ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ฯ ประเมินน้ำท่วมกระทบจีดีพี 2.48 แสนล้านบาท

สภาพัฒน์ฯ ประเมินน้ำท่วมกระทบจีดีพี 2.48 แสนล้านบาท

22 พฤศจิกายน 2011


สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ได้ประเมินผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงไตรมาส 3 และต่อเนื่องไตรมาส 4 โดยเบื้องต้นพบว่าความเสียหายโดยรวมจะส่งผลกระทบให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ทั้งปี 2554 ลดลง 248,386 ล้านบาท หรือส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลง 2.3%

ประเมินผลกระทบน้ำท่วมต่อจีดีพี ปี2554
ประเมินผลกระทบน้ำท่วมต่อจีดีพี ปี2554

ดังนั้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวเพียง 1.5 % ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.8 % ถือว่าเป็นตัวเลขประมาณเศรษฐกิจต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับการประมาณการของหน่วยงานทางการ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 2.6 % ลดลงจากประมาณการเดิม 4.1 % ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินผลกระทบน้ำท่วมส่งผลให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 2.6 % ลดลงจาก 4.5 %

แต่มีทิศทางเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอุทกภัยล่าสุดว่ามีความสูญเสียสุทธิต่อจีดีพีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 242,200 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีทั้งปีนี้ขยายตัว 1.5 % ลดลงจาก 1.7 % ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า น้ำท่วมเริ่มขยายวงกว้างช่วงปลายเดือนต.ค. ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบไม่มาก โดยผลกระทบน้ำท่วมทำให้จีดีพีลดลงเพียง 0.7 % ดังนั้นจีดีพีไตรมาส 3 จึงขยายตัวได้ 3.5 % สูงกว่า 2.7 % ในไตรมาส 2 และ 3.2 % ในไตรมาสแรก ดังนั้นหากไม่นับรวมผลกระทบจากน้ำท่วมจีดีพีไตรมาส 3 จะขยายตัวได้ถึง 4.2%

อย่างไรก็ตาม จีดีพีไตรมาส 3 ที่ขยายตัวระดับสูง 3.5 % เหตุผลเพราะภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้เร็วจากผลกระทบสินามิในญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีต่อเนื่อง ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจ 9 เดือนจีพีดีขยายตัว 3.1 % และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วจีดีพีไตรมมาส 3 ขยายตัว 0.5 % จากไตรมาสที่ 2

อัตราการเติบโตของ GDP รายไตรมาส
อัตราการเติบโตของ GDP รายไตรมาส ที่มา สศข.

แต่สถานการณ์น้ำท่วมตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด โดยสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าผลกระทบน้ำท่วมต่อจีดีพีในไตรมาส 4 สูงถึง 8.7 % แต่ในภาวะปกติจีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปีจะขยายตัวประมาณ 5% เมื่อหักลบกับผลกระทบน้ำท่วมแล้วคาดว่าจีดีพีไตรมาส 4 จะติดลบ 3.7 %

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบความเสียหายเบื้องต้นของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่สภาพัฒน์ฯ ประเมินในช่วงไตรมาส 3 และต่อเนื่องไตรมาส 4 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความเสียหายส่งผลกระทบต่อจีดีพีมากที่สุด โดยทำให้จีดีพีลดลง 158,727 ล้านบาท หรือทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 357,609 ล้านบาท

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ รายงานว่า ผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานการผลิตในเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี (นิคมอุคสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางประอิน นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจน นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมยายนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นต้น นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบต้นน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบการผลิต รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เนื่องจากการหยุดดำเนินกิจการในช่วงน้ำท่วม

ด้านภาคเกษตร สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า มีเกษตรกรรับผลกระทบ 1,464,790 ราย มีพื้นที่เสียหาย 11,429,901 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นทีปลูกข้าว 9,180,657 ไร่ แต่ความเสียหายโดยรวมของภาคเกษตรมีผลทำให้จีดีพีลดลง 28,927 ล้านบาท และทำใหรายได้ภาคเกษตรหายไป 44,584 ล้านบาท

พื้นที/ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้้รับความเสียหายจากอุทกภัย

ส่วนภาคบริการ สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า ผลจากอุทกภัยจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง 7 แสนคน จากเดิมที่ประมาณการทั้งปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยว 19.5 ล้านคน และประเมินว่าจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงประมาณ 23,800 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 34,000 บาท) ดังนั้นทั้งปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย 18.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.7 % เมื่อเทียบกับปี 2553

ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว ปี 2554

ขณะที่ภาคการส่งออก สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกสและเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อาหาร ยางและผลิตภัณฑ์ และพรากสติก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสุดท้ายของปี 2554 สภาพัฒน์ฯ จึงประเมินว่าผลกระทบดังกล่าวจะทำให้การส่งออกทังปีขยายตัวได้ 17.7 % หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 226,900 ล้านบาท

ประมาณการส่งออก ปี 2554

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจปี 2554 จะถูกกระทบจากภาวะน้ำท่วมทำให้จีดีพีโตเพียง 1.5 % แต่ นายอาคมคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ระดับปกติในปี 2555 โดยประมาณการแนวโน้มจีดีพีปีหน้าขยายตัว 4.5-5.5 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ทำงบประมาณปี 2555 เหตุผลเพราะว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม และถ้าระดับน้ำลดลงได้ปลายเดือนพ.ย. และธ.ค. นี้ ภาคอุตสาหกรรมก็จะกลับมาซ่อมแซมเครื่องจักร แต่อาจไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง คงเป็นเฉพาะที่อยู่นอกพื้นที่น้ำท่วม โดยคาดว่าประมาณไตรมาสแรกปีหน้าภาคอุตสาหกรรมน่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาผลิตได้ประมาณ 70-80 %

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ยอมรับว่า อาจมีข้อจำกัดทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตามที่คาดการณ์ คือ ความล่าช้าของการฟื้นฟูภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวในไตรมาสแรก โดยภาคเศรษฐกิจบางส่วนอาจไม่สามารถดำเนินกิจการได้เต็มศักยภาพทำให้การส่งออกในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าระดับปกติ ประกอบกับการนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร จะส่งผลให้ขาดดุลการค้า

นอกจากนี้ภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จึงเป็นความเสี่ยงอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีและในปี 2555 เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เสนอว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูและเยียวยา เพื่อให้ภาคกรผลิตและกำลังซื้อของครัวเรือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2555 ดังนั้นคาดว่าในไตรมาสแรกเม็ดเงินภาครัฐจะออกมาอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องดูแลป้องกันปัญหาการขาดแคลนสินค้าและความเป็นธรรมทางด้านราคาสินค้าช่วงหลังน้ำลด และการแก้ไขปัญหาและเตรียมการรองรับฤดูฝนปีหน้า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นฤดู ระบบการระบายน้ำ และระบบการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน และเมือง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุน รวมถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว เพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเพื่อไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศของการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว

นอกจากนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุนของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนต้องสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วม

สุดท้าย สภาพัฒน์มีความเห็นว่า ต้องเร่งรัดปฏิรูปทางการคลังเพื่อเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวและการรักษาเสถียรภาพการคลัง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอัตราภาษีควบคู่ไปกับการขยายฐานภาษี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐ