายที่ประชาชนได้รับประโยชน์

ส่วนเรื่องภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตอนนี้ติดลบอยู่ 4,500 ล้านบาท หรือติดลบวันละ 100 ล้านบาท ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ออกมาให้ข่าวว่าไม่ต้องเป็นห่วง และยืนยันว่าไม่มีการนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายชดเชยให้กับกองทุนน้ำมัน เพราะทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยการประกาศลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่งเอาไว้แล้ว คาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 2 เท่าตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบกับคนที่ขับรถแท็กซี่และประชาชนทั่วไปที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง

นายกรณ์กล่าวต่อว่าและนี่ก็คือแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้เป็นผู้ก่อขึ้นมา โดยการสั่งยกเลิกการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเบนซินมีราคาถูกลง โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ คือคนรวยที่ใช้รถหรู

หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายยกเลิกการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินมีราคาถูกลง ปรากฏว่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน 95 ในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว