ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บีโอไอเสนอเว้นภาษี 8 ปีอีกรอบให้นับหนึ่งใหม่ จูงใจต่างชาติย้ายฐานผลิตหนีน้ำท่วม

บีโอไอเสนอเว้นภาษี 8 ปีอีกรอบให้นับหนึ่งใหม่ จูงใจต่างชาติย้ายฐานผลิตหนีน้ำท่วม

25 พฤศจิกายน 2011


สภาพโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
สภาพโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ประสบกับวิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประสบกับปัญหาน้ำท่วมประมาณ 2,919 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 620,848 ล้านบาท

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในระยะยาว ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดแพ็คเกจ 3 มาตรการหลัก เข้าไปชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ตามที่บีโอไอนำเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.มาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหหลือผู้ประกอบการที่มีเครื่องจักร หรือวัตถุดิบได้รับความเสียหายจากอุทกภัย (ส่วนใหญ่บีโอไอดำเนินการไปแล้ว) 2.มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย 3.มาตรการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

ภายหลังจากครม.เปิดไปเขียวให้บีโอไอรับไปดำเนินการ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางบีโอไอได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาลงลึกไปในรายละเอียดของแต่ละมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการเป็นเวลา 8 ปี คณะกรรมการบีโอไอมอบหมายให้สำนักกงานบีโอไอไปหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบไปด้วย นายสาคร สุขศรีวงศ์ นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ม.ร.ว.พงษ์ สวัสดิวัตน์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงมาตรการดังกล่าวนี้ก่อนส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาในครั้งถัดไป

ล่าสุดนี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ทางบีโอไอจะนำรายละเอียดของมาตรการยกเว้นภาษีงินได้นิติบุคคล เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วม เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ โดยมาตรการชุดนี้จะเป็นมาตรการชุดที่ 2 ต่อเนื่องมาจากมาตรการชุดแรก ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

โรงงานจมน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม
โรงงานจมน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ให้กับผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วมตามข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิของบีโอไอ ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอพิจารณาในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน มีรายละเอียดดังนี้

1.กรณีผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วมมีโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนหลายโครงการ (มีหลายใบ) มาตรการเยียวยาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.1 แบบจำกัดวงเงินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล(CAP) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขดังนี้ คือให้รวมบัตรส่งเสริมของทุกโครงการที่มีอยู่เดิมเข้าด้วยกัน โดยจะต้องมีเงินลงทุนใหม่เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่นับรวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ให้รวมกำลังการผลิตของบัตรส่งเสริมทุกใบเข้าด้วยกัน รวมถึงบัตรที่สิ้นสุดสิ้นสิทธิประโยชน์ทางบีโอไอตามมาตรา 31 ด้วย

ทั้งนี้ มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 กำหนดว่า ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามปี แต่ไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และรายได้จากการจำหน่ายสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร

ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้

จากนั้นให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยจำกัดวงเงินภาษีที่จะได้รับการยกเว้นไม่เกิน 200 % ของเงินลงทุน ซึ่งคำนวณมาจากวงเงินวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่เหลืออยู่ของทุกบัตรส่งเสริม นำมารวมกับเงินลงทุนใหม่ หักด้วยรายได้จากค่าสินไหมทดแทนที่กิจการได้รับจากบริษัทประกันภัย (กรณีทำประกันภัย)

1.2 แบบไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่มี CAP) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขดังนี้ คือให้นำบัตรส่งเสริมทุกใบที่มีอยู่เดิมได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิมที่ยังเหลืออยู่ ต่อขยายออกไปอีก 3 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี แต่ถ้าหากบัตรส่งเสริมใด ยังเหลือระยะเวลาในการรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเกิน 5 ปี ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ (ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ ในการขอรับสิทธิประโยชน์ แต่ละบัตรจะต้องมีเงินลงทุนใหม่เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท(ไม่นับรวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

2.กรณีผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วมมีโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนเพียงโครงการเดียว (มีบัตรส่งเสริมใบเดียว) มาตรการเยียวยาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเช่นกัน คือ

2.1 แบบจำกัดวงเงินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CAP) ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี แต่จะต้องมีเงินลงทุนใหม่เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่นับรวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 200 % ของเงินลงทุน ซึ่งคำนวณมาจากวงเงินวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่เหลืออยู่ของทุกบัตรส่งเสริม นำมารวมกับเงินลงทุนใหม่ หักด้วยรายได้จากค่าสินไหมทดแทนที่กิจการได้รับจากบริษัทประกันภัย (กรณีทำประกันภัย)

2.2 แบบไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่มี CAP) ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิมที่ยังเหลืออยู่ ต่อขยายออกไปอีก 3 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี แต่ถ้าหากบัตรส่งเสริมยังเหลือระยะเวลาในการรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเกิน 5 ปี ให้ได้รับสิทธิ (ดูตารางประกอบข้างบนประกอบ)

ทั้งนี้ ในการขอรับสิทธิประโยชน์ แต่ละบัตรจะต้องมีเงินลงทุนใหม่เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท(ไม่นับรวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

นอกจากนี้ยังมีวาระการพิจารณามาตราการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วมเป็นรายกิจการ ได้แก่ กิจการผลิตรถยนต์ และกิจการโรงแรม โดยกำหนดให้กิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมต้องตั้งอยู่ในจังหวัดเดิมที่ถูกน้ำท่วมมีรายละเอียดดังนี้

1.กิจการผลิตรถยนต์ และกิจการโรงแรม ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ทุกเขต โดยจำกัดวงเงินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีไว้ไม่เกิน 100 % ของเงินลงทุน

2.กิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรือ ECO-CAR ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ตามเดิม

3.ยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งเครื่องจักรใหม่และเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศทุกเขต

4.อนุญาตให้นำเครื่องจักรเดิมที่ยังใช้งานได้มาใช้ในโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ได้ และให้รวมถึงเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย

สำหรับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ทั้งที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เห็นควรให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยให้ขยายวงเงินลงทุนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 200 % ของวงเงินลงทุน จากเดิมถูกจำกัดไว้ไม่เกิน 100 % ของวงเงินลงทุน หักด้วยรายได้จากค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย (กรณีทำประกันภัย) ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสหกรรมมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนอำนาจในการพิจารณาอนุมัติโครงการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการภาษีเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย บีโอไอเสนอให้เป็นอำนาจของ “คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตราการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย” ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ทำหน้าที่อนุมัติโครงการที่มีขนาดการลงทุนเกินกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากมาตรการชุดที่ 2 ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม สามารถมายื่นคำร้องขอรับการส่งเสริมเพิ่มเติมได้ภายในสิ้นปี 2555