ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > มาเก็บภาษีฉันเถอะ (1): เรื่องไม่บังเอิญของ “โอบามา & บัฟเฟตต์”

มาเก็บภาษีฉันเถอะ (1): เรื่องไม่บังเอิญของ “โอบามา & บัฟเฟตต์”

4 ตุลาคม 2011


สองผู้ยิ่งใหญ่ที่หนุนแนวคิด "มาเก็บภาษีฉันเถอะ"
สองผู้ยิ่งใหญ่ที่หนุนแนวคิด "มาเก็บภาษีฉันเถอะ"
ที่มาของภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/35/Buffett_%26_Obama.jpg

บางครั้งโชคชะตาอาจนำพาให้คนสองคนมาพบกันโดยบังเอิญ แต่กรณีของเพื่อนซี้ต่างวัยคู่นี้ที่คนหนึ่งเป็นถึงประธานาธิบดีสหรัฐและอีกคนหนึ่งพกดีกรีเศรษฐีอันดับ 3 ของโลก อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

“ประธานาธิบดีบารัก โอบามา” และ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ตกอยู่ในสปอตไลต์แห่งความสนใจของอเมริกันชนอีกครั้ง เมื่อบัฟเฟตต์โยนประเด็นการเก็บภาษีคนรวยผ่านหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ คล้อยหลังมาเพียง 1 เดือน ประธานาธิบดีโอบามาก็ออกมารับลูกเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจังกว่าครั้งก่อนๆ

เพราะคราวนี้โอบามาผนวกเอาเรื่องการยกเครื่องโครงสร้างภาษีเพื่อหารายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งในแผนลดการขาดดุลงบประมาณ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 10 ปี ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเตรียมเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิเศษ (Super Committee) ในเดือนพฤศจิกายน จนกลายเป็นประเด็นร้อนและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมอเมริกัน

โดยแผนยกเครื่องดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม ซึ่งประเมินกันว่าจะเก็บเงินจากครัวเรือนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ ได้ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังจะใช้มาตรการอื่นๆ อาทิ การปล่อยให้มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูงหมดอายุในปี 2555 จำกัดการลดหย่อนภาษีบางรายการ เช่น ดอกเบี้ยจดจำนอง การบริจาคแก่องค์กรการกุศล และพยายามอุดช่องโหว่ภาษีนิติบุคคล

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการยกเครื่องดังกล่าวจะส่งผลต่อประชากรเพียงไม่มาก ทั้งยังถูกคัดค้านอย่างหนักจากพรรครีพับลิกันจนถึงกับมีเสียงเปรยถึงสงครามระหว่างชนชั้น แต่โอบามาปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่สงครามชนชั้นและยังคงยืนกรานที่จะเดินหน้า โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสร้างมาตรฐานภาษีที่เป็นธรรม

ทว่านักวิเคราะห์หลายรายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลเบื้องหลังที่โอบามาผลักดันเรื่องนี้ทั้งที่รู้ดีว่าดำเนินการได้ยาก ก็เพราะเขาต้องการคะแนนเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

น่าสนใจว่าการสนับสนุนแนวคิดภาษีคนรวยของบัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลของสหรัฐจึงสอดรับกับจังหวะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัย 2

หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่านี่เป็นจังหวะก้าวที่คล้ายกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2551 ซึ่งชื่อของบัฟเฟตต์ถูกอ้างอิงถึงในระหว่างการดีเบตครั้งที่ 3 และการดีเบตรอบสุดท้าย เมื่อโอบามาพูดชื่อ “บัฟเฟตต์” กูรูด้านการลงทุน เจ้าของบริษัทเบิร์กไชร์ แฮทอะเวย์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการเงินอย่างไม่เป็นทางการ อีกทั้งโอบามายังเรียกบัฟเฟตต์ว่าเป็นทั้ง “เพื่อนและผู้สนับสนุน”

สายสัมพันธ์ของทั้งโอบามาและบัฟเฟตต์ดำเนินมานานหลายปี โดยในปี 2550 บัฟเฟตต์เป็นผู้บริจาคเงินสนับสนุนโอบามาสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 4,600 ดอลลาร์ และเคยเป็นเจ้าภาพจัดระดมทุนให้กับโอบามามาแล้ว

เช่นเดียวกับครั้งนี้ บัฟเฟตต์ตอบตกลงเข้าร่วมงานระดมทุนของโอบามาเพื่อชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสมัย 2 ที่ชิคาโกและนิวยอร์ก ซึ่งตอกย้ำความใกล้ชิดระหว่างคนทั้งสอง

"บารัก โอบามา" กำลังก้าวสู่สนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัย 2
"บารัก โอบามา" กำลังก้าวสู่สนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัย 2
(ที่มาของภาพ: http://highlightsbylakeshia.com/wp-content/uploads/2011/03/obama.jpg)

ความแนบแน่นของเพื่อนซี้ต่างวัยยังสะท้อนผ่านหนังสือ The Audacity of Hope ของประธานาธิบดีโอบามาที่ตีพิมพ์ในปี 2549 ระบุถึงการสนทนาระหว่างเขากับบัฟเฟตต์เกี่ยวกับแนวคิดขึ้นภาษีคนรวย ซึ่งโอบามาหยิบยกเรื่องนี้มาใช้ในแคมเปญหาเสียงอยู่เนืองๆ กระทั่งล่าสุดที่โอบามาแถลงแผนจ้างงานต่อสภาคองเกรสก็ยังพูดถึงเรื่องนี้

บัฟเฟตต์เองก็เดินสายขายไอเดีย “เก็บภาษีฉันเถอะ” ตั้งแต่ในงานระดมทุนลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของนางฮิลลารี คลินตัน ในปี 2550 และอีกหลายครั้งหลายครา ก่อนจะถูกแปลงไปสู่การปฏิบัติในยุคของโอบามา ซึ่งทำเนียบขาวได้ขออนุญาตบัฟเฟตต์ตั้งชื่อแผนสังคายนาภาษีครั้งใหม่นี้ว่า “กฎของบัฟเฟตต์” (Buffett Rule)

ล่าสุดบัฟเฟตต์เขียนบทความเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวยเพิ่มไว้ในคอลัมน์ Op-ed ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส ประจำวันที่ 15 สิงหาคม ที่มีแนวคิดให้ชาวอเมริกันที่มีรายได้เกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ควักเงินจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพราะในขณะที่บรรดาคนจนและคนชั้นกลางต้องต่อสู้ในอัฟกานิสถานแทนคนทั้งประเทศ และคนอเมริกันส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ เศรษฐีทั้งหลายกลับยังคงได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมาโดยตลอด

บัฟเฟตต์หยิบยกตัวเลขการเสียภาษีของเขาในปี 2553 ซึ่งรวมถึงภาษีรายได้และเงินเดือน อยู่ที่ 6,938,744 ดอลลาร์ แม้ดูผิวเผินจะเป็นจำนวนที่มาก แต่จริงๆ แล้วเขาจ่ายภาษีในอัตราเพียง 17.4% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี (taxable income) ต่ำกว่าอัตราภาษีที่พนักงานในออฟฟิศคนอื่นๆ อีกร่วม 20 คน ซึ่งพนักงานบางคนจ่ายภาษีสูงถึง 36%

“ผู้จัดการการลงทุนบางรายจ่ายภาษีแค่ 15% จากรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ เทียบกับคนชั้นกลางที่รายได้น้อยกว่ามาก แต่อาจเสียภาษีเงินได้ (income tax) สูงถึง 25%”

บัฟเฟตต์เสนอให้สภาคองเกรสเก็บภาษีเศรษฐีที่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเกิน 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีอยู่ 236,883 ครัวเรือนในปี 2552 และเก็บภาษีสูงกว่านั้นอีกในหมู่คนรวยที่มีรายได้อย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งมีอยู่ 8,274 ครัวเรือน หลังจากที่ทั้งเขาและเศรษฐีคนอื่นๆ ได้รับการพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจมานานแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาที่รัฐบาลควรจะเอาจริงเอาจังกับการให้คนรวยได้มีส่วนเสียสละเพื่อบ้านเมืองบ้าง

ต่อข้อกังวลที่ว่าการปรับขึ้นภาษีอาจเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ธุรกิจที่มีส่วนช่วยสร้างงาน บัฟเฟตต์ยกตัวอย่างในระหว่างทศวรรษ 1980-2000 ที่มีการสร้างงานประมาณ 40 ล้านตำแหน่ง ทั้งที่อัตราภาษีสำหรับคนรวยสูงกว่าในปัจจุบัน แต่เมื่ออัตราภาษีต่ำลง การสร้างงานกลับลดน้อยลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บทความของบัฟเฟตต์อาจสะท้อนเรื่องราวในด้านหนึ่ง ทว่าเมื่อพิจารณาข้อมูลจากศูนย์นโยบายภาษีสหรัฐ พบว่า กรณีของบัฟเฟตต์และพนักงานในเบิร์กไชร์ฯ แตกต่างจากในภาพใหญ่ ซึ่งคนรวยยังคงมีสัดส่วนการจ่ายภาษีมากกว่าคนชั้นกลาง

โดยในปีนี้ ครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี จะต้องเสียภาษีโดยเฉลี่ยที่ 29.1% ครัวเรือนที่มีรายได้ระหว่าง 50,000-75,000 ดอลลาร์ จะเสียภาษีในอัตรา 15% ซึ่งนับรวมภาษีเงินได้และภาษีสวัสดิการสังคม

แต่กระนั้นแนวคิดปรับขึ้นภาษีก็อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะในแต่ละปียังคงมีคนรวยที่หลุดรอดการจ่ายภาษีไปได้ อย่างในปี 2552 ครัวเรือนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ จำนวน 1,470 ราย ไม่ได้จ่ายภาษี หรือคิดเป็นไม่ถึง 1% ของผู้มีรายได้เกินปีละ 1 ล้านดอลลาร์ทั้งหมด

ขณะที่ชาวอเมริกันที่มั่งคั่งที่สุด 400 ราย ก็จ่ายภาษีในอัตราแค่ 18.11% จากรายได้ทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) และนักลงทุนเช่นเดียวกับบัฟเฟตต์ คนรวยเหล่านี้จึงจ่ายภาษีในระดับต่ำแค่ 15% เพียงแต่ 400 ซูเปอร์ริชคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผู้มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์จำนวนกว่า 2 แสนคน จึงยังทำให้อัตราการเสียภาษีของคนกลุ่มนี้ยังอยู่ที่ 29.1%

แน่นอนว่าทุกๆ ความเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงบางมุมที่เราอาจนึกไม่ถึงมาก่อน

มหาเศรษฐี "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ผู้ผลักดันแนวคิดรวยด้วยช่วยกัน
มหาเศรษฐี "วอร์เรน บัฟเฟตต์" ผู้ผลักดันแนวคิดรวยด้วยช่วยกัน
(ที่มาของภาพ: http://shortsaledailynews.com/wp-content/uploads/2011/03/warren-buffett-richest-man-in-america.jpg)

ฟากที่เชียร์แนวคิดนี้มองว่านี่เป็นการเสียสละของคนฐานะดีในยามที่ประเทศชาติกำลังยากลำบาก และนี่ก็ไม่ใช่การปรับขึ้นอย่างถาวร

อยู่ดีๆ บัฟเฟตต์คงไม่ลุกขึ้นมาเล่นสนุกกับการเชิญชวนให้คนอื่นมาล้วงเงินออกจากหีบสมบัติของตัวเองเป็นจำนวนมากๆ แต่การลุกขึ้นมาป่าวประกาศให้รัฐเก็บภาษีเพิ่ม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเขาปรารถนาดีที่จะเห็นประเทศของตัวเองหลุดพ้นจากปากเหวของวิกฤตเศรษฐกิจเสียที โดยในมุมมองของบัฟเฟตต์เชื่อว่าวิธีที่จะเดินออกจากวังวนปัญหาดังกล่าว คือ ชาวอเมริกันต้องเสียสละร่วมกัน รวมถึงการร่วมด้วยช่วยกันจากกลุ่มคนรวยเช่นเขา เพื่อที่รัฐจะได้เงินอย่างเป็นกอบเป็นกำ

เพราะลำพังบัฟเฟตต์คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะนำประเทศออกจากปัญหาได้ ถึงแม้บัฟเฟตต์จะยอมยกสมบัติทั้งหมดให้รัฐ กระนั้นก็ยังอาจเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินกว่าจะทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากปัจจุบัน แต่หากทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือ ไม่แน่ว่าอาจจะช่วยสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บัฟเฟตต์ขายไอเดียนี้เพื่อหาแนวร่วม “รวยด้วยช่วยกัน”

เมื่อมองจากผลสำรวจของ “แกลลัพ โพล” พบว่า ราว 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษีในส่วนของบริษัทบางแห่ง โดยตัดการลดหย่อนภาษีที่เคยได้ออกไป ส่วนอีก 66% หนุนให้เก็บเพิ่มภาษีเงินได้ส่วนบุคคลจากผู้ที่มีรายได้ขั้นต่ำ 200,000 ดอลลาร์ และจากครัวเรือนที่มีรายได้อย่างน้อย 250,000 ดอลลาร์ต่อปี

เมื่อพลิกอีกด้านของเหรียญ การยกเครื่องระบบภาษีล่าสุดอาจไม่ได้ผลอย่างที่คิดหวัง เพราะมาตรการนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณในระยะยาว หรือทำให้หนี้ของสหรัฐลดลง จากปัจจุบันที่สหรัฐมีหนี้สาธารณะมากถึง 14.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 98% ของจีดีพีสหรัฐ สูงสุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนี่เป็นการกู้เต็มวงเงินแล้ว จึงต้องขอขยายเพดานหนี้ออกไป

เมื่อการขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับที่สูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การรีดภาษีเพิ่มจากคนรวยจึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้รวบรวมเงินได้มากพอกับความคาดหวังของรัฐบาล ทางเลือกที่ดีกว่าน่าจะเป็นการควบคุมรายจ่ายของรัฐ

หากมองในแง่นี้ การเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวยจึงอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะระบบภาษีของสหรัฐในปัจจุบันยังมีปัญหาและช่องว่างอยู่

คนรวยหลายคนแสดงอาการไม่ปลื้มที่บัฟเฟตต์ออกมาพูดแบบเหมารวม เพราะสถานภาพของคนอื่นๆ นั้นแตกต่างจากมหาเศรษฐีพันล้านอย่างบัฟเฟตต์ บางคนอาจเพิ่งอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว ผิดกับบัฟเฟตต์ที่มีอาณาจักรมั่นคง และบางคนจ่ายภาษีในอัตรา 40-55% ซึ่งน่าจะเป็นการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีแล้ว เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่กังวลว่าจะติดร่างแหไปด้วย ทั้งที่รัฐควรจะพุ่งเป้าไปที่การขึ้นภาษีเงินได้จากการลงทุนที่ตอนนี้อยู่ในระดับต่ำแค่ 15%

ผลสำรวจของ “สเปคตรัม กรุ๊ป” บริษัทวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องการเงินสำหรับคนรวยมะกัน พบว่า มีเพียง 24% ของเศรษฐีที่คิดว่าการเก็บภาษีเพิ่มเป็นเรื่องถูกต้อง ขณะที่อีก 44% มองว่าภาษีอัตราคงที่ในทุกหมวดหมู่รายได้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

หมายเหตุ: ซีรีส์ “มาเก็บภาษีฉันเถอะ” รวบรวมข้อมูลจากรอยเตอร์ส, เอพี, เอเอฟพี, ลอสแองเจลิส ไทม์ส, ซีเอสมอนิเตอร์, ซีเอ็นเอ็น, ซีเอ็นเอ็นมันนี่ อีโคโนมิสต์, บลูมเบิร์ก, นิวยอร์ก ไทม์ส, ฟอร์จูน, ซีเอ็นเอสนิวส์