ThaiPublica > คนในข่าว > หัวอก “ขุน” วันตกเป็น “เบี้ย” สมศักดิ์ ฮึด! ปิดประตูแพ้ “ปชป.”

หัวอก “ขุน” วันตกเป็น “เบี้ย” สมศักดิ์ ฮึด! ปิดประตูแพ้ “ปชป.”

7 ตุลาคม 2011


สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42

“…ยุทธวิธีของเขาก็ต้องตีประธานกับนายกฯ ต้องตีหัว ตีหางมันจะไปมีผลอะไร แต่วิธีการควรสร้างสรรค์กว่านี้ เล่นกันแบบนี้ประชาชนเขาดูออก มันตื้นเกินไป…”

“เกียรติยศ” คือแรงจูงใจให้ “เขา” ถีบทะยานตัวเองขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตการเมือง-ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ

3 สิงหาคม 2554 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42

ผ่านมา 2 เดือน… กลับไม่เป็นอย่างที่คาด เมื่อถูกฝ่ายค้านลองของ-ลูบคม-หลู่เกียรติไม่เว้นแต่ละสัปดาห์

จากที่เคยได้ฉายา “ขุนค้อน” กลับตกเป็น “เบี้ยล่าง” ของสมาชิก ซึ่งกล่าวหาว่า “เขา” คือ “เบี้ย” ตัวหนึ่งที่ถูก “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้

จากควรแสดงบท “กรรมการกลาง” คอยห้ามทัพ – ระงับศึกระหว่าง ส.ส. รัฐบาลกับฝ่ายค้าน กลับโดนลากลงจากบัลลังก์ให้สมาชิกตะลุมบอนเสียเอง

ถึงขั้นเจ้าตัวเคยหลุดปากระบายความในใจว่ารู้สึก “ว้าเหว่” และ “สะบักสะบอม” มาก

ในวันที่ “ขุนค้อน” ที่เปรียบได้กับ “ขุนศึกในสภา” ของพรรคเพื่อไทย (พท.) แปรสภาพเป็น “ขุนสึก”

“สมศักดิ์” เปิดอกช้ำๆ นั่งพูดคุย-ทบทวนทุกเรื่องราวที่ผ่านมากับ “ไทยพับลิก้า”

เขายืนยันว่าตัวเองยังอยู่ในจุด “สูงสุด” ของชีวิตการเมือง ไม่ใช่จุด “เสื่อม-ทรุด” แต่อย่างใด…?

ไทยพับลิก้า : ผ่านมา 2 เดือนของการทำหน้าที่ประธานสภา เป็นอย่างไรบ้าง

(อมยิ้ม) ก็… สบายดี แต่จะมีความวุ่นวายบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการประชุมสภา

ไทยพับลิก้า : หากให้ประเมินจุดพอใจ กับจุดผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากที่คาดหวังไว้ก่อนรับตำแหน่ง มีอะไรบ้าง

คือ… ตั้งความหวังไว้ว่าฝ่ายค้านจะทำหน้าที่สร้างสรรค์กว่าเดิม เพราะเขาพูดเองว่าจะทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ แต่ก็รู้สึกจะผิดหวัง เพราะพอเอาเข้าจริงๆ เป็นเรื่องการเอาชนะกันมากกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้การเมืองตอนนี้ เอาเรื่องที่มันสร้างสรรค์มาพูดคุยกันดีกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันหน้ามาหากัน ประเทศชาติบอบช้ำมามากแล้ว พอแล้ว เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ สุดท้ายคนที่จะรับเคราะห์ก็คือประชาชน 65 ล้านคน

ไทยพับลิก้า : คิดว่าการแสดงออกของฝ่ายค้านในช่วงที่ผ่านมา เป็นไปเพื่อลองของประธานใหม่ หรือเป็นการทบทวนวิชาหลังห่างหายการทำหน้าที่ฝ่ายค้านไป 2 ปี

ผมว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องการลองของ หรือทบทวนวิชาอะไรหรอก แต่เป็นเรื่องของการเอาชนะคะคานกันมากกว่า ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น

ไทยพับลิก้า : บางครั้งเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

ก็เนี่ย ผมถึงไม่เข้าใจไง บางทีถึงหลุดคำพูดออกมาตอนนั่งอยู่บนบัลลังก์ว่า “ทำอย่างนี้แล้วได้อะไร” บางทีมัน… ไม่มีเหตุมีผล

ไทยพับลิก้า : แต่ในอีกมุมหนึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าประธานสภาไม่ทันเกมฝ่ายค้านหรือเปล่า

ไม่ใช่เรื่องไม่ทันเกม แต่เป็นความดื้อรั้นจนไม่มีเหตุมีผล และพยายามยัดเยียดว่าประธานไม่เป็นกลาง ไปรับคำสั่งคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) มา กลายเป็นเรื่องของการยัดเยียด และพูดตอกย้ำแล้วตอกย้ำอีก แต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าไม่เป็นกลางอย่างไร เป็นการกล่าวหาลอยๆ อย่างครั้งหลังสุด เรื่องกระทู้ถามสด มีการไปพาดพิงพรรครัฐบาลเขา ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติ หากมีการพาดพิง กระทบไปถึงพรรคการเมือง การอนุญาตให้เขาใช้สิทธิพาดพิงตลอดหากมันเกิดความเสียหาย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่มาเถียงว่าไม่เคยทำ ไม่เคยมี ขณะที่เถียงอยู่ดีๆ พอรัฐบาลพาดพิงกลับมาบ้าง คราวนี้ตัวเองขอใช้สิทธิ ทั้งที่เมื่อกี้บอกห้ามใช้ พอเราอนุญาตให้ใช้สิทธิ กลับด่าเราอีก หาว่าไม่ให้พูดอย่างนั้นอย่างนี้ ปิดไมค์ พอใช้สิทธิจบ เราจะให้อีกฝ่ายใช้สิทธิบ้าง ไม่ยอม กลายเป็นการวอล์คเอาท์ สรุปแล้วเราอยู่ในกรอบตลอด แต่กลายเป็นการตีรวน หาเรื่อง เอาชนะคะคาน ผมว่ามันไม่ดี

ข้อบังคับการประชุม เป็นข้อบังคับเดิมที่พวกคุณเป็นคนเขียนให้ผมใช้ อย่างคำวินิจฉัย คุณเขียนมาชัดๆ เลยว่าคำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด ถือเป็นที่สุด แล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่ให้เด็ดขาด เถียงได้ แย้งได้ คุณไปแก้กันใหม่สิ ก็คุณเขียนมาให้ เขียนว่ามันเด็ดขาด มันจบแล้ว แต่คุณไม่ยอมจบ บอกว่าตัดสินใจไม่ถูกต้อง อ้าว! แล้วคำตอบสุดท้ายอยู่ตรงไหน คำวินิจฉัยเด็ดขาดคือจบเลย เหมือนกับฟุตบอล พอให้ใบแดง ก็ต้องออกเลย ห้ามเถียง พอมารีเพลย์ดู อ้าว! กรรมการตัดสินผิดนี่หว่า ไม่ได้มีปัญหา แต่ไปให้ใบแดงเขาแล้ว เอาคืนไม่ได้นะใบแดง จบไปแล้ว แต่กรรมการไม่ได้เรื่อง ถูกคาดโทษ ผิดอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปเขาก็ไม่ให้ไปตัดสินบอลโลก

ไทยพับลิก้า : ท่านเคยบอกว่าบทบาทของประธานสภาคือ เป็นกรรมการห้ามทัพระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ทำไมภาพที่ปรากฏกลายเป็นประธานถูกลากมาเป็นลูกฟุตบอลให้สมาชิกรุมเตะ

ฝ่ายหนึ่งเขาจัดขบวนทัพของเขา แล้วจัดได้เข้มแข็ง อีกฝ่ายหนึ่งขบวนทัพยังไม่ได้จัด ยังไม่เข้มแข็ง เพิ่งมาจัดกัน ก่อนหน้านั้นยังไม่มีวิป (คณะกรรมการประสานงานสภา) ด้วยครับ แถลงนโยบายยังไม่มีวิป แปลว่ายังไม่จัดทัพ ในเมื่อยังไม่ได้จัดทัพ มันเลยมั่วไง แล้วอีกฝ่ายจัดมาเป็นขบวนอย่างดี ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น

ไทยพับลิก้า : พท. ประเมินกันอย่างไร ทั้งๆ ที่รู้ว่าฝ่ายค้านยุคนี้เข้มแข็ง เหตุใดถึงลงสนามโดยไม่วางแผน

บางทีกระชั้น และภาระเยอะ คนนั้นคนนี้ปัญหาเยอะ อย่างคนเป็นนายกฯ อะไรไม่รู้ เยอะไปหมด ก็ต้องเห็นใจ

ไทยพับลิก้า : เวลาถูกตีรวน เลยกลายเป็นว่าไม่มีคนจากพรรคเพื่อไทยช่วยประธานสภาเลย

(พยักหน้ารับ) เลยกลายเป็นว่าผมต้องไปลุยเดี่ยว ซึ่งไม่ใช่ๆๆ ถูกหรือเปล่า ต้องมีคนมาแย้ง มาชี้แจงแทนผม หลักการประชุมเนี่ย ถ้าฝ่ายนี้บอกว่าสีขาว อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย บอกว่าสีดำ ก็ให้เหตุผลมา ผมก็กรรมการตัดสิน พอตัดสินแล้วถือเป็นที่สุด ถึงผิดก็ห้ามเถียง ถ้ามาเถียงแทนเพื่อน ก็ใบแดงใบที่ 2 ถูกหรือเปล่า เพราะผิดกติกา เขาไม่ให้เถียง คุณมาเถียงได้อย่างไร จะหาว่าวินิจฉัยไม่เป็นธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ อ้างเหตุตรงนี้มาเถียง ไม่ได้ ต่อให้วินิจฉัยไม่เป็นธรรม ไม่มีสิทธิเถียง กติกาคุณเป็นคนกำหนดมาให้ผมเอง ไม่ใช่ไม่มีอะไรก็ประท้วงตามข้อ 8 ประธานไม่รักษาความสงบเรียบร้อย คุณนั่นแหล่ะไม่สงบเรียบร้อย ก็โทษตัวเองนั่นแหล่ะที่ผิดข้อ 8

อีกอย่างไม่รู้จะทำอะไร ก็ประท้วงข้อ 63 ยืนขึ้น ยกมือ ประท้วง ประธานต้องอนุญาต ถือว่าประธานปฏิบัติตามข้อ 63 ครบถ้วนแล้ว ทีนี้ประธานถามว่าคุณประท้วงใคร ผิดข้อบังคับข้อไหน เพราะการประท้วงตรงมีคนผิดข้อบังคับเท่านั้น ถ้าไม่มีใครผิดข้อบังคับ ไม่มีสิทธิประท้วง เสร็จแล้วเขาบอกว่าประท้วงท่านประธาน อ้าว! ประธานผิดข้อบังคับข้อไหน บอกข้อ 63 ผมให้พูดแล้ว ให้ประท้วงแล้ว แล้วผิดตรงไหน เขาบอกท่านประธานไม่อนุญาตให้ประท้วง มันก็อยู่อย่างนี้ เถียงอยู่อย่างนี้ คือเถียงจะเอาชนะ พอเราลุกขึ้นยืน ก็นั่งลง พอเรานั่งลง ก็ลุกขึ้นยืนหลาย 10 คน พอเราเอารปภ. มาให้เอาออกไป รปภ. เข้ามา 3 คน ปรากฏลุกขึ้นยืนพึ่บหลาย 10 คน เอาคนหมู่มาก เสร็จแล้วรปภ. 3 คนทำอะไรไม่ได้ เอาออกจากห้องประชุมไม่ได้ เขาเรียกว่าอะไร เกเร ไม่สร้างสรรค์ ถ้ายังเล่นการเมืองแบบนี้ต่อไป ประชาธิปัตย์(ปชป.)ลำบาก ไม่ใช่ผมลำบาก คนนั่งดูหน้าจอทีวีเขาไม่แฮปปี้หรอก จะเป็นผลเสียต่อปชป. เอง ปชป. กำลังทำลายตัวเองหรือเปล่า กำลังเล่นเกมกับประธาน โย้กันมานานเนี่ย ทำแล้วได้อะไร

ไทยพับลิก้า : ในขณะที่เกิดการตะลุมบอลในสภา มองเห็นลูกทีมเพื่อไทย คนไหนคอยช่วยเหลือประธานบ้างหรือไม่

เรื่องนี้ผมเพิ่งคุยกับวิป คุยกับพวกเรา กำลังปรับกระบวนท่ากันอยู่ ไม่ควรปล่อยให้ผมต้องไปทะเลาะกับข้างล่าง ข้างล่างเนี่ยที่จริงมันเป็นดำไง แต่เขาบอกว่าขาว ไอ้เราไม่ได้ไปเถียงกับเขาว่าเป็นดำนะ แต่เราชี้แจงว่าเป็นดำ ไม่ใช่ขาว และข้อบังคับเป็นอย่างนี้ เถียงในข้อบังคับ ทีนี้เขาบอกขาว ผมบอกดำ คนที่ 2 ของเขาก็บอกขาว ผมบอกดำ คนที่ 4, 5, 6 บอกขาวๆๆ ผมก็บอกดำๆๆ เลยกลายเป็นว่าผมลงไปเล่นกับคนข้างล่างเอง สุดท้ายเลยกลายเป็นเข้าทางเขา ก็หาว่าผมไม่เป็นกลาง ทำไมผมต้องไปทะเลาะกับข้างล่าง ควรที่ฝ่ายรัฐบาลจะลุกขึ้นมาบอกว่าดำ เหตุผลคืออะไรก็บอกประกอบ อีกฝ่ายบอกขาว ก็บอกเหตุผลประกอบ แล้วผมก็วินิจฉัย

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42

ไทยพับลิก้า : คำวินิจฉัยของประธานออกได้แค่ขาวกับดำ

(พยักหน้ารับ) ใช่

ไทยพับลิก้า : แต่การที่ประธานสภาลงไปสู้รบกับคนข้างล่าง ทำให้ภาพลักษณ์กลายเป็นเทาไปแล้ว จะกู้กลับมาอย่างไร

ก็ถึงบอกว่าต้องปรับขบวนไง ต้องมีคนมาว่าแทนผม

ไทยพับลิก้า : จะปรับขบวนอย่างไร

ควรมีทัพเล็ก ทัพกลาง ทัพหลวง ควรต้องมี ทัพเล็กก็ปกติอย่างนี้ ชุดเล็กเล่นกัน (ชี้ไปที่หน้าจอโทรทัศน์วงจรปิดของรัฐสภา ซึ่งส.ส. หน้าใหม่กำลังอภิปรายกันอยู่) อย่างวันแถลงนโยบายของรัฐบาล ปชป. ยกทัพหลวงมาแล้ว จุรินทร์ (ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน) อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา) เทพเทือก (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี ปชป.) คุณชวน (หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาปชป.) แล้วผมต้องไปซดกับทัพหลวงคนเดียวเนี่ย ไม่ใช่ล่ะ ถ้าอย่างนี้ทัพหลวงของฝ่ายรัฐบาลต้องเข้ามาแล้ว ต้องมาแย้งกันหน่อย ต้องลุกขึ้นเถียงแทน เอาหน้าแชล่มๆ ก็ได้ เอาไปเถียงกับท่านอภิสิทธิ์ เทพเทือกอย่างนี้ วิสาระดี (เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. เชียงราย พท.) ขึ้นไปสู้ได้ เพราะเอาข้อเท็จจริงไปเถียง ก็ชนะ

ไทยพับลิก้า : ใครจะเป็นผู้นำทัพเล็ก ทัพกลาง ทัพหลวงของรัฐบาล

ทัพใหญ่ก็น่าจะเป็นไพจิต (ศรีวรขาน ส.ส. นครพนม) พีรพันธ์ (พาลุสุ ส.ส. ยโสธร) หมอชลน่าน (ศรีแก้ว ส.ส. น่าน) มีอุดมเดช (รัตนเสถียร ส.ส. นนทบุรี) ที่เป็นประธานวิปรัฐบาล อย่างนี้ต้องนำทัพ เวลาเขายกทัพหลวงมา เราต้องมีทัพหลวงเขาเราบ้างสิ สรุปทัพหลวงคือผู้อาวุโสในสภา รู้ข้อบังคับดี ส่วนทัพกลางก็ถัดๆ ลงไป เอาส.ส. รุ่นกลางๆ มาว่ากันไป ทัพเล็กหน่อยก็มือใหม่ 1-2 สมัย มันต้องอย่างนี้ ไม่ใช่ปล่อย ลอยแพประธาน โดนล่าอยู่คนเดียว อย่างนี้เหนื่อย

ไทยพับลิก้า : เคยวิเคราะห์หรือไม่ว่าเหตุที่ไม่มีองครักษ์พิทักษ์ในสภา อาจเป็นกว่าจะขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ ต้องฟาดฟันกับผู้คนมาเยอะ

ไม่เกี่ยวหรอก เป็นช่วงฉุกละหุก 1. ไม่มีการตั้งวิปเป็นทางการ จึงไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีใครใส่ใจรับผิดชอบ 2. มีอะไรต้องลุ้นกันต่อเนื่อง จึงไม่มีใจมาทำอะไรในสภา เพราะลุ้นเป็นรัฐมนตรี จากนั้นก็ลุ้นเป็นประธานกรรมาธิการ ไม่สนแล้วสภา ลุ้นตรงนั้นก่อน 3. เพิ่งตั้งไข่ ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เลยวุ่นกันไปหมด และคนที่จะมาเป็นทัพโน่นทัพนี่ อีรุงตุงนัง ยังจัดแถวกันไม่ลงตัว แต่ตอนนี้เริ่มผ่อนคลายแล้ว บรรยากาศต่างๆ คงจะเข้าที่เข้าทาง หลังจากเราวุ่นกันอยู่ เลยมีคนแอบมาเคาะหัว แล้วก็หนีไป

ไทยพับลิก้า : นอกจากเหตุผล 3 ข้อที่ว่ามา คิดว่ามีใครจงใจวางยาประธานหรือไม่

(เงียบไปพักหนึ่ง) ผมว่ามันเป็นธรรมชาติมากกว่า เป็นไปตามเหตุผล 3 ข้อ คงไม่ใช่การวางยาอะไรหรอก

ไทยพับลิก้า : ทุกคนที่เคยเป็นแคนดิเดตประธานสภา อาทิ นายวิทยา บุรณศิริ รมว. สาธารณสุข นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล รวมถึงพ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. นนทบุรี สามารถพูดคุยกันได้

ก็คุยกันได้ ไม่มีปัญหา

ไทยพับลิก้า : ถึงวันนี้คิดว่าอะไรทำให้สายตาผู้คนที่มองมายังประธาน รู้สึกไม่ศรัทธาเท่าสมัยเป็นรองประธาน และได้ฉายา “ขุนค้อน”

แต่ถ้าถามคนนอก เขาชื่นชมเหมือนเดิม ก็ให้กำลังใจตลอด ส่วนคนข้างในมีส่วนได้ส่วนเสีย ก็แล้วแต่จะมอง ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ใครจะมาชมผมล่ะ ส่วนฝ่ายรัฐบาลล่ะว่าไง ก็บอกแล้วว่าฝ่ายรัฐบาลกำลังชุลมุนกันอยู่ ก็แค่นี้ ไม่มีอะไรเลย

ไทยพับลิก้า : แต่ตอนได้ฉายา “ขุนค้อน” คนที่ชมเป็นฝ่ายค้านไม่ใช่หรือ

ก็ตอนนั้นเกมมันจบแล้ว เขามอบถ้วยกันแล้ว แต่ตอนนี้มันยังไม่ได้มอบถ้วย มันกำลังแข่งกันอยู่ แล้วคู่แข่งที่ไหนจะมาชมเราล่ะ

ไทยพับลิก้า : ข้อหาหนึ่งที่ถูกยัดเยียดมาตลอด คือประธานเอียง โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวกับพ.ต.ท. ทักษิณ ถูกสมาชิกตัดสินเลยว่าเอียง อยากอธิบายอย่างไร

ญัตติทุกญัตติ ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณ แต่พยายามจะพูดถึงคุณทักษิณเพื่ออะไร 3 สิ่งที่พูดแล้วเป็นเรื่อง หากฝ่ายค้านอยากจะหาเรื่องจะพูด 3 สิ่งนี้ตลอดคือ เรื่องสถาบัน เรื่องคุณทักษิณ และเรื่องเสื้อแดง พูดเมื่อไรเป็นเรื่องเมื่อนั้น นี่คือสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านจะหาเรื่อง ทีนี้ถามว่า 3 เรื่องนี้พูดได้ไหม พระมหากษัตริย์เขาไม่ให้พูดอยู่แล้ว ก็พูดไม่ได้เลย ส่วนบุคคลภายนอก พูดได้เท่าที่จำเป็น แต่ไม่ใช่เอาคนภายนอกมาเป็นพระเอก ล่อกันตลอด อภิปราย 10 นาที ก็ใส่คนนอกอย่างเดียว ใส่คุณทักษิณอย่างเดียว มันผิดข้อบังคับเห็นๆ เราก็ไม่ให้พูด พอไม่ให้พูดก็โวยวาย ขู่ หาว่าไม่เป็นกลาง รับคำสั่งคุณทักษิณ
ไทยพับลิก้า : ภาพเลยออกมาว่าท่านอาจไม่ใช่ “ขุน” แล้ว แต่เป็น “เบี้ย” ตัวหนึ่งที่ถูกพ.ต.ท. ทักษิณใช้

ถามว่าคนทำหน้าที่ประธานสภาเนี่ย ถ้าจะรับใช้คุณทักษิณ จะทำอะไรให้กับคุณทักษิณได้บ้าง

ไทยพับลิก้า : ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม หรือกฎหมายอะไรก็ได้ที่ พ.ต.ท. ทักษิณรออยู่

ประธานมีหน้าที่กำกับและควบคุมการประชุมให้ผ่านไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีอำนาจไปผ่านรัฐธรรมนูญนะ ประธานไปสั่งใครได้ มีอำนาจไปทำอะไรได้ ให้ผ่านกฎหมายเนี่ย ทั้งหมดเป็นเรื่องของสมาชิกล้วนๆ ทีนี้ฟังนะ ขอย้ำเลย ประธานในฐานะที่เป็นประมุข 1 ใน 3 อำนาจสูงสุด ยังฉลาดพอที่จะไม่เอาเกียรติศักดิ์ศรีของสถาบันเพื่อไปเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ (ทำเสียงเล็กเสียงน้อย) กับฝ่ายค้านเนี่ย ผมคงไม่โง่ทำอย่างนั้นแน่นอน ทุกครั้งที่เกิดเรื่อง มีแต่เรื่องไม่เป็นเรื่องทั้งนั้น แล้วผมจะเอาเกียรติศักดิ์ศรีของสถาบัน ไปแลกกับเรื่องไม่เป็นเรื่องทำไม แล้วได้ประโยชน์อะไร ผมยังฉลาดพอที่จะไม่ทำอย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : แต่อาจมีคนแย้งว่าถ้าเรื่องที่เกี่ยวกับพ.ต.ท. ทักษิณ ต้องเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเพื่อไทย
เป็นเรื่องคุณทักษิณ ใหญ่ไม่ใหญ่ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือคุณดำเนินการตามข้อบังคับไหม เขาแถลงนโยบาย คุณมีหน้าที่วิจารณ์นโยบาย ดีไม่ได้ ปฏิบัติได้ไม่ได้ ไม่ใช่คุณไปพูดเรื่องเปรียบเทียบคุณทักษิณ กับนายกฯ ปู (น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) อ้าว! มันเรื่องอะไรล่ะ ถ้าจะพูดอย่างนั้นต้องตั้งหัวข้อใหม่ ไม่ใช่แถลงนโยบายรัฐบาล ต้องเป็นโต้วาทีคุณทักษิณกับคุณปูเหมือนต่างกันอย่างไร ถ้าอย่างนี้เอาเลยเต็มที่ ทีนี้เราเป็นประธาน เขาให้พูดเรื่องนโยบาย คุณไปพูดเรื่องคุณทักษิณเปรียบเทียบกับคุณปู ผมไม่เบรก เขาก็ต้องประท้วง ก็เห็นแหงๆ ว่านอกประเด็น แต่ก็เถียงมาข้างๆ คูๆ แล้วก็มาสรุปว่าไม่เป็นกลาง รับคำสั่งคุณทักษิณมา

ไทยพับลิก้า : ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพ.ต.ท. ทักษิณเคยระบุในช่วงฟอร์มรัฐบาลว่า ประธานสภาเป็นหนึ่งในตำแหน่งสำคัญในทางยุทธศาสตร์หรือเปล่า ทำให้เกิดภาพจำว่าพ.ต.ท. ทักษิณเป็นคนเลือกมา

ตำแหน่งประธานสภา ผมแคนดิเดตมา 5 ครั้ง ผมผิดหวังมา 4 ครั้ง เพิ่งมาสมหวังครั้งนี้ มันไม่ได้หมายความว่าคุณทักษิณเลือกผมมาเพื่อทำการนั้นการนี้ แล้ว 4 ครั้งที่เขาไม่เลือกผมล่ะ ตอบว่าอะไร ทำไมเขาไปเลือกคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ทำไมเขาไปเลือกคุณโภคิน พลกุล ทำไมเขาไปเลือกคุณยงยุทธ ติยะไพรัช ทำไมเขาไปเลือกคุณชัย ชิดชอบ (ตบโต๊ะเบาๆ ขณะพูดชื่อ) ตีมุมกลับ ตรงนี้ตอบผมหน่อย แล้วคราวนี้มาเลือกผมมั่ง หาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ส่งผมมาแล้วสั่งผมอย่างนั้นอย่างนี้หรือ มันก็ไม่เป็นธรรม

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามประเมินแล้วว่ามีวาระที่เกี่ยวกับพ.ต.ท. ทักษิณจ่อคิวเข้าสภา เลยต้องตีประธานให้เสื่อมก่อน

ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของเขาก็ต้องตีประธานกับนายกฯ ต้องตีหัว ตีหางมันจะไปมีผลอะไร แต่วิธีการควรสร้างสรรค์กว่านี้ เล่นกันแบบนี้ประชาชนเขาดูออก มันตื้นเกินไป… เวลาผมไปไหนไม่มีใครมาด่าผมเลยนะ ตั้งแต่ทำหน้าที่มา ผมบอกเลยว่าถ้าผมนิ่งได้ ชนะตัวเองได้ คุมอารมณ์ตัวเองได้ ผมไม่มีทางแพ้ ถ้าปชป. ยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าที ยังเล่นเกมแบบนี้ คือเกมฆ่าตัวตาย แพ้ แพ้แน่นอน และแพ้ทุกครั้งด้วย ผมจะไม่มีทางแพ้ ถ้าผมนิ่งได้ ต่อให้แพ้ในเกมก็เสมอ คนดูหน้าจอทีวี เห็นเรานิ่ง แต่อีกทางโหวกเหวกๆ มันมีแต่คนจะเห็นใจประธานมากขึ้นๆ

ไทยพับลิก้า : ขีดความอดทนของท่านมีแค่ไหน และถ้าเลยจากจุดนั้นไปจะเป็นอย่างไร

หมายความว่าประธานตบะแตกน่ะสิ ถ้าถึงจุดนั้นก็คือแพ้นะ ตกม้า แต่เชื่อเถอะว่าผมไม่มีทางตกม้า ผมเลยมั่นใจว่าไม่มีทางแพ้ ตราบใดที่ยังชนะตัวเองได้ คุมอารมณ์ตัวเองได้ ไม่มีทางแพ้ และผมเชื่อว่าผมทำได้

ไทยพับลิก้า : ท่านเคยพูดไว้ว่าอยากเป็นประธานสภา เพราะเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ แต่ถึงวันนี้ถูกฝ่ายค้านลูบคม-หลู่เกียรติไปแล้ว อะไรจะทำให้เกียรติยศคนชื่อ “สมศักดิ์” กลับมาได้

ผมไม่มีความรู้สึกว่าเกียรติยศศักดิ์ศรีของผม ของประธานสภาเสื่อมไปตรงไหน ผมกลับมองว่าคนที่ดื้อรั้นต่างหากที่เสื่อม (ยิ้มมุมปาก ก่อนนิ่งไปพักหนึ่ง) ผมจะเสื่อมก็ต่อเมื่อผมทำตัวไม่เป็นกลางจริงๆ และไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ตรงนั้นผมถึงจะถือว่าเป็นต้นเหตุในการทำให้สถาบันนิติบัญญัติต้องเสื่อม แต่ ณ วันนี้ ผมยังมั่นใจว่ายังรักษาความศักดิ์สิทธิของสถาบัน 1 ใน 3 อำนาจสูงสุด ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ยึดข้อบังคับอย่างเป็นกลาง ดังนั้นไม่มีอะไรเสื่อม

ไทยพับลิก้า : หลายครั้งรัฐบาลมีอันเป็นไปเพราะความขัดแย้งในสภา ปัจจัยที่จะทำให้สภาเกิดความวุ่นวายถึงขั้นอยู่ไม่ได้คืออะไร และถ้าเกิดขึ้นจริง จะผ่านเหตุนั้นไปได้อย่างไร

มีอยู่อย่างเดียว ถ้าสร้างสรรค์ก็ไม่วุ่นวาย แต่ถ้าไม่สร้างสรรค์ หรือจะหาเรื่องเสียอย่าง ก็ต้องวุ่นวายแน่ ซึ่งถ้าวุ่นวายแล้ว ทางแก้มีอยู่ทางเดียวคือใช้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ข้อบังคับว่าอย่างไรก็จบ นั่นคือคำตอบสุดท้าย

ไทยพัยลิก้า : มั่นใจว่าหากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” จะมีอันเป็นไป ไม่ได้เกิดจากปัญหาในสภาภายใต้การควบคุมของ “สมศักดิ์”

คงไม่ไปพูดถึงขนาดนั้น แต่พูดได้ว่าจะพยายามไม่ให้สภาเป็นภาระแก่ฝ่ายบริหาร และจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันไว้ด้วยชีวิต

จาก “ขุนรองประธานชู” สู่ “ขุนยืน”

ในสภาผู้แทนราษฎร-กลางสมรภูมิน้ำลาย “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ย้ำหลายครั้งว่า “ข้อบังคับการประชุม” เปรียบได้กับ “อาวุธ” ในมือประธาน

เขาได้รับฉายา “ขุนค้อน” สมัยดำรงตำแหน่ง “รองประธานสภา” เมื่อปี 2539-2540

เป็นฉายาที่ได้จากการ “หย่าศึก” ระหว่างคนการเมือง 2 ข้าง ซึ่งตั้งแผงเตรียมซัดกันกลาง “ศึกซักฟอก” รัฐบาล “พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ” กรณีการลดค่าเงินบาท

“ในปี 2540 ผมมองเหตุการณ์แล้ว ประชุมต่อไม่ได้ วิป 2 ฝ่ายตกลงกันไม่รู้เรื่องในการปิดอภิปราย เลยตั้งแผงใหญ่ทั้งฝั่งซ้ายและขวา เอาล่ะทีนี้เละแน่ ประชุมต่อไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ทำอะไรดี ก็เหลือบไปเห็นค้อนวางอยู่ เอาอันนี้แหละ ก็เลยชูขึ้นมา” สมศักดิ์เล่าเจือเสียงหัวเราะ เมื่อย้อนนึกถึงวีรกรรมเมื่อ 14 ปีก่อน

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 42

ทว่าเมื่อกลับขึ้นบัลลังก์ในครั้งนี้ “ขุนค้อน” กลับพลิกบท-กำหนดลีลาใหม่ สวมวิญญาณ “ขุนยืน” เมื่อถูกฝ่ายค้านตีรวน

“ยืนกับค้อนก็ไม่ต่างกัน ก็มี 2 สิ่งนี้ ผมอยากให้คนเขาได้เรียนรู้ว่ายืนกับค้อนเนี่ยเท่ากัน และอยากให้คนรู้ว่าไม่ได้เอาค้อนมาจากบ้าน เดี๋ยวจะหาว่าเราแบกค้อนมาจากบ้าน แล้วมาทุบ ไม่ใช่ มันวางอยู่อย่างนั้นมา 79 ปีแล้ว และอยู่ในข้อบังคับ นั่นคือดาบอาญาสิทธิของคนเป็นประธาน เพียงแต่ไม่มีใครกล้าหยิบมาใช้เฉยๆ ตอนปี 2540 มันวางอยู่นั่นมา 65 ปีแล้วนับจากปี 2475 ไม่มีใครกล้าหยิบมาใช้ ผมก็ไม่ได้เอามาใช้นะ แค่หยิบขึ้นมาชูเฉยๆ แต่ความขลังของมันน่ะ แค่หยิบขึ้นมาชู ข้างล่างนี่เงียบราวต้องมนต์สะกดเป็นเวลา 15 นาที”

“สมศักดิ์” ยืนยันว่า “ค้อน” และ “ยืน” เป็นมาตรการขั้นสูงสุดของประธาน หากไม่จบ-ไม่หยุด-ไม่นั่ง ก็จำต้องตะเพิดออกจากห้องประชุมสถานเดียว

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายใต้ระบบรัฐสภา “สมศักดิ์” คือ “ประธานคนแรก” ที่ชูค้อนขึ้นมา แต่ไม่ได้ใช้

ส่วนประธานที่ทุบโต๊ะ ปัง! มีเพียง 2 คนคือ “พิชัย รัตตกุล” กับ “อุทัย พิมพ์ใจชน” แต่เป็นการ “ทุบ” หลังเกิด “ขุน(รองประธาน)ชู” จึงไม่โด่งดังเท่าไร

ส่วน “สมศักดิ์” เป็นประธานคนแรกที่ลุกขึ้น “ยืน” ข่มคนข้างล่างหรือเปล่านั้น เขาเองก็ไม่ทราบ แต่เผยว่าคิดไม่นานก่อนตัดสินใจ “สแตนด์อัพ” เพราะเรื่องนี้มีอยู่ในข้อบังคับอยู่แล้ว

หลังจากนี้หากสถานการณ์เขม็งเกลียว จะ “ลุกขึ้นยืน” หรือ “ชูค้อน”?

ประธานสภาตอบว่า “ก็คงไม่ชูล่ะ ทุบเลย ที่ชูตอนนั้นเป็นการชูเพื่อบอกกฎกติกาว่าทำอย่างนั้น จะต้องเจออย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ เจออย่างนี้ แต่ถ้ายังดื้อต่อ ถ้าผมใช้สิทธิยืนต้องนั่ง ทุบต้องหยุด ถ้าไม่นั่ง ถ้าไม่หยุด จะไม่มีการเตือนแม้แต่ครั้งเดียว จะเชิญออกจากห้องประชุมทันที ถ้าเชิญแล้วไม่ออก จะให้รปภ. นำตัวท่านออกไป ผมเสียใจที่ต้องทำเช่นนี้ ทั้งที่ผมไม่อยากทำเลย เพราะผมอยู่ในนี้มา 14 ปี (ในปี 2540) มีความผูกพันกับสมาชิก ทุกอย่างจึงเงียบเหมือนมนต์สะกดเลย แล้วทุกอย่างก็เรียบร้อย การประชุมก็เรียบร้อย”

เมื่อมาถึงพ.ศ. 2554 เมื่อมีคำขู่เช่นนี้ ขอให้จับตาดู “ขุนยืน” เปลี่ยนเป็น “ขุนค้อน” ทุบโต๊ะดัง ปัง! อย่ากระพริบตา!!!
—-