ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป.ป.ช. เปิด 604 คดีกล่าวหานักการเมือง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หนักสุดโดน 7 เรื่อง

ป.ป.ช. เปิด 604 คดีกล่าวหานักการเมือง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หนักสุดโดน 7 เรื่อง

29 ตุลาคม 2011


จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 ในมาตรา 103/9 ที่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. เปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน ให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ ด้วยการจัดทำข้อมูลดังกล่าวในลักษณะระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงความคุ้มครองสิทธิของบุคคลและผลกระทบต่อรูปคดีนั้นๆ

ทาง ป.ป.ช. ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ด้วยการนำข้อมูลคดีความที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนขึ้นเว็บไซต์ ให้ประชาชนตรวจสอบมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2554 โดยนายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า “ป.ป.ช.ได้ทยอยนำข้อมูลคดีความที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนขึ้นเว็บไซต์แล้ว ขณะนี้มีประมาณ 600 กว่าเรื่องจากทั้งหมด 1,200 กว่าเรื่อง”

กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ - ที่มา ป.ป.ช.
กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ - ที่มา ป.ป.ช.

ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาร้องเรียนต่าง ๆ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่วนที่สอง เป็นกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่ำรวยผิดปกติ โดยแต่ละกระบวนการ ขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

แบบแรก กระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวน ใช้สำหรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน หรือกรณีที่มีการร้องขอให้ถอดถอน นักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

แบบที่สอง กระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยคณะอนุกรรมการไต่สวน ใช้สำหรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่มีความสำคัญรองลงมาจาก รูปแบบที่ 1 รวมทั้งใช้สำหรับเรื่องที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน หรือที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมในการไต่สวนด้วย

และแบบสุดท้าย กระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยพนักงานไต่สวน ใช้สำหรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่ว ๆ ไป ที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากนัก

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบเวบไซต์ของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 พบว่าขณะนี้ในเว็บไซต์มีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้งหมด 604 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน 25 เรื่อง, เรื่องกล่าวหาที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 303 เรื่อง และเรื่องกล่าวหาที่มอบหมายพนักงานไต่สวน 276 เรื่อง

จากเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน 25 เรื่องนั้น พบว่าทั้งหมดล้วนเป็นกรณีทุจริตทั้งสิ้น โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหามากที่สุดคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายอภิสิทธิ์เป็นผู้ถูกกล่าวหาหลักและอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนทั้งสิ้น 7 เรื่อง รองลงมาได้แก่นายโสภณ ซารัมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 4 เรื่อง, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไท 4 เรื่องและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 4 เรื่อง ต่อมาคือนายนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 2 เรื่อง และลำดับสุดท้าย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, นางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฏร, นายจุติ ไกรฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รายละ 1 เรื่อง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ที่มา พรรคประชาธิปัตย์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ที่มา พรรคประชาธิปัตย์

โดยเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนการไต่สวนทั้งสิ้น 7 เรื่อง ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แก่

1.นายอภิสิทธิ์ ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย กรณีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ รวม 4 ประเด็น

2.นายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่ามอบหมายและมอบอำนาจให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) และเป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) ซึ่งขัดต่อกฎหมายและมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง

3.นายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรณีรู้เห็นเป็นใจกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม

4.นายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 100(1)(3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีเอื้อประโยชน์ให้กับซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ในฐานะผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นคู่สัญญากับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง

5.นายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งปิดเว็บไซด์และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชแนล และกรณีสั่งสลายการชุมนุมเมือวันที่ 10 เมษายน 2553

6.นายอภิสิทธิ์ ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีการแพร่ข่าวสู่สาธารณชนเกี่ยวกับการซื้อกิจการดาวเทียมไทยคม

และเรื่องสุดท้าย นายอภิสิทธิ์ ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในการนำเข้าบุหรี่ของบริษัทฟิลลิปมอร์ริส (ไทยเแลนด์) จำกัด โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และแทรกแซงการดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวในข้อหาแสดงภาษีอันเป็นเท็จ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ เรื่องทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ เรียงตามลำดับคือ หลังจากที่มีการรับเรื่องกล่าวหาโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วว่าเรื่องกล่าวหาดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ในการรับเรื่องพิจารณาของ ป.ป.ช. จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวน จะมีการกำหนดแนวทางไต่สวนและสรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับไต่สวนเรื่องกล่าวหา จึงเริ่มมีการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกลาวหา และมีการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างหรือพยานหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติม แล้วจึงนำไปสู่การสรุปสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้ว่าเรื่องดังกล่าวมีมูล ก็จะส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป

กระบวนการและขั้นตอนการไต่สวน กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะ (กรณีทุจริต) - ที่มา ป.ป.ช.
กระบวนการและขั้นตอนการไต่สวน กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะ (กรณีทุจริต) - ที่มา ป.ป.ช.