ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > 5 เทรนด์ความยั่งยืนธุรกิจที่มาแรงสุด The Path to Sustainability

5 เทรนด์ความยั่งยืนธุรกิจที่มาแรงสุด The Path to Sustainability

10 ตุลาคม 2011


เมื่อเร็วๆ นี้ ดาวโจนส์ได้นำเสนอในเชิงเปรียบเทียบ ผลการดำเนินงานของบริษัทในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ “Dow Jones Industrial Average” และผลการดำเนินงานของบริษัทชั้นนำกว่า 2,500 บริษัททั่วโลก ที่ยึดแนวทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งจากดัชนีชี้วัดความยั่งยืนธุรกิจ “Dow Jones Sustainability Indexes” พบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคม มีการเติบโตทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่สูงกว่าบริษัททั่วไป ซึ่งข้อมูลของดาวโจนส์ดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีผลต่อการเติบโตและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของธุรกิจ

โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (ชุดโครงการ CSR) โดยศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย (ศสอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ได้จัดสัมมนา “ซีเอสอาร์ ก้าวย่างสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ (CSR: The Path to Sustainability)” ขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน 2554

นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาทางธุรกิจ ส่วนงานที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารการเปลี่ยนแปลง บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย(PWC)
นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาทางธุรกิจ ส่วนงานที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารการเปลี่ยนแปลง บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย(PWC)

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ได้มีการชี้เทรนด์ของความยั่งยืนซึ่งนายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ ที่ปรึกษาในการดำเนินงานด้าน CSR และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนแก่องค์กรธุรกิจ ปัจจุบันเป็นหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาทางธุรกิจ ส่วนงานที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารการเปลี่ยนแปลง บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย (PWC) ได้กล่าวถึงทิศทางความยั่งยืนว่ามี 5 เทรนด์ด้วยกัน เป็นเทรนด์ระดับสากล 3 เทรนด์ และในประเทศ 2 เทรนด์ ทั้งนี้เป็นผลสำรวจจากที่ PWC ได้พบปะลูกค้า

3 เทรนด์อินเตอร์

สำหรับเทรนด์ต่างประเทศ มี 3 เทรนด์ได้แก่

1.การเปลี่ยนความยั่งยืนให้เป็นจุดแข็งขององค์กรคุณ

2.สิ่งที่คนพูดเกี่ยวกับองค์กรคุณส่งผลต่อความยั่งยืนของคุณ

3.การหลอมรวมระหว่าง “รายงานความยั่งยืน” กับ “รายงานด้านการเงิน” กำลังจะมาถึง

“กุลเวช” กล่าวว่าการทำซีเอสอาร์ในองค์กรยังเป็นลักษณะแยกส่วนโดยธุรกิจก็ทำไป ขณะที่ซีเอสอาร์ก็ทำอีกทางหนึ่งแต่การทำซีเอสอาร์เป็นเหมือนส่วนเกินของธุรกิจ ตอนนี้ในหลายๆ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทำแยกส่วน และสามารถเอาปัญหา (Issue) ที่เป็นปัญหาของโลกมาเป็นการร่วมอยู่ ร่วมเจริญทั้งของตนเองและของทั้งสังคม

เทรนด์แรก Do no harm แค่วันนี้ธุรกิจ/องค์กรไม่เบียดเบียน หรือไม่ทำอะไรที่ผิดกฎก็พอแล้ว ถามว่ามีหลายองค์กรไหมที่เป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่ามีหลายองค์กรที่เป็นอย่างนี้

“ถ้าทุกคนใช้ชีวิตเหมือนคนอเมริกา เราต้องการโลก 5 ใบ ถ้าใช้ชีวิตแบบยุโรปเราต้องการโลก 3 ใบ ถ้าแบบอินเดียเหลือใบเดียว ทำให้มีบางองค์กรที่เปลี่ยนจุดบางจุดของตัวเองให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดสภาวะร่วมอยู่ ร่วมเจริญให้ตัวเอง อย่างจีอี ทำธุรกิจตั้งแต่เครื่องมือการแพทย์ เคมิคอล จนถึงธุรกิจไฟแนนซ์ แต่หลังจากที่เขาวิเคราะห์ว่าโลกกำลังเผชิญภาวะโลกร้อน จีอีเอาตัวนั้นมาเป็นอิชชู ว่าจีอีจะผลิตสินค้าและบริการที่จะช่วยโลก เรียกว่า ecomagination ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นแค่ความคิด วันนี้ ecomagination เป็น 10 % ของรายได้ของจีอีทั้งหมด”

“ตัวนี้เป็นอนาคตของจีอี ซึ่งจีอีสามารถหาจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเบียดเบียนสังคมสิ่งแวดล้อมมาเป็นเรื่องที่เขาทำ จีอีบอกว่าเขาไม่สามารถเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน เขาสามารถเป็นแค่บางอย่างสำหรับบางคน และทุกคนไม่สามารถเก่งทุกอย่างได้ เขาจึงขอเลือกภาวะโลกร้อนเป็นอิชชู นี่คือตัวอย่างจีอี”

เทรนด์ที่ 2. Do it better ..1 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา ทั้งภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม สิ่งที่ไม่แน่นอนทางด้านการเมือง ทำให้ Dow Jones Sustainability Indexes: DJSI เริ่มให้ความสำคัญเรื่อง การจัดการความเสี่ยงขององค์กร โดยดูว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินปุ๊บ องค์กรสามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรอย่างไร และมีการจัดการ หรือมีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรแต่ละกลุ่มอย่างไร มีประสิทธิภาพขนาดไหน อันนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ DJSI ให้ความสำคัญมาก เพราะว่าโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตเยอะมาก จนกระทั่ง DJSI บอกว่าธุรกิจท่านจะไม่ยั่งยืน หากท่านไม่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้

อย่างกรณีเทปโก้ บริษัทพลังงานของญี่ปุ่น ที่มีปัญหาหลังเกิดสึนามิ สารกัมมันตภาพรังสีรั่ว ซึ่ง DJIS ถอดถอนออกจากอินเด็กซ์ เหตุผลเป็นเพราะว่าตอนที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เมื่อมีข่าวออกมาแต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่รู้ว่าเทปโก้ทำอะไรอยู่ ที่ยกตัวอย่างนี้เพื่อจะบอกว่าธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการวิกฤต และการบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการบริหารสถานการณ์วิกฤตที่จะมาถึงในอนาคต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้แปลว่าในอนาคตเทปโก้จะไม่สามารถกลับไปอยู่ใน DJIS ได้อีก

เทรนด์ที่ 3. Become a leader จากข้อมูลของ CSRI ตอนนี้ประเทศไทยมีการทำรายงานความยั่งยืน 20 แห่ง แต่เดิมในปี 1960 มีแค่รายงานฐานะการเงินอันเดียวให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน 20 ปีต่อมา ในปี 1998 แค่รายงานฐานะการเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเรื่องธรรมาภิบาล หลังจากนั้นต้องมีรายงานด้านสิ่งแวดล้อม และในปี 2000 จากรายงานสิ่งแวดล้อม มาเป็นรายงานความยั่งยืน (sustainability reporting) เพราะทุกคนคิดว่าสิ่งแวดล้อมไม่ครอบคลุมทั้งหมด ต้องมีด้านสังคมด้วย

แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คือองค์กรคิดแบบแยกส่วน ด้านเศรษฐกิจก็คิดอย่างหนึ่ง ด้านสังคมก็คิดอย่างหนึ่ง ด้านสิ่งแวดล้อมก็คิดอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ทั้ง 3 ด้าน มาแล้ว จะต้องอยู่ในรายงานเดียวกัน นั่นคือการทำรายงานที่เรียกว่า Stakeholder report ทุกๆคนอยากรู้หมดว่าองค์กรจะยั่งยืนไหม ไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้นอย่างเดียวที่อยากรู้ และบางองค์กรได้ออกรายงานประจำปีที่พูดเรื่องความยั่งยืนอย่างลึกๆ ออกมาแล้ว

อย่าง BHP Billiton ที่ใช้กลยุทธ์ทั้งด้านการเงินและที่ไม่ใช่การเงินมากำหนดนโยบาย กล่าวคือคณะกรรมการที่ดูทางด้านค่าตอบแทน ได้ตกลงกันว่า ค่าตอบแทนของผู้บริหาร แบ่งออกเป็น 3 กอง กองแรก เป็นค่าตอบแทนระยะสั้นในรูปเงินสด กองที่ 2 ระยะสั้นในรูปตราสารทุน กองที่ 3 ระยะยาว

เหตุผลที่ทำ 3 กอง กองแรกเป็นเงินสด กองที่ 2 เป็นตราสารทุน โดยคณะกรรมการฯ ให้ข้อมูลว่าเกณฑ์ในการวัดไม่ได้ดูผลงานของคุณแค่ระยะสั้น แต่ดูระยะยาวด้วย โดยก้อนที่ 1-2 ที่เป็นระยะสั้น แบ่ง 15 % ของตรงนั้นเชื่อมโยงมาที่ความยั่งยืน และกองที่ 3 เป็นระยะยาว

“BHP Billiton พูดชัดว่าธุรกิจของเขาสามารถบริหารสเตคโฮลเดอร์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร บริหารสังคม สิ่งแวดล้อม ให้มีประสิทธิภาพขนาดไหน กลายเป็นว่ากระบวนการในการให้ผลตอบแทนกับพนักงานระดับสูง ตอนนี้กลับมาที่ความยั่งยืนแล้ว ต้องมีรายงานลักษณะนี้ บังคับให้มองทุกส่วนของการทำงาน ไม่ว่าการจัดซื้อ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มาเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน”

หรืออย่างรายงานของ BASF เขาไม่เขียนว่า “รายงานประจำปี” และไม่เขียนว่า “รายงานความยั่งยืน” แต่เขาเขียนว่ารายงาน 2008 – 2009 ในนั้นมี 3 เรื่อง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นขอเรียนว่า มีธุรกิจที่ทำรายงานแบบนี้ทำแล้ว

หน้าเว็บ "รายงานประจำปี" ของ BASF
หน้าเว็บ "รายงานประจำปี" ของ BASF ที่มา: http://www.report.basf.com/

2 เทรนด์ในประเทศ

ส่วนเทรนด์ในประเทศ มี 2 เทรนด์ เทรนด์ที่ 1. CFOs have been questioned by “socially responsible investing” fund บางคนอาจจะประสบมาแล้ว อย่างกรณี ซีเอฟโอของบริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ถูกนักลงทุนถามว่าองค์กรของคุณยั่งยืนขนาดไหน และเทรนด์ที่ 2. Focus point of sustainability in Thai companies โฟกัสพ้อนท์ของบริษัทคุณอยู่ตรงไหน

ที่มา : กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ PWC งานสัมมนา ซีเอสอาร์ - ก้าวย้างสู่ความยั่งยืน 30 กันยายน 2554
ที่มา : กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ PWC งานสัมมนา ซีเอสอาร์ - ก้าวย้างสู่ความยั่งยืน 30 กันยายน 2554

เทรนด์แรกมีหลายองค์กรที่มาคุยกับ PWC เพราะเริ่มถูกนักลงทุนต่างประเทศถามว่าองค์กรของท่านยั่งยืนขนาดไหน เขาไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร จนนักลงทุนต้องอธิบายว่าความยั่งยืน คือการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร สังคม สิ่งแวดล้อม อย่างไร ซีเอฟโอเหล่านั้นกลับมาบอกกับผู้บริหารระดับสูงว่าต้องทำเรื่องนี้ เพราะนักลงทุนบอกว่า หากคุณไม่ทำเขาจะไม่ลงทุนแล้วในปี 2014

“อีก 4 ปี ซึ่งไม่นานนะครับ เทรนด์นี้มาแรงมาก นักลงทุนที่มองเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก ถ้าหากองค์กรที่ไม่ดูเรื่องความยั่งยืนเลย เขาจะไม่ถามคำถามต่อแล้ว นักลงทุนจะไม่ลงทุน ไม่ว่าองค์กรคุณจะเติบโตดีแค่ไหนก็ตาม”

“จากข้อมูล SRI : Socially Responsible Investing ระบุว่าการเติบโตตั้งแต่ปี 1995 – 2010 มีถึง 380 % และตั้งแต่ปี 1995-2010 มีการเติบโตของนักลงทุนของโลกถึง 260 % ฉะนั้นมีนักลงทุนที่เขาอยากลงทุนในธุรกิจที่ได้ชื่อว่ายั่งยืนเพิ่มขึ้นเยอะมาก แม้กระทั่งเอเชียพุ่งขึ้นแรงแต่ยังไม่เยอะมาก นี่คือโอกาสของเรา”

นอกจากนี้ได้เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนว่าถ้าเอาเงิน 1 ล้านมาลงทุนในบริษัทที่ยั่งยืน เป็นเวลา 10 ปี กับวงเงินเท่ากันไปลงทุนในบริษัทที่ไม่ยั่งยืน ผลพบว่าบริษัทที่มีการศึกษาแล้วว่ายั่งยืนจะมีผลตอบแทนที่เห็นชัดเจน

เทรนด์ที่ 2 เรื่องโฟกัสพ้อนท์ ของการทำซีเอสอาร์ ทำในด้านใดบ้าง สิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลาด และสำนักงาน จากที่ PWC สำรวจจากบริษัท 3 กลุ่ม สีน้ำตาลเข้ม ที่ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมจริงๆ จะเห็นว่าเขาทำทุกด้านพอๆกัน กลุ่มสีเหลือง บริษัทท็อป 30 ของมาเลเซีย ทำด้านชุมชนเยอะ ขณะที่ทำด้านมาร์เก็ตเพลสน้อยสุด ส่วนประเทศไทยสีแดง ทำด้านชุมชนเยอะ ด้านตลาดกับสำนักงานน้อยมาก

สิ่งที่พบหลังทำเวิร์คช้อป เรื่องที่สำคัญคือสำนักงาน หลายๆ องค์กร เวลาคุยลึกๆ ในรายละเอียด จะกลับมาที่คน และคำถามคือคนเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรเพียงพอหรือไม่ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงต้องถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่สามารถซึมซับวัฒนธรรมอย่างที่ผู้บริหารรุ่นเก่าต้องการผ่านผู้บริหารระดับกลาง

อีกเรื่องคือความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนมีมากแค่ไหน ตอนนี้องค์กรต้องมองจากทุกมุม ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจเรื่องความยั่งยืนให้เหมือนๆกัน ว่าองค์กรจะไปทางไหน เพื่อให้ทุกคนขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกันในทิศทางที่ต้องเดินไป