ThaiPublica > คนในข่าว > “วิทยา แก้วภราดัย” คนเคย “ซ้าย” เล่านิยายนายทุนทุบ “ขันที” สิ้นอำนาจ

“วิทยา แก้วภราดัย” คนเคย “ซ้าย” เล่านิยายนายทุนทุบ “ขันที” สิ้นอำนาจ

14 ตุลาคม 2011


“วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนเคยซ้าย เป็นแนวร่วมขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย
“วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนเคยซ้าย เป็นแนวร่วมขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

“ปัจจุบันคนไร้คุณธรรม คนดีไม่ได้รับการยกย่อง คนเลวได้รับการเกรงกลัว สังคมสยบอยู่ให้กับอำนาจ กลัวหมด กลัวจะโดนทำร้าย กลัวจะถูกคุกคาม ยอมเป็นพวกเสียดีกว่า ดังนั้นสังคมนี้ไร้คุณธรรม ท่ามกลางสังคมที่ไร้คุณธรรม ให้หาดูสิว่าใครคือคนที่มีคุณธรรม ”

14 ตุลาคม 2516 ถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อนิสิตนักศึกษาและประชาชน “ครึ่งล้าน” รวมพลังกันโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ภายใต้การนำของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ได้สำเร็จและเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ที่มาพร้อมกับการสูญเสียชีวิตผู้คน-วีรชนเป็นจำนวนมาก

6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุนองเลือดอีกครั้ง เมื่อ “จอมพลที่ถูกโค่นอำนาจ” กลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2519 ทำให้นักศึกษา-ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน “จอมพลถนอม” สุดท้ายตำรวจโดยคำสั่งของรัฐบาล “เสนีย์ ปราโมช” ได้เข้าล้อมปราบ-สังหารโหดนักศึกษาและประชาชน

หลายคนคิดว่านั่นคือ “ฉากสุดท้าย” ของ “สงครามประชาชน”

ทว่าในปี 2548-2549 ประชาชนนับแสนภายใต้ชื่อ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมายึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง เพื่อขับไล่รัฐบาล “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร”

เสียงตะโกน “ทักษิณ… ออกไป” ที่กึกก้องในทุกค่ำคืน ปลุกทหารให้ลากรถถังออกมาก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

5 ปีผ่านไป แทนที่สถานการณ์บ้านเมืองจะสงบ แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อประชาชน-นักวิชาการที่ต่อต้านเผด็จการ ทหาร และ “นักการเมืองที่พลัดหล่นจากอำนาจ” รวมกลุ่มเคลื่อนไหวในนาม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.)

โดยกำหนดเป้าหมายล้มบุคคลที่อยู่สูงกว่ารัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลึกกว่า “เบื้องหลัง” ของ “เผด็จการ” จนเกิดเหตุ “กระชับพื้นที่” อันลือลั่นเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ในโอกาสรำลึก 38 ปี เหตุการณ์ตุลาวิปโยค “วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เคยเป็นแนวร่วมขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เปิดฉากวิเคราะห์พัฒนาการของ “มวลชน” และ “ขบวนการต่อสู้ทางการเมือง” กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า โดยตั้งต้นจากการเปรียบเทียบ “รูปขบวนการ” ในอดีตกับปัจจุบัน

ผมคิดว่ามันมีความต่างกันโดยสถานการณ์ โดยเวลา บรรยากาศก่อน 14 ตุลาฯ เป็นบรรยากาศที่บ้านเมือง… คำว่าประชาธิปไตยเป็นคำที่เด็กรุ่นผมเกือบจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำไป เราโตมาในยุคที่เห็นหน้าจอมพลถนอม จอมพลประภาส อยู่กันจนเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังเป็นนายกฯ อยู่ ดังนั้นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยเนี่ยไม่มี ปัจจุบันเรื่องประชาธิปไตยของบ้านเราไม่ได้น้อยหน้าใครในโลกนี้ ถือว่าได้พัฒนามาอย่างมั่นคง จุดเปลี่ยนของ 14 ตุลาฯ ได้ปลดปล่อยพลังประชาธิปไตยมาเยอะ ปลดปล่อยกลุ่มทุนใหม่ๆ ออกมาเยอะ กลุ่มทุนที่อิงอยู่กับทหารเดิมก็เริ่มล่มสลายไป การเมืองเริ่มพัฒนา เลยกลายเป็นว่ากลุ่มทุนมาอิงกับการเมืองแทน บรรยากาศประชาธิปไตยก็พัฒนาตามระบบทุนนิยม นักประชาธิปไตย นักการเมืองในสภาเกินกึ่งหนึ่งก็เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน

ไทยพับลิก้า : ลักษณะความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีส่วนคล้ายคลึงกับพธม. และนปช. หรือไม่อย่างไร

14 ตุลาฯ ไม่มีการจัดตั้ง เป็นการตื่นตัวตามกระแสสถานการณ์ และเป็นการเข้าร่วมอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ใช่เฉพาะคนสายใดสายหนึ่ง แต่กลุ่มพลังทางประชาธิปไตยดึงอารมณ์ร่วมของประชาชนทั้งหมดเข้ามา ผิดกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีพรรคการเมืองเป็นหลังพิง มีกลุ่มทุน มีนายทุนที่สร้างตัวเป็นคลื่นลูกที่ 3 อย่างคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) ยืนอยู่ข้างหลังอย่างเห็นได้ชัด จึงกลายเป็นสงครามระหว่างกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังระดมชนชั้นกลางระดับข้างล่างที่มีความเสียเปรียบในสังคม โดนขูดรีด เป็นคนจนเมืองรุ่นใหม่เข้ามา กลุ่มเหล่านี้เข้าร่วมด้วยความรู้สึกแท้จริง แต่การผลักดันเป็นการผลักดันโดยกลุ่มทุน เพื่อหวังโค่นบางสิ่งบางอย่าง

ไทยพับลิก้า : หวังโค่นอะไร

ก็โค่นอำนาจรัฐที่คนอื่นคุม เพราะหวังคุมอำนาจรัฐเสียเอง ไม่ได้เป็นพลังที่บริสุทธิ์มากนะคนที่อยู่ข้างหลัง

ไทยพับลิก้า : ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ใช้พลังปัญญาชนและนักศึกษานำทัพ แต่ในปี 2552-2553 ใช้พลังที่อ้างตัวเป็นชนชั้นล่าง เป็นไพร่ ทำไมดึงแนวร่วมได้เยอะ

คือ… ความขัดแย้งในสังคม ความแตกต่างทางฐานะของคนในประเทศนี้มันมาก กลุ่มคนรวยไม่กี่เปอร์เซ็นต์คุมทรัพยากรของประเทศนี้ไว้ ส่วนคนชั้นกลางระดับล่าง ที่มีการศึกษาระดับอาชีวะไปจนถึงระดับปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่ถูกขูดรีดมาก กลุ่มคนเหล่านี้จึงต้องการปลดปล่อยตัวเอง ก็อาจจะไปสอดคล้องกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่วิเคราะห์สังคมถูกว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็หยิบยกเรื่องความไม่เป็นธรรมมาพูด และปลุกเร้าความเป็นธรรม เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ แต่ที่ผมว่าต่างก็คือคนที่อยู่เบื้องหลังการปลุกเร้าความเป็นธรรมคือกลุ่มคนส่วนน้อย ซึ่งรวยมาก และคุมปัจจัยวัตถุดิบของประเทศนี้ไว้มาก

ไทยพับลิก้า : หากดูประเด็นที่ถูกชูขึ้นมาเคลื่อนไหวในปี 2516 – 2519 นักศึกษาชูประเด็นล้มเผด็จการ ปี 2548 พธม. ชูประเด็นล้มทุนใหม่ ปี 2552 – 2553 นปช. มาชูประเด็นล้มอำมาตย์ เหตุใดประเด็นที่ถูกใช้เมื่อ 30 ปีก่อน ถึงกลับมาใช้ซ้ำในยุคนี้

เอ่อ… เขา (พธม.) ก็ชูประเด็นการล้มเผด็จการรัฐสภา คือระบอบทักษิณผูกขาดอำนาจ 5 ปีของการเป็นนายกฯ ไม่เคยถูกอภิปรายในสภา เพราะเงื่อนไขรัฐธรรมนูญล็อคไว้ และก็ใช้ระบบทุนในการควบรวมกิจการ ควบรวมพรรคต่างๆ จนสามารถคุมเบ็ดเสร็จ ไม่ให้มีการตรวจสอบได้ นี่คือสิ่งที่พธม.ชูขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2 มาตรฐานคงจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่เขาเป็นนายกฯ มัน 2 มาตรฐานตั้งแต่มีคำพิพากษาว่า “บกพร่องโดยสุจริต” (คดีซุกหุ้นภาค 1) แล้ว แต่วันนั้นคำพิพากษาเป็นธรรม แต่หลังจากคำพิพากษาไปโดนฝ่ายเขา ก็กลายเป็นไม่เป็นธรรม แต่คำว่า 2 มาตรฐานมันมีอยู่จริงสำหรับคนจน คนจนไม่ได้รับมาตรฐานอย่างคนรวยหรอก

ไทยพับลิก้า : กำลังบอกว่า “2 มาตรฐาน” ถูกบัญญัติขึ้นในสังคมตั้งแต่พ.ต.ท. ทักษิณรอดพ้นจากคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544

มันไม่ใช่ เพราะมันเป็นคำอธิบายเพื่อโจมตีคนรวยที่สุด แต่วันนี้คนรวยที่สุดเอาคำนี้มาอธิบายเพื่อกระแทกในสังคมว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน 2 มาตรฐานเหมือนกัน คนจนถูกกดขี่ขูดรีด ถ้าดูเวทีปราศรัยเสื้อแดงที่บอกว่าคุกมีไว้ขังคนจน อันนั้นเรื่องจริง กระแทกอารมณ์ความรู้สึก แต่มันไม่ใช่ คนพูดมันไม่ใช่ เป็นวาทกรรม

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าทุนใหญ่ฉลาดที่สามารถหยิบปมในใจที่เกิดขึ้นในอดีต มากระแทกคู่แค้นทางการเมืองและอำมาตย์ได้

ใช่ ถูก แต่เรื่องอำมาตย์เป็นการพูดโดยพยายามเบี่ยงเบน อาจเป็นเพราะ 1. เป็นพลังส่วนหนึ่งของคนที่ศึกษาแนวทางสังคมนิยม ศึกษาทฤษฎีมาร์กซ์ แล้วก็หยิบยกถึงการพัฒนาการสังคม วิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดิดา หรือเป็นกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยม ดังนั้นพัฒนาการทางสังคมที่คอมมิวนิสต์เขาวิเคราะห์คือ สังคมที่ล้าหลังคือสังคมศักดินา ต้องล่มสลายไปก่อนเพื่อพัฒนาสังคมระบบทุน เขาก็หยิบตรงนี้ เป็นการผนึกกันระหว่างทุนกับคอมมิวนิสต์เพื่อล้มศักดินา

แต่โดยโครงสร้างทางสังคมจริงๆ อิทธิพลศักดินาหมดไปนานแล้ว เพราะศักดินาก็คือเจ้าที่เก็บค่าเช่านา เจ้าไทยไม่ได้เก็บค่าเช่านา และก็ไม่ได้ทำธุรกิจแข่งกับนายทุน เป็นสัญลักษณ์บางประการของสังคมที่ยังมีอยู่ แต่ไม่ได้มีบทบาทจริงๆ ถือว่าเป็นคนที่ทรงอิทธิพลในความรู้สึกของประชาชนในเชิงสัญลักษณ์ เช่น ถ้าถามว่าประเทศไทยอ่อนด้อยที่สุดในเรื่องอะไร คือเรื่องคุณธรรม เพราะปัจจุบันคนไร้คุณธรรม คนดีไม่ได้รับการยกย่อง คนเลวได้รับการเกรงกลัว สังคมสยบอยู่ให้กับอำนาจ กลัวหมด กลัวจะโดนทำร้าย กลัวจะถูกคุกคาม ยอมเป็นพวกเสียดีกว่า ดังนั้นสังคมนี้ไร้คุณธรรม ท่ามกลางสังคมที่ไร้คุณธรรม ให้หาดูสิว่าใครคือคนที่มีคุณธรรม

ไทยพับลิก้า : เจอหรือเปล่า

ผมว่าสังคมเจอ เขาถึงได้ปกป้องเอาไว้ไง เพราะว่าใน 60 ปี ไม่เคยเห็นใครที่เปล่งบารมีในเรื่องคุณธรรมเท่า

“วิทยา แก้วภราดัย” “วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
“วิทยา แก้วภราดัย” “วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ไทยพับลิก้า : ถ้าเช่นนั้นอะไรทำให้ความพยายามของฝ่ายซ้ายเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ไม่สำเร็จ และถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ มาคืบหน้าได้ในยุคนี้ โดยมวลชนส่วนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวพาดพิงสถาบันได้ด้วย

ก็คนชี้นำๆ อย่างมีทฤษฎีว่าต้องโค่นล้มศักดินาเพื่อพัฒนาระบบทุน แล้วโค่นล้มระบบทุนเพื่อพัฒนาเป็นสังคมนิยม กระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม มันเป็นการผนึกกำลังที่ขัดแย้งกันคือ เป็นกลุ่มคนที่อยากโค่นทั้งนายทุนและศักดินา จับมือกับนายทุน โดยคิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะโค่นนายทุนง่ายกว่า ซึ่งนายทุนก็รู้ว่าคนพวกนี้หลอก ต่างคนต่างอยู่ในสถานการณ์หลอกซึ่งกันและกัน ดังนั้นจะเห็น 2 หน้าของการเล่นคือ หน้าหนึ่งโค่นอำมาตย์ อีกหน้าหนึ่งคือแดงเชิดชูเจ้า เป็นการขัดแย้งของขบวนแดงด้วยกันเอง

ไทยพับลิก้า : 2 ส่วนนี้ไปด้วยกันได้ไหม

(ตอบสวนทันควัน) ไม่ได้หรอก มันกะล่อนไปวันๆ

ปัจจัยที่จะทำให้เสื้อแดงฝ่อไป หรือทำให้เป้าหมายของแดงแต่ละเฉดสำเร็จอยู่ตรงไหน ก็ต้องพิสูจน์ความจริง เวลาจะพิสูจน์ความจริงว่าคุณคือคนที่จะให้ความเป็นธรรมกับสังคมนี้ได้จริงหรือเปล่า คุณเป็นคนที่พร้อมจะกระจายทรัพยากรที่สูบรีดไปมากๆ เนี่ย ให้ความเป็นธรรมกับสังคมได้หรือเปล่า คุณพร้อมจะให้คนจนมีโอกาสแบ่งปันจากคนรวยมากกว่าเดิมหรือเปล่า สังคมสวัสดิการเป็นทางออกหนึ่งในการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ถ้าเราก้าวไปสู่จุดนั้น ผมคิดว่าคนรวยก็ต้องโดนแบ่งปันมา เครื่องมือในการแบ่งปันก็คือกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าคนพวกนี้ไม่กล้าออก เช่น กฎหมายภาษีมรดก กฎหมายภาษีที่ดิน กฎหมายแบ่งปันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ออกได้ยังไง ดังนั้นคำว่าไม่เป็นธรรมๆ ก็จะใช้ได้ตลอด แต่คนที่พูดเรื่องความไม่เป็นธรรมมากที่สุด กลับเป็นคนที่รวยที่สุด ซึ่งผิดปกติ ไม่ปกติน่ะ

ไทยพับลิก้า : แต่โดยข้อเท็จจริงทุกฝ่ายก็ล้วนแต่มีกลุ่มทุนของตัวเอง ไม่ว่าจะพท. ปชป. หรืออำมาตย์

แน่นอน ถูกต้อง ดังนั้นคนที่โดนสังคมนี้… นั่น ก็ต้องมีพลังอย่างแท้จริงเพื่อขึ้นมาจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมขึ้น

ไทยพับลิก้า : เท่าที่ประเมินพลังส่วนไหนที่มีอิทธิพลสูงสุดในมวลชนเสื้อแดง

คนที่รวยที่สุด คือคุณทักษิณนั่นแหล่ะที่มีอิทธิพลสูงสุดของเสื้อแดง และเสื้อแดงก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภทนะ 1. เสื้อแดงสายอุดมการณ์ที่คิดจะล้มอำมาตย์ตลอดเวลา 2. เสื้อแดงที่เป็นหัวคะแนนของพท. 2 อันนี้ปนเป็นอันเดียวกัน สักวันหนึ่งก็จะแยก

ไทยพับลิก้า : ในฐานะคนนอกมองความเคลื่อนไหวของเสื้อแดงสายอุดมการณ์ที่คิดจะล้มอำมาตย์ว่าขีดเส้นแค่ไหน

เป็นการเล่นวาทกรรมของคนเสื้อแดงที่ขีดเส้นแค่พล.อ. เปรม (ติณสูลานนท์ ประธานองมนตรีและรัฐบุรุษ) แต่เราเห็นเวปไซต์ที่หมิ่นสถาบัน เรารู้ว่ามันไม่ใช่ พล.อ.เปรมเนี่ย 90 แล้ว คุณไม่ต้องโค่นหรอก

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายซ้ายเมื่อ 30 ปีก่อนมาร่วมเคลื่อนไหว และยังเดินตามอุดมการณ์เดิมอยู่

คนเป็นซ้ายยุคนั้น ผมว่าจิตใจต้องเสียสละเพื่อมวลชน ไอ้นั่นคือซ้ายยุคนั้น ซ้ายนักศึกษา ไม่ได้คิดมากกว่านั้น

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่ซ้ายล้มเจ้า

(ส่ายศีรษะ) ไม่ล่ะ ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่พร้อมจะเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อคนยากคนจน เขาพร้อมจะยืนข้างคนยากคนจน นั่นคือวันนั้น แต่โดยทฤษฎีของคอมมิวนิสต์มันก็ก้าวเลยไปถึงขั้นนั้น แต่โดยมวลชนนักศึกษาส่วนใหญ่เขากำลังเรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตย คนหนุ่มคนสาวก็อยากมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : แต่มีคำกล่าวหาว่าพท. และคนเสื้อแดงไม่จงรักภักดี เพราะมีพวกซ้ายเก่าหนุนหลัง

(นิ่งไปพักหนึ่ง) ผมว่า 2 ส่วน ในทฤษฎีถ้าจะรวมซ้ายนะ เอานักศึกษา 14 ตุลาฯ รุ่นผมเป็นซ้ายทั้งหมดก็ได้ แต่ในซ้ายทั้งหมด วิธีคิดก็ไม่เหมือนกัน พัฒนาการการเดินมาบนเส้นทางก็ไม่เหมือนกัน มันก็เลยเป็นการเกาะกลุ่มแสวงหาความต้องการจากสภาพสังคมปัจจุบันจนเกินไป เมื่อระบบทุนบวกกับการเมืองมาก เขาเรียกเป็นการเมืองระบบทุน เรียกว่าธนาธิปไตย ธนบัตรเป็นใหญ่กันหมดแล้ว มันก็เลยต้องพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง มันก็เลยวิเคราะห์แปลกแยกไปอีกอย่างหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : ถึงเวลาที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องปรับตัวหรือยัง เพื่อให้อยู่รอดและอยู่ได้ในสังคมไทย

ผมว่าไม่มีอะไรต้องปรับ เพราะมันไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีอะไรๆๆ

ไทยพับลิก้า : แต่การอ้างยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การอ้างได้ คดีดูหมิ่นเจ้าพนักงานติดคุก 6 เดือน และถ้าหมิ่นสัญลักษณ์ของประเทศ หมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าโทษจะเบากว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานมันจะเป็นไปได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ วันนี้คุณชี้หน้าด่าจราจร ตำรวจเฮงซวย คุณติดคุก 6 เดือน คุณละเมิดอำนาจศาล ศาลยังสั่งจำคุกคุณทันที แล้วโครงสร้างประชาธิปไตยเรา พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่าน 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เราเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด แล้วคุณไม่ปกป้องหลักของรัฐธรรมนูญคุณได้ยังไง ดังนั้นมันบิดเบือนไง บิดเบือนเพราะไม่พอใจ ไม่สบอารมณ์ของคนบางคน

ไทยพับลิก้า : คุณวิทยาบอกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำมาตย์ไม่เหลือสถานะแล้ว แต่อีกฝ่ายกล่าวว่าตลอดว่าเป็นกลุ่มที่ยึดกุมชะตาประเทศไทย

ความจริงบทบาทที่แข็งแรงที่สุดคืออำนาจข้าราชการไทย ไล่มาตั้งแต่กองทัพ ข้าราชการ อย่างอื่นไม่มีการวางโครงสร้าง แต่วันที่ใครเป็นรัฐบาล ก็ยึดโครงสร้างนี้ทั้งหมด คนที่แข็งที่สุดก็คือรัฐบาล ส่วนอื่นไม่ได้มาแตะคุณหรอก ถ้าพูดตรงๆ คุณทูลเกล้าฯ อะไรบ้างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงนาม คุณจะเป็นนายกฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ แล้วคุณจะไปทะเลาะอะไร คุณหยิบยกเรื่องที่ไม่จริงขึ้นมา เทพนิยายสมัยฮ่องเต้ สมัยพระเจ้าซาร์ขึ้นมา สร้างปรากฏการณ์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่

ความรู้สึกผมนะ ผมก็เป็นคนยุคนั้นมาก่อน แต่ผมว่าเราผ่านร้อนผ่านหนาว ได้ดูปรากฏการณ์ยุคนั้น และก็เห็นปรากฏการณ์ทางสังคมยุคนี้ และคิดว่าสังคมนี้ร้ายที่สุดก็คือไร้การนับถือคนดี สยบให้กับเงินตราและอำนาจมากกว่าความดี คน 2 คนนั่งอยู่ ให้ยกมือไหว้ระหว่างคนดีกับคนมีตังค์ ถามสิเขายกมือไหว้ใคร

ไทยพับลิก้า : คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในตัวฮ่องเต้ แต่อาจคลางแคลงใจขันที

ถามว่าวันนี้ขันทีทั้งหลายไปเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐตรงไหน คุณคุมกระทรวงมหาดไทยไหม คุมกรมพัฒนาไหม คุมอะไรไหม

ไทยพับลิก้า : แต่ธรรมเนียมเรื่องการเอาโผแต่งตั้งโยกย้ายไปให้ตรวจก่อน ก็ยังปฏิบัติกันอยู่

สมัยผมเป็นรัฐมนตรี ไม่เคยเอาโผไปให้ใครดูว่าผมจะตั้งปลัดอย่างไร ผมเสนอครม. เลย ถามว่ารัฐมนตรีคนไหนบ้างทำอย่างนั้น มันเสร็จที่ครม. ไอ้ที่อ้างไปก็คือหาเรื่อง สร้างนิยาย ใส่ร้ายกัน

ไทยพับลิก้า : เหตุที่นิยายถูกสร้างขึ้นมา เพราะคนสร้างรู้สึกว่าตัวเองไม่มีบารมี จึงต้องอิงผู้ใหญ่ หรือจงใจทำให้ผู้ใหญ่เสื่อม

ตัวเองรู้สึกว่าไม่ชอบ หรืออาจรู้สึกว่าเขาไม่ชอบตัวเอง ก็เลยหาเรื่องรบ ไม่มีอะไร ผมถามว่าสังคมนี้หาสัญลักษณ์คุณธรรมที่ไหนมาให้ผมได้บ้าง คุณทักษิณเป็นสัญลักษณ์คุณธรรมให้ผมได้ไหม ผมว่ามันไม่ใช่ คุณเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของสังคมด้วยซ้ำไป แต่คนก็ชื่นชม เพราะเผื่อจะได้จากแกบ้าง สังคมมันเลว คุณธรรมมันเสื่อม

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้นิยามว่าพ.ต.ท. ทักษิณเป็นอะไร เป็นหัวหน้าไพร่ อำมาตย์ นายทุน นักการเมือง ฯลฯ

เป็นนายทุน นายทุนการเมืองที่กระโดดเข้ามาทำการเมือง แล้วพัฒนาระบบทุนให้เป็นอันเดียวกับการเมือง ระดมกลุ่มทุนมาทำการเมืองให้เป็นอันเดียวกัน ใช้วิธีบริหารทุนมาบริหารการเมือง

 “วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
“วิทยา แก้วภราดัย” ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ไทยพับลิก้า : โดยเป้าหมายสูงสุดคือ

กำไร ไม่มีอะไร นายทุนก็หากำไร ตื่นเช้ามา หาสตางค์หรือยัง คนจนตื่นเช้ามา จ่ายสตางค์หรือยัง

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่จะทำให้พ.ต.ท. ทักษิณมีกำไรสูงสุดคือ

ก็กุมอำนาจรัฐ สรรหาประโยชน์ได้ทุกอย่าง

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้มวลชนทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน ล้วนแต่มีพรรคการเมืองหนุนหลังชัดเจน โอกาสในการเกิดมวลชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์จริงๆ ยังมีหรือไม่

มี เกิดขึ้นได้ ถ้าเขาเห็นว่ากลุ่มนี้มันไม่เป็นธรรม เขาก็เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมา หรือกลุ่มนี้เอง วันหนึ่งถ้าเขารู้สึกว่าพูดไม่หมด ไม่ได้ทำอย่างที่พูด เขาก็ถอยไป ในเมื่อเขาถูกฝึกปรือให้ตื่นตัวทางการเมือง เขาก็จะติดความคิดทางการเมือง เขาก็จะแสวงหาความเป็นธรรม ผมเชื่อว่าเสื้อแดงหลายคนที่เข้าร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพฯ วันหนึ่งเขาก็จะแสวงหาความเป็นธรรม ถ้าสัญลักษณ์อันนี้คือความเหลื่อมล้ำ พลังเขาไม่หยุดหรอก พลังของการถูกขูดรีดไม่หยุด เขาก็ต้องแสวงหาความเป็นธรรม

ไทยพับลิก้า : ในยุคก่อนๆ การชุมนุมที่ท้องถนนมักเป็นเหตุให้รัฐบาลล้มไป แต่การชุมนุมของพธม. และนปช. ในรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ได้เปลี่ยนทฤษฎีนั้นไป

เอาว่ากลับไปดูพธม. สิ เขาก็หายไปโดยธรรมชาติ ประวัติศาสตร์เขาต่อสู้จบแล้ว ทีนี้กลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมายึดอำนาจรัฐได้ สมมุติล้มอย่างที่ต้องการล้มหมด แล้วคุณจะสถาปนาความเป็นธรรมให้เขาได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ คุณก็โดนอีก วันนี้เสื้อแดงนัดชุมนุมอาจจะเหลือคนสัก 3-4 พันคน เพราะหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย(พท.) กลับบ้านหมดแล้ว แต่วันหนึ่งถ้าเขารู้สึกว่าถูกหลอก เขาอาจจะขยับมากกว่า 3-4 พันคนก็ได้

ไทยพับลิก้า : มาครั้งหน้าอาจไม่ได้สวมเสื้อแดงแล้ว แต่ออกมาไล่รัฐบาลที่พวกเขาเป็นผู้จัดตั้ง

ก็ประชาชนมีสิทธิ ถ้าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

สหายใต้ชายคาอำมาตย์

จาก “นิสิตปี 1” คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นเพียง “ผู้สังเกตการณ์” ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

กลายเป็น “1 ในขบวนนิสิตนักศึกษา” ที่เข้าร่วมเหตุการณ์ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ผลจากการเรียกร้องประชาธิปไตย-ต่อต้านเผด็จการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ “วิทยา แก้วภราดัย” ได้รับ “กระสุน” เป็นของแถม ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน 2 เดือน ก่อนกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านอีกหลายเดือน ถึงจะกลับมาเดินเหินได้ตามปกติ

ต่อมาในปี 2529 “วิทยา” ตัดสินใจลงสู่สนามเลือกตั้งส.ส. นครศรีธรรมราช ตามคำเชิญชวนของ “สหายเก่า” นาม “ชำนิ ศักดิเศรษฐ์” ทว่าพลาดท่าสอบตก

กระทั่งปี 2531 “วิทยา” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ในฐานะส.ส. เมืองคอน เรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญใน “ขบวนการจัดตั้ง” ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลายครั้ง อาทิ เป็นหัวหอกจัด “สมัชชาประชาธิปัตย์คืนอีสาน” ในการเลือกตั้งปี 2550 จัดตั้งมวลชนให้พรรคสีฟ้า เมื่อปชป. ทำโรงเรียนการเมืองอย่างจริงจังในปี 2554

อะไรทำให้ “อดีตนักศึกษา” ที่เคยต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการณ์ มาอยู่ใต้ชายคาพรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ามีทหาร-อำมาตย์หนุนหลัง?

“ผมสู้กับเผด็จการณ์ทหาร ก็ย้อนกลับไปที่วันที่คุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) มีอำนาจ ใครไม่ซัพพอร์ต (สนับสนุน) คุณทักษิณบ้าง มาแตกหักกันด้วยเรื่องอะไร ไปดูผลการเลือกตั้งสิ ปชป. แพ้ทุกหน่วยการเลือกตั้งที่เป็นเขตทหาร ในขณะที่คุณบอกว่าปชป. ถูกซัพพอร์ตโดยทหาร คุณเอาอะไรมาพูด ก็พูดโกหกคำแล้วคำเล่า จนคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง เวลาพูดบนเวทีจะพูดอะไรก็ได้ ถูกหมด ไม่มีใครเถียง แต่ลองเอาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาพูดในสภาสิ อาจารย์สมเกียรติ์ (พงษ์ไพบูลย์ อดีตส.ส. สัดส่วน ปชป. และแกนนำพธม.) พูดในสภา พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ตีถล่ม พอจตุพร (พรหมพันธุ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พท. และแกนนำนปช.) พูด ปชป. ก็ทุบ เพราะคุณพูดไม่จริงหมด มันมีข้อโต้แย้ง แต่เวลานำม็อบ ไม่มีใครเถียง คุณพูดได้หมด คุณก็เอามัน พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เรื่องเดียว จนกลายเป็นเรื่องจริง”

ข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งที่สังคมรับรู้คือ ในช่วงพธม. ชุมนุม มีคนจากปชป. ช่วยขนประชาชนไปหน้าเวที?

“วิทยา” ย้อนว่า “แล้วเสื้อแดงเนี่ย พท. ไม่หนุนเหรอ ถ้าปชป. หนุนพธม. ผมบอกว่าหนุน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เสื้อแดง พท. หนุน 90 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนต่างกันเยอะ มีคนปชป. ที่ไปเชียร์พธม. ไหม มีจริง หัวคะแนนปชป. ที่ชอบพธม. มาจริง แต่ถามว่าเริ่มต้นชุมนุมคนเสื้อแดงคืออะไร ก็หัวคะแนนพท. มาชุมนุมกัน ทีนี้มีคนเห็นด้วย เขาก็เริ่มเข้ามา”

ทว่าบรรทัดสุดท้ายของเรื่องต่างกัน เพราะการชุมนุมของพธม. จบลงที่การปฏิวัติในปี 2549 ขณะที่การชุมนุมของนปช. จบลงที่การเลือกตั้งในปี 2554

“อ๋อ เขาชนะแล้วนี่” เขาตอบห้วนๆ โดยงดพาดพิงพรรค-พวก-เพื่อนตัวเอง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวของปชป. ในครั้งนั้น ทำให้ “พรรคเก่าแก่” ถูกผลักไปยืนเคียงฝ่าย “เผด็จการ” เต็มรูป

“วิทยา” ไม่แยแสคำครหาดังกล่าว โดยขอใช้สิทธิบริภาษคู่แค้นทางการเมืองแทนว่า “ผมก็ผลักเสื้อแดงอยู่กับนายทุน คุณเป็นนายทุนที่ขูดรีดเอาเปรียบสังคมนี้มากสุด คุณเอาการเมืองมาเป็นบันไดของธุรกิจ คุณสร้างความร่ำรวยจากการเมือง ทุกอย่างคุณมีผลประโยชน์ทับซ้อน คุณมี 2 มาตรฐานในวันที่คุณเป็นรัฐบาล คุณกอบโกยทุกอย่าง ทุกเรื่องคุณมีคดีค้างหมด แล้วคุณบอกว่าศาลไม่มีมาตรฐานเพราะวันที่คุณผิด”

ส่วนการเกิดขึ้นของโรงเรียนการเมืองปชป. จากแรงผลักของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการปชป. ผู้ยอมรับว่าจุดผิดพลาดครั้งสำคัญของปชป. ในการเลือกตั้งเที่ยวล่าสุดคือ มองข้ามความสำคัญของโรงเรียนนปช. แดงทั้งแผ่นดินไป ทำให้พท. รุกคืบ-ขยายฐานมวลชนได้มหาศาลนั้น

ส.ส. เมืองคอนสาย “เทพเทือก” แย้งว่า ปชป. ไม่ได้คิดตั้งโรงเรียนเสื้อฟ้า เพื่อขยายฐานมวลชน เพราะปัจจุบันปชป. มีสมาชิกพรรคอยู่ 3 ล้านคน จึงต้องการช่วยยกระดับการศึกษาของคนเหล่านี้ นอกจากรักปชป. แล้ว ต้องรู้ว่าปัญหาประเทศชาติบ้านเมืองคืออะไร ปัญหาโลกคืออะไร

แต่ถ้าวันหนึ่ง นักเรียนในโรงเรียนการเมือง-มวลชนเสื้อฟ้า จะออกมาชุมนุมตะเพิดรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ก็เป็นสิทธิของเขา!

“เป็นพลังของประชาชน วันนี้กี่กลุ่มแล้วที่ออกมาเคลื่อนไหว ยังไม่มีมีกลุ่มปชป. ที่ออกมาเคลื่อนไหวนะ ผมเชื่อว่าประชาชนในประเทศนี้ไม่ยอมสยบกับความไม่เป็นธรรม” เขาพูดพลางส่งยิ้มกรุ้มกริ่มทิ้งท้าย