ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทีดีอาร์ไอ ชำแหละธุรกิจไทย แข่งขันแบบไหนทำไมโตคับฟ้ามีกำไรมหาศาล

ทีดีอาร์ไอ ชำแหละธุรกิจไทย แข่งขันแบบไหนทำไมโตคับฟ้ามีกำไรมหาศาล

7 ตุลาคม 2011


ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิวิจัยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิวิจัยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

การประชุมสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำข้อเสนอเชิงวิชาการในการปฏิรูป พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มาผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับและเป็นฉันทามติ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนผ่านช่องทางต่างๆต่อไป และเป็นสร้างการเรียนรู้ในประเด็นดังกล่าวแก่สังคม

การสัมมนาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น “การปฏิรูปนโยบายและกฎหมาย เพื่อลดการผูกขาดและสนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” เพื่อหาฉันทามติในการร่วมผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งดำเนินการมากว่า 12 ปี แต่แทบไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในทางปฎิบัติแต่อย่างใด

ความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจไทย

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิวิจัยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” ซึ่งพบว่าภาคธุรกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำ โดยบริษัทใหญ่ที่สุด 10 % แรกของบริษัททั้งประเทศ มีสัดส่วนรายได้สูงสุด 60 % ของรายได้บริษัททั้งหมดในประเทศ และถ้าดูบริษัทใหญ่ที่สุด 20 % แรกของบริษัททั้งประเทศ จะมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 90 % ของรายได้ของบริษัททั้งหมดในประเทศ

“รายได้ของภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ ถ้าดูแนวโน้มพบว่าการกระจุกตัวเพิ่มมาตลอดตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2551 เห็นได้จากดัชนีวัดการกระจายรายได้จากปี 2545 อยู่ที่ 0.76 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.78 ยิ่งสะท้อนการกระจุกตัวของรายได้อยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่”

ถ้าดูบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าบริษัทขนาดใหญ่ 20 อันดับแรกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัดส่วนรายได้ 81 % ในปี 2547 และเพิ่มขึ้นเป็น 86.28 % ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นถึง 5 %

ดร.เดือนเด่นระบุว่า สาเหตุที่ทำให้รายได้ของบริษัทกระจุกตัวอยู่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เป็นเพราะอัตราการเติบโตของบริษัทขนาดใหญ่เติบโตสูงมาตลอด และสูงกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ที่มีปัญหาเติบโตมากที่สุดคือ บริษัทขนาดกลาง เนื่องจากช่วงเติบโตจากเล็กเป็นกลางทำได้ง่าย แต่จากกลางจะไปเป็นใหญ่ทำได้ยาก เหมือนมีเพดานมากดให้เติบโตยาก จึงทำให้บริษัทขนาดใหญ่มีอัตราการเติบโตสูงมาก

ดร.เดือนเด่นตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทขนาดใหญ่ 20 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมด โดยรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีสัดส่วนรายได้ถึง 52.1 % ของรายได้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ที่น่าสังเกตคือ บริษัท ปตท. แห่งเดียวซึ่งมีบริษัทลูก และบริษัทในเครือจำนวนมาก มีสัดส่วนรายได้ถึง 46.5 % ของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 500 บริษัท ทั้งนี้ในปี 2551 กลุ่มปตท. มีกำไร 1.8 ล้านล้านบาท

ที่มา : ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ งานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น"การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย"
ที่มา : ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ งานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น"การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย"

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ บริษัทใหญ่ๆ ของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทใหญ่ในต่างประเทศ เช่น เกาหลี กลับแตกต่างไม่เหมือนกัน บริษัทใหญ่ในเกาหลีเป็นบริษัทส่งออก เช่น ซัมซุง แอลจี และฮุนได แต่บริษัทใหญ่ในไทยกลับไม่ใช่บริษัทส่งออก แต่เป็นบริษัทค้าขายในประเทศเป็นหลัก เช่น ปตท. ปตท.สผ. หรือกลุ่มพลังงานทั้งหมดแทบไม่ได้ส่งออกหรือออกไปขายให้ใครเลย

“จึงมีคำถามว่า บริษัทใหญ่ๆ เหล่านั้นใหญ่เพราะอะไร เพราะประสิทธิภาพ หรือเพราะผูกขาด เนื่องจากคนที่ส่งออกไปต้องแข่งขันสู้คนต่างประเทศให้ได้ ดังนั้นต้องมีประสิทธิภาพ แต่คนไม่ได้ส่งออก แข่งขายในประเทศมีประสิทธิภาพ หรือขีดความสามารถจริงหรือ”

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า บริษัทใหญ่ๆ จะมีลักษณะเป็นกลุ่มธุรกิจ หรือเครือข่ายธุรกิจ (Conglomerate) เช่น บริษัทซีพี บริษัท ปตท. เป็นต้น กล่าวคือต้องมาเป็นกลุ่ม หรือเครือข่ายคล้ายกับเกาหลี ที่เรียกว่า แชโบล ถ้ามาเป็นบริษัทเดี่ยวจะเติบโตยาก

ความล้มเหลวการบังคับใช้กฏหมาย

ดร.เดือนเด่นกล่าวถึงประเด็นทางกฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่สมบูรณ์แบบ คือ มี พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทบัญญัติครบถ้วนในการป้องกันพฤติกรรมที่เป็นการจำกัด หรือกีดกันการแข่งขันที่เป็นมาตรฐานสากล แต่ในช่วงเวลากว่า 12 ปีที่มีการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เคยมีการกล่าวโทษ หรือดำเนินคดีแก่ผู้ประกอบการแม้แต่รายเดียว อาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

สำหรับผลการดำเนินงานของสำนักแข่งขันทางการค้า ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า จากข้อมูลในเว็บไซด์ของสำนักแข่งขันทางการค้าไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และผลการพิจารณาปัญหาที่มีการร้องเรียนโดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแต่อย่างใด มีเพียงตารางที่แสดงจำนวนเรื่องร้องเรียนที่แสดงในเว็บไซด์ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาทั้งหมด 77 เรื่อง แต่ช่วงปี 2552-2554 เรื่องร้องเรียนมีเพียงเรื่องเดียวต่อปี แสดงว่าประชาชนและธุรกิจได้หมดความเชื่อถือในองค์กรและกฎหมายฉบับไม่ฉบับนี้แล้วจึงไม่ต้องการเสียเวลาที่มาร้องเรียนเนื่องจากในอดีตที่ผ่านไม่เคยมีการดำเนินการใดๆ ที่จะแก้ปัญหาหารือเยียวยากรณีที่มีการร้องเรียนใดๆ (ตารางสติถิเรื่องร้องเรียนล่าสุด)

จากจำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมดในช่วงปี 2542-2552 จำนวน 74 เรื่องมี 52 เรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการคาระบุว่า “ยุติไปแล้ว” แต่กลับไม่มีรายละเอียดใดๆ ว่ากรณีเหล่านี้มีการยุติอย่างไร และผลการวินิจฉัยของกรรมการเป็นอย่างไร และมีการใช้ข้อมูลใดในการพิจารณา

ทั้งนี้ ลักษณะของธุรกิจที่ได้รับการร้องเรียน จากจำนวนบริษัทที่มีการร้องเรียนทั้งหมด 37 ราย แบ่งเป็นธุรกิจที่เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 16 ราย เป็นบริษัทต่างชาติ 7 ราย เป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ 3 ราย และเป็นบริษัทที่เกี่ยวกับสัมปทานของรัฐ 2 ราย

ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ผลการพิจารณากรณีร้องเรียนในอดีต มีการดำเนินการทางกฎหมายกรณีเดียวคือ กรณีที่บริษัท ฮอนด้า ห้ามเอเย่นต์ขายสินค้า (จักรยานยนต์) ของคู่แข่ง ในกรณีนี้อัยการส่งไม่ฟ้องเนื่องจากการดำเนินการผิดขั้นตอน

ส่วนกรณีขายเหล้าพ่วงเบียร์ พบว่า มีความผิดมาตรา 25 จริง แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีเกณฑ์ “อำนาจเหนือตลาด” จึงไม่สามารถดำเนินคดีได้

ขณะที่กรณีการร้องเรียนเรื่องโทรทัศน์ระบบบอกสมาชิก (UBC) กำหนดอัตราค่าบริการรายเดือนสูงเกินควรนั้น คณะกรรมการฯ มีมติให้ อสมท. เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของค่าสมาชิก ส่วนกรณีค้าปลีกมีการออกเกณฑ์แนวทางในการปฏิบัติ และกรณีอื่นๆ ไม่พบว่ามีความผิด เช่น การกำหนดราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงเกินควร การที่บริษัท Abbott ยกเลิกการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย การทุ่มราคาไข่ไก่ ฯลฯ

จุดอ่อนกฎหมายแข่งขัน

สำหรับปัญหาในการบังคับใช้ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 นั้น ดร.เดือนเด่นระบุว่า มี 4 องค์ประกอบ คือ 1. ปัญหาโครงสร้างองค์กร คือการขาดความเป็นอิสระ และการถูกครอบงำทางการเมืองและผลประโยชน์ของธุรกิจ เพราะจากการวิเคราะห์สายสัมพันธ์ทางธุรกิจของคณะกรรมการการแข่งขันการค้า และคณะกรรมการกลางว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการทั้งในอดีตและปัจจุบัน (ตั้งแตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547) พบว่า กรรมการแข่งขันทางการค้าบางท่านมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้มกับธุรกิจที่อาจมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ตัวอย่างจากการศึกษาวิจัยและการร้องเรียนที่ผ่านมาในอดีต เช่น นายทวี บุตรสุนทร กรรมการกลางว่าดวยการกำหนดราคาสินค้าและบริการในปี 2543 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัททีซีซี โฮลดิ้ง (บริษัทลูกของกลุ่มแสงโสม) (จากรายงานของสุริยะใสและรจิตกนก 2545)ในขณะที่มีการพิจารณากรณีการร้องเรียนเรื่องการขายพ่วงสุราขาวกับเบียร์ของบริษัทในเครือ

และกรณีร้อยโท สุชาย เขาว์วิศิษฐ์ (อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน) ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยตำแหน่งในปี 2543 มีการพิจารณาประเด็นการผูกขาดธุรกิจโทรศัทศน์เคเบิ้ล ซึ่งมีการร้องเรียนเรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสมาชิกรายเดือนที่สูงเกินควร (ในขณะที่รายงานของสุริยะใสและรจิตกนก 2545) ระบุว่า ร้อยโทสุชายเป็นกรรมการบริษัทเซเว่น อีเลเว่น บริษัทในเครือเจริญโฑภคภัณฑ์ด้วย

นอกจากนี้ ดร.เดือนเด่น ได้ยกกรณีศึกษาดังกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ที่ถูกร้องเรียนกับการเมืองโดยมีกรรมการหรือเครือญาติของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งทางการเองอีกและมีการบริจาคเงินแก่พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นรัฐบาล ณ เวลานั้นด้วย

ตัวอย่างเช่น กลุ่ม เจริญโภคภัณฑ์ มีนายธนินทร์ เจียรวนนท์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และนายวัฒนา เมืองสุข ซึ่งเป็นลูกเขยนายสุเมธ เจียรวนนท์ เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีป 2545-2546 รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ปี 2547 และในปี 2548 ดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

2. ปัญหาในการดำเนินการ คือการขาดกฎ ระเบียบที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน และการขาดงบประมาณ และบุคคลากร โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยได้งบประมาณเพียง 2-3 ล้านบาท ต่อปี เทียบกับองค์กรเดียวกันนี้ (KPPU) ของอินโดนีเซียที่มีงบประมาณ 284 ล้านบาท ขณะที่บุคคลากรของไทยมีเพียง 28 คน แต่ของอินโดนีเซียมีจำนวน 234 คน

3. ปัญหากรอบภารกิจ คือไม่ครอบคลุมลักษณะพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และไม่ครอบคลุมภาระกิจในการให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายแก่รัฐบาล โดยกฎหมายไม่ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายความว่า ปัญหาการผูกขาดที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐวิสาหกิจหรือเกิดจากกระทำของหน่วยงานราชการจะไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาแต่อย่างใด

ที่มา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ setsmart
ที่มา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และ setsmart

แต่จากการศึกษาเบื้องต้นของโครงการวิจัยเกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแข่งขันทางการค้าของสถาบันการแข่งขันทางการค้าของทีดีอาร์ไอพบว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ศึกษาในหลายประเทศไม่มีฉบับใดให้การยกเว้นแก่รัฐวิสาหกิจไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย

“โดยทั่วไปแล้ว กฏหมายจะให้การยกเว้นแก่พฤติกรรมทางการค้าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย หรือระเบียบ กติกาของภาครัฐอยู่แล้ว เพราะมาตรการของภาครัฐไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจหรือโดยธุรกิจเอกชน ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้การยกเว้นแก่รัฐวิสาหกิจเป็นการเฉพาะ”

และ 4. ปัญหาบทลงโทษไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยเป็นโทษทางอาญา โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่กระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ แต่กรณีมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบปรับแทนได้ ขณะที่บทลงโทษในต่างประเทศมีทั้งโทษทางแพ่งและทางอาญา

4 แนวทางปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขัน

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ดร.เดือนเด่นเสนอว่า

1. ต้องแปลงสภาพสำนักแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระ จากฝ่ายบริหาร โดยกรรมการในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าควรปลอดจากนักการเมือง และตัวแทนภาคธุรกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หากเป็นข้าราชการต้องมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า หากเป็นนักวิชาการต้องเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการที่มี่ผลงานทางด้านกฎหมายแข่งขันทางการค้า นอกจากนั้น กรรมการจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้น หรือ ผู้บริหารในสมาคมวิชาชีพ สมาคมการค้า หรือบริษัทใดๆ ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าเกณฑ์ หรือบริษัทมหาชน ก่อนที่จะมาเป็นกรรมการไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น

2. ยกเลิกข้อยกเว้นที่ให้แก่รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจจำนวนมากได้รับสิทธิพิเศษที่ทำให้ได้เปรียบธุรกิจเอกชน เช่น การไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล (ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) การได้รับสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ฯลฯ จึงมีโอกาสที่จะผูกขาดตลาดได้มากกว่าบริษัทเอกชนทั่วไป

3. ปรับปรุงบทลงโทษ ด้วยการปรับบทลงโทษทางแพ่งมากกว่าการลงโทษทางอาญา ทั้งนี้ควรมีการกำหนดโทษทางแพ่งตามสัดส่วนของความเสียหายที่สามารถประเมินได้ ซึ่งนอกจากจะลดความเข้มข้นของภาระในการพิสูจน์การละเมิดกฎหมายแล้ว ยังจะทำให้ธุรกิจต้องตระหนักถึงความคุ้มค่าทางการเงินของการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการละเมินกฎหมายอีกด้วย

4. ขยายขอบเขตภารกิจของสำนักแข่งขันทางการค้า ให้มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบนโยบาย หรือมาตรการของภาครัฐที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาด และควรที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ให้สำนักแข่งขันทางการค้ามีอำนาจหน้าที่ในการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ และนโยบายของภาครัฐที่มีผลกระทบในการจำกัดการแข่งขันในตลาดต้องได้รับข้อคิดเห็นจากสำนักแข่งขันทางการค้าด้วย และต้องทำความเห็นโต้ตอบหรือชี้แจง

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า การแข่งขันในตลาดนั้นย่อมนำ​ไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และก่อให้เกิดผลดีต่อผู้บริ​โภค ในทางตรงกันข้าม การผูกขาดเป็นบ่อเกิดแห่งความไร้ประสิทธิภาพ และยังเป็นแหล่งบ่มเพาะการทุจริตคอร์รัปชั่น

ถึงแม้ว่าแต่ละภาคธุรกิจจะมีความซับซ้อนและมีเงื่อนไขอันนำมาสู่​สภาพการแข่งขันที่แตกต่างกัน แต่การมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม​เป็นสิ่งพึ่งประสงค์สำหรับเศรษฐกิจไทย โดยกลไกที่สำคัญคือกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และองค์กรเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายนั้น

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่สมบูรณ์แบบ คือ พระราชบัญญัติการแข่งขันทาง​การค้า พ.ศ. 2542 และมีการตั้งคณะกรรมการแข่ง​ขันทางการค้า และสำนักงานการแข่งขันทางการค้า เพื่อกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลากว่า 12 ปีที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ยังไม่เคยมีการกล่าวโทษ หรือ ดำเนินคดีแก่ผู้ประกอบการแม้แต่รายเดียว การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว​ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ​ ซึ่งมีประเด็นการขาดความเป็นอิสระของคณะกรรมการแข่งขัน​ทางการค้าและสำนักงานแข่งขันทางการค้าเป็นปัญหาสำคัญ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งจะครอบคลุมถึงการปฏิรูป​คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า​และสำนักงานแข่งขันทางการค้า รวมถึงนโยบายจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจไทย