ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สภาเศรษฐกิจโลกเปิดสูตร “กรีน” ตำรับยักษ์เล็ก หัวใจใหญ่ (1)

สภาเศรษฐกิจโลกเปิดสูตร “กรีน” ตำรับยักษ์เล็ก หัวใจใหญ่ (1)

13 ตุลาคม 2011


http://farm7.static.flickr.com/6191/6101415124_d8e25360fe.jpg

ระหว่างการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum-WEF) เมื่อเดือนที่แล้ว สิ่งที่ถือเป็นไฮไลต์ในส่วนของภาคธุรกิจคือ รายงานสุดยอดบริษัทยั่งยืนที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

เพราะรายงานฉบับนี้ที่มีชื่อว่า “Redefining the Future of Growth: The New Sustainability Champions” สะท้อนเรื่องราวของ 16 ยักษ์เล็กจากโลกกำลังพัฒนาที่มีบทบาทเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่แพ้ยักษ์ใหญ่จากชาติตะวันตกที่มักผูกขาดบทบาทผู้นำในการจัดการเรื่องต่างๆ

ยักษ์เล็กทั้ง 16 รายนี้เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจสามารถทำผลกำไรเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการใส่ใจเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่

ดังนั้น บริษัทต่างๆ จึงน่าจะเรียนรู้ความสำเร็จจาก “ยักษ์เล็ก หัวใจใหญ่” ที่สามารถค้นพบแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในสไตล์ที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ต้องคอยเลียนแบบสูตรสำเร็จจากยักษ์ข้ามชาติทั้งหลาย ที่สำคัญ ไอเดียจากบ้านเกิดเหล่านี้อาจช่วยให้บริษัทอื่นในภูมิภาคเดียวกันนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายกว่าเลียนแบบโมเดลจากตะวันตก

บทบาทของบรรดายักษ์เล็กซึ่งบางรายอยู่ในประเทศที่จัดว่ายากจนที่สุดในโลก นับเป็นพัฒนาการที่สร้างความหวังให้กับโลกที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อประชากรโลกเพิ่มจาก 7 พันล้านคนในปัจจุบัน เป็น 9.3 พันล้านคนภายในปี 2593 ตามที่ประเมินกันไว้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อทรัพยากรที่จะตอบสนองความต้องการของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ “บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป” (BCG) ที่ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ระบุว่า บริษัทในประเทศกำลังพัฒนาเผชิญสารพัดความท้าทาย โดยเฉพาะความยากลำบากจากภายในประเทศเอง อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังด้อยมาตรฐานส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้มแข็ง การขาดแคลนทักษะและแนวปฏิบัติเรื่องธรรมาภิบาลที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

sustainable-champions
16 ยักษ์เล็ก แชมป์ธุรกิจยั่งยืนในทำเนียบ WEF

ทว่ายักษ์เล็กทั้ง 16 รายใช้การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ คิดค้นนวัตกรรมที่ดีทั้งต่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่รุมเร้าและสามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นแบบอย่างให้กับภาคอุตสาหกรรมและท้องถิ่นของตัวเอง

จุดร่วมของแชมป์ความยั่งยืนทั้ง 16 รายอยู่ที่การนำความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยยักษ์เล็กที่ทำผลกำไรได้ดีเหล่านี้ใช้แนวทาง “กรีน” ทั้งเพื่อลดต้นทุน กระตุ้นพนักงานและสานความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย

เมื่อพิจารณาข้อมูลจากรายงานฉบับนี้พบว่า ยักษ์เล็กจากประเทศกำลังพัฒนาสามารถเปลี่ยนข้อจำกัดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องทรัพยากร แรงงานหรือโครงสร้างพื้นฐานให้กลายเป็นโอกาส อย่างกรณีของ “ชรี ซีเมนต์” (Shree Cement) จากอินเดียที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาก่อนหน้านี้ ทุ่มเทพัฒนากระบวนการผลิตซีเมนต์ที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ ( air-cooling) แทนระบบระบายความร้อนด้วยน้ำหล่อเย็น ( water-cooling)

หรือในกรณีของ “มะนิลา วอเตอร์” บริษัทสัญชาติฟิลิปปินส์ที่แก้ปัญหาสูญเสียน้ำ ทั้งน้ำทิ้งและลักลอบขโมยน้ำจากระดับ 63% ในปี 2540 เหลือเพียง 12% ในปี 2553 โดยทำให้คนยากจนสามารถเข้าถึงน้ำได้ง่ายขึ้น

ส่วน “บรอด กรุ๊ป” (Broad Group) ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศจากจีน คิดค้นวิธีใช้ความร้อนที่เหลือทิ้งจากอาคารเป็นพลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศ

โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ของชรี ซีเมนต์ ตั้งอยู่ในแคว้นราชสถานของอินเดีย หนึ่งในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำระบบระบายความร้อนด้วยอากาศมาใช้แทนระบบระบายความร้อนด้วยน้ำหล่อเย็น
ที่มา : http://www.thermaxindia.com/images/Power/Industries_Cement/Shree-Cement-AFBC_F.jpg

นอกจากนี้ การวางเป้าหมายเรื่องกรีนถือเป็นแนวปฏิบัติที่ยักษ์เล็กทั้งหลายทำคล้ายคลึงกัน อาทิ “ซีเคม” (Sekem) บริษัทผลิตอาหารจากอิยิปต์ที่ตั้งเป้าภารกิจพลิกฟื้นดินแดนทะเลทรายให้เป็นพื้นที่ทำเกษตรแบบออร์แกนิก เช่นเดียวกับ “ฟลอริดา ไอซ์ แอนด์ ฟาร์ม” บริษัทอาหารและเครื่องดี่มจากคอสตาริก้าที่วางมาตรฐานการใช้น้ำในกระบวนการผลิตน้ำดื่มอย่างชัดเจน

สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ไม่อาจละเลยคือการวัดผลความกรีนของตัวเอง ยกตัวอย่าง “ฟลอริดา ไอซ์ แอนด์ ฟาร์ม” ที่เชื่อมโยงการจ่ายผลตอบแทนของผู้บริหารกับแนวคิด Triple Bottom Line ที่ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่ คน (people) โลก (planet) และผลกำไร (profit) ไม่ใช่เน้นเรื่องเม็ดเงินเป็นหลักเหมือนเมื่อก่อน

ขณะที่แชมป์ธุรกิจยั่งยืนบางรายกำหนดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผ่านทางคณะกรรมการด้านกฎระเบียบและพันธมิตรธุรกิจ อาทิ “กรูโป บัลโบ” ผู้ผลิตน้ำตาลออร์แกนิกจากบราซิลเลือกทำงานร่วมกับทางการแซมบ้าและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อกำหนดมาตรฐานการออกใบรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก

หรือ “อีควิตี้ แบงก์” ของเคนยาที่จับมือกับพันธมิตรหลากหลายกลุ่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้แก่ผู้กู้รายย่อย ส่วน “เนชูรา” บริษัทจากบราซิลจับมือกับซัพพลายเออร์ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน เช่น พลาสติกรักษ์โลกที่ผลิตจากต้นอ้อย

อีกวิธีหนึ่งคือทุ่มเทเพื่อให้ความรู้กับผู้บริโภคฐานะไม่ค่อยดี ซึ่งบางครั้งอาจต้องยอมเจ็บตัวในระยะสั้นแลกกับการสร้างตลาดในอนาคต อย่างเช่น “บรอด กรุ๊ป” ที่ลงทุนพัฒนาอุปกรณ์วัดมลภาวะทางอากาศขนาดเล็กที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ ด้าน “เมซิซา” (Masisa) บริษัทไม้จากชิลีใช้วิธีสร้างเครือข่ายกับบรรดาช่างไม้ในท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ซื้อเฟอร์นิเจอร์รายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม ความจริงอีกด้านของเหรียญก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม “ฟิล โรเซนสวิก” จากไอเอ็มดีตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางกรีนอาจไม่ได้การันตีความรับผิดชอบต่อโลกเสมอไป เพราะบางบริษัทอาจมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายด้านนี้ก็ทำไป ในขณะที่บางบริษัทที่ประสบความสำเร็จอาจใช้นโยบายสีเขียวเพื่อเป้าหมายด้านการประชาสัมพันธ์มากกว่า ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงบริษัททุกแห่งล้วนมีส่วนปล่อยมลภาวะออกมาทำร้ายโลกกันทั้งนั้น

บางฝ่ายเห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องมองให้รอบด้าน เพราะที่ผ่านมาบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติสร้างความมั่งคั่งพร้อมกับปล่อยมลภาวะมาเป็นเวลานาน แต่ถึงวันนี้กลับเรียกร้องให้คนอื่นๆ อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองเคยทำ ขณะเดียวกันเมื่อโลกเข้าสู่ภาวะที่ทรัพยากรเริ่มหายากและผู้คนรัดเข็มขัดรายจ่ายเช่นนี้ เทรนด์สีเขียวก็อาจเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สามารถทำกำไรก้อนโตให้บริษัทได้

แม้จะได้รางวัลระดับแชมป์จากสภาเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งที่จะการันตีความปรารถนาดีต่อโลกจึงอยู่ที่ความยั่งยืนของสิ่งที่ยักษ์เล็กแต่ละรายทำอยู่

ในตอนหน้า “ไทยพับลิก้า” จะถอดโมเดลของ 4 ยักษ์เล็กที่โฟกัสไปที่เรื่องคน ซึ่งถือเป็นรากฐานที่จะขับเคลื่อนจิตสำนึกรักษ์โลกขององค์กรให้คงอยู่ยาวนาน รวมถึงนวัตกรรมที่บริษัทเหล่านี้ใช้สร้างการเติบโตทางธุรกิจ