ThaiPublica > เกาะกระแส > มิติใหม่พลังทางสังคมกับการจัดการภัยพิบัติ – ความเป็นธรรม – ความมั่นคงทางอาหาร

มิติใหม่พลังทางสังคมกับการจัดการภัยพิบัติ – ความเป็นธรรม – ความมั่นคงทางอาหาร

23 พฤศจิกายน 2011


การสัมนาเรื่อง “มิติใหม่ของพลังทางสังคม กับการจัดการภัยพิบัติ”
การสัมมนาเรื่อง “มิติใหม่ของพลังทางสังคม กับการจัดการภัยพิบัติ”

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 มีงานสัมมนาเรื่อง “ภัยพิบัติน้ำท่วมกับมิติใหม่ของสังคมไทย” จัดโดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม ที่ห้องประชุมจุมภฎ พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การสัมมนามีหลายหัวข้อ เรื่อง “มิติใหม่ของพลังทางสังคม กับการจัดการภัยพิบัติ” มีผู้เข้าร่วมการสัมนาในหัวข้อนี้คือ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อม ดร.ประกิจ ณรงค์ตะณุพล มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน (BCL)และ ดร. มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วมและ อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ โดย อ.ดร.นฤมล อรุโณทัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ ได้กล่าวว่าพลังทางสังคมที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียงปรากฎการณ์ระยะสั้น และตั้งคำถามว่าหากยังมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นต่อไปอีก ในระยะยาวควรจะมีวิธีการแก้ไขหรือรับมืออย่างไร

นายบัณฑูรได้สรุปบทเรียนว่าข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภัยพิบติมี 3 แนวทางด้วยกันคือ 1.ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด 2.เรื่องผังเมืองที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย และ3.ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จนลำพังประเทศไทยประเทศเดียวไม่สามารถจัดการได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ ในการรับมือกับภัยพิบัติ และมองพลังทางสังคมที่เกิดขึ้นว่าเป็นเครือข่ายที่มีพลัง เพราะเห็นว่าการจัดการของภาครัฐล้มเหลวจึงรวมตัวกันออกมาช่วย เป็นความพยายามในการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมให้ดีขึ้น

นายบัณฑูรมองการทำงานของภาครัฐในเรื่องข้อมูลการเตือนภัยว่ าหาก ศปภ.หรือหน่วยงานของภาครัฐไม่มีข้อมูล ขอให้บอกประชาชนทราบว่าไม่รู้หรือไม่มีข้อมูล สิ่งสำคัญคือถ้าประชาชนรู้ว่าภาครัฐไม่รู้ การตัดสินใจก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งการยอมรับว่าไม่รู้จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่มีข้อมูลเข้ามาช่วยสร้างความรู้ตรงนี้ให้เกิดขึ้น

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการจัดการสังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้านดร. มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ได้เล่าถึงพลังทางสังคมที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า พลังทางสังคมเกิดจากการตื่นตัวในทางสังคมออนไลน์ มีการก่อตัวก่อนที่ภาครัฐจะจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแล และมีการขยับขยายขนาดต่อมาเรื่อยๆจากคนไม่กี่คนก็กลายเป็นทีมที่สามารถดูแลคนเป็นจำนวนมากได้ โดยโครงการช่วยเหลือต่างๆที่เกิดขึ้น ล้วนเริ่มต้นมาจากภาคประชาสังคมก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาศูนย์อพยพ การเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัย ก่อนที่ภาครัฐมาช่วยเหลือดูแลประชาสัมพันธ์ในตอนท้าย

ดร.มิชิตาได้กล่าวเน้นประเด็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยว่าเมื่อเกิดสภาวะวิกฤติ หน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการเข้าไปช่วยเหลือกอบกู้มักจะเป็นหน่วยงานที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก มีการเชื่อมต่อระหว่างกันไม่มากและเคลื่อนไหวง่าย เช่น พลังทางสังคมต่างๆที่เป็น Organic Organization ต่างจากองค์กรของภาครัฐที่มักจะมีสายบังคับบัญชาที่ยึดโยงไปมาเป็น Mechanic Organization การเคลื่อนไหวช่วยเหลือจึงล่าช้า ไม่ทันการ

อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนั้น อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว ได้กล่าวว่าที่ผ่านมาการจัดการปัญหาภัยพิบัติ การสื่อสารมีกับดักและมีมายาคติว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติต้องมีการสื่อสารที่เกิดจากคนเดียว พูดคนเดียว ในทิศทางเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ให้คนรู้เท่าที่ควรจะรู้ ไม่ใช่ให้คนสับสน จำกัดวงข้อมูล มีคนคัดเลือกข้อมูล แต่พบว่ายิ่งการสื่อสารเป็นระบบปิดมากเท่าไหร่ คนจะยิ่งตระหนก เพราะคนจะจินตนาการไปเอง

“สิ่งสำคัญคือในภาวะวิกฤติ ยิ่งวิกฤติต้องมีการเปิดข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในทุกพื้นที่ โดยต้องเป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง และเป็นการสื่อสารแบบแนวระนาบ ไม่ใช่ล่างขึ้นบนหรือบนลงล่างอีกต่อไป”

อ.สุภาพรได้เสนอการยกระดับเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขจัดการปัญหาในระยะยาวว่าปัจจัยสำคัญในการจัดการข้อมูลข่าวสารในระยะยาวคือ 1.ต้องจัดทำชุดความรู้สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังเมือง ข้อมูลที่อยู่อาศัย 2.องค์ความรู้ต่างๆเหล่านี้จะต้องเปิดให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และ 3.การนำความรู้ต่างๆเหล่านี้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการวางแผนและปรับปรุง

ส่วนดร.ประกิจ ณรงค์ตะณุพล ได้พูดถึงข้อจำกัดของพลังทางสังคมว่ามักจะเกิดขึ้นในลักษณะที่เฉพาะกิจ มีข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์และเวลา การเติบโตของพลังทางสังคมนั้น เมื่อเติบโตเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ก็มักจะมีปัญหา เพราะจิตอาสาส่วนใหญ่ถนัดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ในพื้นที่ของตัวเองโดยตรง การที่ต้องมาจัดการปัญหาขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ไข เช่น เรื่องคอรัปชัน หรือการไปดูแลจัดการปัญหาลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงอาจไม่สามารถทำได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภสครัฐ ที่สามารถจัดการสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือโครงการที่ต้องใช้งบประมาณขนาดใหญ่ได้

การสัมนาเรื่อง “ความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม มิติความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม”
การสัมมนาเรื่อง “ความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม มิติความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม”

ถัดจากนั้นเป็นการสัมมนาเรื่อง “ความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม มิติความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม” มีผู้เข้าร่วมการสัมนาคือ นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร ศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถีและรศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล ได้เปิดประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันว่า การจัดการน้ำอย่างเท่าเทียมกัน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ทางวิศวกรรมว่าน้ำจะท่วมคิดเป็นปริมาตรเท่าไหร่ น้ำท่วมกินเวลายาวนานกี่วันและท่วมพื้นที่ไหนบ้าง 2.ในแง่เศรษฐศาสตร์ว่าการปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ แต่ละพื้นที่จะมีความเสียหายที่แตกต่างกันอย่างไร เช่น ปล่อยให้น้ำท่วมภาคเกษตรจะมีค่าความเสียหายน้อยกว่าปล่อยให้ท่วมภาคอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ทางเศรษฐกิจ 3.ในแง่ทางสังคมการปล่อยให้ท่วมจะมีความยุติธรรมหรือเท่าเทียมกันอย่างไร ในแง่ที่แต่ละคนล้วนเป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีความเป็นคนไม่ต่างกัน

“เราต้องมาตั้งคำถามว่าความเท่าเทียมคืออะไร เพราะความเท่าเทียม ไม่ใช่ความเท่ากัน ในทางปฏิบัติประเทศของเราต้องตอบให้ได้ว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงคืออะไร”

รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล

ส่วนนางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร ได้ชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็นความอยุติธรรมของระบบโครงสร้างทางสังคม มีนักวิชาการรับใช้กลุ่มทุนการเมือง ไม่มีการบอกประชาชนด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้ล่วงหน้าว่าน้ำท่วมจะมีผลกระทบตามมามากน้อยแค่ไหน โดยยกตัวอย่างชาวประมงในพื้นที่ปากอ่าวไทย ที่มวลน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลลงทะเล ส่งผลให้น้ำปากอ่าวเน่าเสีย การทำประมงและสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก และสื่อมวลชนทำข่าวอย่างไม่รอบด้าน มีการนำเสนอข่าวแต่เพียงเฉพาะบางพื้นที่ และละเลยหลายพื้นที่สำคัญ คนที่แช่น้ำจึงเกิดความโกรธแค้น และยังมีปัญหาเรื่องความไม่ยุติธรรมในการช่วยเหลือ เช่น มีโครงสร้างมากมายในการกู้อุตสาหกรรม แต่ไม่มีโครงสร้างช่วยเหลือในภาคเกษตรกรรม

ด้านนางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ได้ชี้ว่าปัจจุบันโจทย์เรื่องการจัดสรรน้ำมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ภาคเกษตรจะมาทีหลังมีการเน้นผลิตไฟฟ้าให้ภาคเมือง ภาคอุตสาหกรรมก่อนภาคเกษตรเสมอ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าภาคเกษตรถูกละเลย แต่เมื่อเกิดน้ำท่วม ภาคเกษตรจะรับน้ำไปก่อน ตามมาด้วยชานเมือง ซึ่งชัดเจนว่าการปกป้องกรุงเทพฯเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และชี้ให้เห็นว่าคนเมืองไม่สามารถรับมือกับวิกฤติได้ดีเท่ากับคนต่างจังหวัด เมื่อเกิดน้ำท่วมจะพบว่าห้างสรรพสินค้าต่างๆ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องจะหมดเป็นอย่างแรก เกิดการกักตุนทำให้ขาดแคลน แตกต่างจากต่างจังหวัดที่มีการหาปลา หรือนำอาหารแห้งที่มีในท้องถิ่นมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหา แสดงให้เห็นว่าคนต่างจังหวัดมีจินตนาการในการกินในภาวะวิกฤติสูงกว่าคนเมือง

“น้ำท่วมครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่สำคัญคือความมั่นคงทางอาหาร ที่ทำให้เห็นปัญหาอาหารขาดแคลน และปัญหาการกระจายอาหาร ดังนั้นความมั่นคงทางอาหาร ถึงมีเงินก็ไม่สามารถซื้อและแก้ไขได้ โดยประเทศของเราปล่อยให้การกระจายอาหารตกอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ เมื่อน้ำท่วมศูนย์กระจายสินค้า อาหารจึงขาดแคลน เราจึงควรส่งเสริมการกระจายอาหารไปอยู่ที่คนเล็กคนน้อยหรือร้านชำต่างๆมากขึ้น และน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ทำให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้แต่เพียงลำพัง”

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี

และสุดท้ายคือ รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ได้ชี้ว่าเราต้องระบุว่าปัญหาที่แท้จริงของวิกฤติครั้งนี้เกิดจากอะไร หากระบุไม่ได้ปัญหาก็จะวนเวียนต่อไป โดยเมื่อน้ำจืดลงสู่อ่าวไทยแล้วซึ่งควรจะลงอ่าวไทยได้ตั้งนานแล้วแต่ถูกกักในที่ต่างๆ เมื่อมวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลทำให้ความเค็มในช่วงปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลมีความเค็มต่ำมาก และมวลน้ำที่ผ่านโรงงาน หรือเอาสารต่างๆบนดินมีสิ่งเน่าเสียมา จะทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่อยู่บริเวณอ่าวไทย จะหนีน้ำเสีย เช่น ปลาหลายชนิดที่เปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนที่ ส่วนสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น หอยต่างๆ จะตาย

“น้ำเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ให้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับการจัดการ หากจัดการไม่ถูกต้องความเป็นโทษก็จะเพิ่มขึ้น ไปกระทบความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมซึ่งท้ายที่สุดก็จะมากระทบความมั่นคงของมนุษย์”