ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นโยบายจำนำข้าว…ยังฝุ่นตลบ “โต้ง”เดิมพันเก้าอี้รองนายกฯ

นโยบายจำนำข้าว…ยังฝุ่นตลบ “โต้ง”เดิมพันเก้าอี้รองนายกฯ

6 ตุลาคม 2011


นโยบายรับจำนำข้าวที่กำลังจะ “เปิดโครงการ” ในวันที่ 7 ต.ค. นี้ กำลังถูกจับตามองว่ารัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะสามารถขจัดข้อครหาเกี่ยวกับปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ปัญหาการบริหารจัดการสต็อกข้าว ปัญหาขีดความสามารถแข่งขัน ปัญหาราคาข้าวในประเทศแพง และที่สำคัญชาวนาจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วม นาล่ม ไม่มีข้าวไปจำนำ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานการขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาล 2554/55 (ไม่รวมภาคใต้) เพื่อเข้าโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 – 29 กุมภาพันธ์ 2555 พบว่า มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 3,260,685 ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 59.78 ล้านไร่

แต่ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการผ่านขั้นตอนการประชาคมแล้ว 1,628,357 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 50% พื้นที่ 33.39 ล้านไร่ และได้ออกใบรับรองแล้ว 459,401 ครัวเรือน พื้นที่ 9.6 ล้านไร่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้ประมาณการผลผลิตข้าวจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาล 2554/55 มีจำนวนทั้งสิ้น 25.8 ล้านตัน โดยจำนวนปริมาณข้าวที่คาดว่าจะเสียหายจากปัญหาอุทกภัยจะมีอยู่ประมาณ 3.07 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณข้าวนาปี 2554/55 คาดว่ามีคงเหลือประมาณ 22.73 ล้านตัน

ที่มา http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=8&catid=144&ID=3300
ที่มา http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=8&catid=144&ID=3300

จากผลกระทบน้ำท่วมค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า ปริมาณข้าวที่จะเข้าโครงการรับจำนำคงไม่ถึง 25 ล้านตัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ตัวเลขจริงแล้วเป็นเท่าไรยังไม่นิ่ง โดยทางกระทรวงพาณิชย์คาดว่าไม่น่าจะเกิน 15 ล้านตัน ดังนั้น เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวรอบนี้อาจไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายเป็นกังวล

ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติค่าใช้จ่ายการดำเนินการของหน่วยปฏิบัติหลัก อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) องค์การคลังสินค้า(อคส.) ฯลฯ รวม 435,547 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินจ่ายขาด 25,547 ล้านบาท และ 410,000 ล้านบาท สำหรับวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในการรับจำนำข้าวที่คาดว่าจะมีเข้าโครงการ 25 ล้านตัน

เงินหมุนเวียน 410,000 ล้านบาท ทาง ธ.ก.ส. ออกมาระบุว่า มีเงินทุน ธ.ก.ส. ที่พร้อมสนับสนุนตามโครงการนี้มีไม่เกิน 90,000 ล้านบาท ส่วนที่ขาด 32,000 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างเจรจาจะกู้จากธนาคารพาณิชย์รายใด แต่มีการประเมินแล้วว่าจะมีภาระดอกเบี้ยจากวงเงินหมุนเวียนทั้งก้อนประมาณ 10,611 ล้านบาท

วงเงินที่ใช้ดำเนินการรับจำนำข้าว หลายฝ่ายมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก และโอกาสขาดทุนก็มีสูงเช่นกัน ทำให้นักวิชาการ และผู้ที่เกาะติดนโยบายจำนำข้าวค่อนข้างกังวลว่า ท้ายที่สุดอาจกลายเป็นภาระงบประมาณในอนาคต โดยอดีตรัฐมนตรีคลัง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวากุล ซึ่งเคยกำกับดูแล ธ.ก.ส. ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการรับจำนำรอบนี้อาจขาดทุนรวมภาระดอกเบี้ยจ่ายถึง 250,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้รับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวได้ออกมายืนยันอย่างมั่นใจว่า เงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำจะน้อยกว่าโครงการประกันรายได้เกษตรของพรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกันได้ท้าทายว่า “ถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่รัฐบาลชุดก่อนใช้ชดเชยในระบบประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องตั้งคำถามเลยว่า ในฐานะรองนายกฯเศรษฐกิจจะรับผิดชอบอย่างไร แต่ถ้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล2554/2555 ที่จะเริ่มรับจำนำวันที่ 7 ต.ค. รัฐบาลสามารถรับจำนำแล้วขาดทุนน้อยกว่า 60,000 ล้านบาทและยังทำให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกเจ้าได้ราคาตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ต้องถือว่ารัฐบาลสอบผ่าน”

อย่างไรตาม สถานการณ์น้ำท่วมที่อาจทำให้มีข้าวเข้าโครงการจำนำไม่มาก การใช้เงินก็คงไม่สูง แต่ที่สุดแล้วโครงการรับจำนำจะขาดทุนหรือไม่ขาดทุน ต้องรอดูส่วนต่างราคารับจำนำกับราคาตลาดตอนที่รัฐบาลจะขายข้าว ที่สำคัญกว่านั้นคือ การบริหารจัดการสต็อก หรือ การระบายข้าว ซึ่งถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของโครงการนี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลบอกเพียงว่า จะมีการตกลงซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ และจะเปิดประมูลขายให้เอกชนอย่างโปร่งใส

ที่มา http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=8&catid=144&ID=3300
ที่มา http://www.dit.go.th/contentdetail.asp?typeid=8&catid=144&ID=3300
นอกจากนี้ ปัญหาการทุจริตเป็นอีกประเด็นร้อนท้าทายรัฐบาล เพราะในอดีตไม่เคยมีรัฐบาลใดแก้ปัญหาการทุจริตได้เลย แม้รัฐบาลจะออกมาตรการมาดูแลมากมาย และครั้งนี้ก็เช่นกันที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทีมเฉพาะกิจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจสอบโรงสีอย่างเข้มงวด จัดตั้งคณะกรรมการหลายชุดเพื่อกำกับดูแลกระบวนการจำนำข้าวให้โปรงใส สกัดการทุจริต

จากผลการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 31 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง “อนาคตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี : ใครกำไร ใครขาดทุน? “ของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 3 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่าประเด็นปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีนักเศรษฐศาสตร์มากถึง 82.1 % เชื่อว่าจะมีการทุจริต มีเพียงส่วนน้อย 4.5 % ที่เชื่อว่าจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 หลังการชี้แจ้งกระบวนการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ให้กับโรงสีและตลาดกลาง ที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล มีโรงสีสมัครเข้าร่วมโครงการ 667 แห่ง นายกิตติรัตน์ยืนยันว่ามีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเปิดรับจำนำในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ แม้ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในบางส่วนในการปฏิบัติตามขั้นตอนการรับจำนำ อาทิ การหักความชื้น การระบาย การสีแปรสภาพข้าว แต่จะพยายามทำความเข้าใจต่อไป

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบนโยบายให้กับผู้ประกอบการโรงสี และตลาดกลางการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบนโยบายให้กับผู้ประกอบการโรงสี และตลาดกลางการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล

อย่างไรก็ตามการตั้งรับโครงการรับจำนำข้าวรอบนี้ แม้รัฐบาลจะประกาศความพร้อม แต่เรื่องหลักเกณฑ์การระบายข้าว คุณสมบัติผู้ตรวจสอบข้าว (เซอร์เวเยอร์) และการจัดทำข้าวถุงธงฟ้าของรัฐบาล เป็นต้น ยังไม่มีความไม่ชัดเจน มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีการวิ่งกันฝุ่นตลบเพื่อหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

นี่คือความท้าทายที่มีเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นเดิมพัน