ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เอกชนผนึกพลังส่งสัญญาณหยุดคอรัปชั่น

เอกชนผนึกพลังส่งสัญญาณหยุดคอรัปชั่น

18 ตุลาคม 2011


การประชุมระดับชาติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตประจำปี 2554 (CAC National Conference 2011)
การประชุมระดับชาติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตประจำปี 2554 (CAC National Conference 2011)

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในฐานะองค์กรจัดงานของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ได้จัดการประชุมระดับชาติเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตประจำปี 2554 (CAC National Conference 2011) ในหัวข้อ “Promoting Transparency in Thai Market Place โดยการประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอความรู้เกี่ยวกับบทบาทและแนวทางในการพัฒนากระบวนการการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชน โดยผู้ทรงคุณวุฒิและมีการเสวนาในเรื่องการเพิ่มความโปร่งใสในภาคธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ

ในช่วงเช้าของการประชุมนายภักดี โพธิศิริ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของภาคเอกชนไทยตามกฎหมายต่อต้านการทุจริตฉบับใหม่” โดยได้กล่าวว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีการแผ่ขยายลุกลามไปในวงกว้างและมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มความซับซ้อน บ่อนทำลายเศรษฐกิจสังคมของประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้มีการประเมินเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาพบว่าการทุจริตคอรัปชั่นของภาครัฐ ก่อให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25 %-30 % ของวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด และผลการศึกษาของไอเอ็มเอฟพบว่าการทุจริตคอรัปชั่นส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP ลดลงได้มากกว่า 0.5 %

สำหรับวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปรับปรุง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554 เพื่อนำมาป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในประเทศ โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจโดยตรงคือ การปรับปรุงมาตรา 103/7

“มาตรา 103/7 มีขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูล รายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับโครงการที่มีมูลค่าโครงการตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจสอบได้ โดยให้คู่สัญญาของรัฐ แสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการต่อกรมสรรพากร และป.ป.ช. มีอำนาจในการเรียกตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการชำระเงินภาษีของคู่สัญญารัฐที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต”

หลังจากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง “บทบาทความร่วมมือของของภาคธุรกิจในการเพิ่มความโปร่งใสและต่อต้านการคอร์รัปชั่น” ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ ดร.เมธี ครองแก้ว กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช., ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการ องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยและกรรมการคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต, นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

โดยดร.เมธี ครองแก้ว ได้พูดถึงหลักความซื่อสัตย์ 5 ประการในการประกอบกิจการ ที่ประกอบไปด้วยสิ่งแรกคือความซื่อสัตย์ต่อรัฐ โดยการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ทางสังคม และการเสียภาษีที่ถูกต้อง สองคือความซื่อสัตย์ต่ออุตสาหกรรม โดยการพัฒนาและจรรรโลงความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว ไม่มองเฉพาะผลกำไรในระยะสั้น สามคือความซื่อสัตย์ต่อคู่แข่ง แข่งขันกับคู่แข่งด้วยความสามารถในนวัตกรรม การผลิต และการจัดการ มิใช่การทำลายล้างโดยวิธีที่ผิดกฎหมายหรือเอารัดเอาเปรียบ สี่คือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า โดยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยภายใต้กำไรที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการผูกขาดตัดตอนที่จะเป็การเอาเปรียบลูกค้าหรือผู้บริโภค ห้าคือความซื่อสัตย์ต่อลูกจ้าง โดยการให้ค่าจ้าง ดูแลสวัสดิการระหว่างทำงานและชีวิตหลังการทำงานอย่างเหมาะสม

ในตอนท้าย ดร.เมธี ได้ให้ความเห็นกฏหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ว่า “ในมาตรา 103/7 อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เรื่องตัวเลข 500,000 บาท ส่วนตัวมีตัวเลขที่คิดไว้ คนอื่นอาจคิดว่าเหมาะสมหรือไม่ก็ได้ คืออย่างน้อย 500 ล้านบาท เพราะมีตัวอย่างปัญหาเรื่องนักวิชาการที่ทำงานกับภาครัฐจะต้องมานั้งทำบัญชีอาจส่งผลต่อคุณภาพการทำงานด้านการวิจัย แต่ก็คิดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสามารถปรับเปลี่ยนในภายหลังได้”

ดร.เมธี ครองแก้ว กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.
ดร.เมธี ครองแก้ว กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.

ส่วนดร.จุรี วิจิตรวาทการ ได้ให้ความเห็นเรื่องการร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านทุจริตว่า “การต่อต้านการทุจริตร่วมกันจะทำให้สังคมมีพลังเพิ่มขึ้น การทำคนเดียวหรือเสียงเดียวไม่มีน้ำหนัก เมื่อรวมกันคนจะรับฟัง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังที่เข้มแข็ง”

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนคต หากยังมีการคอรัปชันอยู่ เมื่อมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AEC ประเทศไทยจะประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เนื่องจากการคอรัปชันเป็นอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรม ในระยะยาวการคอรัปชันจึงมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี และได้เสนอถึงวิธีการแก้ไขปัญหาคอรัปชันในเบื้องต้นว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศจะต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้เพื่อให้คนเกรงกลัวการทำความผิด

ขณะที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ได้เสนอถึงค่านิยมที่จะทำให้บริษัทมความยั่งยืนคือ ต้องเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance – CG) ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปโดยได้รับความเชื่อถือและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR)

ในช่วงบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อ “ความโปร่งใสกุญแจสู่การปฏิรูปการจัดซื้อ จัดจ้าง” มีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายอาซาน อาลี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการจัดซื้อจัดจ้างของธนาคารโลก, ดร.อุทิศ ขาวเธียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช., นายอวยพร ตันละมัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร และนางรัตนาวลี โรจนารุณ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติ กระทรวงการคลัง

นายอาซาน อาลี ได้พูดถึงสถานการณ์ของการประมูลจัดซื้อ จัดจ้างสาธารณะทั่วโลกว่า “การประมูลจัดซื้อ จัดจ้างสาธารณะ กินส่วนแบ่ง 10 % – 20 % ของสัดส่วน GDP ทั้งประเทศ โดยทั่วโลกรัฐบาลต่างๆได้ใช้เงินรวมกันในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะเป็นเงินกว่า 5 ล้านๆดอลลาสหรัฐฯในแต่ละปี โดยภูมิภาคที่มีการคอรัปชันในการประมูลจัดซื้อ จัดจ้างสาธารณะมากที่สุดคือ ทวีปเอเชีย”

ดร.อุทิศ ขาวเธียร ได้อธิบายสาเหตุของการเกิดคอรัปชันว่าขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่ได้จากการคอรัปชัน ถ้ามีการโกงแล้วได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ การคอรัปชันจะมีมาก ประการต่อมาคือความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ หากเสี่ยงสูง การคอรัปชันก็จะลดลง และสุดท้ายคือการโดนลงโทษ หากมีการทุจริตแล้วใช้เวลานานกว่าจะรับโทษหรือมีโอกาสที่จะไม่ถูกดำเนินคดีการทุจริตก็จะมีมาก โดยได้สรุปเป็นสมการในตอนท้ายคือ การทุจริตเท่ากับผลประโยชน์ลบด้วยความเสี่ยงและความรุนแรงของโทษ (การทุจริต = ประโยชน์ – ค.เสี่ยง – ความรุนแรงของโทษ)

ด้านนางรัตนาวลี โรจนารุณ ได้พูดถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาคอรัปชันว่าในอนาคตกระทรวงการคลังจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องการคอรัปชัน และสนับสนุนให้การประมูลจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด กระทรวงการคลังจะพัฒนาระบบการประมูลออนไลน์หรือ ETP ให้มีความโปร่งใสมากขึ้นซึ่งระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2555 และจะมีการพัฒนาให้มีองค์กรอิสระมาทำการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างอีกด้วย

ดานนายอวยพร ตันละมัย ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ใน พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ในส่วนของมาตรา 103/7 ว่าในกฎหมาย การระบุคำว่า “คู่สัญญา” กินขอบเขตกว้างมาก จนกระทั่งอาจมีปัญหากับหน่วยงานของรัฐเองได้ เช่น มหาวิทยาลัยที่ทำสัญญากับรัฐ กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นบัญชีด้วย แต่ในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยของรัฐไม่เคยเสียภาษีเลย การทำบัญชีควรเป็นอย่างไร ส่วนในกรณีของรัฐวิสาหกิจ ก็อาจมีปัญหาเช่นกัน ดังตัวอย่างของบริษัท ปตท. ที่ในแต่ละปีต้องทำสัญญาขายน้ำมันให้กับราชการเป็นหมื่นเป็นแสนแห่ง จึงอาจมีปัญหาและรายละเอียดในแบบฟอร์มก็มีมากกว่า 20 หน้า หากต้องยื่นปีหนึ่งเป็นแสนหรือล้านชุดจะต้องทำอย่างไร การแยกทำบัญชีดังกล่าวเป็นโครงการเป็นการผิดหลักการทางบัญชี ทำให้ต้องแก้ไขระบบการทำบัญชีแบบเดิม เกิดเป็นต้นทุนมหาศาล โดยกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้โครงการที่รัฐต้องจ่ายเงินให้คู่สัญญาต้องยื่นบัญชี แต่ในกรณีของการให้เอกชนจ่ายเงินให้กับรัฐ เช่น การซื้อสัมปทาน 3G ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล ควรจะมีการยื่นบัญชีด้วยหรือไม่ เพราะการขายสัมปทานดังกล่าวก็มีจำนวนเงินมหาศาลเช่นกัน”

ในตอนท้ายนายอวยพร ได้เล่าถึงปัญหาของกรมสรรพากรว่า “ขณะนี้กรมสรรพากรยังไม่มีความพร้อมในการตรวจสอบแบบบัญชี เนื่องจากกรมสรรพากรยังไม่มีเซิร์ฟเวอร์ที่เพียงพอในการรองรับข้อมูล หากจะให้พร้อมต้องมีการซื้อเซิร์ฟเวอร์เพิ่ม แต่ขณะนี้กรมสรรพากรไม่ได้ยื่นของบในปีงบประมาณ 2555 ทำให้ต้องไปยื่นของบในปี 2556 แทน ปัญหาที่จะตามมาคือ กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 กรมสรรพากรจะทำอย่างไร”

และในการเสวนาช่วงสุดท้ายในหัวข้อ “Challenges and Solutions: How can Thai Companies Pro-Actively Promote Transparency to Mitigate Corruption Risk and Establish Best Practice Standards” มีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน เอสซีจีและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี การลงทุน, นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และนายทศพร รัตนมาศทิพย์ ประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต สมาคมธนาคารไทย

การเสวนาในช่วงนี้จะเป็นการเปิดเผยถึงประสบการณ์การทำธุรกิจของบริษัทไทย ในการสร้างมาตรฐานความโปร่งใสและลดการคอร์รัปชัน โดยนายเชาวลิต เอกบุตร ได้เปิดเผยถึงองค์ประกอบในการสร้างความโปร่งใสของเอสซีจีที่ว่าระบบและโครงสร้างที่ต้องมีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบติดตาม ประการต่อมาคือวัฒนธรรมองค์กรที่ตั้งมั่นในความเป็นธรรมและยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม และคน ที่ผู้นำองค์กรต้องเป็นคนแสดงออกถึงคุณค่าที่องค์กรจะยึดมั่น

นายชาลี จันทนยิ่งยง ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการต่อสู้กับคอรัปชันว่า การต่อสู้ทำคนเดียวไม่พอ ต้องต้องผนึกกำลังสังคมภายนอกให้ทำไปด้วยกัน โดยได้เสนอมาตรการที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการสร้างให้สังคมมีค่านิยมที่ไม่ดีต่อการคอรัปชันและพัฒนามาตรฐานค่าธรรมาภิบาลต่างๆให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นในอนาคต

และนายทศพร รัตนมาศทิพย์ ที่ได้ยกข้อมูลจากองค์กรต่างๆที่ประเมินดัชนีเรื่องคอรัปชั่นไทย เช่น CPI หรือ Corruption Perceptions Index ที่ประเมินว่าไทยมีดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป คือ 3.5 จาก 10 และมีการอ้างถึงผลสำรวจจากสภาหอการค้าซึ่งบอกว่า นักธุรกิจไทยมองว่าการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทยและยอมรับในเรื่องการทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข

ขณะเดียวกันก็ได้หยิบยกค่านิยมที่บริษัทขนาดใหญ่ของโลกคำนึง 4 เรื่อง คือ กำไร แบรนด์ ความปลอดภัยของพนักงานและความรับผิดชอบทางด้านกฎหมาย แต่พบว่าบริษัทในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ไม่ครบ การรับมือกับปัญหาคอรัปชันในเมืองไทยควรมีกระบวนการที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การป้องกันไม่ให้เกิด ถ้าเกิดต้องตรวจสอบแก้ไข เป็นการทำงานแบบบูรณาการ

อนึ่ง สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของกรรมการและส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นการริเริ่มและผลักดันให้ภาคเอกชนเห็นถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตและร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตในวงกว้าง โดยในช่วงที่ผ่านมา IOD ได้มีผลการดำเนินงานที่สำคัญคือ การสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้าการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption) เพื่อเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันให้บริษัทที่เป็นสมาชิกต่อต้านการติดสินบน ทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ในขณะนี้แนวร่วมดังกล่าวมีสมาชิกทั้งสิ้น 52 บริษัท