ThaiPublica > คนในข่าว > “พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ” เล่าฉาก แอ๊คชั่นทหาร สถานการณ์น้ำท่วมปั้น “ฮีโร่ (สีเขียว)”

“พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ” เล่าฉาก แอ๊คชั่นทหาร สถานการณ์น้ำท่วมปั้น “ฮีโร่ (สีเขียว)”

4 พฤศจิกายน 2011


พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)
พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)

“หัวใจคือ ในภาวะวิกฤติ ที่จะต้องมีการปฏิบัติจริง สื่อมวลชนก็จะดูว่าใครเป็นคนทำงาน ใครเป็นตัวหลัก มันก็เห็นแต่สีเขียวพรึ่บไปหมด…อันนี้คงเข้าใจนะ”

วันที่ 7 ตุลาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)” พร้อมเรียกประชุมครั้งแรกที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

รัฐบาลระดมทุกสรรพกำลังจากทุกหน่วยงาน เข้ามาอยู่ใน “ศปภ.” โดยหวังว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการ “บูรณาการการแก้ไขปัญหา”

แต่ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยังไม่สามารถทำอะไรได้ดีไปกว่าการสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาภายในของ “ศปภ.” เอง

แตกต่างกับ “ฝ่ายกองทัพ” ที่ยิ่งสถานการณ์วิกฤติ กลับยิ่งเพิ่มภาพในการช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า “รัฐบาล”

จากกองทัพที่ถือว่าเป็นหนึ่งในฝ่ายพ่ายแพ้สงครามการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างหมดรูปให้กับพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองในฟากฝั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่วันนี้ ภาพที่ปรากฎ ทำให้คะแนนนิยมของ “กองทัพ” กระเตื้องขึ้นมาหลายขุม

จนทำให้เกิดกระแสไม่ไว้วางใจกองทัพ จากหลายบุคคลในฟากฝ่ายรัฐบาล

ในสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วม “พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ” ตัวแทนจาก กองทัพ ที่เข้ามาร่วมงานใน “ศปภ.” อย่างเป็นทางการ ทั้งในฐานะ “หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ.” และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร) เปิดใจกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ถึงบรรยากาศการทำงานภายใน ศปภ.

โดยเฉพาะระหว่าง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ “กองทัพ” ที่สังคมมองว่า “วิกฤติ” ไม่ต่างจากสถานการณ์ “น้ำท่วม” ประเทศไทย…

…ผมทำงานมาตั้งแต่ตั้งศูนย์ ศปภ. วันที่ 8 ตุลาคม จนถึงวันนี้ การออกคำสั่ง การแต่งตั้งมีความชัดเจน ทำงานวันละ 18-19 ชั่วโมง ถามว่า…เรื่องการจัดองค์กรก็เข้าใจกันง่ายมาก คือมีในส่วนของกระทรวงไอซีที (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ที่คอยให้ข้อมูลเรื่องน้ำ การพยากรณ์อากาศ นี่ทางทหารเขาเรียกข้อมูลด้านการข่าว เมื่อข้อมูลด้านการข่าวเข้ามา ผู้อำนวยการ ศปภ. ก็มีคอลเซ็นเตอร์ ที่เผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ และร้องขอความช่วยเหลือ ผมเป็นหัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ของ ศปภ.

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมามีแต่ข่าวปัญหาเรื่อง ศปภ.ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปฏิบัติ

เราจัดองค์กรให้เป็นแบบแท่ง…ง่ายมาก แท่งแรกเป็นของส่วนของราชการพลเรือน คือกระทรวงมหาดไทย และกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลายก็อยู่ในแท่งนี้ นั่งอยู่ในห้องเดียวกัน มีผู้แทนมาทำงานร่วมกันหมดในห้องวอร์รูม หรือห้องปฏิบัติการณ์ ศปภ.

อีกแท่งเป็นกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ อีกแท่งหนึ่งก็เป็นภาคประชาชน ที่อาสาสมัครมาช่วยกันด้วยจิตสาธารณะ เป็นลักษณะของ 3 แท่งที่มีการประสานงานกันทางด้านข้าง เพื่อความรวดเร็ว ที่จะไม่เสียเวลาจากการสั่งการจากข้างบน ลงมาข้างล่าง

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือศูนย์รับบริจาค หากมองภาพตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม รู้ว่าน้ำจาก นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา มาหนักที่นนทบุรี ปทุมธานี แล้วก็มาจ่อที่กรุงเทพฯ ภาพที่ผมเห็นจากการทำงานของข้าราชการทุกฝ่าย เราเป็นทีมเดียวกัน ความร่วมมือไม่มีปัญหา เพราะทุกคนตระหนักดีว่าทุกข์ร้อนของประชาชนจะต้องมีการแก้ไข

“ผมคลุกอยู่ตรงนี้วันหนึ่งไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง รู้เลยว่านี่เป็นข้าราชการที่นี่ทุ่มเท ที่ข่าวออกไปว่าไม่ต่อเนื่อง ไม่ประสานกัน…ไม่ใช่ครับ เรียนยืนยัน เพราะผมเคยทำงานด้านกิจการพลเรือนมาก่อน รู้เลยว่านาทีนี้ เราเรื่อยเฉื่อยไม่ได้ โดยเฉพาะกองทัพไทย หรือทหารเนี่ยแหละ เป็นนโยบายหรือบทบัญญัติเลยว่ากองทัพจะต้องช่วยคนในทุกโอกาส เห็นคนเดือดร้อนต้องช่วยทันที เพราะฉะนั้นถ้าตลอดเวลาจะมีข่าวออกไปว่าสะดุดขากันเองบ้าง ไม่ประสานงานกันบ้าง เราก็ไม่ว่ากันเรื่องการสื่อสาร แต่ในข้อเท็จจริง ผมยืนยันว่า 30 กว่าปีที่ผมรับราชการมา การทำงานของ ศปภ. ของ ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้บริหารจัดการผ่าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการ ศปภ. แม้จะเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ดูแลกันเป็นอย่างดี”

ไทยพับลิก้า : ช่วงแรกๆ ที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มหนัก ภาพปรากฎว่า กองทัพเหมือนจะไม่ค่อยตอบสนอง ต่อ ศปภ. โดยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์

ตรงนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ (ตอบสวน) ผมเรียนว่าภาพของทหาร ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล หน้าที่ของทหารคือถ้ายามศึกเรารบ ยามสงบเราต้องพัฒนา ยามวิกฤติเราต้องช่วยเหลือประชาชน ไม่มีมาอิดออดๆ…ไม่มีครับ ทหารตอนนี้อยู่ในพื้นที่หมดแล้ว และก็กำลังค่อยๆ ทยอยเข้ามาอีก จากกองทัพภาคที่ 2 กองทัพภาคที่ 3 กองทัพภาคที่ 4 ศูนย์กลางทหารราบหรือหน่วยพิเศษต่างๆ ที่เขายังเป็นปกติ ท่าน ผบ.ทบ.สั่งการให้เข้ามาเลยประมาณห้าหมื่นคน พร้อมรถลา เครื่องมือโกยตัก รถครัวสนาม

พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)
พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)

ไทยพับลิก้า : แต่ภาพทางการเมืองในสถานการณ์น้ำท่วม คือประชาชนเริ่มรู้สึกว่ากองทัพกำลังชิงการนำรัฐบาล

จริงๆ คือทุกอย่างการเมืองต้องนำการบริหาร โดยปกติอย่างไรเสีย ข้าราชการการเมืองก็ต้องมีนโยบาย มีการสั่งการให้ข้าราชการประจำทุกกระทรวง ทบวง กรม แต่ตรงนี้มันเป็นจุดที่พิเศษอยู่นิดเดียว คือตอนนี้เป็นภาวะวิกฤติ เพราะฉะนั้นกองทัพ ไม่ว่าจะเรียกที่ไหนก็ได้ทันที ซึ่งต้องเข้าใจกันตรงนี้นิดนึง ความจริงกองทัพก็ไม่ได้อยากจะไปนำอะไรใครมากมาย แต่มันฝึกมาจนชิน เมื่อถึงเวลาจริงๆ ไม่ต้องมาสั่งอะไรกันมาก เหมือนอัตโนมัติ ผมอยากเรียนว่ากองทัพไทยกับทุกส่วนราชการไปด้วยกันครับ กองทัพไทยอาจจะเป็นองค์กรนำสักนิดนึง เพราะว่ามีวินัย มีการฝึกฝน แต่จริงๆ ทุกส่วนก็ทำงานเต็มที่ ผมรับประกัน

ไทยพับลิก้า : แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องกองทัพโหมโฆษณาเรื่องทหารของประชาชน ช่วงวิกฤติน้ำท่วมนี้พอดี

มันก็เป็นธรรมดาครับ เหมือนเราจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าไม่บอกกล่าวเขา เขาก็เอ๊ะ…. มาทำอะไรกัน นี่เป็นสัจธรรม เมื่อทำงานก็ต้องบอกให้เขารู้ บางคนก็บอกนะว่าคุณเป็นโฆษกในส่วนของกองทัพ ไม่เห็นค่อยได้ชี้แจงอะไรเลย ผมก็บอกไปว่าภาพมันปรากฎอยู่แล้ว คนอื่นเขาไปช่วยเผยแพร่เราก็ยินดีอยู่แล้ว เราคงไม่ต้องไปอะไรมากมาย เพราะเราไปทำงาน มือไม้ก็ลอก เท้าก็เปื่อย ทุ่มเท แถมบางทีถูกพี่น้องประชาชนว่าเอา โกรธเอาก็มี

ไทยพับลิก้า : คนในรัฐบาล ชำเลืองมองกองทัพว่ากำลังเอาวิกฤติน้ำท่วมชิงมวลชนกลับคืน ให้มาเชียร์ทหารแล้วโจมตีรัฐบาล ที่ผิดพลาดในการบริหารสถานการณ์

เอางี้..ภาพของกองทัพ เรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่เราจำกันได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ภัยหนาว น้ำท่วม สึนามิ กองทัพก็จะคุ้นเคยมากพอสมควร ในตัวของคนระดับผู้บังคับกองร้อย ผู้พัน ผู้การ และภาพเหล่านี้ ถ้าจำได้อีกอย่าง ก็จะมีแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ที่เป็นแผนชาติ ที่ปรับมาจากกรณีการเกิดสึนามิ ที่จะมีแผนภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งตรงนี้กองทัพจะมีการฝึกฝนทุกปี มีการฝึกร่วมกันทุกเหล่าทัพ ร่วมกับพลเรือน ว่าเราจะทำอะไรกันอย่างไร มันก็เหมือนมีบทเรียนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดๆ บางครั้งยังไม่ต้องสั่งกองทัพก็มีแผนอยู่แล้ว

“กองทัพภาคที่ 1 นะ คุณมีหน่วยอย่างนี้ๆ ตอนนี้เราคาดการณ์แล้วว่ามันจะเกิดอย่างนี้ๆ เหมือนเราสร้างจินตนาการ วาดภาพการรบในสนามรบ … ตรงนี้น้ำจะเข้านะ คุณเตรียมไปทำแนว โดยที่อาจจะไม่ต้องสั่ง แต่จากการข่าวที่เราได้มาก่อน เพราะกองทัพมีทั้งสายกำลังพล สายข่าว สายยุทธการ สายส่งกำลัง และสายกิจการพลเรือน เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะรู้ดี ในยามที่เกิดเหตุจะค่อนข้างนิ่ง แล้วไม่ต้องสั่งการอะไรมาก ถ้ามีการย้ำมาเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจภาพชัดเจน”

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่แบบที่รัฐบาลเขากำลังคิดว่ากองทัพ กำลังหาเสียง เพื่อปูทางไปสู่อะไรบางอย่างในอนาคตหรือ

ถ้าพูดลักษณะเช่นนั้นก็…คนเราทำงาน ถ้าไม่ได้บอกกล่าวใครก็เป็นปิดทองหลังพระ ถ้าเขามาเห็นเราก็ดีใจ…ใช่ไหมครับ แต่การทำงานในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าทุกส่วนราชการ ก็ต้องอธิบาย แจ้งกับประชาชนว่ากระทรวง ทบวง กรม ว่าของท่านทำอะไรกัน ท่านได้งบประมาณกันปีละเท่าไร เป็นหมื่นล้าน สองหมื่นหรือสามหมื่นล้าน ทุกกระทรวงก็มีส่วนประชาสัมพันธ์ บางกระทรวงก็ทำมากๆ เลย ก็ทำได้ ก็ไม่ว่ากัน ตรงนั้นมันเรื่องธรรมดา แต่ในส่วนของกระทรวงกลาโหม แทบจะไม่ต้องเลย เพราะเรามีงบประมาณประชาสัมพันธ์อยู่นิดเดียว ฉะนั้นหัวใจคือ ในภาวะวิกฤติ ที่จะต้องมีการปฏิบัติจริง สื่อมวลชนก็จะดูว่าใครเป็นคนทำงาน ใครเป็นตัวหลัก มันก็เห็นแต่สีเขียวพรึ่บไปหมด…อันนี้คงเข้าใจนะ ตอนนี้อาจจะเห็นสีเขียวเยอะ ก็เพราะว่าห้าหมื่นคนอยู่ในพื้นที่ ส่วนราชการอื่นๆ เขาก็มีเป็นหมื่นๆ เหมือนกัน เราก็เป็นทีมเดียวกัน เพียงแต่แยกแยะภาระหน้าที่ ทุกกระทรวงสำคัญหมดนะ

ไทยพับลิก้า : บรรยากาศในการทำงานร่วมกันของฝ่ายการเมืองกับฝ่ายกองทัพ ที่ ศปภ. เป็นอย่างไร

ผมใช้คำว่าแนบแน่นละกัน เพราะผมเองเป็นข้าราชการประจำ เราก็ต้องรู้ว่าเราอยู่ในระดับใด เราก็ต้องให้ความเคารพข้าราชการการเมืองในระดับที่ถูกต้องเหมาะสม การทำงานก็ไปด้วยกันด้วยดี ไม่ได้ถือเขาถือเรา เพราะถือว่าเราคือข้าราชการประจำ ส่วนข้าราชการการเมืองก็บริหารราชการเพื่อคุมนโยบายและบริหารงานต่างๆ คือเข้าใจสถานะของตัวเอง ของแต่ละท่านว่าเราคืออย่างนี้นะ ท่านคืออย่างนี้นะ ต่างคนต่างให้เกียรติกัน เรียกกันพี่บ้าง น้องบ้างก็เข้าใจ

ไทยพับลิก้า : หลายเรื่องใน ศปภ. รัฐบาลไม่ได้ตอบรับข้อเสนอของกองทัพเลย การไม่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ก็เพราะพรรคเพื่อไทยระแวงกองทัพ ล่าสุดการย้าย ศปภ. มาจากดอนเมือง ก็ใช้กระทรวงพลังงาน แทนข้อเสนอของ ผบ.ทบ.ที่จะให้ไปใช้สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี แล้วการทำงานร่วมกันระหว่าง นายกรัฐมนตรีกับผบ.ทบ. เป็นอย่างไร

ใครให้ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน … ตรงนี้กองทัพไม่ได้ขอนะ เรียนยืนยันว่าทุกอย่างการบริหารงาน เขาก็ดูรายละเอียดกันมาตามขั้นตอน เมื่อภาวะวิกฤติมันวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็มีแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ที่จะมีข้อกำหนดต่างๆ อยู่ ท่าน ผบ.ทบ.ท่านก็ไม่ได้บอกให้รัฐบาลประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน … น้ำมันไม่ฟังเรา มันไม่เกี่ยวกัน ท่านพูดแล้วว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทางทหารนั้นมีอำนาจหน้าที่ที่อยู่ในกรอบของตัวเองอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปพังบ้านใครเพื่อให้น้ำมันไหล กฎหมายพิเศษไม่จำเป็นเลย

ส่วนที่ไม่ไปใช้สโมสรกองทัพบกเป็น ศปภ.นั้นคงอยู่ที่นโยบายว่าจุดไหนเหมาะสม ที่จะตั้งศูนย์ประสานงานกับเหล่าทัพและกระทรวงต่างๆ ที่นี่ก็เหมาะสม ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการหาที่ตั้งใหม่

ไทยพับลิก้า : ข้อเสนอกองทัพจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการขนย้ายของบริจาคที่ดอนเมืองแทนรัฐบาล สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ยอมอีก

ที่จริงผมก็คลุกกับศูนย์รับบริจาคมาตลอด มันก็จะมีส่วนของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี หรือทาง ปภ. ที่ช่วยดูเรื่องกระสอบทราย เรื่องศูนย์บริจาค อาจจะข้อมูลที่คลาดเคลื่อนบ้าง แต่โดยนัยยะทุกคนก็เจตนาดี คืออยากจะทำให้ศูนย์นี้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทันเวลา ส่งไปจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ได้ ดังนั้นมันก็อาจจะมีบ้างที่คนนั้นอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้ ทุกคนก็อาจจะอยากไปช่วยจังหวัดของตัวเอง อยากจะให้คนในจังหวัดเขาก็อยากจะขอให้กัน แต่โดยนัยยะผมยังเชื่อว่าการบริหารที่ศูนย์นี้ยังเป็นไปได้ด้วยดี การทำงานทุกอย่างไม่มีอะไรราบรื่นร้อยเปอร์เซ็นต์ มันอาจจะมีการเห็นต่างกันบ้าง แต่ถ้าให้อภัยกัน ช่วยกันก็จบ

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่ชี้แจงกับสิ่งที่แสดงออกมามันแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะความไม่ไว้วางใจกันระหว่างกองทัพกับรัฐบาล ที่เคยเป็นสองขั้วที่มีปัญหากันมา

อันนั้นมันภาพในอดีต แต่ผมเชื่อว่าในนาทีวิกฤติคนไทยคำว่ารักกันต้องมาก่อน ไม่ว่าใครจะเป็นใคร ถ้าไปสอบถามจะรู้เลยว่าทหารทุกคนพร้อมที่จะทำตามคำสั่งรัฐบาล เพื่อประชาชน ภาพเดิมๆ ผมอาจจะไม่ค่อยได้ทราบ เพราะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เมื่อเข้ามาช่วยงานที่ศูนย์ดอนเมือง ตั้งแต่ 8 ตุลาคม ผมเชื่อว่าทหารพร้อมปฏิบัติ โดยที่เรารู้อยู่แล้วว่า อย่างไรก็ต้องสั่ง เรารู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ต้องสั่ง เพราะมันเป็นหน่วยหลัก ดังนั้นก็ไม่ต้องคิดไปเป็นอย่างอื่น

“ภาพต่างๆ ความรู้สึกต่างๆ ความรู้สึกที่เคยมีต่อกัน กับความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกันวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการในอนาคต ที่ผ่านมาอาจจะความรู้สึกว่า… แต่ ณ นาทีนี้ไปถามทุกท่าน ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน คิดดูแล้วกัน คนมันมาจากคนละทิศ คนละฟากอย่างที่บอก แล้วในภาวะวิกฤติมารวมตัวกันได้อย่างนี้ มาทำงานร่วมกันได้ขนาดนี้ก็สุดยอดแล้ว นี่มันเป็นภาพที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ”

ไทยพับลิก้า : จะบอกว่า กองทัพกับรัฐบาล ต้องแกล้งลืมความขัดแย้งในอดีต ในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้

จริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรหรอก ยามสุขทุกคนก็อาจจะอันนี้ของผม อันนี้คุณอย่ามายุ่ง เพราะยามสุขทุกคนแฮปปี้ แต่ยามทุกข์ ก็ต้องคิด …เฮ้ย…ไม่ช่วยกันก็คงจะต้องกอดคอกันตายนะ ถ้าไม่ทุ่มเททำงาน ยุ่งนะ ผมว่าทุกคนมีคำนี้อยู่ในใจอยู่แล้ว

ท่าน ผบ.ทบ. กับท่านนายกฯ ก็ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ทุกท่านก็เห็นภาพกันอยู่แล้ว ผ่านทีวี ผ่านหนังสือพิมพ์อะไรต่างๆ ซึ่งในยามวิกฤติของพี่น้องประชาชน ทุกคนก็มีจิตใจที่บริสุทธิ์ที่จะช่วย ทุกอย่างก็ไปเป็นตามธรรมชาติ

ไทยพับลิก้า : นายกฯกับ ผบ.ทบ.มีอะไรกินแหนงแคลงใจกันจากอดีตอยู่หรือจะต้องแกล้งลืมไปก่อน

เอ้อ…ทุกอย่าง ถ้ามีอะไรอยู่ในใจ ก็ปรับ…ลืมกันไปสักพักหนึ่ง ผมว่าทุกคนคิดเหมือนกันหมด ตั้งแต่ระดับพลทหารไปจนถึงระดับสูง มีความรู้สึกนี้เหมือนกันหมดแหละ

พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)
พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)

ไทยพับลิก้า : มีข้อเสนอและมีการรับฟังจากอีกฝ่ายตามธรรมชาติอย่างนั้นหรือ

ทุกคนรู้ว่า เราทำอะไร เป็นใคร ทำเพื่อใคร ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ดี ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าถึงยามที่ทุกอย่างวิกฤติหมดทุกด้าน ถ้าเราหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันเต็มที่ ไม่มีอะไรแอบแฝง ทุกอย่างจะคลี่คลาย ส่วนในอนาคตก็ค่อยว่ากันต่อไป

“ผมเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ที่รู้ทั้งทางกองทัพ รู้ทั้งกรอบการเมือง ซึ่งผมอยู่ในจุดที่สมดุลตรงกลาง เราก็เลยมองทั้งซ้ายและขวา ก็รู้ว่าฝ่ายการเมืองต้องการแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ฝ่ายการเมืองก็ต้องหันมามองว่า สุดท้ายก็ต้องทหาร กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ คุณต้องช่วยกัน ไม่ต้องมาออกคำสั่งอะไรมากมาย โช๊ะ…โช๊ะ มันจะมีความไหลลื่นและอัตโนมัติเลย …ตอนแรกๆ ที่มา แทบจะต้องเขียนกระดาษช็อตโน๊ต (ข้อความสั้น) กันเลยว่าคุณไปตรงนี้ๆ แต่ในภาวะวิกฤติมันจะไปทำแบบนำเรียน ตามขั้นตอนไม่ได้ เพราะชาวบ้านจะเจ๊ง ! ต่อมาก็ค่อยๆพัฒนาให้มีฟอร์แม็ต มีแบบฟอร์ม หน่อย อันไหนด่วนก็ว่าไปเลย เดี๋ยวค่อยวิทยุตาม หนังสือตามไป

ไทยพับลิก้า : ทำงานร่วมกันอยู่ที่นี่ รู้สึกหรือไม่ว่าฝ่ายการเมืองอาจจะคิดมากไปหน่อยเรื่องความสัมพันธ์กับกองทัพ

(นิ่งคิด)….ผมคงตอบแทนใจของคนอื่นไม่ได้ ในฐานะที่เราทำงานหลายๆ อย่าง ผมเองก็อดีตโฆษก คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อ 19 กันยายน 2549) แต่นั่นคือเราทำหน้าที่ วันเวลาผ่านไป ในอดีตอาจจะชอบกันบ้าง ไม่ชอบกันบ้าง แต่เมื่อถึงเวลานี้ ทุกอย่างน่าจะแปรเปลี่ยนไปแล้วพอสมควรนะ ความรักน่าจะเป็นตัวตั้งที่ดีที่สุด

“ในแนวความคิดส่วนตัว ผมยังเชื่อว่าวิกฤติครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีของการมาทำงานร่วมกันนะ เพราะสรุปแล้วทุกคนจะหนีกันไม่พ้น จะต้องกลับมาเป็นเพื่อนกัน มาทำงานร่วมกัน อย่างไรเสียก็ต้องกลับมาพบปะ ในเรื่องของการทำงาน ซึ่งเป็นยาสมานที่สำคัญที่สุดนะ”

ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่อยู่กับ ศปภ. มาตั้งแต่ก่อตั้ง คิดว่าจุดไหนที่ทำให้สังคมเห็นรอยความขัดแย้งดั้งเดิมระหว่างกองทัพและรัฐบาล

ศปภ. เป็นที่รวมของทุกส่วน มาถึงนาทีนี้ความขัดแย้งในการทำงาน ผมเรียนเลยว่ามันไม่ได้มีอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญเลย แต่ข่าวที่นำเสนอออกไป อาจจะคนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น แต่เท่าที่ผมเห็นมา ทุกคนเห็นตรงกัน ความคิดในภาพรวมเนี่ยตรงกัน แต่ปฏิบัติอาจจะแตกต่างกันบ้าง คลาดเคลื่อนบ้างเท่านั้นแหละ ทุกคนอยากทำให้ประชาชนรอดจากความเดือดร้อน

“ถ้าจะมองภาพรวมให้ชัดเจน ต้องมองตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ แล้วไปเช็คข้อมูลย้อนหลัง แล้วจะรู้ว่ารัฐบาลนี้เพิ่งตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม เดือนกันยายนก็รับงาน พอรับงานก็โดนพายุ 4-5 ลูก ดังนั้นถ้ามองโดยภาพรวมก็ต้องให้เกียรติกับคนที่เข้ามาทำงานตรงรอยต่อ ข้าราชการประจำก็มาในช่วงรอยต่อเหมือนกัน มันเป็นจังหวะ”

เบื้องลึก “สีเขียว” ร่วม “ทีมโฆษก ศปภ.”
ต้นตอ “คลื่นใต้น้ำ-ความไม่ไว้วางใจ”

ในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายมองว่า “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)” ของ “รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ประสบกับวิกฤติในวิกฤติน้ำท่วมนั้น

สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ “ศปภ.” โดยเฉพาะบทบาท “ทีมโฆษก” ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายการเมือง ตำรวจและทหาร ไม่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้

และด้วยปมปัญหา ที่ระยะหลังๆ กระแสสังคมกลับไปเทใจให้ “กองทัพ” มากกว่า “ฝ่ายรัฐบาล”

ทำให้ “พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ” โฆษก ศปภ. ฝ่ายกลาโหม ตัวแทนกองทัพ และทหารถูกจับตาจาก “แกนนำในรัฐบาล” ไปด้วย

“วันประชุม ศปภ. วันแรกที่ห้องประชุมท่าอากศยานดอนเมือง ตอนนั้น ท่านนายกฯ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มาเป็นประธานการประชุมด้วยตัวเอง ตอนนั้นก็สัก 10 โมงเช้าโดยประมาณ ผมก็ติดตามท่าน รมว.กลาโหม (พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา) มาประชุมด้วย ว่าง่ายๆ ผมก็เป็นคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของ รมว.กลาโหม เป็นทีมปืนหลังท่าน ผมก็นั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย แต่นั่งอยู่แถวหลัง” พล.อ.พลางกูร ย้อนเล่าไปถึงเหตุการณ์ ที่นำเขาเข้ามาสู่ทีมโฆษก ศปภ.

“ผมนั่งอยู่เก้าอี้ด้านหลังท่าน รมว.กลาโหม แล้วก็อาจจะมีคนเห็นว่าผมเคยเป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เคยคลุกคลีอยู่กับช่วยเหลือประชาชนมาตั้งแต่เป็นทหารเด็กๆ มาจนถึงปัจจุบัน ก็เลยเสนอชื่อผมต่อที่ประชุมว่าเอา พลางกูร นี่แหละมาเป็นโฆษกด้วย…”

พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)
พล.อ.พลางกูร กล้าหาญ หัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเรื่องการช่วยเหลือประชาชน ศปภ. และ ทีมโฆษก ศปภ. (ฝ่ายทหาร)

พล.อ.พลางกูร เล่าว่า โครงสร้างทีมโฆษก ศปภ. ช่วงแรกนั้น “ผู้ใหญ่” ตั้งใจว่า จะให้ “วิม รุ่งวัฒนะจินดา” ตัวแทนจากฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่โฆษก ศปภ. ที่ชี้แจงข้อมูลในภาพรวมและเรื่องการเมือง

ตั้งใจจะให้ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ทำหน้าที่เป็นโฆษก ศปภ. เพื่อชี้แจงข้อมูลในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

และให้ “พล.อ.พลางกูร” เป็นโฆษก ศปภ. ที่มีหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลข่าวสารการช่วยเหลือประชาชนและข้อมูลจากฝ่ายกองทัพ

“ภาพโฆษกของผมอาจจะมีติดตัวอยู่เดิมอยู่แล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็น โฆษกกองทัพบก โฆษกกระทรวงกลาโหม รวมถึงอย่างที่พูดๆ กันคือ โฆษก คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตอนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วย เมื่อมีคนเสนอให้ พลางกูร มาช่วย ซึ่งท่าน รมว.กลาโหมก็เห็นด้วย”

เมื่อถามว่ากองทัพส่งมาอยู่ใน ศปภ. หรือเปล่า พล.อ.พลางกูรกล่าว่า “มันอาจจะผสมผสาน เพราะ รมว.กลาโหม ก็โอเค ตอนนั้นผมนั่งอยู่หลังท่านในห้องประชุม ท่านก็อนุมัติทันที”

ต่อคำถามที่ว่าฝ่ายการเมืองมองว่าการทำงานของ พล.อ.พลางกูร ในฐานะ โฆษก ศปภ.เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ คะแนนในใจประชาชนบวกกับฝ่ายของกองทัพ มากกว่าจะบวกคะแนนให้กับ ศปภ.หรือรัฐบาล พล.อ.พลางกูรกล่าวว่า “ต้องเข้าใจนิดนึง จริงๆ ถ้าพูดในภาพรวม อย่างไรเสีย อย่างที่บอกเราเป็นข้าราชการ รัฐบาลคือหัวหน้าเรา งานนี้เป็นภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือ ศปภ. เราต้องรับหมดอยู่แล้ว ….คือมันอยู่ที่คนจะมองแหละ (เสียงสูง) แต่โดยนัยยะนะ ถ้าทุกนาที ผมก็จะต้องวาดภาพให้เห็นว่านี่คือรัฐบาล คือ ศปภ. ตอนนี้คนอาจจะเห็นภาพทหารเยอะ เพราะกำลังพล 4-5 หมื่นอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด อย่างไรเสียน้ำหนักของการมองก็จะต้องไปอย่างนั้นอยู่แล้ว …”

“…ผมก็อยากวิงวอนว่าในภาวะวิกฤติแล้วมารวมตัวกันได้อย่างนี้ ทำงานกันได้อย่างนี้ ไม่ใช่ของง่ายนะ !”