ThaiPublica > คอลัมน์ > บนความเคลื่อนไหว องค์กรธุรกิจมีน้ำใจ : มองดูเหรียญ 2 ด้านกลางวิกฤตน้ำท่วม

บนความเคลื่อนไหว องค์กรธุรกิจมีน้ำใจ : มองดูเหรียญ 2 ด้านกลางวิกฤตน้ำท่วม

10 พฤศจิกายน 2011


วรัญญา ศรีเสวก

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมากลางวิกฤตน้ำท่วม บนความเคลื่อนไหวของความช่วยเหลือที่หลั่งไหลสู่ผู้ประสบภัย ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรธุรกิจ ก้าวเข้ามามีบทบาทหลักในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่แพ้หน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้รับผิดชอบ และทำงานในระดับเคียงบ่าเคียงไหล่องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่เพียงแต่การบริจาคเงินให้กับองค์กรสาธารณกุศล ตลอดจนสื่อมวลชนที่ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่คิดเป็นเม็ดเงินมหาศาล

ภาพเหล่านี้ยังกลายเป็นภาพปกติ ที่เราจะเห็นบรรดาซีอีโอมาลงมือแจกถุงยังชีพ ทำอาหารให้ผู้ประสบภัย มอบเรือ ปั้น EM Ball ไปจนถึงการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ปล่อยคาราวานฟื้นฟูผู้ประสบภัยและเดินทางลงไปให้กำลังใจผู้ประสบภัยในหลายพื้นที่ด้วยตัวเอง

ยังไม่รวมภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีท่วงทำนองให้กำลังใจที่กำลังออนแอร์อีกนับ 10 เรื่อง

สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้านกลางวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น!!

ด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีกับบทบาทและความพยายามในการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยขององค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งการกระทำ ความช่วยเหลือและการแสดงออกของหลายองค์กรกำลังถูกตั้งคำถาม

เป็นคำถามเช่นเดียวกับธุรกิจทั่วโลกเคยถูกถามมาแล้ว ในทุกเหตุการณ์ภัยพิบัติในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะคำถามว่า การทำดีของภาคธุรกิจนั้น ทำอย่างไรจึงจะดียิ่งขึ้น ยั่งยืนขึ้นและมีประสิทธิผลมากขึ้น

CSR โฆษณาและความโอ้อวด

“ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณจะใช้เงินเท่าไหร่ในการบริจาคและจัดกิจกรรมช่วยเหลือภัยพิบัติ แต่มันหมายถึงเงินในการลงไปช่วยเหลือควรจะถูกใช้อย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ” มาร์คัส ชาง ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง CSR และการสร้างการเปลี่ยนแปลงกล่าวเรื่องนี้ไว้ในบทความของเขาหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติ

สำหรับ “ชาง” นอกจากเขาจะห่วงเรื่องกระบวนการทำงานขององค์กรธุรกิจที่ต้องทบทวน ในอีกด้านหนึ่ง เขามองว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ “ท่าทีที่โอ้อวด” ของธุรกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

“การโอ้อวด” ในที่นี้หมายถึง การให้ความช่วยเหลือโดยมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารและการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งแทนที่จะทำให้กิจกรรมให้ความช่วยเหลือของธุรกิจนั้นเป็นไปตามเป้าหมายปลายทาง ทั้งในการสร้างความภาคภูมิใจให้พนักงาน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม การโอ้อวดและการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่ว่าอย่างน่าเสียดาย

“มันเป็นเรื่องปกติที่พนักงานของคุณหรือคนในสังคมจะนำสิ่งที่องค์กรของคุณทำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และในหลายครั้งที่องค์กรให้เงินบริจาคเพียงเล็กน้อย แต่นำไปโฆษณามากมาย แทนที่จะเกิดผลดีกลับส่งผลเสียตามมา”

8 คำถามที่ธุรกิจต้องถามตัวเอง

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกระบวนการในการให้การช่วยเหลือ ที่เขาแนะนำว่า ก่อนจะลงมือทำอะไรในเหตุการณ์ภัยพิบัติขอให้ธุรกิจตั้งคำถาม 8 ข้อนี้กับตัวเองและตอบให้ได้

ข้อแรก องค์กรของคุณได้ดำเนินการอะไรเป็นหลักในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ข้อที่ 2 พนักงานขององค์กรได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้หรือไม่ แล้วเราจะหาทางช่วยเขาอย่างไร

ข้อที่ 3 ลูกค้าหลักหรือซัพพลายเออร์ขององค์กรได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ แล้วเราจะหาทางช่วยเขาอย่างไร

ข้อที่ 4 ขนาดความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้มากแค่ไหน และเราจะช่วยเหลือได้มากแค่ไหนในการบรรเทาและแก้ไขปัญหา

ข้อที่ 5 พนักงานของคุณมีความกระตือรือล้นที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติหรือไม่และจะทำเช่นไรให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม

ข้อที่ 6 มีองค์กร(หน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน)ใดที่อยู่ในจุดที่จะให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเราจะเข้าไปให้ความร่วมมือกับองค์กรเหล่านั้นอย่างไร

ข้อที่ 7 มองดูว่าบริษัทอื่นๆกำลังทำอะไร

ข้อที่ 8 บริษัทหรือองค์กรของเราสามารถให้ความช่วยเหลือใดเป็นการเฉพาะที่บริษัทอื่นให้ไม่ได้

เพราะเมื่อธุรกิจตอบคำถามเหล่านี้ได้จะทำให้แทนที่จะมุ่งโฟกัสไปแต่การจะเข้าไปช่วยเหลือแต่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ จะมองเห็นความเดือดร้อนของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆที่องค์กรจะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่าผู้ประสบภัย

การช่วยเหลืออย่างผิวเผินและความรับผิดชอบต่อพนักงาน

บทความเรื่อง “A New Way to Think About Disaster Management in CSR” ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเรามักจะเห็นโครงการ CSR ในการบรรเทาภัยพิบัตินั้นผิวเผินเกินไป และมองไปแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้า” เป็นบทสรุปหนึ่งที่ Center for Responsible Business ระบุไว้เมื่อพูดถึงบทบาทของภาคธุรกิจในการจัดการและรับมือกับภัยพิบัติ

ในช่วงเหตุการณ์ภัยพิบัติมักมีคนจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ และการที่จะคิดอย่างครบถ้วนและรอบด้านในการรับมือย่อมต้องใช้การวางแผนงาน การเตรียมการ ซึ่งที่ผ่านมามักพบว่าธุรกิจจำนวนน้อยมากที่มีแผนรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงซึ่งถือเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดหลังจากเกิดภัยพิบัติ ทำให้ในการดำเนินกิจกรรม CSR ในการให้บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบนั้น ไม่มีมิติของความยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็น และมักหลงลืมคนบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเราไป โดยเฉพาะพนักงานและครอบครัว ซึ่งต้องมาเป็นที่หนึ่งที่เราจะต้องนึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพวกเขา

อย่างไรก็ตามบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านภัยพิบัติเชื่อว่า ภาคธุรกิจจะเป็นความหวังในการช่วยเหลือทั้งในแง่ของการบรรเทาและฟื้นฟูภัยพิบัติ เนื่องจากความรวดเร็ว ขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ทรัพยากรและเครือข่าย เช่นที่ได้มีบทพิสูจน์มาแล้วในเหตุการณ์พายุแคทเทอรีน่า ในสหรัฐอเมริกา ที่เมื่อปี 2548 ขณะที่กระบวนการของรัฐหลุยเซียน่า และมิซซิสซิปปี มีปัญหาอย่างมากในการรับมือกับสถานการ์หลังเกิดเหตุภัยพิบัติ โดยเฉพาะการอพยพคน และการนำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเวลานั้น วอล มาร์ต ได้ประสานงานไปยังเครือข่ายของตัวเอง สามารถนำของใช้ที่จำเป็นทั้งอาหาร น้ำสะอาด ยา สินค้าอุปโภค บริโภค สารพัดชนิดให้ถึงมือผู้ประสบภัย ขณะที่อีกหลายองค์กรธุรกิจเร่งขนผู้สบภัยออกจากพื้นที่ ขณะที่รถของภาครัฐได้แต่จอดเพื่อรอคอยคำสั่ง

ความท้าทายในอนาคต

สำหรับวิกฤตน้ำท่วมในประเทศไทยครั้งนี้ หากธุรกิจสามารถก้าวข้ามการให้ความช่วยเหลือแบบผิวเผินและตัดสินใจที่จะกิจกรรมหรือโครงการ CSR ที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอันใกล้ยังมีประเด็นปัญหาและความท้าทายรออยู่ข้างหน้าให้จัดการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการฟื้นฟูและการพัฒนาหลังจากน้ำลด

ในรายงานเรื่อง “Flood disasters Learning from previous relief and recovery operation” ซึ่งจัดทำโดย ALNAP ระบุว่า ในเหตุการณ์น้ำท่วมการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมและใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่ารวมถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น

การลดความเสี่ยงอุบัติภัย

เราจำเป็นต้องมองไปที่การฟื้นฟูชีวิตผู้ประสบภัยและการพัฒนา รวมไปถึงการป้องกันภัยเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการให้ความช่วยเหลือในเหตุการณ์น้ำท่วม ต้องครอบคลุม 1.การลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์น้ำท่วม 2.การสร้างขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นด้วยทุนทางสังคมของชุมชน 3.การให้การช่วยเหลือและฟื้นฟู 4.การติดตามและประเมินผลความต้องการที่อาจจะเปลี่ยนไปของผู้ประสบภัยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม5.การฟื้นฟูวิถีชีวิตเพื่อป้องกันปัญหาความยากขนที่จะเกิดตามมาในอนาคต เช่น การฟื้นฟูด้านการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร 6.การช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น 7.การดูแลด้านสาธารณสุข 8.การสร้างศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยที่ไร้ที่อยู่ 9.การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่อยากให้ธุรกิจที่กำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างแข็งขันหันกลับมาทบทวนและสามารถใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ได้อย่างคุ้มค่า สามารถสร้างคุณค่าให้กับทั้งตัวเองและสังคม และเรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเต็มปาก!!